ปิยบุตร แสงกนกกุล

ปิยบุตร แสงกนกกุล | ค้นลึกลงไปถึงเบื้องหลังกีฬาฟุตบอล สไตล์การเล่นของทีมฝรั่งเศส สภาพสังคม วัฒนธรรม และการเมือง

ปิยบุตร แสงกนกกุล นักนิติศาสตร์หนุ่มผู้กำลังอยู่ในกระแสความสนใจของประชาชนจากการตัดสินใจเข้าสู่เวทีการเมืองกับพรรคอนาคตใหม่ ร่วมกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พวกเขามีความเชื่อในการนำพาประเทศไปโดยไม่ยึดติดรูปแบบเดิม สร้างแรงกระเพื่อมและความตื่นตัวให้กับแวดวงการเมืองไทยให้คึกคักขึ้นมา

เขาเคยไปเรียนต่อและทำวิจัยที่ประเทศฝรั่งเศสในหลายช่วงเวลา ทำให้ได้สัมผัสกับไอเดียเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเท่าเทียม ที่สะท้อนอยู่ในทุกๆ มิติของฝรั่งเศส ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่ฟุตบอลโลก 2018 เวียนมาถึงอีกครั้ง a day BULLETIN จึงมานั่งพูดคุยกับเขา เพื่อค้นลึกลงไปถึงเบื้องหลังของกีฬาฟุตบอล สไตล์การเล่นของทีมฝรั่งเศส สภาพสังคม วัฒนธรรม และการเมือง

เราพบว่าฟุตบอลโลกไม่ได้มีแค่ความสนุกในจอทีวีตอนค่ำเท่านั้น แต่มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอยู่เบื้องหลัง อีกทั้งมันสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางของสังคมและการเมืองในเบื้องหน้าของเราอีกด้วย

ปิยบุตร แสงกนกกุล

Black-Blanc-Beur

     “ตอนเด็กๆ ผมชอบทีมฮอลแลนด์ เพราะมีสามประสาน รุต กุลลิต, แฟรงก์ ไรจ์การ์ด กับ มาร์โก ฟาน บาสเทน พวกเขาเล่นบอลสวย เล่นสนุกที่สุดแล้วในยุคนั้น ฮอลแลนด์เป็นทีมที่เล่นเป็นระบบ ทดแทนกันได้ทุกตำแหน่ง หรือที่เขาเรียกกันว่า Total Football”

     ปิยบุตรเริ่มต้นการสนทนา ด้วยการย้อนความหลังครั้งยังเยาว์ ทีมกังหันสีส้มเคยเป็นทีมโปรดในวัยเด็ก พอเวลาผ่านไป ฮอลแลนด์ชักจะตกรอบบ่อย แล้วเขาก็เข้าสู่วัยหนุ่ม และได้เดินทางไปเรียนที่ฝรั่งเศส ก็เลยหันมาเชียร์ฝรั่งเศสจนถึงทุกวันนี้ สำหรับฟุตบอลโลกคราวนี้ ปิยบุตรบอกว่านักเตะของทีมฝรั่งเศสเข้าสู่ความสมบูรณ์แบบ เพียงแต่ยังมีสิ่งที่ขาดหายไป

     “มันไม่มีหัวหน้าหรือลูกพี่ใหญ่ที่จะคอยดุ ถ้าพูดถึงความสามารถแบบตัวต่อตัว ทีมฝรั่งเศสกินขาด แต่การเป็นแชมป์ได้มันไม่ใช่แค่นั้น ต้องมีผู้นำคอยกระตุ้นทีม อย่าลืมว่าเวลาทั้ง 11 คนลงเตะ ผู้จัดการทีมอยู่ข้างนอกสนามไปแล้ว มันจะเป็นเรื่องแค่ในสนามเท่านั้น แต่ด้วยองค์ประกอบที่เป็นอยู่ ความสามารถของตัวผู้เล่น ผมว่าพวกเขามีโอกาสที่มากที่สุดในรอบหลายๆ ปีที่ผ่านมา”

