Perfectly Imperfect

Perfectly Imperfect: คืนคุณค่าที่แท้จริงของพืชผลที่ถูกมองข้ามเพราะไม่เปอร์เฟ็กต์

เมล็ดพันธุ์ชนิดหนึ่งถูกหว่านลงบนดินผืนเดียวกัน รดน้ำบ่อเดียวกัน ได้รับการประคบประหงมอย่างเท่าเทียมกัน แต่ด้วยสภาพตามธรรมชาติที่ไม่อาจควบคุม ส่งผลให้พวกมันเติบโตขึ้นมามีสภาพแตกต่างกัน ซึ่งผลที่ไม่อวบ ไม่เต่ง ไม่ตึง และไม่ได้มีผิวพรรณนวลเนียน จะไม่ได้ไปต่อ

        เบบี้แครอตสามขา ซูกินีผลโค้งงอ มะเขือเทศเชอรีไซซ์เล็กกว่าเกณฑ์ อาจเป็นผักผลไม้ตกเกรดในนิยามของตลาด แต่ถ้าไม่ด่วนตัดสินเพียงแค่เปลือกนอก จะมองเห็นคุณค่าที่แท้จริงของพวกมัน แม้ไม่เปอร์เฟ็กต์ แต่ผลผลิตทุกหน่วยเต็มไปด้วยน้ำพักน้ำแรงของเกษตรกร แถมคุณค่าทางโภชนาการทุกอย่างยังอยู่ครบถ้วน 

        Greyhound Cafe’ ร้านอาหารที่ไม่ได้เสิร์ฟแค่อาหารอร่อย แต่ยังใส่ความคิดลงในอาหารทุกจาน ด้วยเชื่อว่าร้านอาหารเป็นส่วนหนึ่งของสังคม สัมพันธ์กับโลก เมื่อสิ่งแวดล้อมโลกกำลังวิกฤต ทุกคนต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลง จึงจับมือกับมูลนิธิโครงการหลวงและบัตรเครดิต Citi ริเริ่มแคมเปญ Perfectly Imperfect เพื่อคืนคุณค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรที่ถูกมองข้าม รวมถึงรณรงค์ให้สังคมเห็นความสำคัญในเรื่องการลด Food Waste 

        แคมเปญเริ่มต้นตั้งแต่ 1 มิถุนายน และสิ้นสุดเมื่อ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ช่วยลดผลผลิตตกค้างให้เกษตรกรไทย และจุดประกายการใช้ไอเดียสร้างสรรค์ในการช่วยโลก ทำให้เกิดการแชร์ต่อในสังคมออนไลน์ และสร้างรอยยิ้มให้ผู้บริโภค แต่ความตั้งใจในการสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ดียังไม่จบลงเท่านี้ 

        “อย่าทำอะไรฉาบฉวยหรือคิดว่าทำให้เป็นกระแสก็พอ ถ้าเราไม่ฉาบฉวย ลูกค้าก็จะไม่เดินเข้าร้านเราแค่วันเดียวแล้วหายไป แต่เขาจะกลับมาหาเราเรื่อยๆ และคอยมองพัฒนาการของเราต่อไป” 

        นี่คือคำยืนยันจาก ‘แพรว’ – วรุณทิพย์ โตวรรณสูตร Senior Marketing Manager แห่ง Greyhound Cafe’ หนึ่งในทีมงานหลักผู้ร่วมปลุกปั้นแคมเปญนี้ 

 

Perfectly Imperfect

ประเด็นสิ่งแวดล้อมอยู่ในความสนใจของคนทั่วโลก และมีวิธีการต่างๆ มากมายในการช่วยโลก เพราะอะไรเกรฮาวด์ถึงเลือกประเด็นเกี่ยวกับ Food Waste 

