ปกรณ์ ลัม

ปกรณ์ ลัม: 41 ปีที่ถวายให้ดนตรีอิเล็กทรอนิก ชีวิตที่เติบโตไปพร้อมกับวงการบันเทิง

“จุดเปลี่ยนของผมคือตอนอายุ 15 ที่แมวมองติดต่อให้มาเป็นนักร้องในค่ายอาร์เอสหลังจากผมไปเล่นหนังเรื่อง ‘อนึ่งคิดถึงพอสังเขป’ ซึ่งเกี่ยวกับดนตรี เขาเห็นแววว่าไอ้หน้าหล่อคนนี้พอจะเป็นนักร้องได้ ก็เลยติดต่อมาและก็กลายเป็นศิลปินที่ชื่อ ‘โดม’ – ปกรณ์ ลัม”

        หลังจากแจ้งเกิดในฐานะนักแสดงเรื่อง อนึ่งคิดถึงพอสังเขป ชื่อของเขาก็โลดแล่นอยู่ในอุตสาหกรรมบันเทิงมาโดยตลอด ทั้งในฐานะขวัญใจแฟนเพลงพ็อพ-อิเล็กทรอนิกในช่วงที่สังกัดอยู่กับค่ายอาร์เอส, สมาชิกวง Nologo ในช่วงที่อยู่ค่ายแกรมมี่, ผู้ก่อตั้งค่ายเพลง Iconic รวมไปถึงนักแสดงที่มักมีผลงานเพลงประกอบละคร อันเป็นภาพลักษณ์ของเขาในช่วงสิบปีที่ผ่านมา

         แม้งานจะหลากหลายและแตกต่าง แต่เชื่อไหมว่าทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เขาตกหลุมรัก และพร้อมจะลุยไปกับมันอย่างไม่มีเงื่อนไข ต่อจากนี้คือเรื่องราวขนาด 41 ปีของชายคนหนึ่งที่เรียนรู้ ค้นหา และเติบโต ไปพร้อมกับอุตสาหกรรมดนตรีในประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดนี้ได้หล่อหลอมให้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจโลกมายิ่งขึ้น

 

ปกรณ์ ลัม

Every Night Stand

คุณเล่าว่าชีวิตศิลปินช่วงแรกกับค่ายอาร์เอสมีเวลาพักน้อยมาก ยังมีเวลาคิดเรื่องอัลบั้มใหม่อีกเหรอ

         ตอนนั้นผมมองว่าตัวเองเป็นนักร้องประเภทพ็อพลูกกวาดนะ หมายถึงเป็นคนที่อยู่ในวิธีการทำงานเพลงพ็อพสเกลใหญ่ มีทีมงานกว่า 20 ชีวิต ทั้งโปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง ครีเอทีฟ ตอนนั้นเขาช่วยผมหมดทุกอย่างเลยทั้งแนวทางเพลง เนื้อร้อง ไปจนถึงวิธีการแต่งตัว เพื่อดึงตัวตนออกมาเป็น Key Visual เลยเป็นสาเหตุที่ตอนนั้นในค่าย ‘โดม’ – ปกรณ์​ ลัม จะไว้ผมทรงหัวหนาม หรือพี่เต๋า (สมชาย เข็มกลัด) ใส่เสื้อลายสก็อต

         ดังนั้น เพลงในอัลบั้มต่างๆ ก็เลยมีออกมาได้ต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้มาจากตัวตนของผมทั้งหมด

คิดว่าแมวมองเขาเห็นอะไรในตัวคุณถึงได้ชวนไปเป็นนักร้องในค่ายอาร์เอส 

         ตอนนั้นผมเป็นดีเจ เปิดเพลงอิเล็กทรอนิกแล้ว เพราะก่อนหน้านี้เพื่อนที่ไปเรียนต่างประเทศมันแบกเครื่องเล่นแผ่นเสียงมาเล่นที่บ้าน ผมเห็นว่าแปลกดีก็ลองเล่นดู รู้ตัวอีกทีก็ติดใจไปแล้ว ถึงกับไปอ้อนแม่เลยว่าอยากได้เครื่องแบบนี้บ้าง เขาก็เลยซื้อให้ตอนวันเกิดอายุ 15 ปี หลังจากนั้นก็บ้าอยู่กับมันมาตลอด จนได้มีโอกาสได้ไปเล่นในผับ มีแมวมองเข้ามาเห็น และกลายเป็นศิลปินค่ายอาร์เอสที่มีความเป็นอิเล็กทรอนิก-พ็อพ

น่าภูมิใจแทนแม่คุณนะ ของขวัญวันเกิดเพียงชิ้นเดียวกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกชายประสบความสำเร็จในชีวิตได้ 

