หมอก๊ก

‘หมอก๊ก’ – พีรพล ภัทรนุธาพร I เพราะความกลัวจะอยู่ในจิตใจตั้งแต่เช้าจรดเย็น และจะอยู่อย่างนั้นไปจนวันตาย

‘กลัว’ คำพูดสั้นๆ แต่สั่นสะท้านไปทั้งหัวใจ รวดร้าวราวกับไฟที่มอดไหม้เครื่องในตับไตไส้พุง และพร้อมที่จะย่อยสลายร่างกายของเราให้หายไปในพริบตา แต่เชื่อหรือไม่ว่า ในความเจ็บปวดขั้นนั้น ยังมีความจริงที่เราปฏิเสธไม่ได้ซ่อนอยู่อีกมากมาย ดังที่ ‘หมอก๊ก’ – พีรพล ภัทรนุธาพร จิตแพทย์และนักเขียนเจ้าของนามปากกา ‘ผมอยู่ข้างหลังคุณ’ ผู้เพิ่งออกหนังสือเล่มใหม่ในชื่อ โลกหมุนรอบกลัว ที่ได้ค้นคว้าและศึกษาเรื่องราวของความกลัว จนเจอกับความน่าสนใจของคำว่าความกลัว และค้นพบว่าแท้ที่จริงแล้ว ความกลัวไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เรารู้สึกและเข้าใจเสมอไป

หมอก๊ก

 

ทำไมหนังสือเล่มล่าสุดถึงเขียนเรื่อง ‘ความกลัว’

     เมื่อเดินเข้าร้านหนังสือ เราก็จะพบกับหนังสือที่เกี่ยวกับความรัก ความสุข ความเศร้าอยู่เยอะมาก แต่เรื่องความกลัวนั้นมีน้อย ทั้งๆ ที่เป็นความรู้สึกพื้นฐานที่อยู่กับทุกคนตั้งแต่เกิดจนถึงตาย ทั้งยังมีส่วนผลักดันให้กับคนเราทุกมิติ ความกลัวเกี่ยวข้องกับความสุขและความรัก ทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นหรือแย่ลง ทั้งยังมีผลต่อสังคม

     อีกอย่างผมมองว่าคนยังเข้าใจผิดเรื่องสิ่งที่ตรงข้ามกับความกลัวคือความกล้า สิ่งนี้มันแค่ทำให้ก้าวข้ามจุดที่กลัวเพื่อทำอะไรสักอย่าง แต่ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า นั่นคือชีวิตที่จะมีความสุขขึ้น เฮลตี้ขึ้น หรือตัดสินใจได้ดีขึ้น มันก็แค่เราก้าวออกจากความกลัว 

 

ทำไมสิ่งที่ตรงข้ามความกลัว จึงไม่ใช่ความกล้า

     ในมุมของผม สิ่งที่เรารู้จักจากความกลัวคือ การอยู่ร่วมกับความกลัว และไม่ใช่กล้า เพราะบางทีความกล้าก็พาเราไปตายแบบโง่ๆ ได้ เช่น เวลาเข้าป่าแล้วเดินดุ่มๆ เข้าไปโดยไม่กลัวอะไรเลย สุดท้ายโดนสิงโตกัดตาย พอเห็นภาพไหม?

 

อาการกลัวแบบไหนคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณหมอสนใจเรื่องความกลัว

