Penguin Homeless

Penguin Homeless | มองลึกลงไปในเบื้องหลังประชากรคนไร้บ้าน ปรากฏการณ์ที่ไม่มีวันหมดไปจากสังคม

สิ่งหนึ่งซึ่งทุกสังคมบนโลกต้องเผชิญหน้ามาตลอดไม่ว่ายุคสมัยใด นอกจากเรื่องเศรษฐกิจ คือเรื่องของกลุ่มประชากรคนไร้บ้าน อาจกล่าวได้ว่าคนไร้บ้านนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเติบโตหรือพัฒนาของเมืองต่างๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีคนจำนวนมากในสังคมที่มีมุมมองต่อคนไร้บ้านในแง่ลบ

ปรากฏการณ์คนไร้บ้านเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นทั่วโลกไม่ว่าประเทศนั้นจะมีเศรษฐกิจทางสังคมที่ดีขนาดไหน ย่อมต้องมีคนบางกลุ่มที่ไม่สามารถหมุนตามความเร็วในการเปลี่ยนแปลงทัน หรือด้วยเงื่อนไขทางสังคมบางอย่างที่ผลักให้พวกเขาหลุดจากวงจรปกติของสังคม กลายเป็นคนเร่ร่อนไร้บ้าน ไร้ที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ขาดความมั่นคงในชีวิตหลายๆ ด้าน หนักที่สุดคือถูกปฏิเสธจากสังคมและถูกตีตราว่าเป็นคนไร้ค่า

     โจทย์ท้าทายเหล่านี้ คือสิ่งที่ ‘ปู’ – อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้และประสานยุทธศาสตร์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน พยายามเชื่อมโยง สื่อสาร ทำความเข้าใจกับสังคม ผ่านงานวิจัยและกิจกรรมต่างๆ ในเว็บไซต์ Penguin Homeless และทำงานร่วมกับกลุ่มภาคีเครือข่ายที่สนใจในประเด็นคนไร้บ้าน เพื่อที่จะเปลี่ยนมุมมองของสังคมที่มีต่อคนไร้บ้านในฐานะที่เป็นหนึ่งในประเด็นของความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในสังคม มากกว่าการตัดสินความเป็นคนของพวกเขาผ่านเพียงภาพที่เห็น

     ‘คนไร้บ้านถูกตีตราว่าเป็นคนขี้เกียจ เป็นคนไม่เอาไหน เราจะไปช่วยเขาทำไม ซึ่งหลายมายาคติเป็นเรื่องที่อาจจะไม่จริงเลย คนไร้บ้านอาจจะไม่ได้ขาว แต่คนไร้บ้านไม่ได้ดำ คือเป็นกลุ่มคนที่มีทั้งขาวและดำเหมือนคนปกติทั่วไป คนทุกคนก็มีทั้งดีทั้งร้ายผสมกันเป็นปกติ ในแง่ของการทำงานเราก็พบว่า 90% ของคนไร้บ้านมีงานทำ เป็นคนที่ทำงาน แต่ว่ารายได้ที่เขาได้ไม่เพียงพอต่อการใช้และการยกระดับชีวิต’

     เพราะคนไร้บ้านไม่ใช่คนไร้ค่า แต่อาจเป็นเพียงอุบัติเหตุในชีวิตบางอย่างที่ผลักให้เขาเข้ามาอยู่ในภาวะเช่นนี้ ในแง่หนึ่ง หากสังคมได้ลองทำความเข้าใจ ให้โอกาสอย่างเท่าเทียมแก่พวกเขา และมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบางอย่างทางสังคมที่สามารถช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างครอบคลุม ก็อาจจะทำให้คนไร้บ้านได้กลับเข้าสู่วงจรของสังคม และกลับมามีชีวิตที่มีคุณภาพได้

 

Penguin Homeless

 

Penguin Homeless คืออะไร ขอบเขตของการทำงานมีอะไรบ้าง

     ต้องเล่าย้อนให้ฟังว่า งานที่เราทำทั้งหมดอยู่ภายใต้แผนงานพัฒนาองค์ความรู้และประสานยุทธศาสตร์เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน (สสส.) หรือเรียกสั้นๆ ว่าแผนพัฒนาองค์ความรู้ฯ คนไร้บ้าน ซึ่งไม่ได้มีแค่เรา แต่จะมีการทำงานร่วมกับกลุ่มอื่นๆ ที่เป็นภาคีเครือข่าย อันนี้คือหัวใจสำคัญของเรา เราทำงานกับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่เขาเองก็ทำงานคนไร้บ้านมาก่อนอยู่แล้ว เช่น มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เครือข่ายคนไร้บ้าน หรือมูลนิธิกระจกเงา แล้วก็อีกหลายๆ องค์กร

     ก่อนหน้านี้เราเคยทำโปรเจ็กต์หนึ่งซึ่งเป็นเรื่องของการสำรวจคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ เพื่อเป็น baseline ในการทำงานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พอหลังจากทำเสร็จ สสส. ซึ่งเป็นคนสนับสนุนก็มองว่ามันควรต้องมีแผนงานที่จะมาดูภาพรวมขององค์ความรู้เกี่ยวกับสุขภาวะของคนไร้บ้านเพื่อหนุนเสริมการทำงานของเครือข่าย

