“เติมอาหารจานใหญ่ใส่สมอง”
หลายคนอาจคุ้นหูกับประโยคข้างต้นจากรายการ ‘English Breakfast’ รายการสอนภาษาอังกฤษแทรกเนื้อหาข่าวสารสนุกๆ ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) และถ้าหากใครคุ้นหูกับประโยคข้างต้น แน่นอนว่าต้องคุ้นเคยกับพิธีกรประจำรายการที่รับบทเป็น ‘พี่คุกกี้’ ใส่หมวกเชฟทรงสูง ท่าทางกวนๆ บอกเล่าข่าวสาร เติมอาหารให้สมองทุกเช้าวันเสาร์ อาทิตย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 จนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2557
รู้ตัวอีกที จากสิ้นปี พ.ศ. 2557 ปีที่มีการทำรัฐประหารครั้งที่ 13 ของประเทศไทยก็ผ่านมานานหกปี รู้ตัวอีกที ‘พี่คุกกี้’ ก็ไม่ได้ใส่หมวกเชฟทรงสูงปรากฏตัวบนหน้าจออีกต่อไป หากปรากฏตัวร่วมกับผู้คนหน้าสถานทูตเยอรมันในวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ในครั้งนี้เขาไม่ได้รับบทบาทเป็นพิธีกรสอนภาษาแล้ว หากรับบทเป็นหนึ่งในตัวแทนจากคณะราษฎรที่ยื่นหนังสือต่อสถานทูตเยอรมัน
แม้ผ่านมาหกปีเราจะยังมีรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจเดิมจาก คสช. ที่ทำการรัฐประหาร ราวกับว่ากาลเวลานั้นหยุดเคลื่อนไหว ถูกแช่แข็งไว้นับจากปี พ.ศ. 2557 แต่หกปีก็นานพอกับการเติบโตทางความคิด ชีวิตจิตใจผู้คน รวมทั้ง ‘พี่คุกกี้’ หรือ วรินทร์ แพททริค แม็คเบลน ที่หลังจากหยุดทำรายการสอนภาษา ก็ได้ศึกษาต่อปริญญาตรีสาขาวิชาฟิสิกส์ ได้ไปฝึกงานร่วมกับองค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรปหรือ ‘เซิร์น’ (CERN) ปัจจุบันเป็นครูพิเศษสอนฟิสิกส์ ซึ่งหากไม่ติดโควิด ป่านนี้เขาคงกำลังศึกษาต่อด้านฟิสิกส์พลังงานสูง (High Energy Physics) ในต่างประเทศแล้ว
แต่หากใดใดที่เกิดขึ้นล้วนมีเหตุผลเสมอ การอยู่ในประเทศต่อไปในช่วงนี้ของแพททริคก็ทำให้เขาได้มีส่วนร่วมในการเกิดขึ้นของ ‘คณะราษฎรอินเตอร์ฯ’ (Khana Ratsadon International) กลุ่มที่รวมตัวกันเพื่อช่วยสนับสนุน สื่อสารข้อความจากคณะราษฎรให้กับชาวต่างชาติให้ทราบถึงการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญนี้ต่อไปในระดับสากล
หลายคนอาจแปลกตา จนถึงขั้นแปลกใจกับการได้เห็นบทบาทใหม่ของเขาจากพิธีกรสอนภาษา สู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้ หากเอาเข้าจริงนี่อาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะไม่ว่าจะบทบาทพิธีกรสอนภาษา ครูสอนวิทยาศาสตร์ หรือการเป็นกระบอกเสียงให้คณะราษฎรอินเตอร์ล้วนเป็นการทำงานเชิงความคิด เป็นการ ‘เติมอาหารจานใหญ่ใส่สมอง’ ไม่ต่างกัน
ลุ้นมากว่าจะได้คุยกันไหมหลังจากทราบว่าสามคนที่ไปยื่นหนังสือและผู้อ่านแถลงการณ์เป็นภาษาต่างๆ หน้าสถานทูตเยอรมนีวันนั้นอาจเจอหมายจับ
(หัวเราะ) เราค่อนข้างมั่นใจว่าเราจะไม่โดน นึกไม่ออกว่าเขาจะเอาเรื่องอะไรมาจับ ปรึกษาทนาย ทนายก็เกาหัวแกรกๆ ว่าจะจับด้วยข้อหาอะไร แต่ก็ตามที่ข่าวออกนั่นแหละว่าคนที่โดนหมายเรียกก็คือคนที่อ่านแถลงการณ์ ตอนแรกจะเป็นหมายจับ แต่ศาลปฏิเสธ เลยโดนหมายเรียกแทน เรียกมารับทราบข้อหา ม.116 เขาว่าการอ่านประกาศเป็นการยุยงปลุกปั่น เราก็สงสัยนะว่าอ่านประกาศมันยุยงปลุกปั่นยังไง ยังคุยขำๆ กับเพื่อนเลยว่าเขาจะจับด้วยข้อหาอะไร ข้อหาไปคุยกับคนอื่นเนี่ยนะ เขาคงมองว่าคนที่ยืนหน้าสถานทูตวันนั้นเป็นคนด่านหน้า ทั้งๆ ที่อย่างผมเองนี่แค่ออกไปยื่นหนังสือเงียบๆ เองนะ คนที่มาอ่านแถลงการณ์ภาษาต่างๆ ก็เป็นอาสาสมัครด้วยซ้ำ
ต่อให้มั่นใจแค่ไหนว่าไร้ความผิด แต่เราก็เห็นความไม่สมเหตุสมผลในการจับกุมตัวผู้ชุมนุมมาตลอด
