คุยกับ สิโรตม์ จิระประยูร เจ้าของร้านหนังสือและนิตยสารอิสระ The Papersmith by Booksmith ถึงเรื่องความหรูหราของการอ่านบนกระดาษ คือสิ่งที่โลกออนไลน์ไม่สามารถให้ได้
“ที่ไหนมีกระดาษที่นั่นมีความหรูหรา ที่ไหนมีความหรูหราที่นั่นมีกระดาษ” เหตุใดคำกล่าวเชิงอวดอ้างสรรพคุณของกระดาษจึงก่อเกิดขึ้นท่ามกลางยุคสมัยที่คนทำสื่อสิ่งพิมพ์รู้สึกใจหายมากที่สุด
แม้ว่าการอ่านออนไลน์จะได้กลายเป็นความปกติในชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว เพราะมันเอื้อทั้งความสะดวกรวดเร็วและง่ายดาย แต่อย่างที่รู้กันว่าธรรมชาติของมันได้ส่งผลให้คอนเทนต์ออนไลน์มุ่งสู่ถนนของการขยี้อารมณ์ผู้คนไปจนถึงขีดสุด จากนั้นไม่กี่วันหรือเพียงไม่กี่ชั่วโมง เรื่องราวใหม่ก็ถูกประโคมเข้ามา หันเหความสนใจผู้คนไปจากสิ่งเดิม และขยี้อารมณ์ให้ขึ้นไปถึงจุดไคลแมกซ์ก่อนดับวูบไปเพราะกระแสใหม่อีกครั้ง
วัฏจักรเช่นนี้เวียนไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า คนทำงานก็ต้องเร่งผลิตคอนเทนต์ให้เร็วและเยอะ คนอ่านก็ตะบี้ตะบันเสพคอนเทนต์มากมายท่วมท้นจนเกิดสภาวะ Information Overload โลกออนไลน์กำลังนำเราไปสู่ความจริงที่ว่า แท้จริงแล้วพวกเราไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่าคนที่ถูกพัดให้หันเหไปทางนั้นทางนี้
การกลับมาอ่านหนังสือคือการแอนตี้โลกออนไลน์ในรูปแบบหนึ่ง ผู้คนพยายามย้อนกลับไปหาสิ่งที่คุ้นเคยและปลอดภัยในอดีต ครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นเจ้าของการเสพคอนเทนต์ด้วยตัวเอง แต่กระแสที่ว่านี้จะไม่ฟุ้งเฟ้อเหมือนยุคนิตยสารเกลื่อนแผงในอดีต หากแต่เป็นการอ่านที่เน้นคุณภาพที่ลงลึก ละเมียดละไม และมันคือความลักซ์ชัวรีที่โลกของการอ่านผ่านกระดาษเท่านั้นที่สามารถให้เราได้
ประสบการณ์หลังเดินเข้าร้าน The Papersmith ที่ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าห้าง Gaysorn ได้เผยให้เราเห็นภาพของความลักชัวรีอย่างชัดเจน เขาค่อยๆ พาเราเดินสัมผัสกับความหรูหราในโลกของกระดาษ ตั้งแต่ภาพและการจัดวางตัวอักษรที่บ่งบอกถึงรสนิยมและความตั้งใจ ทั้งยังเชื้อเชิญให้เราหยิบหนังสือเหล่านั้นขึ้นมาลูบไล้เพื่อจะพบว่ากระดาษของหนังสือแต่ละเล่มมีเท็กซ์เจอร์ที่ต่างกัน รวมไปถึงการพิจารณากลิ่นของมัน ผัสสะซึ่งขาดหายจากชีวิตเราไปแสนนาน
ภาพรวมของวงการสื่อสิงพิมพ์นิตยสารของทั่วโลกช่วงครึ่งปีแรกเป็นอย่างไร
