พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา

พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา: ‘ส่งพลาสติกกลับบ้าน’ การเดินทางสู่ Circular Economy

เมื่อต้นปี ใครหลายคนอาจเกิดความหวังว่าขยะพลาสติกจะลดน้อยลงกับมาตรการต่างๆ ที่ออกมา แต่กลับกลายเป็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดฝันทำให้พลาสติกที่กำลังลดน้อยลงกลับเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างกะทันหันกับวัสดุใช้แล้วทิ้งและขยะจากการขนส่งต่างๆ พลาสติกที่เคยถูกมองเป็นวายร้าย กลับกลายเป็นฮีโร่ที่คอยมาช่วยป้องกันโรคระบาด แต่อันที่จริงแล้ว ปัญหาสิ่งแวดล้อมอาจไม่ได้เกิดจากการมีอยู่ของพลาสติก หากเป็นการจัดการที่เราไม่เคยพาพลาสติกกลับบ้านให้ถูกที่ถูกทาง

       โครงการ ‘ส่งพลาสติกกลับบ้าน’ จึงถูกริเริ่มขึ้นมาเพื่อเอื้อให้เกิดการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ตั้งแต่ต้นทางการแยกขยะที่บ้านไปจนถึงการนำพลาสติกที่ได้ไปผ่านกระบวนการ recycle/upcycle โดยภาคเอกชน ให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นวงจรใหม่ที่เกิดขึ้นได้จริง 

       a day BULLETIN พูดคุยกับ พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา จากเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network – TRBN) เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน ถึงที่มาที่ไปของโครงการ และหนทางสู่ความฝันในการผลักดันให้ Circular Economy กลายเป็นความปกติใหม่ที่ทุกคนร่วมมือไปด้วยกัน

 

พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา

บทเรียนช่วงเริ่มต้นของโครงการ ‘ส่งพลาสติกกลับบ้าน’ 

       “ตั้งแต่แรกเราพบว่า การแยกขยะจากต้นทางเป็นปัจจัยสำคัญมากที่จะทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน แต่ที่ผ่านมาคนมีความลังเล ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วทางฝั่งภาคธุรกิจเขามีเป้าหมายที่จะเรียกคืนบรรจุภัณฑ์และมีความพร้อมที่จะจัดการหรือนำไป recycle upcycle ได้ดีในระดับหนึ่งเลย พอดีเป็นช่วงโควิด-19 ที่ระบบปกติในการจัดการขยะหายไป เช่น ซาเล้งกลับภูมิลำเนา พนักงานเก็บขยะหยุดแยกเพราะกลัวการติดเชื้อ ประกอบกับมีข่าวปัญหาขยะพลาสติกล้นเมืองขึ้นมา เราจึงรีบถือโอกาสลองเปิดตั้งจุด drop point และสิ่งที่เราทำก็คือนำข้อต่อแต่ละส่วนมาคล้องกันเป็นโซ่ให้ทรัพยากรหมุนเวียนได้เท่านั้นเอง 

       “สิ่งหนึ่งที่เราทำในช่วงแรกคือ communication campaign สื่อสารเรื่องนี้ออกไป อาทิตย์แรกก็ได้รับข้อความแบบถล่มทลาย ทุกวันนี้ก็ยังหลั่งไหลเข้ามา เรายังคุยกันในทีมเลยว่า โอ้โฮ มีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่มีพลาสติกแยกเก็บไว้อยู่แล้ว บางคนหวงด้วยซ้ำ ถ่ายรูปและเขียนมาแจ้งว่า drop point นี้มีคนทิ้งขยะทั่วไปในถัง ขอวางพลาสติกที่เขาเอามาไว้ข้างๆ เพราะกลัวของเขาเปื้อน หลายคนส่งข้อแนะนำมาว่าควรปรับปรุงจุด drop point อย่างไร เช่น ถังควรใหญ่ขึ้น ถังไม่ควรหน้าตาเหมือนถังขยะ ที่สำคัญและน่าสนใจคือ มีคนจำนวนหนึ่งเลยที่อยากทราบว่าขยะพลาสติกที่เขาช่วยแยกมาอย่างดีไปไหนต่อ 