     ความกลัวมันกว้างและมีหลายแขนง โดยส่วนตัวผมชอบหนังผีแนวสยองขวัญ ผมจึงฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า หนึ่งในความกลัวของคนก็คือกลัวผี อย่างความกลัวสัตว์ร้ายต่างๆ นั่นคือความกลัวที่เข้าใจได้ เพราะเราเคยเห็น และเมื่อเข้าใกล้มันก็คุกคามเราจริงๆ มันมีอยู่จริงและเราก็กลัว แต่ผีนี่เราไม่เคยเจอ และหาคนเจอได้น้อยมาก เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ แต่เป็นสิ่งเดียวที่กลัวกันมาหลายชั่วคน หรือกลัวชีวิตหลังความตาย เช่น ตายแล้วไปนรก สวรรค์ ซึ่งเราก็ไม่เคยเห็น หรือไม่เคยมีใครตายแล้วกลับมาเล่าให้ฟังเป็นเรื่องราวจริงๆ แต่เราก็กลัว คำถามต่างๆ เหล่านี้ทำให้ผมสนใจเรื่องความกลัว ชีวิตหลังความตาย นั่นทำให้ผมไปศึกษาเพิ่มเติม และพยายามมองในมุมจิตเวช โดยรวบรวมองค์ความรู้ทางการแพทย์เกี่ยวกับจิตวิทยา รวมทั้งประวัติศาสตร์ต่างๆ จนกลายเป็นหนังสือเล่มนี้

 

สำหรับความกลัวผีที่ว่านี้คือผีจริงๆ หรือผีที่มีนัยยะอะไรซ่อนอยู่

     ในความเป็นจริงแล้ว การกลัวผี กลัวเจ้านาย หรือมีอะไรที่ทำให้เรากลัว ก็มีผลต่อจิตใจของเราเหมือนกัน คือมันทำให้เราหวาดผวา สูญเสียความมั่นใจ หรือทรุดลงไปได้เลย ผีในอีกนัยยะหนึ่งสำหรับบางคนคืออดีตที่เลวร้าย เช่น การถูกทารุณกรรม หรือการถูกล่วงละเมิดในวัยเด็ก ถึงแม้ไม่ใช่ผี แต่มันก็หลอกหลอน มันมองไม่เห็น มันผ่านไปแล้ว แต่มันก็ยังทำให้เขาใช้ชีวิตไม่เหมือนเดิม

 

หมอก๊ก

 

ความกลัวในอดีตกับปัจจุบันมีความแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน

     แตกต่างกันตามไปยุคสมัยมากกว่า เพราะความกลัวเป็นความรู้สึกพื้นฐานของมนุษย์ ต่อให้ผ่านไปหมื่นปีก็จะไม่แตกต่างกัน เช่น กลัวตาย กลัวอดอยาก กลัวภัยคุกคาม กลัวคนรักทิ้งไป แต่สิ่งที่ทำให้ต่างก็คือสังคมที่เปลี่ยนไป เช่น ถ้าเราเกิดในยุคหิน ทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมาคือการออกไปล่าหาอาหารแล้วกลับมาที่ถ้ำ ส่วนความกลัวที่เกิดขึ้นอาจจะกลัวว่า ออกไปแล้วจะหาอาหารได้มั้ย จะถูกสัตว์ป่าฆ่ามั้ย ความกลัวในอดีตมีแค่นี้ ไม่ได้ซับซ้อนอะไร ไม่ได้มีความหลากหลาย

     แต่ตอนนี้ เรากลับกลัวสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ได้หมด เช่น กลัวว่าฝนจะตก กลัวไปทำงานสาย กลัวเจ้านายดุหากมาสาย มันมีความซับซ้อนในรายละเอียด ในโครงสร้างที่เปลี่ยนไปตามสังคม รวมทั้งสิ่งที่ขับเคลื่อนในยุคสมัยและเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยี

     ยกตัวอย่างเรื่องไลน์ไปไม่เห็นตอบ เราก็เริ่มกลัวว่าเขาโกรธหรือไม่พอใจอะไรเราหรือเปล่า มีอะไรหรือเปล่า กลัวนำไปก่อนจะรู้สาเหตุ แต่หากย้อนกลับไปในสมัยรุ่นพ่อแม่ ไม่มีไลน์ เขาก็จะไม่มีความกลัวในรูปแบบนี้

 