ดี ยังดีอยู่ จริงๆ ทั้งหนังสือเล่มและแมกกาซีนเติบโตกัน ตัวแมกกาซีนหมวดอินดีเพนเดนต์ยังโตต่อเนื่อง แต่หมวดแมสก็ดูไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ก็เหมือนนิตยสารไทยแหละ ซึ่งนิตยสารไทยในความคิดผมไม่น่าแปลกใจกับหลายหัวที่มันหายไปนะ คือเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเนื้อหาสิบปีที่แล้วเป็นยังไง ตอนนี้เขาก็ยังไม่เคยเปลี่ยนรูปแบบ เพราะฉะนั้นมันขาดความน่าตื่นเต้น วันหนึ่งคนก็รู้สึกว่าอ่านที่อื่นก็ได้ แต่บางหัวมันยังอยู่ได้เพราะคนหาอ่านไม่ได้ในออนไลน์ ผมจึงคิดว่าจุดต่างอยู่ที่คุณภาพของคอนเทนต์ ไม่ใช่ว่าเป็นนิตยสารแล้วจะตายไม่ได้ ถ้าคุณทำคอนเทนต์ไม่ดีมันก็ไป
ผมเห็นบางหัวอย่าง สารคดี หรือ ศิลปวัฒนธรรม ทำไมยังขายได้ หรืออย่าง a day ที่ผมว่าเปลี่ยนรูปแบบไปค่อนข้างมากนะ แล้วผมว่ามันมีส่วนผสมของการจับต้องได้มากขึ้น ที่สำคัญเอกลักษณ์ก็ยังอยู่ เล่มอื่นๆ ก็เช่นกัน ซึ่งผมว่าลักษณะเด่นอยู่ที่หนึ่งเล่ม หนึ่งคอนเทนต์ แล้วลงลึกไปเลย คือคนชอบลงลึกมากกว่าแนวนอน ถ้าเป็นแนวนอนออนไลน์ยังไงก็ดีกว่า มันไปเรื่อยๆ เหมือนแชร์ลูกโซ่ แต่ถ้าลงลึกออนไลน์จะสู้ไม่ได้ ถ้าลึกจริงๆ ก็จะไปเจอคอนเทนต์ที่ต้องจ่ายเงิน ผมว่าจุดต่างมันอยู่ตรงนี้
แล้วมองกลับมาที่วงการหนังสือของบ้านเราถือว่าคึกคักแค่ไหน
ผมว่ายังไม่ค่อย หนึ่ง ผมว่าเทรนด์บ้านเราจะตามเมืองนอกอยู่สองสามปี เพราะเมืองนอกเขาโตต่อเนื่องมาแล้วสามปี แต่บ้านเราผมว่าโครงสร้างข้างในมันไม่เอื้อต่อรูปแบบของการกลับมาเติบโต ทุกวันนี้เราเห็นสำนักพิมพ์เอาหนังสือมาลดราคาเอง แล้วถามว่าจริงๆ ในธุรกิจหนังสือก็จะมี Supply Chain หรือห่วงโซ่ทั้งหมดของมัน ตั้งแต่คนเขียนที่เป็นต้นน้ำ สำนักพิมพ์มาจัดจำหน่าย มาร้านขายหนังสือ แล้วก็มาคนอ่านที่เป็นปลายน้ำ ทีนี้พอสำนักพิมพ์กระโดดข้ามมาปลายน้ำ มันก็เหมือนถูกตัดตอน ส่วนตรงกลางหรือร้านหนังสือก็หายไป ทีนี้ในระยะสั้นมันก็ทำได้ แต่ในระยะยาว คนก็จะคิดว่าไม่ต้องการร้านหนังสือ เดี๋ยวรอสำนักพิมพ์ลด หรือรองานหนังสือเดี๋ยวก็ลด สุดท้ายคือระบบ Eco System ที่เป็นระบบนิเวศของธุรกิจหนังสือก็หายไปขาหนึ่ง
ทีนี้พอหายไปขาหนึ่ง มันก็จะมาฟ้องที่สำนักพิมพ์ ต่อไปคุณจะพิมพ์หนังสือ คุณไม่ต้องนึกถึงการจัดจำหน่ายกี่ร้านค้าแล้ว คุณพิมพ์จัดจำหน่ายในจำนวนหนึ่ง หรือไม่ก็เปิดพรีออเดอร์ สมมติพรีออเดอร์หนึ่งพันเล่ม มันก็มีหนึ่งพันเล่ม จบ แล้วคุณก็ไม่มีของออกมาให้ตลาดจัดจำหน่าย ระบบ Supply chain หรือ Eco system ก็จะหายไป