มัน absurd มาโดยตลอด ในมุมหนึ่งมันก็ทำให้คนปลงนะ อารมณ์แบบถ้าจะขนาดนี้ จะออกหมายอะไรก็ออกเถอะ ผมมองว่าผมมีเซฟตี้เยอะกว่าคนอื่น มีสปอตไลต์มากกว่า เพราะเคยทำรายการทีวีมา เลยมีสื่อ นักข่าว ทนาย ที่พร้อมจะช่วยเหลือเรามากกว่า ในขณะที่คนที่เป็นอาสาสมัคร หรือนักศึกษาที่เขาทุ่มเทมาก ทำอะไรเยอะกว่าเราอีก แต่เขาไม่ได้มีตัวช่วยเยอะเท่าเรา ในแง่นี้ผมรู้สึกอยากทำอะไรให้มากกว่านี้ด้วยซ้ำ
อยากทำอะไรได้มากกว่านี้นี่อยากทำอะไร
ผมอยากสื่อสารกับคนข้างนอกประเทศให้ได้มากกว่านี้ อยากส่งเสียงว่าสถานการณ์ในไทยตอนนี้เป็นยังไง ผมมองว่า international coverage ในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ยังไม่เยอะเท่าที่ควร คือมันก็มีคนสนใจนะ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ ผมอยากใช้ความสามารถทางภาษามาเป็นกระบอกเสียงให้นานาชาติรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย
เลยเป็นสาเหตุให้เกิดคณะราษฎรอินเตอร์ขึ้นมา
กลุ่มคณะราษฎรอินเตอร์เริ่มจากมีรุ่นพี่คนหนึ่งที่เรียนอยู่ฝรั่งเศส เขาเห็นการประท้วงที่เกิดขึ้นในไทยแล้วรู้สึกอัดอั้น ตัวอยู่ไกล แต่รู้สึกต้องทำอะไรสักอย่างเลยเริ่มจากการไปทำคำร้องใน Change.org เนื้อหาคำร้องคือขอให้รัฐสภาเยอรมนีเข้ามาตรวจสอบข่าวลือต่างๆ ที่เราเคยได้ยินเกี่ยวกับรัชกาลที่สิบ ถึงกรณีที่เรียกได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ซึ่งหากข่าวลือเหล่านั้นเป็นจริงมันจะส่งผลกระทบต่อทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชน
การทำคำร้องไปที่เยอรมนีก็เพื่อให้เกิดการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะกฎหมายบ้านเรามีข้อจำกัดที่ไม่อนุญาตให้มีการตรวจสอบ พอตรวจสอบไม่ได้ ก็ไม่โปร่งใส แล้วเราก็หาความจริงไม่ได้ว่าข่าวต่างๆ นั้นเป็นจริงหรือเป็นเท็จ ซึ่งความไม่ชัดเจนนี้จะส่งผลเสียอย่างมากต่อสถาบันกษัตริย์ในระยะยาว เราเลยต้องยื่นข้อเสนอให้เยอรมนี ด้วยข่าวลือต่างๆ นั้นมีจุดกำเนิดจากที่นี่ และอีกเหตุผลคือประเทศเยอรมนีเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนมาก หลักการเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่ในมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐเยอรมนีว่าสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนพึงมีตามหลักสากล โดยได้ยื่นข้อเสนอว่าหากมีการละเมิดจริงขอให้ประกาศเป็น persona non grata หรือบุคคลที่ไม่ถึงปรารถนาทางการทูต โดยที่รัฐสภาของเขาสามารถพิจารณาได้ว่าจะตัดสินอย่างไร
จาก petition จุดไหนที่ทำให้สานต่อกลายมาเป็นคณะราษฎรอินเตอร์
ก็มีคนมาลงชื่อเยอะมาก ถึงจุดที่ โจชัว หว่อง ช่วยแชร์ต่ออีก เลยได้มาสองแสนกว่าชื่อ สื่อต่างๆ ก็ให้ความสนใจทั้ง BBC Thai หรือแม้แต่ BBC World ส่วนหนึ่งก็ต้องขอบคุณรัฐบาลด้วยที่เขามาบล็อกเว็บไซต์ คนเลยยิ่งสนใจเข้าไปใหญ่ เลยทำเล่นๆ ไม่ได้แล้ว เลยฟอร์มตัวกันขึ้นมาเป็นคณะราษฎรอินเตอร์เนชันแนล agenda แรกคือดันคำร้องนี้ไปให้ถึงรัฐสภาเยอรมนี ส่วนอีก agenda ที่สำคัญตอนนี้ก็คือการเป็นกระบอกเสียงให้นักข่าว ให้คนในต่างประเทศที่อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย เพราะที่ผ่านมายังไม่มีกลุ่มหลักที่จะช่วยรับผิดชอบตอบคำถามให้กับนักข่าวต่างประเทศ เราอยากจะมาช่วยเสริมจุดนี้ จะได้แบ่งเบาภาระจากแกนนำที่ต้องสื่อสารกับผู้ชุมนุมเป็นหลัก
นักข่าวต่างชาติสนใจประเด็นไหนเป็นหลักบ้างไหม
หลายเรื่องนะ เช่น มีนักข่าวแคนาดานอกจากจะถามถึงการชุมนุมในบ้านเรา เขาก็ยังสนใจเรื่อง Milk Tea Alliance พันธมิตรชานมด้วย เขามองว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในระดับภูมิภาค มันฉีกตำรารัฐศาสตร์ทุกอย่างที่เคยมี
