สุพัตรา อุสาหะ

การพึ่งพาตัวเองฉบับรวบรัดผ่านการปลูกผักและทำเครื่องปรุงกินเองของ ‘ปูเป้’ – สุพัตรา อุสาหะ

ทันทีที่เราเลี้ยวรถเข้ามาภายในหมู่บ้านสัมมากร แล้วขับต่อเข้าสู่โซนที่อยู่อาศัยลึกเข้าไปด้านใน ก่อนมาจอดที่หน้าบ้านหลังสุดท้ายในซอยเล็กๆ ที่ตรงนั้นโดดเด่นด้วยต้นไม้ใหญ่สองต้น มีสีเขียวของไม้เลื้อยที่คลุมกำแพงเตี้ยๆ ถัดไปคือต้นไชยาสูงชะลูดที่ปลูกอยู่ด้านในรั้วบ้าน เผยให้เห็นยอดใบแวบๆ เรารู้ได้ทันทีว่ามาถึงบ้านของ ‘ปูเป้’ – สุพัตรา อุสาหะ กันแล้ว

       ปูเป้ต้อนรับเราด้วยน้ำอินฟิวส์เย็นๆ ที่มีส่วนผสมของเลม่อนฝาน แครอต มะเขือเทศ และวอเตอร์เครส ซึ่งเธอบอกว่าส่วนใหญ่ใช้ผักที่ปรุงเองหน้าบ้าน เพราะมั่นใจว่าไม่มีสารเคมีร้อยเปอร์เซ็นต์ นำมาฝานหรือเด็ดใบ ขยี้เล็กน้อย แล้วแช่ในน้ำสะอาดดื่มเป็นประจำได้ประมาณปีกว่าแล้ว

       “เราชอบดื่มน้ำที่ได้กลิ่นหอมๆ ของพืชผักที่ปรุงเอง อย่างชาวญี่ปุ่นก็จะนิยมนำน้ำอินฟิวส์ที่มีส่วนผสมที่ให้คุณประโยชน์ต่างกัน อย่างสูตรดีท็อกซ์ สูตรรีเฟรช สูตรบำรุงผิว แต่เราเลือกแบบบำรุงใจ ที่ดื่มได้ทุกวัน โดยเฉพาะวันที่อากาศร้อนๆ น้ำเย็นๆ แบบนี้สดชื่นดีจัง” 

 

สุพัตรา อุสาหะ

ปลูกเอง

       จากน้ำอินฟิวส์ที่ดูเป็นปลายทาง เราจึงย้อนกลับมาถามถึงแปลงผักหน้าบ้านทันที ปูเป้เล่าว่า เริ่มแรกก่อนย้ายมาบ้านหลังนี้ เธอปรับหน้าบ้านให้เป็นแปลงปลูกแบบนี้อยู่แล้ว แต่ที่ย้ายมาที่นี่ เพราะต้องการจะทำให้เป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้และเวิร์กช็อปสอนทำอาหารแปรรูปและขนมเพื่อสุขภาพ

       “ช่วงแรกๆ ประมาณปีกว่าๆ ดินบริเวณแปลงเพาะปลูกตอนนั้นเต็มไปด้วยดินเหนียว และมีเพียงไม้ใหญ่อย่าง ต้นโมกให้ความร่มรื่น เธอทอดสายตาออกไปนอกบ้าน แล้วบอกว่าดินที่นี่แย่มาก ถึงขั้นว่าขุดดินเพื่อจะปลูกต้นกล้วยก็ลมแทบจับ เธอจึงเริ่มต้นชุบชีวิตดินอีกครั้ง

       “เรากลับมาบำรุงดิน ด้วยการเปิดสปริงเกลอร์ทิ้งไว้ แล้วห่มดินด้วยใบไม้แห้งที่ร่วงอยู่แถวนี้ รอเวลาให้ใบไม้เริ่มเน่า ดินเริ่มแฉะ โรยด้วยผงถ่านใบโอชาร์ เพื่อให้เป็นบ้านของจุลินทรีย์ ดินก็เริ่มชุ่มชื้นขึ้น เรารอจนดินเริ่มนิ่ม ร่วนซุย สามารถปลูกผักได้ โดยระหว่างช่วงบำรุงดินผืนนี้เราก็จะเพาะต้นกล้าเล็กๆ ของเราในเข่งพลาสติกก่อน ด้วยการซื้อดินถุงมาหมักเศษเปลือกผลไม้และเศษผักที่เหลือจากการทำอาหาร แล้วเอาดินกลบทับไว้เพื่อป้องกันแมลงและหนูมากิน กับป้องกันกลิ่นที่จะโชยออกมา ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนเต็มเข่ง จากนั้นก็นำพืชผักที่เราอยากปลูกมาปักลงดิน ก่อนจะนำไปลงดินในแปลงใหญ่ต่อไป”

