จริงๆ แล้ววิธีการค้นหาอิคิไกที่เราสามารถดำเนินชีวิตประจำวันและทำงานประจำของตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วก็พบอิคิไกของตัวเองในระหว่างทางนั้น โดยไม่ต้องพยายามแสวงหาจากภายนอก ข้อแนะนำสำคัญคือการปรับเปลี่ยนนิสัยและมุมมองต่อโลก แล้วอิคิไกของเราจะเติบโตเบ่งบานได้ด้วยทัศนคติการมองโลกในแง่บวก มองเห็นความงามในสิ่งละอันพันละน้อยที่ประสบพบเจอ มีความพอใจกับความพอเพียงเท่าที่มีอยู่ และรักษาความเป็นเด็กน้อยไว้ภายในใจ อย่างที่ดีเจแห่งแคทเรดิโอ ‘เปิ้ลหน่อย’ – วรัษฐา พงษ์ธนานิกร ทำอยู่ เธอเป็นคุณครูสอนเด็กและเชื่อในความจริง ความงาม ความดีแบบเด็กๆ จนเธอซึมซับถึงการบ่มเพาะและเก็บรักษาความเป็นเด็กไว้ในใจได้ตลอดไป
Peter Pan in Our Heart
“อยู่กับเด็กเยอะๆ เผื่อสูบพลังมาได้บ้าง”
ประโยคสั้นๆ ที่เธอบอกเราหลังจากทักทายกันด้วยเค้กแครอตโฮมเมดหนึ่งชิ้น ซึ่งเราเพิ่งรู้มาได้สักพักว่านอกจากการเป็นดีเจ พิธีกร และวงดนตรีเล็กๆ Tue’sday แล้ว เธอยังมีอาชีพเป็นครูสอนบัลเลต์และครีเอทีฟแดนซ์ให้กับเด็กๆ มาแล้วกว่าสิบปี
“เด็กเขามีพลังมหาศาลแบบเปลี่ยนโลกได้เลย พลังของเขาล้นเหลือ ต้องให้เขาระบายออกมา ให้วิ่ง ให้กระโดด ให้เต้น แต่เราก็ต้องรู้ว่าเด็กแต่ละคนมีวิธีเข้าถึงที่ไม่เหมือนกัน วิธีอธิบายพวกเขาใช้วิธีเดียวกันไม่ได้เพราะบางคนจะเข้าใจ แต่กับอีกคนเขาอาจจะไม่เข้าใจเลยก็ได้”
ธรรมชาติของเด็กมีความซุกซน บอกให้อยู่นิ่งๆ หรือให้ตั้งใจฟังเรื่องที่เราสอนนั้นเป็นไปได้ยาก เรื่องนี้เราก็เข้าใจอยู่ แต่การบอกว่าถ้าจะสอนพวกเขาในเรื่องใดเรื่องหนึ่งต้องเตรียมการสอนถึงสองสามแบบในเรื่องเดียวกัน เราชักเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าเธอหมายถึงอะไร
“ถ้าจะบอกให้เขายกขาขึ้นแล้วเปิดเข่าออก บางคนเราบอกว่าให้เปิดขาออกมาแบบนี้ แล้วทำขาเหมือนเป็นมีดทาเนย กำลังปาดเนยลงไปที่ขนมปัง บางคนเข้าใจ แต่กับบางคนเราต้องบอกว่าขาสองข้างเหมือนกับคิทแคท แล้วเรามาหักคิตแคตออก เขาถึงจะเข้าใจ หรือกระทั่งบางคนเราต้องบอกว่าเหมือนหนูกำลังบิดมอเตอร์ไซค์ไงคะ แบบนี้เขาถึงจะร้องอ๋อ” เธอกล่าวพร้อมกับหัวเราะในความน่ารักของเด็กที่เจอมา
