‘พ่อ/แม่ หนูอยากเป็นเกมเมอร์’ สำหรับคนในวัยที่มีลูกแล้ว คุณเคยเจอประโยคแบบนี้หรือยัง
ถ้าเจอแล้วคุณจะหาเหตุผลแบบไหนในการตอบเขา จะอธิบายอย่างไร คุณรู้ไหมว่าอาชีพนักเล่นเกมวันๆ เขาทำอะไรกันบ้าง อนาคตทางการเงินเป็นอย่างไร ธุรกิจนี้จะไปต่อได้ไหม มันดีหรือไม่ดีอย่างไร หรือถ้าง่ายกว่านั้น คุณรู้จักเกมที่ลูกเล่นอยู่บ้างหรือเปล่า
คำถามเหล่านี้สร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมในวงกว้างเกินกว่าจะคาดการณ์ จนทำให้เกิดทั้งฝั่งสนับสนุนและฝั่งต่อต้านในเวลาเดียวกัน ที่สำคัญยังไม่ได้บทสรุปอะไรทั้งนั้น และก็ยังไม่รู้ว่าใครจะตอบคำถามนี้ได้
นี่จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ลองฟังความจากปาก Gamer อาชีพของไทย นัฐกร บุญฤทธิ์ภักดี หรือที่คอเกมรู้จักในชื่อ AmpZeFFiLoS ผู้มีฝีมือก้าวกระโดดจนได้ไปยืนแถวหน้าของโลกมาแล้ว แน่นอนว่าเขาได้ผ่านคำถามที่วิพากษ์วิจารณ์ข้อดีเสียของเกมเมอร์มาแล้วมากมายว่า แล้วอะไรคือสิ่งที่มืออาชีพรายนี้มองเห็นจากการเล่นเกมจริงๆ
สำหรับวงการ e-Sport บ้านเราชื่อของเขาคือตำนานเดินดิน เป็นยอดพีระมิดที่นักกีฬารุ่นใหม่ทุกคนอยากจะข้ามผ่านให้ได้ ด้วยดีกรีมากมายทั้งแชมป์ FIFA Online ประเทศไทยปี 2013 และ 2014 รวมทั้งผลงานระดับเอเชียและรายการระดับโลกมากมาย ทั้งยังเป็นนักกีฬา e-Sport ไทยคนแรกที่ได้ร่วมแข่งขันเกมฟุตบอล FIFA Online 3 กับทีม Ronly ทีมลีกอาชีพในจีน ก่อนจบการแข่งขันในตำแหน่งผู้เล่นทรงคุณค่า
เกมเมอร์ไม่ได้แตกต่างจากอาชีพอื่นๆ
“ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพไหนก็ตามหากต้องการไปยืนอยู่บนยอดพีระมิดย่อมต้องแลกมาด้วยความยากลำบากทุ่มเทอย่างถึงที่สุด เกมเมอร์ก็ไม่ต่างกัน ผมเข้าใจถึงคำถามที่มีต่อเกมเมอร์นะว่าอนาคตจะเป็นยังไงเลี้ยงชีพได้ไหม ความยากไม่ต่างจากทุกอาชีพที่มีคนประสบความสำเร็จสูงๆ เป็นจำนวนน้อยและต้องเป็นคนที่เก่งที่สุดด้วย วงการเกมก็เช่นกัน หากคุณเข้ารอบ 32 คนสุดท้ายได้ เงินรางวัลมีอยู่แล้ว มากน้อยต่างกันไป แต่ละรายการหากคุณเข้ารอบ 32 คนสุดท้ายได้ คุณไม่มีทางมือเปล่าแน่นอน
“เป็นนักกีฬา เป็นนักฟุตบอล ตามที่พ่อแม่จำนวนมากปรารถนา ทุกอย่างต้องแข่งขันทั้งนั้นเสี่ยงเหมือนกันหมด คุณเชื่อว่าลูกคุณมีพรสวรรค์ที่จะเป็นนักกีฬา ทรงดีตั้งแต่ 10 ขวบ ผลักดันเต็มที่ แต่พอมาเจอโลกกว้าง ไปอยู่ในทีมที่มีแต่คนเก่งกว่าแล้วจะยังไงต่อ คุณจะบอกให้เขาหยุดไหมถ้าประเมินแล้วว่าลูกเราไปไม่รอด ถ้าตัวเด็กบอกว่ายังสู้คุณจะทำยังไง ถ้าเขาบอกว่ารักจริงๆ เรื่องนี้คงไม่ต่างกัน”
