แม้ว่าตอนนี้มีหลายกลุ่มคนกำลังถูกทอดทิ้งจากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา แต่ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่พวกเขาถูกสังคมทอดทิ้งมาตลอด นั่นคือ ‘คนไร้บ้าน’ ที่หลายคนมักรังเกียจ มองพวกเขาด้วยความกลัว และไม่เห็นถึงศักยภาพที่มีเพียงเพราะถูกตีตราว่าเป็นคนไร้บ้านเท่ากับไม่สามารถทำอะไรได้ แต่การตีตรานี่เองที่เป็นตัวการหนึ่งของชุดความคิดที่ว่า คนไร้บ้านเท่ากับปัญหาสังคมเพียงเพราะภาพลักษณ์ไม่น่าชม
แต่สำหรับ ‘คิม’ – กวิน นิทัศนจารุกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และเจ้าของแฟรนไชน์ธุรกิจร้านสะดวกซัก Otteri Wash & Dry กลับมองเห็นถึงปัญหาที่แท้จริงขังคนไร้บ้าน ว่าพวกเขาไม่ใช่ตัวปัญหา แต่ปัญหาจริงๆ คือ ไม่มีโอกาสที่จะได้รับปัจจัยพื้นฐานของชีวิต จึงเริ่มต้น ‘โครงการซักผ้าฟรีให้คนไร้บ้าน’ ขึ้น
ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีที่แล้วอะไรเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘Otteri wash & dry’ ร้านสะดวกซัก 24 ชั่วโมง
ตอนแรกผมขายเครื่องซักผ้า เพราะธุรกิจที่บ้านฝั่งของคุณแม่เป็นโรงงานทอผ้าปูที่นอนผ้าขนหนูให้กับโรงแรม ผมก็ได้เข้าไปช่วยงานอยู่พักหนึ่ง แล้วก็เริ่มเห็นว่าเขาขายผ้าได้ เราก็น่าจะขายเครื่องซักผ้าได้เหมือนกัน ก็เลยไปขายเครื่องซักผ้านำเข้ามาจากเมืองจีน ทำได้ประมาณซัก 2-3 ปี ก็เกิดเหตุการณ์อีคอมเมิร์ซมาแรง จึงตั้งคำถามกับตัวเองว่าถ้าผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อของจากต่างประเทศได้เท่ากับราคาที่เราซื้อ แล้วเขาจะมาซื้อของของเราทำไม ดังนั้น ถ้าไม่เปลี่ยนตัวเองเราก็จะโดนดิสรัปต์ไปเรื่อยๆ ประกอบกับตอนนั้นผมไปเที่ยวต่างประเทศพอดี แล้วได้ไปเห็นธุรกิจร้านสะดวกซักที่มาเลเซียกับสิงคโปร์มีเยอะมาก คิดว่าสักพักหนึ่งต้องเข้ามาถึงเมืองไทยแน่นอน แต่ถ้าเราเริ่มเปิดก่อนแล้วก็จะกลายเป็น First Mover จึงเปิดธุรกิจนี้มาเป็นเจ้าแรกในเมืองไทย
จากข้อมูลพบว่าร้านสะดวกซักของคุณ คือหนึ่งธุรกิจที่ยังไปได้ดีอยู่ในสถานการณ์ช่วงนี้
เรามีการขยายสาขาเพิ่มขึ้น แม้ยอดขายในแต่ละสาขาจะลดลงตามสภาพของประชากรที่เปลี่ยนไปจากผลกระทบของสถานการณ์ช่วงนี้ แต่ก็ยังพอไปได้ เรายังโชคดีกว่าหลายๆ ธุรกิจ อย่างเช่นธุรกิจร้านอาหารที่ต้องปิดไปเลย ต้องทำเดลิเวอรีอย่างเดียว หรือบางร้านก็ทำเดลิเวอรีไม่ได้ด้วยซ้ำ ส่วนของเราก็ยังกระทบน้อยกว่าเพราะเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต
