ครั้งหนึ่ง ผู้คนในโลกออนไลน์ชอบเรียกเว็บบอร์ดพันทิปดอตคอมว่าเป็นมหานครแห่งดราม่า ตั้งแต่ยุคที่อินเทอร์เน็ตเริ่มได้รับความนิยมใหม่ๆ ผู้ใช้เริ่มทยอยเข้ามาสัมผัสโลกแห่งนี้ และใช้ประโยชน์จากชุมชนเสมือนให้เป็นแหล่งในการพบปะสร้างความสัมพันธ์ และแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น เมื่อพื้นที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของทุกชุมชนบนโลกนั่นคือความขัดแย้งรุนแรงค่อยๆ ก่อตัวขึ้น
แล้วเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ท่ามกลางผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ความคิดเห็นที่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย อีกทั้งยังมีคนพาลที่เจตนาเข้ามากลั่นแกล้งคนอื่น ล่อเป้าหรือจุดชนวนปลุกปั่น รวมไปถึงเล่ห์กลของนักการตลาดที่แอบเข้ามาหาผลประโยชน์
พูดคุยกับ อภิศิลป์ ตรุงกานนท์ ผู้บริหารพันทิปดอตคอม ถึงการเปลี่ยนผ่านช่วงเวลาน้ำผึ้งพระจันทร์ในยุคแรก เข้าสู่ยุคของความขัดแย้ง ผู้ใช้ต่างสัมผัสถึงความเจ็บปวดและโกรธแค้นกัน จนกระทั่งผู้คนในชุมชนแห่งนี้เข้าใจวิธีที่จะอยู่ร่วมกันไปได้ ถึงแม้จะไม่ได้มีความเห็นตรงกัน บทเรียนมากมายจากชุมชนออนไลน์ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมในความเป็นจริงได้อย่างดี
วัฒนธรรมความรุนแรงในโลกออนไลน์หลายอย่าง มีแหล่งกำเนิดมาจากพันทิปดอตคอมตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ทั้งไซเบอร์บูลลี เกรียน ดราม่า เฮตสปีช การล่าแม่มด รุมประชาทัณฑ์ และนักสืบพันทิปที่ไปแอบค้นข้อมูลส่วนตัวคนอื่นมาประจาน
เป็นเพราะพันทิปมีมาก่อนแพลตฟอร์มอื่น ปัญหาพวกนี้มีมาก่อนที่จะมีแพลตฟอร์มอื่นๆ มันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากคน แล้วปัญหาของคนก็จะตามไปยังแพลตฟอร์มอื่นๆ คนทั่วไปอย่างเราๆ ที่พอเริ่มมีอำนาจในการนำเสนอเนื้อหา ทำให้เขารู้สึกดีกับอำนาจนั้น
เอาง่ายๆ เลย เราย้อนไปยุคก่อนจะมีอินเทอร์เน็ต เป็นยุคของสื่อมวลชน ยุคของหนังสือพิมพ์ นักข่าวไปสืบค้นข้อมูลมานำเสนอ บางทีนักข่าวบางคนล้ำเส้นก็มี ไปเอารูปส่วนตัวของดาราที่เขาตั้งใจจะถ่ายเก็บไว้ดูเองมาเผยแพร่ เอามาขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ นั่นคือลักษณะของคนที่มีอำนาจ แล้วใช้อำนาจนั้นไปละเมิดสิทธิคนอื่น พออินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นมา มันให้อำนาจกับคนทั่วไปในการนำเสนอ ทุกคนก็นำเสนอไปโดยไม่ได้ยั้งคิด นี่เป็นหน้าที่ของทั้งสังคมที่จะต้องเรียนรู้และช่วยกันสอน ร่วมกันบอกว่าอะไรถูกอะไรผิด คนที่อยู่ในพันทิปและเคยเจอปัญหาแบบนี้เขาก็ช่วยกันหาทางแก้ปัญหาได้ เมื่อคนไปอยู่บนแพลตฟอร์มอื่นๆ เขาก็คงจะสามารถหาทางแก้ปัญหาได้เช่นกัน