         แต่ตอนซื้อให้ช่วงแรกๆ แม่บ่นกระจุยเลย เพราะผมเห่อมาก เปิดทั้งวันทั้งคืน ก่อนนอนก็เปิด ตื่นมาก็เปิด เหมือนตัวเองหลุดเข้าไปในโลกดนตรีอิเล็กทรอนิกอย่างสมบูรณ์แบบ (หัวเราะ) แล้วกลายเป็นว่าช่วงนั้นก็จะเริ่มตามเพลงฝั่งยุโรปเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่เด็กไทยเขาฟังเพลง T-Pop เรารู้จักแต่ Plastic Dreams, The Chemical Brothers,The Prodigy

         หลังจากนั้นตัวตนก็เปลี่ยนไปเลย เมื่อก่อนผมคือเด็กกรันจ์ (Grunge) ที่ซ้อมดนตรีแล้วเล่นแต่เพลงของ Nirvana, Sound Garden กลายเป็นสนุกกับการเปิดแผ่นเสียง ได้เป็นดีเจแทน

จำได้ไหมว่าแผ่นแรกที่คุณซื้อคือวงอะไร

         จำได้ว่าไม่ได้ซื้อ แต่ขอเขามา (หัวเราะ) 

         เพราะตอนนั้นแผ่นเสียงเพลงแนวอิเล็กทรอนิกในไทยหายากมาก จะมีแต่แผ่นเพลงพ็อพมากกว่า แต่ถ้าอยากได้จริงๆ เขาจะแนะนำให้ไปตามดีเจลูกครึ่งอังกฤษ-ฟิลิปปินส์คนหนึ่ง ซึ่งเขาจะมาเปิดแผ่นที่ไทยอยู่บ่อยๆ แล้ววัฒนธรรมดีเจในยุคนั้นคือเขาจะไม่ค่อยแบกแผ่นกลับ ทิ้งไว้ที่ร้าน

         พอผมรู้แบบนี้ก็ไปเลย ตอนนั้นอายุ 15 เข้าไปนั่งสงบเสงี่ยมในร้าน เหล้าไม่ได้แตะเลย กูจะมาเอาแผ่น (หัวเราะ) รอจนถึงตี 4 กว่าจะได้แผ่นมา ซึ่งตอนนั้นก็เป็นวงที่เปิดโลกเราทั้งหลายเช่น Chemical Brother, The Prodigy, Fat Boy Slim ประมาณนี้

ปกรณ์ ลัม ตอนอายุ 15 ปี แต่งตัวเข้าผับอย่างไร 

         ผมสีเขียวปาดเจลทำเป็นหนาม ใส่สร้อยทอง ลูกประคำเหล็ก กางเกงยี่ห้อ Liquid Sky Swoop เหมือนตัวละครในเรื่อง Trainspotting (1996)

จะเป็นตัวละครไหนดีในเรื่อง Trainspotting 

         มาร์ก เรนตัน เท่านั้น แล้วต้องเป็นฉากที่อ้วกในชักโครกด้วย (หัวเราะ)

 

ปกรณ์ ลัม

ยุคนั้นวงการอิเล็กทรอนิกถูกแซวเหมือนวงการฮิปฮอปสมัยก่อนไหม

         ไม่ต่างกัน ต้องบอกก่อนว่าสองวัฒนธรรมนี้โตมาด้วยกัน ตัวผมเองก่อนหน้าก็เล่นสเกตบอร์ดมาก่อน แต่ยุคนั้นเด็กบอร์ดเขาจะมีกลุ่มฟังเพลงแยกเป็นสองฝั่งคือ แนว Old School ที่เขาจะฟัง Dr.Dre หรือ Snoop Dogg ส่วนอีกกลุ่มคือแนวร็อกที่ฟัง Black Metal ซึ่งผมคือกลุ่มหลัง แล้วค่อยๆ แตกหน่อออกมาเป็นดนตรีอิเล็กทรอนิก

         ซึ่งในซีนอิเล็กทรอนิกตอนนั้นจะมีแต่ภาพจำว่าพวกนี้เป็นขี้ยา เขาจะคิดว่าพวกเราต้องเมาตลอดเวลา ต้องปาร์ตี้ทั้งวันทั้งคืน ต้องติดเหล้าแน่นอน ครอบครัวก็เป็นห่วง แต่ผมก็พิสูจน์ให้ที่บ้านเห็นตลอดว่าจะไม่หลุดโค้ง ตอนนั้นก็เริ่มออกไปเป็นดีเจตามผับตอนวันศุกร์-เสาร์แล้ว เล่นเสร็จก็กลับบ้านไม่ได้ไปต่อ อยู่ในสายตาครอบครัวเสมอ เขาเลยไม่ได้กังวลใจเท่าไหร่เวลาผมขลุกอยู่กับกลุ่มดีเจดนตรีอิเล็กทรอนิก