คุณว่าความร่วมมือในระดับนานาชาติมันจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวครั้งนี้ในประเทศไหม
ผลกระทบแบบนี้มันมีมาเสมอในประวัติศาสตร์ อย่างปฏิวัติฝรั่งเศส ที่ส่งสัญญาณไปยังประเทศโดยรอบว่าถ้าราชวงศ์ไม่ปรับตัวจะเกิดปัญหานะ หรือยุคคอมมิวนิสต์ที่สหรัฐอเมริกาก็ยังกลัว Domino Effect ว่าหากประเทศใดเป็นคอมมิวนิสต์แล้วก็เป็นไปได้ที่ประเทศรอบข้างจะได้รับอิทธิพลคอมมิวนิสต์ไปด้วย หรือกรณี Arab Spring ที่เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านเผด็จการ ซึ่งเราก็เริ่มได้เห็นรูปแบบเดียวกันแล้ว เช่น ล่าสุดกับเทรนด์ทวิตเตอร์ #ຖ້າການເມືອງລາວດີ (ถ้าการเมืองลาวดี) ที่การเคลื่อนไหวครั้งนี้ในบ้านเรามันทำให้คนลาวเริ่มกล้าตั้งคำถามกับรัฐบาลเขาแล้ว ใครจะไปรู้ว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของอาเซียนสปริงก็ได้ ถ้าไทยสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ เราน่าจะส่งผล ripple effect ให้ประเทศโดยรอบได้
ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เราอาจจะเปลี่ยนสถานะจากคนป่วยแห่งเอเชีย เป็นผู้นำทางความคิดแห่งเอเชียเลยหรือเปล่า
เอาจริงถ้าเราทำได้ นี่อาจเรียกความเชื่อมั่นกลับมาให้ประเทศเราได้เลยด้วยซ้ำ อย่างกรณีพันธมิตรชานม เรารู้สึกว่าสารที่เราส่งไปให้พันธมิตรนานาชาติได้เห็นคือคนไทยรุ่นใหม่คิดได้ วิเคราะห์เป็น เขาไม่ได้เป็นหุ่นยนต์ที่ถูกล้างสมอง ถูกป้อนข้อมูล ตรงกันข้ามเลย เขาหาข้อมูล เขาเชื่อมโยงปัญหาที่เจอทุกวันกับปัญหาเชิงโครงสร้างประเทศด้วยซ้ำ เขาเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จนถึงจุดที่สามารถเล่นมุกเสียดสีกับมันได้ เราเชื่อว่านี่เป็นโอกาสในการแสดงให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ในประเทศไทยมีศักยภาพ
จากแต่ก่อนที่มีเสียงวิจารณ์ระบบการศึกษาบ้านเราว่าทำให้เด็กคิดไม่ได้ วิเคราะห์ไม่เป็น คุณคิดว่าอะไรที่ทำให้จู่ๆ คนรุ่นใหม่ก็เกิดการตื่นรู้ทางความคิดเชิงวิพากษ์ขึ้นมา
ผมอาจไม่สามารถตอบเชิงวิชาการได้ แต่ถ้าถามความเห็นส่วนตัวเลยนะ ผมมองว่าอินเทอร์เน็ตมีส่วนอย่างมาก ผมเกิดปีเดียวกับอินเทอร์เน็ตในปี ค.ศ. 1997 ตอนนั้นอินเทอร์เน็ตยังเข้าถึงไม่ง่ายเท่าทุกวันนี้ แพง ช้า ต้องมีอุปกรณ์ต่างๆ แต่เด็กรุ่นนี้เขาเกิดมาในช่วงที่อินเทอร์เน็ตมันได้รับการ democratise หรือทำให้เป็นประชาธิปไตยแล้ว เขาโตมาในยุคที่อินเทอร์เน็ตมันเรียกได้ว่าอยู่ในอากาศ สมาร์ตโฟน อุปกรณ์ต่างๆ ก็ราคาจับต้องได้ ใครๆ ก็ใช้อินเทอร์เน็ต ใครๆ ก็หาข้อมูลได้ สิ่งนี้มันเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมของเขาอย่างสิ้นเชิง ข้อมูลมหาศาลมันทำให้เขาเรียนรู้ที่จะจัดการแยกแยะข้อมูลว่าสิ่งไหนจริง ไม่จริง คนรุ่นก่อนหน้านี้ไม่ได้เกิดมาพร้อมข้อมูลมหาศาลขนาดนั้น แต่ก่อนคนคิดว่าอะไรที่มันเป็นข่าวแล้ว มันต้องมีมูลความจริงสิ แต่เด็กเขาเกิดมาพร้อมการรับรู้แล้วว่าไม่ใช่ทุกข่าวนะที่เป็นจริง มันมีสิ่งที่เรียกว่า Fake News อยู่ สมองเขาถูกฝึกให้ลับคม สงสัยไว้ก่อนมาโดยตลอด
ทักษะอย่าง Digital literacy มันเป็นธรรมชาติมากๆ ของคนรุ่นนี้ สังเกตสิเขาจับมือถือรุ่นไหน คอมพ์รุ่นอะไรก็พร้อมเล่นได้เลย เพราะเขาชิน แต่คนยุคก่อนต้องคอยบอกว่ากดปุ่มไหน ใช้งานยังไง
แล้วอย่างตัวคุณเองเกิดความคิดวิพากษ์กับเหตุบ้านการเมืองจากเหตุการณ์อะไร
เราชอบอ่านเรื่องประวัติศาสตร์มาแต่ไหนแต่ไร โดยเฉพาะเรื่องการเมือง ตอนแรกมันแค่ชอบ สนุกดี แต่ช่วงอยู่เตรียมฯ (โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา) ได้เจอเพื่อนคอการเมืองเลยยิ่งสนใจมากขึ้น ในกลุ่มเราก็มีขั้วหลากหลายมาก มีตั้งแต่ลิเบอร์รัลจ๋า ช่วงนั้นมีคนเชียร์กปปส. แต่ในกลุ่มเพื่อนมันเป็น mutual ground คุยกันด้วยข้อมูล เถียงกันได้ แต่ไม่เคยทะเลาะกัน