คุณคิดว่าไซเบอร์บูลลี แตกต่างกับการบูลลีในชีวิตจริงอย่างไร
เราอาจจะนิยามคำว่าบูลลีแตกต่างไปจากเดิม เมื่อก่อนเวลาเรานึกถึงการบูลลี เราจะนึกถึงสภาพแวดล้อมในโรงเรียน ที่มีเด็กอ่อนแอคนหนึ่งถูกเพื่อนหลายคนมารุมแกล้งโดยมีเจตนา แต่ในโลกออนไลน์ ผู้ใช้ส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้มีเจตนาที่จะมุ่งเป้าไปที่การกลั่นแกล้งโดยตรง เขาเพียงแค่แสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ หรือกล่าวถึงคนหนึ่งหรือเหตุการณ์หนึ่ง เพียงแต่การแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์นั้นเปิดเผยออกไปสู่สาธารณะ และคนที่เป็นต้นเรื่องนั้นก็สามารถเข้ามารับรู้ได้ หรือเขารู้สึกว่ามีคนอื่นรับรู้ได้ด้วย โดยส่วนตัวผม ถ้าผู้ใช้มีเจตนาวิพากษ์วิจารณ์คนหนึ่งหรือเหตุการณ์หนึ่ง ยังไม่ถือเป็นการรุมบูลลี แต่ถ้าเขาล้ำเส้นไปกว่านั้น เช่น การตามสืบเสาะ หาข้อมูล แล้วเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว นี่เป็นเส้นแบ่งของไซเบอร์บูลลี
เวลาผ่านมา ชุมชนออนไลน์ของพันทิปมีความรุนแรงมากขึ้นหรือน้อยลง
ไดเร็กชันของพันทิปตอนนี้คือ Learn, Share, & Fun เป็นแหล่งรวมข้อมูลข่าวสารและความรู้ที่ทุกคนจะเข้ามาสร้างและแบ่งปัน พอความเป็นคอมมูนิตี้ลดลง ความรุนแรงลดลง ถ้านับเฉพาะบนพันทิป ทุกวันนี้มันลดลงจริงๆ แต่มันกระจายตัวออกไปอยู่บนแพลตฟอร์มอื่นๆ แทน อาจจะมีแหล่งต้นเรื่องที่ไหนสักแห่ง เมื่อมีคนมาโพสต์อะไรไม่ดีสักอย่าง แล้วมันจะถูกแชร์ต่อไปบนแพลตฟอร์มอื่นๆ ความขัดแย้งก็ลุกลามออกไป ที่ไหนมีสังคม ที่นั่นย่อมมีความขัดแย้ง
ทฤษฎีเกี่ยวกับการกำเนิดของชุมชน แบ่งออกเป็น 4 เฟส เฟสแรก คือหมู่บ้านขนาดเล็กที่ทุกคนรู้จักกันหมดและสนิทสนมกันดี เฟสที่สอง จะเริ่มมีความขัดแย้งเกิดขึ้น คือมีความเห็นบางอย่างไม่ตรงกัน เริ่มถกเถียงกัน เฟสที่สาม ความเห็นที่ขัดแย้งกันนั้น ก่อให้เกิดการแบ่งขั้วขัดแย้งอย่างชัดเจน เฟสสุดท้าย คือทุกคนเข้าใจถึงความ-แตกต่างหลากหลายแล้ว ทุกคนยอมรับว่าต้องมีความเห็นต่าง และมองเห็นน่าจะมีบางจุดมาเชื่อมโยงกันได้ ในเฟสสุดท้ายนี้เองที่คอมมูนิตี้ที่แท้จริงกำเนิดขึ้น คือจุดที่มีความแตกต่าง แต่ความแตกต่างนี้ทำให้เราเรียนรู้และยอมรับกันได้