เปิดใจดูก่อน อย่าเพิ่งด่วนตัดสิน
“พ่อแม่สำคัญมากสำหรับอาชีพนี้ ยิ่งเปรียบเทียบกับสังคมไทยเรา หากลูกบอกคุณว่าอยากเป็นเกมเมอร์ เรื่องแรกเลยคือต้องเปิดใจแล้วทำความรู้จักก่อนว่า สิ่งที่ลูกคุณอยากเป็นคืออะไร ลองทำความเข้าใจดูก่อน อย่าเพิ่งด่วนตัดสินจากประสบการณ์เดิม เพราะนี่คือเรื่องใหม่ คุณลองนึกถึงตอนเด็กๆ สิ มันย้อนแย้งมากเลยนะ พ่อแม่ไม่คิดอะไรเวลาเด็กเล่นจรวดแต่พอเด็กบอกจะเป็นคนสร้างจรวดกลับบอกเขาเพ้อเจ้อ
“การนำความชอบในการเล่นเกมไปต่อยอดอนาคตมันมีแน่นอน ไปลงแข่งก็ได้ หรือถ้าเก่งมาก สามารถสร้างบุคลิกที่โดดเด่นจนเป็นที่ยอมรับ งานพรีเซนเตอร์ก็จะตามมา ซึ่งอาจจะทำให้ยิ่งก้าวไประดับทวีปหรือระดับโลกเลยก็ได้ เกมเมอร์ในเมืองไทยบางคนซื้อบ้านซื้อรถสร้างอนาคตให้พ่อแม่ไปแล้ว เวลา 2 ปีของเขาสามารถหาเงินได้เท่ากับ 10 ปีของพ่อแม่ แต่การทำยังไงให้พวกเขายอมรับในครั้งแรกนั้นมันไม่ใช่เรื่องง่าย”
การประเมินที่อยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง
“เริ่มต้นจากการที่คุณลองประเมินลูกก่อน พร้อมกับให้เด็กประเมินตัวเองบนโลกแห่งความเป็นจริงว่า เขาชอบจริงไหม แล้วมันมีทางจะเป็นไปได้ไหม เคยลงแข่งบ้างหรือยังหรือแค่เล่นเกมเพราะสนุก ไม่มีอะไรจะทำ เกมเดี๋ยวนี้มันง่ายเพราะมี Ranking ที่สามารถวัดได้ ในเมืองไทยหากยังไม่ท็อป 100 จะไปแข่งได้ยังไง นั่นแปลว่าที่ผ่านมายังเก่งไม่พอ ต้องซ้อม ต้องจริงจังมีแบบแผนมันถึงจะก้าวไปได้
“ยกตัวอย่างใกล้ตัว ตอนนี้ผมมีหลานชาย ซึ่งมีนิสัยเหมือนเด็กทั่วไปที่คนเป็นห่วงกันเลย ว่างปุ๊บก็จิ้มแทบเล็ต เล่นเกมไปเรื่อย ไม่ค่อยทำอย่างอื่น อย่างเกมคุกกี้รัน เล่นมันทั้งวันจนผมกับพ่อเขาต้องไปตามดู ปรากฏว่า เออ เล่นเก่ง ไปได้ไกลกว่าผู้ใหญ่อย่างเราอีก เล่นไปเล่นมาชนะบ่อย เริ่มจะมีรายได้เข้ามาจากการขายไอเทม อันดับก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้เลยวางแผนกันว่า ขอดูอีกสักระยะ หากมีแววรุ่งลองให้ลงแข่งแล้วสู้ได้ มีรายได้เข้ามาจนเป็นที่พอใจก่อน แล้วถ้าเขาอยากลุยก็เอาเลย ดร็อปเรียน ไปลุยให้เต็มที่”
เกมเมอร์เป็นได้ แต่ไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต
“ทว่าจนกว่าจะพิสูจน์ตัวเองได้คุณต้องอยู่ในกรอบนะ ความรับผิดชอบต่อตัวเองทั้งการใช้ชีวิตและการเรียนต้องไม่บกพร่องแล้วเราค่อยมาว่ากัน ระหว่างนั้นก็เป็นหน้าที่ของเราในฐานะคนดูแลที่ต้องบอกเขาให้เข้าใจนะว่า หากเลือกเส้นทางนี้มันจะต้องเจออะไรบ้าง สิ่งสำคัญที่จะบอกเขาคือเป็นเกมเมอร์น่ะเป็นได้นะแต่มันคงไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิต
“กว่าตัวผมเองจะมาถึงจุดนี้ได้ก็ผ่านอะไรมาเยอะมาก กว่าจะมั่นใจว่าเก่ง ไล่แข่งมาหมดแล้ว ทั้งในบ้าน หมู่บ้าน โรงเรียน แล้วก็ระดับประเทศ จึงมีโอกาสออกนอกประเทศ มาถึงตรงนี้ตลาดคุณกว้างมากเพราะทุกครั้งที่ลงเล่นจะมีหน่วยเก็บสถิติละเอียดยิบ ผลงานคุณดีตัวเลขคุณดี มีสไตล์น่าสนใจ คุณก็จะได้ก้าวสู่เวทีที่ใหญ่ขึ้นและมีรายได้มากขึ้นตามมา”
ชีวิตที่ต้องแลกกับการฝึกซ้อม
“เล่นๆ ไปเรื่อยๆ มันไม่เก่งขึ้นหรอก ต้องเรียนรู้และซ้อมอย่างถูกวิธี หนักที่สุดคือช่วงเล่นอาชีพที่จีน การเข้าร่วมทีมจีนนั้นคุณจะต้องมีวินัยมาก เพราะทีมมีการกำหนดตารางการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งวัน 9 โมงตื่น จัดการภารกิจให้เสร็จรวมตัวกันกินข้าวแล้วก็ซ้อม เข้มงวดในการฝึกซ้อม เวลากินข้าว รวมไปถึงการดูแลร่างกายด้วย อย่างในเกม FIFA ที่เล่นเป็นเกมสั้นๆ 7 นาทีก็จบเกมนั้น เรื่องโภชนาการหรือการออกกำลังยังไม่เข้มงวดเท่าไร แต่ถ้าเป็นเกมอย่าง DOTA ที่เล่นกันยาวๆหลายชั่วโมงแถมเครียดตั้งแต่วินาทีแรก แบบนั้นจะมีโค้ชดูแลใกล้ชิดมาก ยิ่งฝั่งยุโรปก็จะยิ่งซีเรียสมากขึ้นไปอีก
“เบ็ดเสร็จซ้อมกันวันละ 10 ชั่วโมง รวมเบรกสั้นๆ ซ้อมเหมือนฟุตบอลจริงนั่นแหละ มีแท็กติก มีการกำหนดความสัมพันธ์ในทีม เล่นเดี่ยวเป็นอย่างไร เล่นทีมต้องคิดต่างไปแบบไหน มีโค้ชดูแลวางแผนหมด ความกดดันไม่ต้องพูดถึง เพราะมันคืออาชีพไปแล้ว ยิ่งผมไปในฐานะคนต่างชาติ ทีมในลีกทีมอื่นเขาจะดึงคนเกาหลีเข้าทีม ซึ่งทุกคนรู้กันว่าคือเบอร์ 1 ของโลก แต่เราคนไทย ยิ่งต้องพิสูจน์ตัวเอง เพื่อนร่วมทีมก็เหมือนกันนะ บางคนมาซ้อมลงแข่งรายการเดียวก็ออกเลย ไม่ได้ไปต่อเพราะการแข่งขันสูงมาก ต้องแลกมาด้วยหลายอย่าง ที่เห็นชัดเลยคือเรื่องสุขภาพ ด้วยเมืองที่ไปประจำสภาพอากาศไม่ดี ต่างจากเองไทยมาก และการซ้อมที่หนักทำให้อาการแพ้ต่างๆ มารบกวน หนักเข้าก็ซ้อมไม่ได้ต้องนั่งดูเพื่อนซ้อมแล้วกลับมาเมืองไทยเพื่อรักษาตัว