        ก่อนหน้านี้ทีมมาร์เกตติ้งและทีมงานอื่นๆ ของเกรฮาวด์ก็ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหา food waste (อาหารถูกทิ้ง) มากนัก แต่พอดีว่าปีที่แล้วพนักงานหลายๆ ทีมในองค์กรได้นั่งดูสารคดีเรื่อง Waste! The Story of Food Waste (2017) พร้อมกัน เป็นสารคดีที่ถ่ายทอดให้เห็นปัญหาและการหาวิธีการแก้ไขปัญหาอาหารถูกทิ้งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ มันจุดประกายให้คนทำร้านอาหารอย่างเราเห็นว่าเราน่าจะทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยแก้ปัญหา food waste ในบ้านเราได้ แถมไอเดียนี้ยังสอดคล้องกับข้อมูลที่เราได้จากการร่วมงานกับโครงการหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงก่อนหน้านี้

        คือทางโครงการหลวงฯ ได้เล่าให้ฟังว่าในการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรแต่ละรอบ เกษตรกรต้องคัดผักผลไม้ราว 20-30 เปอร์เซ็นต์ออกไป เพราะไม่ได้มาตรฐาน กลายเป็นผักผลไม้ตกเกรด ด้วยเหตุผลที่ว่ารูปร่างหน้าตาไม่สวย ใหญ่ไป เล็กไป รูปร่างโค้งงอ หรือดูผิดปกติ คนก็ไม่ซื้อ เมื่อไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ทางโครงการหลวงฯ ก็รับซื้อไว้ไม่ได้เช่นกัน สุดท้ายทั้งร้านอาหาร โรงแรม รวมถึงซูเปอร์มาร์เกต แทบไม่มีธุรกิจใดรับซื้อผักผลไม้ตกเกรดเหล่านั้นเลย 

        แต่ทุกคนล้วนมีเหตุผลของตัวเอง โรงแรมขายอาหารในราคาแพง ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องรูปร่างหน้าตาของอาหารมาก ส่วนร้านอาหารที่เป็นระดับไฟน์ไดนิงก็ต้องนำเสนอวัตถุดิบหน้าตาดีๆ ให้กับคนที่เขาจ่ายเงินแพงๆ มากินอาหาร ส่วนตัวซูเปอร์มาร์เกต ต่อให้เขายอมรับซื้อผลผลิตเหล่านั้นไป สุดท้ายไปวางรวมกันอยู่บนชั้นวางผัก ไม่มีใครหยิบ แล้วผักผลไม้เหล่านั้นย่อมกลายเป็นต้นทุนที่เขาต้องแบกรับต่อไป 

        ขณะที่เกรฮาวด์มองเห็นว่าจริงๆ แล้วในฐานะร้านอาหาร เราสร้างความสวยงามให้อาหารแต่ละจานผ่านการนำมาหั่น สับ ซอย รวมถึงปรุงอาหารด้วยเทคนิคต่างๆ เรามีเชฟที่มีฝีมือในการทำอาหารให้อร่อยและสวยงาม สุดท้ายคนกินอาหารก็ไม่ได้เห็นหรอกว่าตอนแรกผักผลไม้เหล่านี้มีหน้าตาอย่างไรมาก่อน 

เป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อทีมงานมากน้อยแค่ไหน 

        สำหรับทีมครัว ด้วยวิชาชีพของเชฟ เขาถูกสอนมาอยู่แล้วว่าให้รู้จักใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ให้เกิดคุณค่ามากที่สุด เพราะมันเป็นเรื่องของการบริหารต้นทุนและเป็นการฝึกให้เชฟทำอาหารโดยมีอาหารถูกทิ้งน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย โจทย์นี้จึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเขา 

        ส่วนของทีมมาร์เกตติ้งและร้านอาหารถือว่าทำเอาคิดหนักเหมือนกัน เพราะนอกจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสื่อสารออกไป เรายังต้องวางแผนเพื่อเตรียมรับมือกับคำถามต่างๆ นานาจากลูกค้า เช่น เขาจะคิดว่าเรานำของไม่ดีมาขายให้เขากินหรือเปล่า หรืออาหารที่ทำมาจากผักผลไม้ตกเกรดเหล่านี้ปลอดภัยต่อร่างกายแค่ไหน เราจึงลงพื้นที่ไปคุยกับเกษตรกรเพื่อพิสูจน์ข้อสงสัยเหล่านี้ 