พูดกันตามตรง ช่วงนั้นคือความสุขในฐานะดีเจอิเล็กทรอนิกที่ไม่ต้องพ็อพแบบอาร์เอสหรือเปล่า

         ถามว่าความสุข ณ ตอนนั้นใช่ไหม ใช่ แต่ไม่ใช่ความสุขในฐานะนักดนตรี ตอนนั้นเราเป็นแค่ดีเจเปิดแผ่น ผมยังทำเพลงเองไม่เป็น ยังไม่รู้จักโลกของอุตสาหกรรมดนตรีด้านอื่นๆ เลย ถ้าถามว่าใช้ชีวิตแบบตอนนั้นไปตลอด ทุกวันนี้ก็คงไม่ได้เป็นนักดนตรี แบบนั้นก็คงไม่มีความสุขหรอก

         การอยู่ในค่ายเพลงมีเรื่องให้เรียนรู้เยอะนะ จำได้ว่าตอนเข้าไปใหม่ๆ ครีเอทีฟเขาให้ผมเอาสิบอัลบั้มที่ชอบไปให้เขาแกะตัวตนของเราออกมา นี่เป็นความรู้แรกๆ ตั้งแต่เข้าค่ายเลยว่า การเป็นนักดนตรี คอนเซ็ปต์​และคาแรกเตอร์ต้องชัด 

         ส่วนเรื่องเพลงตอนนั้นก็เหมือนช่วงทดลอง ก็ทำให้ได้รู้ว่าอิเล็กทรอนิกถ้าทำให้พ็อพ ให้คนหมู่มากฟังได้ จะไปไกลขนาดไหน ก็เป็นอีกเรื่องราวที่ได้เรียนรู้เหมือนกัน

ยังยืนยันว่าไม่ทุกข์ใจกับการต้องเป็นศิลปินพ็อพ

         เรียกว่าไม่ทุกข์​ไม่สุขเพียงอย่างเดียวจะดีกว่า ที่ผมพูดไป คือโดมในวันนี้ที่นั่งคุยกับคุณ แต่โดมช่วงอายุ 17 ปี เขามองไม่ขาดแบบนี้หรอก เขาตั้งคำถามตลอดว่าทำไมเพลงที่ตัวเองคิดว่าดีที่สุดต้องโดนดัดแปลง ต้องถูกทำให้พ็อพ แล้วตอนนั้นเราเป็นดีเจด้วย ไฟแรง อีโก้เยอะ เชื่อไหมว่าห้าวขนาดที่พอทำอัลบั้มสอง ผมบอกทีมงานเลยว่าขอทำทุกอย่างเอง 

         ผมเปลี่ยนห้องตัวเองเป็น Bedroom Studio เริ่มพยายามเข้าใจวิธีการทำเพลงมากขึ้น โชคดีที่ช่วงนั้นได้รู้จักกับ ‘พี่เมย์’ – ภควัฒน์ ไววิทยา (เมย์ Kidnappers) ก็เลยไปอยู่กับเขาที่ Atomic Record ไปเป็นเด็กลูกหม้อ เป็นขอเรียนวิชา เป็นเด็กหิ้วกระเป๋าแผ่นเสียงให้เขาเลย  

         สุดท้ายในอัลบั้มที่ 2 ผมเลยชวนพี่เมย์มาเป็นโปรดิวเซอร์ให้ด้วย เพราะรู้ตัวดีว่าเด็กคนเดียวเอาทั้งอัลบั้มไม่อยู่แน่ ผมกับทีมอาร์เอสทำ 6 เพลง ส่วนพี่เมย์ทำ 4 เพลง ต่างกันฟ้ากับเหวเลย จำได้ว่า 6 เพลงที่เรากับทีมงานทำดังมาก แต่ของพี่เมย์กลายเป็นเพลงหน้า B 

         แต่ตัวผมเองกลับชอบ 4 เพลงนั้นของพี่เมย์มากกว่านะ (ยิ้ม)

การได้ทำงานกับมืออาชีพกับ เมย์ Kidnappers คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง

         ที่สำคัญคือได้รู้จักคำว่า ‘รสนิยม’ พี่เมย์บอกเสมอว่าการทำเพลงคือศิลปะ ต้องมีรสนิยมในนั้นให้มากเข้าไว้ อะไรคือความพอดี อะไรคือตัวตน อะไรคือคอนเซ็ปต์​ ทั้งหมดนี้ต้องชัด รู้ว่าใส่เสียงประมาณไหนถึงจะพอดี แบบไหนเยอะไป น้อยไป ต้องรู้ว่าอะไรควรพอไม่ควรพอ รวมไปถึงความเหมาะสมว่าเพลงนี้ควรอยู่ประมาณนี้ เพื่อรับเพลงนี้ เป็นวิธีคิดแบบภาพรวมเพื่อให้อัลบั้มทั้งหมดชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