“เราสอนเด็กจนเห็นเขาโต เห็นเด็กที่มีคาแร็กเตอร์เฉพาะตัวหลายคน ที่พอเขาโตแล้วเราก็เห็นว่าเขาเป็นคนแบบไหนเลยสนุก เชื่อไหมเด็กที่เป็นคนแบบไหนพอเขาโตก็จะเป็นคนแบบนั้นเลยจริงๆ นะ เด็กที่จิตใจดีก็จะดีเหลือเกิน เด็กที่ชอบแข่งขันก็จะเห็นว่ามีแรงขับตลอดเวลา” เธอพูดพร้อมกับยิ้มอย่างมีความสุข
Joy of Little Things
การหาความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันจะช่วยเปิดใจของเราให้ยิ่งใหญ่ขึ้นได้ เหมือนกับเด็กที่มีความอยากรู้อยากเห็น ตื่นเต้นกับอะไรที่ไม่คาดคิดเสมอ และเธอเองก็คิดแบบเดียวกันกับเรา
“ถ้าเรายิ่งเจอความสุขเล็กๆ เท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีความสุขง่ายขึ้นเท่านั้น วันนี้บีบยาสีฟันง่ายจังเลย ขับรถไปทำงานไม่ติดไฟแดงเว้ย ฟังดูเป็นเรื่องนิดเดียวเรื่องเล็กๆ แต่ถ้าหาเจอชีวิตก็สดใสขึ้น แต่บางวันเราก็ไม่เจอความสุขแบบนี้หรอกเพราะใจข้างในมันขุ่นมาก แล้ววันนั้นเราก็จะพังทั้งวัน”
เธอบอกเราว่าอย่างไรก็ตามตัวเองจะไม่ยอมเลิกเป็นเด็กเด็ดขาด ด้วยการใช้วิธีเรียนรู้ทุกอย่างที่สนใจ ที่อยากทำ เค้กแครอตชิ้นที่สองที่เรากำลังตักเข้าปากตอนนี้ก็ใช่ เธอเพิ่งหัดทำได้สักพัก หันมาเล่นสเกตบอร์ดตอนที่โตแล้ว แต่เรื่องที่เราทึ่งที่สุดคือ เธอบอกกับแฟนของเธอที่เพิ่งแต่งงานกันได้ไม่นานว่าจะทำอย่างไรก็ได้แต่ห้ามเลิกเป็นเด็กเด็ดขาด การประคับประคองชีวิตคู่ของเขาทั้งสองใช้ความเป็นเด็กมาเกี่ยวกันไว้
“เราต้องจำความรู้สึกตอนที่เป็นเด็กเอาไว้ จำความรู้สึกที่เวลาเราเอ็นดูเด็กสักคน มันมีความสุข ต่อให้เด็กคนนั้นซนแค่ไหนเราก็ไม่โมโห ถ้าเรารู้สึกแบบนี้ด้วยกันได้ ไม่ว่าจะมีเรื่องทะเลาะหรือไม่เข้าใจกันเกิดขึ้นมา สุดท้ายเราก็จะไม่โกรธกัน”
การมีจิตใจที่เยาว์วัย สนุกไปกับทุกเรื่องของชีวิต ข้อนี้เราเองก็สนับสนุน แต่บางครั้งความห่อเหี่ยวก็มักเกิดจากเรื่องตรงนี้ เมื่อคำพูดของคนหลายๆ คนเข้ามากระทบ โดยเฉพาะประโยคเดิมๆ ที่ใครมักพูดมาว่า โตแล้วยังเล่นอะไรเป็นเด็กๆ อยู่ได้ ทำให้เราต้องหยุดแล้วก็ไปนั่งหงอยๆ ทำตัวเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่สดใส
“โตก็เรื่องของโตสิ” เธอไม่เห็นด้วย