ทรัพยากรต่างๆ ทั้งน้ำ ดิน และแรงงานที่เกษตรกรทุ่มเทลงไปในการเพาะปลูกแต่ละครั้งใช้เท่ากัน แต่ธรรมชาติได้ทำให้พวกมันเติบโตขึ้นมามีหน้าตาไม่เหมือนกัน

จากการลงพื้นที่ไปถึงแหล่งเพาะปลูก มีเรื่องราวอะไรที่ผู้บริโภคในเมืองอย่างเราไม่เคยรู้มาก่อนบ้าง 

        โห มีเยอะแยะเลย เราได้ค้นพบว่า ทรัพยากรต่างๆ ทั้งน้ำ ดิน และแรงงานที่เกษตรกรทุ่มเทลงไปในการเพาะปลูกแต่ละครั้งใช้เท่ากัน แต่ธรรมชาติได้ทำให้พวกมันเติบโตขึ้นมามีหน้าตาไม่เหมือนกัน และด้วยความที่โครงการหลวงฯ พยายามที่จะไม่ใช่ปุ๋ยหรือสารเคมี ก็ยิ่งทำให้ควบคุมผลผลิตได้น้อยลง สุดท้ายผักผลไม้จึงมีรูปร่างหลายแบบ ผิดไปจากมาตรฐาน โดยเฉพาะเรื่องขนาดที่แตกต่างและความโค้งงอของผล 

        มะเขือเทศเชอรีช่วงที่พร้อมเก็บเกี่ยว เชื่อไหมว่าในช่อหนึ่งขายได้ไม่หมดทุกผล เพราะมันจะมีส่วนที่ยังเติบโตไม่ถึงขนาดมาตรฐาน แต่ 60-70 เปอร์เซ็นต์ของช่อกลับสุกและโตเต็มที่แล้ว จึงรอนานกว่านี้ไม่ได้ เท่ากับว่าเขาต้องตัดส่วนปลายของมะเขือเทศช่อนี้ทิ้งไป แต่เกษตรกรแอบบอกเราว่ามะเขือเทศที่ถูกคัดทิ้งเหล่านี้นี่แหละคือส่วนที่หวานที่สุด เพราะได้สารอาหารเต็มที่ที่สุด (ยิ้ม)​ 

        เบบี้แครอต ถ้ามีขนาดใหญ่เกินไปจะไม่ได้มาตรฐานของมันเช่นกัน หรือถ้าระหว่างเพาะปลูกเกิดมีบางส่วนที่โผล่พ้นดินมากกว่าปกติก็ทำให้ส่วนนั้นมีสีเขียว และถ้าเผลอให้น้ำเบบี้แครอตมากเกินไปก็ทำให้เนื้อของมันแตก ไม่สวยงาม สุดท้ายก็ถูกคัดทิ้ง 

        ซูกินีก็เหมือนกัน พอไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ผลผลิตก็โค้งงอได้ง่าย แล้วเกษตรบางรายมีพื้นที่เป็นร้อยๆ ไร่ แต่มีเพียงเขาและภรรยาเท่านั้นที่ทำหน้าที่เก็บผลผลิต ถ้าเก็บไม่ทันในตอนเช้า ตกเย็นผลของมันก็จะใหญ่โตเกินไป แล้วห้างก็จะไม่รับซื้อ หรือโครงการหลวงฯ ก็ซื้อไม่ได้เช่นกัน ทั้งที่รสชาติของมันยังอร่อยเหมือนเดิม 

 

