“รู้ไหมว่าตั้งแต่เราเรียนจบศิลปากร เราทิ้งงานทุกอย่างของเราหมดเลย เพราะเราเริ่มคิดถึงเรื่องอัตลักษณ์ เราคิดว่าทำไมงานศิลปะต้องเซ็นลายเซ็นไว้บนผลงาน ทำไมงานต้องโดนแปะอยู่ที่ผนัง สรุปแล้วงานศิลปะคือวัตถุใช่ไหม ไม่ใช่คุณค่าทางจิตใจใช่ไหม”
ย้อนกลับไปในช่วงที่ยังเป็นนักศึกษาคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ‘ป้อม’ – พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง เป็นวัยรุ่นคนหนึ่งที่เริ่มตั้งคำถามกับคำว่า ‘อัตลักษณ์’ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของคนทำงานศิลปะ ที่ต้องมีลายเซ็นกำกับว่าผลงานชิ้นนี้คือตัวตนของเราที่แขวนผนังไว้รอให้คนอื่นๆ มาชื่นชม
ความคิดแบบนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เขาเบนความสนใจมาสู่งานภาพเคลื่อนไหว ด้วยความเชื่อว่าเป็นศิลปะเชิง ‘ความคิด’ มากกว่า ‘วัตถุ’ เริ่มอาชีพอาร์ตไดเร็กเตอร์ประจำกองถ่ายภาพยนตร์ จนได้โอกาสไปเรียนต่อด้าน Digital Filmmaking ที่นิวยอร์ก พอได้จับกล้องมากขึ้นก็ทำให้ความคิดหมกมุ่นต่อสิ่งที่เรียกว่า ‘ตัวตน’ และ ‘อัตลักษณ์’ ยิ่งเข้มขึ้นขึ้นไปด้วย
ในวัย 40 ปี พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ผู้กำกับภาพยนตร์อิสระที่เคยฝากผลงานกับภาพยนตร์ขนาดสั้นอย่าง ชิงช้าสวรรค์ (Ferris Wheel, 2015) กลับมาอีกครั้งกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกในชีวิตอย่าง กระเบนราหู (Manta Ray, 2018) ที่ได้เดินทางไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมาแล้วทั่วโลก และคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในสาย Orizzonti ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ครั้งที่ 75
ตัวภาพยนตร์สะท้อนถึงปัญหาและทัศนคติต่อความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตผู้อพยพชาวโรฮีนจาในประเทศไทย เพียงแต่สิ่งที่เขายกมาเล่าเป็นแค่ภาพหนึ่งจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเท่านั้น ยังมีเหตุการณ์ที่มีต้นตอจากเรื่องอัตลักษณ์ และสร้างบาดแผลให้กับสังคมอีกมากมาย
อัตลักษณ์ของเชื้อชาติ ศาสนา การเมือง ความเชื่อ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นปมปัญหาที่สร้างความขัดแย้ง หรือบางครั้งสร้างความหวาดกลัว ความเกลียดชังต่อฝ่ายตรงข้าม และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากอิทธิพลของสื่อ ซึ่งวาดภาพบางสิ่งให้กลายเป็นความดี และขีดเขียนให้บางสิ่งกลายเป็นความเลวร้าย โดยเฉพาะในยุคนี้ที่คนสาดความเกลียดชังใส่กันอย่างง่าย โซเชียลมีเดียจึงกลายเป็นสถานที่รวบรวมประจุลบ สร้างอคติ ความกลัว ความเกลียดชัง ให้ก่อตัวขึ้นในคนคนหนึ่งได้ โดยที่อาจไม่ได้รู้จักสิ่งที่เกลียดกลัวอย่างถ่องแท้
“ถ้าคุณไม่ไปอยู่ตรงนั้น ไม่ได้ไปคลุกคลี ไม่ได้มีประสบการณ์ร่วม คุณไม่มีทางรู้ข้อเท็จจริงเลย สิ่งที่คุณรู้ก็จะมาจากสื่อ จากเฟซบุ๊ก จากทวิตเตอร์ เพราะว่าคุณชอบนั่งอยู่ในห้องแอร์แล้วดูชาวนาเกี่ยวข้าวไง คุณสามารถสาดคำด่าออกไปได้ทั่วโลกโดยที่ตัวคุณเองกำลังนั่งเล่นโทรศัพท์อยู่ หรือไม่ก็นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์”