     ทีนี้ตัวแผนงาน เราไม่ได้ทำแค่องค์ความรู้ งานเราจะแบ่งเป็น 3 ขา ขาแรกคือเรื่องขององค์ความรู้ ทำวิจัย โจทย์วิจัยของเราเกิดขึ้นจากการคุยกับคนที่ทำงานเรื่องประเด็นคนไร้บ้าน โดยเฉพาะภาคประชาสังคม ว่ามีประเด็นอะไรที่จะใช้ตัวองค์ความรู้ไปสนับสนุนเขา ขาที่สองเป็นเรื่องของการช่วยหนุนเสริมเครือข่ายระดับพื้นที่ ในแง่ของการเอาเครือข่ายคนทำงานประเด็นคนไร้บ้านหรือประเด็นที่เกี่ยวข้องมาคุยกัน เป็นแพลตฟอร์มในการสร้างความร่วมมือและขับเคลื่อนงานเชิงพื้นที่ ส่วนขาที่สามเป็นงานสื่อสารสาธารณะ ซึ่งทั้งสามขานี้จะเชื่อมโยงกัน

     ดังนั้น ที่ถามว่า Penguin Homeless คืออะไร ก็คือเป็นช่องทางในการสื่อสารกับการทำงานของเรา การสื่อสารของเราจะใช้องค์ความรู้เป็นฐานหลักในการแปลงเป็นคอนเทนต์ลงเว็บไซต์และเพจของเรา ให้คนที่เข้ามาอ่านได้เข้าใจ ได้เห็นถึงความหลากหลายของชีวิตคนไร้บ้าน เกิดความตระหนักกับประเด็นคนไร้บ้านที่เกี่ยวเนื่องกับความเป็นเมือง หรือกับชีวิตเขา

 

นอกจากการสื่อสารผ่านคอนเทนต์ในเว็บไซต์แล้วมีโปรเจ็กต์อะไรที่เป็นรูปธรรมบ้างไหม

     อย่างที่บอกว่าเราทำกับกลุ่มอื่นๆ ด้วย ภายใต้แผนงานของเราก็จะมีโปรเจ็กต์และกิจกรรมที่จะจัดทำในอนาคต อย่างตอนนี้มีกิจกรรมเวิร์กช็อปกับคนรุ่นใหม่ต่างๆ ซึ่งจะมีการจัดแสดงผลงานในเวทีสื่อสารสาธารณะในวันที่ 30 มีนาคมที่จะถึงนี้

     ก่อนหน้านี้เราพาคนที่ทำงานสื่อสารในประเด็นเกี่ยวกับทางสังคม ประเด็นเกี่ยวกับเมือง และคนที่ทำงานขับเคลื่อนประเด็นคนไร้บ้านมานั่งคุยกันว่าเราจะทำอะไรกันดี ทีนี้ก็ได้ดีไซน์ออกมาเป็นเวิร์กช็อปหนึ่ง ที่นอกจากจะเป็นเวิร์กช็อปเพื่อการสื่อสารแล้ว เรายังอยากให้เกิดการเปลี่ยนมุมมองของผู้ที่เข้าร่วมที่เป็นคนรุ่นใหม่ ในแง่ที่ว่าเขามองประเด็นคนไร้บ้านกันยังไง

 

โจทย์และเป้าหมายหลักในการสื่อสารของคุณคืออะไร

     ถ้ามองในประเด็นการสื่อสาร สิ่งที่อยากทำคือเราอยากให้เกิดประเด็นใหม่ๆ ในการสื่อสารประเด็นคนไร้บ้าน และสามารถเชื่อมโยงกับคนกลุ่มใหม่ๆ ได้ แน่นอนว่าคนที่ชอบประเด็นแบบหนักๆ อันนี้ส่วนใหญ่ก็พอรู้เรื่องอยู่แล้ว แต่โจทย์ของเราคือทำอย่างไรให้ประเด็นคนไร้บ้านเกิดการรับรู้อย่างกว้างขวางได้ พูดง่ายๆ คือให้มันแมสมากขึ้น เพราะเราไม่ได้มองประเด็นคนไร้บ้านในฐานะคนไร้บ้านแบบโดดๆ เราอยากให้ทุกคนมองคนไร้บ้านในฐานะที่เป็นประเด็นร่วมของสังคม ของเมือง และเป็นหนึ่งในประเด็นของความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในสังคม

 

ปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้คนคนหนึ่งเข้าข่ายว่าเป็นคนไร้บ้าน

     คือกลุ่มคนที่หลุดออกจากหลักประกันแทบทุกอย่างในทางสังคมและเศรษฐกิจ คนไร้บ้านเป็นยอดของภูเขาน้ำแข็งนะ ถ้าเราดูชีวิตเขา ดูข้อมูลเกี่ยวกับคนไร้บ้าน เขาก็คือคนที่ขาดความมั่นคงในเกือบทุกด้านของชีวิต อย่างเช่นเรื่องของที่อยู่อาศัย แน่นอนว่าคนไร้บ้านก็ไม่ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักเป็นแหล่ง หรือมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง หรือเรื่องของยารักษาโรคกับการดูแลรักษาพยาบาล

