ทอม โพธิสิทธิ์

ทอม โพธิสิทธิ์ | ช่างภาพผู้สร้างสะพาน เชื่อมระหว่างโลกแฟชั่นและศิลปะเข้ากับประเด็นสังคม

ความงามขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน คือคำตอบของ ‘ทอม’ – ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์ เมื่อเราถามหาถึงนิยามความงามซึ่งเรารู้สึกได้ทันทีผ่านการเสพผลงานของเขา จากประเด็นสังคมที่ละเอียดอ่อนเกิดกว่าจะจับต้องได้ ถูกเขาหยิบจับมาตีความใหม่ให้ร่วมสมัย ผ่านการใช้สัญลักษณ์ และสร้างสรรค์เป็นภาพถ่ายอันเป็นเอกลักษณ์ เพียงต้องการสะท้อน ถ่ายทอด และสื่อสารถึงปัญหาที่คนในสังคมต่างเพิกเฉยหรือมองข้ามไป ที่สำคัญที่สุดมากกว่าความสวยงาม คือการสร้างสะพานที่เชื่อมทุกคน ทุกสังคม ทุกโลกเข้าไว้ด้วยกันโดยมีภาพถ่ายของเขาคอยทำหน้าที่เหล่านี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ทอม โพธิสิทธิ์

 

จุดเริ่มต้น…

     เหตุผลที่จับงานถ่ายรูป มีช่วงหนึ่งที่เราเดินทาง 26 ประเทศรอบโลกโดยเครื่องบินเล็ก เพราะคู่ชีวิตเก่าเป็นนักบิน เราเป็นคนกลัวเครื่องบินตกตลอดเวลา เลยหาวิธีขจัดความกลัว เริ่มจากหลายๆ อย่าง ทั้งอ่านหนังสือ เล่นเกม แต่ไม่มีอะไรขจัดความรู้สึกกลัวได้ จนได้มาจับกล้องถ่ายรูป ถ่ายภาพทางอากาศ และถ่ายภาพคนไทยที่อยู่ต่างประเทศทั่วโลก นี่คือจุดเริ่มต้นของการถ่ายภาพ พอได้ทำก็รู้สึกสนุก ก็เริ่มถ่ายภาพมาเรื่อยๆ เราว่าภาพถ่ายคือการสื่อสารความรู้สึก ความคิดของของเราได้ดีที่สุด ในการทำงานเราจึงใช้ความรู้สึกมากกว่าเทคนิค

 

โลกของการสำรวจ…

     เราทำงานอนุรักษ์ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 11 เริ่มต้นจากถ่ายภาพทางอากาศเพื่อใช้สำรวจประชากรพะยูน ในตอนนั้นยังไม่มีมาตรฐานที่คงเท่าไหร่ เราก็เป็นกลุ่มคนที่ช่วยพัฒนาขึ้น พอทำสำเร็จ ก็ขยายไปสู่โครงการอื่นๆ เช่น สำรวจวาฬ โลมาอิรวดี ชะนี เพราะตอนนั้นยังไม่มีใครสามารถทำหน้าที่เหล่านี้ เราคิดว่าการจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ต้องมีคนเริ่มและผู้ตาม ถึงจะเกิดแรงสั่นสะเทือนได้ ถ้าเราไม่ทำ ใครจะทำ คิดแบบนี้เสมอ เลยมีงานใหม่ๆ เข้ามาตลอดเวลา แล้วสิ่งที่เราทำกันก็สร้างผลกระทบให้คนรุ่นใหม่เริ่มหันมาสนใจเรื่องเหล่านี้ได้ ซึ่งเราถือว่าเราทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แล้ว แต่ก็ไม่ใช่แค่เราคนเดียวจะสร้างเปลี่ยนแปลงได้ ต้องมีหลายๆคนช่วยกันเสมอ

 