 

     ย้อนกลับไปสักหน่อย ปิยบุตรเล่าถึงช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรืองของทีมชาติฝรั่งเศส นั่นคือประมาณปลายยุค 90 และช่วงต้นสหัสวรรษ ยุคนั้นทีมเต็มไปด้วยนักเตะผิวสีและเลือดผสม อย่างที่เราทราบกันดีว่าฝรั่งเศสเป็นประเทศที่เปิดรับผู้อพยพจากประเทศอาณานิคมของตนเองในอดีต โดยเฉพาะในโซนแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนืออย่าง แอลจีเรีย ตูนีเซีย โมร็อกโก หรือที่เรียกกันว่า มาเกร็บ (Maghreb)

     “มีสำนวนในภาษาฝรั่งเศสกล่าวถึงธงชาติ หรือธงเลอทรีกอลอร์ ซึ่งเป็นธงสามสี เรียกว่า เบลอ บล็อง รูฌ (Bleu-Blanc-Rouge) คือสีน้ำเงิน สีขาว สีแดง ตอนฝรั่งเศสได้เป็นแชมป์ฟุตบอลโลกปี 1998 ก็มีคนล้อเลียนจาก เบลอ บล็อง รูฌ ว่าเป็น แบล็ก บล็อง เบอห์ (Black-Blanc-Beur) แบล็กคือสีดำ บล็องก็สีขาว ส่วนเบอห์เป็นคำผวน ในภาษาฝรั่งเศสคำว่าอาหรับ (Arab) เวลาเขาผวนคำจะกลับเป็น เบอห์ราพ (Brab) ดังนั้น เขาก็เลยเรียกคนที่อพยพมาจากประเทศแอลจีเรีย ตูนิเซีย โมร็อกโก โซนนี้ว่าเบอห์ แบล็ก บล็อง เบอห์ ก็คือคนดำ คนขาว และมาเกร็บ เพื่อที่จะอธิบายว่าองค์ประกอบของทีมชาติฝรั่งเศสในตอนปี 1998 ผสมผสานไปด้วยคนหลากหลาย”

     ในช่วงเวลานั้น ดูเหมือนแนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพได้รับการเชิดชูอย่างมาก นักการเมือง ปัญญาชน และสื่อสารมวลชน พยายามยกคำนี้ขึ้นมาเพื่ออธิบายว่าฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มี Integrity ยึดตามหลักการของสาธารณรัฐคือเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ สามารถบูรณาการผู้คนจากหลายหลายวัฒนธรรม หลากหลายเชื้อชาติ ให้สามารถเข้ามาถือสัญชาติฝรั่งเศส

     “แต่เอาเข้าจริง ก็มีนักวิชาการบางคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าคำที่ว่านี้เป็นแค่มายาคติ” ปิยบุตรบอก

     เขาอธิบายว่า Black หรือคนผิวสี ติดทีมชาติฝรั่งเศสมานานแล้ว ส่วน Blanc คนผิวขาวนั้นแน่นอนว่าเป็นคนส่วนใหญ่ในทีม ในขณะที่กลุ่ม Beur หรือมาเกร็บ ตั้งแต่ปี 1998 ที่ฝรั่งเศสได้เป็นแชมป์โลก ก็มีเพียงแค่ ซีเนอดีน ซีดาน เพียงคนเดียวเท่านั้น ปัญหาก็คือเมื่อบทบาทของซีดานโดดเด่นอย่างมากในปี 1998 หลายคนจึงใช้หยิบยกขึ้นมาอ้าง ทั้งที่ในความเป็นจริง คนกลุ่ม Beur นั้นยังไม่ได้รับการยอมรับ คนทั่วไปมักจะได้ยินคำพูดทำนองว่าฝรั่งเศสอันตราย อาชญากรรมบนท้องถนนเยอะ ปิยบุตรอธิบายว่าคำพูดเหล่านี้ ส่วนหนึ่งคือภาพแทนของคนกลุ่มมาเกร็บนี่เอง พวกเขาถูกมองว่าเป็นกุ๊ย ต่อต้านสังคม ไม่เรียนหนังสือ และพยายามเรียกร้องจะเอาสวัสดิการเยอะๆ