     คนไร้บ้านจำนวนมากประมาณร้อยละสามสิบไม่สามารถเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพได้ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องสิทธิทางทะเบียนราษฎร์ เอาตรงๆ คือไม่มีบัตรประชาชน พวกเขาไม่ได้มีสุขภาวะในการใช้ชีวิตมากนัก ไหนจะเรื่องอาหาร เรามีข้อมูลสำรวจที่พบว่า เมืองไทยอาจจะไม่ได้ประสบความยากลำบากในการเข้าถึงอาหารที่ครบถ้วนตามมื้อมากนัก แต่ตัวของมาตรฐานทางอาหารที่คนไร้บ้านรับประทานเข้าไปอาจจะอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ

     ทั้งหมดนี้เราอยากให้มองในฐานะความไม่เป็นธรรมทางสังคม อย่างในหลายประเทศ เขามองว่าจำนวนของคนไร้บ้านเป็นตัวบ่งชี้สำคัญถึงปัญหา ทั้งในแง่เชิงนโยบายสังคมที่มีปัญหา แล้วก็มองในฐานะของปัญหาสังคมเศรษฐกิจโดยรวม เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถสร้างหลักประกันให้พวกเขาได้ มันจะไม่ได้มีผลกระทบต่อแค่คนไร้บ้าน แต่มันจะมีผลกระทบต่อสังคมโดยรวม

 

Penguin Homeless

 

ที่บอกว่าคนไร้บ้านเป็นตัวบ่งชี้เรื่องปัญหานโยบายทางสังคมได้ หมายความว่าอย่างไร

     เรามีความเชื่อตลอดว่า ถ้าสามารถดีไซน์ตัวนโยบายทางเศรษฐกิจสังคม หรือพวกสวัสดิการต่างๆ ที่สามารถรองรับ หรือมีระบบที่ทำให้คนไร้บ้านสามารถมีมาตรฐานในการใช้ชีวิตได้ หรือสามารถกลับคืนสู่ชีวิตที่มีคุณภาพได้ตามมาตรฐาน ไม่ใช่แค่คนไร้บ้าน แต่ทุกคนก็จะได้รับประโยชน์จากสิ่งนี้ แล้วก็จะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมโดยรวมด้วย

    ดังนั้น อย่างที่บอกไปว่าเป้าหมายหลักของการสื่อสาร เราอยากให้เห็นประเด็นของคนไร้บ้านที่เกี่ยวโยงกับประเด็นเมือง ประเด็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม ประเด็นผลกระทบจากการพัฒนาในเมือง ประเด็นของความไม่มั่นคงด้านรายได้และการทำงาน อย่างปีนี้เป็นเรื่องประเด็นของความไม่มั่นคงด้านการทำงานหรือความเปราะบางด้านอาชีพ ซึ่งเป็นประเด็นที่คนในปัจจุบันมีความเกี่ยวโยงอยู่ด้วย

 

จากการศึกษา คนไร้บ้านส่วนใหญ่เกิดจากอะไร หรือเขามีลักษณะร่วมอะไรที่น่าสนใจบ้าง

     ก่อนที่คนไร้บ้านจำนวนมากจะเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน เขาก็เป็นแรงงานนอกระบบ เป็นแรงงานรับจ้างรายวัน ไม่ได้มีสวัสดิการจากการจ้างงาน ทีนี้พอมาเป็นคนไร้บ้าน เกือบทั้งหมดก็เป็นแรงงานที่ไม่ได้มีความมั่นคงทางด้านรายได้ คือเป็นลูกจ้าง เป็นคนที่ได้รับเงินเป็นรายวัน ซึ่งอันนี้ก็คล้ายๆ กับคนจำนวนมากในทางสังคม ทั้งคนที่เป็นระดับชนชั้นกลาง หรือระดับล่าง ที่ลักษณะการจ้างงานปัจจุบันอาจจะเริ่มเปลี่ยนไปในแง่ของสัญญาระยะสั้น เป็นการจ้างงานรายวันมากขึ้น หรือเป็นจ็อบมากขึ้น ซึ่งอันนี้ปัญหาก็คือ ภาวะการจ้างงานแบบนี้ในปัจจุบันไม่สามารถสร้างความมั่นคงได้

 

เราอาจมองว่าคนไร้บ้านดูห่างไกลจากตัวเรา แต่ไม่ว่าใครก็ตามสามารถกลายเป็นคนไร้บ้านได้เหมือนกันใช่ไหม

     ใช่ คือเราพยายามบอกว่าภาวะเปราะบางไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเป็นใครทั้งนั้น มันไม่เลือกหน้า เราคิดว่าทุกคนมีความเสี่ยงในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านทั้งนั้น คือคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีอาจจะมีความเสี่ยงน้อยหน่อย แต่พี่น้องคนไร้บ้านบางคนก็เป็นคนที่เคยมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี หรือว่าเป็นคนชั้นกลางปกติ แต่ว่าอุบัติเหตุบางอย่างของชีวิต เช่น การออกจากงานกะทันหัน การไม่มีหลักประกันทางสังคม การไม่มีหลักประกันทางรายได้ ไม่มีหลักประกันทางการว่างงานต่างๆ หรือปัญหาครอบครัวต่างๆ ที่เกิดจากการบีบคั้นทางเศรษฐกิจ ล้วนทำให้ทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะไร้บ้านได้

 

