องอาจ ชัยชาญชีพ

องอาจ ชัยชาญชีพ: เวลาที่เราได้ Work From Home นั้น อย่างน้อยที่สุดแสดงว่าเรายังมี Work อยู่

ในโลกที่เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้เข้ามาดิสรัปต์ จนทำให้สังคม เศรษฐกิจ และมนุษย์ต้องปั่นป่วนอย่างที่ใครหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่เคยเจอเรื่องแบบนี้มาก่อน” ชีวิตประจำวันของเราทุกคนต่างจำต้องปรับเปลี่ยนอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในการทำงาน ในการใช้ชีวิต และถึงแม้ว่าอีกไม่นานสถานการณ์จะคลี่คลายลง ทุกอย่างก็คงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว

        สิ่งหนึ่งที่มาพร้อมวิกฤตการณ์เสมอคือ สิ่งใหม่ๆ ที่เกิดจากการปรับตัวของสังคมมนุษย์ ดั่งเช่นคำสำคัญของยุค (โควิด) นี้ ที่เราได้ยินเป็นประจำอย่างคำว่า Work From Home ที่แปลให้เข้าใจง่ายๆ คือการที่เราสามารถทำงานจากที่พักอาศัยหรือนอกสถานที่ได้ โดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศ หากแต่สถานการณ์ในยุคนี้คงหนีไม่พ้นการทำงานที่บ้าน หอพัก อพาร์ตเมนต์ หรือคอนโดฯ ก็ตามแต่ และมันนำมาซึ่งความรู้สึกอันไม่คุ้นชิน ฟีดส์เฟซบุ๊กในยามนี้ต่างเต็มไปด้วยคำพร่ำบ่นถึงความเหงา ความเปล่าเปลี่ยว ความเบื่อ และความเครียด ที่เกิดจากการต้องทำงานอยู่ในที่พักอาศัยเพียงอย่างเดียว

        ‘โตโต้’ – องอาจ ชัยชาญชีพ นักเขียนและเจ้าของสำนักพิมพ์ ‘เป็ดเต่าควาย’ คือผู้ที่สังเกตเห็นปรากฏการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในยามที่สังคมไม่ปกติเช่นนี้ ในขณะที่เราต่างเบื่อหน่ายกับสภาพที่เกิดขึ้น และเฝ้ารอวันสถานการณ์คลี่คลาย จนรู้สึกว่าเวลาแต่ละวันผ่านไปอย่างเชื่องช้า เต็มไปด้วยความเครียด โตโต้มองว่าในทุกวิกฤตนั้นมี ‘โอกาส’ และ การ ‘ค้นพบ’ สิ่งใหม่เสมอ แม้กระทั่งการ Work From Home ก็ตาม

        แม้อาจฟังดู ‘โลกสวย’ แต่โตโต้ยืนยันว่า ไม่ใช่ เพราะนั่นคือการมอง ‘โลกจริง’ ให้เต็มตา ยอมรับและปรับตัวให้ได้ ไม่เช่นนั้นความทุกข์จากความไม่คุ้นเคยจะกลายเป็นสึนามิที่เข้ามาโถมทับจนเราต้องพ่ายแพ้ในที่สุด

        “เราต้องหายใจในโลกจริง ไม่ใช่โลกแห่งความฝัน โลกอันโหดร้าย หรืออนาคตอันโหดร้ายที่เรามโนขึ้นมา แต่คือการยืนหยัดในโลกจริงๆ ยอมรับความเป็นจริง และมีความหวังบนพื้นฐานของความเป็นจริง ก่อนที่จะก้าวไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆ”

        ชายหนุ่ม บอกกับเราเช่นนั้น

 

องอาจ ชัยชาญชีพ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ต้องคุณปรับตัวอย่างไรในการทำงาน

