แนวความคิดเรื่อง Nonviolent Communication (NVC) หรือการสื่อสารเพื่อสันติ กลายเป็นที่สนใจในสังคมไทยมากขึ้นเรื่อยๆ จากจุดเริ่มต้นเมื่อสิบกว่าปีก่อน ดร. ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์ เป็นผู้เริ่มต้นนำแนวคิดนี้เข้ามาฝึกสอนให้กับผู้สนใจ เริ่มต้นจากกลุ่มคนที่สนใจกลุ่มเล็กๆ จนขยายไปถึงผู้ปกครอง พ่อแม่ที่อยากเข้าใจลูกๆ และปรับเปลี่ยนบรรยากาศในครอบครัวให้อบอุ่นและมีการพูดคุยกันมากขึ้น
ต่อมาแนวคิดนี้ได้ขยายออกไปสู่โรงเรียนที่มีปัญหาเด็กนักเรียนมีพฤติกรรมกลั่นแกล้งกัน หรือใช้ความรุนแรงใส่กัน รวมไปถึงองค์กรธุรกิจที่ทีมงานมีปัญหาในการทำงานและการสื่อสาร และเมื่อหลายปีก่อนก็ได้นำไปประยุกต์ใช้กับความรุนแรงทางการเมืองในช่วงที่บ้านเมืองกำลังแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันสุดขั้ว
แนวคิด NVC มีรากฐานมาจากทฤษฎีจิตวิทยาของ มาร์แชล โรเซนเบิร์ก นักจิตวิทยาสายมนุษยนิยม เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีความเมตตากรุณาเป็นพื้นฐาน เราไม่ได้เป็นคนเลวร้ายหรืออยากจะทำความรุนแรงต่อคนอื่นมาตั้งแต่เกิด แต่ความรุนแรงที่เห็นกันนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาภายหลัง เพราะมันแอบสั่งสมอยู่ในวัฒนธรรม และเราทุกคนก็ค่อยๆ ซึมซับเข้ามา จนกระทั่งนำมาสู่การกระทำรุนแรงใส่กัน จนบางทีอาจจะไม่เจตนา หรือไม่ทันฉุกคิดเลยด้วยซ้ำ
NVC เป็นเครื่องมือที่จะนำสังคมกลับคืนสู่ความสันติ ดร. ไพรินทร์ เปรียบว่ามันเหมือนยาสามัญประจำบ้าน เหมาะสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน สามารถเรียนรู้ได้ง่าย นำไปประยุกต์ใช้ได้ง่าย ช่วยปรับเปลี่ยนวิธีที่เราไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ดีขึ้น
ทำไมคนเราจึงขาดทักษะในการสื่อสารพูดคุย และส่วนใหญ่เราใช้วาจาทำร้ายกัน
เพราะเราอยู่ในวัฒนธรรมความรุนแรงที่สั่งสมมายาวนานหลายพันปี ตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เราสามารถกลับไปสู่สภาวะดั้งเดิมที่แท้จริง คือสภาวะที่ไม่มีใครคิดอยากไปทำร้ายคนอื่นทั้งกาย วาจา และใจ
หลักการของ NVC มีอยู่ 4 ขั้นตอน 1. การสังเกต 2. การรู้สึก 3. หาความต้องการที่แท้จริง และ 4. การขอร้อง
ความรุนแรงในการสื่อสารส่วนใหญ่เกิดจากปฏิกิริยาที่เราอยากจะตอบโต้ทันทีทันใด เราไม่ทันคิดว่าพูดแบบนั้นไปเพราะอะไร เมื่อรับรู้อะไรเข้ามา เราก็แสดงออกไป พอเราอยากจะไปกล่าวว่าใคร อยากจะแซวใคร ก็ให้ย้อนกลับมาพิจารณาตัวเอง ฉันเห็นอะไร ฉันได้ยินอะไร
ยกตัวอย่าง ฉันเห็นน้องคนนั้นตัวอ้วนมาก ฉันอยากจะแซวเขา ต้องพิจารณาตัวเองว่าฉันกำลังรู้สึกอะไรอยู่ ฉันเห็นคนอ้วนแล้วรู้สึกอึดอัด รู้สึกอับอายตลกขบขัน แท้จริงแล้วสิ่งที่ต้องการก็คือการยอมรับ ฉันไม่อยากอ้วนแบบนั้น เพราะถ้าฉันอ้วน เพื่อนก็คงเกลียดฉันเหมือนกัน ดังนั้น เราจึงไปแซวคนอื่น แกล้งเขา เพราะข้างในใจเราเพียงแค่การยอมรับจากคนอื่น แล้วจะทำอย่างไรให้ได้รับการยอมรับ
