ย้อนกลับไปสิบปีที่แล้ว หนังสือแนวท่องเที่ยวเดินทางทำหน้าที่คล้ายสมุดหน้าเหลืองบันทึกข้อมูลสถานที่ ร้านรวง สิ่งน่าสนใจต่างๆ เอาไว้ แต่ในวันนี้ที่ข้อมูลเหล่านั้นหาได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว ข้อมูลเปลี่ยนแปลงเร็วตลอดเวลา อาจเกิดคำถามว่าทำไมเรายังต้องอ่านหนังสือแนวนี้กันอยู่
ย้อนกลับไปสี่ห้าปีที่แล้ว ‘ก็อต’ – ปิยฤทธิ์ ปัญจธรรมวิทย์ ชายหนุ่มผู้ติดบ้าน (มีแค่ธนาคารและร้านหนังสือเท่านั้นที่ทำให้เขา ‘เข้าเมือง’ ได้) คงไม่รู้เลยว่าวันหนึ่งน้ำที่บ้านจะไม่ไหล จนเป็นเหตุให้เขาต้องไปอาศัยอาบน้ำในโฮสเทลข้างบ้าน โฮลเทลที่ได้กลายเป็นบ้านหลังที่สองของเขานับจากนั้นเป็นต้นมา โฮสเทลที่เขาได้เจอเพื่อนต่างประเทศที่ผลักให้เขาฝันไกล ไปใช้ชีวิตในเกาหลีร่วมสองปี จนได้ของที่ระลึกเป็นหนังสือที่มีชื่อว่า Home Away from Home เกาหลีใต้ที่เห็นและไปอยู่
ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี เราคงนึกกันไม่ถึงว่าปีนี้เราจะเดินทางออกนอกประเทศกันไม่ได้ คงนึกไม่ถึงว่าเราจะต้อง #StayHome กันหลายเดือน คงนึกไม่ถึงว่าในหนึ่งปีจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งนอกบ้านและในบ้านมากมายขนาดนี้
ในวันที่เรายังต้องอยู่ ‘บ้าน’ กันต่อไป ชวนอ่านหนังสือบันทึกการเดินทางที่ทำให้ก็อตเจอทั้งความรัก ความกลัว ความโกรธ – ความโกรธที่เขาไม่ได้มองว่าโง่หรือบ้าเสมอไป ในทางตรงกันข้าม เขากลับค้นพบความหมายใหม่ของการโกรธ – โกรธเพื่อแสดงออกให้เห็นถึงปัญหา โกรธเพราะรู้สึกรู้สากับความไม่ชอบธรรมกับสิ่งที่เกิดขึ้น โกรธเพราะอยากเห็นสิ่งที่ดีกว่าที่เป็น
ในหนังสือเล่าว่าจุดเริ่มต้นการเดินทางของคุณเริ่มต้นจากการเป็น ‘Happiness Manager’ ที่โฮสเทลแห่งหนึ่ง บทบาทนี้ต้องทำอะไรบ้าง
เรารู้จักศา (ศานนท์ หวังสร้างบุญ – ผู้ร่วมก่อตั้ง Once Again Hostel) มาก่อนแล้ว รู้จักคนที่นี่อยู่แล้วด้วย เพราะไปช่วยชุมชนป้อมมหากาฬด้วยกัน มีอยู่วันหนึ่งน้ำที่บ้านไม่ไหล เลยกวนศาขอมาอาบน้ำที่โฮสเทล หลังจากนั้นก็มาแทบทุกวันเลย มานั่งเล่น คุยกับแขก พาไปนู่นนี่ เพราะเราอยู่ย่านนี้มาทั้งชีวิต ศาเห็นก็บอกว่าที่เราทำอยู่นี่ดีเลยนะ จากที่ทำงานหนังสือเป็นงานประจำ เลยมาทำที่โฮสเทลเป็นงานเสริมไปด้วย ทำไปทำมา รู้ตัวอีกทีเห็นตำแหน่งตัวเองในบอร์ดของที่นี่ เขาตั้งชื่อตำแหน่งเราว่าเป็น ‘Happiness Manager’ เลยโอเค เป็นก็เป็น (หัวเราะ)