         ตอนนั้นรู้สึกเลยว่า รุ่นใหญ่ต่างจากเราจริงว่ะ เพราะถ้าเป็นผมทำเองทั้งหมด ก็จะถมทุกอย่างลงอัลบั้ม คนฟังต้องรกหูแน่นอน

+เทคนิคนี้เลยทำให้คุณเป็นโปรดิวเซอร์ในอัลบั้มที่ 4 เพียงลำพังเลยใช่ไหม

         ไม่มั่นใจเหมือนกัน ตอนนั้นก็ยังตกใจอยู่เลยว่าเฮียฮ้อ (สุรชัย เชษฐ์โชติศักดิ์) เขากล้าให้เงินล้านสองกับเด็กคนหนึ่งทำเพลงได้อย่างไร (หัวเราะ) เขาให้โจทย์ว่า 3 เดือนต้องทำให้เสร็จ ผมก็ทำสุดความสามารถ จำได้ว่าตอนออกมาผลตอบรับดีมาก เช่นเพลง ผ่าเหล่า หรือ เวลา 

 

 

        หลังจากทำอัลบั้มนี้เสร็จผมเริ่มรู้สึกว่าตัวเองกำลังอิ่มตัวในวงการมากๆ 4 อัลบั้มที่ผ่านมาเป็นการเดินทางของวัยรุ่นที่คาบเกี่ยวกับดนตรีอิเล็กทรอนิกส์​ ผมได้รู้ว่าการเป็นศิลปินคืออะไร ในอุตสาหกรรมดนตรีมีอะไรให้ทำบ้าง และช่วยให้ตอบตัวเองได้ว่าตัวเราชอบดนตรีอิเล็กทรอนิกจริงๆ         

ถ้าเด็กรุ่นใหม่อยากรู้จักโดมในยุคอาร์เอส เขาควรฟังเพลงไหนดี

         เพลง เท้าของผม แล้วกัน เพลงนี้ พี่คงเดช จาตุรันต์รัศมี เขาเป็นคนเขียนให้ ตอนนั้นเราอยากทำเพลงที่ล้ำสมัย อยาก ให้ดนตรีก้าวหน้ากว่าของคนอื่น เราเลยไม่ได้สนใจพาร์ตเนื้อร้องเท่าไหร่ จำได้เลยว่าตอนแรกที่รู้ว่าเพลงชื่อ เท้าของผม ยังทำหน้าเหวออยู่เลย เพลงอะไรของพี่วะ (หัวเราะ)

         แต่พอลองฟังจริงๆ กลับชอบมาก เรารู้สึกว่าเพลงนี้พี่คงเดชเขาเขียนให้เราจริงๆ เพราะที่ผ่านมาคนในวงการจะมองว่า ‘โดม’ – ปกรณ์ ลัม คือเด็กห้าวเป้งมาตลอด มีอะไรไม่ค่อยฟังผู้ใหญ่ เอาแต่ใจ แต่พี่คงเดชเขามองขาด เขารู้ว่านี่คือทางของเด็กคนหนึ่งที่แน่วแน่และเลือกแล้วว่าจะทำสิ่งนี้ นี่คือเส้นทางที่เท้าของเด็กที่มันย้ำด้วยตัวเอง ดังนั้น ถ้าใครอยากรู้จักเราทั้งในแง่ดนตรีและตัวตน เพลงนี้น่าจะเหมาะที่สุด

 

เวลาเห็นเด็กมัธยมทุกวันนี้ได้ไปเที่ยวกับเพื่อน ได้มีแฟน ได้เตะบอล เคยรู้สึกเสียดายไหมที่ชีวิตวัยรุ่นคุณไม่มีอะไรแบบนี้เท่าไหร่เลย 

        ชีวิตที่ผมเสียดายมากๆ คือชีวิตมหาวิทยาลัย หลายคนบอกว่าเพื่อนในมหาวิทยาลัยคือกลุ่มคนที่จะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต ผมไม่รู้ว่าจริงไหม เพราะผมไม่มีเลย เพื่อนมัธยมนี่ก็น้อยมาก ทุกวันนี้คนที่รู้จักและคบหากันอยู่ก็มีแต่เพื่อนและพี่ในวงการทั้งนั้น แต่ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรแบบนี้เลย ไม่มีเวลาจะมานั่งคิดด้วยซ้ำ การเป็นศิลปินในวัยเด็กเวลามันมีน้อยเกินกว่าจะคิดเรื่องตัวเอง  

        ผมว่ามันก็ผ่านมาแล้ว เราแก้ไขอะไรไม่ได้ ถ้าให้ประเมินว่าชีวิตวัยรุ่นล้มเหลวหรือเปล่า ผมว่าไม่เลย ได้ทำสิ่งที่รัก ได้มีผลงาน ได้ค้นหาตัวเองจนพบว่าชอบและอยากทำอะไร ดังนั้น ถ้าถามว่าเสียดายไหม ผมเลือกจะตอบว่าเราพอใจชีวิตวัยรุ่นที่ผ่านมาของเราแทนจะดีกว่า

How To Be The Rock Star?