ท้ายที่สุด อัตลักษณ์อาจเป็นเรื่องถาวรและไม่สามารถถอดออกจากความเป็นมนุษย์ไปได้ตลอดชีวิต ความแตกต่างทางความคิดและความเชื่อเป็นเรื่องแสนปกติในสังคม เพียงแค่ว่าอาจจะดีกว่าถ้าเราจะเริ่มตระหนักถึงผลของการก่อร่างสร้างอคติและความกลัวขึ้นมาโดยปราศจากการทำความเข้าใจที่ถูกต้อง แม้จะทีละนิดก็ตาม
คุณมีโอกาสไปเรียนต่อที่นิวยอร์กพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงทางมุมมองความคิด พอกลับมาแล้วชีวิตคุณเป็นอย่างไร
ตอนเรากลับมาประมาณปี 2006 ก็เริ่มเป็นช่างภาพถ่ายโฆษณา ได้ถ่ายทั้งโฆษณา ได้ถ่ายหนังที่มีความเป็นคอมเมอร์เชียล ได้ทำงานกับผู้กำกับคนอื่น ตอนนั้นก็เริ่มสนใจ Video Art มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้จากการไปอยู่นิวยอร์ก เพราะที่นั่นเราได้เห็นนิทรรศการ ได้เห็น Video Art เจ๋งๆ เห็นกลุ่มคนทำภาพยนตร์ศิลปะมากมาย พอเป็นช่างภาพไปสักพักก็เริ่มรู้สึกว่าอยากทำงานที่เป็นเชิงศิลปะ
ตอนนั้นวิธีของเราคือพยายามหาทุน Artist in Residence คือการไปอยู่ตามที่อื่นๆ ที่เขาให้ทุนแล้วก็ทำงาน ตอนนั้นเราเลือกไปอยู่ที่เมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น แล้วก็ได้ไปอยู่ที่ดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ประมาณสองปี ได้ไปทำงานวิดีโอที่ชอบ ได้มีเวลาอยู่กับตัวเองอย่างต่อเนื่อง แล้วยังมีคนซัพพอร์ตเรื่องเงินอีก (หัวเราะ)
พอกลับมาที่ไทยอีกทีปี 2009 เราก็รับงานทั้งถ่ายคอมเมอร์เชียล หรือถ้ามีทุนทางศิลปะที่เราสามารถสมัครได้ และสามารถทำเป็นงานหาเงินได้ก็ทำ เราก็พยายามทำทั้งสองอย่างควบคู่กันมาตลอด
แล้วมาเริ่มเป็นผู้กำกับหนังได้อย่างไร
ช่วงนั้นเราทำ Video Art สั้นๆ และพยายามจะเอาไปฉายที่มิวเซียมประมาณสิบกว่าชิ้น เราเริ่มรู้ว่าโลกนี้มีเทศกาลภาพยนตร์ที่สามารถทำหนังสั้นแล้วส่งไปฉายได้นะ เราเลยเริ่มทำหนังสั้นมาบ้างในช่วงปี 2010-2011 ก่อนจะทำเรื่อง กระเบนราหู เราเคยทำหนังสั้นเรื่องหนึ่งชื่อ ชิงช้าสวรรค์ ซึ่งเป็นหนังที่ได้เงินมาจากต่างประเทศในการถ่ายทำ แล้วอย่างที่บอกว่าเราก็รับจ้างถ่ายงานคอมเมอร์เชียล หรืองานอื่นๆ ด้วย ก็มี ‘พี่นุช’ – พิมพ์ผกา โตวิระ ผู้กำกับหนังอิสระ ที่ช่วงนั้นเขาทำหนังสั้นออกมาเยอะ เราก็ได้ไปเป็นช่างภาพให้เขาหลายเรื่อง อย่างเรื่อง มหาสมุทรและสุสาน (2015) ที่เป็นหนังยาว เราก็ไปถ่ายให้เขา มีเพื่อนที่เรียนมาด้วยกันชื่อ จักรวาล นิลธำรง ได้ทำหนังเรื่องแรกอย่าง Vanishing Point (2015) เราก็ไปถ่ายให้ หลังจากนั้นก็เริ่มมีโอกาสได้ไปถ่ายหนังของพม่า หนังของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ถือว่าทุกอย่างก็ค่อยๆ พาเราไปมากกว่า
แล้วทำไมถึงเริ่มมาสนใจประเด็นผู้อพยพได้
ย้อนกลับไประหว่างที่เราพยายามทำวิดีโออาร์ตชุดหนึ่งที่ได้ทุนจากฟุกุโอกะกับดับลิน เราเริ่มสนใจเรื่องความเป็นตัวตนของศิลปินด้วยกัน คือเราพยายามที่จะก๊อบปี้งานเพื่อนศิลปินที่ทำงานกับเรา เพราะเราเชื่ออย่างหนึ่งว่า ถ้าเกิดคนที่เป็นศิลปินพยายามจะสร้างงานซึ่งเป็นเจตนาที่ดีต่อตัวเอง ต่อสังคม ต่อคนดู แสดงว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดี ถ้าเกิดเราไปก๊อบปี้ ก็แสดงว่าเราก๊อบปี้ความดีเหล่านั้นได้ แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ มันเกิดการต่อต้าน เพราะว่าทุกคนจะหวงแหนความเป็นตัวตนของเขา ความเป็นลิขสิทธ์ หรือสิทธิทางปัญญาของผู้สร้างสรรค์ ทำให้เราเกิดคำถามว่า ‘ความหวงแหนพวกนี้มันเกิดจากอะไร ทำไมถึงมี เพราะฉะนั้นแล้วก็ไม่มีความดีเพียวๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์สิ’ อันนั้นคือคำถามแรกเลยที่เริ่มสงสัยสิ่งที่เรียกว่าอัตลักษณ์ หรือความเป็นตัวตนของศิลปินต่างๆ