คือพอมันมาในประเด็นนี้ มันก็จะมีคำถามตลอดว่า แล้วร้านหนังสือจะอยู่ยังไง ถ้าไม่มีร้านหนังสือ สำนักพิมพ์ก็จะแย่ เพราะว่าจำนวนพิมพ์ก็จะลดลง คือออนไลน์ก็ยังไม่สามารถมาทดแทนได้ขนาดนั้น จำนวนพิมพ์ลดลงแต่ค่าใช้จ่ายเท่าเดิม แทนที่คุณเคยมี Multiple Distribution Channel คือคุณยังมีทั้งร้านขายของคุณที่เขาเป็นร้านค้าปลีก กับร้านค้าที่เขาเป็นร้านค้าปลีกกับออนไลน์ คุณกลับตัดออก มันเหมือนกับถังน้ำ เคยมีห้าก๊อก น้ำก็เต็มเร็ว แล้วมีก๊อกขาออกสักหนึ่งขา คือขาค่าใช้จ่าย ห้าก๊อกก็เต็มเร็ว ขาออกก็ทันกัน แต่วันหนึ่งคุณเหลือเข้าแค่ก๊อกเดียว ขาออกคุณเท่าเดิมอยู่ น้ำคุณก็ไม่มีวันเต็มถัง คือบ้านเรามันก็จะเป็นภาพแบบนี้อยู่
แล้วเมืองนอกเขาเคยมีภาพแบบที่เราเผชิญอยู่บ้างไหม
คือเมืองนอกเขาก็เคยดาวน์ แต่วันหนึ่งก็พลิกกลับขึ้นมา แล้วเขาพยายามจัดแคมเปญกระตุ้น พยายามบอกว่าอันนั้นโต อันนี้โต คนก็รู้สึก Positive แล้วกิจกรรมที่เขาจัดก็เป็นกิจกรรมที่โปรโมตให้คนไปซื้อหนังสือที่ร้านหนังสือ สำนักพิมพ์ก็เลิกขายตรง ให้ออกไปซื้อร้านขายหนังสือให้เต็ม Eco system ของมัน พอคนไปซื้อ มีแคมเปญโปรโมตต่างๆ มีคนดังๆ ไปซื้อหนังสือที่ร้านหนังสือ เป็นเสียงเดียว ไปในทิศทางเดียวกัน Positive ของคนเราก็กลับมาว่าการอ่านหนังสือเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องเท่ มันก็โตขึ้นมาได้
ประกอบกับเขามีหนังสือซึ่งเป็นวรรณกรรมดีๆ ออกมา เขาก็โปรโมต มีการให้รางวัลหนังสือต่างๆ เป็นระลอกๆ คือบ้านเราเนี่ยคนเขียนน้อย แล้วรายได้คนเขียนยิ่งน้อยลงไปอีก เอาง่ายๆ คือตราบใดที่รายได้ของคนเขียนไม่สูงจนถึงขั้นมีเกียรติ ยังไงมันก็ไม่โต แล้วผมถามว่าทำไมหนังสือไทยต้องราคาสองสามร้อยบาท บางทีร้อยบาท หกสิบบาท ทำไมหนังสือไทยราคาสี่ร้อยแบบของคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ไม่ได้ ซึ่งผมว่าโมเดลนั้นถูกนะ คือสี่ร้อยกว่าบาทนักเขียนก็อยู่แบบมีศักดิ์ศรีได้ เพราะฉะนั้นชีวิตเขาไม่ต้องทำอะไร เขียนหนังสืออย่างเดียวก็อยู่ได้ รายได้เลี้ยงเขาได้ แต่ทุกวันนี้เขียนยังไงก็ไม่ได้ ก็เลยต้องวิ่งทำอย่างอื่นไปด้วย มันก็ทำให้เราขาดงานที่มีคุณภาพดีๆ ออกมา เพราะนักเขียนไม่มีเวลา แล้วเราไม่ได้เลี้ยงดูเขาให้ดี มันเป็น Eco system จริงๆ