การเปิดเผยตัวตนหรือปกปิดตัวตนเป็นนิรนาม เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งไหม
ถ้าดูรายละเอียดแต่ละแพลตฟอร์ม เราจะเห็นว่าเฟซบุ๊กเป็นแพลตฟอร์มที่มีตัวตนชัดเจนที่สุด เขาบังคับให้ต้องใช้ชื่อนามสกุล และเราเอาข้อมูลส่วนตัวมาเปิดเผย สังคมออนไลน์ที่เปิดเผยตัวเองชัดเจน ผู้ใช้จะไม่ค่อยกล้าแสดงความเห็นแบบรุนแรงมากนัก เพราะเขารู้ตัวว่าจะถูกขุดคุ้ยได้ ฉันทำงานที่ไหน เรียนจบจากไหน ประวัติพวกนี้จะถูกนำไปรุมประชาทัณฑ์ คนไม่กล้าแสดงความเห็นตรงๆ เทียบกับทวิตเตอร์มีความเป็นนิรนามมากกว่า คุณไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวเองก็แสดงความเห็นได้ สังคมทวิตเตอร์จึงมีความรุนแรงมากกว่า
ในขณะที่พันทิปดอตคอมเรามีสภาพกึ่งกลาง คือเรามีระบบยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชน แต่เราไม่นำข้อมูลนี้ไปเปิดเผยทำให้คุณรักษาความเป็นนิรนามได้อยู่ ดังนั้น ความสัมพันธ์ของผู้คนในแพลตฟอร์มแบบนี้ จึงเป็นประมาณว่า ฉันแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ตราบเท่าที่มันไม่ผิดกฎของพันทิป ถ้าผิดกฎฉันจะโดนยึดล็อกอิน และจะกลับมาสมัครไม่ได้อีกเลย เขาจึงต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคมนี้ระดับหนึ่ง ในขณะที่เขามีเสรีภาพในการแสดงความเห็นได้อย่างเต็มที่ นี่คือจุดที่แตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่น
คุณคิดว่าในตอนนี้พันทิปได้มาถึงเฟสสุดท้ายนี้แล้วหรือยัง
เรามาถึงเฟสนี้มาตั้งแต่ยุคแรกๆ แล้วหลายๆ คอมมูนิตี้ออนไลน์ได้รับบทเรียนและพัฒนาไปจนถึงเฟสสี่แล้ว ยกตัวอย่างสมัยสิบกว่าปีก่อน พันทิปมีห้องราชดำเนินที่ดีมาก ผู้ใช้เข้ามาแล้วรู้สึกว่านี่คือคอมมูนิตี้ที่แลกเปลี่ยนความเห็นและวิเคราะห์การเมืองดีที่สุด ตอนนั้นประเทศไทยยังไม่มีปัญหาเรื่องสีเสื้อมาก่อน คนเข้ามาร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลกันด้วยดี ต่อมาพอประเทศไทยเริ่มมีปัญหาสีเสื้อ ห้องราชดำเนินก็เปลี่ยนไป เริ่มมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย มีคนเชียร์พรรคนั้นพรรคนี้ เริ่มเกิดสภาวะแบ่งขั้วและขัดแย้งกันรุนแรงมาก จนมาถึงตอนนี้ห้องราชดำเนินมาถึงสภาวะที่นิ่งแล้ว ทุกคนได้รับบทเรียน คนส่วนใหญ่รู้แล้วว่าฉันอยู่สีนี้ คุณอยู่สีนี้เราก็รู้จักวิธีในการพูดคุยกัน แต่ละคนยังมีความเชื่อแตกต่างกันต่อไป มีการแซะกันไปแซะกันมา แต่สภาพสังคมโดยรวมสงบลง