ทุกวันนี้สถานการณ์คนไร้บ้านในเมืองไทยเป็นอย่างไร

     ตอนนี้เรายังไม่มีจำนวนทั้งประเทศ แต่เรากำลังจะสำรวจคนไร้บ้านในเทศบาลใหญ่ๆ หรือน่าจะครอบคลุมทั้งประเทศร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยและเครือข่ายต่างๆ ในช่วงเดือนเมษายนหรือพฤษภาคมที่จะถึงนี้ ตอนนี้เรามีข้อมูลแค่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น

     กรุงเทพฯ ก็ยังเป็นจังหวัดที่มีคนไร้บ้านจำนวนมากที่สุด เชียงใหม่ ขอนแก่น ก็เป็นหัวเมืองหลักที่มีคนไร้บ้านค่อนข้างเยอะในระดับภูมิภาค ในตอนที่เราสำรวจเมื่อปี 2559 กรุงเทพฯ มีจำนวนคนไร้บ้านอยู่ 1,307 คน  ซึ่งถ้าเทียบเป็นสัดส่วนต่อประชากร หลักพันก็ถือว่าไม่เยอะ เมื่อเทียบกับในหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์หรือนิวยอร์กที่มีเป็นหลักหมื่น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้แปลว่าเรามีนโยบายทางเศรษฐกิจสังคมที่ดีนะ

     เราได้คุยกับอาจารย์ธานี ชัยวัฒน์ หัวหน้าทีมวิจัยในโครงการหนึ่งที่เราทำกันในแผนงานนี้ เราก็มีสมมติฐานอันหนึ่งว่า เฮ้ย สิ่งหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยมีคนไม่ได้อยู่ในภาวะไร้บ้านจำนวนมาก เป็นเพราะว่าประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่เป็น informal sector หรือระบบเศรษฐกิจที่ไม่ทางการอยู่ เช่น พวกหาบเร่แผงลอย การขายของแบกะดิน ถ้าคุณดูคนที่ตกงานจำนวนหนึ่ง เขาก็สามารถหางานที่หล่อเลี้ยงชีวิตในระดับหนึ่งทำได้ อย่างเช่นรับซื้อของเก่าหรือหาบเร่แผงลอย คือมันมีเศรษฐกิจนอกระบบอยู่เยอะ

     เราอยากให้มองทั้ง supply chain นะ อย่างหาบเร่แผงลอยเราจะนึกถึงแต่รถเข็นใช่ไหม แต่จริงๆ แล้วมันมีตั้งแต่ผ้าแบกะดินจนถึงรถเข็น หรืออยากให้มองว่ามันมีการจ้างงานอยู่ในนั้นด้วย ถ้าคุณดูร้านก๋วยเตี๋ยวร้านหนึ่ง มันมีคนล้างจาน มีคนเสิร์ฟ มันเป็นระบบเศรษฐกิจที่ไม่ทางการ แล้วก็เกิดการจ้างงานมหาศาลขึ้น

     ทีนี้ปัญหาที่น่าสนใจคือว่า ถ้าอยู่ดีๆ ระบบเศรษฐกิจพวกนี้หายไปเลยอย่างรวดเร็ว จะส่งผลกระทบอย่างไรไหม หรือว่าเหตุการณ์เรื่องของการไล่รื้อชุมชนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วไม่ได้มีทางออกให้คนในชุมชนแบบยั่งยืน อย่างการหาที่อยู่อาศัยที่มีความมั่นคงให้เขาอยู่ อันนี้มันจะเกิดอะไรขึ้น

 

แล้วมีกรณีตัวอย่างจากผลกระทบที่ว่าบ้างไหม

     ก่อนหน้านี้เราได้ไปประชุม แล้วได้เจอพี่คนหนึ่งที่เขาทำเรื่องป้อมมหากาฬ หน่วยงานภาครัฐก็พยายามบอกว่าจะดูแล จะพยายามหาที่อยู่อาศัยให้คนที่อยู่ในป้อมมหากาฬที่โดนไล่รื้อไป หรือถ้าหาที่อยู่ไม่ได้ก็จะให้ไปอยู่ภายใต้ที่พักพิงของรัฐก่อน ปรากฏว่าพี่เขาเล่าว่าได้เจอคุณลุงคนหนึ่งที่ตากำลังจะบอด เป็นคนป้อมมหากาฬเลย แต่ตอนนี้เป็นคนไร้บ้านอยู่ ซึ่งอันนี้เราก็กำลังจะให้ทางพี่น้องเครือข่ายคนไร้บ้านลองไปคุยดูว่าเป็นยังไง

     เห็นไหม อย่างนี้เราเห็นได้ชัดเลยว่า เวลามันเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คนที่ไม่มีหลักประกันหรือไม่มีอะไรเป็นหลักยึดจะลำบาก อย่างคนป้อมมหากาฬจำนวนมากก็ไม่ได้มีญาติพี่น้องอยู่ต่างจังหวัด หรือมีก็ไม่ได้ติดต่อกันเป็นเวลานาน จะให้กลับไปก็ยาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุต่างๆ มันไม่มีหลักยึดอะไร หลักยึดแห่งสุดท้ายก็หายไปอีก เหมือนคนที่ทำอาชีพหาบเร่แผงลอย มันอาจจะเป็นอาชีพสุดท้ายของเขาก็ได้ เราก็คิดว่าอันนี้คือสถานการณ์ที่ภาครัฐพยายามจัดการกับเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการอย่างรวดเร็วโดยไม่ได้มีทางออกให้ มันจึงเป็นอะไรที่น่ากังวล

 

Penguin Homeless

 