แม้ยอดขายจะตกลง แต่ก็ยังมีโครงการดีๆ ออกมาช่วยเหลือผู้คนอย่าง ‘โครงการซักผ้าฟรีให้คนไร้บ้าน’
เพราะผมตั้งคำถามว่า จะทำธุรกิจอย่างไรดีที่สามารถแก้ไขปัญหาสังคมไปด้วยได้ในขณะที่เรายังได้เงิน ก็เลยมีไอเดียมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้วว่าอยากจะทำซัก อบ พับผ้าฟรี ให้กับผู้สูงอายุที่เป็นผู้หญิง เพราะเราเริ่มมองเห็นถึงปัญหาของสังคมผู้สูงอายุเริ่มมีมากขึ้น แล้วก็เริ่มการตั้งคำถามกับการบริจาคเงินของตัวเองว่าสุดท้ายแล้วเราจะไปบริจาคเพื่ออะไร ถ้าเราบริจาคเพื่อให้ได้แค่กระดาษ 1 แผ่นเพื่อไปลดหย่อนภาษีซึ่งนั่นไม่ได้ช่วยพวกเขาได้อย่างยั่งยืนเลย จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นวางแผนที่จะทำโครงการเพื่อสังคมอย่างจริงจังขึ้นมา
แล้ววันหนึ่งเพจ Drama-Addict เขาแชร์ว่าช่วงที่โควิด-19 ระบาดรอบที่แรกคนไร้บ้านไม่มีที่ซักผ้า ผมเลยติดต่อไปที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการว่า เราอยากที่จะบริจาคเครื่องซักผ้าให้ แต่เมื่อบริจาคเครื่องซักผ้าให้คนไร้บ้านแล้ว ก็รู้สึกว่าอยากทำให้สุด เลยติดต่อไปหาผู้เชี่ยวชาญอย่าง ‘มูลนิธิกระจกเงา’ ถามเขาเกี่ยวกับคนไร้บ้าน ว่าจริงๆ แล้วคนไร้บ้านในประเทศไทยเกิดมาจากปัญหาอะไร แล้วเขามี pain point อะไรในชีวิต ซึ่งสาเหตุของการเกิดคนไร้บ้านมี 2 ปัจจัย 1. คือปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ 2. คือปัญหาจากครอบครัว ก็เลยมาเป็นคนไร้บ้านซึ่งแนวโน้มของคนไร้บ้านก็จะเป็นผู้สูงอายุมากขึ้น
แสดงว่าคุณไม่ได้มองคนไร้บ้านว่าเป็นปัญหา แต่ปัญหาจริงๆ นั้นคือกลุ่มคนที่ถูกสังคมทอดทิ้งต่างหาก
ตอนแรกผมก็กลัวคนไร้บ้านเหมือนกันนะ แต่ก็คิดว่าเรากำลังจะมาทำงานเพื่อสังคมในส่วนนี้ ถ้าตัวเองยังไม่อยากคุยกับคนไร้บ้านมันก็ไม่ใช่ ผมจะมีแค่ไอเดียไม่ได้แต่ต้องเอาตัวเองลงไปทำจริงด้วย แล้วพอได้คุยกับคนไร้บ้านจริงๆ พบว่าเขาเป็นคนน่ารัก แต่แค่รูปลักษณ์ภายนอกที่ดูไม่สะอาดเท่านั้นเอง จึงทำให้รู้ว่าที่ผ่านมาเรากลัวไปก่อนเพราะเราไม่รู้จักเขา
แล้วทีนี้คนไร้บ้านเขาสร้างปัญหาอะไรให้กับสังคมบ้าง คนไร้บ้านเขาจะมีคีย์เวิร์ดหนึ่งที่คุยกัน คือ ‘สร้างปัญหาให้น้อยที่สุด’ เพราะปัญหาทุกวันนี้ก็เยอะมากพออยู่แล้ว จะไปสร้างปัญหาให้ตัวเองเพิ่มเพื่อให้ไปอยู่ในสังคมตรงนั้นไม่ได้ไปทำไม
หลังจากที่เข้าไปทำความรู้สึกพวกเขาแล้ว คุณมองพวกเขาเปลี่ยนไปอย่างไร