     “ปรากฏว่าเมื่อเวลาผ่านมา เอาเข้าจริงๆ คนที่มีเชื้อชาติแอลจีเรีย ตูนีเซีย โมร็อกโก หลังจากซีดานแล้ว มีมาติดทีมชาติน้อยมาก แต่ผิวดำนี่ยังเข้ามาได้เรื่อยๆ แล้วเวลาเกิดเหตุการณ์ประท้วง เหตุการณ์ชุลมุนวุ่นวาย ชุมนุมเผารถยนต์ตามชานเมือง หรือว่าคนที่อยู่ในสังคมแล้วก่อความวุ่นวาย คนฝรั่งเศสก็ยังเชื่อกันว่าเป็นพวกเบอห์ เห็นมั้ย คนก็มีสมมติฐาน เท่าที่ผมไปอยู่ที่นั่น ความเป็นมิตร หมายถึงว่าทัศนคติของคนฝรั่งเศสที่ดีเนี่ย ในความเห็นของผม เขามีทัศนคติต่อคนผิวดำดีกว่าคนที่อพยพมาจากมาเกร็บ”

 

     ในโลกฟุตบอล หลังจากยุคของซีดานที่เป็นครอบครัวอพยพจากแอลจีเรีย ทีมชาติฝรั่งเศสก็ไม่มีนักเตะกลุ่มนี้มากนัก ถึงจะมีก็มักจะถูกว่าเป็นกลุ่มที่มีปัญหาในแคมป์ทีมชาติอยู่ตลอด

     “กรณีชัดที่สุดก็คือ เบนเซมา กับ ดีดีเย เดช็อง ช่วงก่อนฟุตบอลโลก 2014 มีกระแสเรียกร้องว่าทำไมไม่เอาเบนเซมามาติดทีมชาติ เพราะเขาทำผลงานในเรอัล มาดริดได้ดีมาก ในขณะที่ฝรั่งเศสก็ไม่มีศูนย์หน้าตัวเป้าเลย ต้องไปเอา โอลิวิเยร์ ชิรูด์ กับ อองเดร ปิแอร์ ฌีญัก ซึ่งคนบอกว่าเล่นไม่ดีมาติด คนถามว่าทำไมไม่เอาเบนเซมามาติดทีมชาติ เดช็องก็ไม่เคยตอบคำถามนี้

     “แล้วสุดท้ายมันเกิดเหตุการณ์เทปหลุด ที่มีปัญหาแบล็กเมลกันไปมาระหว่าง มาติเยอ วัลบูเอนา ซึ่งเป็นเพื่อนกับเบนเซมา แล้วก็ขึ้นโรงขึ้นศาลเป็นคดีความกัน เดช็องก็เลยคล้ายๆ อาศัยเหตุผลนี้บอกสังคมว่า อ๋อ ที่เขาตัดตัวไปเพราะเหตุผลนี้เอง แล้วก็จำเป็นต้องตัดวัลบูเอนาออกไปด้วย สุดท้ายไม่ติดทั้งคู่

     “ทีนี้ปรากฏว่าเบนเซมาก็ไปให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์กีฬาที่สเปน เขาให้สัมภาษณ์ว่าเอาเข้าจริง มันเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ นั่นก็เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่โต ในขณะที่สังคมฝรั่งเศสก็เริ่มวิพากษ์วิจารณ์ว่า เอ๊ะ มันเป็นอย่างที่เบนเซมาอ้างมั้ย อดีตเพื่อนร่วมทีมในปี 1998 หลายคน หรืออย่าง เอริค คันโตนา เขาพูดแบบฟันธงเลยว่า ใช่แน่นอน วิธีคิดของเดช็องคือพวกเหยียดเชื้อชาติ”