        โดยส่วนตัวแล้วเราอาจจะมีผลกระทบน้อยหน่อยเมื่อเทียบกับคนอื่น เพราะออฟฟิศสำนักพิมพ์เราอยู่ในรูปแบบองค์กรขนาดเล็ก และเราพยายามไม่ให้มันโต (หัวเราะ) ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนะ เพราะธรรมชาติของงาน ถ้าไม่เจ๊งก็ต้องโต แต่เราพยายามประคองให้มันเล็ก เพราะเราคิดว่าจัดการง่ายกว่า คล่องตัวกว่า พอมาเจอวิกฤตแบบนี้ มันทำให้คิดได้ว่า โอเค ตอนช่วงที่ทุกอย่างปกติ เราก็ไม่สามารถบูมเทียบเท่าคนอื่น หรือมีศักยภาพที่จะทำอะไรที่มันรุ่งเรืองได้ แต่พอช่วงที่มีวิกฤต มันเลยมีผลพลอยได้ตรงที่ว่าผลกระทบน้อยกว่า เพราะเราไม่ได้มีลูกน้องเยอะแยะ มีแค่คนสองคน มีผู้จัดการคอยช่วย ก็เลยไม่ค่อยมีปัญหา

        เวลาโลกมันเปลี่ยน ย่อมมีผลกระทบกับทุกคนอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับมากหรือน้อย ส่วนตัวเรามีผลกระทบถือว่าสัดส่วนน้อยถ้าเทียบกับคนอื่น แต่ถ้าเทียบกับแค่ตัวเองก็ไม่น้อยนะ (หัวเราะ) เพราะผลกระทบทางเศรษฐกิจทุกอย่างต้องชะงักหมด แต่จะน้อยในแง่ของพฤติกรรม เพราะว่าบางคนทำงานออฟฟิศ คุณต้องออกจากบ้านทุกวัน ในสถานการณ์แบบนี้คุณแทบจะต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตเกือบครึ่งหนึ่งเลย แต่เราโดยส่วนใหญ่ การทำงานคืออยู่ที่บ้าน หรืออยู่ในละแวกนี้ ดังนั้น อันดับแรกๆ เลยคือเราไม่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องการเดินทาง หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมที่ทำงาน แต่ผลกระทบก็เหมือนคนอื่น เพราะเศรษฐกิจก็ถูกยกกันหมด มันเลี่ยงไม่ได้

กับเรื่องสภาพจิตใจถือว่าได้รับผลกระทบขนาดไหน เพราะได้ยินหลายคนที่อายุมากถึงกับพูดว่าไม่เคยเจอสถานการณ์แบบนี้มาก่อนในชีวิต

        แน่นอนว่าความเครียดหนีไม่พ้น ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสถานะไหนในสังคม ถ้าสังคมเครียด คุณจะชิลอยู่คนเดียวก็เป็นเรื่องประหลาด พลังงานความเครียดส่งผลกระทบถึงกันอยู่แล้ว บางคนบอกว่า อยู่มาห้าสิบหกสิบปีไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อน คือเราบอกได้เลยว่า โลกมีอะไรบางอย่างที่เหมือนจะหมุนวน แต่มันไม่เคยหมุนวน มันก้าวไปข้างหน้าตลอด เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ต่อให้เหมือนกัน มันก็ไม่เหมือนปัจจุบันที่เกิดขึ้น และก็จะไม่เหมือนในอนาคต เคยได้ยินใช่ไหม ผู้ใหญ่บางคนบอกว่า เฮ้ย เราเคยเกิดวิกฤตแบบนี้มาแล้ว เราก็ผ่านมาได้ แต่เราคิดว่าไม่จริง วิกฤตที่คุณผ่านกับวิกฤตตอนนี้ อย่าว่าแต่รายละเอียดไม่เหมือนกันเลย แค่ช่วงเวลาก็ไม่เหมือน วัยวันที่คุณต้องรับมือก็ไม่เหมือน เทคโนโลยีก็เปลี่ยนไปตลอดเวลา ฉะนั้น วิกฤตที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งคือของใหม่เสมอ ต่อให้คุณเคยเผชิญกับวิกฤตที่ร้ายแรงมากมายระดับสงครามโลกก็เถอะ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นของใหม่ และไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าคุณจะใช้วิธีไหนที่จะผ่านไปได้ 