เขาก็เป็นคนปกติและยังเป็นคนขี้อายด้วย ซึ่งในอีกมุมหนึ่งเขาก็กลัวเราเหมือนกัน แล้วพวกเขาก็เล่าประสบการณ์ของตัวเองให้ผมฟังเยอะแยะ ผมจึงได้รู้ว่าคนไร้บ้านเป็นคนที่รักอิสระพอสมควร และมีความซับซ้อนทางด้านความคิดอย่างมหาศาล เช่น มีคนไร้บ้านคนหนึ่งเคยมาซักผ้าที่ร้าน แต่พอเขามาแล้วมักจะเจอสายตาที่มองเขาแบบไม่ชอบ เขาก็เลยไม่อยากมาอีก แล้วเขาก็กังวลว่าเราจะไปจับเขาหรือเปล่า แต่เพราะเรามีพาร์ตเนอร์เป็นมูลนิธิกระจกเงาเขาเลยเชื่อใจ
ดังนั้น ปัญหาหรือ pain point ของคนไร้บ้านที่คุณเห็นว่าควรต้องถูกแก้ไขได้แล้วคืออะไร
สุดท้ายแล้วผมกับมูลนิธิกระจกเงาก็เห็นตรงกันว่า คนไร้บ้านเป็นคนที่เข้าถึงสวัสดิการภาครัฐได้ต่ำที่สุด ตอนนี้ปัญหาที่พวกเขาเผชิญอยู่มี 2 เรื่องคือ หนึ่ง เรื่องอาหารการกิน แต่คนไทยใจดีเดี๋ยวก็จะมีคนมาแจกอยู่เรื่อยๆ หรือถ้าไม่มีจริงๆ เดินเข้าวัดก็ยังมีข้าววัด ส่วนเรื่องที่สองคือ เรื่องการเข้าถึงระบบสุขภาพ สุขอนามัย เขาไม่สามารถอาบน้ำในน้ำที่สะอาดได้ มันเลยทำให้เขามีกลิ่นตัว ดังนั้น ปัญหาสังคมที่สร้างจากคนไร้บ้านจริงๆ คือการเป็นที่รังเกียจของสังคม เพียงแค่เขาใส่เสื้อผ้าสกปรก
เราจึงคิดว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่เราควรทำให้เขาก็คือ พยายามทำให้เขาไม่ป่วย ดังนั้น การใส่เสื้อผ้าสะอาดก็เป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้เขามีสุขภาพที่ดีได้ การได้อาบน้ำบ่อยๆ ได้ทำความสะอาดตัวเองบ่อยๆ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะเหมือนเขาไม่ได้รับโอกาสจากสังคม แต่พอเราไปซักผ้าอบผ้าให้เขา เขาก็บอกว่าแค่นี้ก็สุดยอดมากแล้ว นี่คือการคืนคุณค่าความเป็นคนให้เขา คนพวกนี้ไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากทำงานร้อยเปอร์เซ็นต์นะ ก็มีบ้างที่อยากอยู่เฉยๆ นอนขอเงินเป็นคนไร้บ้าน แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้อยากเป็นอย่างนั้น เพียงแต่ว่าเขาไม่ได้รับโอกาส การที่เราได้มาทำตรงนี้มันทำให้เขามีโอกาสที่สามารถเข้าถึงการไปทำงานได้ แค่ไม่โดนรังเกียจก็เป็นสิ่งที่ดีสำหรับเขาแล้ว
สำหรับพวกเขาเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก แต่มองอีกด้านก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้าเหมือนกันที่ปัจจัยสี่ซึ่งเป็นพื้นฐานของชีวิตมนุษย์กลับไม่ได้รับอย่างเท่าเทียม
วันนั้นที่ผมได้เห็นแววตาของเขาที่ถามว่าฟรีจริงๆ เหรอ เราก็บอกว่าฟรี ทันทีที่เขาอาบน้ำเสร็จแววตาของเขาเปลี่ยนประกายไปเลย เหมือนเขาสดชื่นขึ้น แค่นี้เขาก็รู้สึกว่ามีความสุขแล้ว แต่ผมก็ไม่อยากให้จบแค่ให้เขาได้อาบน้ำ มีเสื้อผ้าสะอาดๆ ใส่ นี่ไม่ใช่ความตั้งใจทั้งหมดของเรา เราต้องการทำเพื่อให้เกิดความยั่งยืนตลอดไป
