ไพลิน วีเด็ล: Hope Frozen ปรัชญาเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนความหมายของความตายไปอย่างไร

ปรัชญาเกี่ยวกับความตายถูกตีความในมิติที่หลากหลายบนพื้นฐานของความคิด ความเชื่อ และศาสนาที่แต่ละคนยึดถืออยู่มาโดยตลอด

        สารคดีเรื่อง Hope Frozen ของ ไพลิน ลอร์เรน วีเด็ล (Pailin Wedel​) นักข่าวและผู้กำกับสารคดีลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ได้ตั้งคำถามที่น่าสนใจเอาไว้ถึงปรัชญาเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้น และกำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงความหมายของความตายมนุษย์ในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งสารคดีดังกล่าวได้ไปคว้ารางวัลจากเทศกาลระดับนานาชาติ ในเทศกาล​ Hot Docs​ ที่เมืองโทรอนโต ประเทศแคนาดามาแล้วอีกด้วย

        เรื่องราวของครอบครัวนักวิทยาศาสตร์ชาวไทยเชื้อสายพุทธ ที่ตัดสินใจแช่แข็งร่างและสมองของน้องไอนส์ ลูกสาววัย 2 ขวบที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งทางสมอง พวกเขาฝากความเชื่อและความหวังไว้กับวิทยาการไครโอนิกส์ (Cryonics) ในการแช่แข็งร่างกายและสมองของลูกสาวเอาไว้ เพื่อหวังว่าเทคโนโลยีและวิทยาการในอนาคตจะช่วยชุบความหวังและชีวิตของลูกน้อยได้อีกครั้ง

        น้องไอนส์ถือเป็นมนุษย์ที่อายุน้อยที่สุดในโลกที่เข้ากระบวนการไครโอนิกส์ในเวลานี้ เรื่องราวดังกล่าวเป็นข่าวใหญ่ทั่วทุกสื่อทั้งในไทยและทั่วโลกเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ประเด็นเรื่องราวมากมายในสารคดีที่ไต่อยู่บนประเด็นที่แสนเปราะบาง ทั้งความเชื่อ ความหวัง จริยธรรม และการตั้งคำถามสำคัญว่าวิทยาศาสตร์ได้กลายเป็นดั่งศาสนาไปแล้วหรือไม่ เราจะพาคุณไปรับรู้เรื่องราวเบื้องหลังสารคดีจากบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

 

พวกเขาคิดลึกมากๆ กับสิ่งที่ทำว่าปรัชญาเกี่ยวกับเทคโนโลยีจะเปลี่ยนความหมายของความเป็นและความตายอย่างไร

จุดเริ่มต้นของสารคดีเรื่อง Hope Frozen เกิดได้อย่างไร

        ตอนที่เราไปเจอเรื่องราวของครอบครัวน้องไอนส์ ต้องขอบคุณสามีเราที่เป็นนักข่าวเหมือนกัน เขาเป็นคนอเมริกันและเป็นนักข่าววิทยุที่อเมริกา พอเขาเห็นข่าวครอบครัวน้องไอนส์ก็ชวนให้เราไปทำข่าวกับเขาสองคน เพราะอยากให้เราเป็นล่ามด้วย ตอนแรกก็คิดว่า โอเค เข้าไปสัมภาษณ์สัก 10-20 นาทีเป็นข่าวสั้นๆ แต่สรุปว่าวันนั้นเราคุยกันเป็นชั่วโมงเลย

        ซึ่งพ่อแม่ของน้องไอนส์จบปริญญาเอกและเป็นนักวิทยาศาสตร์กันทั้งสองคน พวกเขาคิดลึกมากๆ กับสิ่งที่ทำว่าปรัชญาเกี่ยวกับเทคโนโลยีจะเปลี่ยนความหมายของความเป็นและความตายอย่างไร มีผลกระทบต่อครอบครัวเขาอย่างไร เขารู้ว่าวิทยาศาสตร์จะเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้มากน้อยขนาดไหน หลังจากได้คุยกันวันนั้น เราก็กลับมาบ้านและเก็บมาคิดนานมาก และคิดว่านี่น่าจะเป็นเรื่องที่คนสนใจ ไม่ใช่แค่เฉพาะในประเทศไทย แต่รวมถึงต่างประเทศด้วยว่าเทคโนโลยีกำลังมีผลกระทบต่อชีวิตเรายังไง