ตอนนี้คนเครียดจากการเสพข่าวมาก ข่าวจริง ข่าวปลอม เยอะแยะไปหมด เราควรรับมือกับการเสพข่าวยังไง

        เราคิดว่าการจะเลี่ยงไม่เสพข่าวเลยก็คงไม่ได้ เพราะข่าวสารหลายๆ อย่างทำให้เราทันเหตุการณ์ และเตรียมที่จะรับมือได้ โดยรู้จักสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นรอบตัว เพียงแต่ว่าปัจจุบัน ข่าวสารหลั่งไหลเยอะมาก เร็วมาก และมีทั้งจริง ลวง จริงปนเท็จ ออกไปเยอะ ซึ่งทำให้หลายคนเครียด สำหรับเรา วิธีรับมือคือต้องประเมินว่าตัวเรารับมือกับข่าวสารได้มากน้อยแค่ไหน บางทีการที่เราเลี่ยงไม่รับข่าวสารเลย ถามว่าเราชิลจริงไหม ไม่หรอก สิ่งที่เกิดขึ้นมันอยู่รอบๆ ตัวเราเลย มันใกล้ชิดกับเรามาก ยังไงก็เลี่ยงไม่ได้ พอเราไม่รับรู้ บางทีเราอาจจะแอบเครียดกว่าเดิมก็ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเรารับข่าวสารมากเกินไป เกินกว่าศักยภาพหรือภูมิต้านทานของเรา มันก็ส่งผลกระทบถึงตัวเรา เราก็เครียด มนุษย์เราไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลก พอเราเครียด ก็ส่งผลกระทบต่อไปให้คนอื่นๆ อย่างเช่น คุณรับข่าวสารไปแต่ละอย่างแล้วเครียด คุณก็มีแนวโน้มที่จะส่งต่อความเครียดทางข่าวสารไปให้คนอื่นๆ ต่อไป

        ดังนั้น วิธีการส่วนตัวของเราคือต้องประเมินความสามารถในการรับสื่อด้วยว่าถ้ามากกว่านี้ไม่ไหวแล้ว และเลือกรับสื่อที่เรารู้สึกว่าเชื่อถือได้ สื่อนี้ทำให้เราได้เตรียมการรับมืออะไร อย่างไร แค่ไหน มากกว่ารับสื่อเพื่อที่จะรู้สึกทันโลก ทันเหตุการณ์ จนไปปรนเปรอความเครียดของตัวเองโดยไม่รู้ตัว เหมือนดูหนังตื่นเต้น และเรารู้สึกตื่นเต้น เราพยายามเสพความตื่นเต้น ดราม่าทั้งหลายแหล่ แต่ทีนี้เรื่องนี้ไม่ใช่ดราม่าคนอื่นไง มันคือดราม่าของสังคมที่เกิดกับเราด้วย แล้วพอเราถูกกระตุ้นให้เสพมากเข้า บางทีเราก็ไม่สามารถรับมือมันได้ และสะสมกลายเป็นความเครียด

ตอนนี้อย่างที่ทราบว่าบริษัทหลายแห่งก็ปรับการทำงานเป็น Work From Home แต่ก็จะตามมาด้วยหลายคำถาม อย่างแรกเลยคือความเหงาและความเบื่อที่เกิดขึ้น ทั้งคนที่ต้องอยู่บ้าน หรืออยู่หอพัก อยู่คอนโดฯ คุณมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร

        ในช่วงนี้ สิ่งที่เป็นหัวข้อที่พูดถึงมากที่สุดซึ่งมีผลกระทบมาจากโรคระบาดคือ Work From Home ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้หลายๆ คนต้องเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน เพราะหลังจากที่ถูกประกาศว่า Work From Home ปุ๊บ คนที่เคยทำงานออฟฟิศแบบไปกลับเป็นเวลาหลายปี แต่ตอนนี้ต้องมาทำงานที่บ้าน ทีนี้ ทำอย่างไรให้สามารถอยู่กับการทำงานที่บ้านได้ โดยที่ไม่สติแตกเป็นบ้าไปก่อน อันดับแรกเราต้องเข้าใจว่า การทำงานคนเดียวหรือการอยู่คนเดียวก็เป็นทักษะอย่างหนึ่ง ไม่ต่างจากการอยู่ในสังคม แต่ปกติเรามักจะโฟกัสแค่ทักษะในการเข้าสังคม ลองนึกถึงวันที่คุณทำงานวันแรกหลังจากเรียนจบมา คุณไม่เคยเข้าสังคมในการทำงานมาก่อนเลย มันก็มีความตึงเครียด มีความตื่นเต้น ที่คุณต้องปรับตัว เพียงแต่ว่าคุณยอมรับมันได้ เพราะมันเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำกัน ทุกคนต่างต้องเข้าสังคม ต้องปรับตัวในการเข้าสังคมนั้นๆ 

        แต่ประเด็นคือ เราลืมไปว่าการอยู่คนเดียว การทำงานคนเดียว ก็เป็นสิ่งที่ต้องปรับตัว เป็นทักษะอย่างหนึ่งเราต้องฝึกฝน ต้องเรียนรู้ ไม่ต่างจากการที่เราเข้าสังคมแล้วรู้ว่า อ๋อ คนที่นี่ทำงานตอนกี่โมง อ๋อ คนที่นี่กินข้าวกลางวันตอนนี้นะ อ๋อ คนที่นี่ไม่พูดแบบนี้ เขาแต่งตัวแบบนี้ ดังนั้นการอยู่คนเดียวคือการฝึกทักษะในการอยู่กับตัวเอง เราจะรู้ว่า อ๋อ ถ้าไม่มีใครบังคับเรา เราแม่งไม่ยอมทำงานเลย เราจะเปิดซีรีส์ดู หรือเราจะเครียดว่ะ แล้วเราจะคุมความคิดตัวเองไม่ได้ เราจะเหงา ดังนั้น คุณยังปรับตัวเข้ากับสังคมได้เลย คราวนี้คุณต้องปรับตัวเข้ากับตัวเองบ้างแล้วล่ะ 

มีข้อสังเกตอะไรจากการทำงานแบบ Work From Home ที่คุณมองเห็นอีกไหม

        การ Work From Home อยู่คนเดียวคุณว่าลำบากใช่ไหม แต่รู้ไหมอีกหลายคนมีความลำบากอีกด้านหนึ่งนะ คือการต้อง Work From Home แต่มีสมาชิกอยู่ในบ้าน หรือกระทั่งมีหนึ่งคนขึ้นไป ทุกอย่างก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว เพราะปกติบางคนมีความรู้สึกมั่นคงเวลาออกไปทำงาน แต่อยู่ที่บ้านก็อาจจะรู้สึกว่าเป็นเซฟโซน ทีนี้พอต้องมาอยู่ในบ้านกับสมาชิกอื่นๆ มันไม่ใช่แค่การปรับตัวคนเดียวนะ คุณต้องปรับความเข้าใจกับเขาด้วย ถือเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่โหดเหมือนกันนะ (หัวเราะ) คุณจะทำอย่างไรให้แม่เข้าใจ ให้ลูกเข้าใจ ว่านี่ทำงานอยู่นะ 