ทุกวันนี้เศรษฐกิจของคนไร้บ้านเป็นอย่างไร เขาทำอะไรเพื่อประทังชีพ

    ก็มีหลากหลายอาชีพที่เกิดขึ้น เช่น การเก็บของเก่า การรับจ้างรายวันต่างๆ ที่หลายอาชีพเราอาจจะคิดไม่ถึง รับจ้างรายวัน รับจ้างขนของ แต่ก่อนจะมีรับจ้างโบกธง แต่ว่าตอนนี้ผลกระทบที่เกิดก็คืองานที่คนไร้บ้านสามารถเข้าถึงได้เริ่มมีจำนวนลดลง ด้วยกฎระเบียบของรัฐที่ออกมา เช่น งานการโบกธงก็มีกฎของกทม. ที่สร้างข้อจำกัดต่องานประเภทนี้ หรือเช่นงานเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่มีการกำหนดวุฒิทางการศึกษา ต้องมีบัตรประชาชน ก็ทำให้คนไร้บ้านจำนวนหนึ่งที่แม้เขาจะมีความรับผิดชอบก็เข้าไม่ถึง

     ล่าสุดคุยกับทางพี่ๆ จากมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย แกบอกประเด็นร้านรับซื้อของเก่าก็น่าสนใจ คือจากการจัดระเบียบพื้นที่ของเมือง ทำให้ร้านรับซื้อของเก่า โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เริ่มออกไปอยู่ชานเมืองมากขึ้น ทีนี้ลองนึกถึงคนไร้บ้านที่เก็บของเก่ามาขาย เขาจะขนไปยังไง เพราะว่าคนเก็บของเก่าก็มีหลายระดับนะ ตั้งแต่ซาเล้งจนถึงเดินเก็บ แต่คนไร้บ้านส่วนมากเป็นแบบใส่ถุงสะพายที่เรามักเห็นกัน

     อันนี้ก็เป็นโจทย์ที่ต้องดูต่อไปว่า งานที่มีน้อยอยู่แล้วและกำลังโดนนโยบายของรัฐเบียดลงไปให้ลดน้อยกว่าเดิมอีก อย่างเรื่องการโบกธงเราก็เข้าใจว่ากทม. เขาต้องการแก้ไขปัญหาบางอย่าง แต่ว่าเวลากฎมันออกมา ในมุมหนึ่งมันก็ไปทำลายแหล่งรายได้สุดท้ายของคนบางคนเหมือนกัน โดยเฉพาะคนเปราะบางในสังคม ที่ไม่ได้มีทางเลือกด้านอาชีพมากนัก

 

คนไร้บ้านในเมืองไทยเหมือนหรือต่างจากคนไร้บ้านในประเทศอื่นๆ อย่างไร

     ถ้าเราดูในต่างประเทศ อย่างในสหรัฐอเมริกา ในบางรัฐที่หลักประกันการว่างงานอยู่แค่หกเดือน แต่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา คนจำนวนมากว่างงานเกินหกเดือน หลักประกันการว่างงานก็ไม่สามารถซัพพอร์ตได้ ก็เลยเกิดจำนวนคนไร้บ้านที่มากขึ้น เราคิดว่าอันนี้คล้ายกัน คือมันควรจะต้องมีหลักประกันทางสังคมและเศรษฐกิจที่เพียงพอ อันนี้คือเป้าหมายที่เราอยากผลักดันไปให้ถึง

     เพราะฉะนั้น ก็จะกลับมาประเด็นที่ว่า เราพยายามที่จะเลือกประเด็นในการสื่อสารเรื่องคนไร้บ้านให้สามารถเชื่อมโยงกับคนทั่วไปได้ ยกตัวอย่าง ถ้าดูในเว็บไซต์ของ Penguin Homeless ส่วนหนึ่งจะเป็นข่าวที่แปลมา แต่ข่าวที่แปลก็จะเป็นข่าวที่เราเลือกมาว่าไม่ได้หนักไป แต่เป็นข่าวที่คนอ่านแล้วสามารถสะท้อนมาที่ตัวเองได้

 

ทุกวันนี้รัฐมีส่วนช่วยเหลืออย่างไรกับคนกลุ่มนี้บ้าง เรามีกฎหมายหรือสวัสดิการกับคนกลุ่มนี้แค่ไหน

     จริงๆ แล้วทางภาครัฐในหลายภาคส่วน ในหลายพื้นที่ เขาก็พยายามที่จะสนับสนุนคนไร้บ้าน อย่างเช่นหลักประกันทางสุขภาพ ทางกลุ่มสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็พยายามจะทำงานเชิงรุกมากยิ่งขึ้น ให้เกิดการย้ายสิทธิ์การรักษาพยาบาลของคนไร้บ้านเข้ามาในเขตที่เขาอยู่อาศัยจริงมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้ไม่สร้างข้อจำกัดในการเข้าถึงสุขภาพ หรืออย่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในหลายพื้นที่ก็ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมแล้วก็หนุนเสริมคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านได้ ในหลายบทบาทของเขาสามารถช่วยช้อนกลุ่มที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบางต่างๆ ที่จะเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน หรือกลุ่มคนไร้บ้านที่เพิ่งออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะสามารถกลับมามีชีวิตที่อยู่ในมาตรฐานได้