       “ข้อมูลที่เราได้รับจากฝ่ายโลจิสติกส์คือขยะดีมีมากถึง 80% และตัวเลขล่าสุดจากการเก็บในอาทิตย์ที่สามมีมากถึง 90% คือเป็นขยะที่แยกมาสะอาดและแห้ง ที่เหลือเราก็ต้องพยายามสื่อสารและปรับปรุงจุด drop point ต่อไป สิ่งสำคัญคือ เราได้เห็นว่าผู้บริโภคอยากมีส่วนร่วมและลงมือทำจริง หลายคนถึงขั้นเขียนมาถามว่าถ้าไม่อยู่แถวสุขุมวิทขอส่งมาให้ทางไปรษณีย์ได้ไหม ตั้งใจมาก การเริ่มทำโครงการนี้ทำให้เห็นเลยว่ามีคนที่พร้อมจะทำสิ่งนี้จริงจังอยู่ เพียงแค่ว่าที่ผ่านมาเขาอาจจะไม่รู้ว่าจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร จะเอาทรัพยากรไปส่งได้ที่ไหน”

Action platform พื้นที่รวมตัวเพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืน

       “เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) เป็นเครือข่ายที่มีเป้าหมายกระตุ้นและขับเคลื่อนให้ภาคธุรกิจคำนึงถึงปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม สังคม และการมีธรรมาภิบาลที่ดีในการดำเนินธุรกิจ ให้ปัจจัยเหล่านี้ฝังอยู่ใน business model หรือในแกนและกระบวนการทำธุรกิจจริงๆ สิ่งนี้ไม่ได้ช่วยแค่สังคมและสิ่งแวดล้อม แต่มันยังช่วยบริษัทในการบริหารจัดการความเสี่ยงและสร้างภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะในสภาวะปัจจุบันที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรุนแรง

       “นอกจากนั้น เครือข่ายฯ ยังมีเป้าหมายในการสร้าง action platform เพื่อให้บริษัทที่อยากให้ธุรกิจของเขามีส่วนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนในสังคมมาร่วมมือกัน เราทำงานมูลนิธิมาก่อน เรารู้เลยว่าทำงานดีแค่ไหน หนักแค่ไหน ผลกระทบก็เทียบไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลงจากภาคเอกชน ที่มีทรัพยากรและเครือข่ายกว้างขวางครอบคลุม หากขยับนิดเดียวมันอาจเคลื่อนทั้งระบบ

       “จริงๆ ที่ผ่านมาหลายธุรกิจก็ขยับนะ แต่มันต่างคนต่างขยับ เราจึงยังไม่เห็น impact ร่วมกัน เราเลยอยากสร้างพื้นที่ความร่วมมือที่เอื้อให้แต่ละบริษัทและธุรกิจสามารถมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงได้ด้วยกัน เราพูดกันมานานเรื่อง Circular Economy ทุกคนก็รู้ว่ามันคือคำตอบสำคัญของการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าเราไม่ร่วมมือกันทั้งวงจร มันต้องทำให้ทุกคนมาพร้อมหน้าเพื่อให้เกิด ecosystem และทำงานไปด้วยกัน ถึงจะเคลื่อนที่ไปได้ TRBN ไม่ได้มี hidden agenda อะไร เราหวังผลที่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ บริษัทเอกชนไหนแชร์เป้านี้กับเราและพร้อมมาร่วมขบวนเรายินดีมาก”

 

พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา

Circular Economy เป้าหมายใหญ่ ผ่านโครงการที่เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ 

       “เราเรียกมันว่าเป็นห้องแล็บ เป็นโครงการทดลอง เราเชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงจะเกิดผลกระทบ เราวางเป้าใหญ่คือเปลี่ยนระบบสู่ Circular Economy แต่เราเริ่มจากเล็กๆ ก่อน เพื่อศึกษา เข้าใจ เข้าถึง ก่อนพัฒนา ขยายผล เรามีทั้งเวลาและงบที่จำกัด แต่ไม่เป็นไร เราเริ่มจากการสื่อสารกับผู้บริโภค มีภาคีที่เป็นบริษัทด้านการผลิตสื่อและสื่อสารซึ่งช่วยได้มาก เป้าหมายคือการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคและดึงให้เรามามีส่วนร่วม ให้เข้าใจ Circular Economy ส่วนฝั่งคนที่จะเข้าร่วมเป็น drop point เราก็ไม่ได้ต้องการแค่จำนวนจุดนะ เราต้องการคุณภาพและ commitment ด้วย เราขอให้แต่ละจุดกรอกข้อมูล เพราะเราต้องการรู้ปริมาณขยะที่ได้รับ และปัญหาหน้างานต่างๆ เพื่อที่จะได้เก็บข้อมูลและนำไปพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ 