สร้างความสุขไหมนี่ไม่รู้นะ แต่หลักๆ ที่ทำคือจัดกิจกรรมต่างๆ พาแขกไปรู้จักชุมชนแถวนี้ ไปปาร์ตี้ ไปโรงพยาบาล ง่ายๆ ว่าเป็นทุกอย่างให้ ตอนแรกทำกับเพื่อนอีกคนชื่อสไตจน์ เป็นคนฮอลแลนด์ ที่เป็นคนสำคัญในหนังสือเลยแหละ เขาเป็นแขกที่มาพักยาวจนกลายมาเป็นสตาฟฟ์ช่วยจัดกิจกรรมในโฮสเทลด้วยกัน
คุณเกริ่นในคำนำว่าเป็นคนติดบ้าน การเป็นคนติดบ้านที่ต้องมาดูแลนักท่องเที่ยวที่มุ่งใช้ชีวิตนอกบ้านมันส่งผลอย่างไรกับคุณ
ละแวกนี้มันเป็นบ้านเรามาแต่ไหนแต่ไร ชุมชนบ้านบาตร ร้านหนังสือ คาเฟ่ หรือที่อื่นๆ ที่เราพาแขกไปก็เป็นย่านที่เราเดินเล่นตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่ถ้าเข้าเมือง เข้าห้างนี่มีสองอย่างคือไปธนาคารกับแวะร้านหนังสือ นอกนั้นไม่ไปไหนเลย นอกจากละแวกนี้ มันก็เลยไม่รู้สึกว่าออกจากบ้านเท่าไหร่
เรามีสองบุคลิกในตัวมาแต่ไหนแต่ไร ตอนเด็กจะเงียบมาก แต่พอโตมา ยิ่งเงียบยิ่งรู้สึกอึดอัดกับตัวเอง ร่างกายมันเลยสั่งให้พูดออกมา ก็รู้สึกว่าความสัมพันธ์กับคนมันสำคัญ ซึ่งก็น่าจะทำให้เริ่มพูดมากตั้งแต่ตอนนั้น (หัวเราะ) แต่ก็ยังติดบ้าน ยังชอบอยู่กับตัวเองอยู่นะ มันเป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่เราก็เริ่มรู้แล้วว่าบางครั้งการอยู่แค่ในพื้นที่ปลอดภัย ชีวิตมันไปต่อไม่ได้
ยิ่งพอมาทำโฮสเทลได้เจอคนมาก ยิ่งเริ่มสนุก มันไม่ใช่ว่าเรามาพูดๆๆ นะ แต่เราได้มาฟังคนมากกว่า มาฟังเรื่องของเขา คนที่มาจากทั่วโลก ยิ่งได้ฟังเรื่องคนอื่นยิ่งรู้สึกว่าชีวิตน่าสนใจ เหมือนเวลาเราได้อ่านหนังสือใหม่ๆ ยิ่งได้อ่านมากเท่าไหร่ ยิ่งรู้สึกว่าชีวิตนี้มีเรื่องน่าสนใจเต็มไปหมด
ยกตัวอย่างง่ายๆ ปกติถ้าเราวนเวียนอยู่กับโลกเดิมๆ เราก็ได้ยินความฝันเดิมๆ เช่น ฝันอยากเปิดร้านกาแฟ ไม่ได้บอกว่ามันไม่ดีนะ แต่มันเป็นฝันที่เราได้ยินบ่อยจนเรารู้สึกเฉยๆ ในขณะที่เวลาเราคุยกับคนจากที่อื่น มันเต็มไปด้วยความฝันใหม่ๆ ที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน เช่น อยากลองแม็คโดนัลด์เมนูพิเศษให้ครบทั่วโลก อยากขี่จักรยานจากลอนดอนมากรุงเทพฯ มันมีฝันที่ทำให้เราประหลาดใจเสมอ ที่เจ๋งกว่านั้นคือพวกเขาทำมันสำเร็จด้วย