     แต่แน่นอนว่าการทำงานหลายอย่างก็มีข้อจำกัดหรือมีช่องโหว่เป็นเรื่องปกติ อย่างระบบหลักประกันสุขภาพ ตอนนี้คนไร้บ้านจำนวนหนึ่งก็ถือว่ายังตกหล่นอยู่ เนื่องจากไม่ได้มีสิทธิ์ ไม่ได้มีบัตรประชาชน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพได้ เพราะกฎหมายตีความว่าคนที่จะเข้าถึงหลักประกันสุขภาพหรือสามารถใช้ได้ต้องเป็นคนที่มีบัตรประชาชน

     แต่ตอนนี้ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพก็มองเห็นความสำคัญของปัญหา เราและพี่น้องเครือข่ายที่ทำงานกันอยู่ก็มีโอกาสได้เข้าไปช่วยงานด้วย ก็ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อลองดูกันว่ามีช่องทางไหนที่จะช่วยแก้ไขปัญหาหรือลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการไม่สามารถเข้าถึงอะไรต่างๆ ได้ เราคิดว่ามันก็เป็นนัยยะที่ดี แต่หลายหน่วยงานก็ยังมีการรับรู้ที่ไม่ค่อยดีกับคนไร้บ้านอยู่ ซึ่งเราคิดว่าอันนี้เป็นหน้าที่ของ Penguin Homeless ที่จะต้องทำงานต่อไปในอนาคต เพราะว่าเขาอาจจะมองคนไร้บ้านว่าเป็นกลุ่มคนที่สร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีกับเมือง เป็นกลุ่มคนที่อาจจะสร้างภาระ อันนี้ต้องยอมรับว่ามีหน่วยงานจำนวนหนึ่งยังมองอย่างนั้น

     ในการทำงานสื่อสารต่อไปข้างหน้าของเรา จะต้องเน้นการทำงานเพื่อแก้ไขการตีตราเหล่านี้มากขึ้น อย่างที่บอกไป คนไร้บ้านถูกตีตราว่าเป็นคนขี้เกียจ ไม่เอาไหน จะไปช่วยเขาทำไม ซึ่งหลายมายาคติเป็นเรื่องที่อาจจะไม่จริงเลย คนไร้บ้านอาจจะไม่ได้ขาว แต่คนไร้บ้านก็ไม่ได้ดำ เป็นกลุ่มคนที่มีทั้งขาวและดำเหมือนคนปกติทั่วไป คนทุกคนก็มีทั้งดีทั้งร้ายผสมกัน ในแง่ของการทำงานเราพบว่า 90% ของคนไร้บ้านมีงานทำ แต่ว่ารายได้ที่เขาได้ไม่เพียงพอต่อการใช้และยกระดับชีวิตเท่านั้นเอง

 

คนไร้บ้านส่วนใหญ่มีความเข้าใจในการจัดการเรื่องสวัสดิการของรัฐมากน้อยขนาดไหน

     อันนี้ต้องขอบคุณการทำงานของเครือข่ายคนไร้บ้าน ที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยมานานแล้ว พอพี่น้องคนไร้บ้านจำนวนหนึ่งเขาเริ่มยืนขึ้นได้ เขาก็ไปช่วยเหลือเพื่อนด้วยในหลายๆ อย่าง ส่วนหนึ่งที่ช่วยก็คือข้อมูล เรื่องการเข้าถึงสวัสดิการ การย้ายสิทธิ์ การพาเพื่อนพี่น้องคนไร้บ้านไปทำบัตรประชาชน คนไร้บ้านส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นคนไทย แต่ว่าที่เขาไม่มีบัตรประชาชนก็ด้วยหลายสาเหตุ บัตรหายเป็นเวลานานบ้าง ไม่มีตั้งแต่เกิดบ้าง หรือจะไปทำแต่ไม่มีคนรับรองบ้าง อะไรแบบนี้

 

Penguin Homeless

 

ย้อนกลับไปที่บอกว่าบางหน่วยงานรัฐอาจยังมีมุมมองว่าคนไร้บ้านเป็นตัวปัญหา จริงๆ แล้วมันเป็นมุมมองของคนส่วนใหญ่ในสังคมด้วยหรือเปล่า

     เราพยายามจะศึกษาเรื่องนี้นะ แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป เราคิดว่าคนส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้มองคนไร้บ้านในฐานะปัญหา แต่อาจจะมองคนไร้บ้านว่าเป็นคนที่น่าสงสาร แต่เราไม่ได้อยากให้คนทั่วไปมองคนไร้บ้านในฐานะคนที่น่าสงสาร เราอยากให้มองในฐานะคนที่เท่าเทียมกับสังคมปกติ มีศักยภาพ เพราะการที่มองเขาในฐานะคนที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตหรือสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ จะทำให้สังคมเปิดโอกาสให้กับเขา ทำให้เกิดการจ้างงาน เกิดอะไรต่างๆ ขึ้น

 

อะไรทำให้พวกคุณมองว่าพวกเขาไม่ใช่ปัญหา คุณมองเห็นอะไรในแง่ความเป็นมนุษย์ของคนไร้บ้าน