หลังจากไปเรียน Sound Engineer ที่สหรัฐอเมริกา คุณมีเป้าหมายชีวิตอย่างไรต่อ 

      โชคชะตาของผมมันตลกมากเลยนะ เพราะในช่วงที่เรายังไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรกับชีวิตต่อดี ก็ดันมีค่ายที่ชื่อ Smallroom เปิดขึ้นมา 

        ต้องเท้าความก่อนว่าเดิมที Smallroom เป็นโปรดักชันเฮาส์ของพี่รุ่ง (รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์) แล้วผมได้มีโอกาสไปลงเสียงโฆษณาที่นั่น ก็เลยได้คุยกับแก จนได้มารู้ทีหลังว่าแกคือสมาชิกวงครับที่อยู่ค่ายเดียวกับพี่เมย์ ก็เลยคุยกันถูกคอและติดต่อกันมาเรื่อยๆ หลังจากนั้นแกเลยเอ่ยปากบอกว่ากำลังจะสร้างค่ายเพลงขึ้นมาและจะออกอัลบั้มรวมศิลปิน Smallroom 001 เลยอยากชวนเราไปเป็นหนึ่งในศิลปิน ตอนแรกปฏิเสธไปเพราะยังพัวพันกับการเรียนที่อเมริกาอยู่ แต่พอผลตอบรับออกมาดี เขามาชวนทำ Smallroom 002 คราวนี้เราเอาด้วยเลย (หัวเราะ)

        ตอนนั้นก็ทำเพลงด้วยโน้ตบุ๊กง่ายๆ เลย ส่งไปให้พี่รุ่ง Mix & Mastering อีกที จากนั้นก็ได้ทำ Smallroom 003 อีก ทั้งหมดนี้เป็นผลงานช่วงแรกๆ ของเราหลังกลับมาจากอเมริกา

แล้วทำไมคุณถึงกลายเป็นศิลปินของค่ายแกรมมี่แทน

        เรื่องนี้เกิดขึ้นในงานแต่งพี่เต๋า วันนั้นพี่เล็ก (บุษบา ดาวเรือง) ที่น่าจะได้ฟังผลงานเรามาบ้าง ได้เข้ามาทาบทามว่าไปอยู่ค่ายแกรมมี่ไหม เขาบอกว่าพี่ป้อม (อัสนี โชติกุล) เขาเปิดค่ายเพลงย่อยในเครือแกรมมี่ชื่อ มอร์ มิวสิค และกำลังหาศิลปินอยู่

        ตอนนั้นตาลุกวาวเลย เพราะตัวเราเองก็เป็นแฟนคลับพี่ป้อมมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ก็เลยคุยกันต่อว่าในค่ายมีใครบ้าง เดี๋ยวผมจะยกตัวอย่างสถานการณ์ในวันนั้นให้ฟัง

        โดม: พี่เล็กครับ ในค่ายพี่ป้อม นอกจากผมจะมีใครอีกบ้าง 
        พี่เล็ก: มีวง Silly Fools
        โดม: โห
        พี่เล็ก: มีวง Loso 
        โดม: โห! (เสียงสูงขึ้น)
        พี่เล็ก: มีวงนูโว
        โดม: โห! (ตะโกนเสียงดังปนหัวเราะ)

        จำได้ว่าในงานผมแทบไม่ได้สนใจพี่เต๋าเลย เพราะมัวแต่ตื่นเต้นกับข้อเสนอตรงหน้ามาก หลังจากนั้นผมก็เลยนัดแนะไปคุยกับพี่ป้อม วันนั้นเดินเข้าไปในห้องลับของแกในตึกแกรมมี่ จริงๆ ก็ไม่ลับหรอก แต่แกชอบหาอะไรมาบัง ให้คนไม่รู้ว่ามีห้องนี้อยู่ พอไปถึงก็นั่งคุยกันเรื่องเพลง เรื่องรสนิยม ทัศนคติ จำได้ว่าเข้าไปตั้งแต่บ่ายโมงแล้วคุยเสร็จเอาตอนเที่ยงคืน หลังจากนั้นก็เดินลงมากินข้าว 