     มาจนถึงทีมชาติฝรั่งเศส ในชุดฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซียคราวนี้ก็มี อาดีล รามี กับ นาบิล เฟคีร์ เป็นแอลจีเรีย ซึ่งอาจสะท้อนได้ว่าการที่ฝรั่งเศสชูเรื่องการบูรณาการผู้คนเข้ามาในชาตินั้นอาจเป็นเพียงแค่มายาคติ

 

ปิยบุตร แสงกนกกุล

 

Liberte, Egalite, Fraternite

     เมื่อสังคมขยายใหญ่ขึ้น มีผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โครงสร้างมีความสลับซับซ้อน การอยู่ร่วมกันภายใต้คุณค่าชุดเดียวกันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

     ปิยบุตรอธิบายถึงไอเดียแรก Communalism ซึ่งเป็นไอเดียที่ประเทศอังกฤษใช้ คือต่างคนต่างอยู่ ย่านใครย่านมัน ไม่ต้องมาอยู่ด้วยกัน ข้อดีคือไม่ทะเลาะกัน แต่ข้อเสียก็คือไม่สามารถหลอมรวมความเป็นชาติขึ้นมาได้ ยังมีอีกไอเดียแบบฝรั่งเศส คือ Republic คือเขาไม่ต้องการให้ต่างคนต่างอยู่ ทุกคนจะต้องมาหลอมรวมอยู่ด้วยกันจริงๆ

     “ทีนี้กลับมาเรื่องฟุตบอล นักวิชาการ นักปรัชญา นักสังคมวิทยา ก็เลยมานั่งวิเคราะห์กันว่า สาเหตุหนึ่งในเรื่องเกี่ยวกับฟุตบอลเนี่ย นอกจากความหลังทางประวัติศาสตร์แล้ว เด็กที่เติบโตมาในลักษณะที่มีเชื้อชาติ แอลจีเรีย ตูนีเซีย โมร็อกโก แล้วเข้ามาเกิดในฝรั่งเศส ซึ่งอาจจะเป็นรุ่นที่สามแล้ว คนเหล่านี้เกิดไอเดียกระแสชาตินิยมขึ้นมา พอมีลักษณะแบบนี้ ก็เกิดแรงกดดันว่าคุณจะเลือกอะไร ถ้าคุณรักชาติ คุณต้องเลือกชาติแท้ๆ ของตัวเองคือแอลจีเรีย อันนี้คือด้านหนึ่ง

     “อีกด้านหนึ่งคือพอเข้าไปอยู่ในทีมชาติจริงๆ สุดท้ายแล้วมันก็พบเห็นจริงๆ ว่าตอนนี้องค์ประกอบทีมชาติฝรั่งเศสที่เรียกกันว่า แบล็ก บล็อง เบอห์ เนี่ยมันไม่เจ๋งแล้ว เพราะฉะนั้นที่ผ่านมามันเป็นแค่มายาคติชั่ววูบขึ้นมา เพราะได้แชมป์โลก 98 แล้วมันมีซีดาน แต่เอาเข้าจริง ปัญหาก็ยังมีอยู่ นี่คือภาพสะท้อนของสังคม

     “ผมเชื่อในหลักคุณค่าแบบฝรั่งเศส มากกว่าแบบ Communalism ยกตัวอย่าง ถ้าคุณมาอยู่ในประเทศเดียวกัน แล้วคุณยึดวิถีปฏิบัติตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของคุณ แต่ปรากฏว่ามันขัดหลักความเสมอภาค อย่างเช่นห้ามผู้หญิงไปว่ายน้ำ หรือบังคับให้ผู้หญิงเวลาออกไปข้างนอกต้องใส่เสื้อปกปิดตลอดเวลา ถ้าอยู่ในประเทศตัวเองก็เข้าใจได้ แต่ถ้าคุณอยู่อีกที่หนึ่ง ลองนึกภาพเวลาคนทั่วไปเดินบนถนน แล้วหันไปเห็นผู้หญิงคนหนึ่งปิดหน้าหมดเลย เหลือแต่ลูกตา”