     คือเราอาจจะตอบแทนในฐานะเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่ทำงานด้วยกัน เพราะเราเองก็ถือว่าหน้าใหม่หากเทียบกับหลายๆ กลุ่ม เช่น มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย หรือมูลนิธิกระจกเงา แต่พวกเราทั้งหมดมีความเชื่อเหมือนกันว่า คนไร้บ้านเป็นคนที่มีศักยภาพ สามารถดึงศักยภาพของพวกเขากลับมาได้ แต่ว่าวิธีในการดึงศักยภาพของพวกเขากลับมาบางทีต้องใช้เวลา อย่างที่บอกไปว่าความหวังในชีวิตของเขามันถูกบั่นทอน ถูกทำลายลงไปโดยระยะเวลา เขาพยายามที่จะลุกขึ้นมา แต่ก็ไม่ได้สักที มันก็บั่นทอนไปเรื่อยๆ แต่อย่างไรก็แล้วแต่ เราเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพที่จะฟื้นขึ้นมา

 

คนที่เขาเต็มใจอยากเป็นคนไร้บ้าน หรือคนที่มีความชื่นชอบหรือความสุขในแบบนี้มีจริงไหม

     เอาตรงๆ ถึงที่สุดแล้วเราก็ยังไม่เชื่อว่ามีใครที่อยากเป็นคนไร้บ้านจริงๆ เราคิดว่าถ้าคุยกับเขาลึกๆ จะมองเห็น ภาวะไร้บ้านคือตัวเลือกสุดท้ายที่เขาจะเลือก เราเคยคุยกับพี่คนไร้บ้านที่เชียงใหม่จำนวนหนึ่ง เขาบอกว่า ‘อาจารย์ มันไม่ง่ายนะ อาจารย์ลองมาคุ้ยถังขยะกับผมไหม’ คืออย่าว่าแต่ล้วงเลย แค่เปิดออกมาบางทีก็ไม่ไหวแล้ว หรือการนอนในพื้นที่สาธารณะสักคืนหนึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะว่ามันไม่ได้เป็นเรื่องแค่ว่านอนในพื้นที่เปิดโล่ง แต่มันมีความเสี่ยงต่างๆ มีความหวาดระแวง มีอะไรหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้น

     บางทีคนที่ตอบว่าเต็มใจนั้นก็คือคนที่เริ่มเป็นคนไร้บ้านมานานแล้ว เขาเริ่มชินกับภาวะไร้บ้านต่างๆ แล้ว แต่ว่าเราก็มีทีมที่ไปทำวิจัยถามคนไร้บ้านหน้าใหม่ คนที่เพิ่งไร้บ้านเป็นระยะเวลา 0-1 ปี เขาจะมีมุมมองอีกแบบหนึ่ง ด้วยความที่เขายังไม่ชินกับวิถีชีวิตแบบไร้บ้าน เขาก็ยังรู้สึกว่า เฮ้ย ชีวิตเขาต้องดิ้นรนที่จะกลับไปมีบ้านเหมือนเดิม เพราะว่าเขาใช้ชีวิตลำบากหลายอย่าง สิ่งที่งานวิจัยพยายามทำให้เห็นก็คือ พอพี่น้องคนไร้บ้านอยู่ในพื้นที่สาธารณะต่างๆ ความหวังในชีวิตก็เริ่มน้อยลงๆ แต่ไม่ได้น้อยลงเพราะเขาอยากให้น้อยลง มันน้อยลงตรงที่เขาพยายามจะยกระดับตัวเองหลายที แต่ก็ขึ้นมาไม่ได้สักที 

     สิ่งที่แผนเราพยายามเสนอคือ น่าจะดีหากเรามีจุดคานงัดกับคนไร้บ้านที่เป็นหน้าใหม่ เพราะกลุ่มนี้จะสามารถฟื้นฟูได้ไว ซึ่งคนไร้บ้านถาวรเราก็ต้องทำงานกับเขา แต่อาจจะต้องทำงานอย่างหนัก ต้องฟื้นฟูความหวังอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้น งานของคนไร้บ้านในแต่ละระดับจะต่างกัน คือคนที่อยู่มานานก็ต้องฟื้นฟูจิตใจที่ถูกทำลายด้วยเวลา นี่ยังไม่รวมประเด็นทางสุขภาพนะ เพราะการอยู่ในพื้นที่สาธารณะคือการบั่นทอนทางกายและใจอย่างชัดเจน

 

เราควรต้องเตรียมรับมืออย่างไรกับแนวโน้มในอนาคตที่กำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นเรื่องที่ต้องกังวลมากน้อยขนาดไหน เพราะมันอาจส่งผลให้จำนวนประชากรคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นอีก

     ตอนนี้ค่อนข้างชัดเจน ประการแรก คนไร้บ้านมีสัดส่วนเป็นผู้สูงอายุเกิน 20% คือเป็นสังคมสูงวัยแล้วสำหรับคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานคร ซึ่งถือว่าเยอะกว่าสัดส่วนผู้สูงอายุในประชากรไทยโดยรวม ประการที่สอง ล่าสุดเราไปเดินเยี่ยมเดินคุยกับพี่น้องแถวหัวลำโพง ปรากฏว่าก็เจอคนที่เป็นผู้สูงอายุมากขึ้น อันนี้น่าสนใจ เพราะแต่เดิม สถาบันชุมชนหรือสถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่รองรับและดูแลผู้สูงอายุต่างๆ แต่ว่าในหลายพื้นที่ตอนนี้ เราเริ่มเห็นมีกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มีใครดูแลมากขึ้น 