จากการที่คุณหมออธิบาย ทำให้รู้สึกว่าความกลัวอยู่กับเราทุกที่ทุกเวลาเลย

     ใช่แล้ว… เราอยู่กับความกลัวตั้งแต่เช้าจรดเย็น แต่เราอาจจะไม่คุ้นแล้วปล่อยผ่านไป หรือรู้สึกจนชินโดยที่เราไม่รู้ตัว คือเราถูกผลักให้ทำไปแล้ว ซึ่งความกลัวมันก็คือความเครียดอย่างหนึ่ง ฟังแล้วดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่จริงๆ แล้วไม่เข้าใจ ยกตัวอย่างเช่น คนคนหนึ่งเปรยว่าฉันเครียด แต่เครียดของเขาอาจจะหมายถึง ฉันเศร้า ฉันเสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น ฉันหงุดหงิด หรือฉันคิดมาก ไม่ใช่อารมณ์ ฉันเครียดเพราะฉันเหนื่อยมาทั้งวัน ฉันนอนไม่หลับนี่ก็คือฉันเครียดเหมือนกัน หรือย้อนกลับมาที่ไลน์ไปไม่ตอบ เราก็กังวล ทีนี้ก็ทำงานไม่รู้เรื่อง ซึ่งเราอาจจะบอกได้ว่า นี่แหละเครียด แต่จริงๆ แล้วคือกลัว

 

ในคำว่า ฉันเครียด เรามักจะเจอคำว่า ‘อย่าเครียด’ คุณหมอคิดว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับคำว่า ‘อย่ากลัว’ หรือเปล่า

     ถ้าคุณแยกความเครียดไม่ได้ แล้วบอกว่าอย่าเครียดเลย ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่ได้ซับซ้อนอะไรก็อาจจะช่วยได้ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าคุณไม่ได้เข้าใจเขาเลยว่าเครียดคืออะไร ก็จะไม่สามารถแก้ได้อย่างถูกจุด เหมือนคำว่ากลัว ซึ่งเป็นคำไทยที่ใช้กว้างๆ แต่มันต่างกัน อย่างคำว่า ‘วิตกกังวล’ เรากลัวสิงโตแต่เราไม่ได้วิตกกับสิงโต เราขยาดแขยง ความกลัวหากลึกลงไปมันมีหลายรูปแบบ กังวลในสิ่งที่ยังไม่เกิด หรือความตื่นตระหนัก หวาดกลัว ในความกลัวมีหลายความหมาย

 

พอฟังไปสักพัก จู่ๆ ก็รู้สึกกลัวเจ้าความกลัวนี้ขึ้นมาทันที

     (ยิ้ม) ในเชิงจิตเวช ความกลัวเป็นภาวะอารมณ์ปกตินะ เหมือนเกลียด เศร้า ซึ่งไม่ใช่โรค แตกต่างจากเศร้าที่เป็นโรค ทีนี้ถ้าคุณกลัวเป็นภาวะปกติ เช่น กลัวไปไม่ทันนัด กลัวแฟนงอน นี่เรียกว่าปกติ ไม่ใช่โรค แต่กลัวที่เป็นโรคก็มี เช่น กลุ่มโรควิตกกังวล เมื่อเป็นความกลัวจนกลายเป็นโรค มันจะต้องมีความต่อเนื่องที่คงเส้นคงวาตามระยะเวลาที่กำหนด รวมทั้งมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ส่งผลต่อการเรียนหรือการทำงาน ต่อให้อยู่กับครอบครัวก็เป็น หรืออยู่กับแฟนก็เกิดอาการ