        นี่เป็นเรื่องที่ต้องปรับตัวเฉพาะบุคคล เฉพาะสภาพแวดล้อม และเป็นเรื่องของบุคลิกภาพของคนคนนั้นด้วย ว่าต้องทำอย่างไร เพียงแต่มีเงื่อนไขว่า ‘ต้องปรับ’ เท่านั้นเอง คือคุณต้องเครียด และทุกคนต้องเผชิญอะไรบางอย่างแบบนี้ ดังนั้น อย่าไปคิดว่า ซวยฉิบหายเลย ชีวิตกูจบแล้ว หลังจากทีมีวิกฤต ไม่หรอก มนุษย์เป็นสัตว์โลกที่ปรับตัวได้ บางคนมีสถานการณ์คืออยู่หอคนเดียว โอ้โห อยู่ห้องสี่เหลี่ยม โหดมาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ แล้วคือความรู้สึกไม่มั่นคงที่เราไม่รู้ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม พออยู่คนเดียวก็เกิดความรู้สึกไม่เป็นทีม เพราะต่อให้อยู่ที่ทำงาน มีคนรอบข้างมากมาย แต่เขาไม่คุยกับเราเลย เราก็ยังรู้สึกถึงความเคลื่อนไหว รู้สึกถึงพรรคพวกอะไรบางอย่าง แต่พอเราต้องอยู่คนเดียว ความรู้สึกเปลี่ยวเหงา ความรู้สึกไม่มั่นคง มันก็กลับมาเล่นงานเรา 

 

องอาจ ชัยชาญชีพเราจะมีวิธีดูแลความรู้สึกยามอยู่คนเดียวไม่ให้จมดิ่งกับความไม่คุ้นชินอย่างไรดี

        วิธีดูแลความรู้สึกตัวเองที่ดีที่สุดคือการดูแลความรู้สึกของคนรอบข้าง หมายความว่า สมมติคุณมีสมาชิกในบ้าน คุณรู้ไหมว่า สิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง ไม่ใช่อาหารการกิน ไม่ใช่ระเบียบวินัย มันคือเรื่องความสัมพันธ์ของคุณกับสมาชิกภายในบ้าน เพราะคุณหนีไปไหนไม่พ้น และถ้าหากการดูแลความสัมพันธ์ในบ้านเป็นไปด้วยดี อย่างน้อยคุณก็มีกำลังใจ ส่วนคนที่อยู่คนเดียว จริงๆ ยังมีความสัมพันธ์อื่นๆ อยู่นะ คุณทักทายเดลิเวอรีที่มาส่งข้าวคุณได้ คุณไลน์ไปแซวเพื่อน หรืออะไรก็ได้ที่ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดี เพราะเราต้องเรียนรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรามันเกิดขึ้นกับคนอื่นเหมือนกัน เพราะเราอยู่ในสังคมเดียวกัน ฉะนั้นเขาก็เหงา เขาก็เหนื่อย การดูแลความรู้สึกซึ่งกันจึงจะทำให้เรารู้สึกมั่นคงไปเอง เพราะโดยความเป็นมนุษย์ อยู่ดีๆ จะมาดูแลความรู้สึกตัวเองทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ เพราะเรายังพึ่งพิงกับสังคม นั่นคือส่วนสำคัญ

อีกประเด็นคือบรรยากาศการอยู่บ้านที่คุ้นเคยอาจทำให้หลายคนรู้สึกสบายจนไม่ได้ทำงานสักที เราจะทำอย่างไรให้ยังโปรดักทีฟทั้งการทำงานและความคิดในช่วง Work From Home 