แล้วก่อนหน้านั้นคุณเองมีฝันอะไร เหมือนหรือต่างจากคนอื่นไหม
เรานี่ยิ่งแล้วใหญ่ แต่ก่อนไม่มีฝันเลย คือเราเรียนไม่เก่ง แล้วฝันเด็กเรียนไม่เก่ง มันจะไปไกลแค่เอ็นท์ฯ ให้ติดก็ดีใจแล้ว ขอแค่พ่อแม่ไม่เสียใจ ไม่รู้ด้วยนะว่าติดแล้วไงต่อ หรือการเรียนต่อด้านศิลปะ บอกไม่ได้ด้วยซ้ำว่านี่คือฝันเราจริงๆ หรือเปล่า มันแค่เป็นบางสิ่งที่เราพอทำได้ ทั้งที่เราไม่ได้ชอบมันขนาดนั้น เหมือนจะมีฝันนะ แต่มันเป็นฝันระยะสั้นคือต้องเรียนให้จบ เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ อะไรแบบนี้ แต่มันไม่มีความฝันของชีวิต ไม่มีจุดหมายว่าจะใช้ชีวิตเพื่ออะไร
การได้เห็นความฝันคนอื่นที่หลากหลายมันช่วยก่อร่างความฝันเราได้มากขึ้นไหม
แต่ก่อนเรามีข้ออ้างว่าเขามาจากประเทศโลกที่หนึ่ง เราเป็นโลกที่สาม แต่พอเราได้คุยกับคนที่มาพักที่โฮสเทลจริงๆ กลายเป็นว่าอ้าว ทุกคนก็เริ่มจากไม่มีเงินก่อนนี่แหละ แต่ละคนก็เจอความท้าทายต่างกัน มีปัญหาต่างกันไป แต่เขาก็ยังฝันไกล แถมยังลงมือทำอีกด้วย
อะไรที่ทำให้เราฝันต่างกัน และเชื่อในฝันที่ต่างกันขนาดนั้น
เราว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ถึงโครงสร้างสังคมเลยนะ ทุกอย่างมันเชื่อมกันหมด ปัญหาใหญ่ๆ มันก็ก่อตัวมาจากจุดเล็กๆ ทั้งนั้น จากสถาบันครอบครัวที่พ่อแม่กดเรา เขาไม่ได้ตั้งใจหรอก มันมาจากความเป็นห่วง เป็นห่วงเพราะกลัวลูกจะไปเจออะไรไม่ดี บางคนกลัวแล้วห้าม บางคนกลัวแล้วบังคับ จนเราไม่กล้าที่จะมีความฝันของตัวเอง พอเข้ามหา’ลัยก็เจอระบบโซตัส ทำงานเจอระบบอาวุโส มันเป็นอำนาจนิยมที่มันส่งต่อกันไปเรื่อยๆ
การจัดการของรัฐก็ส่งผล ทำไมเด็กต่างชาติจบ ม.ปลายมาเที่ยวต่างประเทศได้เอง เพราะรัฐเขามีสวัสดิการ บางประเทศกลับไปเขาเรียนฟรี หรือถ้าเขาทำงานเก็บเงินได้ชั่วโมงละสามร้อย เราได้วันละสามร้อย ก็ไม่แปลกที่ต่อให้จะตะบี้ตะบันทำงานไล่ตามความฝันเหมือนกัน แต่เราไม่มีระบบสนับสนุนเท่าเขา มันก็ส่งผลต่อทางเลือกชีวิตเราอยู่แล้ว แถมยังส่งผลต่อจิตใจด้วย มันทำให้เรากลัวกันมาก เรากลัวกันตั้งแต่เด็ก กลัวพ่อแม่เสียใจ กลัวครูทำโทษ กลัวหัวหน้า กลัวพลาด กลัวไม่มีเงิน กลัวไปหมด แต่พอมาเจอเพื่อนต่างชาติ เขาทำให้เราเห็นว่าเขาเองก็มีความกลัวนะ แต่เขามีวิธีเอาชนะความกลัวได้ไง กลัวเหมือนกัน ต่างกันตรงที่เรายิ่งกลัวยิ่งไม่กล้าทำ ส่วนเขายิ่งกลัวยิ่งลงมือทำ