        สุดท้ายเราก็เลยขอครอบครัวน้องไอนส์ถ่ายทำเรื่องราวของพวกเขาเพิ่มเติม ซึ่งเขาก็เป็นครอบครัวที่เปิดมาก ทั้งสองคนบอกว่าได้ เราก็ถ่ายเก็บมาเรื่อยๆ ใช้เวลาเกือบ 2 ปีครึ่งกว่าจะถ่ายเสร็จ ใช้เวลาขอทุนอีก 1 ปี รวมตัดต่อก็ใช้เวลาเกือบ 4 ปีกว่าจะสำเร็จ ซึ่งเราเปิดเผยกับเขาตลอดว่าตอนนี้ไปขอทุนที่ไหน คุยกับใคร เพื่อไม่ให้เขาคิดว่าเราเอาเปรียบเขา อันนี้คือหลักจรรยาบรรณของการทำสารคดี หรือตอนถ่ายทำเราก็อธิบายว่าทำไมถึงขอถ่ายฉากนี้ ฉากนี้สำคัญเพราะว่าอะไร ซึ่งทางครอบครัวก็อนุญาตให้เราถ่ายในจังหวะที่เซนซิทีฟแบบนั้น

หลังทำสารคดีเรื่องนี้จบ คุณมีมุมมองเกี่ยวกับชีวิตเปลี่ยนไปบ้างไหม

        เราได้รู้ว่าไอเดียหรือความคิดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ในโลกนี้มีความหลากหลายมาก ความคิดของแต่ละคนเป็นแบบนั้นแบบนี้เพราะอะไร เพราะพ่อแม่สั่งสอน เพราะความศรัทธาต่อศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ความหมายว่าความตายคืออะไรขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในชีวิตของเรา สิ่งที่เราตั้งคำถามเข้าไปในหนังคือ ความตายสำหรับครอบครัวนี้คืออะไร

ส่วนตัวคุณมีความเชื่อเรื่องความตายอย่างไร

        เราเรียนจบสาขาชีววิทยามา และมีความคิดว่าพอตายไปเราจะสลายไปเป็นอะตอมในดิน ที่อาจจะเกิดใหม่เป็นวิตามินให้กับพืชพันธ์ุสัตว์ การเกิดใหม่คือแบบนั้น อาจจะเป็นความคิดที่วิทยาศาสตร์หน่อย เพราะเราเองไม่เชื่อในโลกหลังความตาย และเป็นสิ่งที่ผลักดันให้เราใช้ชีวิตในโลกทุกวันนี้ให้ดีที่สุดด้วย

แล้วพอเข้าไปสัมผัสกับครอบครัวนี้ คิดว่าเข้าใจพวกเขามากขึ้นไหม

        คิดว่าตัวเองคงไม่มีวันเข้าใจจริงๆ ว่าสิ่งที่ครอบครัวนี้ได้เผชิญเป็นยังไง เพราะว่าเราไม่มีลูก ไม่มีคนที่เสียชีวิตไป เราไม่มีทางเข้าใจจริงๆ ว่าเขารู้สึกอย่างไร หนังสารคดีเรื่องนี้คือการที่เราเข้าไปสังเกตและก็ทำความเข้าใจกับสิ่งที่เขาเชื่อ เพราะถ้าใครได้อ่านเรื่องราวของครอบครัวนี้ อาจจะคิดว่าครอบครัวนี้แปลก ไม่เหมือนคนอื่น แต่เราคิดว่าพอมีเวลา 75 นาทีให้คนดูมานั่งสังเกตชีวิตครอบครัวนี้แล้ว คนดูจะเข้าใจว่าทำไมเขาถึงทำแบบนั้น

 

อยากให้คนดูมองหนังเรื่องนี้อย่างไร

        อาจจะเป็นเพราะสัญชาตญาณของการเป็นนักข่าวมาก่อนมั้ง ที่พอเห็นสังคมบอกว่ากลุ่มคนที่ทำแบบนี้เขาแปลกนะ เขาเพี้ยนนะ เราก็จะลุกขึ้นมาตั้งคำถามว่าข้อเท็จจริงคืออะไร เราอยากเข้าใจเหมือนกัน บางคนอาจจะมองว่าแปลก ไม่เหมือนใคร แต่ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์เหมือนเขา เราจะทำแบบนั้นไหม นั่นคือสิ่งที่เราอยากให้คนดูเก็บไปคิด