        วิธีการที่ทำให้แต่ละคนมีความคิดหรือแรงบันดาลใจในการทำงานเกิดขึ้นในท่วงท่าที่ต่างกันนะ ปัญหาที่เกิดขึ้นเยอะก็คือคนที่ปกติจะเกิดไอเดียหรือมีแรงบันดาลใจจากการเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง จากการนั่งรถเมล์ เดินเท้า หรืออยู่ร้านกาแฟแล้วเกิดแรงบันดาลใจ เกิดการพบสิ่งต่างๆ คนเหล่านี้จะลำบาก (หัวเราะ) ดังนั้น ถ้าถามเรา ลองหากิจกรรมอื่นๆ ที่ยังไม่เคยทดลอง แล้วสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เราได้หรือกระตุ้นการทำงานให้เราได้มากกว่าหนึ่งทาง สมมติเราเป็นคนประเภทที่ต้องเคลื่อนที่ถึงจะมีไอเดีย เราก็ลองหากิจกรรมอย่างอื่นในพื้นที่จำกัดที่จะทำให้เรามีไอเดียดูก็ได้ เพราะเราเคยได้ยินว่าบางคนจะรู้สึกดี รู้สึกมีแรงบันดาลใจ หรือเกิดไอเดีย จากการอาบน้ำอุ่น บางคนเกิดจากการเล่นดนตรี อ่านหนังสือ หรือออกกำลังกาย ดังนั้น ลองหาวิธีที่ต่อให้ไม่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เราได้ มันก็เกิดประโยชน์ในทางใดทางหนึ่ง 

        การเคลื่อนที่มันมีองค์ประกอบคือว่า ทำให้เกิดไอเดีย ได้พบเห็น ได้เคลื่อนไหวทางร่างกาย ดังนั้น ปัญหาของการอยู่บ้านคือเราไม่ได้เคลื่อนที่ เราก็เคลื่อนที่ด้วยการออกกำลังกายที่บ้านสิ ยุคปัจจุบันจะว่าง่ายก็ง่ายนะ อย่างคนสมัยก่อนถ้าเกิดวิกฤต เราไม่มีอินเทอร์เน็ต เราไม่มีโซเชียลมีเดีย เราติดต่อใครไม่ได้ ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มีช่องทางการเรียนรู้ แต่ปัจจุบันเรามีโซเชียลเน็ตเวิร์ก เผลอๆ บางทีเราดูสารคดีท่องเที่ยวในยูทูบประโลมใจไปก่อนได้ หรือหาทางเรียนคอร์ดกีตาร์ง่ายๆ ส่งข้อความคุยกับเพื่อนก็ได้

มองอีกแบบก็คือการพยายามทำอะไรบางอย่างในเงื่อนไขที่จำกัดให้ได้

        ใช่ การทำงานภายใต้ข้อจำกัด ถ้ามองเป็นความท้าทายมันเร้าใจนะ เหมือนปกติคุณเป็นคนทำอาหารอร่อยที่ต้องใช้เวลาสามชั่วโมง แต่การประกวดทำอาหารให้เวลาแค่สามสิบนาที พอถึงเวลาเงื่อนไขจำกัด คุณต้องรู้ว่าคนอื่นก็จำกัดในเงื่อนไขเดียวกับคุณ 

มันเป็นการพลิกมุมมองนะ เช่น เราไปไหนมาไหนไม่ได้เลย แต่ลองคิดดูสิว่าจะมีวิธีไหนที่ทำให้เราสามารถทำงานได้เหมือนเดิม เพราะว่าการทำงานภายใต้เงื่อนไขที่จำกัดนี่สิ ถึงจะวัดศักยภาพที่แท้จริงในตัวเรา

เท่าที่ฟังมา สิ่งสำคัญที่สุดน่าจะเป็นเรื่องการปรับตัว ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องที่ยากที่สุดด้วย

        ก่อนที่จะปรับตัว ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลง หรือหาวิธีใหม่ๆ ได้ อันดับแรกที่สุดคือยอมรับก่อนว่ามันมีปัญหา เราอยู่ในประเทศและโลกที่กำลังมีปัญหาพร้อมเพรียงกัน ยอมรับโดยที่ไม่ต้องไปโทษโชคชะตาหรือก่นด่าอะไร อย่าไปหวังว่าพรุ่งนี้ทุกอย่างจะดีขึ้นฉับพลัน เป็นไปไม่ได้ มีโรคระบาดขนาดนี้ โลกกำลังจะเปลี่ยน และไม่มีทางกลับมาเหมือนเดิมอีกแล้ว เราไม่ได้มองโลกในแง่ร้าย ต้องเข้าใจว่าต่อให้อีกหนึ่งเดือนทุกอย่างโอเค โรคนี้หาย ทุกคนกลับมาทำงาน ถามว่ามันเหมือนเดิมไหม ไม่เหมือน บางกิจการแค่หยุดไปวันหนึ่ง เขาขาดทุนเป็นแสนเป็นล้าน 