       “หวังว่าการลองในพื้นที่เล็กๆ ก่อน จะทำให้เราเข้าใจว่ามีคนพร้อมร่วมกับเราแค่ไหน พฤติกรรมความต้องการเขาเป็นอย่างไร โลจิสติกส์มีปัญหาหรืออะไรที่ต้องปรับเพิ่มบ้าง จุดคุ้มทุนการขนส่งมันอยู่ตรงไหน เที่ยวหนึ่งต้องขนได้ประมาณกี่กิโลกรัม เช่น ตอนนี้เราเริ่มเข้าใจแล้วว่าเที่ยวหนึ่งมันต้องได้ 300-400 กิโล ถึงจะคุ้มค่า ตอนนี้มันอยู่เกือบๆ 200 รู้แบบนี้เราก็เริ่มออกแบบการสื่อสาร และเพิ่มกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ที่เขาพร้อมอยู่แล้ว เช่น ชาวต่างชาติในละแวกนี้เคยชินกับการแยกขยะ เราก็ออกสื่อมาเป็นภาษาอังกฤษและญี่ปุ่น หรือว่าคุยกับร้านค้าต่างๆ ที่มีขยะปริมาณมาก และอยู่ใกล้จุด drop point ว่าเขาเอามาทิ้งตรงนี้ได้ คือหาทางเพิ่มปริมาณ ในขณะเดียวกันก็คุมคุณภาพความสะอาดให้อยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 80% ให้ได้ 

       “เราทดลองไปเรื่อยๆ อาทิตย์หน้าลูกเพจท่านหนึ่งจะส่งถังแบบใหม่มาให้ เพื่อทดสอบว่าถึงแบบไหนที่มันสื่อสารกับคนมาทิ้งขยะได้มากกว่ากัน จากตอนแรกที่หาคนเข้าร่วมเป็น drop point ไม่ง่าย ตอนนี้มีคนขอมาร่วมเป็น drop point กันเยอะเลย เราก็ต้องหาเรื่องจุดคุ้มทุนในการขนส่งให้ได้ โดยมีโจทย์ว่าทำอย่างไรที่จะไม่ต้องให้ธุรกิจเข้าชักเนื้อหรือมี subsidize เลย เพราะสุดท้ายมันต้องเกิดเป็นวงจรหมุนเวียนของมันเองให้ได้ โดยที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการแทรกแซงของเรา”

ความปกติใหม่ ที่ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป

       “เรามีบริษัทขนาดต่างๆ ในอุตสาหกรรมพลาสติกมีมาช่วยกันคิดและทำอย่างใกล้ชิด แม้ตอนนี้ ภาคีที่เป็นบริษัทใหญ่ๆ และเป็นเจ้าของแบรนด์มีบทบาทแค่มาสนับสนุนให้จุด drop point เกิด แต่พวกเขาจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนระบบ Circular Economy ดำเนินไปได้ในอนาคต และระบบนี้ก็จะเอื้อกับพวกเขาเช่นเดียวกัน เพราะทุกวันนี้ บริษัทใหญ่ๆ เขาได้รับโจทย์จากบริษัทแม่ในต่างประเทศหรือคู่ค้าหรือได้รับความกดดันจากประชาคมโลกที่มองอยู่ให้รับผิดชอบหรือต้องเรียกคืนบรรจุภัณฑ์ที่เขาปล่อยออกสู่ตลาด 100% หรือแนวคิดที่เรียกว่า Extended Producer Responsibility ฉะนั้น หลายบริษัทมีความมุ่งมั่นในเรื่องนี้อยู่ และกำลังทำงานกับบริษัทในอุตสาหกรรมพลาสติก แต่มันจะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงภายในข้ามคืน แบบกดปุ่มปุ๊บได้ปั๊บ อาจไม่ทันใจเรา แต่เท่าที่เราทราบทุกอย่างกำลังเดินหน้าไปในทิศทางนี้ ภารัฐก็มีกรอบนโยบายที่ชัดเจนขึ้นในเรื่องนี้ ระหว่างนี้เราหวังว่าจะสามารถช่วยเชื่อมให้วงความร่วมมือของภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคการศึกษาวิจัย และภาคประชาชนหรือผู้บริโภคให้ชัดและใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และคาดหวังว่าในระยะยาวภาคเอกชนจะมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้ Circular Economy กลายเป็นระบบปกติ” 