Perfectly Imperfect

สุดท้ายแล้วผลผลิตที่ไม่เปอร์เฟ็กต์ตามเกณฑ์มาตรฐานจะไปรวมกันอยู่ที่ไหน 

        ผลผลิตที่ไม่ผ่านเกณฑ์คัดเลือก ในขั้นเริ่มต้นเกษตรพยายามจะบริหารจัดการด้วยตัวเองก่อน เช่น นำไปขายในราคาที่ถูกมากๆ เพื่อให้มีเงินเข้ามาเท่านั้นเอง สองคือนำไปทำอาหารกินเองในครัวเรือน ถ้ายังเหลือค้างอยู่ก็จะนำไปเป็นอาหารสัตว์ สุดท้ายถ้ายังมีเหลืออีก บางคนจะนำไปทำเป็นปุ๋ย แต่ไม่ใช่ทุกคนเพราะการทำปุ๋ยล็อตหนึ่งใช้เวลาในการหมักประมาณสองถึงสามเดือน หลายคนจึงไม่สะดวก สุดท้ายเขาจะกองผลผลิตเหล่านั้นทิ้งไว้ในไร่ ไม่เกิดประโยชน์กับใคร แถมพอปล่อยทับถมกันไปนานๆ ยังก่อให้เกิดแก๊สมีเทนอีกด้วย 

การที่ทุกคนมองหาแต่วัตถุดิบที่เปอร์เฟ็กต์ที่สุดคือตัวการสำคัญที่ทำให้เกิด food waste ใช่หรือเปล่า 

        ก็ถือว่ามีส่วนสำคัญ แต่จริงๆ แล้ว food waste เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่อุปทาน นับตั้งแต่เกษตรกรคัดผลผลิตส่วนที่ไม่ได้มาตรฐานทิ้ง ส่งส่วนที่สมบูรณ์เข้ามากรุงเทพฯ แต่ก็ต้องเกิดของเสียระหว่างการขนส่ง และเมื่อผลผลิตเข้ามาอยู่ในซูเปอร์มาร์เกตแล้วขายไม่หมดก็เกิดของเสียอีกทอดหนึ่ง หลังจากนั้นถ้าผู้บริโภคซื้อวัตถุดิบมาปล่อยทิ้งไว้ ไม่ได้นำมาทำอาหาร หรือทำแล้วกินไม่หมด เท่ากับว่าทุกกระบวนการมีการทิ้งวัตถุดิบทั้งนั้นเลย ส่วนที่ถูกทิ้งมากที่สุดน่าจะเป็นส่วนของผู้บริโภค

        ทำไมเราถึงเลือกช่วยเกษตรกรก่อน? เพราะเราเห็นว่ามันคือจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับทั้งวงจรการผลิตและการบริโภค เช่น ถ้าผลผลิตของเขาถูกคัดทิ้ง รายได้น้อย ต่อไปเขาอาจจะใช้ยาฆ่าแมลงเกินกำหนดเพื่อให้ซูกินีลูกนั้นโต สวยงาม นำไปขายได้ ซึ่งมันจะส่งผลไปสู่ระบบนิเวศทั้งหมด น้ำและดินที่เขาใช้เพาะปลูกจะเป็นพิษ เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของตัวเกษตรกร รวมถึงลมอาจพาสารเคมีจากแปลงของเขาไปปนเปื้อนในแปลงข้างๆ กระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้สารเคมีไปด้วย 

ในการรับซื้อผลผลิตที่ถูกคัดออกเหล่านี้ คุณจ่ายในราคาเทียบเท่ากับผลผลิตมาตรฐานหรือเปล่า

        เรารับซื้อมาในราคาที่ถูกกว่านิดหน่อย แต่เราขายในราคาปกติเพราะ หนึ่ง เราไม่อยากให้ลูกค้ามองว่าผักผลไม้ที่หน้าตาหรือผิวพรรณไม่สวยคือของตกสเปกราคาถูก สอง ในแง่ของวัตถุดิบโดยรวมต่ออาหารจานหนึ่ง เราใช้ผักผลไม้ที่รับซื้อมาราว 20 เปอร์เซ็นต์ ถึงแม้ว่าเราจะชูให้มันเป็นพระเอก แต่อย่าลืมว่าเรายังใส่วัตถุดิบอื่นๆ เช่น หมู เป็ด ปลากะพง ดอกไม้ที่ใช้ในการบริโภค ฯลฯ ซึ่งเราใช้วัตถุดิบเหล่านี้ในเกรดที่ดีเทียบเท่ากับเมนูปกติในร้านของเรา แต่เราเลือกที่จะเพิ่มคุณค่าให้กับผักผลไม้ที่ไม่สมบูรณ์เหล่านั้นด้วยการนำผักมาสับแล้วทอดกับไข่ เป็นเทคนิคเดียวกับการทำไข่เจียวชะอม หรือพอเราเลือกปรุงอาหารโดยใช้ซูกินีที่รูปร่างโค้งงอ เราต้องค่อยๆ ขูดเพื่อให้ซูกินีออกมาเป็นเส้นยาวตามที่เราต้องการ แปลว่าต้องใช้เวลายาวนานกว่าการขูดซูกินีที่รูปร่างปกติ 