สถานการณ์แบบนี้เกิดกับห้องอื่นด้วย เช่น ห้องศุภชลาศัย แฟนฟุตบอลมีทีมโปรดของตัวเอง แล้วแต่ละฝ่ายก็จะคุยข่มกันไปมา ทีมไหนเตะแพ้ก็จะมีกระทู้มาล้อเลียนกันโดยที่ทุกคนรับรู้แล้วว่านี่คือเรื่องธรรมดา และสภาพสังคมก็ดำเนินต่อไปได้ มันเป็นธรรมดาของสังคมทุกที่ที่จะต้องขัดแย้งกัน แต่ทุกคนก็ยังอยู่ร่วมกันต่อไป
จุดมุ่งหมายที่แท้จริงไม่ใช่การที่ทุกคนในสังคมเห็นตรงกันหรือ
ไม่ต้องรวมกันก็ได้ครับ ในเฟสที่สี่เราไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกันก็ได้ แต่ทุกคนเข้าใจแล้วว่าต้องทำอย่างไรจึงจะอยู่ร่วมกันต่อไป สภาพในอุดมคติของเฟสสี่ คือเมื่อมีเกรียนเข้ามาหรือใครบางคนที่เข้ามาก่อกวน พยายามสร้างความแตกแยก สมาชิกทุกคนในชุมชนจะรู้ทัน และรับมือกับมันได้ อาจจะด้วยวิธีการเพิกเฉย ไม่สนับสนุนเกรียน
ในยุคแรกของคอมมูนิตี้ พอมีเกรียนเข้ามาปุ๊บ คนส่วนใหญ่จะรู้สึกรับไม่ได้ เราต้องช่วยกันกำจัดออกไป เพื่อไม่ให้มันเข้ามาทำลายความสุขของพวกเรา แต่ในคอมมูนิตี้ที่มีพัฒนาการไปถึงจุดสูงสุด ทุกคนก็จะรู้ทัน ดูหมายเลขสมาชิก ดูชื่อล็อกอิน หรือเพียงแค่ดูสำนวนการเขียน ทุกคนก็รู้แล้วว่าไอ้นี่เจตนาไม่ดี ทุกคนก็จะเพิกเฉยไป โดยที่ทุกคนก็ยังแตกต่างหลากหลาย มีความคิดเห็นไม่เหมือนกันได้ต่อไป
การทำงานดูแลคอมมูนิตี้ออนไลน์มาจนครบทั้งสี่เฟส ให้บทเรียนอะไรกับชีวิตจริงบ้าง
คือการปล่อยวาง (หัวเราะ) มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้ทุกคนมาเห็นด้วยกับเรา เราอยู่ในคอมมูนิตี้ออนไลน์ก็เพื่อเรียนรู้ว่ามีคนแตกต่างจากเรา แล้วก็ปล่อยวางให้ได้ แค่นั้นเองเราสื่อสารแนวคิดของเราออกไป โดยไม่ต้องไปบังคับ และไม่ต้องเสียเวลาไปเปลี่ยนคนอื่น ผมคิดว่าการจะต้องทะเลาะอะไรกันมากๆ เราเอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า
ในพันทิปชอบมีดราม่าเรื่องคนในวงการบันเทิงเสร็จแล้วคนไทยเราก็ไปใช้เวลากับดราม่านั้นเยอะเกินไป เราเคยวัดผลดูว่าในประเด็นดราม่าดาราเรื่องนี้ มีคนเข้ามาอ่านกี่คนแต่ละคนใช้เวลาอ่านกระทู้นานกี่นาที เราเอาตัวเลขมาคูณกันแล้วพบว่า โอ้โฮ คนไทยเสียเวลากับดราม่าประเด็นนี้ประเด็นเดียวมากถึงสองพันปี เราเสียเวลาคนไทยไปสองพันปีเพื่อดราม่าเรื่องเดียว แค่แพลตฟอร์มพันทิปอย่างเดียวเลยนะ พอเห็นตัวเลขแบบนี้ ผมก็คิดว่าเราเสียทรัพยากรเวลาไปมาก เรื่องแบบนี้เราต้องเรียนรู้ และต้องรู้จักปล่อยวางกันเสียที