รู้ไหมว่าตั้งแต่เราเรียนจบจากศิลปากร เราทิ้งงานทุกอย่างของเราหมดเลย เพราะเราเริ่มคิดถึงเรื่องอัตลักษณ์ เราคิดว่าทำไมงานศิลปะต้องเซ็นลายเซ็นไว้บนผลงาน ทำไมงานต้องโดนแปะอยู่ที่ผนัง สรุปแล้วงานศิลปะคือวัตถุใช่ไหม ไม่ใช่คุณค่าทางจิตใจใช่ไหม มีคำถามเหล่านี้อยู่ในตัวเรา แต่สิ่งที่เราทำในตอนนั้นคือเหมือนวัยรุ่นเลือดร้อน เราเอางานตอนเรียนทั้งหมดทิ้งขยะเลย ไม่เก็บไว้สักอัน แล้วคิดว่าตัวเองจะทำอย่างอื่น
สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราชอบภาพยนตร์ ชอบวิดีโอ เป็นเพราะมันไม่มีวัตถุ ไม่มีของที่จะเปลี่ยนฟอร์มไปอย่างอื่นได้เลย เช่น ถ้าเราทำงานประติมากรรมปั้น มันก็กลายมาเป็นงานตกแต่งสวนได้นะ แต่เมื่อเป็นวิดีโอ เป็นภาพยนตร์ ไม่มีอะไรจับต้องได้ สำหรับเราภาพยนตร์กับวิดีโอไม่ใช่วัตถุ แต่เป็นความคิดและความรู้สึกล้วนๆ เราถึงได้สนใจมาก
ทีนี้ตอนที่เราคิดว่าจะทำโปรเจ็กต์หนังเรื่องแรกอย่าง ‘Departure Day’ (ชื่อแรกของภาพยนตร์ กระเบนราหู) เราก็เริ่มค้นคว้าข้อมูลตามสิ่งที่เราชอบ นั่นก็คือการเดินทางท่องเที่ยว เราก็เลยพยายามที่จะไปเที่ยวตามตะเข็บชายแดน
ทำไมพื้นที่ตะเข็บชายแดนถึงดึงดูดความสนใจของคุณ
ย้อนกลับไปปี 2009 มีทุนหนึ่งของญี่ปุ่น ชื่อว่า Asian Public Intellectual จุดประสงค์ของทุนนี้คือเขาพยายามที่จะเอาผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่ทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น นักข่าว นักเขียน ศิลปิน อาร์ทิสต์ วาดรูป ฟิล์มเมกเกอร์ เอ็นจีโอ หรือคนที่ทำงานสาธารณะจริงๆ คัดเลือกมา 8-10 คน ให้ไปประเทศไหนก็ได้ในอาเซียน รวมทั้งญี่ปุ่น เพราะเจ้าของทุนเป็นคนญี่ปุ่น ให้เงินสนับสนุนเต็มที่ในการทำงานหนึ่งปี แล้วหนึ่งปีหลังจากนั้นเราจะกลับมาพรีเซนต์สิ่งที่ทำกัน ตอนนั้นเราก็ได้รับคัดเลือกด้วย ในโครงการนั้น เราเห็นนักวิชาการ เห็นคนจำนวนหนึ่งที่เขามีจิตใจสาธารณะมาก เขาโฟกัสในเรื่องผู้ลี้ภัย ในเรื่องการเอารัดเอาเปรียบทางด้านผลประโยชน์ทางสังคม ทำให้เราเริ่มตระหนักว่ายังมีอีกหลายประเด็นในสังคมนอกเหนือจากสุนทรียศาสตร์ส่วนตัวที่เรามี
เราเริ่มได้รู้จักกับกลุ่มคอมมูนิตี้ของ Asian Public Intellectual ที่ได้ทุน ได้ไปรู้จักกับพี่ผู้หญิงคนหนึ่งที่ได้ทุนพร้อมเราที่เขาอยู่แม่สอด ได้รู้จักกับพี่ผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่เป็นนักวิจัยอยู่ที่ใต้ เราก็เริ่มสนใจไปเที่ยวแม่สอด ไปเจอแม่น้ำ ลงใต้ก็เจอพรมแดน แล้วในกลุ่มเพื่อนที่เป็นนักวิจัย เขาโฟกัสเรื่องนั้นจริงจังมาก เวลาเราไปเยี่ยมเขาก็จะพูดถึงเรื่องพวกนี้ให้เราฟังว่ามีปัญหาอะไร นั่นเลยเป็นไอเดียของเราในการไปตะเข็บชายแดน
แล้วความสนใจต่อชาวโรฮีนจามาจากไหน