 

Perfectly Imperfect

 

        ซึ่งในแคมเปญ Perfectly Imperfect นี้เราเลือกใช้ผักผลไม้รวมทั้งหมด 6 ชนิดที่เป็นผลผลิตตามฤดูกาลทั้งหมด ได้แก่ เห็ตพอตโตเบลโล มันเทศญี่ปุ่น เบบี้แครอต มะเขือเทศเชอรี ซูกินี และเสาวรส โดยนำมาใช้ประกอบเป็นอาหารคาว อาหารหวาน และเครื่องดื่ม รวม 8 เมนู ได้แก่ สลัดเห็ดพอตโตเบลโล, ก๋วยเตี๋ยวน้ำเส้นอูด้ง, แกงส้มปลากะพง ไข่ปลาริวกิว, ข้าวเห็ดพอตโตเบลโลย่างผัดฉ่า, สปาเกตตีผัดซูกินีเส้น, มันหวานญี่ปุ่นสองสีเชื่อม, บัวลอยหัวกะทิ และกรานิตาเสาวรส 

 

Perfectly Imperfect

Perfectly Imperfect

คุณค่าที่แท้จริงของพืชผลเหล่านี้คืออะไร 

        โดยส่วนตัวเราคิดว่ามันอยู่ที่ว่าสารอาหารยังอยู่ครบหรือเปล่า ผักที่หน้าตาผิดแปลกไปจากเพื่อนไม่ได้แปลว่าไม่มีวิตามินหรือไร้คุณค่าทางโภชนาการ แต่เพราะไม่ได้รับสารเคมีต่างหาก ประโยชน์กับรสชาติของมันยังเหมือนเดิม เราอยากให้ลูกค้าเปลี่ยนมุมมอง Don’t judge a vegetable by its cover. อย่าตัดสินว่าผักผลไม้ไม่มีคุณค่าเพียงเพราะว่ามันไม่สวย การที่มันไม่สวยเพราะไม่ได้รับเคมีแต่สุดท้ายกลับต้องถูกคัดทิ้งไปนับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก 

        แต่อย่างไรก็ตาม ในการที่จะทำให้คนมองเห็นจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เราจึงสร้างความรู้ความเข้าใจกับสังคมด้วยการพารายการทีวีลุยไปคุยกับเกษตรกรพร้อมกับพวกเรา เชิญสื่อมวลชนไปสัมผัสกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในไร่ รวมทั้งทีมมาร์เกตติ้งเองก็ต้องสร้างคอนเทนต์ของเราเพื่อให้ข้อมูลความรู้กับผู้บริโภคด้วย เพราะเราเลือกทำในเรื่องที่คนไทยยังไม่คุ้นเคย 

        อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นหัวใจสำคัญของแบรนด์เกรฮาวด์ จะทำอย่างไรให้เราสื่อสารออกมาให้สนุก และมีความคิดสร้างสรรค์ ภาพประกอบแคมเปญจึงใช้ภาพของผักผลไม้ที่ถูกนำมาจัดวางเหมือนกับผลงานศิลปะ เพื่อสื่อสารให้ทุกคนเห็นว่าผักผลไม้แต่ละหัวต่างมีคาแรกเตอร์เฉพาะตัวของมัน แล้วมันน่าสนใจกว่าตั้งเยอะเลยนะในการที่คุณจะได้เห็นแครอตสามขา หรือว่าซูกินีที่โค้งงอ ถ้ามองให้ลึกลงไปจะพบว่ามันคือสิ่งของที่มีชิ้นเดียวในโลกเลยนะ 