ประเด็นขัดแย้งส่วนใหญ่แค่สองสามวันมันก็จบไปแล้ว ซึ่งในทุกวันนี้คนในโซเชียลมีเดียก็ฉลาดขึ้น เขารู้เท่าทันเรื่องนี้แล้ว เขารู้ว่าเรื่องพวกนี้มาแล้วก็ไป ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องไปเสียเวลากับมัน อาจจะแค่รู้ไว้เพื่อไปคุยกับเพื่อนรู้เรื่อง แต่ไม่ต้องไปติดตามมากหรอก
ในปัจจุบันที่ eyeball มีมูลค่าทางธุรกิจ การที่ผู้ใช้เข้ามาอ่านดราม่าดาราใช้เวลารวมกันสองพันปี เอาไปเคลมขายโฆษณาได้เยอะเลย
ตัวแพลตฟอร์มไม่ใช่คนทำคอนเทนต์เอง แต่เป็นพับลิชเชอร์นั่นแหละที่ทำคอนเทนต์ ผมว่าพับลิชเชอร์คือคนที่ลงข่าวดราม่าเพื่อให้คนเข้ามาใช้อายบอลเยอะๆ โดยที่ตัวเจ้าของแพลตฟอร์มไม่ได้สนใจเรื่องแบบนั้น ถามว่าอายบอลสำคัญไหม สำหรับพันทิป มันสำคัญแน่ แต่ว่าเราอยากจะให้แพลตฟอร์มนี้มีคอนเทนต์ที่มีคุณค่าสอดคล้องกับคุณค่าขององค์กรเรา เราอยากได้คอนเทนต์ที่ผู้ใช้แชร์เข้ามาเป็นคำตอบของคำถามต่างๆ ที่คนค้นหาอยู่ ถ้าคอนเทนต์นี้มีคุณค่าจริง อายบอลจึงค่อยตามมา และมันจะมีมูลค่าสูงกว่าคอนเทนต์ที่เป็นดราม่าอีก
คุณลองคิดดูว่าถ้าเป็นลูกค้า เขาอยากจะลงโฆษณาในพื้นที่ที่เป็นดราม่า หรือพื้นที่ที่เป็นคอนเทนต์ที่มีค่า ที่ผ่านมา ดราม่าคือสิ่งที่ผู้คนที่เข้ามาใช้งาน เขามาสร้างให้เกิดขึ้นกันเอง โดยที่เราไม่ได้ไปคาดหวังว่าดราม่าจะกลายเป็นมูลค่าทางธุรกิจ ซึ่งหลังๆ มานี้ เราก็จะได้ยินข่าวว่าเฟซบุ๊กหันมาให้ความสำคัญกับมิตรภาพ กับคอนเทนต์ที่มีคุณค่า เขาพยายามกำจัดข่าวปลอมป้องกันการบูลลีอะไรต่างๆ
คิดว่าคนรุ่นใหม่ที่เป็น Digital Native เขาจะอยู่ในโลกออนไลน์ได้อย่างสงบสุขมากกว่าคนรุ่นเก่าหรือเปล่า
ผมว่ามนุษย์เราเหมือนกันหมด เราต้องผ่านการเรียนรู้มาก่อน เด็กทุกคนต้องอยากลองเอานิ้วไปแตะกาต้มน้ำร้อน เพราะอยากรู้ว่ามันร้อนอย่างไร อยากลองเอานิ้วไปแหย่พัดลมดู เพราะอยากรู้ว่าใบพัดมันจะหยุดไหม เด็กทุกคนไม่ว่าจะรุ่นไหนๆ ต้องอยากทดลอง อยากรู้ มนุษย์ต้องผ่านความเจ็บปวดถึงจะเรียนรู้และปรับตัว
ผมคิดว่าเด็กรุ่นใหม่ก็ยังต้องมีความขัดแย้งและความรุนแรงในโลกออนไลน์อยู่เหมือนเรา คือต้องปล่อยให้เขาหมดแรงกันไปเอง มันคือการปล่อยเขาจริงๆ แหละ เรามีเพียงเส้นกำหนดไว้แค่นั้น คุณห้ามล้ำเส้นนี้ ที่เหลือคืออยากทำอะไรก็ทำไป ถ้าล้ำเส้นแล้วเราจะแบนคุณ นั่นคือคำตอบ ปล่อยให้เขารุนแรงต่อกันไปจนหมดแรงไปเอง โดยเราให้อิสระในการพูดคุย เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่มีมุมที่ดีได้เข้ามาสื่อสารในนั้นได้ด้วย เมื่อเกิดดราม่าขึ้นมา จะมีคนที่มีความรู้เรื่องนั้นจริงๆ เข้ามาแสดงความเห็น แล้วมันก็จะจบลงไป ทำอย่างไรก็ได้ให้คนแบบนี้มีปากมีเสียงให้มากขึ้น