     แม้คนไร้บ้านจากผลสำรวจจะออกมาไร้บ้านในช่วงอายุ 45-55 แต่เราคิดว่าในอนาคตอาจมีแนวโน้มที่จะเห็นผู้สูงอายุเข้าสู่ภาวะไร้บ้านที่มากขึ้น ด้วยปัจจัยทางด้านครอบครัวก็ดี ด้วยปัจจัยทางการบีบคั้นทางเศรษฐกิจก็ดี ปัจจัยของการขาดผู้ดูแลก็ดี ก็เป็นโจทย์ที่น่าจะคิดต่อไปในอนาคต เพราะว่าผู้สูงอายุที่เข้าสู่ภาวะไร้บ้านเกือบทั้งหมดคือกลุ่มคนที่ไม่ได้มีหลักประกันทางสังคม อาจเป็นกลุ่มคนที่เคยเป็นแรงงานรับจ้างรายวันหรือแรงงานที่ไม่ได้มีสวัสดิการด้านการจ้างงานมาก่อน พอเข้าสู่ช่วงสูงวัย ก็ทำงานได้น้อยลง บางคนอาจจะป่วยเรื้อรัง ทำให้รายได้ต่างๆ ของเขาไม่มี อันนี้ก็เป็นโจทย์ที่น่าสนใจ

 

Penguin Homeless

 

นอกจากคนไร้บ้านที่เป็นคนไทยแล้ว เรามีประเด็นคนไร้บ้านที่มาจากต่างชาติมากน้อยขนาดไหน

     เราเคยคิดว่าการเปิด AEC น่าจะทำให้มีคนไร้บ้านต่างชาติเพิ่มขึ้น ปรากฏว่าแทบไม่มีเลย คือสัดส่วนน้อยมาก ในกรุงเทพฯ แทบไม่มี โอเค แถวเชียงใหม่อาจจะพอมีบ้าง แต่อย่างในกรุงเทพฯ เรายังไม่เห็น ก็น่าประหลาดใจพอสมควร

 

รัฐบาลใหม่ที่กำลังจะมาจากการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดนี้ ควรมีนโยบายอะไรเกี่ยวกับประเด็นคนไร้บ้านที่ต้องแก้ไขหรือเพิ่มเติมบ้าง

     โดยส่วนตัวเราไม่ได้มีความรู้มากนักในแง่ของการดีไซน์เรื่องนโยบายการคลังหรืออะไรต่างๆ แต่ถึงที่สุดแล้ว นโยบายเรื่องสวัสดิการถ้วนหน้าในหลายๆ แบบ มันจะไม่ใช่แค่ช่วยแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน แต่จะช่วยให้กลุ่มคนที่เป็นกลุ่มเปราะบางต่างๆ สามารถกลับมามีชีวิตที่มีคุณภาพได้

     ถามว่าทำไมต้องถ้วนหน้า เพราะว่าเราเห็นได้ชัดเจน ถ้าไม่ถ้วนหน้า สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเกิดการตกหล่นของคนที่ควรจะได้ หรือคนที่มีความเปราะบางมากและควรจะได้ แล้วสวัสดิการที่รัฐบาลปัจจุบันให้มาหลายๆ อย่างที่เป็นลักษณะเฉพาะ เช่น บัตรคนจน เราเห็นได้ชัดเจนว่ามันเกิดการตกหล่นของคนจำนวนมาก คนไร้บ้านจำนวนมากก็ไม่สามารถเข้าถึงบัตรคนจนได้ อันนี้คุณต้องเข้าไปดู มันควรต้องทบทวนอย่างแรกว่าทำไมมันถึงตกหล่น อย่างที่สองคือมันใช้เกณฑ์อย่างไร ทำไมคนถึงยังตกหล่น ซึ่งเราคิดว่าถึงที่สุด ถ้าคุณยังไม่สามารถทำระบบข้อมูลได้อย่างแม่นยำก็ลำบาก เพราะสวัสดิการแบบถ้วนหน้ามันจะช่วยป้องกันหลายๆ อย่าง แล้วก็ป้องกันกลุ่มที่จะเสี่ยงเข้าสู่ภาวะความไม่มั่นคงต่างๆ ด้วย

 

จะมีวันที่เราสามารถแก้ไขเรื่องคนไร้บ้านให้หมดไปได้ไหม หากไม่ได้ เราจะมีวิธีอยู่ร่วมกันอย่างไร

     คนไร้บ้านไม่มีทางที่จะหมดไปได้ แต่ทำอย่างไรให้คนเข้าสู่ภาวะไร้บ้านสามารถตั้งหลักชีวิตได้เร็วที่สุด หรือสามารถสร้างทางเลือกให้เขาสามารถตั้งหลักชีวิตได้ อันนี้คือโจทย์ที่สำคัญ มันเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะเอาคนไร้บ้านออกไปทั้งหมด

     คนไร้บ้านเป็นปรากฏการณ์ที่อยู่คู่กับเมืองมาเป็นเวลานาน แม้ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจน้อยมากก็ยังมีคนไร้บ้าน เราคิดว่าในที่สุดแล้ว นโยบายควรออกมาว่าคุณจะสร้างโอกาส สร้างความเท่าเทียมทางโอกาส หรือลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาได้อย่างไร ให้เขากลับมาตั้งหลักได้ไวที่สุด หรือสามารถมีช่องทางในการตั้งหลักได้มากที่สุด