ช่วงที่เรียนมีเหตุการณ์สำคัญสองอย่างคือ การชุมนุม กปปส. ไปจนถึงรัฐประหารปี 57 ตอนนั้นเรารู้สึกถึงความไม่เมคเซนส์บางอย่าง เช่น กปปส .บอกว่ากำลังต้านโกง ทั้งๆ ที่ผู้นำเขาเองก็เคยโกง หรือปฏิรูปด้วยสภาประชาชน เราก็มีคำถามว่าจะเลือกตัวแทนอาชีพเข้ามายังไง เอาอะไรเป็นเกณฑ์ หรือที่เขาต่อต้านรถไฟความเร็วสูง บอกว่าเป็นรถขนผัก เราก็งงว่าขนผักแล้วไม่ดียังไง หนักสุดคือห้ามไม่ให้คนไปเลือกตั้ง จุดนี้คือเราว่าไม่ใช่แล้ว คุณบอกว่าคุณมีสิทธิ แต่เอาสิทธิตัวเองไปขวางผู้อื่น ไม่ได้สิ โดยเฉพาะการเรียกร้องให้ทหารออกมารัฐประหาร เขามองว่าการเมืองจะแก้ได้ด้วยรัฐประหาร ซึ่งไม่ใช่เลย ปัญหาในระบบก็ต้องแก้ด้วยกลไกตามระบบสิ ไม่ใช่เอาคนนอกมาล้างระบบแบบนี้ นี่มันเหยียบย่ำสิทธิคนในการจะเลือกผู้นำของเขาเอง พอเกิดรัฐประหารขึ้นจริงๆ คนก็บอกว่านี่คือความสงบ แต่ตรงข้ามเลย นี่มันคือการเอาปืนจี้ให้เงียบ และเอาจริงนะ สังคมประชาธิปไตยมันไม่มีหรอกความเงียบสงบ มันต้องส่งเสียง ต้องโต้แย้งได้บนพื้นฐานของสันติวิธี แต่รัฐประหารมันปิดปากเลย แล้วบอกว่านี่ไง เงียบแล้ว สงบแล้ว แต่มันไม่ใช่เลย
ตั้งแต่ตอนนั้นเราเริ่มเห็นคนออกมาต้านรัฐประหาร ทั้ง รังสิมันต์ โรม, ไผ่ ดาวดิน รวมทั้งคนเสื้อแดง คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่มาก่อนกาล พวกเขาฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ เชื่อว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน เราต่างหากที่ติดค้างพวกเขา เราไปกดทับความคิด ไปเอาชีวิตเขา เพียงเพราะเขาชัดเจนในสิ่งที่เขาเชื่อ เรารู้สึกว่าครั้งนี้เป็นบทสรุปของรัฐประหารที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2549 การต่อสู้ระหว่างเหลืองแดง การข่มขู่คนที่ออกมาเรียกร้องเรื่องประชาธิปไตย มันถึงจุดที่คนทนไม่ไหวแล้ว ไม่มีอะไรหยุดได้แล้ว ต่อให้รัฐบาลจะปราบปรามการชุมนุมโดยเด็ดขาด ยังไงคนก็ไม่หยุด ตอนนี้ความคิดเรื่องเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพมันฝังแน่นในความคิดคนแล้ว ถ้าวันนี้เกิดรัฐประหาร ทหารจะไม่ได้รับดอกไม้แล้ว คนจะออกมาด่า ต่อต้าน เพราะเขาเห็นแล้วว่าการแก้ปัญหามันใช้วิธีแบบนี้ไม่ได้
เหมือนกระบวนการวิทยาศาสตร์ที่เมื่อสมการใดถูกพิสูจน์แล้วว่าใช้ไม่ได้ผล ทฤษฎีนั้นก็จะถูกปัดตกไป
คนเห็นแล้วว่ารัฐประหารไม่เคยแก้ปัญหาได้ มันผิดทั้งวิธีการ และไม่นำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ ผมมองว่าวิธีที่ดีที่สุดตอนนี้คือรัฐบาลต้องตั้งโต๊ะเจรจาพูดคุย แต่ต้องเป็นโต๊ะที่เสมอภาคจริงๆ นะ การประชุมที่ดีมันไม่มีคนนั่งเก้าอี้สูง พูดอยู่คนเดียวหรอก ทุกคนต้องพูดได้ เสนอได้เพื่อหาทางออกร่วมกัน แต่ถ้าเขายังใช้วิธีปราบ ตามจับผู้ชุมนุมไปเรื่อยๆ สุดท้ายความโกรธจะเพิ่มขึ้น แกนนำจะเพิ่มมากขึ้น ปราบม็อบนี้ มีม็อบใหม่ จับคนนี้ มีคนใหม่ เขายังไม่เชื่อคำว่า ‘ทุกคนคือแกนนำ’ ในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ เขายังเชื่อว่าการชุมนุมใหญ่ระดับนี้ต้องมีคนอยู่เบื้องหลังแน่ๆ
เช่น สหรัฐอเมริกาอยู่เบื้องหลัง
(หัวเราะลั่น) โอย อเมริกายังเอาตัวเองไม่รอดเลยยุคนี้ เขาวุ่นกับการเลือกตั้งของเขา ไหนจะโควิด เศรษฐกิจตกต่ำ เขาจะมายุ่งกับเราทำไม เอาจริงนะ มันไม่เมกเซนส์แต่แรกแล้วมั้ยที่ทรัมป์ออกมาชื่นชมพลเอกประยุทธ์ มันเห็นอยู่แล้วว่าตอนนี้อเมริกาอยู่ฝั่งไหน ดังนั้น การที่จะบอกว่าอเมริกาอยู่เบื้องหลังผู้ชุมนุมมันตลกอะ