เราต้องบอกก่อนว่าการมองอัตลักษณ์ของมนุษย์ในมุมมองของเราวัยนั้น เรามองเป็นด้านลบ เพราะเราเชื่อว่าขนาดศิลปินยังหวงตัวตนของตัวเองเลย แล้วทำไมมนุษย์ถึงหวงเผ่าพันธุ์ของตัวเอง หวงความเป็นชาติ ความเป็นศาสนา ความเป็นพื้นที่ของตัวเองขนาดนี้ เราก็เลยพยายามโฟกัสหาว่าอะไรที่ส่งเสริมความคิดด้านลบนั้นของเรา อ๋อ นี่ไง การที่ผู้อพยพเข้ามาเมืองไทย แล้วเราผลักเขาออก นี่ไง มันคือด้านลบ คือผลลัพธ์ที่มนุษย์ไม่ควรจะสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมา เราก็เลยเริ่มค้นคว้า จนมาเจอเรื่องโรฮีนจาในช่วงปี 2009 ตอนนั้นคนก็ยังไม่ค่อยสนใจโรฮีนจา ทั้งที่มีปัญหามานานมากเลย เขาอพยพมาที่เมืองไทย เขาโดนหลอกค้ามนุษย์เยอะมาก เราก็เลยเริ่มตามเขามาตั้งแต่ปี 2009
คุณบอกว่าขออุทิศภาพยนตร์เรื่องนี้ให้กับผู้อพยพชาวโรฮีนจาที่เป็นเหยื่อจากเหตุการณ์ที่เคยขึ้นในประเทศไทย ได้แก่ เหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทหารของไทยลากเรือของผู้อพยพชาวโรฮีนจาออกไปจากฝั่งและทิ้งไว้กลางทะเล ทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหาย กับเหตุการณ์ที่พบหลุมศพขนาดใหญ่พร้อมร่างของชาวโรฮีนจาหลายสิบศพบนเทือกเขาแก้ว สองเหตุการณ์ที่ว่านั้นสร้างแรงสะเทือนกับความรู้สึกคุณมากขนาดไหน
เราเลือกสองเหตุการณ์นี้เพราะมันดันเป็นข่าวใหญ่ในเมืองไทยมาก เพราะจริงๆ ก็มีเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ของกลุ่มคนโรฮีนจาอีกเยอะแยะที่ไม่ได้เป็นข่าว สิ่งที่กระทบความรู้สึกเรามากอาจไม่ใช่แค่ความสงสารหรือเห็นใจเขา แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกว่าไม่เป็นธรรมและผิดปกติ คือการที่คนในสังคมมองกลุ่มคนโรฮีนจาในอีกแบบหนึ่ง ซึ่งก็ทำให้เราย้อนกลับไปคิดว่า เราช่างมีอคติทางเชื้อชาติมาตลอดเลย
ตั้งแต่สมัยเด็กๆ เราก็เริ่มเห็นว่าคนไทยดูถูกเจ๊ก ดูถูกลาว ดูถูกเขมร รู้ว่ามันรุนแรงในระดับหนึ่ง อาจไม่ใช่การรุนแรงที่ถึงขั้นหยิบมีดมาฆ่ากัน แต่มันคือการดูถูกที่เกิดขึ้น ซึ่งตอนนั้นเราไม่ค่อยตระหนักเท่าไหร่ จนมีเรื่องโรฮีนจาเกิดขึ้นมา จึงเริ่มมองกลับมาว่า จริงๆ แล้วประเทศเรา หรือกลุ่มคนที่อยู่รอบตัวเรามีอคติกับเชื้อชาติอื่นมาก เราจึงเริ่มตั้งคำถามกับคำว่า ‘ชาตินิยม’
สิ่งที่สังคมเราทำคือพยายามไปกดชาติอื่นเท่านั้น เราไม่เคยเห็นว่ามันเกิดการพัฒนาอะไรในสังคมเลย เราเพิ่งได้อ่านข่าวหนึ่งที่บอกว่ามีกลุ่มไทยพุทธที่พยายามต่อต้านพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม
เราก็ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่สิ่งที่เราเห็นคือเพื่อนในเฟซบุ๊กของเรากำลังเริ่มมีความเกลียดชัง จากการแชร์โพสต์แล้วเขียนว่าอิสลามคือศาสนากินชาติ เราถามว่าในการที่เราพยายามป้องกันชาติป้องกันศาสนาพุทธของเราด้วยการที่ไปเอาข้อแตกต่างของเขามาด่าจะช่วยสร้างความดีให้เราได้อย่างไร
สิ่งที่คุณเล่าฟังดูเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและน่ากลัว เพราะสังคมเราล้วนประกอบไปด้วยความแตกต่าง ซึ่งแต่ละคนก็พยายามจะปกป้องอัตลักษณ์ของตนเอง จนบางทีก็ล้ำเส้นกลายเป็นการไปคุกคามคนที่แตกต่างใช่ไหม