“มีบทวิเคราะห์ว่าด้วยเรื่องอายุการใช้งานของนักกีฬา e-Sport โดยวัดจากความเร็วในกระบวนการทางความคิดและการตัดสินใจ สายตารวมทั้งปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายที่เหมาะสม คือช่วงอายุสิบปลายๆ ไปจนถึงยี่สิบต้นๆ หากล่วงเลยกว่านั้น ร่างกายจะเริ่มเสื่อมลง เสื่อมในที่นี้ไม่ใช่ว่าร่างกายแย่นะ แต่มันจะไม่สมบูรณ์แบบอย่างที่นักกีฬา e-Sport ควรจะเป็น อย่างผมตอนนี้ก็เข้าเลขสามแล้ว เก๋าจัดเลย”
มายด์เซตคือหัวใจสำคัญของเกมเมอร์
“เหตุผลของฝั่งที่อยากให้ e-Sport บรรจุเป็นกีฬา รวมทั้งฝั่งที่คิดต่างกันด้วย ในมุมของผมเรื่องนี้มีการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องแน่นอน แต่ไม่ได้โหดร้ายถึงขั้นจะเปลี่ยนแปลงความจริงหรือกลับดำเป็นขาว ภาษาการตลาดเขาเรียกว่า Distort ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงการรับรู้ ส่วนผมยังไงก็ได้นะ ไม่รู้สึกว่าอะไรจะเปลี่ยนไป แต่ทั้งนี้เราก็ต้องเข้าใจมันดีๆ ก่อน เพราะสิ่งที่ตามมาจะมีหลายคำมาก เดี๋ยวเด็กไม่เรียนเอาแต่เล่นเกม สมาธิสั้น ร่างกายไม่แข็งแรง กลายเป็นเด็กติดเกม ปัญหาที่พูดมา e-Sport คงไม่ใช่เหตุผลทั้งหมด คนไม่เล่นเกมใช้ชีวิตปกติก็ใช่ว่าจะแข็งแรงไปทุกคน เด็กบางคนไม่เล่นเกมแต่สายตาสั้นต้องใส่แว่นตั้งแต่ประถมก็เยอะไป สำคัญที่สุดคือถ้าคุณอยากเป็นโปรฯ มีรายได้แบบมืออาชีพ แค่เล่นเกมแบบคนทั่วไปหรือเล่นไปวันๆ ไม่ได้หรอก เล่นแบบไม่คิดอะไร เอาสนุก ทำอะไรซ้ำๆ ไม่คอยสังเกต หรือการมั่วๆ ไปนั้น คุณจะไม่มีทางเป็นเกมเมอร์มืออาชีพได้เลย
“มืออาชีพต้องเล่นเพื่อพัฒนาซึ่งมันใช้ทั้งความเข้าใจในตรรกะความคิด ต้องเรียนรู้อย่างเป็นขั้นตอน ศึกษาเก็บสถิติ เกมแบบนี้แก้ไขอย่างไร เลี้ยงมามุมนี้จะหักหลบไปทางไหนถึงจะได้ประตู ได้ผลงานที่ดีเพื่อผลการแข่งขันที่เป็นเลิศ มันไม่มีทางเกิดขึ้นกับเด็กติดเกมหรือมือสมัครเล่นหรอก
“แม้แต่โปรฯ ไทยเองก็ยังมีปัญหานะ สิ่งที่ต้องปรับชัดมากคือมายด์เซต เพราะความคุ้นชินกับการเลียนแบบ ไม่ได้คิดค้นหรือทดลองรูปแบบการเล่นใหม่ๆ เคยทำได้แบบไหนก็ทำแบบเดิมอยู่อย่างนั้น โดนจับทางได้ก็ไปไม่เป็น ถ้ามองในภาพใหญ่ก็คือ มันเป็นเรื่องทัศนคติของคนไทยในเรื่องความหิวกระหายพัฒนาตัวเอง คุณจะเก่งขึ้นได้อย่างไรหากเจอแต่คนที่เอาชนะได้ คุณต้องลองไปเจอคนที่เก่งกว่าสิ เป็นแชมป์ในบ้านตัวเองแล้วก็ต้องไปนอกบ้านพิสูจน์กันต่อไป นี่คือมืออาชีพ”
เรื่อง: พรรษิษฐ์ วิชยคุปต์