        ดังนั้น ต้องยอมรับก่อนว่า หนึ่ง เรากำลังเผชิญปัญหาครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ร่วมกัน และเราต้องเปลี่ยนแปลง ไม่อย่างนั้นเราก็ตาย ไม่ใช่การมองโลกในแง่ร้าย หรือมองโลกในแง่ดี แต่ต้องมองโลกในแง่จริง ว่ามันมีปัญหา และเราต้องปรับตัว พอเรายอมรับว่าเรามีปัญหา ทุกคนมีปัญหา โลกมีปัญหา แล้วค่อยมารู้สึกว่า เฮ้ย เราเหงาจัง อยู่บ้านคนเดียว มันก็ต้องเหงาอยู่แล้วสิ เพราะกำลังอยู่ในช่วงที่เราต้องปรับปรุง และทุกอย่างกำลังเปลี่ยนแปลงไง

การยอมรับทำให้เรามองเห็นโลกแห่งความเป็นจริงที่อยู่ตรงหน้าชัดขึ้น มากกว่าจะคิดไปต่างๆ นานา

        เวลาที่เราได้ Work From Home นั้น อย่างน้อยที่สุดแสดงว่าเรายังมี Work อยู่ สำหรับคนชั้นกลางที่ยังมีงานทำอยู่ เราแค่เหงากับการโดนกักตัว เราแค่เบื่อ แต่คนในระดับที่ลำบากกว่าเรา เขาไม่ได้เกี่ยวกับความเหงาแล้ว เขาอยู่ในโหมด survival คือเขาไม่มีจะกิน เราแค่อยู่ในโหมดที่เปลี่ยวเหงา ขาดแรงบันดาลใจ ที่ยังพอจะตั้งสติได้ ยังมีเวลาทบทวนว่าเราจะปรับตัวอย่างไร เพราะยังมีข้าวกินอยู่ ท้องอิ่มอยู่ แต่มีคนอีกจำนวนมากที่ไม่มีเวลามาปรับตัวแบบนี้ ไม่มีเวลามาคิดทบทวน เพราะเขามีชีวิตมื้อต่อมื้อ คือไม่ได้บอกว่าให้มองเห็นคนลำบากกว่าเพื่อให้เรามีกำลังใจนะ แต่เราแค่มองว่า ในวิกฤตแบบนี้ถ้ามีความเห็นอกเห็นใจ บางทีอัตตาเราจะน้อยลง เราจะรู้สึกถึงความยากลำบากของตนเองน้อยลง มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้น ก็จะเกิดการเกื้อกูลกัน และทำให้ความเครียดหรือความรู้สึกโดดเดี่ยวในสังคมลดลงไปด้วย

ทุกวันนี้ก็จะเห็นแคมเปญที่ประชาชนออกมาสร้างแคมเปญให้กำลังใจบุคลากร เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ถือเป็นความเห็นอกเห็นใจที่เกิดขึ้นในสังคมใช่ไหม