     อธิบายง่ายๆ คือวัฒนธรรมแบบหนึ่ง อาจจะขัดกับกฎหมายหรือคุณค่าของอีกประเทศหนึ่ง ปัญหาคือสังคมเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไรโดยที่ยังเคารพความแตกต่างหลากหลายได้อยู่

     ปิยบุตรอธิบายว่า ที่ผ่านมามีปัญหาเกิดขึ้นเพราะว่าพรรคฝ่ายขวาจัด เอาความขัดแย้งแบบนี้ไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ด้วยการใช้คุณค่าของความเป็นสาธารณรัฐ เป็นรัฐปลอดศาสนาเข้ามา เพื่อจะกีดกันคนกลุ่มน้อยออกไป

     “ซึ่งเอาเข้าจริงๆ มันไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการแบบพรรคขวาจัดก็ได้” ปิยบุตรย้ำ

 

     แล้วเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร – เราโยนคำถามให้เขา

     “สายธารประวัติศาสตร์โลกที่เดินมาเรื่อยๆ ก็จะมีชนชั้นปกครองกับชนชั้นผู้ถูกปกครอง มันมีอย่างนี้อยู่เรื่อยมา แสดงออกผ่านรูปแบบอะไรก็แล้วแต่ แล้วมนุษย์เราต้องขยับขึ้นไป เพราะถ้าคุณไม่ยอมขยับ คุณก็อยู่แบบเดิมไปเรื่อยๆ เช่น ยุคโบราณ กาลิเลโอบอกว่าโลกกลม ศาสนจักรบอกว่าโลกแบน นี่คือพัฒนาการของมนุษยชาติ”

สิ่งที่เป็นอยู่ย่อมต้องเปลี่ยนไปตามกาลสมัย มันจะถูกสิ่งใหม่ท้าทาย ถ้าปรับตัวไม่ได้ก็จะกลายเป็นสิ่งเก่า และสิ่งใหม่ก็จะมาแทน ไม่มีอะไรที่เป็นอยู่วันนี้แล้วเป็นอย่างเดิมตลอดไป มันต้องเปลี่ยนเสมอ

     “ยกตัวอย่างที่ชัดเจนในทุกวันนี้ LGBT มีสิทธิขึ้นมาเพราะการต่อสู้จนได้รับความเสมอภาค ได้สิทธิในการแต่งงาน ยังมีอีกหลายประเด็นทางสังคม เช่น การทำแท้งเมื่อก่อนก็ไม่ยอมรับกันเพราะขัดหลักศาสนา บาป ทำลายสถาบันครอบครัว แต่วันนี้ในโลกตะวันตกถือว่าทำแท้งเป็นเรื่องถูกกฎหมาย แม้กระทั่งเรื่องประชาธิปไตย การเลือกตั้ง เมื่อก่อนสงวนให้กับคนที่เสียภาษีถึงเกณฑ์ เดี๋ยวนี้ใช้กับคนทุกคน เป็นหลักเลือกตั้งทั่วไป เห็นไหมว่าสังคมและการเมืองเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา”

     ปิยบุตรบอกว่า แม้กระทั่งรูปแบบการเลือกตั้งก็จะต้องเปลี่ยนไป ในทุกวันนี้ โลกตะวันตกเริ่มคิดว่าระบบการเลือกผู้แทนอาจไม่ใช่คำตอบเดียว พวกเขาก็พยายามคิดหาระบบใหม่กันต่อไป นี่คือธรรมชาติของมนุษย์ที่จะต้องไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเสมอ เพราะถ้าเราหยุดอยู่กับที่ โลกจะไม่ไปไหน เทคโนโลยีไม่เกิด สังคมไม่เปลี่ยน

