ดุ๊ก ภาณุเดช

ภาณุเดช วัฒนสุชาติ: เข้าใจความทุกข์ เรียนรู้การปล่อยวาง และใช้ชีวิตอย่าง ‘ธรรมมนุษย์’

การปลดระวางความทุกข์ในใจเราด้วยการนำ ‘ธรรมมนุษย์’ หรือธรรมะในแบบมนุษย์ ธรรมชาติของมนุษย์ที่ควรทำตามหลักความจริงของชีวิตซึ่งกลั่นกรองมาจากประสบการณ์ ตกตะกอนทางความคิด และใช้ได้จริง ของ ‘ดุ๊ก’ – ภาณุเดช วัฒนสุชาติ นักแสดงรุ่นใหญ่ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีจากละครเรื่อง สุสานคนเป็น และโฆษณาบัตรไดเนอร์สคลับที่มีประโยคสุดปังเมื่อสามสิบปีก่อนว่า “ทั้งร้านราคาเท่าไหร่”

ดุ๊ก ภาณุเดช

ภาพจำของวัยรุ่นยุค 90s คุณคือนักแสดงและพิธีกรที่โด่งดังถึงขีดสุด จนมีอยู่ช่วงหนึ่งที่คุณเริ่มเฟดออกไปจากงานเบื้องหน้า ตอนนั้นทำไมถึงไม่เป็นนักแสดงต่อ

        โด่งดังถึงขีดสุด ประโยคนี้คนอื่นพูดแทนผม ผมเองไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น แต่ก็ไม่ได้ทุกข์ ผมรู้สึกว่าตัวเองยังดำรงความเป็นมนุษย์คนหนึ่ง และไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นไอดอลหรือซูเปอร์สตาร์ ทำให้ที่ผ่านมา ผมจึงรู้สึกว่าเรายังเป็นเราที่เคยเป็นเหมือนเมื่อก่อน ต่อให้ไปไหนมาไหนแล้วมีคนทักน้อยลง ผมก็ไม่ได้เก็บมาเป็นความทุกข์ กลับรู้สึกสบายขึ้นด้วยซ้ำ เพราะสมัยก่อนเราควบคุมตัวเองเยอะมาก พอมาถึงจุดนี้จึงรู้สึกสบายขึ้น ผมสามารถเฮฮาบ้าบอได้ บวกกับอายุที่มากขึ้น กราฟชีวิตของเรามันเฟดลงจนอยู่ในระดับที่ตัวเองรับได้ ซึ่งเกิดจากการควบคุมตัวเองน้อยลงตามวันเวลา ผมว่าแบบนี้ก็ดีแล้วนะ 

คุณมองว่าความทุกข์จากชื่อเสียงเป็นสิ่งที่เกิดจากการควบคุมตัวเองมากเกินไปหรือเปล่า

        จะมองให้ทุกข์ก็ทุกข์ แต่ผมเลือกมองในมุมที่ดีมากกว่า อย่างตอนที่ผมอายุ 20 กว่าๆ ผมควรจะเป็นวัยรุ่นที่เริงร่ากับชีวิต แต่กลายเป็นว่าเมื่อเข้าวงการในฐานะนักแสดง ความเป็นส่วนตัวหายไปในพริบตา จะไปไหนทำอะไรก็ต้องระมัดระวัง จะออกจากบ้านแต่ละทีก็จะต้องแต่งตัวให้เรียบร้อย เปิดประตูบ้านออกไปคือการทำงานเลย หรือต่อให้วันนั้นมีความทุกข์แค่ไหน ก็ต้องทำให้คนเห็นว่าเรามีความสุข ต้องเป็นคนที่ยิ้มง่าย คือเราต้องควบคุมทุกอย่าง

        การควบคุมตัวเองมากเกินไปสำหรับคนทั่วไปก็อาจเป็นทุกข์ แต่ถ้ามองในมุมที่ดี สิ่งนี้ก็จะขัดเกลาให้เรากลายเป็นคนที่ดีขึ้น เวลาจะทำให้ชินกับการถูกควบคุมโดยอัตโนมัติ เราอยู่กับชื่อเสียง อยู่กับความสำเร็จในฐานะนักแสดง ทำให้เราคิดได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่ตัวเรา เราต้องควบคุมตัวเองให้สมกับที่หลายคนที่ชื่นชมเรา เพราะพวกเขาคือแรงสนับสนุนให้ผมประสบความสำเร็จ ผมก็ต้องตอบแทนเขาด้วยรอยยิ้มเสมอ เพราะถ้าผมไม่ยิ้ม หน้าของผมจะดุจนไม่มีใครกล้าเข้าใกล้เลย  (หัวเราะ)