        ตอนนั้นเลยตัดสินใจตกปากรับคำแบบไม่ลังเลเลย แต่ผมก็ไปคุยกับทางพี่รุ่งก่อนว่าอยากมาอยู่กับพี่ป้อม แกก็เข้าใจและยังอาสาขอเป็นโปรดิวเซอร์ให้ Nologo อัลบั้มแรกด้วย

ฟังดูอาจเป็นเรื่องน่ายินดี แต่การเป็นวงอิเล็กทรอนิกท่ามกลางวงร็อกเบอร์ใหญ่ของประเทศก็อาจถูกรัศมีพวกเขากลบเอาได้ 

        ตอนนั้นเราไม่ได้คิดแบบนั้นเลย เรามองว่าพี่ป้อมให้โอกาสและบ้าไปกับการทำเพลงตามทัศนคติของเด็กคนหนึ่งมากกว่า ผมมองว่าค่ายที่ผู้บริหารเป็นนักดนตรีด้วยกันแบบนี้ เขาจะรู้ว่านักดนตรีเขาอยากทำเพลงแบบไหน เล่าอะไร และไม่อยากให้เปลี่ยนแปลงส่วนไหนไปจากเดิม 

        อีกคนที่ทำให้การทำงานในค่ายนี้น่าสนใจยิ่งขึ้นคือ ไซมอน เฮนเดอร์สัน โปรดิวเซอร์ของวง Silly Fools หลายคนอาจยังไม่รู้ แต่เนื้อแท้เขาเป็นคอดนตรีอิเล็กทรอนิก ​เขาฟัง New Order เขาฟัง Depeche Mode ผมเลยมีความสุขกับการได้ทำงานกับทีมที่เขาเชื่อมั่นและมีวิสัยทัศน์เดียวกัน 

 

ปกรณ์ ลัม

ใช้คำว่าดรีมทีมได้เลยนี่

        (หัวเราะ)

สนุกกว่าตอนอยู่ค่ายอาร์เอสไหม

        ผมว่าเทียบกันไม่ได้ เพราะด้วยอายุและทิศทางของวงการดนตรีที่ต่างกัน จะมาบอกว่าอยู่ที่ไหนดีกว่ากันก็คงไม่ได้ ถ้าย้อนกลับไปช่วงที่ผมอยู่อาร์เอสที่เขาทำเพลงพ็อพได้เก่งมากๆ จนสามารถใส่ดนตรีอิเล็กทรอนิกได้ กลับกันถ้าผมอยู่แกรมมี่ก็ไม่ได้การันตีว่าเขาจะให้ผมทำเพลงตามใจขนาดนี้      

ถึงจะบอกว่าได้อเวนเจอร์สแห่งวงการอิเล็กทรอนิกมา แต่ทำไมสุดท้ายถึงไปไม่ถึงฝั่งฝัน ทานอสในตอนนั้นคืออะไรกันแน่ 

        ผมว่าสิ่งที่เรากำลังเจอคือการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมดนตรีที่ค่ายแกรมมี่เริ่มยุบค่ายเล็กมารวมกัน ค่ายพี่ป้อมถูกไปรวมอยู่กับ Duckbar ซึ่งทิศทางในค่ายก็จะเป็นพ็อพร็อกเสียส่วนใหญ่

        ถามว่าเซ็งไหม บอกได้เลยว่าเซ็งมาก ทุกอย่างกำลังไปได้สวย แต่คำว่าสวยในตอนนั้นอาจจะสวยแค่ในความคิดของนักดนตรีอย่างผม เพราะในแง่ธุรกิจก็ต้องยอมรับว่าดนตรีอิเล็กทรอนิกก็ไม่ใช่รายได้หลักของค่าย ผมเลยไม่โกรธ เข้าใจ แต่ก็แอบเสียดายอยู่บ้างที่งานเลี้ยงต้องเลิกก่อนเวลาอันควร

        ถึงตอนนั้นเราเลยเริ่มสำรวจตัวเองว่าจะเอาอย่างไรต่อไป ซึ่งคำตอบที่ได้คือผมไม่มีความสุขกับสิ่งที่ทำแล้ว จะกลับไปทำเพลงอิงตลาดแบบเดิมก็ยาก ทั้งที่เพลงในช่วงนั้นหลายๆ เพลงดังมากเลย เช่นเพลง กลัว ที่ทำให้ใครหลายคนรู้จัก Nologo

        แต่สำหรับผมมันอยู่ต่อไม่ได้ เลยขออกมาดีกว่า

ไม่เคยมีความคิดที่อยากจะเป็นคนพ็อพเหมือน ‘พี่เบิร์ด’ – ธงไชย แมคอินไตย์ เป็นขวัญใจมหาชนแบบนั้นบ้างเหรอ