แล้วตอนนี้ยังมีความกลัวเหลืออยู่ไหม
ความกลัวมันอยู่กับเราตลอดเวลา แต่การเดินทางครั้งนี้มันฝึกให้เราถีบตัวเองออกไป เหมือนที่สไตนจ์บอกว่าถ้ากลัวก็ซื้อตั๋วเลย เดี๋ยวมันจะหาทางได้เอง ถ้าคุณไปถึงสนามบิน มีตั๋วแล้ว ต่อให้กลัวยังไงคุณก็ต้องเดินไปขึ้นเครื่อง ไปถึงไม่มีที่พัก ยังไงก็ต้องออกไปหาที่ซุกหัวนอน มีอยู่ครั้งหนึ่งผมเดินขึ้นเขา เพื่อนบอกว่าความสูงมันนิดเดียว ประมาณภูเขาทองบ้านเรา แต่พอเดินไปถึงแล้วต้องเดินขึ้นเป็นชั่วโมง กลัวหลงทางมากตอนนั้น เดินไปเจอลุงคนหนึ่งเกือบจะใจชื้นขึ้นมา แต่ลุงบอกว่าระวังเจอเสือนะถ้าเดินหลุดไปอีกโซน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจริงไม่จริง แต่ อ้าว แล้วต้องทำยังไง ตอนนั้นหนาวด้วย เลยโหลดแอพฯ วัดคลื่นหัวใจไว้ก่อน ถ้าหัวใจเต้นผิดปกติ หรือเจออะไรแย่ๆ จะได้รีบรายงานเพื่อนว่าอยู่ตรงไหน เดินไปคิดหาทางเอาตัวรอดตลอดทาง สัญชาตญาณสั่งให้คิดหมดว่าจะต้องทำยังไง หนึ่ง สอง สาม สี่ แต่สุดท้ายไม่ได้ใช้สักอย่าง ก็เดินลงมาจากเขาได้ปกติ (หัวเราะ)
การเดินทางครั้งนี้ก็ไม่ได้ทำให้ความกลัวหายไป ความกลัวมันจะมีต่อไปเรื่อยๆ แหละ แต่มันสอนเราว่าถ้าเรากลัวอะไร เราควรเผชิญหน้ากับมัน แล้วพอถึงเวลาจริงๆ สัญชาตญาณของตัวเราจะหาทางออกให้เอง
จินตนาการมันน่ากลัวกว่าความจริงเสมอ
ใช่ๆ เรื่องที่ผมเคยกลัวก่อนเดินทางคือความเหงา แต่เอาเข้าจริงแล้ว การเดินทางคนเดียวกลับไม่เหงา มันมีอะไรต้องทำตลอดเวลา หรือต่อให้ไม่มีคนคุย การได้คุยกับตัวเองเวลาเดินทางนี่มันดีมากเลยนะ ได้ถามตัวเองว่าทำอะไรอยู่ จะเอายังไงกับชีวิตต่อไปดี
การคุยกับตัวเองมันฟังดูเหมือนคนบ้า แต่สำหรับเรามันสำคัญมาก มันคือการทำความรู้จักตัวเอง ถ้าไม่รู้จักตัวเอง มันก็ไม่รู้ว่าจะเดินไปทางไหน จะเอายังไงต่อ
ตอนนั้นได้คำตอบไหม
ก็รู้สึกว่าทำแบบนี้แหละ เดินทางไปเรื่อยๆ แบบนี้ ตามสิ่งที่อยากทำไปเรื่อยๆ ลองไปก่อน นี่คือคำตอบตอนนี้นะ อีกสิบปีพอลองจนสุดแล้ว ผมอาจเปลี่ยนคำตอบก็ได้ แต่เปลี่ยนคำตอบก็ยังดีกว่าไม่ได้ตอบด้วยตัวเอง ดีกว่าต้องเดินตามคำตอบที่คนอื่นป้อนมาให้แล้ว เช่น คำตอบที่มีคนบอกให้ตั้งใจเรียน ทำงานตำแหน่งดีๆ มีครอบครัวดีๆ มันไม่ผิดนะ แต่มันไม่ใช่สูตรสำเร็จสำหรับทุกคน อย่างน้อยมันไม่ใช่คำตอบสำหรับเรา เหมือนที่เล่าไปตอนแรกว่ามันไม่ผิดถ้าคนฝันอยากจะมีร้านกาแฟ แต่ถ้าทุกคนฝันเหมือนกันหมด เราว่ามันแปลกเกินไป เราชอบได้ยินคำตอบอื่นๆ ที่ทำให้หัวใจมันเต้นแรงบ้าง