มีความเข้าใจผิดอะไรอีกบ้างที่คุณมองว่ามัน ‘ไม่เมกเซนส์’
ผมอยากจะชวนคนที่ยังสงสัยอยู่ได้เข้ามาสัมผัสม็อบสักครั้ง เขาจะได้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้อยากจะล้มเจ้า การปฏิรูปนั้นจะช่วยให้สถาบันกษัตริย์อยู่ได้อย่างสง่างามด้วยซ้ำ ได้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างเหมาะสม มีงบประมาณจัดให้ตามควร ตรวจสอบได้ ดำรงอยู่เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจ เพื่อปกเกล้า มันเป็นการปรับให้ดีขึ้น สง่างามขึ้นมากกว่า
แต่ถ้าถามว่ามีคนอยากเปลี่ยนระบอบไหม ก็อาจมี แต่นี่คือสังคมประชาธิปไตย เราก็ต้องให้พื้นที่กับทุกเสียง ที่สำคัญคือต้องรู้ว่าเวลาพูดถึงการเปลี่ยนระบบในยุคนี้ คนรุ่นใหม่เขาไม่ได้มองวิธีการเดียวกับคนรุ่นก่อนที่ยังติดกับภาพสงครามเย็นอะไรเทือกนั้นว่าการเปลี่ยนแปลงมันต้องเป็นแบบยุคเหมาเจ๋อตุง แบบโรมานอฟ คนรุ่นนี้เขาไม่ได้คิดถึงการใช้อาวุธทำลายล้าง หรือเข่นฆ่าแล้ว วิธีการของคนรุ่นใหม่คือการใช้ประชามติ การถามว่าผู้คนร่วมด้วยไหม นี่คือวิธีการที่เปลี่ยนไปแล้วที่เขาต้องเข้าใจ รวมทั้งต้องเข้าใจด้วยว่าถ้ามีคนบอกว่าไม่เห็นด้วยกับสถาบันกษัตริย์จริงๆ มันก็เป็นอีกเสียงหนึ่งของผู้คนที่สังคมประชาธิปไตยต้องให้พื้นที่ เราต้องตั้งหลักก่อนว่าความคิดนี้มันผิดจริงๆ หรือ ในอังกฤษเองก็มีคนออกมาบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการมีอยู่ของราชวงศ์ แต่ถามว่ามีใครไปด่า ไล่เขาออกนอกประเทศ หรือดำเนินคดีกับเขาไหม มันไม่มี
ผมย้ำคำพูดคนส่วนใหญ่ว่าการปฏิรูปไม่ใช่ล้มล้าง แต่ต่อให้มีความคิดใครที่เขาไม่เห็นด้วยจริงๆ คุณก็แค่ต้องยอมรับว่าเขาคิดได้ ไม่ใช่มาโต้กลับเขาด้วยอารมณ์ ด่าว่าชังชาติ แย้งกลับว่าเราเป็นแบบนี้มานานแล้ว เราต้องเป็นแบบนี้ต่อไป ถ้าจะใช้ความนานเป็นการอธิบาย จีนนี่ระบบเดิมอยู่มาสี่พันกว่าปี ถ้าจะอธิบายในแง่นี้ จีนระบอบเดิมเขาอยู่มาสี่พันปี เขายังเปลี่ยนระบอบได้เลย
ความรู้วิทยาศาสตร์เองก็มีการถูกตั้งคำถาม ปรับทฤษฎีด้วยความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
ในวงการวิทยาศาสตร์ คนรู้กันอยู่แล้วว่าเพียงเพราะมันเคยถูกเชื่อว่าเป็นเช่นนั้นไม่ได้แปลว่ามันถูกต้องเสมอไป อย่างสมัยก่อนเชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้บันดาลให้วัตถุเคลื่อนที่ได้ นิวตันก็มาพร้อมข้อพิสูจน์ใหม่ว่าวัตถุเคลื่อนที่เพราะแรงโน้มถ่วง ไอน์สไตน์ก็มาอธิบายด้วยความรู้ใหม่อีกว่าวัตถุเคลื่อนที่เพราะอวกาศบิดโค้ง คือความรู้มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเลย สิ่งที่เคยใช้ได้ในยุคสมัยหนึ่ง ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นเช่นนั้นไปตลอดกาล
ระบบบ้านเรามันไม่เคยผ่าน stress test หรือการทดสอบว่าระบบนั้นทนสภาวะกดดันได้หรือไม่ อย่างเวลาวิศวกรจะตรวจสอบระบบหนึ่งว่ามีจุดอ่อนหรือไม่ เขาจะต้องนำระบบนั้นผ่านความกดดันต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าระบบนั้นไม่มีช่องโหว่ใดๆ แต่เราไม่เคยถูกการทดสอบ ที่ผ่านมาในรัชกาลที่เก้า เมื่อตัวบุคคลเป็นที่รัก เป็นที่ศรัทธา เราก็มองว่าสถาบันนั้นอยู่ได้ แต่พอมาถึงรัชกาลที่สิบ เราเริ่มพบช่องโหว่ของระบบนี้กัน แสดงว่าระบบนี้จะดีหรือไม่ดีขึ้นกับตัวบุคคล อย่างนี้ระบบก็ไม่ได้ถูกต้องอย่างสมบูรณ์สิ เพราะถ้าระบบนี้ใช้ได้จริง ไม่ว่าจะเปลี่ยนตัวแปรเป็นบุคคลไหนก็จะไม่น่ามีปัญหา ถึงได้บอกว่าการปฏิรูปจะส่งผลดีในระยะยาว ในแง่ที่ว่าไม่ว่าใครจะขึ้นมาสืบทอดต่อ จะมีบารมีเท่ากันไหมจะไม่ใช่ปัญหาเลย
ความเป็นลูกครึ่งอังกฤษส่งผลต่อความสนใจของคุณในเรื่องนี้ไหม ด้วยความที่เป็นต้นแบบระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