     อย่างโรควิตกกังวล เวลาไปทำงานก็จะคิดนั่นคิดโน่นคิดนี่ คือมีความคิดที่รู้ว่าไม่น่าคิดแต่กลับหยุดคิดไม่ได้ ซึ่งจะไปรบกวนชีวิต หากเรียนอยู่ก็จะเรียนไม่รู้เรื่อง เพราะกังวลกับสิ่งนี้ ทำให้หายใจไม่เต็มอิ่ม รู้สึกไม่สดชื่น กลางคืนนอนไม่พอ หลับยาก ตื่นง่าย ก็จะเข้าข่ายโรค หรือแพนิก อาการตื่นตระหนก จะมีอาการใจสั่น หายใจไม่อิ่ม มือเท้าชา แต่หากทั้งปีเราแพนิกครั้งเดียวก็อาจจะไม่ถึงขั้นที่เรียกว่า Panic Disorder แต่ถ้าเป็นต่อเนื่องติดต่อกันนานเป็นสัปดาห์ ไปไหนมาไหนก็ยังรู้สึกกังวลอยู่ตลอด จนเกือบจะเกิด Phobia หรือภาวะไม่กล้าออกไปในที่แจ้ง นี่ก็คือภาวะของโรคที่ต้องได้รับการรักษา

 

หมอก๊ก

 

แสดงว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกกลัวมากๆ ควรจะพบจิตแพทย์ก่อนที่จะลุกลามจนกลายเป็นโรค

     ความกลัวก็มีทั้งกลัวแบบที่ไม่ต้องพบแพทย์ก็ได้ หรือกลัวที่สงสัยว่าจะเป็นโรคก็ต้องไปพบแพทย์ เพราะอาจจำเป็นต้องใช้ยา หรืออาจจะต้องทำพฤติกรรมบำบัด ปรับวิธีคิดใช้จิตบำบัดร่วมด้วย แต่ต่อให้ไม่เป็นโรค แค่เรารู้สึกว่าความกลัวมันกระทบกับเราจริงๆ ก็ไม่ต้องพบจิตแพทย์ก็ได้ ขอให้ได้คุยกับใครสักคนที่เราคุยได้ก็เพียงพอ แต่หากไม่ได้จริงๆ ก็พบจิตแพทย์ เพราะสุดท้ายแล้ว หากเราจัดการกับความกลัวที่เกิดขึ้นไม่ได้ มันก็สร้างความทุกข์ใจให้เราไม่น้อยเลย

 

ในความกลัว ยังมีโรคทางจิตเวชอะไรซ่อนอยู่อีกไหม

     หลายคนคงเข้าใจว่ามีเพียงโรคซึมเศร้า ซึ่งโรคซึมเศร้าเองก็แตกออกไปเป็นซึมเศร้าขั้วเดียว ซึมเศร้าไบโพลาร์ กลุ่มโรคแพนิก วิตกกังวลหลายด้าน หรือย้ำคิดย้ำทำ กลุ่ม Phobia กลัวจัดจนไม่กล้าออกไปไหน หรือที่เรียกว่า Post-Traumatic Stress Disorder (PTSD) ภาวะผิดปกติทางจิตใจจากเหตุการณ์รุนแรง เช่น เจอเรื่องเลวร้ายมากๆ ผ่านไปหกเดือนแล้วยังไม่กล้าออกไปไหน ภาพเดิมๆ ยังผุดขึ้นมา ตื่นตระหนกตกใจง่ายก็เป็นอีกโรคหนึ่ง และมีอีกมากมาย ที่เมื่อเป็นแล้วก็ทรมาน จนนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้

 

ความรู้สึกเชิงลบนี้ เราเองจะรู้ตัวมากน้อยแค่ไหน

     โดยธรรมชาติของคนทั่วไป ไม่รู้หรอกว่าเป็นอะไร แต่รู้ว่าไม่ปกติ อย่างคนที่เป็นโรคซึมเศร้า อาจมาพบหมอเพราะอาการนอนไม่หลับ รู้สึกแปลกๆ อยากร้องไห้ตลอดเวลา หากถามว่ารู้ตัวมั้ย …รู้ บางส่วนรู้ว่า ตัวเองแปลกๆ ไปนะ แต่ไม่รู้ว่ามันคือโรค ซึ่งจะต้องให้คุณหมอมาอธิบายและเป็นผู้แยกสิ่งที่เราบอกว่าเครียด แท้ที่จริงแล้วมันคืออะไร