อย่างโมเดลหนังสือคุณภิญโญที่ผมพูดถึง ราคาสี่ห้าร้อยบาท มันแพงกว่าหนังสือต่างประเทศอีกนะ แต่ทำไมคนซื้อกันกระหน่ำ คอนเทนต์ไง คือพอเขามีชีวิตที่ดี เขามีเวลาคิดให้แตกได้ แล้วลงลึกในทางที่เชี่ยวชาญ หนังสือก็ออกมาดี นี่ไง เราถึงต้องเลี้ยงดูนักเขียนให้มีเกียรติ แต่บ้านเราตรงข้าม ราคาต้องถูกเพราะคิดว่าคนไทยจน แต่ที่จริงถ้าคุณภาพดีราคาเป็นเรื่องรองเลย แล้วผมถามหน่อย เวลาเรากินอาหารแพงๆ ทำไมกินได้ กาแฟหนึ่งแก้วร้อยกว่าบาททำไมกินได้ แต่หนังสือหนึ่งเล่มคนไทยบอกแพง จริงๆ มันไม่ใช่เรื่องของแพงไม่แพงนะ มันเป็นเรื่องของคุ้มไม่คุ้ม หนังสือเล่มละห้าร้อยบาทบางทีคุ้มมากเลย ผมใช้คำนี้คือ หนังสือราคาสูง แต่ไม่แพง
ทุกวันนี้คุณใช้เวลากับหนังสือเล่มมากกว่าหนังสือที่เป็นอีบุ๊กหรือเปล่า
ใช่ แล้วอย่างเทรนด์เมืองนอกปีที่แล้วเป็นเรื่องของ Off screen เรื่องของ Digital detox แล้วเราจะเห็นพวกมือถือ Dumb phone เช่นของโนเกียที่ทำออกมา นั่นเพราะมันมีตลาดเพิ่มขึ้น คนเริ่มปิดมือถือแล้วไปใช้ Dumb phone เพราะเขาพบว่ามันทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น ทำให้เขาจดจ่อได้มากขึ้น คือพอใช้มือถือประเภทนี้เขาจะรู้สึกว่าไม่ต้องพะวงกับการคอนเน็กตลอดเวลา ในทางเมืองนอกเขาเริ่มแล้ว และเขาก็กลับมาใช้ชีวิตที่เหมือนเมื่อก่อน
คนตั้งคำถามว่าทำไมสมัยก่อนคุณมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้ ทุกอย่างรอได้ อย่างเมื่อก่อนมีอะไรที เราบอกเดี๋ยวพรุ่งนี้ไปจัดการให้ แต่สมัยนี้ไม่ได้ บางทีห้าทุ่มเที่ยงคืนต้องส่งมาให้ได้ แล้วจริงๆ กระแสพวกนี้เราไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์หรือพยายามบาลานซ์ อย่างพวกมาร์เก็ตติ้งของบริษัทอินเทอร์เน็ตหรือโทรศัพท์ ก็ปฏิเสธไม่ได้ มันก็ต้องคอนเน็กตลอด ส่วนตัวผมก็ตั้งใจว่าจะเปลี่ยนไปใช้พวก Dumb phone แล้วนะ
“
บางทีสมาร์ตโฟนมันบั่นทอนพอสมควรเลย มันทำให้บางอย่างเราไม่เรียนรู้ที่จะรอ
”
อย่างร้านหนังสือของคุณ The Booksmith ก็ดี หรือ The Papersmith ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือที่มีราคาค่อนข้างสูง นิตยสารหัวนอก หนังสือศิลปะ หรือหนังสือเกี่ยวกับงานดีไซน์ นั่นเป็นโจทย์ของคุณแต่แรกแล้วหรือเปล่า
ใช่ คือจริงๆ เป็นความถนัด แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราขายแนวนี้ก็ต้องแนวนี้ไปตลอดนะ มันเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจด้วย เช่น ช่วงไหนเศรษฐกิจดี คอนโดฯ สร้างเยอะ หนังสือตกแต่งภายในก็ขายดี หรือตลาดบ้าน อสังหาฯ ขายดี หนังสือตกแต่งภายใน หรือเกี่ยวกับสวนก็จะขายดี