การที่คุณพ่อเป็นคนอังกฤษน่าจะส่งผลหลักๆ เรื่องการศึกษามากกว่า การที่เราได้ภาษามันทำให้เรารับสื่อได้กว้าง รวมทั้งการเดินทางไปต่างประเทศมันก็ทำให้เห็นปัญหาในบ้านตัวเองชัดขึ้น ไม่ได้แปลว่าที่อื่นไม่มีปัญหานะ เขาก็มีปัญหาเหมือนกัน บางเรื่องเราทำได้ดีกว่าเขาด้วยซ้ำ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องหยุดพัฒนา แต่คุณจะไม่ทำตัวเองให้ดีขึ้น เพียงเพราะคนอื่นเขามีปัญหาหรอ ไม่สิ คุณรู้ปัญหาคุณ คุณก็แก้เรื่องของคุณสิ
อิทธิพลจากคุณพ่ออีกเรื่องน่าจะเป็นการที่เขาก็มาจากตระกูลกรรมาชีพ คุณพ่อเป็นคนที่เรียนสูงที่สุดในครอบครัว ซึ่งก็คือปริญญาตรี เขาเลยให้ความสำคัญกับการศึกษามาก เพราะเขาเห็นกับตัวว่ามันส่งผลต่อชีวิตคนคนหนึ่งแค่ไหน นอกจากอิทธิพลจากคุณพ่อ ความสนใจในประวัติศาสตร์ของเราเอง ตอนเด็กผมโตมากับแม่บ้านชาวอีสานอีกสองคน เขาทำให้ผมเห็นโลกไกลกว่าบับเบิลของเราเอง ผมขอบคุณความโชคดีของตัวเองที่ได้รับการศึกษาดี ได้ภาษา ได้เติบโตมากับคนที่ทำให้เห็นว่าไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึงความโชคดีแบบนี้ แต่ความสนใจการเมืองมันก็ทำให้เห็นว่ามันมีวิธีที่จะกระจายทรัพยากรได้ มันเลยน่าหงุดหงิดที่มันไม่เกิดขึ้นเสียที
การที่เราโตมาแบบนี้ มันเลยทำให้เห็นว่าการเมืองส่งผลโดยตรงกับชีวิตเรา คนที่บอกว่าการเมืองไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต มันเป็นเพราะเขาโชคดีพอที่การเมืองมันจะไม่กำหนดคุณภาพชีวิตเขาโดยตรง แต่คนอื่นไม่ได้โชคดีแบบนั้น คนที่ยากจนนี่เขารู้ดีว่าสวัสดิการรัฐมันส่งผลต่อชีวิตเขาแค่ไหน ฉะนั้น การที่คุณโชคดีแต่ไม่สนใจ ไม่ลุกขึ้นมาช่วยแล้ว ยังไปอุดปากคนที่มีพริวิลเลจน้อยกว่าอีก ไปบอกว่าเขาสร้างความวุ่นวาย ไปบอกเขาว่าประเทศดีอยู่แล้ว จะมากวนน้ำให้ขุ่นทำไม ไปวาดภาพชนบทว่าสวยงาม ไม่ต้องไปพัฒนาหรอก มันไม่ใช่อะ
ไม่ช่วยไม่ว่า แต่อย่างน้อยที่สุดต้องอย่ากีดกัน กดทับ
(ถอนหายใจ) ตอนที่มีคนออกมาบอกว่าคนส่วนใหญ่การศึกษายังไม่ดีพอที่จะออกแบบประเทศนี่โกรธมาก หนึ่งเลยคือคุณค่าคนไม่ได้วัดกันจากปริญญา และสองยิ่งคุณมีโอกาสมากกว่า คุณยิ่งต้องไม่คิดแบบนี้ คุณยิ่งต้องเห็นว่าการที่คนคนหนึ่งเข้าไม่ถึงการศึกษานั้นไม่ใช่ปัญหาส่วนบุคคล แต่เป็นปัญหาระดับประเทศที่เขาไม่ได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐาน การกระจายทรัพยากรมันไม่เท่าเทียม
ผมมองว่าความรับผิดชอบต่อสังคมมันไม่ใช่ทางเลือก โดยเฉพาะถ้าคุณมีพริวิลเลจมาก คุณยิ่งมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบมาก เพราะนั่นแสดงว่าคุณได้รับประโยชน์จากสังคมมามาก คุณยิ่งต้องตอบแทนกลับคืนให้มากกว่าเดิมอีก อย่างล่าสุดที่มีกระแสเรียกร้องให้คนมีชื่อเสียงออกมาสือสารเรื่องสังคม คุณต้องรู้ว่าคุณมีชื่อเสียงได้เพราะมีคนติดตามคุณ แปลว่ารายได้หลักคุณมาจากผู้คน ฉะนั้น ถ้าเขาขอให้คุณช่วยออกมาพูด ผมมองว่าสิ่งที่คุณควรทำคือช่วยรับบทบาทนั้น มันเลยเกิดคำถามจากสังคมเวลาคนกลุ่มนี้เงียบ เพราะเขาไม่ใช้พริวิลเลจของเขาในการช่วยสื่อสารแทนสังคมเลย
แล้วถ้าเขาบอกว่าเป็นสิทธิของเขาในการเงียบละ
ก็โอเค เป็นสิทธิของเขาจริง และก็เป็นสิทธิของผู้คนที่จะเลิกติดตามเช่นกัน การพูดมีราคาที่ต้องจ่าย และการไม่พูดก็มีราคาที่ต้องจ่ายเช่นกัน
แล้วกับคนที่มองว่าเด็กถูกยุยง ปลุกปั่น คุณจะอธิบายอย่างไรในมุมของนักวิทยาศาสตร์ที่ความเชื่อต้องตั้งอยู่บนหลักตรรกะเหตุผล