ในยุคนี้หลายคนมองว่าบุคคลสาธารณะควรเป็นตัวของตัวเองอย่างเปิดเผย คุณคิดที่จะปรับตัวตามโลกด้วยไหม

        ผมคิดว่าระหว่างความเป็นจริงของตัวเรากับความเป็นจริงในชีวิตของเรามีเส้นบางๆ คั่นกลางอยู่ ซึ่งคนในยุคผมส่วนใหญ่จะอยู่หลังเส้นของความเป็นจริง คนยุคผมจะระมัดระวังตัวมาก ไม่ค่อยแสดงด้านมืดกันเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่ก็มีเหมือนกัน อาจเป็นเพราะเรารู้ว่าเราเป็นตัวอย่างของสังคม เราอยู่ในสื่อสาธารณะ เราเองก็อยากเป็นตัวอย่างที่ดี ดังนั้นผู้ชมควรได้ในด้านดีๆ ของเราไปดีกว่า แต่ตอนนี้คนรุ่นใหม่ได้ข้ามเส้นนั้นไป เว้นไว้แค่เพียงความพอดี ส่วนความเป็นตัวตนจริงๆ นั้นนำไปใช้กับใครก็ไม่รู้ จนลืมนึกไปว่าเขาเองไม่สามารถควบคุมคนดูได้เลยว่าคนเหล่านั้นอยู่ในวัยไหน อาชีพไหม เหมาะสมหรือไม่ที่จะรับฟังหรือรับชมสิ่งที่เป็นตัวตนของเขา หากเกิดการทำตามหรือทำให้ทัศนคติต่อสังคมเปลี่ยน เขาจะรับผิดชอบได้ไหม

        ในฐานะที่ตัวผมเป็นสื่อสารสาธารณะที่สื่อให้คนได้เห็นถึงด้านดีๆ ผมภูมิใจและมีความสุข ถึงแม้ว่าจะโดนคอมเมนต์กลับมาว่าเฟกก็ตาม แต่ก็มีคนแค่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ที่มองเราแบบนั้น ผมก็เลยรู้สึกว่า ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม ย่อมมีคนที่คิดไม่เหมือนเรา ทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้องเสมอ ดังนั้น ผมว่าเราต้องรู้ตัว และบางครั้งก็ต้องปล่อยวาง

ถ้าคุณเป็นคนที่ปล่อยวางไม่ได้ วันนี้คุณจะกลายเป็นคนแบบไหน

        คนปล่อยวางไม่เป็นคือคนที่มีความทุกข์ เพียงแต่ว่าคนสมัยก่อนอาจจะปล่อยวางด้วยความเข้าใจ ใช้ความรู้และบางครั้งก็ปล่อยวางด้วยความจำเป็น แต่ปัจจุบันการแข่งขันสูงขึ้น วันนี้ฉันดัง พรุ่งนี้ฉันดับ มันเร็วมาก ก็เป็นไปได้ที่เขาจะไม่ปล่อยวางจนเป็นทุกข์หนักที่เกิดจากการไม่ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และบางทีก็ไม่รู้ตัวว่าสิ่งนั้นคือความทุกข์

เป็นไปได้ไหมเมื่อจมดิ่งกับความทุกข์มากๆ แล้วไม่มีใครอยู่เตือนสติ เราจะกระชากตัวเองให้หลุดออกจากความทุกข์ที่ไม่รู้ตัวนั้นได้เอง

        เป็นไปได้ เพราะนั่นแสดงว่าเราเริ่มรู้สึกตัวแล้ว ก็เอาตัวเองนี่แหละมาดึงสติตัวเองอีกที เอาชนะมันให้ได้ เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าอะไรก็ตามก็อยู่ที่ตัวเราทั้งนั้น ถ้าวันนั้นเราไม่มีสติมากพอ เราก็ไม่สามารถมองเห็นสิ่งที่เขาชี้ให้เห็นได้ และบางที ‘เวลา’ ก็เป็นตัวช่วยได้ดี เป็นเหมือนเครื่องฉุดความคิด เมื่อในที่สุดพบว่าไม่มีอะไรดีขึ้น เราก็ต้องหยุด และหันกลับมามองให้ออกว่าตัวเองมีข้อดีข้อเสียอะไรมากกว่าที่จะจมดิ่งกับความทุกข์ไปเรื่อยๆ 

 