       แต่ด้วยความที่เธอมีพื้นที่น้อย เธอจึงไม่ได้แบ่งสัดส่วนพื้นที่ปลูกอาศัยอย่างจริงจัง แต่ใช้วิธีว่าถ้าอยากกินอะไรก็ปลูกอย่างนั้น แต่สิ่งที่ไม่ปลูกไม่ได้สำหรับเธอคือพืชผักสวนครัวทั้งหลาย นั่นคือขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด กะเพรา พริก โหระพา ที่บางส่วนเธอจะตากแห้งไว้เพื่อทำเป็นเมล็ดพันธุ์ปลูกต่อ บางส่วนก็แจกเพื่อนบ้านหรือคนเมืองที่อยากปลูกผักเอง เพื่อบอกเป็นนัยๆ พร้อมให้กำลังใจว่า ต่อให้มีพื้นที่แค่ไหน คุณก็เริ่มต้นปลูกผักกินเองได้เช่นกัน

 

สุพัตรา อุสาหะ

 

       “เราเองเป็นคนหนึ่งที่เริ่มจากศูนย์ ปลูกต้นไม้ที่ริมระเบียงชั้นสองของบ้านตึกแถว ทำเป็นสวนเล็กๆ ตอนนั้นไม่ได้ปลูกผักกินเอง ยังเดินไปซื้อผักที่ตลาดมาทำกับข้าวอยู่เลย ยิ่งเจอเพื่อนในกลุ่มเกษตรกรที่เราเริ่มรู้จัก เราจึงเริ่มปลูกผักกินได้ ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกันที่มะเขือเทศออกผล เราดีใจ จึงทำให้คิดที่อยากจะไปต่อเรื่อยๆ

       “โดยส่วนตัวเราคิดว่า เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับตัวเอง คนเมืองอย่างเราๆ จึงต้องเริ่มปลูกจากพืชผักที่ปลูกง่าย ดูแลไม่เยอะ โตเร็ว และใช้พื้นที่น้อย จากนั้นจึงค่อยๆ ไต่ระดับไปเรื่อยๆ โดยใช้ฐานความรู้เรื่องการดูแลพืชผักเป็นหลัก อีกอย่างเพื่อเช็กตัวเองด้วยว่าเราเกิดมาเพื่อสิ่งนี้หรือเปล่า”               

ปรุง และแปรรูปเอง

       แน่นอนว่าเธอเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ 

       สิ่งที่หลายๆ คนบอกว่ายาก แต่เธอมองว่าไม่ยากขนาดนั้น อาจเป็นเพราะเธอคุ้นชินอยู่กับสวน ดิน พืชผัก และการทำอาหารที่ติดตัวมาตั้งแต่เธอยังเด็ก และอาศัยอยู่กับครอบครัวในจังหวัดตาก ทำให้เธอซึมซับมาจนโต

       แต่ช่วงชีวิตคนเราก็ไม่ได้ขีดเส้นทางไว้แบบนี้แต่แรก เธอบอกว่าก่อนจะมาเป็นปูเป้ทำเองอย่างทุกวันนี้ เธอก็เคยเป็นหญิงสาวที่เข้าเมืองกรุง มีชีวิตสนุกสนานทั่วไป แต่ด้วยความชื่นชอบที่จะหยิบจับทำสิ่งของออกขาย จนกระทั่งหันมาทำร้านอาหารกลางคืนกับเพื่อนๆ และใช้ชีวิตกลางคืนมาอย่างยาวนาน 

       วันหนึ่งเธอก็ตัดสินใจพลิกชีวิตหันมาเป็นคนกลางวัน  ด้วยการยึดอาชีพช่างสักคิ้วเป็นอาชีพหลัก แล้วให้อาชีพเกษตรกรเวอร์ชันคนเมืองเป็นอาชีพเสริมที่เธอรักอย่างสุดหัวใจ