ใช่ อันนี้คือประเด็นหลักเลย เวลาหนังของเราไปฉายต่างประเทศ ทุกคนก็จะโฟกัสว่านี่คือหนังโรฮีนจา เพราะดันเป็นกระแสตอนที่หนังได้เริ่มฉาย แต่อาจจะต้องผิดหวัง เพราะไม่ได้มีประวัติเกี่ยวกับโรฮีนจาในหนังเราเลย แม้กระทั่งเวลามีคนมาบอกว่า ‘ผมไม่รู้เรื่องโรฮีนจาเลย หวังว่ามานั่งดูหนังของคุณแล้วคุณจะเล่าเรื่องโรฮีนจาที่ละเอียดอ่อนกว่านี้เสียอีก’ เราจะชอบตอบไปว่า ทุกวันนี้โลกมีข่าวสารที่เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องเอาหนังความยาวหนึ่งชั่วโมงครึ่งมาอธิบายอะไรที่มากกว่านั้นหรอก ถ้าเกิดคุณอยากจะรู้จริงๆ คุณก็ไปเจอของจริงเลย ไม่อย่างนั้นการนั่งดูหนังก็จะเป็นเพียงภาพคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ที่ชอบชีวิตแบบชนบท นึกภาพคนนั่งอยู่ในร้านกาแฟติดแอร์และข้างนอกเป็นทุ่งนาที่มีคนทำนาอยู่ แล้วมีความสุขมากที่จะได้นั่งจิบกาแฟในขณะเดียวกันก็มีความเอ็นดูคนเหล่านั้น
เหมือนกันกับการที่เราทำหนังฉายในโรง คนที่นั่งในโรงหนังมีแอร์เย็น อยู่ในพื้นที่ปลอดภัย นั่งดูสงครามอิรัก ดูซูดาน ดูโรฮีนจา ดูความทุกข์ระทมของคนเผ่าหนึ่งในโลก เกิดความรู้สึกสงสาร แล้วก็กลับบ้านไป จบ คือภาพยนตร์อาจจะทำให้คนดูมองเห็นหรือสนใจปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่อย่าคาดหวังว่ามันจะช่วยให้เข้าใจลึกซึ้งขนาดนั้น นอกจากว่าคุณสนใจแล้วคุณก็เข้าไปเจอของจริง คุณอยากเจอโรฮีนจาคุณก็ไปยะไข่ นั่นคือความคิดของเรา
เวลาเห็นคนพูดหรือเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับกลุ่มโรฮีนจา คุณมีความรู้สึกอย่างไร โกรธ เศร้าใจ หรือท้อแท้
สิ่งที่อยากให้เข้าใจคือเราไม่ได้ต้องการเป็นเขา เราไม่มีทางเป็นเขาได้ ไม่ว่าเราจะฟัง ไม่ว่าเราจะลงพื้นที่หาข้อมูลขนาดไหน เราก็ไม่มีทางเป็นเขาได้ เราไม่สามารถสะท้อนเขาออกมาให้โลกเห็นได้ สิ่งที่เราเลือกทำคือเราสะท้อนเราที่มองเขาออกมา เลยกลายเป็นหนังเรื่อง กระเบนราหู ถามว่าเราเศร้าไหมเวลารู้เรื่องที่แสนรันทดของเขา เราเศร้ามาก แล้วเราเศร้ากว่านั้นอีก ที่วันหนึ่งคนไม่รู้แล้วมาด่า
ตอนที่เราเริ่มทำโปรเจ็กต์นี้แล้วได้ทุนสนับสนุนมาก้อนหนึ่ง เราก็จะเริ่มโดนเพื่อนบางคนส่งข้อความมาถามว่า ‘มึงทำเรื่องนี้ทำไม’ ครั้งหนึ่งเคยมีข่าวคนโรฮีนจาโดนขังไว้ที่กักกันสองปี ก่อนที่จะเริ่มอาละวาดแล้วหนี ทีนี้พอคนเข้าไปตรวจก็เจอหนังสือโป๊ แล้วเพื่อนเราก็ส่งภาพข่าวนั้นที่เป็นหนังสือโป๊วางอยู่ในห้องมาให้ พร้อมกับบอกว่า ‘นี่ไง โรฮีนจาที่อยากจะช่วยนัก’ เราก็กลับมามองว่า ทำไมวะ ทำไมเขาถึงอ่านหนังสือโป๊ไม่ได้ ทำไมคนกรุงเทพฯ อย่างเราอ่านได้ไม่ผิด คนที่เขามีชีวิตทนทุกข์เขาก็ต้องทุกข์อยู่อย่างนั้นใช่ไหม เขาไม่มีสิทธิ์ที่จะมีชีวิต หรือไม่มีสิทธิ์ที่จะมีมือถือเลยใช่ไหม
ก่อนหน้านี้มีภาพข่าวของกลุ่มคนที่กำลังอพยพไปยุโรปเล่นไอโฟน แล้วคนก็พยายามโจมตีว่าผู้อพยพมีไอโฟนได้อย่างไร เราก็แปลกใจว่านี่คือมุมมองที่คนมองคนไม่เท่ากันเลยจริงๆ คือการเป็นผู้อพยพต้องเอาลังใส่หัวแล้วเดินฝ่าแม่น้ำใช่ไหม ความคิดแบบนี้คือเรื่องน่าเศร้ามากที่สุด แต่เราไม่ได้มีหน้าที่ไปบอกหรืออธิบายเขาไง เพราะเราก็ไม่ได้มีความรู้พอที่จะไปบอกเพื่อนหรือใครๆ ว่า เฮ้ย เชื่อเราเถอะ หรืออะไรแบบนั้น ดังนั้น คิดว่าทางออกอย่างหนึ่งก็คือเราต้องทำหนัง
อคติหรือความกลัวที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากการที่สื่อมีอิทธิพลที่จะวาดภาพคนคนหนึ่งให้กลายเป็นคนดีหรือคนร้ายได้ และโลกโซเชียลก็เร้าให้คนเราสามารถสาดความเกลียดชังและหว่านความกลัวไปได้ทั่วโลกอย่างง่ายดายโดยที่ไม่ได้รู้ข้อเท็จจริงจริงๆ