     “เท่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบเดียวที่อนุญาตให้คนพัฒนา ให้สังคมพัฒนา เพราะรับประกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นให้ทุกคนได้แสดงออก แต่ถ้าคุณไปอยู่ในระบอบเผด็จการ มันจะบังคับ มันจะกด ไม่ให้คนคิด แล้วมันจะบอกว่าสิ่งที่รัฐบอกนั้นดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นพัฒนาการความก้าวหน้าของมนุษยชาติมันไปได้ดีกับระบอบประชาธิปไตย”

 

ปิยบุตร แสงกนกกุล

 

On Humanism

     “สำหรับผม กีฬาฟุตบอลมีความน่าสนใจอยู่ตรงที่มันเกิดจากชนชั้นแรงงาน ไม่ใช่กีฬาของชนชั้นสูง เป็นกีฬาที่เมื่อผู้คนมารวมกันอยู่เยอะๆ ในโรงงาน ช่วงเวลาพักผ่อนหย่อนใจ คุณก็แค่หาลูกฟุตบอลสักลูกมาเตะกัน มันไม่ได้ต้องใช้ต้นทุนอะไรเยอะเลย ทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงได้หมด ผมถึงสนใจกีฬาประเภทนี้มาก”

     เมื่อมันเป็นกีฬาที่เข้าถึงผู้คนจำนวนมาก อุดมการณ์ทางการเมืองจึงแฝงอยู่ในฟุตบอลตลอดเวลา แต่ว่าสื่อยุคปัจจุบันมักจะเล่าเรื่องฟุตบอลให้เป็นลักษณะความบันเทิงและเชิงธุรกิจ สกูปข่าวมักจะมีแต่เรื่องการซื้อขายนักเตะ หรือแฟนสาวของนักเตะ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วมันมีเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองเต็มไปหมด

     ปิยบุตรเล่าถึงโซคราเตส (Socrates Brasileiro Sampaio de Souza Vieira de Oliveira 1954-2011) คุณหมอยอดนักเตะ ผู้เคยเป็นกัปตันทีมชาติบราซิล ชุดฟุตบอลบอลโลกปี 1982 เสียชีวิตลงด้วยวัย 57 ปี ในช่วงที่เผด็จการทหารปกครองประเทศบราซิลอยู่ เขาเป็นกำลังสำคัญในการต่อต้าน สโมสรที่เขาเตะให้ประจำคือโครินเธียนส์ ซึ่งก็เป็นสโมสรที่ต่อต้านเผด็จการทหาร หรือนักเตะระดับตำนานอีกคนอย่าง เดียโก มาราโดนา ก็ประกาศว่าตัวเองสมาทานเป็นฝ่ายซ้าย ต่อต้านจักรวรรดินิยม ต่อต้านทุนนิยมอยู่ตลอดเวลา เขาจะเชียร์นักการเมืองฝ่ายซ้ายของละตินอเมริกาในการสู้กับอเมริกา

     นอกจากนี้ ปิยบุตรได้เล่าถึงสโมสรซังเพาลี ประเทศเยอรมนี เมืองฮัมบูร์ก สโมสรแห่งนี้มีอุดมการณ์ต่อต้านการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ เมื่อเดินเข้าไปในสนามฟุตบอลของเขา บนอัฒจันทร์เขียนไว้ว่า ‘ที่นี่ไม่ต้อนรับพวกเหยียดชาติ เหยียดเพศ เหยียดสีผิว’ และที่นี่เปิดสนามต้อนรับกลุ่มผู้อพยพจากสงครามซีเรียที่หนีภัยกันเข้ามา

     “เห็นไหมว่ามีเรื่องพวกนี้แฝงอยู่ตลอด เพียงแต่ว่าเราอย่าไปมองข้ามมัน ฟุตบอลสะท้อนถึงสภาพสังคมและสภาพการเมืองเสมอ”