จริงๆ แล้วเทคโนโลยีไครโอนิกส์คืออะไร

        เทคโนโลยีไครโอนิกส์มีจุดประสงค์ให้คนที่เสียชีวิตไปแล้วฟื้นคืนชีพมาในอีกรูปแบบหนึ่ง อาจจะไม่ใช่มนุษย์ในแบบที่เรารู้จักกันในวันนี้ อย่างที่เรียกกันว่า transhumanist ความทรงจำสมองส่วนหนึ่งอาจจะอยู่ใน cloud หรือเป็นหุ่นยนต์ที่คล้ายมนุษย์มากก็ได้ ตอนนี้อธิบายไม่ได้ว่าจะมีอะไร ความหวังของหลายๆ คนคือเทคโนโลยีจะก้าวไปไกลจนถึงวันที่เราฟื้นคืนชีพคนที่ตายไปแล้วได้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

เราเรียนจบสาขาชีววิทยามา และมีความคิดว่าพอตายไปเราจะสลายไปเป็นอะตอมในดิน ที่อาจจะเกิดใหม่เป็นวิตามินให้กับพืชพันธ์ุสัตว์ การเกิดใหม่คือแบบนั้น

ในต่างประเทศ ศาสตร์ไครโอนิกส์ได้รับการยอมรับแค่ไหน

        ไครโอนิกส์เป็นศาสตร์ที่มีการยอมรับน้อยมาก สมาชิกที่ให้เอาร่างกายไปเก็บกับบริษัทไครโอนิกส์มีอยู่หลักพัน ไม่ใช่หลักล้านหรือหลักหมื่น แต่เป็นสิ่งที่หลายๆ คนในอเมริกาค่อนข้างจะรู้จักเพราะว่าเคยเห็นจากหนังหลายๆ เรื่อง

        อย่างเมื่อสามสิบปีที่แล้วมีบางบริษัทที่ทำเทคโนโลยีไครโอนิกส์แล้วเงินทุนหมด ก็ล้มละลายไป เป็นข่าวที่ไม่ดีนัก ซึ่งคนอเมริกันก็จะรู้จักไครโอนิกส์แบบนั้น

        แล้วจริงๆ นักวิทยาศาสตร์ทุกคนที่เราได้ไปสัมภาษณ์มา บอกว่าโอกาสความสำเร็จในเทคโนโลยีไครโอนิกส์เป็นไปได้น้อยมาก หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำ นักวิทยาศาสตร์บางคนเทียบกับการนำเนื้อบดที่กลายเป็นแฮมเบอร์เกอร์มาพยายามทำให้กลับไปเป็นวัวใหม่ แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์ที่คิดว่าถ้าไม่ใช่โครโอนิกส์อาจจะมีวิธีอื่นที่สามารถเก็บข้อมูลในสมองเราได้ครบ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีใครพิสูจน์ได้ ที่พิสูจน์ได้มีแค่เราเก็บ structure line ของสมองได้ แต่ข้อมูลมันอยู่ในนั้นจริงไหม หรือจะเอาข้อมูลออกมายังไงก็ยังไม่มีใครทราบ

ถ้ามองในแง่ความเชื่อ คล้ายกับการทำมัมมี่ยุคใหม่หรือเปล่า

        ไม่อยากบอกว่าคล้ายกับการทำมัมมี่ยุคใหม่ พอพูดถึงมัมมี่เราจะนึกถึงหนังสยองขวัญ ไม่อยากให้นึกถึงภาพนั้นเพราะในที่สุดเราก็พูดถึงน้องคนหนึ่งที่อายุแค่ 2 ขวบและได้เสียชีวิตไปซึ่งเป็นสิ่งที่เศร้าโศกมาก นี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ให้คนดูกลับไปคิดว่าการศรัทธาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เป็นศาสนาใหม่หรือเปล่า ซึ่งจริงๆ ครอบครัวนี้เป็นครอบครัวที่ศรัทธาศาสนาพุทธกันหมดเลย

 

ไพลิน วีเดล

ในเมื่อความเป็นไปได้น้อยมากแบบนั้น ทำไมครอบครัวนี้ถึงยังคงเชื่อ

        สำหรับเรา ครอบครัวนี้เหมือนเป็นครอบครัวจากอนาคต ที่คิดว่ามีความเป็นไปได้ถ้ารอนานพอ และในหนังเราพยายามสะท้อนถึงว่า ความคิดของเขามีผลกระทบกับชีวิตอย่างไร รวมทั้งความหมายเรื่องความเป็นความตายในความคิดเขาเปลี่ยนแปลงไปแบบไหน