ยกตัวอย่างสังคมทวิตเตอร์ละกัน นี่เป็นสังคมที่ความคิด ข้อมูล หลักการของคุณจะถูกตรวจสอบตลอดเวลา คนรุ่นนี้เขาไม่สมาทานกันที่ตัวบุคคลแล้ว เขาไม่สนว่าจะเป็นธนาธร หรือปิยบุตร ถ้าสองคนนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ถูกแต่งตั้งขึ้นมาเขาก็ไม่เอาอยู่ดี ในทวิตเตอร์นี่ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ถ้าผิดหลักการหรือ ‘บ้ง’ ขึ้นมาเมื่อไร คนพร้อมเถียงทันที ถ้าผิด เขาพร้อมขอโทษ มันมีเคสแบบนี้เกิดขึ้นเสมอ เช่น ครั้งหนึ่งที่ธนาธรมาแรง มีรูปธนาธรกินข้าวกล่อง ใส่ชุดซ้ำๆ ก็เริ่มมีคน hype กันว่าติดดิน ก็จะมีคนมาเบรกว่าไม่ได้สิ เราต้องไม่ยึดภาพลักษณ์บุคคล เราต้องดูหลักการเขา หรือฝ่ายประชาธิปไตยบางคนที่ออกมาพูดเรื่องเพศในทางที่ผิดหลักการ ก็จะมีคนออกมาโต้แย้งทันที คนรุ่นนี้เป็นอย่างนี้ เขาไม่เออออง่ายๆ เพียงเพราะชอบใครแล้ว เขาสนใจที่หลักการ ฉะนั้นคำว่ายุยงปลุกปั่นมันไม่ใช่แล้ว เราผ่านยุคบุคคลมาแล้ว ตอนนี้การเคลื่อนไหวมันเป็นศึกความคิด
คนรุ่นนี้เขาแย้งกันด้วยหลักฐาน ฉะนั้น ถ้าคุณเถียงเขาในระดับอารมณ์มันไม่ได้แล้ว จะมาบอกว่าเราติดค้างบุญคุณเพราะโครงการหลวงสี่พันโครงการ มันไม่ได้แล้วไง เขาจะถามต่อว่าเกณฑ์การนับแต่ละโครงการนับยังไง สร้างหนึ่งฝายนับหนึ่ง ซ่อมอะไรสักอย่างนับสอง ถามต่อว่าผลกระทบของโครงการที่ลงทุนไปมันคุ้มกับสิ่งที่ได้คืนมาไหม หรือมองไปถึงระบอบโครงสร้างว่าจริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องมีโครงการพวกนี้ก็ได้ถ้ารัฐบาลทำหน้าที่นี้ ถ้าการกระจายทรัพยากรมันเท่าเทียม ผู้คนได้รับสวัสดิการพื้นฐานตามที่ควรได้รับจากภาษีของเขาอยู่แล้ว
จากที่เป็นผู้สังเกตการณ์อยู่ห่างๆ ในยุคที่คุณทำ English Breakfast ก็มีเล่าข่าวสนุกๆ เป็นภาษาอังกฤษบ้าง พอกลายมาเป็นผู้เล่น เป็นผู้ตกอยู่ในข่าวเสียเอง รู้สีกอย่างไร
ดีใจที่ได้มีส่วนร่วมนะ แม้จะน้อยนิดมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่หลายคนทำอยู่ เราชื่นชมกับคนที่ต่อสู้เรื่องนี้มายาวนาน รวมทั้งนักกิจกรรมรุ่นใหม่ที่ลงมามีส่วนร่วมเต็มตัวมากๆ ตอนนี้เราทำเท่าที่ทำได้ เป็นไอ้อ้วนช่วยถือโทรโข่งแปลภาษา แต่ถ้าเราจะช่วยอะไรได้มากกว่านี้ เราจะยินดีมากเลย
ได้ข่าวว่าจริงๆ ช่วงนี้คุณต้องไปศึกษาต่อต่างประเทศแล้ว ถ้าไม่มีโควิด-19 ตอนนี้คุณจะทำอะไรอยู่
ใช่ จริงๆ ยื่นเรียนต่อปริญญาโทได้แล้วแต่ติดทั้งเรื่องทุน และโควิด-19 ด้วย สาขาที่เลือกเรียนต่อคือ High Energy Physics หรือฟิสิกส์พลังงานสูงที่โฟกัสไปยังฟิสิกส์เชิงอนุภาค ฟิสิกส์ที่เราคุ้นเคยกันสมัยม.ปลายจะเป็นเรื่องของวัตถุที่ไม่เร็วมาก มองเห็น จับต้องได้ แต่ฟิสิกส์พลังงานสูงจะมองผ่านกรอบคิดของฟิสิกส์แบบนั้นไม่ได้ มันไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ พลังงานระดับนี้ได้ ก็เลยเกิดเป็นสาขานี้ขึ้นมา ซึ่งเป็นสาขาที่กำลังได้รับความสนใจมากๆ เต็มไปด้วยคำถามปลายเปิดตลอด
ความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์พลังงานสูง จนถึงขั้นได้ไปฝึกงานที่ CERN ช่วงสมัยเรียน มีความเกี่ยวข้องอะไรกับความสนใจด้านการเมืองไหม
คนมักมองว่าวิทยาศาสตร์กับสังคมศาสตร์เป็นเหมือนน้ำกับน้ำมัน เป็นคนละสสาร แต่อย่างที่บอกว่าถ้าการเมืองดีมันจะส่งผลต่ออะไรหลายอย่าง รวมทั้งการที่รัฐบาลจะหันมาให้ความสำคัญกับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ
ตอนนี้เรามีแค่โรงเรียนมหิดลวทิยานุสรณ์กับโรงเรียนกำเนิดวิทย์ที่เน้นเรื่องวิทยาศาสตร์ แต่ในโรงเรียนทั่วไป การศึกษาวิทยาศาสตร์ยังเป็นแค่หนึ่งในวิชาที่เด็กต้องเรียนเพื่อไปสอบ ทั้งๆ ที่วิทยาศาสตร์มันว้าวมากเลยนะ มีคนบอกว่าเด็กทุกคนเกิดมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งการศึกษาในระบบบีบเอาความเป็นนักวิทยาศาสตร์ออกจากตัวเขาไปหมด เด็กโดยธรรมชาติเต็มไปด้วยความสงสัย อยากรู้อยากเห็น เขาตื่นเต้นกับโลกรอบตัวตลอด เห็นแม่เหล็กติดกันได้ก็อยากรู้ว่ามันดูดกันได้ไง แต่แทนที่เราจะเติมเชื้อไฟความเป็นนักวิทยาศาสตร์ของเขา เรากลับดับมันสนิทด้วยการลดทอนวิทยาศาสตร์ให้เป็นแค่เรื่องตัวเลข สมการ มีคำตอบเดียว ต้องจำเพื่อเอาไปสอบ ทำให้ความน่าสนใจ ความน่าตื่นเต้นของวิทยาศาสตร์มันหายไปหมด
#ถ้าการเมืองดี วิทยาศาสตร์จะดีขึ้นได้อย่างไร
ถ้าการเมืองดี รัฐจะสนใจสนับสนุนงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เขาจะเชื่อว่าวิทยาศาสตร์คือการลงทุนระยะยาว เราไม่รู้หรอกว่างานวิจัยนั้นจะออกผลงอกงามเมื่อไหร่ การที่เขาวิจารณ์ว่างานวิจัยมันมีแต่ขึ้นหิ้งๆ จริงๆ มันไม่ได้ไร้ค่านะ เทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีคนทำงานวิจัยมาก่อนทั้งนั้น
มีตำนานหนึ่งในวงการวิทยาศาสตร์คือ ไมเคิล ฟาราเดย์ เขาผลิตเครื่องปั่นไฟได้จากการสังเคราะห์ความรู้เรื่องสนามแม่เหล็ก สนามไฟฟ้า การเหนี่ยวนำ นายกฯ อังกฤษมาดูตอนนั้นก็ถามว่าเจ้าเครื่องนี้ทำอะไรได้ มีประโยชน์อะไร ฟาราเดย์เลยถามกลับว่าแล้วทารกที่เพิ่งเกิดมีประโยชน์อะไร คือการลงทุนหลายอย่างเราไม่เห็นผลของมันโดยทันทีหรอก
ยกอีกตัวอย่างที่คนไม่รู้คือทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปโดยไอน์สไตน์ที่บอกว่าสนามโน้มถ่วงทำให้เวลาเดินช้าลง ตอนนั้นผู้คนก็คงแบบว่าก็ดีนี่ แล้วไงต่อ แต่กลายเป็นว่าวันนี้เรามีเทคโนโลยีตัวหนึ่งที่ใช้ผลจากความรู้นี้ชัดๆ เลยคือ GPS คือผลของสนามโน้มถ่วงต่อความยืดของเวลามันมีผลน้อยมากกับเรา แต่มันมีผลต่อดาวเทียม GPS ที่ทำให้การอ่านตำแหน่งผิดเพี้ยนได้ คนที่ทำดาวเทียมจึงต้องใส่ตัว calibrate เพื่อให้เวลาบนดาวเทียมตรงกับเวลาของเรา ถามว่าเขาใช้อะไรมาปรับเวลา เขาก็ใช้ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปที่ไอน์สไตน์คิดค้นเมื่อร้อยปีที่แล้วนี่แหละ ผมเลยบอกว่าการวิจัยทางวิทยาศาสตร์คือการลงทุนเพื่ออนาคต ความรู้บางอย่างมันล้ำกว่าที่เราจะเข้าใจและใช้ประโยชน์จากมันได้ทันที แต่เวลาผ่านไป เมื่อปัจจัยอื่นๆ พร้อม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีล้วนมีพื้นฐานจากงานวิจัยเหล่านี้ทั้งนั้น
ฉะนั้น การที่รัฐมนตรีคนหนึ่งออกมาบอกว่าอย่าไปคิดอะไรที่เป็นไปไม่ได้ โอย งานวิทยาศาสตร์สอนให้เรายุ่งกับเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ทั้งนั้น หน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์คือการขยายขอบเขตความรู้ไปเรื่อยๆ
ในแง่เดียวกัน การเคลื่อนไหวครั้งนี้ก็เป็นการลงทุนทางความคิดระยะยาวที่อาจไม่ได้เห็นผลในทันที แต่มันจำเป็นเช่นกัน
ใช่ ตอนนี้เรากำลังทำงานด้านความคิดกันอยู่ การเปลี่ยนแปลงก้าวแรกที่สำคัญได้เกิดขึ้นแล้วคือผู้คนตระหนักว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน คนทุกคนเท่ากัน นี่คือหลักการความคิดที่ฆ่าไม่ตาย การต่อสู้ครั้งนี้มันสู้ถึงรากความคิดระดับนั้น ฉะนั้นเวลาใครบอกว่าหมดหวัง ไม่เห็นผลอะไร ผมจะบอกเสมอว่านี่คือดีมากๆแล้ว แต่ก่อนมันมืดกว่านี้ด้วยซ้ำ ตอนที่คนยังไม่ตระหนักถึงหลักการพื้นฐานนี้เลย
ความคิดคือการลงทุนระยะยาว และความจริงก็คือไม่มีพลังงานไหนที่สูญเปล่า
ผมนึกถึงหนังเรื่อง Inception เขาบอกว่าตัวพยาธิที่ทนทานที่สุดคือไอเดีย มันเป็นอะไรที่ติดง่าย highly contagious ส่งต่อกันง่าย และความคิดมันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ เมื่อมันความคิดมันเกิดขึ้นแล้ว มันฆ่าไม่ตาย มันไม่หายไปไหน
หมายเหตุ: สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563