        ใช่ การให้กำลังใจไม่มีอะไรเสียหายอยู่แล้ว ใครทำให้อีกคนรู้สึกดีเป็นสิ่งที่ดี อาจจะมีคนรู้สึกว่า อ้าว ไม่ได้แก้ที่สเกลใหญ่นี่ แต่เราคิดว่า สเกลใหญ่ก็แก้ไปสิ นี่เป็นเรื่องเล็กๆ อย่างการให้กำลังใจกัน เป็นเรื่องขวัญกำลังใจ เราว่ามันไม่ได้มีปัญหา การช่วยเหลือกันดีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าบางเรื่องก็ต้องแก้ที่โครงสร้างจริง การที่เราให้กำลังใจกันคือการแก้รายละเอียดไปเรื่อยๆ ลองนึกถึงประติมากรรมชิ้นหนึ่ง พอโครงสร้างบิดเบี้ยว การตกแต่งภายนอกเลยผิดไปหมด เราก็มาแก้ได้แค่ภายนอก แต่ความจริงต้องแก้ที่โครงสร้าง ทำอย่างไรให้โครงสร้างแข็งแรง พอโครงสร้างแข็งแรง การตกแต่งรายละเอียดก็เป็นเรื่องค่อยมาว่ากัน เพียงแต่ตอนนี้ถ้าโครงสร้างมันบิดเบี้ยว มันก็ช่วยไม่ได้ เราก็ต้องมาช่วยกันแก้ปัญหาที่รายละเอียดก่อน คือเรื่องของจิตใจ เรื่องของคนที่กำลังลำบาก

ช่วงเวลาไม่ปกตินี้เปิดโอกาสให้เราได้ทบทวนอะไรบ้าง 

        นี่เป็นเรื่องคลาสสิกเลย เวลาเกิดวิกฤตขึ้นเราจะค้นพบว่า ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน สิ่งที่เราควรจะตระหนักเสมอคือไม่มีอะไรที่มั่นคงถาวร ไม่มีอะไรที่ตลอดไป ไม่ว่าคุณจะมีการงานแบบไหน มีธุรกิจแบบไหน มีพื้นฐานสังคมแบบไหนก็ตาม ชื่อเสียง เงินทอง ธุรกิจ รากฐานสังคม สุขภาพ ทุกๆ อย่างเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่า มันจะอยู่ตลอดไปในอนาคต สถานการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุด มันคือวันคืนที่ทำให้เราได้ตระหนักว่าอะไรกันแน่คือสิ่งที่สำคัญกับเรา ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ลูกคุณ แมวคุณ สุขภาพคุณ เก้าอี้สุขภาพที่คุณหวงนักหวงหนา หรือว่าออฟฟิศ อะไรก็ได้ที่คุณให้ความสำคัญ มันเป็นเวลาอันดีเหมือนที่เรามักบอกว่า เรามักจะเพิ่งตระหนักว่าอะไรสำคัญต่อเมื่อสูญเสียมันไป แต่ทีนี้เราอาจจะยังไม่ได้สูญเสีย แต่เป็นช่วงที่เราจะต้องพัก ต้องปิดเทอม ไม่ได้เจอกันเท่านั้น

        หรือบางทีอาจจะเป็นช่วงที่ทำให้เราได้กลับมาเจอสิ่งสำคัญด้วย บางคนได้กลับมาปลูกต้นไม้ที่บ้าน หรือบางคนเกิดมาทำงานทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ไม่เคยรู้เลยว่าบ่ายวันพุธจะมีรถเข็นไอศกรีมมาขายหน้าบ้าน คือมันไม่ใช่การมองโลกในแง่ดีพร่ำเพรื่อ แต่มันคือการมองโลกในแง่จริง ในทุกวิกฤตมีสิ่งใหม่ๆ ที่ให้เรียนรู้และได้ค้นพบเสมอ สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องหายใจในโลกจริง ไม่ใช่โลกแห่งความฝัน โลกอันโหดร้าย หรืออนาคตอันโหดร้าย ที่เรามโนขึ้นมา แต่คือการยืนหยัดในโลกจริง ยอมรับความเป็นจริง และมีความหวังบนพื้นฐานของความเป็นจริง ก่อนที่จะก้าวไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆ เพราะถ้าเราไม่เห็นปัญหาจริงๆ การแก้ปัญหาของเราก็มีแนวโน้มว่าอาจจะแก้ไม่ถูกจุดเท่านั้นเอง