       เราเห็นความรักที่เธอปรุงเองกับมือ ผ่านการนวดเส้นบะหมี่ผักไชยา ผักใบเขียวที่เธอปลูกเองกับมือ ตัดใบเองกับมือ และมือของเธอก็ให้ความสำคัญกับอาหารและเครื่องปรุงทำเอง โดยมีวัตถุดิบตั้งต้นมาจากแปลงปลูกผักหน้าบ้าน จากสวนที่บ้านจังหวัดตากตามฤดูกาล และจากเพื่อนฝูงหมู่มิตรเครือข่ายเกษตรกรที่เธอรู้จัก

 

สุพัตรา อุสาหะ

 

       เรามองไปรอบๆ ห้องโถงขนาดเล็กในพื้นที่บ้านเดี่ยวสองชั้นแห่งนี้ ก็พบกับโหลเครื่องปรุงหมักดองเองนานาชนิด วางไว้อยู่บนชั้นไม้อย่างละลานตา

      “ปรุงเอง ดีต่อใจ และต่อสุขภาพ” เธอบอกอย่างนั้น พร้อมกับหยิบขวดเครื่องปรุงนานาชนิดที่เธอคิดค้นสูตรเองมาให้เราชม ซึ่งมีทั้งซีอิ๊วถั่วเหลืองหมักในโหลใหญ่ กระเทียมโทนดองน้ำผึ้ง เหล้าบ๊วย ซอสทำอาหาร แชมพูมะกรูด สบู่เหลว สบู่ก้อน ผงแป้งข้าวทำขนม เรื่อยไปจนถึงยาแก้ไอจากมะกรูด ที่เธอได้เรียนรู้ผ่านครูบาอาจารย์ เพื่อนฝูง เครือข่ายเกษตรกร ตำราและข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต

       “คุณอยากจะหมักจะดองอะไรสักอย่าง เวลาผ่านไปเดือนหนึ่ง แทนที่จะได้กินได้ใช้แล้ว เวลาก็ผ่านไปเปล่าๆ โดยที่คุณไม่ได้ลงมือทำและก็ไม่ได้กิน” เราเห็นด้วยกับคำที่เธอบอก เช่นเดียวกับการปลูกต้นมะเขือเทศของเธอที่ริมระเบียงบ้านตึกแถว วันนั้นเมื่อออกผล เธอไม่ปล่อยผ่าน เอามาแปรรูปเป็นซอสมะเขือเทศกินเอง และมีจำหน่ายอย่างทุกวันนี้  

การพึ่งพาตัวเอง

       “คนส่วนหนึ่งมักบอกว่าทำกินเองสิ้นเปลืองกว่าการซื้อ ก็เห็นด้วย แต่นี่คือจุดเริ่มต้น” เราทำหน้าฉงน

       “หากเราเป็นคนชอบกินเผ็ด ก็ลองปลูกพริกสักสองต้น อีกต้นเผื่อตาย โหระพาหรือกะเพราอีกสักต้นก็ได้เมนูกับข้าวสุดโปรดที่ไม่ต้องไปซื้อทีละเล็กละน้อย แล้วเหลือใช้ไม่หมด ซึ่งการปลูกคือ ต้นทางของคำว่าประหยัด ปลายทางคือความภูมิใจ และความมั่นใจจากสิ่งเล็กๆ ที่เราเริ่มปลูกด้วยตัวเองเพื่อนำไปปรุงเองและกินเอง”

       สุดทางของการปลูก ปรุง และแปรรูป เราเข้าใจแล้วว่านี่คือการเรียนรู้ชีวิต ผ่านการหันกลับไปพึ่งพาตัวเองแบบที่ทำได้ในชีวิตปะจำวัน ทำจนทุกอย่างเป็นธรรมชาติของตัวเองได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ สองมือของเราสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างสนุกสนาน สมองของเราคิดค้นและทดลองไปพร้อมๆ กับการเติบโตทั้งทางความคิด และการเปลี่ยนแปลงของอายุ ที่เธอและผู้ที่ได้ลองสัมผัส เลือกจะอยู่กับสิ่งนี้ ที่เรียกว่า ‘ทำเอง’ ต่อไปได้อย่างมีความสุข

 

สุพัตรา อุสาหะ