ทำลายกำแพง…

     ภาพถ่ายเป็นได้ทั้งอาวุธที่สามารถฆ่าคนให้ตายได้ หรือสามารถเอามาใช้ในเชิงสร้างสรรค์เพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้ เราจึงเลือกใช้ภาพถ่ายเพื่อทำลายกำแพงที่กั้นระหว่างหลายๆ โลกได้ เมื่อก่อนเราคิดเสมอว่า ‘changing the world, one image at a time’ เป็นการเปลี่ยนแปลงโลกโดยใช้ภาพถ่าย แต่ตอนนี้เรารู้สึกว่าจริงๆ แล้วงานและการทำงานของเรามันกำลังเชื่อมทุกๆ โลกเข้าด้วยกันมากกว่า เหมือนวลีที่ว่า ‘build bridges not walls’ คือสร้างสะพานมากกว่าสร้างกำแพง สร้างสะพานที่เชื่อมระหว่างโลกแฟชั่นและศิลปะเข้ากับประเด็นสังคม เราหยิบเอาความรู้สึกของตัวเองขั้นมาก่อนเสมอว่าประเด็นสังคมนั้นๆ เชื่อมโยงกับเราตรงไหน เพราะหลายคนชอบถามว่าเราได้แรงบันดาลใจมาจากไหน คิดงานได้ยังไง จริงๆ มันเป็นเรื่องที่ง่ายมาก เพราะทุกสิ่งมีความงามเป็นของตัวเอง เราหยิบยืมความงามจากประเด็นนั้นๆ ให้มาอยู่รวมกัน และนำเสนอให้ร่วมสมัย

 

ทอม โพธิสิทธิ์

 

แฟชั่น…

     S H U T D O W N เป็นงานแรกที่เราเอาแฟชั่นมารวมกับประเด็นสังคม พูดถึงการเมือง เรานำภาพข่าวจากโซเชียลแล้วนำมารีเมคใหม่ให้เป็นแฟชั่น ซึ่งเป็นงานทดลอง พอเอาไปนำเสนอนิตยสารก็ไม่มีใครเล่นด้วย เหตุผลเพราะเอาแฟชั่นไปรวมกับการเมือง ศาสนา ประเด็นสังคมไม่ได้ เราก็บอกว่าไม่ถูกต้อง เพราะแฟชั่นคือสื่อที่ทรงพลังที่สุดสื่อหนึ่ง เป็นสิ่งที่สามารถเชื่อมและสื่อสารทุกคนให้เข้าหากันได้ พอเผยแพร่งานออกไป เรารู้สึกว่ามีคนสนใจ และสร้างแรงสั่นสะเทือนบางอย่างได้เหมือนกัน แต่เราไม่ได้ต้องการให้คนมาสนใจตัวเรา ให้สนใจที่ตัวงานแล้วเขารับรู้ได้ถึงสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสารออกไปดีกว่า

 

หน้าที่ช่างภาพ…

     ถ้าดูงานผ่านๆ อาจรู้สึกว่ารุนแรง แต่ถ้าดูลงรายละเอียดจะพบสัญลักษณ์ที่เราต้องการสื่อสาร เพราะการทำงานทุกครั้งเราค้นคว้าเยอะ เราจะให้ความสนใจว่ามันมีที่มาอย่างไร ปัญหาคืออะไร และเราสามารถทำอะไรได้ เราจะไม่บอกว่าให้ทุกคนแก้ปัญหาอย่างไร เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องความรู้สึกที่ทุกคนต้องจัดการกับตัวเอง เขาควรจะรู้ด้วยตัวเองว่าจะต้องทำอะไร ไม่ใช่หน้าที่เราที่ต้องเป็นคนไปบอก บางครั้งภาพของเราเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคม เราไม่ได้สนใจเท่าไหร่ เรารู้ดีว่ากำลังทำอะไร ทุกขั้นตอนการทำงานผ่านกระบวนการคิด ผ่านประสบการณ์ที่เรามี ผ่านการเห็นความงามในทุกๆ องค์ประกอบ ดังนั้นการที่เขารู้สึกไม่ชอบจึงไม่ใช่ปัญหาของเรา เพราะเราผ่านการทำความเข้าใจกับทีมงานและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว เราทำงานร่วมกันแล้วงานออกมาตรงตามที่เราคิดและวางแผนไว้ก็จบ เราทำหน้าที่ของเราในฐานะช่างภาพเสร็จแล้ว ที่เหลือคือปัญหาของผู้เสพที่ต้องไปจัดการกับความรู้สึกของตัวเอง

 