ดุ๊ก ภาณุเดช

ก่อนหน้าที่คุณจะเข้าใจเรื่องนี้ คุณจัดการกับความทุกข์ของตัวเองอย่างไร

        กับเรื่องที่ทำให้เราผิดหวังหรือเรื่องที่แก้ไขไม่ได้ ผมก็ช่างมัน และอยู่กับมันต่อไป แต่เรื่องไหนทีรู้สึกแก้ไขได้ เราก็พยายามใช้เวลา มานั่งดูความเป็นจริง แล้วเริ่มที่การแก้วิธีคิดของตัวเองก่อน อย่าให้จมอยู่กับความทุกข์นั้น จริงๆ ก็คือการปล่อยวางนั่นแหละ จากนั้นก็ทำใจยอมรับให้ได้ สุดท้ายความคิดแบบนี้ก็จะทำให้เราทุกข์น้อยลง

การปล่อยวางจะทำให้ความทุกข์น้อยลง แต่ความเหงานั้นยังคงเท่าเดิมหรือเปล่า พอเหงามากขึ้นก็ทุกข์มากขึ้นวนไปไม่รู้จบ

        เท่าที่ผมมองจากสภาพสังคมตอนนี้ ผู้คนอยู่ตัวคนเดียวมากขึ้น บางคนอาศัยอยู่ในคอนโดฯ 20 กว่าตารางเมตร แค่นั้นเอง ถึงเขาจะออกไปสนุกสนานกับเพื่อนก็จริง แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องกลับมาอยู่ในห้องคนเดียวอยู่ดี แล้วสุดท้ายก็เหงา ก่อความซึมเศร้า จนทำลายชีวิตตัวเอง ตรงนี้ต่างหากที่น่ากลัวกว่าความเหงา ดังนั้น คุณจะทุกข์หรือจะเหงา เราก็ควรเท่าทันและรู้ตัว เมื่อเรารู้ก็อาจจะหยุดตัวเองให้ไม่คิดอะไรที่แย่ๆ ได้ทัน

เราพบว่าทุกวันนี้หน้าฟีดบนเฟซบุ๊กเต็มไปด้วยคนเหงา คนที่ลืมแฟนเก่าไม่ได้ คนที่เริ่มต้นใหม่ไม่เป็น คนที่ยังยึดติดอยู่กับทุกข์ในอดีตจนมูฟออนต่อไม่ได้เยอะขึ้นทุกวัน

        ผมว่าบางคนมีความสุขกับการคิดแบบนี้ (หัวเราะ) เพราะทำให้ตัวเองดูมีความดราม่า เป็นที่น่าสนใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็จะลบเลือนทุกสิ่ง เราเองก็จะลืมเรื่องนี้ไปเอง เหมือนกับที่บางคนถามเพื่อนว่าเลิกกันแล้ว เราจะไปต่อไหวไหม เราจะไปต่อได้หรือเปล่า แต่เอาเข้าจริงๆ แค่คืนเดียว เขาก็ลืมได้แล้ว (หัวเราะ) นั่นแปลว่าเปอร์เซ็นต์ของคนที่จมอยู่กับความรู้สึกแบบนั้นจริงๆ อาจจะไม่เยอะขนาดนั้น เป็นไปได้ว่าแค่ฉันรู้สึกอยากจะแสดงอารมณ์ให้คนได้รู้ว่า ฉันก็มีมุมนี้เหมือนกันหรือเพียงแค่ทำให้แฟนเก่ารู้สึกผิด เพราะเธอทำร้ายฉัน แต่สุดท้ายเวลาผ่านไปก็ลืมต่างคนก็ต่างลืมไปเอง

ในหนังของหว่องกาไวบอกว่า ‘คนเราทุกข์มาก เพราะความจำเราดีเกินไป’ บางทีอยากลืมแต่กลับจำ

        นั่นสิ ผมเลยคิดว่าบางคนเขาที่เป็นอัลไซเมอร์เขาอาจจะมีความสุขกว่าเราก็ได้ จริงๆ ถ้าเรามีความจำดีเกินไป ถ้าเราละเอียดกับทุกอย่าง เราก็ทุกข์มาก ถ้าอย่างนั้นก็จำเรื่องที่มันสมควรจำ แล้วอะไรที่แก้ไขตัวเขาไม่ได้ก็แก้ที่ตัวเรา แก้ที่วิธีคิดเรา ผมว่าทุกอย่างมันสุดท้ายแล้วก็ต้องวนกลับมาที่ตัวเราทั้งนั้น จะเข้าใจมันยังไง จะอยู่กับมันยังไง

แล้วหากเราเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ไปต่อไม่ได้จริงๆ คุณมีคำแนะนำอย่างไร

        สำหรับคนที่รู้สึกว่าช้ำรักแล้วไปต่อไม่ได้ ก็ต้องรักตัวเองให้มากขึ้น เพราะสุดท้ายต่อให้คุณมีความรักที่ดี อยู่ด้วยกันไปจนแก่เฒ่า วันหนึ่งคุณก็จะรู้เองว่าคนที่คุณรักมากที่สุดก็คือตัวคุณเอง ขอให้รักตัวเองให้มากขึ้น แล้วเราก็อยู่ได้เอง