เรื่องอำนาจของสื่อที่มีอิทธิพลกับสังคมมีมานานแล้ว ที่เรายกตัวอย่างว่า ทำไมมนุษย์เราอยากเห็นภาพผู้อพยพในการเดินแบกของพะรุงพะรังข้ามน้ำ แต่เราถามว่า ถ้าเกิดสมมติว่ามีช่างภาพนักข่าวไป สิ่งที่เขาพยายามจะถ่ายให้ได้คงไม่ใช่ผู้อพยพกำลังนั่งเล่นมือถือแน่นอน เขาก็ต้องพยายามเลือกโมเมนต์ที่ดูมีความทุกข์ใช่ไหม แสดงว่ามันมีมุมมองที่โดนสืบทอดกันมานานมาก เราเคยมีประสบการณ์เรื่องนี้เหมือนกัน คือเราได้เจอและสัมภาษณ์โรฮีนจาจริงๆ ประมาณ 40-50 คน ในครั้งแรกๆ คำถามเราก็เป็นเหมือนคนที่สงสัย เช่น ลำบากอย่างไร ผ่านอะไรมาบ้าง ชื่ออะไร อยู่ที่พม่าทำอะไร เกิดเหตุอะไร โดนเผาใช่ไหม ออกมาแล้วมีความลำบากอย่างไร คือเรารู้ตัวเองเลยว่า สิ่งที่เราอยากฟังมากที่สุดก็คือเรื่องราวประมาณว่า ‘บ้านที่สุขสมบูรณ์โดนอำนาจบางอย่างมาทำร้ายอย่างรุนแรง เขาก็เลยหนีออกมา’ เป็นสิ่งเดียวกันกับเรื่องช่างภาพนักข่าวที่ถ่ายภาพผู้อพยพเลย
ประเด็นคือถ้าคุณไม่ไปอยู่ตรงนั้น ไม่ได้ไปคลุกคลี ไม่ได้มีประสบการณ์ร่วม คุณจะไม่มีทางรู้ข้อเท็จจริงเลย สิ่งที่คุณรู้ก็จะมาจากสื่อ จากเฟซบุ๊ก จากทวิตเตอร์ เพราะว่าคุณชอบนั่งอยู่ในห้องแอร์แล้วดูชาวนาเกี่ยวข้าวไง คุณสามารถสาดคำด่าออกไปได้ทั่วโลกโดยที่ตัวคุณเองกำลังนั่งเล่นโทรศัพท์อยู่ หรือไม่ก็นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ เพราะฉะนั้น ตอนนี้เวลาเราเจออะไรในโซเชียลฯ ที่ไม่ถูกใจเราจริงๆ เราจะไม่ทำอะไร นอกจากจะพูดแค่ว่า เราไม่รู้ ตัวเราไม่รู้ ถ้าอยากรู้จริงเราต้องไปเจอ คงเป็นเพราะวัยที่เริ่มมากขึ้นด้วย ทำให้เริ่มจะมองทุกอย่างรอบคอบมากขึ้น หรือเริ่มกลับมาทบทวนทุกอย่างมากๆ
ในเมื่อกลุ่มผู้อพยพไม่มีสื่อใดๆ ในมือที่จะป่าวประกาศตัวตน ภาพที่ถูกคนมีอำนาจหรือก็คือคนที่มีสื่อในมือพยายามเล่าแทนจึงบิดเบี้ยว และกลายเป็นคนน่ากลัว ขี้เกียจ หรือไม่มีคุณค่า ทั้งที่จริงอาจเป็นแค่การพยายามขายข่าวของสื่อใช่ไหม
ถูกต้อง แต่เราว่าถ้าคิดในแง่ดีตอนนี้น่าจะดีขึ้นนะ เรามีเฟซบุ๊ก เรามีโซเชียลฯ ที่แต่ละคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ แล้วก็สามารถเห็นเป็นรูปร่างได้ ทุกอย่างเปลี่ยนไปเร็วมาก ตอนเราอายุ 25 มีความคิดเห็นอะไร มันก็จะอยู่แค่ในกลุ่มเพื่อนเราเท่านั้น คนอื่นไม่รู้หรอกเราคิดอะไร แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าพอเกิดอะไรขึ้นเราก็กระจายข่าวออกไปได้ เราเห็นความคิดเห็นของคนได้หลากหลายมาก ซึ่งน่าจะเป็นข้อดีที่เอามาคานกับพลังของสื่อกระแสหลักได้ อย่างตอนนี้เราก็วิพากษ์สื่อได้แล้วว่าสื่อมั่วนี่หว่า การวิจารณ์สื่อเริ่มเกิดขึ้นแล้ว
แม้กระทั่งช่วงก่อนหน้านี้ที่มีนักข่าวไทยพยายามไปทำข่าวโรฮีนจาก็โดนฟีดแบ็กกลับมาซะเสียเลย เรายังคิดเลยว่า เขาไม่ได้ทำอะไรเสียหายเลยนะ แต่เขาอาจจะมีอารมณ์รายงานข่าวที่เข้าข้างจนคนดูอาจจะไม่ชอบในตอนนั้น แต่ก็เห็นไม่มีใครไปทำข่าวเลย มีแต่เขาไปทำ ทำไมเราถึงไม่อดใจรอให้เขาทำข่าวออกมาให้เราเห็นภาพก่อน แต่คนดูไม่ได้อยากรู้เรื่องนี้ไง เพราะบางคนมีอคติอยู่แล้ว ‘ฉันมีอคติแล้ว อย่ามาสร้างให้เป็นสิ่งที่ดีขึ้นในจิตใจฉัน พอเถอะ คนเลวก็คือคนเลว อย่ามาพูดว่าเขาเป็นคนดี’ ซึ่งน่าตกใจนะ