แต่คิดไหมว่า ความจริงแล้วหน้าที่นี้ควรเป็นของหน่วยงาน หรือองค์กรที่เกี่ยวของที่ต้องแก้ไขปัญหานี้ แต่กลายเป็นว่าทุกวันนี้ประชาชนต้องช่วยเหลือกันเอง
มีมายด์เซตหนึ่งที่ผมยึดถือคือ เราเป็น ‘Cause in the Matter’ คือการที่เราไม่ยอมให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อในเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ถ้าแปลเป็นภาษาไทยคือ ‘เราเป็นต้นเหตุของปัญหา’ หมายความว่า การที่เกิดคนไร้บ้านขึ้นมาในประเทศไทย เพราะผมนี่แหละเป็นต้นเหตุของปัญหา เพราะว่าถ้าเราไม่เอาตนเองไปเป็นต้นเหตุของปัญหา และมีวิธีคิดแบบที่ทำกันบ่อยๆ คือ ตัวเรานี่แหละที่ตกเป็นเหยื่อ พร้อมกับมีแต่คำถามว่าทำไมคนนั้นไม่ทำ ทำไมคนนี้ไม่ทำ ทำไมฉันต้องไปทำด้วย ไม่ใช่หน้าที่ของฉัน เราจะโทษกันไปมาไม่จบ
ผมจึงคิดว่าคนที่เขาพาตัวเองเข้ามาแก้ไขปัญหาสังคม นั่นก็เพราะว่าเอาตัวเองเป็นต้นเหตุของปัญหา ให้มาจบที่ฉัน ฉันเป็นต้นเหตุของปัญหา ฉันจัดการเอง ไม่ต้องไปหวังพึ่งใคร และฉันก็ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อ ผมมองว่าจิตสาธารณะจริงๆ ก็เริ่มมาจากตรงนี้แหละ เราเอาตัวเองไปเป็นเจ้าของปัญหา เริ่มที่เราแล้วจบที่เรา
คุณบอกว่าไม่อยากให้การช่วยคนไร้บ้านเป็นแค่โครงการที่ทำแล้วจบไป แต่อยากให้เกิดความยั่งยืนด้วย แล้วจะต้องทำอย่างไร
ผมเห็นมูลนิธิต่างๆ ที่เราไปบริจาคสิ่งของหรือเงิน แล้วเกิดคำถามว่าทำไมเขาถึงต้องขายแต่ความน่าสงสารของคนพิการ หรือทำไมต้องขายเฉพาะความน่าสงสารของเด็กกำพร้า เรารู้สึกว่าทำไมมูลนิธิต้องรอเงินบริจาคด้วย ทำไมมูลนิธิถึงไม่ขายของที่คนเขาอยากซื้อ สุดท้ายแล้วคุณก็จะไม่ได้ลูกค้าประจำ เพราะเขาซื้อด้วยความสงสาร หรือในทำนองเดียวกันเราบริจาคเงินเพื่อนำไปลดหย่อนภาษีแค่นั้นจบ ปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไข แต่เพราะวิสัยทัศน์ขององค์กรผมคือ ‘Creating Healthy Lifestyle Community’ เราจะสร้างสรรค์สังคมที่มีสุขภาพดีโดยเริ่มต้นจากการสวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด แล้วความตั้งใจคืออยากจะทำให้วิสัยทัศน์นี้กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
Otteri Wash & Dry จากการใช้บริการกลายเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) คุณแอบหวงสูตรนี้นิดๆ บ้างไหม หากมีคู่แข่งคิดจะทำอะไรแบบนี้กับธุรกิจของเขาบ้าง