        ผมเป็นมนุษย์ที่ประหลาดอย่างหนึ่ง เวลาที่จะก้าวไปข้างหน้าในทางที่เรียบ ที่สบาย ผมจะชอบตัดสินใจเลือกมาเดินอีกทางที่ขรุขระแบบเดิมใหม่ ชอบหาโจทย์ยากให้กับตัวเองอยู่ตลอด ส่วนหนึ่งเพราะผมเชื่อว่าการเป็นมนุษย์จะรอดต้องรู้จักดิ้นรน สังเกตหลายคนรวมตัวผมเองเวลาอยู่ในกรอบที่สบายๆ เมื่อไหร่ จะบรรลัยเมื่อนั้นเสมอ

        ช่วงที่อยู่กับ Duckbar ก็เหมือนกัน ผมมีทั้งชื่อเสียง ฐานแฟนเพลง แต่สุดท้ายเราก็มองว่าตัวเองยังไม่ได้ทำเพลงในแบบที่ชอบ 100% เลยสักที ทั้งที่อยู่ในวงการมา 12 ปี มีเพลงแล้ว 5 อัลบั้ม แต่รู้สึกว่าตัวเองยังไม่ไปไหนเท่าไหร่ ดังนั้น แม้ทุกอย่างกำลังไปได้สวย แต่ก็รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุขเท่าไหร่เลยในตอนนั้น 

ตอนตัดนสินใจออกมาจากค่ายแกรมมี่ มีแผนกับเส้นทางที่ขรุขระอย่างไรบ้าง

        ไม่มีเลย ตอนออกมามีแค่ห้องในบ้านที่กลายเป็นสตูดิโอ กับสมาชิกวง Nologo ที่เหลือ

เชื่อแล้วว่าขรุขระจริง

        (หัวเราะ) หลังจากนั้นก็เริ่มคิดจะทำค่ายเพลงเองบ้าง โดยใช้ชื่อว่า Iconic เพราะเราไปเห็นวิธีการทำงานของ Smallroom เลยรู้สึกว่าค่ายอินดี้เริ่มกลับมามีที่ยืนบ้างแล้ว ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะต้องดังเป็นค่ายยักษ์แห่งที่ 3 ของประเทศแบบนั้น แต่ขอให้มีระบบการจัดการ มีผลงานคุณภาพออกไปสู่คนฟังได้แล้วมันจะดีเอง

        วันนั้นเราเชื่อแบบนี้ แต่เอาเข้าจริงไม่ใช่แบบนั้นเลย เราต้องต่อสู้กับเพลงเถื่อนในบิตทอร์เรนต์ (BitTorrent) ระบบสตรีมที่ยังไม่สามารถเก็บเงินได้ คือพูดในแง่การจัดการมันไปไม่รอดเลยทั้งที่เพลงของสมาชิกในค่ายดีมาก ผมเชื่อว่าทุกคนน่าจะต้องรู้จัก Mummy Daddy บ้าง นั้นก็เป็นความภูมิใจของค่ายเลย

 

 

        ช่วงนั้นผมเป็นบ้าไปเลย เพราะเราไม่เคยต้องมาจัดการกับปัญหาอื่นๆ นอกจากเพลงมาก่อน การบริหารคน ดูเอกสาร คำนวณค่าใช้จ่าย เหล่านี้มันกัดกิดตัวตนในการทำเพลงไปพอสมควรเลย แล้วยังโดนพิษเพลงเถื่อนอีก จำได้ว่า 5-6 ปีหลัง ค่ายไม่มีรายได้เลย ขาดทุนอย่างเดียว ถึงตอนนั้นเรารู้สึกว่าการทำค่ายเพลงเลยไม่สนุกอีกต่อไปแล้ว

เลยตัดสินใจยุบค่าย

        ยังไม่ได้ยุบ ผมแค่พักไว้ก่อน 

แสดงว่าเราอาจได้เห็น Iconic อีกครั้ง

        ใช่ ตอนนี้ก็มีความคิดอยากกลับมาทำอีกครั้ง ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว ทุกวันนี้การจัดการปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมันง่ายมาก ระบบสตรีมมิงก็มาช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องเพลงเถื่อน ตอนนี้ถ้าทำเพลงให้ดีพอ คุณก็ดังได้

Won’t Stop for Nothing

ตอนที่ตัดสินใจพักงานบริหารค่ายเพลงที่สร้างมากับมือน่าจะเจ็บปวดประมาณหนึ่งเลย

        ช่วงนั้นคือหยุดทำเพลงเลย ผมหนีไปขี่จักรยาน ไปแคมปิ้ง ไปเล่นละครแทน จำได้ว่าตอนนั้นอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ดนตรี ขอเวลาพักสักช่วงหนึ่ง

ใช่ ถ้าถามเด็กในยุคหลัง เขาจะรู้จักว่า ‘โดม’ – ปกรณ​์ ลัม ว่าเป็นนักแสดง เป็นคนร้องเพลงประกอบละคร