        สิ่งที่เราเองคิดว่าน่าสนใจคือการมีบริษัทเทคโนโลยีหลายๆ ที่ลงทุนกับเทคโนโลยี Radical Life Extension คือการทำให้มนุษย์มีชีวิตยืนยาวกว่าเดิม และมีบางส่วนที่ลงทุนในการเก็บข้อมูลในสมอง อันนี้คือส่วนหนึ่งที่คล้ายๆ ไครโอนิกส์ ด้วยการลงทุนและมีคนเก่งๆ ขนาดนี้ ก็มีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีเทคโนโลยีที่ทำให้ชีวิตเรายืนยาวกว่าเดิมหลายเท่า หรืออาจจะทำให้คนที่เสียชีวิตไปแล้วกลับมาใหม่ในรูปแบบอื่น

ในกระบวนการทำสารคดีเรื่องนี้ สิ่งที่ยากที่สุดคืออะไร

        การหาทุนคือสิ่งที่ยากมาก คือไม่ว่าทำหนังอะไรก็แล้วแต่ในประเทศไทยมันยากมาก ระบบรองรับในเมืองไทยมีน้อย ระบบให้ทุนก็ค่อนข้างยาก เราเคยขอทุนที่กระทรวงวัฒนธรรมไปรอบหนึ่งแล้วก็ไม่ได้ ไปได้ทุนที่อังกฤษแล้วก็ญี่ปุ่น ใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้ทุนมาครบ เราก็ต้องหาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้

อาจเพราะเนื้อหาหรือเปล่าที่ไต่เส้นมโนธรรมจริยธรรม

        ไม่เกี่ยวค่ะ คือทุนต่างประเทศเขามักจะให้กับสารคดีที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษย์ พอเขาเห็นประเทศเราว่ามีหลายประเด็นที่ควรจะอธิบายหรือปรับปรุง เขามักจะให้ทุนเกี่ยวกับการต่อสู้ของคนในประเทศ แต่พอเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เกี่ยวกับสิทธิมนุษย์โดยตรงก็หายากมาก

โอกาสความสำเร็จในเทคโนโลยีไครโอนิกส์เป็นไปได้น้อยมาก หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำ นักวิทยาศาสตร์บางคนเทียบกับการนำเนื้อบดที่กลายเป็นแฮมเบอร์เกอร์มาพยายามทำให้กลับไปเป็นวัวใหม่

เราเห็นจากในเทรลเลอร์ว่าสารคดีเรื่องนี้ไต่อยู่ในหลายประเด็นที่เปราะบางมาก ทั้งเรื่องจริยธรรมและความเชื่อทางศาสนา คุณมีวิธีเลือกนำเสนออย่างไร

        นี่ไม่ใช่สิ่งที่เข้าใจง่าย แต่เชื่อว่าหลายคนที่ได้ดูจะเปลี่ยนความคิดไป หรือเข้าใจครอบครัวนี้ขึ้นมากกว่า บางคนอาจจะคิดว่าถ้าเป็นเราคงไม่ทำแบบนั้นหรอก แต่ถ้าคิดไปอีกแบบหนึ่ง แต่ละศาสนาอาจมีความคิดเกี่ยวกับโลกหลังความตายว่ามีอะไรรออยู่ มีพิธีกรรมอย่างไร มันมีความหลากหลายอยู่ตรงนั้นด้วย นี่อาจจะเป็นอีกพิธีกรรมหนึ่งสำหรับครอบครัวนี้

        ซึ่งเรายอมรับว่าไม่ได้เชี่ยวชาญด้านศาสนาพุทธ เราไม่ทราบว่าผิดหลักทางศาสนาตรงไหนบ้าง แต่ได้สัมภาษณ์กับพระประจำครอบครัวนี้ ท่านเองก็ตอบไม่ได้ว่าผิดตรงไหน การเผาศพคือการทำลายร่างกาย แตกต่างกับการนำร่างไปแช่แข็งหรือทำไครโอนิกส์อย่างไร หนังเรื่องนี้เลยนำเสนอข้อมูลตามความเป็นจริง ไม่ได้เข้าข้างใคร เป็นการโยนประเด็นให้กับคนดูมากกว่าว่านี่คือประเด็นของครอบครัวหนึ่ง ให้ไปสำรวจถึงการตัดสินใจ ความคิด ตามดูชีวิตของเขาจริงๆ คนดูจะคิดยังไงให้กลับไปคิดเอง

 

ทำไมถึงใช้ชื่อ Hope Frozen

        Frozen ภาษาไทยมันแปลได้ว่าแช่แข็ง ฟังแล้วไม่ค่อยเรียบร้อยเนาะ ส่วนคำว่า Hope ก็คือความหวัง พูดได้ว่ามันคือความหวังที่เขายังเก็บไว้อยู่ ว่าสักวันหนึ่งเขาอาจจะได้เจอน้องไอนส์อีกครั้ง