 

Perfectly Imperfect

แล้วโดยส่วนตัวคนทำเองล่ะ การทำแคมเปญนี้เปลี่ยนแปลงตัวคุณไปอย่างไรบ้าง

        หลังจากเข้าไปศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ทำให้เรามองเห็นความทุ่มเทและการลงแรงบนความยากลำบาก กว่าจะเพาะปลูกให้ผักผลไม้เติบโตขึ้นมาได้นั้นต้องใช้น้ำเยอะแค่ไหน ต้องใช้แรงกายมากเท่าไหร่ เราเองเป็นคนทำอาหาร มักจะซื้อวัตถุดิบจากซูเปอร์มาร์เกต ซึ่งซูเปอร์มาร์เกตที่เราไปซื้อของแทบไม่มีของตกเกรดเลย ทุกสิ่งที่ถูกคัดสรรมาวางไว้ล้วนมีหน้าตาและผิวพรรณสวยงามทั้งนั้น เราจึงไม่สามารถซื้อของเหล่านี้ได้โดยตรง แต่จะทำในส่วนที่ตัวเองพอจะทำได้ เช่น ซื้อของแบบมีสติ เท่าที่จำเป็นต่อการใช้เท่านั้น และเดี๋ยวนี้จะทำเมนูของเหลือจากตู้เย็นเพื่อเคลียร์วัตถุดิบที่ค้างไว้ให้หมด ไม่ให้มีอะไรต้องถูกทิ้ง 

        นอกจากนี้เรายังพยายามจะลดการใช้พลาสติกครั้งเดียว โดยการใช้แรปห่ออาหารที่ทำมาจากผ้าเคลือบขี้ผึ้ง ซึ่งทำความสะอาดและนำมาใช้ซ้ำได้เป็นปีๆ ไม่ต้องทิ้งทุกครั้งอีกแล้ว ไอเดียนี้ได้มาจากการทำแคมเปญก่อนหน้านี้ของเกรฮาวด์เช่นกัน รวมถึงการแยกขยะก่อนทิ้งด้วย เราเองไม่รู้หรอกว่าปลายทางจะเป็นอย่างไร แต่เราเริ่มทำในสิ่งที่เราทำได้ตรงนี้ก่อน ในที่สุดถ้าทุกคนเริ่มทำในส่วนของตัวเอง เราเชื่อว่ามันจะส่งต่อกันไปเป็นวงที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ 

เราจะคิดว่าเราเป็นแค่ร้านอาหารที่ขายแค่อาหารอย่างเดียวมันไม่เพียงพอแล้ว เราต้องยืนหยัดในอะไรสักอย่างด้วย เพราะการที่ลูกค้าจะมากินอาหารของเรา ไม่ใช่แค่เพราะว่าอาหารอร่อยหรือตกแต่งร้านสวย ของเหล่านี้ใครๆ ก็ทำได้ แต่ลูกค้าจะเลือกมากินอาหารที่ร้านนี้ เขาต้องรักในแบรนด์ของเรา 

การร่วมรณรงค์และสร้างความตระหนักต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมส่งผลต่อคุณค่าของแบรนด์เกรฮาวด์อย่างไร

        หนึ่ง คู่แข่งทางร้านอาหารมีเยอะมาก สอง คนให้ความสนใจต่อประเด็นทางสังคมมากขึ้น เราจะคิดว่าเราเป็นแค่ร้านอาหารที่ขายแค่อาหารอย่างเดียวมันไม่เพียงพอแล้ว เราต้องยืนหยัดในอะไรสักอย่างด้วย เพราะการที่ลูกค้าจะมากินอาหารของเรา ไม่ใช่แค่เพราะว่าอาหารอร่อยหรือตกแต่งร้านสวย ของเหล่านี้ใครๆ ก็ทำได้ แต่ลูกค้าจะเลือกมากินอาหารที่ร้านนี้ เขาต้องรักในแบรนด์ของเรา 