 

     อีกประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องสไตล์การเล่น คอบอลส่วนใหญ่น่าจะคุ้นเคยสไตล์การเล่นหรือรูปแบบการเล่นอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละทีม โดยที่ไม่ทันสังเกตเลยว่ามันสะท้อนลักษณะผู้คนและสังคมได้อีกด้วย

     ปิยบุตรยกตัวอย่างทีมชาติอิตาลี ที่คอบอลรู้กันดีว่ามีกองหลังเหนียวแน่น

     “แผนการเล่นแบบคาเตนัชโช่ (Catenaccio) ในภาษาอังกฤษหมายถึงเอากุญแจล็อกประตูไว้ แผนการเล่นสะท้อนความเป็นอิตาลีที่ต่อสู้ดิ้นรน คือคุณสู้เขาไม่ได้ คุณก็ต้องใช้วิธีแบบนี้ บอลอิตาลีจึงใช้แท็กติก ตุกติกทุกวิถีทาง”

     เทียบกับทีมชาติเยอรมนี คอบอลมักจะมองแบบเหมารวมว่าเหมือนเครื่องจักร มีระเบียบวินัย และมีจิตใจที่แข็งแกร่ง

     “แผนการเล่นช่วงหนึ่งนิยม 3-5-2 มีลิเบอโร และมีวิงแบ็กสองข้าง ตั้งแต่ยุคสมัย ฟรันซ์ เบคเคนเบาเออร์ ต่อเนื่องมาที่ มาธิอัส ซามเมอร์ หรือ โลธาร์ มัทเธอุส  แล้วก็ทำให้เยอรมันเป็นแชมป์โลกเมื่อปี 1990 หลังจากนั้นมา แผนการนี้ล้มเหลว เขาก็ปรับใหม่จนเป็นแบบทุกวันนี้ แล้วปรับไปจนถึงระดับเยาวชน คือบังคับให้เยาวชนทุกทีมต้องเล่นแผนนี้เหมือนกันหมด จนทำให้ทีมได้แชมป์โลกปี 2014 คนก็เลยมองว่าเขาเป็นประเทศที่ละเอียดทุกเม็ด สะท้อนนิสัยของคนเยอรมัน ที่มีวินัย แข็งแกร่ง ละเอียด ทำทุกอย่างเป็นระบบ”

     เทียบกับทีมชาติอื่นๆ อย่างบราซิล เราจะเห็นความสนุกสนานครื้นเครง สีสัน ลีลา ส่วนทีมอังกฤษซึ่งเป็นต้นกำเนิดฟุตบอลจากชนชั้นแรงงาน ก็คือใช้แรงเป็นหลักในการเล่น การปะทะที่หนักหน่วง และต้องใช้กองหน้าตัวสูงใหญ่

     “กลับมาที่ฝรั่งเศสก็เหมือนกัน ถ้าเราลองดูชุดปัจจุบันจะเห็นว่าดาราเต็มทีมเลย แต่มักจะมีปัญหาทะเลาะกันไปมา แล้วเวลาเล่นก็ชอบโชว์อย่าง ปอล ป็อกบา นี่ต้องโชว์ตลอดเวลา มันก็สะท้อนสังคมฝรั่งเศสที่เป็นแบบนี้ มีนิสัยต้องเถียงกัน ต้องขัดแย้ง ถกกันตลอดเวลา”

 

     แล้วกับประเทศไทยเราล่ะ สไตล์การเล่นของทีมชาติไทย สะท้อนให้เห็นอะไรบ้างไหม – เราถามเขา

     “ที่น่าสนใจของทีมชาติไทยคือเดี๋ยวนี้เราดีขึ้นมาก เพราะเมื่อก่อนเราไม่ได้เป็นฟุตบอลอาชีพแบบทุกวันนี้ เงินเดือนน้อย แรงจูงใจต่ำ นักฟุตบอลซ้อมเสร็จก็ไปเที่ยวเตร่ ตื่นมาซ้อมไม่ไหว ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ไม่สามารถเกิดขึ้นกับนักกีฬาอาชีพ”