แต่ถ้าเมื่อไหร่เศรษฐกิจมันซบเซา ใครจะมาซื้อหนังสือบ้านล่ะ หนังสือกลุ่มนี้ก็จะลดลง อย่างช่วงที่คนนิยมกินคลีน หนังสือทำอาหารเกี่ยวกับพวกนี้ก็จะขายดีมากเช่นกัน หรือช่วงหนึ่งคนนิยมการสโลว์ไลฟ์ หนังสือแนว Mindfulness หรือค้นหาแรงบันดาลใจจะก็ขายดี ซึ่งเดิมมันดีอยู่แล้ว ก็ดียิ่งขึ้น มันเป็นไปตามเศรษฐกิจและสังคม หนังสือหมวด Art&Design ของเราเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความสนใจของคนอ่านในขณะนั้น เช่น ช่วงหนึ่งหนังสือ Infographic ขายดีมาก หรืออย่างปีที่แล้วเป็นปีของ Typography บางช่วงคนก็นิยมอ่านวรรณกรรมคลาสสิก เราก็ต้องปรับ แต่ปรับบนแกนกลางของความเป็นเราอยู่
มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะอยู่กับของเดิมตลอด เพราะเราเองก็ต้องอยู่รอด จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเอาหนังสือแมสเข้ามาบ้าง เพราะก็ยังต้องเลี้ยงตัวเรา เลี้ยงพนักงานอยู่ เราต้องบาลานซ์ให้ธุรกิจเราไปได้และอยู่รอด เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถกำหนดได้ ถึงแม้ว่าเราเริ่มต้นจากโจทย์นี้ แต่เศรษฐกิจและสังคมมันเป็นตัวแปรให้เราต้องปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
แล้วในยุคที่คนเลือกซื้อเลือกอ่านในอีบุ๊กซึ่งสะดวกกว่า ในความคิดเห็นคุณทำไมคนยังต้องเดินเข้าร้านหนังสืออยู่
คือผมก็อ่านอีบุ๊กนะ บางเล่มผมคิดว่าอ่านบนอีบุ๊กดีกว่า หรือบางเรื่องก็ต้องมาอ่านหนังสือเล่ม คนอ่านจะรู้เองว่าลักษณะหนังสือประเภทไหน ฟอร์แมตไหนที่เราควรจะอ่านในอะไร อย่างเช่นที่ผมเริ่มไปอ่านอีบุ๊ก เพราะสมัยก่อนมันมีหนังสือ สตีฟ จ็อบส์ เล่มหนาๆ หนักมากเลย ผมนอนอ่านแล้วทำตกใส่ท้อง จุกเลย (หัวเราะ) แต่พอมาอ่านบน Kindle เราพบว่าสะดวกมาก อย่างนี้เป็นต้น เราจะรู้ว่าควรอ่านบนฟอร์แมตอะไร แต่ก็จะเจอข้อจำกัด เช่น เวลาเดินทางไปไหนมาไหนแล้วเขาปิดไฟมืด แล้วเราเปิดอ่าน มันไม่ค่อยถนัดเหมือนกันนะ
คือคุณก็ไม่ได้ปฏิเสธการอ่านอีบุ๊ก
ไม่ๆ ผมก็อ่านเหมือนกัน คือบางอย่างก็สะดวกกว่า ทีนี้กลับมาว่าทำไมคนต้องเดินเข้าร้านหนังสือ คือเวลาเราซื้อในออนไลน์ เราไม่เห็นว่ามันมีหนังสือใหม่อะไรบ้าง เห็นเฉพาะอัลกอริทึมที่เขาต้องการให้เราเห็น หรือ base on activities ที่เราเคยค้นหา แล้วขอโทษนะ บางทีคนเราเบื่อตัวเอง เราอยากเห็นอะไรใหม่ๆ อยากได้ความคิดใหม่ๆ พอเข้าไปดูในออนไลน์ก็เห็นแบบเดิม เขาให้เห็นหน้าที่เขาคิดว่ามันสวย แต่พอเข้าร้านหนังสือมันจับต้องได้ เปิดดูได้ ผมว่าการมาเดินช้อปปิ้ง ยังเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของมนุษย์ ใครบอกว่ามนุษย์ไม่เดินช้อปปิ้งแล้ว สั่งไปส่งบ้านอย่างเดียว ผมว่าถ้ามีวันนั้นจริงนี่ชีวิตมันเศร้ามากเลยนะ