“ส่วนที่เป็นความรับผิดชอบก็คือความรับผิดชอบ ส่วนที่เป็นเด็กก็คือเด็ก รู้สึกไหมว่าความสนุกแบบเดียวกัน เมื่อเทียบกับตอนที่เราเป็นเด็กกับตอนเป็นผู้ใหญ่นั้นไม่เท่ากันละ เราเคยเล่นของเล่นนี้ตอนเป็นเด็ก โอ้โฮ สนุกเหลือเกิน พอเป็นผู้ใหญ่มาเล่น อืม… ก็สนุก แต่ทำไมเราถึงจะไม่สนุกให้เท่าตอนเด็กล่ะ ในเมื่อมันเป็นสิ่งเดียวกัน
“เราไม่ใช่คนโลกสวยนะ บางครั้งหนักไปทางมองโลกในแง่ร้ายด้วยซ้ำ เหวี่ยง หงุดหงิดตามประสา แต่ทุกครั้งที่เป็นแบบนั้นจะรู้สึกไม่ชอบตัวเอง ก็เลยบังคับตัวเองให้เลือกเปิดช่องที่เราอยากเห็น อยากเจอ ช่องไหนที่เปิดแล้วทำร้ายตัวเอง ก็พยายามไม่ไปเปิดมัน เด็กๆ เขาจะมีช่องเปิดรับที่ไม่ซับซ้อน เขาเลยมีความสุขได้ง่าย เวลาอยู่กับเขาเราก็พลอยมีความสุขไปด้วย แอบซึมซับพลังของเขามาใช้”
Stay Hungry, Stay Foolish
ภาพสะท้อนของความเป็นเด็กที่ค่อยๆ จางหายไปเมื่อเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ก็ไม่ต่างกับภาพยนตร์เรื่อง Hook ของ สตีเวน สปีลเบิร์ก ซึ่งเล่าเรื่องของปีเตอร์ แพน ที่มาใช้ชีวิตในโลกมนุษย์ และถูกสังคมหล่อหลอมให้เขากลายเป็นมนุษย์เงินเดือน รูปร่างอ้วนฉุ ทำแต่งาน สีหน้าหม่นหมอง และลืมแม้กระทั่งว่าครั้งหนึ่งตัวเองคือเด็กชายที่มีความสุขที่สุดในดินแดนเนเวอร์แลนด์
“เราจะเจอภาพที่เห็นมาตั้งแต่เด็กว่าคนคนนี้เรียนจบชั้นประถม ไปต่อชั้นมัธยม จากนั้นก็เข้าทำงาน พอถึงวัยทำงานแล้วต้องเปลี่ยนการแต่งตัว ต้องแต่งหน้า มีแฟน แต่งงาน แต่งงานแล้วก็ต้องเป็นแม่ เป็นสเตจที่เราเห็นมาตลอด เห็นว่าว่าชีวิตคือ 1 2 3 4 แต่คนอย่างเราอยู่นอกกรอบนี้ เราก็เลยไม่รู้สึกว่าตัวเองต้องเป็น 4 เราเป็นแค่ 2 ก็ได้ แค่เรารับผิดชอบชีวิต รับผิดชอบงานที่ทำ เราได้ทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ เราเลยไม่ต้องใส่สูทไปทำงาน แต่คนที่เขาชอบชีวิตแบบนั้น คนที่เขาต้องการไปตามสเต็ป 1 2 3 4 ก็มี และเขาก็มีความในการโตเป็นผู้ใหญ่ของเขาเหมือนกัน”
การเป็นผู้ใหญ่มันไม่ง่ายเลย–เรานึกถึงเพลง พื้นที่เล็กๆ ของ ตรัย ภูมิรัตน ระหว่างที่นั่งพูดคุยกับเธอ
“ชีวิตประจำวันของเราเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วยังไงก็ไม่เหมือนตอนเป็นเด็ก ไม่ได้สดใสตลอดเวลา เวลาที่ห่อเหี่ยวก็มี แต่โอเอซิสของเราคือเด็ก พอเราเจอพวกเขาเรามีพลัง เราพยายามเอาสิ่งนี้ใส่กลับมาที่ตัว และเอาความรู้สึกนี้ออกไปสู่โลกของเราให้ได้ แล้วตัวเราก็จะส่องสว่างขึ้นมา แสงที่หายไปของเราก็จะกลับมาใหม่