 

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น อยากให้คุณหมอยกตัวอย่างภาพยนตร์ที่ทำให้เราเห็นอีกแง่ความกลัว

     หนังเกาหลีเรื่อง The Wailing (2016) เป็นเรื่องของชุมชนหนึ่งที่จู่ๆ ชาวบ้านก็มีอาการแปลกๆ เป็นไข้ ประสาทหลอน และเริ่มฆ่าคน ลามไปอีกในหลายๆ บ้าน รวมทั้งครอบครัวตัวเอก ลูกสาวก็เริ่มมีอาการ พ่อก็พาไปหาหมอในโรงพยาบาลขนาดเล็ก แต่ก็ไม่หาย จริงๆ แล้วเด็กคนนี้อาจจะเป็นโรคอื่นอยู่ก็ได้ แต่แค่ว่าตอนนี้หาไม่เจอ ซึ่งผมกำลังจะบอกว่าเมื่อคุณไม่มีความรู้ แล้วมีคนมาเสนอทางออก ความกลัวพาคุณไปสู่จุดจบที่ไม่สวยเท่าไหร่นัก หรือต่อให้คุณมีความรู้ หมอบอกแล้วว่าคุณเป็นอะไร รักษาต่ออีก 3 เดือนแต่อาจจะไม่หาย ในขณะเดียวกันมีหมอผีมาบอกว่า รักษาหาย! และด้วยความกลัว คุณอาจจะเลือกรักษากับหมอผีคนนี้แทนก็ได้ นี่คือแรงผลักดันที่ทำให้ความกลัวแปรเปลี่ยนเป็นอื่นได้ไม่ยาก

 

ยิ่งฟังยิ่งเข้าใจไปว่าความกลัวจะนำพาชีวิตเราดิ่งลงไปเรื่อยๆ

     อันที่จริงความกลัวไม่ได้นำไปสู่จุดจบที่เลวร้ายเสมอไป หากเราใช้ความกลัวร้อยเปอร์เซ็นต์ จะมีโอกาสที่จะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ ตกเป็นเหยื่อของความไม่รู้แล้วต้องพบกับจุดจบที่ไม่ดีก็ได้ ซึ่งจริงๆ แล้วความกลัวก็มีประโยชน์ เพราะมันเหมือนเซ็นเซอร์เตือนภัยให้ตัวเอง เช่น เข้าป่าแล้วคุณไม่กลัว เดินดุ่มๆ เข้าไปต่อให้มีปืนก็อาจจะโดนเสือกัดตายได้ มีคำที่สนน่าใจในเชิงทฤษฎี เมื่อสมองมนุษย์เจอกับสิ่งคุกคามหรือกลัว เราก็เลือกจะสู้ จะถอย หรือ จะเฉย (Fight Flight or Freeze) ในกรณีเดินเข้าป่า หากคุณ Fight or Flight คุณก็จะเริ่มเตรียมตัวว่าเราจะรับมือกับมันอย่างไร จะถอยก็ไม่ผิดนะ เพราะบางอย่างเลือกที่จะสู้ ก็อาจจะเป็นการตัดสินใจผิดก็ได้ แต่หากสู้โดยไม่คิดก็อาจจบไม่สวยเช่นกัน

 

หมอก๊ก

 