สำหรับคุณคิดว่าความหวังจำเป็นกับชีวิตมนุษย์อย่างไร

        มีทั้งข้อดีข้อเสีย ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และบุคคล มีหลายสถานการณ์ที่ความหวังมีความจำเป็นมาก อีกด้านก็มีข้อเสียของมัน เช่น ความหวังทำให้เราไม่ปล่อยวาง

พอได้เฝ้าสังเกตถึงเหตุผลและการตัดสินใจของครอบครัวนี้ คิดว่าเข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้นไหม

        ก็มีส่วนนะคะ สิ่งที่ได้เรียนรู้มากที่สุดคือเราไม่ควรดูถูกคนที่คิดไม่เหมือนเรา หรือคิดว่าเขาแปลก เพราะต่างคนต่างมีสาเหตุเป็นของตัวเอง ถ้าเราไปอยู่กับเขาได้ช่วงหนึ่ง ไม่ว่าจะในรูปแบบไหน แล้วทำความเข้าใจว่าเขาคิดยังไง คิดว่าแบบนั้นจะทำให้โลกนี้ดีขึ้น

 

อยู่กับหนังเรื่องนี้มา 4 ปี คิดถึงความตายของตัวเองอย่างไร

        โห ตอนนี้เราอายุแค่ 37 เอง ยังไม่ได้มีการวางแผนอะไรเลย แต่คุยกับสามีว่าไม่อยากนำร่างของเราไปกินเนื้อที่ของคนอื่น ก็คงอยากให้เผา ไม่ต้องเก็บไว้ก็ได้

ต้องมีพิธีรีตองอะไรไหม

        อยากให้มีงานปาร์ตี้มากกว่า ชีวิตเราเป็นสิ่งที่น่าฉลอง เราอยู่ได้ถึงขนาดไหน พอจบลงก็อยากให้คนมาฉลองความสำเร็จในชีวิตว่าได้ทำอะไรเพื่อมนุษยชาติไปกี่อย่าง ได้ช่วยคนไปกี่อย่าง ใครจะคิดถึงบ้าง เราอยากให้คนมาคุย มาปาร์ตี้ เพื่อเป็นการฉลองการมีชีวิตของเรามากกว่า คงจะเป็นปาร์ตี้ที่มีอาหารไทยอร่อยๆ จากภาคใต้เพราะแม่เราเป็นคนใต้ แล้วก็มีคนที่เรารักและเคารพมากันเยอะๆ เหมือนงานแต่งงานของเรา

พอเปลี่ยนมาทำสารคดีแล้วรู้สึกชอบมากกว่าการทำข่าวหรือเปล่า

        คือเราเป็นคนที่เบื่อง่าย (หัวเราะ) งานชิ้นสุดท้ายที่เพิ่งทำไปเมื่อเดือนที่แล้วเป็นสารคดีข่าวเจาะลึกเกี่ยวกับการค้าขายยาบ้าที่พม่า ก็จะเป็นอีกแนวหนึ่งเลย พอถึงจุดหนึ่งเราอยากทำอะไรที่มีความสร้างสรรค์มากกว่านั้น ก็มาทำสไตล์นั้นหน่อยสไตล์นู้นหน่อย หยิบกล้องมาถ่ายบ้าง เป็นโปรดิวเซอร์บ้าง เป็นผู้กำกับบ้าง จะได้ไม่เบื่อ แต่ที่จริงก็เกี่ยวกับรายได้ด้วย ให้ทำสารคดีไปเลยไม่ได้อยู่แล้วเพราะรายได้น้อยมาก การทำข่าวหรือสารคดีสั้นให้องค์กรยังเป็นรายได้หลักให้เราอยู่

ตอนนี้ถูกมองในฐานะผู้กำกับรุ่นใหม่น่าจับตามอง คุณกดดันไหม

        ทุกครั้งที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อไทยหรือสื่อต่างชาติจะถูกถามว่าเรื่องต่อไปเป็นเรื่องไหน ต้องยอมรับว่าตอนนี้ยังไม่มีเลยค่ะ (หัวเราะ)

หนังเรื่องนี้จะเดินทางต่อไปอย่างไร

        เทศกาลภาพยนตร์ Hot Docs เป็นรอบปฐมทัศน์ที่เราได้ฉายหนังเรื่องนี้ครั้งแรก และชนะรางวัลด้วย ตอนนี้ก็มีเทศกาลอื่นขอไปฉายอยู่ ใช้เวลาฉายประมานเกือบๆ หนึ่งปี ในไทยยังไม่ประกาศ แต่เร็วๆ นี้อาจจะได้ดูในไทยค่ะ