เราจะยิ่งดีใจมากกว่า คุณมาทำเถอะเพราะสุดท้ายแล้วคนที่ได้ประโยชน์จริงๆ คือสังคม แต่ต้องเริ่มต้นจากมายด์เซตของผู้ประกอบการว่าคุณทำตรงนี้ไปเพื่ออะไร ถ้าสมมุติว่าวิสัยทัศน์ของคุณชัดเจนว่าคืออะไร ก็จะทำให้เข้าใจมากขึ้นว่าตัวเขากำลังทำอะไรอยู่ เหมือนเราหาเหตุปัจจัยของการดำรงอยู่ สำหรับผมหาได้แล้วว่าผมเกิดมาเพื่ออะไร ทำบริษัทมาเพื่ออะไร เราทำเพื่อให้คนมีสุขภาพดีขึ้น ดังนั้น คนที่กำลังทำธุรกิจอยู่ไม่ใช่แค่การคิดถึงด้านตัวเลขอย่างเดียว แต่ต้องคิดด้วยว่าสุดท้ายแล้วคุณได้สร้างอะไรที่เป็นผลในเชิงบวกต่อสังคมบ้างไหม
ว่ากันถึงแผนต่อไปในอนาคต คุณคิดว่าจะทำอะไรต่อจากโครงการนี้
อย่างที่บอกว่าคนไร้บ้านไม่สามารถที่จะเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานได้ในเรื่องของความสะอาด ด้วยเหตุนี้ก็จะกลายเป็นต้นเหตุของโรคหรือปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย การแก้ปัญหาตรงนี้ หรือการที่มีแนวความคิดแบบนี้ของธุรกิจนี้ก็สามารถที่จะแก้ไขปัญหาอะไรได้บ้าง ผมอยากที่จะทำให้คนเข้าใจว่าทำไมต้องมาซักผ้า พอมาซักผ้าที่ร้านเราสังคมได้ประโยชน์อย่างไร
ตั้งแต่ผมได้มารู้จักกับมูลนิธิกระจกเงา ผมได้รู้จักกับคนอีกกลุ่มนึงก็คือ ‘คนจนเมือง’ ยิ่งช่วงนี้มีคนจนเฉียบพลันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การซักผ้าในราคา 40 บาท อบ 40 บาท นั้นยังแพงสำหรับพวกเขาอยู่ จึงต้องคิดต่อว่าจะทำอย่างไรดีให้ราคาซักผ้าถูกลงกว่านี้อีก เพื่อให้ตรงกับ mission ที่เราตั้งใจไว้ คือให้คนสามารถเข้าถึงได้ในราคาที่ประหยัดจริงๆ นี่คือสิ่งที่เราจะทำต่อไป คือทำให้ถูกลง
และเรากำลังสร้างอยู่คือ รถที่อาบน้ำและซักผ้าได้ โดยสามารถเดินทางไปในทุกที่ได้ คล้ายๆ กับฟู้ดทรักสามารถซักผ้าได้ อาบน้ำได้บนรถเลย มีตัวบำบัดน้ำเสียด้วย เพราะถ้าไม่มีจะกลายเป็นว่าเรากำลังแก้ปัญหาสังคมอย่างหนึ่งแล้วไปก่อให้เกิดปัญหาสังคมอีกอย่างหนึ่ง เพราะอย่างนั้นเราเลยต้องคิดให้รอบด้านจริงๆ ซึ่งผมคิดว่าโชคดีด้วยที่ได้มูลนิธิกระจกเงามาเป็นพาร์ตเนอร์กับเรา
จากจุดเริ่มต้นง่ายๆ ที่ทำให้เขาสามารถซักผ้าได้ มีความสะอาดเบื้องต้น กลายเป็นจุดที่สามารถทำให้เขาได้มีโอกาสก้าวเข้าไปเป็นคนในสังคมเพิ่มขึ้น
ลูกน้องของผมที่ได้ไปทำงานในโครงการนี้ด้วย เขาก็รู้สึกภูมิใจที่ตัวเองได้ทำอะไรที่มากกว่าการทำงาน กลายเป็นสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกว่าช่วยเติมเต็มมากกว่าแค่เงินที่ได้รับในแต่ละเดือนด้วยครับ (ยิ้ม)
ภาพ: Otteri Wash & Dry