อย่างการสั่งของซูเปอร์มาร์เก็ตมาส่งที่บ้านก็ใช่ ถ้าในแง่ที่เราใช้สิ่งของอะไรซ้ำๆ แต่กับแม่บ้าน เขาอาจจะบอกว่าไม่ ฉันมีคูปอง ฉันอยากไปเทียบราคาที่ไหนถูกกว่า คือมันก็มีบางคนที่เขารู้อยู่แล้วว่าเขาต้องการแค่นี้ ก็สั่งซื้อ แต่บางทีเราต้องการเดินดู เดินเลือก แล้วคือมนุษย์เป็นสัตว์สังคมใช่ไหม การออกไปพบปะผู้คน การออกไปเดินท่ามกลางผู้คนมันจึงเป็นธรรมชาติของมนุษย์
แล้วในบริบทรอบข้างที่นอกเหนือจากตัวคุณเอง การอ่านหนังสือเล่มส่งผลอย่างไรบ้าง
อย่างผมเวลาให้ลูกดูภาพหรือวิดีโอจากมือถือ เราสังเกตว่าแสงมันแรงมาก แล้วตาเขาจะนิ่งมาก แต่อย่างลูกผม ทุกคืนเวลาอาบน้ำเสร็จเขาจะไปเอาหนังสือมารอเราอยู่บนเตียง เขาอ่านไม่ออกนะ แต่เขาก็จะพลิกดูไปมา เขาสามารถนั่งอยู่อย่างต่ำได้ครึ่งชั่วโมงเลยนะ แล้วเรารู้สึกว่าโอเค มันเป็นภาพที่เราอยากเห็น ภาพที่เด็กเขาคุ้นเคยกับหนังสือ ทุกวันเขาก็จะไปเลือกหนังสือของเขามาเอง
เด็กอนุบาลบางโรงเรียนสอนให้เด็กใช้คอมพิวเตอร์ หรือบางโรงเรียนอย่างของลูกผมก็ไม่ได้พยายามให้เด็กใช้ เขาพาไปห้องสมุด ยืมหนังสือหนึ่งเล่มทุกวันจันทร์ อีกจันทร์หนึ่งก็ให้เอาไปคืนแล้วยืมเล่มใหม่ ผมเห็นลูกยืมมาบางทีนึกขำในใจ เขาหยิบหนังสือของสำนักพิมพ์เพนกวินซึ่งเป็นของต่างประเทศ แล้วเป็นอีกเลเวลหนึ่งเลย ซึ่งเขาก็อ่านไม่ออกสักคำ (หัวเราะ) แต่ก็ยังดี เขาก็เอามาให้เราอ่านให้ฟัง แล้วหนังสือเล่มเวลาเราอ่านไปแล้วอยากพลิกกลับมาอธิบายให้ลูกฟังมันก็ทำได้
ในฐานะเจ้าของร้านหนังสือ สำหรับคุณคิดว่าความฝันในการเปิดร้านหนังสือในยุคนี้ยังน่าหลงใหลอยู่ไหม
คือสมัยก่อนคนมักพูดว่าเปิดร้านหนังสือยาก ทำยาก ผมก็เคยเชื่อแบบนั้น แล้ววันหนึ่งผมก็คิดว่าที่คนพูดแบบนั้นมันกั๊กนี่หว่า มันไม่ได้ยากนี่ คนที่พูดอยากรวยคนเดียวนี่ (หัวเราะ) จริงๆ แล้วทุกธุรกิจมีความยาก แต่ในความยากจะมีโอกาสอยู่ อยู่ที่เราเห็นหรือทำไปจนเจอกับโอกาสมากแค่ไหน ไม่มีธุรกิจไหนที่ง่าย แต่ถ้าเรายอมแพ้ หรือไม่ทำต่อ พอคนบอกว่ายากก็ไม่เริ่ม เค้กก็มีคนกินเท่าเดิม ผมก็เคยคุยเล่นๆ กับเพื่อน มันบอกทำยาก แต่รวยทุกคน แสดงว่ามันมีจุดที่เขาเจอ เขาอาจจะขุดเจอตาน้ำของเขา แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะสบาย โลกมีสองด้านเสมอ