        ด้วยความที่เพลงละครแต่งโดยพี่ฟองเบียร์ (ปฏิเวธ อุทัยเฉลิม) นักแต่งเพลงคู่บุญของผมในยุคนั้น ทำให้แต่ละเพลงที่ออกมาทรงพลังมาก ติดหูกันทั้งบ้านทั้งเมือง แสงของหัวใจ เขาเขียนทั้งหมด เขียนดีจนคนลืม Nologo ไปหมดแล้ว (หัวเราะ)

แต่คุณโอเคจริงเหรอ ที่กลายเป็นนักแสดง นักร้องเพลงประกอบละครแบบนี้

        อาจเพราะเป็นช่วงเราพักฟื้นจาก Iconic ด้วย เลยไม่ได้รู้สึกอะไรมากเท่าไหร่ กลับกันบางทีเราก็รู้สึกสนุกด้วยซ้ำที่ได้ลองอะไรใหม่ๆ ยิ่งช่วงต้องเล่นละครเวทีจำได้ว่าวิถีชีวิตไม่ใช่เราเลย จะให้เด็กที่เป็นดีเจ เปิดแผ่นถึงตี 4 มาตื่น 7 โมงเช้าเหรอ ไม่ได้เลย แต่ช่วงนั้นก็ได้ปรับชีวิตใหม่

        อีกอย่างคือเราไม่ใช่โดมในวัย 20 ต้นๆ แล้ว เรามานั่งคิดเล็กคิดน้อย หาจุดบกพร่องแต่ละช่วงชีวิตไม่ได้อะไร เราเริ่มหาวิธีอยู่กับความแปลกใหม่ของชีวิตให้ได้มากกว่า             

เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ

        ใช่ ละครและละครเวทีที่ได้ลองช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือยาแรงที่ทำให้เราโตขึ้นจากเดิมแบบก้าวกระโดดเลย เราได้รู้ว่าทุกอย่างมีความสวยงาม และมีเรื่องราวดีๆ ซ่อนอยู่เสมอ อยู่ที่ว่าจะมองหาเจอหรือเปล่า ทุกวันนี้เลยกลายเป็นนายโดมแล้ว ไม่ใช่เด็กชายโดมที่อีโก้เยอะ มีความมั่นใจในตัวเองสูง

        (นิ่งคิดครู่หนึ่ง)

        แต่บางทีผมก็โหยหาชีวิตในอดีตนะ ไม่กี่วันที่ผ่านมาทีมงานจะทำอาร์ตเวิร์กให้อัลบั้มใหม่ น้องเขายังถามเลยว่าพี่โดมสมัยก่อนเป็นอย่างไร เขาเกิดไม่ทัน เขาจำเราได้แค่ในละคร ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าตกใจเหมือนกัน ว่าตัวตนเราไม่มีความเป็นดีเจอิเล็กทรอนิกหลงเหลืออยู่เลยเหรอ    

 

ปกรณ์ ลัม

ดังนั้น คุณเลยมองว่าถึงเวลาแล้วใช่ไหมกับอัลบั้มใหม่

        ใช่ (ยิ้ม)

ดนตรีอิเล็กทรอนิกที่ทำโดยคุณในวัยนี้ จะแตกต่างไปจากเดิมอย่างไร

        อัลบั้มนี้ผมตั้งชื่อไว้ว่า Six was Nine ที่จะพูดถึงเรื่องราวต่างๆ ที่มีสองด้านเสมอ เพราะสิ่งหนึ่งที่เพิ่งค้นพบตอนอายุเท่านี้ คือการได้เห็นว่าอะไรที่เคยคิดว่าดีอาจไม่ดี อะไรที่คิดว่าไม่ดีก็อาจดี 

        มีเพลงหนึ่งที่ พี่คงเดช จาตุรันต์รัศมี ซึ่งก่อนจะเขียนเราก็นั่งคุยกันนานเป็นชั่วโมงเลยเรื่องการเมือง เรื่องดนตรี เรื่องสังคม เรื่องโซเชียลมีเดียที่กำลังครอบคลุมความคิดมนุษย์ด้วยเฟกนิวส์ ​พวกเราเลยมาลองเขียนกันดูว่าด้านมืดโซเชียลมีเดียรุนแรงขนาดไหน ซึ่งพวกเราเชื่อว่าบางทีถ้ามันมีอำนาจพอ ต่อไปเราอาจเห็นคนไปกินฟางเพราะเชื่อข่าวปลอมในอินเทอร์เน็ตว่ากินฟางแล้วฉลาดก็ได้ ใครจะไปรู้ 

        เพลงนั้นเราใช้ชื่อว่า ซัดฟาง น่าจะออกเร็วๆ นี้ รอติดตามได้เลย