เราจะมีวิธีการจัดการความกลัว รับมือ หรือเอาตัวรอดจากความกลัวได้อย่างไร

     เราใช้คำว่า resilience หรือการฟื้นสภาพได้ทางด้านจิตใจ คือความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสิ่งที่ต้องทำในชีวิต เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่เป็นอุปสรรค ความเครียด หรือความกลัว ไม่ใช่ว่าคุณจะต้องเข้มแข็งมากๆ อย่างเมื่อคุณล้มลง ทำอย่างไรคุณถึงจะเด้งขึ้นมา กลับมายืนหยัด หรือกลับมาสู่จุดเดิมได้เหมือนก่อนหน้าที่คุณจะล้มหรือถูกทำร้าย ไม่ได้บอกว่าคุณห้ามล้ม แต่เมื่อคุณล้ม คุณเจ็บ คุณตกลงมาต่ำ คุณจะมีวิธีไหนกลับมาได้ให้เร็วที่สุด วิธีนั้นก็คือการสร้างภูมิคุ้มกลัวด้วยความรู้ความเข้าใจ อยู่กับปัจจุบัน และไม่กระโดดไปอนาคต หรือเรียกอีกอย่างว่า Mindfulness การฝึกสติ ทางพุทธศาสนาเรียกว่าการเจริญอานาปานสติ หลักการคือรู้เท่าทันอารมณ์ความคิดของตัวเอง สามารถฝึกฝนได้

 

เราจะอยู่กับความจริงที่เรียกว่ากลัวนั้นได้อย่างไร

     อยู่ได้ด้วยการรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง และสามารถแยกแยะความกลัวปรุงแต่งกับความกลัวที่แท้จริงได้ เราก็จะเข้าใจและอยู่กับความกลัวนั้นได้ดีขึ้น

 

ความกลัวปรุงแต่งกับความกลัวที่แท้จริงเป็นอย่างไร

     ย้อนกลับไปที่การเดินเข้าป่า หากกลัวสิงโต นี่คือสมเหตุสมผล เพราะหากไม่กลัวก็ตาย แล้วก็ต้องเตรียมอาวุธ อันนี้ถูกต้อง เอาใกล้ตัวมาหน่อย หากทำงานแล้วเจ้านายติ แล้วเราเริ่มคิดว่า เจ้านายไม่ชอบเราหรือเปล่า อย่างนี้สงสัยอยู่ได้ไม่นาน จะโดนไล่ออกแน่ๆ หางานใหม่เลยแล้วกัน แล้วงานใหม่เขาจะรับหรือเปล่า นี่แค่เจ้านายดุอย่างเดียว แต่เราคิดเตลิดไปไกล อันนี้คือความกลัวปรุงแต่ง แต่หากเรารู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง เมื่อโดนเจ้านายตำหนิเรื่องงาน เข้าใจแล้วว่า งานชิ้นนี้มันห่วย ก็มาดูว่าครั้งหน้าเราจะปรับปรุงอย่างไร ความกลัวก็จะดี ในเมื่อกลัวถูกตำหนิ ครั้งต่อไปเราก็จะต้องทำให้ดีขึ้น หรืออีกอย่างคือไม่กลัวเลย เจ้านายจะด่าก็ด่าไป เก่งแล้ว อยากไล่ก็ไล่ โอกาสพัฒนาก็น้อยลงไปอีก มันก็ส่งผลต่อคนเราเช่นกัน เพราะฉะนั้น อาจจะไม่ต้องมองว่าความกลัวเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี เพราะมันมีทั้งเรื่องดีและไม่ดีอยู่ในตัวมันเองเสมอ

 

ดังนั้น คนเราจึงจำเป็นต้องมีความกลัว

     ใช่แล้ว ความกลัวเป็นคำเชิงลบ แต่ทำให้มนุษย์รู้จักเอาตัวรอดและดำรงเผ่าพันธุ์มาได้จนถึงทุกวันนี้

 

หมอก๊ก

 