“เราจะปลอดภัยจากความรู้สึกลบที่อยู่รอบข้าง เราจะไม่ห่อเหี่ยว แต่ก็ยากนะ เพราะบางทีพลังพวกนี้มาแล้วก็ไป อยู่ได้แป๊บเดียว บางวันเราก็โดนดูดไปหมด ทะเลาะกับแม่ ทะเลาะกับแฟน เจอเรื่องเครียดๆ เข้าไป”
จริงๆ ชีวิตก็แค่นี้เอง ถ้าอยากมีความสุขก็ลด ละ ปล่อยวางตัวตนลงไปบ้าง กลับไปนึกถึงเวลาเป็นเด็กดูสักหน่อย ว่าตอนนั้นแค่เจอผีเสื้อเกาะอยู่บนดอกไม้หรือขี่จักรยานแบบสองล้อเป็น แค่นี้ก็ทำให้เรามีความสุขได้ทั้งวันแล้ว
“ถ้าเราเปิดช่องของความสุข คนข้างๆ เราก็จะมีความสุข เพราะเราทำงานกับเด็ก เรื่องนี้ชัดเจนมาก เราแฮปปี้ เด็กก็แฮปปี้ เราไม่สนุก เด็กก็ไม่สนุก ยิ่งเราดุ เด็กก็จะยิ่งท้าทาย ซึ่งเด็กจับความรู้สึกเราได้ว่าเราโมโห แต่เด็กพอรู้ว่าเราโมโหก็จะยิ่งท้าทาย เราจึงปรับความคิดตัวเองใหม่ ถ้าเขาดื้อ เราขยับเส้นแบ่งของเราขึ้นไปหน่อยไหม แล้วพอเขาดื้อเราก็จะไม่โกรธ เพราะเส้นที่เราตั้งไว้มันสูงขึ้น เราจะไม่รู้สึกโมโหเด็กเลย เด็กก็มีความสุข เพราะแม้กระทั่งเด็กที่ไม่คิดอะไรมากมาย เขาก็ต้องใช้เวลาในการเอากำแพงของเขาลงเหมือนกัน”
Forever Young
จากผลการวิจัยของ Rene Proyer แห่งมหาวิทยาลัยซูริก ให้ความเห็นว่า คนที่มีความเป็นเด็กในตัวจะเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ อารมณ์ดี เป็นคนชิลๆ ไม่ค่อยเครียด และเป็นคนที่สามารถพัฒนาตัวเองเพื่อให้เกิดคุณสมบัติที่ดีในตัวข้ออื่นได้ง่าย และที่สำคัญ คนประเภทนี้มักได้รับความสนใจจากเพศตรงข้ามด้ว
ในหนังสือ พันครั้งที่หวั่นไหวกว่าจะเป็นผู้ใหญ่ ของ คิมรันโด ก็ให้ข้อคิดในการเป็นผู้ใหญ่ไว้ว่า “เรามองชีวิตคนอื่นจากที่ไกล แต่มองชีวิตตัวเองจากที่ใกล้ ทำให้ชอบคิดไปว่าชีวิตคนอื่นมีแต่ความสุขและชีวิตตัวเองมีความทุกข์” ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมพอเรายิ่งโตก็เริ่มไม่มีความสุขในชีวิต
โดยเขาให้แนวทางในการค้นหาความหมายที่แท้จริงของการเติบโตไว้ว่า “สิ่งสำคัญที่สุดที่ได้จาการทำงานไม่ใช่เงินเดือนและตำแหน่ง แต่เป็นการเรียนรู้ และการเติบโตของตัวเราเอง”