     ในมุมหนึ่งฟุตบอลไทยยุคนี้ก็เห็นพัฒนาการจากเมื่อก่อน อย่างการที่เห็นนักเตะไทยไปเล่นเจลีกหลายคน – เราเสนอ

     ใช่ ผมสนับสนุนมากเลย อนาคตเราควรมีแบบนี้อีกเยอะๆ – เขาตอบ

     “เราจะทำยังไงให้น้องๆ หรือเด็กรุ่นใหม่บางคนที่มาจากครอบครัวยากจนตัดสินใจเล่นฟุตบอลเพราะหวังว่าอนาคตจะได้ทำมาหากิน พัฒนาตัวเอง เปลี่ยนชนชั้นตัวเองขึ้นไป ผมคิดว่าเราทุกคนต้องมุ่งมั่น ต้องมีเป้าหมาย แล้วไปให้ถึง แต่เป้าหมายที่ว่านี้ ต้องไม่ใช่เป้าหมายที่ทำให้เราเป็นหุ่นยนต์ เช่น ไม่ต้องคิดอะไรเลย ตื่นมา นั่งรถไฟฟ้า ทำงาน ทำงานเสร็จหมดวัน กลับบ้านนอน แล้วก็ตื่นมาใหม่ แบบนี้มันทำให้เราเป็นหุ่นยนต์

     “แล้วนอกจากนี้ มนุษย์ก็ยังต้องคิดอะไรไปให้มากกว่านี้อีก ต้องคิดถึงบ้านเมือง คิดถึงสังคม มันผิดปกติอะไรไหม เราอยากจะเข้าไปเปลี่ยนอะไรบ้าง แน่นอนโอกาสแต่ละคนอาจจะยังมาไม่ถึง แต่ว่าเราต้องคิดไว้ ไม่งั้นถ้าใครมาเป็นผู้ปกครองประเทศ แล้วเขาแช่แข็งทุกคนไว้แบบนี้ ทุกคนก็อยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ เหรอ โดยไม่คิดว่าที่เป็นอยู่นี้มันมีอะไรผิดปกติบ้าง ต้องแก้ไขอะไรบ้าง”

     อันนี้คือพูดถึงเรื่องฟุตบอลใช่ไหม – เราถาม

     “อันนี้ไม่ใช่แค่กีฬาฟุตบอล แต่มันคือคุณค่าความเป็นมนุษย์ ในความเห็นผมนะ มนุษย์จะต้องเชื่อมั่นว่าตัวเรามีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้เสมอ เพราะถ้าเราไม่เชื่อ โลกก็จะยังเป็นแบบเดิมไป แต่เราต้องเชื่อแล้วลงมือทำ เชื่อในความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีกว่า อย่ายอมจำนนกับสิ่งที่เป็นอยู่” – เขาเน้นย้ำอย่างหนักแน่น

     “นักกีฬาฟุตบอลก็เหมือนกัน ถ้าคุณมีความเชื่อว่าคุณสปรินต์ได้เท่านี้ คุณก็ได้เท่านี้ หรือคุณเตะฟรีคิก แล้วคิดว่าได้แค่นี้ มันก็จะอยู่แค่นั้น แต่ถ้าคุณซ้อมทุกวัน เหมือนคริสเตียโน โรนัลโด ที่เริ่มต้นโดยไม่ได้มีพรสวรรค์มาก แต่เขาฝึกซ้อมด้วยความมุ่งมั่น และเชื่อมั่นว่าจะทำให้เขาเก่งขึ้น ซึ่งสุดท้ายมันก็เป็นอย่างที่เราได้เห็นตัวตนของเขาทุกวันนี้” ปิยบุตรทิ้งท้าย