 

พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา

พลาสติกไม่ใช่วายร้าย หากส่งเขากลับบ้านได้

       “จริงๆ มันก็ต้องกลับไปตั้งแต่จุดเริ่มต้นนะว่า เราจะลดการใช้อย่างไรให้ได้มากที่สุดก่อน แต่ช่วงก่อนหน้านี้มันก็โหดจริงๆ เพราะ food delivery มันจำเป็น พลาสติกจึงเป็นของจำเป็น ปัญหาพลาสติกก็ตามมา จากที่เหมือนจะลดได้เมื่อต้นปี ก็เพิ่มจาก 5,500 ตันต่อวัน ขึ้นมาเป็น 6,300 ตันต่อวัน แต่ถ้าเราเลี่ยงมันไม่ได้ คำถามคือ เราจะจัดการกับมันอย่างไร มันมีทางไปที่ดีกว่าบ่อฝังกลบ หรือหลุมไปในธรรมชาติ ภาคธุรกิจมีวิธีการแล้ว เราต้องมาช่วยกันลำเลียงให้มันไปถึงวิธีการเหล่านั้น ลองดูก่อนว่าวิธีไหนเป็นไปได้ มีประสิทธิภาพ วิน-วิน แล้วเราจะสรุปเสนอ

       “อาจดูเหมือนเราพูดเรื่องพลาสติก แต่เป้าหมายของโครงการคือ Circular Economy ซึ่งเรื่องนี้มันอาจเข้าใจยากนิดนึงสำหรับคนที่ไม่เคยได้ยินหรือรู้สึกว่ามันใหญ่ จับต้องไม่ได้ ฉะนั้น เราก็เลยเริ่มต้นเล็กในสิ่งที่จับต้องได้ก่อน

       “จังหวะดีมากที่ช่วงนี้คนพูดถึง New Normal กัน เราก็เชื่อว่า Circular Economy นี่แหละที่ควรเป็น New Normal ก่อนหน้านี้เราได้ริเริ่มอีกโครงการชื่อ ‘วิภาวดีฯ ไม่มีขยะ’ ก็เริ่มจากพื้นที่หนึ่งเหมือนกัน แต่เป็นการจัดการขยะในสำนักงานของบริษัทในเครือข่ายฯ 31 องค์กร จัดการกับขยะทุกประเภท ทั้งกระดาษ ทั้งเศษอาหาร โลหะ อะลูมิเนียม แก้ว หลักคือ อะไรที่ถูกวัดจะถูกจัดการ เรากับภาคีเอาเรื่องการบันทึกจับตัวเลขหรือการทำงานบนข้อมูลมาเป็นตัวขับเคลื่อน แล้วเสริมด้วยการให้ความรู้ และแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างองค์กร    

       “พอเราเริ่มทำแล้วเราก็แชร์ finding บทเรียนต่างๆ กับหน่วยงานอื่นๆ ได้ว่านี่คือสิ่งที่เราพบ แล้วควรจะวางแผนไปในภาพใหญ่อย่างไรให้มันขยายผลไปในวงกว้างขึ้น ให้มันมีโครงสร้างรองรับ แล้วเราจะได้ exit เมื่อถึงเวลา”

Exit Strategy ทำงานให้เต็มที่ และหาวิธีให้งานหมุนได้ในระบบเอง 

       “เราต้อง Work yourself out of the job เป้าหมายของเราคือความยั่งยืน ยั่งยืนแปลว่ามันต้องกลายเป็นระบบปกติ มีโครงสร้างและกลไกรองรับ และหมุนได้ด้วยตัวของมันเองใน ecosystem ที่สมดุล หน้าที่เราคือการสร้างพื้นที่ความร่วมมือแรกที่เอื้อให้ทุกคนมาเชื่อมต่อความตั้งใจและความสามารถในการลำเลียงพลาสติกสู่การนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ทำให้ง่ายและคุ้มค่าสำหรับทุกคน แล้วนำมันไปสู่วงจรที่เป็นปกติ 