ถ้าไปแซวเขา แกล้งเขา เราจะได้รับการยอมรับจริงหรือ หรืออาจจะเลือกใช้วิธีอื่น
คนที่ไปบูลลีคนอื่นเป็นคนที่ความต้องการลึกๆ ในใจของเขาไม่ได้รับการตอบสนอง ถ้าเขาไม่กลับมาดูตัวเองให้ดีว่าฉันต้องการอะไร และฉันมีวิธีอื่นให้เลือกอีกไหม ฉันก็ยังจะไปบูลลีต่อไปเรื่อยๆ
มาร์แชล โรเซนเบิร์ก ไปสัมภาษณ์ฆาตกรในคุก เขาพบว่า ในอดีต ชีวิตตั้งแต่เด็กของคนพวกนั้นเคยโดนกระทำรุนแรงมาก่อน ซ้ำแล้วซ้ำอีก เขาจึงเรียนรู้แต่วิธีใช้ความรุนแรงเพื่อเติมเต็มสิ่งที่ต้องการเท่านั้น เขาไม่เคยรู้เลยว่าวิธีอื่นก็ช่วยตอบสนองได้เหมือนกัน บางคนถึงขั้นว่าไม่รู้เลยว่าตัวเองกำลังรู้สึกอย่างไร เพราะเขาโดนกระทำรุนแรงมามากจนต้องปกป้องตัวเอง เก็บกดความรู้สึก และตัดขาดจากความรู้สึกไปเลย ไม่สามารถสัมผัสกับหัวใจของตัวเองเลย เขาจึงฆ่าคนอื่นได้โดยไม่รู้สึกรู้สาอะไร
มีโรงเรียนแห่งหนึ่งมีหลักสูตรน่าสนใจ เขารณรงค์ Stop Bullying Start Empathizing คือไม่ใช่เพียงแค่หยุดการทำร้ายกันอย่างเดียว แต่เขาสร้างทางเลือกให้กับเด็กนักเรียนด้วยว่า เด็กควรพัฒนาทักษะในการเข้าอกเข้าใจคนอื่น ทุกคนในโรงเรียนรู้เรื่องบูลลีกันหมด ครูสามารถหยุดการแกล้งกัน และเด็กเข้าใจถึงความเจ็บปวดหรือโกรธแค้นของเพื่อนได้
เหมือนกับว่าสิ่งที่เราพร่องที่่สุดและต้องการมากที่สุดก็คือ การเข้าอกเข้าใจคนอื่น และการยอมรับจากคนอื่น
ทุกคนขาดแคลนสิ่งนี้ เรามักจะต้องการคนมารับฟังและเข้าใจตัวเราอย่างที่เป็นตัวเราจริงๆ เท่าที่ผ่านมาจากการสอน NVC มาสิบกว่าปี เห็นชัดเจนว่าเมื่อคนได้รับความเข้าใจไปแล้ว เขาก็ยังรู้สึกต้องการอีก ต้องการอีก มันยังไม่พอ นี่คือสิ่งที่เรากำลังขาดแคลนมาก สำหรับบางคนที่มีความเข้าใจ เขามักจะเกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่รับฟังและยอมรับ ทำให้เขาเข้าใจตัวเอง คนเหล่านี้มีวิธีการดูแลตัวเองได้ดีกว่า
เปรียบเหมือนมีถังออกซิเจนในการดำน้ำ ถ้าเกิดออกซิเจนในถังหมดไป เราก็ต้องดิ้นรนขวนขวาย แต่ถ้าเรารู้วิธีเติมออกซิเจนตัวเองได้ตลอดเวลา ถึงแม้ไม่มีคนมาสนใจหรือไม่มีใครยอมรับเรา เราก็ยอมรับตัวเองได้ นี่คือคนที่สุขภาพจิตดีที่สุด สามารถไปอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกทำร้ายแล้วยิ้มกลับไปให้เขาได้ คนส่วนใหญ่ไม่รู้วิธีเติมออกซิเจน พ่อแม่ก็เติมไม่เป็น พอพวกเขามีลูก ก็ไม่รู้วิธีเติมให้ลูกอีก อาจจะใช้วาจารุนแรง แม้ข้างในใจจะรักลูก แต่เขาไม่รู้วิธี ลูกก็จะได้รับแต่วิธีรุนแรงไป
ความเข้าใจกันและกันได้ขาดหายไปจากใจเราตั้งแต่เมื่อไหร่
ไม่ใช่แค่หายไปจากสังคมในทุกวันนี้ มันหายไปเจ็ดพันปีแล้วตั้งแต่ที่มนุษย์เริ่มใช้ความรุนแรงต่อกัน มนุษย์เริ่มสร้างอาวุธมาเข่นฆ่ากัน ก่อนหน้านั้นเขาไม่พบว่ามนุษย์ใช้ความรุนแรง แค่ช่วงเจ็ดพันปีมานี้เองที่มนุษย์ใช้ความรุนแรง เริ่มมีหลักฐานเป็นภาพศิลปะสมัยกรีกหรือโรมัน แสดงถึงการใช้ความรุนแรงมากขึ้น