แล้วสมัยก่อนที่สื่อกระแสหลักมีแค่โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ ไม่ได้มีโซเชียลมีเดียที่สาดความเกลียดชังไปมาง่ายดายเหมือนในยุคนี้ อคติหรือความกลัวที่คนได้รับจากสื่อเป็นอย่างไร
ยกตัวอย่างของเรา สมัยที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย การแสดงออกทางความคิดกับเพื่อนอาจจะมีไม่มากขนาดนี้ คืออาจจะมีประเด็นหนึ่งแต่เราคุยกันแป๊บเดียวแล้วก็จบ แต่ตอนนี้เราจะเห็นว่าเพื่อนเราบางคนหมกมุ่นกับเรื่องอะไร ด่าการเมืองก็จะด่าคนนี้ ด่าโรฮีนจาก็จะด่าแต่โรฮีนจา เราจะเริ่มเห็นความหมกมุ่นทางความคิดของคน เราก็จะเริ่มคิดว่า เฮ้ย เพื่อนคนนี้เคยมีมุมมองที่ดีต่อเราตลอด แล้วเขาก็เป็นคนดีนะ แต่ทำไมเขาคิดแบบนี้วะ ความสงสัยแบบนี้เป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับเรา ทำให้เราต้องลองนึกย้อนกลับไป เพื่อนคนนี้สมัยก่อนเป็นยังไงนะ เขาได้องค์ความรู้อะไรมาถึงทำให้เขาสร้างความรู้สึกแบบนี้
แต่เราจะเลือกมาวิเคราะห์แค่คนใกล้ตัวเรานะ ยิ่งถ้าสนิทเราก็จะพยายามถามเลยว่าทำไมถึงคิดแบบนี้ ทำไมอยู่ดีๆ เพื่อนเราในวัย 40 ถึงอินกับศาสนาพุทธมาก จากที่ไม่เคยสนใจมาก่อนเลย พอมาวันหนึ่งกลับมาสนใจอ่านพระไตรปิฎกจริงจัง หรือบางคนที่เป็นมุสลิมแล้วตอนสมัยวัยรุ่นดื่มเหล้า แต่ตอนนี้เลิกทุกอย่างแล้วเต็มที่กับศาสนามาก มันเกิดอะไรขึ้นในวัยนี้ มีประสบการณ์บางอย่างในชีวิตที่เปลี่ยนแปลงมนุษย์ได้ทันทีใช่ไหม อันนี้เราสนใจมาก
เราเห็นหลายๆ คนในรุ่นราวคราวเดียวกับคุณมักเผลอแชร์บางอย่างบนโลกโซเชียลฯ พร้อมความคิดเห็นรุนแรงโดยไม่มีการตรวจข้อเท็จจริงจากแหล่งข่าว ซึ่งหากเทียบกับเด็กรุ่นใหม่ๆ แล้วเขาน่าจะมีความเข้าใจธรรมชาติของโซเชียลฯ มากกว่า แล้วคุณมีวิธีรู้เท่าทัน ไม่ให้โดนสื่อชี้นำจนเกิดความกลัวหรืออคติได้อย่างไร
ตอนนี้มีสื่อเข้ามาในหัวได้ง่ายและเยอะมาก จริงหรือไม่จริงก็ไม่รู้ ตัวเราเองพยายามตัดไม่รับรู้พวกนั้น เราโฟกัสในสิ่งที่เราสนใจจริงๆ ว่ามันคืออะไร ในชีวิตเราควรจะมีโฟกัสอะไรสักเรื่องหนึ่งนะ ยกตัวอย่าง ตอนนี้เราเริ่มโฟกัสไปที่เรื่องประวัติศาสตร์ เราได้ฟังคลิปของนักเดินทางท่านหนึ่ง เราก็เริ่มมีการเชื่อมโยงไปว่า เออ เราได้รู้ว่าประวัติศาสตร์ตรงนั้นมันเลยเกิดเป็นแบบนี้ขึ้นมา เริ่มมีความสัมพันธ์ที่น่าสนุก ทีนี้พอมีเรื่องอื่นเข้ามา เราก็จะไม่สนใจ ไม่ตาม ไม่อ่าน เพราะพออ่านไปก็จะอยากรู้แล้วว่าเกิดอะไร แล้วเกิดความพยายามจะสร้างข้อสรุปบางอย่าง เราจะโฟกัสในสิ่งที่น่าจะเป็นข้อเท็จจริง สิ่งที่มีประโยชน์ และมีความสุขกับชีวิตของเราก็พอ
หากสื่อมีอิทธิพลเปลี่ยนแปลงความคิดคนได้ถึงขนาดนี้ ทำไมคุณถึงเคยให้สัมภาษณ์ว่า ‘อยากให้ภาพยนตร์ที่คุณทำเป็นเพียงการพาคนดูไปอยู่ตรงจุดนั้นแค่นั้น’ ทั้งที่มันน่าจะสามารถสร้างให้คนดูรู้สึกอย่างที่คุณต้องการได้
เราไม่กล้ายกตัวเองขนาดนั้น เราเชื่อว่าตัวเราก็เป็นเพียงแค่ความรู้สึกหนึ่งที่กำลังถ่ายทอดให้คนดูไป เราไม่เชื่อว่าความยาวของหนังชั่วโมงครึ่งจะเปลี่ยนแปลงโลก ณ ปัจจุบันนี้ได้ แต่อย่างในสมัยก่อนที่มนุษย์ไม่ได้มีสื่อเยอะขนาดนี้ ตอนวัยรุ่นเราดูหนังเรื่องหนึ่ง มันเปลี่ยนชีวิตเราได้จริงๆ นะ ตอนเด็กๆ เราดูหนังเรื่อง กลิ่นสีและกาวแป้ง แล้วอยากจะเข้าคณะจิตรกรรมฯ ศิลปากรมาก หรือกระทั่งคนดู Jaws แล้วกลัวทะเล กลัวฉลาม