       “การจัดการพลาสติก ที่ผ่านมาเราเอาง่ายเข้าว่า ใช้เสร็จ ทิ้งเลย แต่ถ้าเราจัดการกับมันอีกนิด แล้วส่งมันกลับบ้านตามวงจรของมัน ตอนนี้มีพลาสติกไม่กี่ประเภทที่มีทางออกชัดเจนในการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นคือเรามีเทคโนโลยีรองรับพลาสติกหรือทรัพยากรทุกประเภท ไม่ต้องเอาของดีไปเข้าเตาเผาเชื้อเพลิงหรือทำถนนอย่างเดียว แต่จะเกิดอย่างนั้นได้ มันต้องได้ Economy of Scale คือมีปริมาณพลาสติกประเภทต่างๆ มากพอให้คุ้มที่จะทำให้เกิดเทคโนโลยีหรือการลงทุนดำเนินการ recycle หรือ upcycle พูดง่ายๆ เราต้องมีความสามารถในการเรียกเก็บขยะพลาสติกและทรัพยากรสะอาดอื่นๆ คืนมาให้ได้มากกว่านี้

       “สมัยเด็กๆ จำได้ที่บ้านเคยรับปิ่นโต มีรถกระป๊อเอาปิ่นโตมาส่ง แล้วเราก็ล้างให้เขา พาเขาเอามาส่งรอบใหม่ เราก็เอาปิ่นโตคืนเขาไป ฟังตอนนี้มันดูยาก แต่ครั้งหนึ่งมันก็เคยเกิดขึ้น “ไม่ต่างกับแนวทางที่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการจะต้องช่วยกันทำให้เกิด Circular Economy เพียงแต่เราต้องลดความสะดวกสบายลงหน่อย และตั้งใจจัดการและรับผิดชอบกับของที่เราใช้ ไม่ให้มันกลายเป็นภาระสังคมและสิ่งแวดล้อม 

       “ปัจจัยสำคัญที่สุดคือทุกคนต้องทำด้วยกัน จะให้ใครคนใดคนหนึ่งทำไม่ได้ ที่ผ่านมา ผู้บริโภคไม่มีตัวเชื่อมกับธุรกิจถูกไหม ธุรกิจเองก็บอกว่าผู้บริโภคไม่แยกที่ต้นทาง รัฐอาจบอกว่ารอภาคเอกชนเดินหน้ารัฐพร้อมสนับสนุน เอกชนรอนโยบายภาครัฐ ต่างคนต่างรอกันอยู่แบบนี้ 

       “ตอนนี้ก็มีคนติดต่อขอเข้าร่วมอีกหลายพื้นที่ แต่เราก็จะค่อยๆ ขยาย ไป ขอเวลาเรียนรู้ 2 เดือนก่อนสรุปว่าจะไปต่ออย่างไรให้มั่นคง ต้องให้เครดิตกับ pioneer กลุ่มแรกที่เป็นจุด drop point ตอนเขาตอบรับ เขาเองก็ทราบว่าจะเจอปัญหาแน่นอน แต่ก็ตั้งใจร่วม ซึ่งก็เจอความวุ่นวายจริง เป็นความท้าทายของทีม pioneer ทุกคน แต่เขาก็ลุยกับเรา และทำให้คนที่จะตามมาร่วม เห็นหนทางที่ชัดขึ้นมาก”

 

พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา

ก่อนส่งพลาสติกกลับบ้าน แค่ทำการชำระล้างให้สะอาดและแห้ง 

       “ใครอยากร่วมก็มาได้เลยค่ะ ขออย่างเดียวว่าต้องเป็นพลาสติกที่สะอาดและแห้ง บางคนกังวลเรื่องปริมาณน้ำที่ใช้ เพราะปีนี้แล้งมาก ก็มีคนให้ไอเดียว่าจริงๆ แล้วเราใช้น้ำที่เหลือใช้ในการซักล้างได้เลย หรือเอาน้ำจากการล้างพลาสติกไปรดต้นไม้ต่อซิ เราขอแค่แยกเศษอาหารออกล้างน้ำให้สะอาด แล้วปล่อยให้แห้งก็ได้แล้ว เพื่อที่จะช่วยจุด drop point ให้สะอาดด้วย เพราะบางจุดมีคนมารับรายสัปดาห์ ถ้ามีขยะบางชิ้นที่สกปรก ไม่สะอาด ไม่แห้ง ก็อาจเป็นที่มาของสัตว์ต่างๆ หรือเชื้อโรค ก็อยากให้ช่วยกัน เห็นใจกันทั้งวงจร