มนุษย์ก่อนนั้นอยู่กับความรัก ความงาม และธรรมชาติ นักประวัติศาสตร์ถกเถียงกันมานานถึงจุดเปลี่ยนในตอนนั้น แต่ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ เพียงแต่พบว่าในจุดนั้น มนุษย์เริ่มมีอาวุธ และเริ่มมีการแบ่งชนชั้น มีคนที่เหนือกว่าคนอื่น มีคนต่ำกว่า พวกชนชั้นบนก็เริ่มสะสมเงินทอง สะสมอาหาร สะสมอาวุธ ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างชนชั้นมากขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรง
ในสังคมที่มีระดับชนชั้นชัดเจน อย่างในที่ทำงาน สมมติเราเป็นพนักงานบริษัท เราต้องการความเข้าใจและยอมรับ แต่กลับเจอหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานที่ไม่ดีกับเรา เราจะทำอะไรได้บ้าง
การทำงานไม่ใช่เพื่อมีชีวิตรอดอย่างเดียว แต่ต้องทำให้ชีวิตมีความสุขด้วย ทำงานแล้วมีพลัง อันดับแรกคือต้องเลือกที่ทำงาน ตอนนี้มีทางเลือกมากมาย มีกลุ่มคนที่สร้างองค์กรแบบทางเลือก มีเป้าหมายเป็นแฮปปี้เวิร์กเพลซ การเลือกงานที่เงินดีหรือมีชื่อเสียงบ่อยครั้งที่เราจะผิดหวังหรืออกหักกลับมา ดังนั้น อันดับแรกเลยคือคุณเลือกสภาพแวดล้อมที่คุณต้องการ อันดับต่อมา ถ้าเข้าไปทำแล้วเจอปัญหาต่างๆ ก็กลับมาใช้วิธีการ NVC โดยสังเกต รู้สึก หาความต้องการ และร้องขอ คุณรู้สึกอะไรและต้องการอะไร หลายคนไม่เคยถามคำถามนี้ แล้วมีปฏิกิริยาโต้ตอบโดยอัตโนมัติกับปัญหาในที่ทำงาน พอไม่ชอบใครก็ว่ากล่าว หรือถ้าไม่กล้าพอก็หลบหนีไปเลย
วิธีการที่เป็นทางเลือกได้ดีกว่าคือ เราจะไม่สู้ และเราจะไม่หนี เพราะการสู้และการหนีไม่ได้ช่วยตอบสนองความต้องการลึกๆ ของเราอยู่ดี แต่ให้กลับมาถามตัวเองว่ารู้สึกอะไร และเราต้องการอะไร เช่น คุณรู้สึกอึดอัดกับคำพูดของหัวหน้าทุกวันๆ แล้วแท้จริงคุณต้องการอะไร คุณอาจจะต้องการความเคารพ คุณต้องการการสนับสนุนช่วยเหลือ พอจับความต้องการนี้ได้ก็หาทางเลือกที่จะลงมือทำเพื่อแก้ไข มันจะเป็นทางเลือกที่แตกต่างจากเดิม คุณสามารถบอกหัวหน้างานให้เขารับรู้ มีความเป็นไปได้ที่จะคลี่คลายด้วยดี
การร้องขอสิ่งที่ต้องการ บางทีอาจจะขึ้นอยู่กับความมั่นใจในตัวเองด้วย ถ้าใครไม่มั่นใจในตัวเอง ก็ไม่กล้าที่จะร้องขอ
ใช่เลย นั่นถือเป็นเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งระบบการศึกษาของเราไม่ค่อยสอนเรื่องนี้ เราเรียนแต่วิชาการ แต่เราไม่เรียนวิธีการจัดการอารมณ์ตัวเอง หลายประเทศมีการศึกษาสมัยใหม่เริ่มสอนเรื่องนี้ พัฒนาอีคิวไปควบคู่กับไอคิว ตั้งแต่ฝึกสอน NVC มา พบว่าเด็กเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้เร็วกว่าผู้ใหญ่ แต่ไม่สายเกินไป อีคิวพัฒนาได้มากกว่าไอคิวด้วยซ้ำ ไอคิวมีข้อจำกัดในการพัฒนา แต่อีคิวพัฒนาขึ้นไปได้เรื่อยๆ การสื่อสารอย่างสันติก็คือฝึกอีคิวแบบหนึ่งเหมือนกัน