 

 ดุ๊ก ภาณุเดช

สิ่งที่คุณเล่ามาฟังแล้วเป็นเรื่องไม่ยากที่จะทำแถมยังคล้องจองไปกับหลักธรรมะด้วย

        ใช่ ผมเรียกสิ่งนี้ว่า ‘ธรรมมนุษย์’ การใช้ชีวิตอย่างมีธรรมะในแบบมนุษย์ ไม่ต้องจำบทสวดมนต์ทุกบทก็ได้ หรือการถือศีล 5 อาจจะขาดตกบกพร่องในบางครั้ง แต่ถ้าทำดีที่สุดแล้วโดยไม่ให้คนอื่นเดือดร้อนไปกับตน ถ้าผิดควรแก้ไข สิ่งเหล่านี้คือธรรมชาติของมนุษย์ที่ควรทำ ที่เหลือคือการทำสิ่งใดๆ ก็ตามที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้อื่นมีความสุข

        อย่างผมที่โพสต์เรื่องราวของตัวเอง เรื่องน้องหมา แล้วมีฟีดแบ็กกลับมาว่าดูแล้วมีความสุข หายเครียด ผมรู้สึกว่าตัวเองได้บุญ อีกอย่าง ผมต่อยอดด้วยการเอารายได้ไปช่วยหมาจรจัด ด้วยการทำถุงผ้าแล้วขาย ได้เงินก้อนใหญ่ ได้สร้างรอยยิ้มให้ผู้คน แต่ถึงอย่างนั้นผมก็สร้างความทุกข์ให้คนอื่นเหมือนกัน ทั้งคนใกล้ตัว ไกลตัว ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ก็ไม่รู้ว่าการทำบุญในแต่ละครั้งจะทดแทนกันได้มากน้อยแค่ไหน

คุณคิดว่าคนเราจะนำหลักธรรมไปใช้ในชีวิตประจำวันแบบไม่เชยได้อย่างไรบ้าง

        ผมคงไม่ใช่กูรูที่จะตอบปัญหาเหล่านี้ได้ทั้งหมด เพียงแต่อยากจะบอกว่าให้อยู่กับตัวเอง เข้าใจตัวเอง ควบคุมวิธีคิด คิดเสมอว่าสิ่งที่เราทำนั้นมันเกิดผลดีกับเราก็จริง แต่ไม่เกิดผลเสียกับคนอื่น และไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ต่อให้ห่างวัดห่างวา ห่างศาสนาก็ตาม แต่เราก็จะมีธรรมะในใจที่ดีต่อมนุษย์ด้วยกันได้ เอื้ออาทรกันให้มากขึ้น ช่วยเหลือกันและกันให้มากขึ้นก็พอ

วันเวลาผ่านไป อายุของคุณมากขึ้น คุณเข้าใจความจริงของชีวิตมากขึ้น แล้วคุณยอมรับเรื่องความแก่ชราและความตายได้มากน้อยแค่ไหน

        เคยรู้สึกเหมือนกันว่ากลัวแก่ แต่เราก็ดูแลตัวเองมาโดยตลอด และมันก็เป็นเรื่องธรรมชาติที่ต้องเปลี่ยนแปลงไป ส่วนความตายล่ะ กลัวหรือเปล่า ไม่กลัวเท่าไหร่ เพราะเราก็ไม่รู้ว่าตายไปแล้วจะเจออะไร กลัวยังไงสุดท้ายก็ต้องเจออยู่ดี แค่ตอนก่อนตาย หากไม่ทรมาน ไม่เจ็บมาก ก็คงจะดี และถ้าสิ่งที่เราทำอยู่นั้น เป็นความดี ก็ขอให้ไปแบบสบาย หากโลกหน้ามีจริง โลกนี้ผมก็จะให้ทําดีที่สุด เพื่อตัวเองและคนอื่นด้วย

คุณอนุญาตให้ตัวเองจมอยู่กับความทุกข์ได้นานแค่ไหน 30 นาที 3 ชั่วโมง 3 วัน หรือ 3 เดือน

        30 นาที ก็อาจจะน้อยไปหน่อย แต่ว่าบางทีก็ไม่ถึง ผมร้องไห้ให้สุด แล้วก็หยุด แต่บางทีก็ต้องตั้งสติก่อน เพราะยังมีงานที่ต้องทำ มีประชุมรอเราอยู่ ซึ่งก็ดีเหมือนกัน เพราะการที่เราต้องหาอะไรทำหรือต้องรับผิดชอบอะไรสักอย่างในระหว่างนั้น มันก็จะทำให้เรามองข้ามความทุกข์ จนบางทีมันก็หายไปได้เอง