เช่น เพื่อนฝรั่งเศสคนหนึ่งที่มาพักที่โฮสเทล ความฝันเขาคืออยากออกจากปารีสไปต่างจังหวัดเพื่อเลี้ยงไก่ ผมฟังแล้วก็งงว่าทำไมถึงอยากเลี้ยง เขาบอกว่าอยากเลี้ยงไก่ให้มันออกไข่เยอะๆ แล้วพอมีไข่เยอะๆ แล้วก็จะเอาไปทำขนม เอาไปทำเค้ก แล้วพอทำอร่อยเขาก็จะเปิดร้านขนมที่เขาเองก็จะได้กินขนมอร่อยๆ ทุกวัน ฟังแค่นี้จบก็ตื่นเต้นแล้ว
มีคนบอกว่าการเดินทางจะทำให้เห็นตัวเองชัดขึ้น การเดินทางครั้งนี้ทำให้คุณมองกลับมายัง ‘บ้าน’ เปลี่ยนไปไหม
ก่อนไปเราคิดว่าประเทศไทยไม่แย่นะ คิดว่าอยู่ได้ ก็เราอยู่กับมันมาตลอดชีวิต แต่พอได้เห็นประเทศอื่นเป็นครั้งแรก เราเพิ่งเห็นว่าบ้านเมืองที่ดีเป็นยังไง ขนส่งสาธารณะที่มันเยอะและเชื่อมถึงกันได้หมด ความสะอาด ความปลอดภัยในเมืองมันมีจริง เราก็เริ่มช็อกขึ้นมาทีละนิดๆ
แต่คนเกาหลีก็ยังบ่นประเทศตัวเอง
บ่นน่ะถูกต้องแล้ว ลองคิดดูว่าถ้ามนุษย์ยุคก่อนเขาไม่บ่น เขาไม่เห็นว่าชีวิตในยุคนั้นมีปัญหา เราก็คงไม่พัฒนามาไกลจนถึงตอนนี้ ถ้าเราพอใจก็คือจบ จากที่คุยกับคนในโฮสเทลมา
“ทุกคนมีเรื่องบ่นประเทศตัวเองทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรปที่เราชื่นชมกันมาก การบ่นไม่ใช่ปัญหา มันเป็นเรื่องปกติของคนที่อยากจะพัฒนาให้ดีขึ้น ประเด็นคือเขาบ่นเรื่องที่มันล้ำหน้าไปแล้วแต่เรายังบ่นเรื่องพื้นฐานของชีวิตอยู่เลย บ่นเรื่องสิบปี ยี่สิบปีที่แล้วอยู่เลย อย่างเรื่องรถเมล์นี่เราบ่นกันมาตั้งแต่ยังเด็ก ป่านนี้ก็ยังบ่นกันอยู่”
‘The grass is always greener on the other side’ สนามหญ้าบ้านหลังอื่นมักสวยกว่าบ้านเราเสมอ ในขณะที่เราชื่นชมเขา มีอะไรที่คนภายนอกมองว่าเป็นข้อดีของบ้านเราไหม
ยกตัวอย่างเพื่อนละกัน มีเพื่อนเกาหลีคนหนึ่งเขารู้สึกว่าการอยู่เมืองไทยเขาเป็นอิสระมาก มันไม่มีใครมาจดจ้องเขาว่าจะเอายังไงต่อกับชีวิต จะไว้ผมยาวก็ได้ จะทำอะไรก็ได้ แต่พอกลับถึงเกาหลีเขาต้องตัดผมสั้น ไม่งั้นคนไม่รับเข้าทำงาน ไม่งั้นที่บ้านบ่น สังคมเขาก็มีความคอนเซอร์เวทีฟระดับหนึ่ง คือทุกที่มันมีการต่อสู้ แต่มันไม่ใช่การเทียบแล้วบอกว่า ที่อื่นก็มีปัญหา ที่อื่นแย่กว่าบ้านเราอีก คิดแบบนี้มันไม่ได้อะไรอะ มันต้องดูเขาแล้วถามตัวเราเองว่า เขาจัดการกับปัญหาเขายังไง แล้วเราเองที่ตอนนี้ก็มีปัญหา แล้วเราจะทำยังไงกับมัน