บริจาคอวัยวะ…

     เราเกิดมาพร้อมไต 3 ข้าง แล้วเราใช้ชีวิตสุดกู่ จนไตที่เกินมาเสื่อม และบวมจนไปกดกระดูกสันหลัง เราไปมาหมอโรงพยาบาลเอกชนเพื่อผ่าตัด ค่าใช้จ่ายประมาณ 9 แสนบาท แต่ตอนนั้นความคิดการทำงานเพื่อสังคมก็ยังมีอยู่ เราเลยเปลี่ยนไปรักษาโรงพยาบาลรัฐบาลแทน ซึ่งเหลือค่าใช้จ่ายแค่ 1 แสนบาท แล้วนำเงินส่วนต่างไปทำการกุศล ระหว่างการรักษา เราเห็นความต้องการของคนอื่นที่มากกว่าเรามาก จึงคุยกับคุณหมอว่าเมื่อผ่าตัดเสร็จเราอยากนำเงินส่วนต่างมาทำบุญกับโรงพยาบาลแต่เราไม่ทำด้วยเงิน เราจะทำบุญด้วยภาพถ่ายเพราะเป็นสิ่งที่เราถนัด เพื่อพูดถึงการบริจาคอวัยวะ เพราะว่าในคนหนึ่งคน อวัยวะหลักช่วยคนได้ 7 คน แต่ถ้าแยกส่วนได้มากถึง 54 คน ปรากฏว่าการจัดแสดงภาพถ่ายชุดนี้ มีผู้บริจาคอวัยวะ 500 คน ในเวลาเพียง 8 วัน

 

ทอม โพธิสิทธิ์ 

คุณค่าและความงาม…

     ทุกอย่างมีความงามในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่น่าเกลียดขนาดไหน หรือของที่เราไม่เห็นคุณค่าขนาดไหน ของทุกชิ้นมีหน้าที่ของมันอยู่ จึงเป็นเหตุผลที่มันดำรงอยู่ ในการเป็นช่างภาพของเราที่บอกว่าถ่ายได้หลายรูปแบบทั้งแฟชั่น พอร์เทรด และสารดคี เพราะเราเห็นและใส่ใจเรื่องคุณค่าและความงามมากกว่าในสิ่งสิ่งนั้น แน่นอนว่าความงามขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน เหมือนคำกล่าวที่ว่า Beauty is in the eye of beholder. อย่างเช่น ขี้หมาหนึ่งก้อนก็มีความงามของมันอยู่ พื้นผิว สี หรือกลิ่น ทั้งหมดนี้คือความงามเฉพาะแบบ แต่เราไปตัดสินว่าสิ่งนี้มันเหม็น เพราะเราตีกรอบ จัดกลุ่มให้กับทุกๆ อย่าง แต่มันก็มีเหตุผลของการมีอยู่ ดังนั้นความงามคือคุณค่าเฉพาะตัวของแต่ละคน ที่ไม่ว่าคนอื่นจะมองเราในแบบไหน แต่ท้ายที่สุดแล้วอยู่ที่ตัวเราว่าเราให้คุณค่ากับตัวเองแบบไหน

 

ละเอียดอ่อน ล่อแหลม เสี่ยง…

     การทำงานเกี่ยวกับประเด็นสังคมค่อนข้างจะละเอียดอ่อน ล่อแหลม และเสี่ยง ถ้าคุณไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองในการทำงานกับสามคำนี้ได้ อย่าทำงานประเด็นสังคม เพราะสิ่งแรกคุณจะไม่ได้สร้างอะไรที่ใหม่ขึ้นมาเลย และอย่างที่สองคือคุณจะไปทำลายองค์กรหรือบุคคลที่คุณไปทำงานด้วย ดังนั้นเราจึงรู้สึกเฉยๆ มากกับคอมเมนต์ที่บอกว่าเราเพี้ยน บ้า หรือปัญญาอ่อน เพราะทุกครั้งที่งานเราเกี่ยวข้องกับประเด็นสังคม เราไม่สนใจว่ามันจะประสบความสำเร็จไหม แต่เราจะให้ความสำคัญว่างานของเราจะส่งผลกระทบกับใครบ้าง แล้วเขาจะรับแรงกดกันเหล่านี้ได้หรือเปล่า ตรงนี้คือประเด็นที่สำคัญมาก เพราะถ้างานของเราทำออกมาแล้วทำลายมากกว่าสร้างสรรค์ หมายความว่าเราไม่ประสบความสำเร็จ แล้วเราจะรู้สึกไม่ดีมากๆ

 

ทอม โพธิสิทธิ์ 


ภาพ: tom | potisit