TOOL
การปรับรูปแบบของแพลตฟอร์มช่วยลดความรุนแรง
เมื่อก่อนเราเป็นกระทู้ โดยทุกความคิดเห็นจะเรียงลำดับลงมาจากเก่ามาใหม่ บางทีใครมาแสดงความคิดเห็นที่เป็นดราม่าปุ๊บ หลังจากนั้นคนอื่นๆ ก็จะมาตอบโต้ความคิดเห็นนั้นแทน กระทู้นั้นก็จะถูกพาออกทะเลไปเลย กลายเป็นการทะเลาะกันระหว่างคนที่เข้ามาคอมเมนต์ คนจะบอกว่าความเห็น 10 ตอบแบบนี้ไม่ถูก ทุกคนก็จะมารุมถล่มความเห็น 10 โดยไม่สนใจหัวข้อกระทู้นั้นอีกเลย เราจึงปรับเปลี่ยนการออกแบบใหม่ ให้ผู้ใช้สามารถตอบความเห็นต่อความเห็นได้ การออกแบบนี้ช่วยคุมประเด็นได้ในทันที ถ้าคุณมีปัญหากับความเห็นที่ 10 คุณก็ไปตอบโต้กับความเห็น 10 ได้เลย โดยที่คนเข้ามาทีหลังยังดำเนินความเห็นต่อกระทู้ได้
การตั้งผู้คุมกฎมาทำหน้าที่ดูแล
พันทิปเราผ่านบทเรียนมายี่สิบกว่าปี เราประสบเหตุการณ์ความขัดแย้งมามากมายพอสมควร เรารู้แล้วว่าพฤติกรรมบางอย่างเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งได้ง่าย เราก็ตั้งกฎไว้ว่าไม่ให้ทำเลย อย่างเช่น การตั้งกระทู้ร้องเรียนสินค้าหรือบริการ คุณจะสามารถร้องเรียนได้ก็ต่อเมื่อสมัครสมาชิกเรียบร้อยและมีบัตรประชาชนยืนยันตัวตนแล้วเท่านั้น สมาชิกแบบที่ยังไม่ยืนยันด้วยบัตรจะทำไม่ได้ ถ้าแค่ไปสมัครอีเมลใหม่แล้วมาโพสต์กระทู้ร้องเรียน แบบนี้เราไม่อนุญาต เพราะเรารู้ว่าทุกวันนี้มีเล่ห์กลทางธุรกิจมากมาย
การนำข้อมูลส่วนตัวคนอื่นมาเปิดเผย
การตั้งกระทู้โดยระบุข้อมูลส่วนตัวของผู้อื่นก็ทำไม่ได้ เช่น ถ้าคุณจะถ่ายรูปเพื่อแฉผู้ชายคนนี้ มีพฤติกรรมลวนลามผู้หญิง ไปขุดคุ้ยหาข้อมูลของเขา หรือ stalking จากเสิร์ชเอนจิ้นต่างๆ ว่าเขาทำงานที่ไหน เบอร์โทร. เฟซบุ๊ก แบบนี้ไม่ได้เลย อะไรที่เชื่อมโยงไปถึงชีวิตจริงของผู้อื่นที่ถูกพาดพิง พันทิปไม่ให้ลงเด็ดขาด เพราะเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัว เราในฐานะแพลตฟอร์ม ไม่มีทางรู้ว่าสิ่งที่เขาโพสต์นั้นเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ และเราไม่ใช่ศาลที่จะมีหน้าที่ไปพิพากษาคนอื่น สิ่งที่เราทำเท่าที่ทำได้คือการปกป้องสิทธิและความเป็นส่วนตัว เขาจะถูกหรือผิดเราไม่รู้ แต่เราต้องปกป้องสิทธิของเขา