ในช่วงหนึ่งของหนังสือคุณพูดถึงยุคเกาหลีสร้างชาติหลังผ่านการแบ่งแยกเกาหลีเหนือ-ใต้ เป็นไปได้ไหมที่เขาผ่านสถานการณ์ยากลำบากมาก่อน คนเกาหลีถึงได้มีสปิริตความมุ่งมั่น บากบั่นกันขนาดนี้
เราว่ามันเกี่ยวนะ อย่างเราโตมากับประวัติศาสตร์ที่สอนว่าเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใคร ประเทศไทยมีพร้อมทุกอย่าง ในน้ำมีปลาในนามีข้าว เราก็พอใจแบบนี้ แต่ประวัติศาสตร์เกาหลีเขาโดนเป็นเมืองขึ้น เจอการแบ่งแยกประเทศ เจอการกดขี่ เจอความยากจน เจอเผด็จการ ถ้าเปรียบเกาหลีเป็นคน มันก็เหมือนคนที่ถูกกดขี่ตั้งแต่เด็กที่โตไปก็มีชีวิตอยู่สองทางคือ ไม่เป็นคนจมปลักอยู่กับที่เลย ก็เป็นคนที่ปลดปล่อยตัวเองเป็นอิสระได้ ซึ่งถ้าจะเป็นอย่างหลังได้ มันต้องดิ้นรน ต่อสู้อะไรสักอย่าง มันมีราคาที่ต้องจ่ายกับอิสรภาพที่ได้มา ในขณะที่อีกคนหนึ่งไม่ยอมลำบาก ไม่ยอมเผชิญกับการต่อสู้อะไรเลย ก็ไม่หลุดไปไหน ถามว่าชีวิตเขาโอเคไหม มันก็ไม่หรอก มันก็มีความอึดอัดที่เขาต้องแบกไว้ต่อไป
ตอนนี้ที่บ้านเมืองเขาดูพัฒนาแล้ว คนเขายังเรียกร้องเรื่องอะไรอยู่ไหม
เท่าที่เห็นข่าวล่าสุดคือเรื่องค่าบ้านแพง คนประท้วงเยอะพอสมควร แล้วก็มีประการท้วงประธานาธิบดีมุนแจอิน ที่เกาหลีเวลามีเรื่องที่คิดว่าไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นเขาเรียกร้องกันจริงจังมากแม้กับเรื่องเล็กๆ เราเลยจะได้เห็นการประท้วงตามใจกลางเมืองอยู่บ่อยๆ มีครั้งหนึ่งที่เราไปเล่นตู้คีบตุ๊กตากับเพื่อน ก็ใส่แบงค์เข้าไปแต่ว่ามันเล่นไม่ได้ เราก็เตรียมตัวเดินออกมา เพราะร้านส่วนใหญ่ไม่มีพนักงานเฝ้า แต่เพื่อนเดือดโทรไปหาเจ้าของร้าน สรุปว่าเขาโอนเงินคืนให้ บวกกับถ้ามาอีกครั้งหน้าแล้วเจอเจ้าของ เขาจะให้เล่นฟรีด้วยหนึ่งครั้ง ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานอะไรเลย
ทำไมความยุติธรรมถึงเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมเกาหลี
“เราว่าเวลาใครเป็นเดือดเป็นร้อนกับเรื่องอะไรเรื่องหนึ่งมากๆ เรามองว่าเขาต้องเคยได้รับผลกระทบจากมันมาก่อน คือคนเกาหลีเขาก็ต่อสู้กับการถูกกดขี่มานาน เขาก็คงไม่ยอมให้มันเกิดขึ้นอีกไม่ว่ามันจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม”