ในขณะเดียวกันสังคมมีส่วนทำให้คนกลัวมากขึ้นหรือเปล่า

     มีส่วน… ขอยกตัวอย่างว่ามีออฟฟิศสองแห่ง ออฟฟิศ A มีกฎกติกาและทุกคนเคารพ หัวหน้าให้เกียรติลูกน้อง วันหนึ่งพนักงานโดนลวนลาม ก็มีช่องทางให้ร้องเรียนและตัดสินด้วยความยุติธรรม ถึงจะเกิดความกลัวแต่ก็ยังทำงานต่อได้ระดับหนึ่ง ส่วนออฟฟิศ B มีกฎกติกาเหมือนกัน แต่หัวหน้าดันอยู่เหนือกฎ หมายถึงว่าหัวหน้าคนนี้อาจจะเป็นลูกซีอีโอ เท่านั้นไม่พอยังมาลวนลามและกดขี่ ใช้งานนอกเหนือหน้าที่อีก พอไปร้องเรียนกลับได้คำตอบว่าให้หยวนๆ ไป หรือให้เรื่องเงียบๆ ไปเพราะกลัวเสียชื่อบริษัท ดังนั้น สังคมสองออฟฟิศนี้ก็มีส่วนทำให้ความกลัวแตกต่างกัน

 

ภาวะทางจิตเรื่องใดคือสิ่งที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตของมนุษย์

     ผมชอบหนังสือเรื่อง Man’s Search for Meaning เป็นเรื่องของจิตแพทย์ที่ถูกจับไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วไปอยู่ในค่ายกักกันของนาซี แล้วรอดกลับมาเขียนหนังสือเล่มนี้ คุณคิดดูสิว่า คนคนหนึ่งโดนกล้อนผม นอนแออัดกัน ไม่รู้เลยว่าวันพรุ่งนี้จะเจอกับอะไร จะโดนเกณฑ์ให้ไปอาบน้ำหรือถูกรมแก๊สให้ตาย ภาวะนี้จะทุกข์ทรมานแค่ไหน ผมคิดว่าภาวะสิ้นหวัง (Hopeless) และหมดหนทาง (Helpless) คือภาวะที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตของมนุษย์ เช่นเดียวกับบางคนที่ป่วยหนัก เกิดความกลัว เต็มไปด้วยความสิ้นหวังและไม่มียารักษาให้หาย มันเป็นสิ่งที่ทำให้ความรู้สึกของมนุษย์อยู่จุดที่ตกต่ำมากที่สุด และเป็นจุดที่ผลักดันให้คนฆ่าตัวตายในที่สุด

     แต่บางกรณีก็ไม่ใช่เสมอไป บางครั้งเราอาจจะรู้สึกว่าสิ้นหวัง แต่แท้ที่จริงแล้วยังมีความหวัง เราอาจจะรู้สึกว่าหมดหนทาง แต่จริงๆ ยังมีทางให้ไป แต่แค่ยังหาไม่เจอ ดังนั้น เราจึงต้องสร้างความหวังและสร้างหนทางให้ตัวเอง อย่างคนเขียนหนังสือข้างต้น แม้เขาสิ้นหวังและหมดหนทาง แต่เขาสร้างความหวังและสร้างทางเลือกให้ตัวเองด้วยการทำอย่างไรให้พอมีชีวิตรอดต่อไปได้

 

ความกลัวผลักให้คนดีกลายเป็นคนเลวได้จริงหรือไม่

     ได้ และก็ไม่รู้ตัวด้วย อย่างเช่น ตำนานล่าแม่มดแห่งซาเลม การไต่สวนที่น่าพรั่นพรึงที่สุดในประวัติศาสตร์ สิ่งนี้ทำให้เห็นว่าความกลัวทำให้คนดีที่ไม่เคยคิดร้าย ร่วมสนับสนุนหรือกลายเป็นคนตัดสินคนอื่นว่าเป็นแม่มด และยินดีที่จะเห็นจุดจบของคนคนนั้น ท้ายสุดคณะลูกขุนของศาลแม่มดได้ออกจดหมายขอโทษในความโง่เขลาอันเกิดจากความกลัวแล้วไปตัดสินโทษคนอื่น จนสุดท้ายคนเหล่านั้นที่มีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา ต้องตายเพียงเพราะความไม่รู้ของคณะลูกขุน แต่คนก็ตายไปแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้อยู่ดี