        ถ้าคิดสั้นๆ ร้านอาหารคงต้องการให้ผู้บริโภคสั่งอาหารของเราเยอะๆ เหลือทิ้งไม่เป็นไร เพราะยังไงเงินก็เข้ากระเป๋าเรามากกว่า แต่ถ้าคุณมองเห็นว่าร้านอาหารเป็นส่วนหนึ่งของสังคม สัมพันธ์กับโลก เมื่อสิ่งแวดล้อมโลกกำลังวิกฤต เราทุกคนต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลง นี่คือตัวตนของเกรฮาวด์ เราอยากให้ลูกค้าสั่งเท่าที่พอกิน อย่าเหลือเลย เพราะสุดท้ายอาหารเหล่านั้นก็ต้องถูกทิ้งไปอยู่ดี 

 

Perfectly Imperfect

ดูเหมือนว่าความสนใจของคนในสังคมตอนนี้จะผลักดันให้แบรนด์ต่างๆ ต้องออกมาทำแคมเปญเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ถ้าวันนี้ไม่ทำ วันหน้าผู้บริโภคก็จะเรียกร้องให้ทำ 

        ก็อาจจะใช่ เพราะว่าผู้บริโภคเขาก็ติดตามข่าวสาร เสพสื่อทั่วโลก ย่อมเห็นว่าประเด็นที่สำคัญต่อสังคมมีอะไรบ้าง แต่เราคิดว่าผู้บริโภคในเมืองไทยยังไม่ได้ลุกขึ้นมาบอกว่าทุกร้านอาหารจะต้องรณรงค์เรื่อง food waste เรายังไปไม่ถึงจุดนั้น แต่ถ้าเป็นเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมในแบบอื่นๆ เช่น การใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เราก็คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้บริโภคจะเรียกร้องจากแบรนด์ต่างๆ เกรฮาวด์เองก็ถูกถามมาเหมือนกันว่า ทำไมเรายังใช้หลอดพลาสติกอยู่เลย ซึ่งจริงๆ แล้วพลาสติกที่เราใช้สำหรับใส่อาหารนำกลับบ้าน รวมถึงหลอดที่เราใช้ก็เป็นพลาสติกแบบ Environmentally Degradable หรือพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ 

        เวลาเกรฮาวด์จะเริ่มทำสิ่งดีๆ เพื่อสังคม เรามักถูกตั้งคำถามว่า “ทำเพราะแบรนดิ้งเท่านั้นหรือเปล่า?” “ถ้าไม่ใช่เพราะห่วงภาพลักษณ์ ไม่มีทางธุรกิจจะยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง” ทีมมาร์เกตติ้งมีหน้าที่ที่จะสื่อสารออกไปให้สังคมเกิดความเข้าใจ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ซึ่งนับเป็นโจทย์ที่ท้าทายกับคนทำงานมาก และสำคัญที่สุดคือจุดยืนของเราต้องชัดเจน ทีมงานทุกคนต้องเข้มแข็งพอที่จะยืนหยัดว่าเนื้อแท้ของพวกเราเป็นอย่างที่พูดออกไปจริงๆ รวมถึงให้เวลากับการปรับตัวของเราและให้เวลาลูกค้าในการทำความเข้าใจด้วย 

มันส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าด้วย ถ้าสั่งอาหารมาแล้วต้องกินให้หมดจาน เพราะเมื่อร้านอาหารทำในส่วนของตัวเองแล้ว เขาก็จะทำในส่วนของเขาบ้างเช่นกัน นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลถึงกัน

สุดท้ายผู้บริโภคเข้าใจในจุดประสงค์ของแคมเปญ Perfectly Imperfect มากแค่ไหน ผลตอบรับดีหรือเปล่า 