ผมยังคิดว่าถ้าคนรุ่นใหม่จะเปิดร้านหนังสือไม่ใช่เรื่องยากหรอก ขอแค่คุณมีประสบการณ์ชีวิต แล้วก็มีความตั้งใจจริงๆ อย่าให้เป็นแค่ภาพลวง อยากเท่ อยากชิล เพราะร้านหนังสือ หรือแม้กระทั่งการทำกิจการของตัวเอง ถ้าคุณบอกอยากทำงานน้อยลง คุณคิดผิด เพราะมันคือ 365 วัน 24 ชั่วโมงต่อวัน คุณจะเข้านอนด้วยปัญหากับคำถามที่ว่าพรุ่งนี้คุณจะอยู่ยังไง ฉะนั้น การเป็นพนักงานออฟฟิศไม่ผิด การเป็นเจ้าของธุรกิจก็ไม่ผิด แต่คุณต้องยอมรับว่าคุณต้องทำงานมากขึ้น มีความกดดันมากขึ้น ชีวิตไม่มีความแน่นอน
แล้วสำหรับคุณในฐานะเจ้าของร้านหนังสือ สิ่งชี้วัดความสำเร็จในการทำร้านคืออะไร
สำหรับผมการประสบความสำเร็จในการทำร้านหนังสือก็คือ วันหนึ่งผมสามารถลงจากหลังเสือได้สบายและไม่โดนมันกัด หรือวันหนึ่งผมเลิกโดยที่จบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง คือผมทำมาจนมันเลี้ยงชีวิตผม เลี้ยงชีวิตครอบครัวจนจบได้ วันหนึ่งผมเลิก แล้วใช้ชีวิตต่อไปได้นั่นคือเพอร์เฟ็กต์แล้ว หรือวันหนึ่งผมเลิกทำแล้วไปต่อได้ หมายถึงมีคนมาซื้อกิจการไปทำต่อ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ แต่ทุกวันนี้เปิดมา 5-6 ปี บอกว่าประสบความสำเร็จ ไม่มีหรอก ปีนี้อาจจะล้มเหลวก็ได้ มันไม่มีอะไรแน่นอน เพราะฉะนั้นวันไหนที่ผมเลิกแบบแฮปปี้เอนดิ้งก็จบ หรือมีใครมาขอซื้อกิจการไปแล้วผมแฮปปี้ก็จบ ผมวัดที่ตรงนั้นนะ แต่ทุกวันนี้ก็ยังเรียนรู้ผิดถูก ขับเคลื่อนธุรกิจไปเรื่อยๆ ทำอย่างไรให้มันเติบโต นั่นคือโจทย์
ทุกวันนี้ความสุขระหว่างคุณกับหนังสือเล่มคืออะไร
มันเหมือนผัวเมียนะ (หัวเราะ) บางทีเบื่อมาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ มันอธิบายไม่ถูก สมมติเราเบื่อแล้วเราทำเป็นไม่สนใจมัน อ้าว เรากลับคิดถึง บางทีเห็นแค็ตตาล็อกหนังสือส่งมาเต็มเลย โห ไม่อยากเปิดดูเลย แต่ก็อดไม่ได้ ต้องหยิบมาเปิดดู มันคิดถึง เราอยู่กับมันจนตื่นขึ้นมาก็เจอ เห็นอยู่ทุกวัน คือเปิดประตูห้องออกมาก็เจอชั้นหนังสือแล้ว บางทีเบื่อมากจนไม่เปิดคอมพิวเตอร์ ไม่เปิดหนังสือ ก็นั่งดูทีวี หรือออกไปเดินเล่นบ้าง นี่แหละ เหมือนผัวเมียตรงนี้ มีเบื่อ มีคิดถึง บางทีเราไปเที่ยวนานๆ หนึ่งอาทิตย์ สองอาทิตย์ เราก็จะมีความรู้สึกคันยิกๆ อยากกลับมาแล้ว อยากกลับมาเปิดหนังสือ เปิดแค็ตตาล็อกของเรา แต่พออยู่กับมันนานๆ ก็เบื่อมาก อยากหนีไปมากเลย เป็นอย่างนี้ตลอด (หัวเราะ)