1. คุณมีแรงบันดาลใจไหม ถ้าคุณมีแรงบันดาลใจ คุณก็สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของคุณ ไม่อยากมีความมั่นใจในตัวเองต่ำ เพราะเป็นแบบนี้มาหลายปีแล้ว รู้สึกว่ามันทำให้ชีวิตและการงานไม่ดีเลย ดังนั้น คุณเริ่มหาแรงบันดาลใจ อยากเปลี่ยนไปเป็นคนแบบไหน คนแบบที่ว่าตื่นมาตอนเช้าแล้วอยากลุกจากเตียง มีความกระตือรือร้นที่จะไปที่ทำงาน แรงบันดาลใจเป็นจุดเริ่มต้นขับเคลื่อนคุณ
2. มีเพื่อนที่เข้าอกเข้าใจ ถ้าเราฝึกอยู่คนเดียว เวลาไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีใครสนใจเรื่องนี้ เช่น ในที่ทำงานไม่มีใครมาพูดจาดีๆ มาเรียนรู้ความต้องการและหาทางเลือกด้วยกันเลย เราฝึกไปวันสองวันก็ไม่เวิร์ก ไม่ได้ผล ดังนั้น การฝึก NVC จึงต้องมีคู่หู อาจจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนสนิทที่โทร.หากันได้ตลอดเวลา เวลาคุยกับหัวหน้างานแล้วหัวหน้าไม่เข้าใจเราเลย เราโทรศัพท์ไปหาคู่หูเรา เขาให้ความเข้าใจเราได้ ก็เหมือนการเติมออกซิเจนให้เราได้เพียงพอ เรามีความมั่นใจของเรา และเราไม่ไปทำลายความมั่นใจของใคร
3. ลงมือฝึกฝนตลอดเวลา ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นที่ออฟฟิศ คุณอยากจะลาออกให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลย คุณจะหยุดคิด สังเกตตัวเอง พิจารณาความรู้สึก ค้นหาความต้องการที่แท้จริง แล้วก็อาจจะค้นพบทางเลือกอื่นในการตอบสนองความต้องการนั้น
วิธีการ NVC จะได้ผลจริงแค่ไหน ในขณะที่คนอื่นๆ ส่วนใหญ่ในสังคมยังไม่เข้าใจ และใช้ความรุนแรงอยู่
ในช่วงที่สังคมไทยมีความขัดแย้งทางการเมืองหนักๆ ก็เคยนำ NVC เข้าไปใช้ในที่ชุมนุม ช่วยให้บรรดาผู้มาชุมนุมลดความรุนแรงลง แต่ในการแก้ไขปัญหาใหญ่ระดับโครงสร้าง การสอนเรื่องความเข้าอกเข้าใจจะต้องดำเนินไปควบคู่กับการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพด้วย ความเข้าใจอย่างเดียวจะช่วยไม่ได้ เพราะคนรู้สึกไม่พออยู่ตลอดเวลา มันคือสิ่งที่เราขาดมากที่สุด
ดังนั้น เราต้องแก้ไขปัญหาไปด้วย ในความขัดแย้งทางการเมือง เรามักจะด่าคู่ตรงข้ามกับเราแรงๆ ฝ่ายตรงข้ามได้ยินได้ฟังแล้วแบบ โอ้โฮ ฉันไปดีกว่า มันก็ไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขอะไรเลย แต่ถ้าคุณมีความสามารถในการสื่อสาร คุณเข้าใจเขา รับรู้ความต้องการของเขา และรู้ว่าความเชื่อ ความคิดเห็น หรือแนวทางแก้ไขปัญหาของคุณ ช่วยตอบสนองความต้องการของเขาได้ เมื่อพูดออกไปดีๆ นั่นคุณอาจจะได้ความร่วมมือกลับมามากขึ้น
ในสังคมที่ผู้คนกระทำรุนแรงต่อกัน มีการบูลลีกัน มันจะส่งผลต่อเราในฐานะของอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยไหม
ความรุนแรงส่งผลต่อทุกคน ถึงแม้เราเป็นแค่คนเห็นเหตุการณ์ก็รู้สึกแย่ไปด้วย เช่น เห็นคนกำลังโจมตีกันทางออนไลน์ คุณสามารถเขียนความเห็นของคุณเข้าไป บอกว่าคุณรู้สึกอย่างไร คุณต้องการอะไร คุณอยากใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีความสุข คุณร้องขอออกไป ขอให้ลบโพสต์นี้ แล้วอย่าโพสต์แบบนี้อีก หลายคนไม่รู้วิธี ก็ปล่อยผ่านไปหรืออาจจะอันเฟรนด์กันไปเลย แต่ถ้าคุณรู้วิธีการพูดคุยกันดีๆ สังคมโดยรวมก็จะดีขึ้น
หรือถ้าเห็นการบูลลีในโลกแห่งความจริง มีเด็กตัวใหญ่กำลังแกล้งเด็กตัวเล็กกว่า คุณก็ควรเข้าไปหยุดเหตุการณ์ หลักคือคุณต้องไม่ไปหยุดโดยใช้ความรุนแรงใส่เข้าไปอีก คือคุณจะไม่ลงโทษเด็กที่แกล้งเพื่อน เพราะนั่นก็จะยิ่งตอกย้ำให้เขามีพฤติกรรมรุนแรงต่อไป แถมยังทำให้เด็กที่ถูกแกล้งรู้สึกสะใจและอยากใช้ความรุนแรงตอบโต้บ้างในโอกาสต่อไป มันกลายเป็นวงจรของความรุนแรง
เราสามารถหยุดความรุนแรงโดยการปกป้องทั้งสองฝ่าย บอกให้สองฝ่ายพูดกันดีๆ ลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา ถามเขาว่าถ้าคุณถูกบูลลีบ้างจะรู้สึกอย่างไร จริงๆ แล้วคุณต้องการอะไร และมีทางเลือกอื่นอีกไหมที่จะตอบสนอง ลองคิดดูว่าถ้ามีทางเลือกอื่นที่ตอบสนองความต้องการได้ โดยที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรง ใครจะยังอยากใช้ความรุนแรงอยู่อีกล่ะ
TOOLS
1. การสังเกต
ในการพูดคุยกัน เมื่อเรารับรู้อะไรเข้ามาก็จะเกิดการตีความ คุณพูดอะไรบางอย่างที่ไม่ดีต่อฉัน ฉันตีความว่าคุณเกลียดฉัน แต่หลักการของ NVC สอนให้เราไม่ด่วนตีความ แต่ให้เริ่มฉุกคิดในทันที เช่น มีคนมาบอกคุณว่าวันนี้ใส่เสื้อผ้าไม่สวยเลย ก็จะเกิดการตีความว่าเขาเกลียดชังคุณ แต่ถ้าเราเพียงแค่สังเกตคำพูดของเขา โดยยังไม่ต้องด่วนสรุปตีความอะไร
2. การรู้สึก
ย้อนกลับมาให้ตรวจสอบความรู้สึกของตัวเอง เมื่อได้ยินที่เขาพูดมาแล้วเรารู้สึกอย่างไร เขาบอกว่าเสื้อผ้าของคุณไม่สวย อ๋อ เรารู้สึกว่าไม่มั่นใจในตัวเองขึ้นมาทันทีเลย
3. หาความต้องการที่แท้จริง
ลึกๆ แล้วต้องการอะไรอยู่ ในการพูดคุย ถ้าคุณกำลังรู้สึกทางบวก แปลว่าความต้องการของคุณได้รับการตอบสนองแล้ว เช่น ได้รับคำชื่นชม แต่ถ้ารู้สึกทางลบ แปลว่าความต้องการบางอย่างไม่ได้รับการตอบสนอง จึงต้องพิจารณาว่านั่นคือความต้องการอะไรกันแน่ เช่น คุณอยากจะมีความมั่นใจ อยากภูมิใจในการแต่งตัวของตัวเอง อยากมั่นใจทุกครั้งที่ออกจากบ้าน
4. การขอร้อง
มองหาวิธีการว่าเราต้องทำอย่างไร จึงจะตอบสนองความต้องการนั้นได้ ถ้าคุณมีความมั่นใจในตัวเอง คุณก็จะคิดได้ว่า ไม่เป็นไร เขาแค่พูดเล่นหยอกล้อเท่านั้น แต่ถ้าคุณขาดความมั่นใจ และกำลังต้องการได้รับความมั่นใจ คุณก็จะหาวิธีใหม่ เช่น ไปบอกกับเขาตรงๆ ว่าที่พูดมาเมื่อกี้นี้ ทำให้ฉันรู้สึกแบบนี้ เพราะอะไร และฉันอยากให้คุณช่วยพูดกับฉันดีๆ หน่อย เป็นการสื่อสารเพื่อให้เขาได้รับรู้รับทราบความต้องการที่แท้จริง