เราไม่โกรธหรอก ถ้าสิ่งนั้นไม่สำคัญกับเรา
ใช่ แต่ถ้าสิ่งนั้นมันเกี่ยวกับเรา มันก็ควรโกรธ เรามองว่าความโกรธแบบนี้เป็นความโกรธที่ดีนะ เป็นความโกรธที่นำไปสู่การพัฒนา อย่างเรื่องตู้คีบตุ๊กตามันก็สะท้อนตัวเราที่ตอนแรกตอบไปอัตโนมัติเลยว่า
“ไม่เป็นไรหรอก อย่าคิดมาก ช่างแม่ง เราอยู่กับคำพวกนี้มากเกินไป จนเราแสดงออกไปไม่เป็น แต่ความไม่พอใจบางอย่างมันต้องแสดงออก ตราบใดที่เราไม่ใช้กำลัง รุกรานคนอื่น อย่างที่กลุ่มเยาวชนเขาแสดงออกถึงความไม่พอใจอยู่ตอนนี้ เพราะเขาไม่ไหวแล้ว เขาอยากให้มันดีขึ้น เขาเลยต้องแสดงออกมาให้เห็นว่าปัญหาคืออะไร”
เราโกรธเพราะเราเชื่อว่าดีกว่านี้ได้ ถ้าบอกว่าไม่เป็นไร คือเราจำยอม ไม่สนใจเสียด้วยซ้ำไป
ใช่ แล้วเราไม่ได้เรียกร้องอะไรที่เกินเหตุเลยนะ เราเรียกร้องสิ่งที่ธรรมดามาก อย่างทางเท้าเดินได้น้ำไม่พุ่งขึ้นมา เรียกร้องขนส่งสาธารณะที่ทั่วถึง เรียกร้องการศึกษาที่ไม่ใช้อำนาจนิยม ของแบบนี้เราไม่ควรต้องร้องขอด้วยซ้ำ นี่เราใจดีมากแล้วนะกับสิ่งที่เรายอมโดนกดขี่มา เราเลยมองว่าต้องโกรธ เหมือนตอนเพื่อนเกาหลีไม่พอใจเรื่องตู้คีบตุ๊กตาอะ เขาไม่ได้โกรธเพราะเรื่องเงิน แต่เขามองว่านี่มันไม่ยุติธรรมกับเขา
แต่ก่อนเราได้ยินว่าโกรธคือโง่ โมโหคือบ้า จนทำให้เราคิดว่าการโกรธนี่มันแย่ แต่จริงๆ ในอีกแง่หนึ่ง เราโกรธก็เพราะว่าเราแคร์
อื้อ แต่กับประเทศนี้มันแคร์เฉยๆไม่พอไง เราว่าสถานการณ์ตอนนี้มันต้องอาศัยพลังที่มากกว่าการแคร์ มันต้องรู้สึกแล้วผลักดันอะไรบางอย่างให้มันเปลี่ยนแปลงได้ด้วย
อย่างแก๊งพวกนี้ (เราพูดคุยกันบนชั้น 3 ของโฮสเทล ที่เป็นที่รวมตัวกันของกลุ่ม Mayday, Trawell, Locall กลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลง) เขาก็ลุกมาทำป้ายรถเมล์ ช่วยเหลือชุมชน ลงไปทำเวิร์กช็อปให้พ่อค้าแม่ค้าเจ้าเล็กๆ เพราะเขาไม่พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ แต่เขาลุกมาทำอะไรบางอย่างให้กับสิ่งที่ไม่พอใจด้วย มันไม่ใช่เรื่องโรแมนติกนะ เพราะถ้าทุกอย่างมันดีอยู่แล้ว ถ้ารัฐทำหน้าที่ตรงนี้ได้ไม่บกพร่อง เขาก็ไม่ต้องมานั่งทำป้ายรถเมล์ ไม่ต้องลงชุมชน หรือช่วยเหลือร้านค้าเองหรอก
หนังสือเล่มแรกนี้เขียนเพื่อใคร