        ถ้าเป็นเรื่องฟีดแบ็กจากลูกค้า เราดีใจมากเพราะเขาให้ความสนใจกันมาก ตั้งแต่ประเด็นของการนำผักผลไม้ที่หน้าตาไม่สวยมาทำให้เป็นอาหารที่รสชาติดีและหน้าตาสวย เขารู้สึกดีที่วันหนึ่งร้านอาหารลุกขึ้นมาจับประเด็นนี้สักที พอเขาเห็นเราโพสต์รายละเอียดของแคมเปญนี้ เขาก็เข้ามาคอมเมนต์กันว่าดีใจที่เกรฮาวด์ทำแคมเปญนี้ออกมา เดี๋ยวต้องไปกิน หรือบางคนกินไปแล้วก็นำภาพมาโพสต์ให้ดู คนแชร์กันเต็มไปหมด 

        แล้วมันส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าด้วย ถ้าสั่งอาหารมาแล้วต้องกินให้หมดจาน เพราะเมื่อร้านอาหารทำในส่วนของตัวเองแล้ว เขาก็จะทำในส่วนของเขาบ้างเช่นกัน นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลถึงกัน 

        แคมเปญนี้เริ่มตั้งแต่ 1 มิถุนายน ถึง 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ตลอดสามเดือนนี้เราซื้อพืชผลจากเกษตรกรไปราวๆ 5 ตันกว่า เราอยากจุดประกายให้ร้านอาหารอื่นๆ ที่เห็นแคมเปญนี้ รวมถึงผู้บริโภคที่ได้มาลองกินอาหารของเราตระหนักว่าทุกคนเริ่มต้นทำในสิ่งที่ช่วยสิ่งแวดล้อมของโลกได้ จากตัวคุณเองก่อนแล้วชวนเพื่อนๆ ซึ่งวงของคุณจะขยายออกไปเรื่อยๆ 

จะทำอย่างไรให้การรักษาสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในความสนใจของสังคมตอนนี้เกิดความยั่งยืน ไม่ใช่เป็นกระแสที่เกิดขึ้นมาประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็หายไป 

        จุดยืนของเราต้องชัดเจนและต้องทำอย่างที่เราพูดจริงๆ อย่าทำอะไรฉาบฉวยหรือคิดว่าทำให้เป็นกระแสก็พอ ถ้าเราไม่ฉาบฉวย ลูกค้าก็จะไม่เดินเข้าร้านเราแค่วันเดียวแล้วหายไป แต่เขาจะกลับมาหาเราเรื่อยๆ และคอยมองพัฒนาการของเราต่อไป

        กับแคมเปญ Perfectly Imperfect นี้ก็เช่นกัน ต่อไปแคมเปญจบลงไปแล้ว แต่ในอนาคตผักผลไม้ที่ถูกคัดทิ้งจะได้มาปรากฏบนเมนูถาวรในร้านอาหารของเรา ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงที่เลือกผลผลิตที่มีให้เก็บเกี่ยวทั้งปีอยู่ 

        หลังจากนี้เราก็จะมีการช่วยสิ่งแวดล้อมในมิติอื่นๆ ต่อไป เช่น ตอนนี้เราเริ่มมองหาพาร์ตเนอร์ที่จะมาร่วมกันทำเรื่องการจัดการกับอาหารเหลือทิ้ง (Waste Management) ซึ่งในอนาคตเราจะทำให้เกิดขึ้นได้จริงและยั่งยืนครบทั้ง 19 สาขาของเรา 

        บ้านเรามีการรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้ามาเป็นสิบๆ ปี จนถึงวันที่หลายๆ ห้างสรรพสินค้าลุกขึ้นมาบอกได้แล้วว่าต่อไปจะไม่แจกถุงพลาสติก โดยที่ลูกค้าเข้าใจและยินดีที่จะไปช้อปปิ้งที่ห้างนั้นด้วย การเปลี่ยนแปลงจึงไม่ง่ายและต้องใช้เวลา แต่เราเชื่อในการลงมือทำอย่างจริงจัง 

ขอบคุณภาพ: Greyhound Café


อ่านบทความอื่นๆ ในซีรีส์ ‘บริโภคช่วยโลก’