แต่เดี๋ยวนี้ก็มีสื่อหลายอย่าง มนุษย์ก็ต้องพัฒนาไป เพราะฉะนั้น ภาพยนตร์ก็อาจจะเป็นแค่ส่วนหนึ่ง เราดีใจนะ ถ้าเกิด กระเบนราหู ที่เราทำด้วยความปรารถนาดี ส่งออกไปแล้วมีคนรับสารได้ หรือช่วยเปลี่ยนแปลงทัศนคติของเขา เพียงแต่เราไม่กล้าที่จะยกตัวเองขึ้นมาบอกว่าหนังเราเปลี่ยนคนได้ แล้วเราไม่มีอะไรที่จะยืนยันความคิดนั้นด้วย
เราจะหาจุดตรงกลางหรือประนีประนอมกับความกลัวที่เกิดจากอคติกันได้อย่างไร
พูดแล้วเขินนะ แต่สิ่งเดียวจริงๆ ที่ช่วยมนุษย์ได้คือความรัก (หัวเราะ) ถ้าเกิดเราเริ่มรู้สึกว่าโรฮีนจาน่ากลัว เราลองให้ความรักเขาไป ลองคิดดีๆ ว่าทำไมเราถึงมองว่าเขาน่ากลัว มนุษย์เกิดมาคงไม่น่ากลัวตั้งแต่เกิดมั้ง เด็กเล็กๆ ตัวน้อยก็เป็นมนุษย์ เราเข้าใจเขาก็เท่านั้นเอง เหมือนเพื่อนเราคิดต่างกับเราในหลายๆ เรื่อง เราก็ให้อภัย มีเมตตาให้เขา แล้วก็ให้ความรักเขามากๆ ไม่อย่างนั้นก็จะสาดโคลนกันไปมา จริงๆ เรื่องนี้เราพยายามปรับนะ แต่ยังทำไม่ได้เหมือนกัน แต่นี่คือวิถีที่เราอยากทำให้เกิดขึ้นในตัวเองให้ได้ อย่าสาดโคลนใส่กัน อย่าด่ากัน ทำความเข้าใจ รักเขาให้มากขึ้น ไม่อย่างนั้นก็มีแต่จ้องจะเอาชนะคะคานกัน
ตัวเราก็ยังไม่ได้ทำได้ทั้งหมดนะ แต่อย่างน้อยเราจะมีหลักการให้ตัวเองทำตาม และบอกตัวเองว่าถ้าไม่ทำตามก็จะผิดจากที่ตั้งใจไว้ ถ้าเกิดวันนี้เปิดเฟซบุ๊กแล้วเจอเพื่อนด่าในสิ่งที่เราชอบ เราก็จะเริ่ม เอ๊ะ แต่ไม่ได้สิ สิ่งที่เราจะทำให้ดีขึ้นก็คือทำให้เขาเข้าใจ ทำยังไงก็ได้ แต่รู้สึกว่าถ้าเกิดไปบอกเขาแล้ว เขาไม่สนใจ กำลังมีฟีดแบ็กที่รุนแรงกลับมา เราก็หยุด พอ เรารู้สึกว่าเราทำได้เท่านั้นจริงๆ ก็อย่าไปทำให้มันเกิดสิ่งที่ไม่ดีขึ้นมาอีก
คุณมองอนาคตตัวเองในฐานะผู้กำกับยังไง
ตอนนี้เรากำลังพัฒนาหนังยาวเรื่องใหม่อยู่ หลังจาก กระเบนราหู ได้รับฟีดแบ็กที่ค่อนข้างดีจากต่างประเทศ ก็มีบริษัทหนึ่งที่ฝรั่งเศสเขาอยากร่วมงานด้วยในเรื่องต่อไป เราก็เลยโชคดี คิดว่าเนื้อหาคงกลับมาหารากเหง้าตัวเองมากขึ้น จริงๆ แล้วโคตรเป็นคำพูดที่น่าเบื่อเลยนะว่าทำไมต้องมาหาตัวตนอีกวะ (หัวเราะ) แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เราพยายามที่จะหาว่าเรามาจากไหน ความรู้สึกเหล่านี้มาได้อย่างไร เหมือนที่เราบอกว่าเวลาที่เพื่อนมีอคติ หรือเพื่อนกำลังลุ่มหลงกับบางสิ่งบางอย่าง เราก็อยากจะเรียนรู้ว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น คือหนังเรื่องต่อไปจะเป็นหนังที่เกี่ยวกับจิตใจตัวเองมากๆ และคงไม่ได้ทำเกี่ยวกับผู้อพยพอีกแล้ว
กระเบนราหู (Manta Ray)
ผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของ พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ที่สะท้อนถึงปัญหาและทัศนคติต่อความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิกฤตผู้อพยพชาวโรฮีนจาในประเทศไทย เปิดฉายรอบปฐมทัศน์ที่งานเทศกาลภาพยนตร์เวนิส ครั้งที่ 75 และคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในสาย Orizzonti มาครอง นำแสดงโดย วัลลภ รุ่งจำกัด, รัสมี เวระนะ และ อภิสิทธิ์ หะมะ มี