ให้ตัวเอง (หัวเราะ) อยากจะทำให้มันเป็นสิ่งที่บอกตัวเองว่าทุกอย่างมันเกิดขึ้นกับเราจริงๆ เพราะตอนเรากลับมาบางทีมันเหมือนฝันไป แต่พอเริ่มเขียนไปมันเริ่มรู้สึกว่า เกาหลีมีพื้นเพหลายอย่างคล้ายไทย แต่ในความคล้ายกันในตอนแรก ทำไมจู่ๆ ตอนนี้ประเทศเรากับเขาถึงต่างกันได้มากขนาดนี้ เลยเริ่มหยอดรายละเอียดต่างๆเข้าไปทั้งเรื่องสังคม การเมือง สาธารณะ เช่น รถบัสเป็นไง การทิ้งขยะ ประวัติศาสตร์ หรือแม้กระทั่งการดื่ม เช่น กระป๋องเบียร์ของเขามันมีอักษรเบลล์อยู่ เพื่อให้คนตาบอดรู้ว่านี่คือเบียร์ ถ้าบ้านเราทำอาจมีคนว่าทำไมไปสนับสนุนให้คนตาบอดดื่มของมัวเมา แต่คนเกาหลีเขามองว่ามันเป็นสิทธิส่วนบุคคล คนเราจัดการชีวิตตัวเองได้ การดื่มของเกาหลีมันไม่ใช่เรื่องศีลธรรม มันเป็นเรื่องการเฉลิมฉลอง
อย่างเรื่องแยกขยะนี่ถ้าเป็นคนประเทศอื่นมาอ่านเขาอาจจะงงนะว่าจะเขียนถึงทำไม มันคงเป็นเรื่องธรรมดามากสำหรับเขา แต่พออ่านในบริบทที่เทียบกับบ้านเรา มันทำให้รู้สึกว่าโอ้โฮ ประเทศอื่นเขาจริงจังกันขนาดนี้เลยหรือ ถึงที่สุดแล้วทุกอย่างเราไม่ได้เขียนหนังสือเพื่อเปรียบเทียบว่าอะไรดีไม่ดี แค่เล่าให้ฟัง ให้เห็นว่าบ้านอื่นเขาเป็นอย่างไร ในเรื่องเดียวกันมันต่างกันได้ขนาดไหน สุดท้ายคนอ่านจะตีความอย่างไร จะเห็นว่ามันดีหรือไม่ดีอย่างไร มันขึ้นอยู่กับเขาเลย
ในยุคที่เรามีข้อมูลมากมาย ทำไมคนเรายังต้องอ่านหนังสือท่องเที่ยวอยู่
เราว่าการอ่านหนังสือท่องเที่ยวมันคล้ายกับเวลาคุยกับแขกที่โฮสเทล มันทำให้เราเปิดกว้างว่าสิ่งเดียวกัน คนเราไม่ต้องมองเหมือนกันก็ได้ เช่น บาหลี ที่เดียวกันเลยนะ บางคนบอกสวรรค์ บางคนบอกว่าอย่าไปเลย มันไม่เกี่ยวกับสถานที่ไง มันเป็นมุมมองของแต่ละคน
ถามต่อว่าแล้วเราจะไปสนใจความเห็นคนอื่นทำไม เราว่าสุดท้ายแล้วหนังสือท่องเที่ยว หรือหนังสือใดๆ ก็ตาม ผู้อ่านเขาจะให้ความหมายตามประสบการณ์ของเขาเอง บางคนกล้าๆ กลัวๆ กับการเดินทางคนเดียว อาจรู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้ชวนให้เขาอยากลุยเดี่ยวดูบ้าง หรือบางคนเคยไปแล้ว ก็อาจทำให้เห็นมุมมองใหม่ๆ
หรืออีกฟังก์ชันที่เราไม่เคยคิดมาก่อน แต่เพื่อนๆ มักถ่ายรูปส่งมาให้ดู คือหลายคนเอาหนังสือเล่มนี้ไปถ่ายข้างโซจูกับไก่ทอด
เอาวะ อย่างน้อยมันก็เป็นอะไรที่คุณอ่านแกล้มเหล้าได้ (หัวเราะ)