       “สุขุมวิททำเล็กๆ เพื่อที่จะไปสู่เป้าหมายใหญ่ ในช่วงนี้ก็เหมือนเป็นห้องแล็บขนาดย่อม เพราะมันต้องมีการจัดการการเรียนรู้ เก็บข้อมูล ส่งไปให้ทีมวิจัย ที่ได้อาจารย์พิสุทธิ์ เพียรมนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ อาจารย์ธานี ชัยวัฒน์ จากศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาช่วยกันดูว่า ข้อมูลเป็นแบบนี้ แล้วเราควรมีแผนอะไรต่อเพื่อที่จะไปจับมือกับ player คนอื่นๆ ให้ได้ เพราะอย่างที่บอกว่า โครงการนี้คือการส่งพลาสติกกลับบ้าน แต่เป้าหมายใหญ่ของเราคือ Circular Economy ก็ต้องมาดู ecosystem ว่ามีใครบ้างที่เกี่ยวข้อง แล้วเราจะเดินไปด้วยกันได้ยังไง”

ความปกติใหม่ที่เศรษฐกิจหมุนเวียนจะไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด

       “เราคงรู้สึกกันแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงมันมาได้รวดเร็วและรุนแรงและมาแบบไม่คาดหมายไม่ได้ตั้งตัวได้จริงๆ เท่าที่ฟังบริษัทใหญ่ๆ ทุกคน aware ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันก็เป็นผลจากระบบนิเวศทางธรรมชาติที่ถูกกระทบนี่แหละ ซึ่งถ้าปล่อยไปมันก็จะมีเชื้อโรคใหม่เกิดขึ้นอีกมากมาย หรือผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ไม่วันนี้ก็วันหน้ามันต้องส่งผลอย่างแน่นอน

       “เพราะฉะนั้น ทุกคนจะยิ่งต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันต้องเร่งบริหารความเสี่ยงแล้ว ตอนนี้ ESG (Environmental, Social and Governance) มันก็เป็นอีกรูปแบบที่เข้มข้นขึ้นของ CSR มันค่อนข้างชัดเจนว่ามันต้องการ ESG Integration ผนวกเข้าไปในกระบวนการธุรกิจ นี่เป็นจังหวะที่ดีมากที่เราจะต้องเร่งทำเรื่องนี้ให้เข้าใจว่า ESG Integration คืออะไร แล้วมันจะดีในระยะยาวกับธุรกิจคุณยังไง

       “แต่ก่อนมันอาจเป็นทางเลือก แต่ตอนนี้ไม่ทำไม่ได้แล้ว เพราะผู้บริโภคตื่นตัวมากขึ้นด้วย ทุกคนจับตามองอยู่”

ส่งพลาสติกกลับบ้าน สู่เป้าหมาย Circular Economy

       “การที่คนหันมาแยกขยะมันก็ส่วนหนึ่ง แต่ภาพฝันจริงๆ ที่เราอยากเห็นก็คือ Circular Economy ที่เริ่มต้นจากลดการใช้ของผู้บริโภค และการเกิดขึ้นอย่างจริงจังและแพร่หลายของ Sustainable Design คือ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ถูกออกแบบมาให้ถูกเรียกคืนไปกำจัดหรือ recycle / upcycle กลับมาใช้ใหม่ได้เกือบทั้งหมด ไม่ใช่เอาแต่ผลิตเพื่อฟังก์ชัน แล้วก็ต้องมาคอยหาวิธีในการทำลายหรือรีไซเคิลกันอีก เพราะตอนนี้ก็ไม่ใช่ขยะทุกประเภทที่จะรีไซเคิลได้

       “ตอนนี้มันยังมีกำแพงระหว่าง player ต่างๆ ความฝันก็คืออยากให้เกิดความร่วมมือกัน ให้ Circular Economy กลายเป็นวงจรปกติ”