พวงสร้อย

พวงสร้อย อักษรสว่าง | นคร-สวรรค์ พื้นที่ประกอบร่างความทรงจำที่ถูกแต่งเติม

‘โรส’ – พวงสร้อย อักษรสว่าง มีหลายบทบาท เธอเป็นทั้งคนทำหนัง นักเขียน และยังเป็นนักเรียนสาขาภาพยนตร์ในสถาบันชั้นนำอย่างมหาลัยศิลปะ University of the Art Hamburg ประเทศเยอรมนีอีกด้วย

 

เริ่มต้นจากการเป็นผู้ช่วยผู้กำกับจากภาพยนตร์เรื่อง 36 (2555) เป็นคนเขียนบทร่วมในเรื่อง The Isthmus (2556) เป็นเจ้าของหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ก My best friend is me และซีนเรื่อง คุณทั้งสองติดตามซึ่งกันและกัน รวมทั้งซีนเรื่องสั้นอย่าง THERE และผลงานล่าสุดที่นับเป็นก้าวใหญ่ในชีวิต เธอทำหน้าที่เป็นนักเล่าเรื่องผ่านภาษาภาพยนตร์ ในหนังยาวเรื่องแรกของตัวเองที่ชื่อว่า ‘นคร-สวรรค์’ (Nakorn-Sawan)

     ใครที่ติดตามงานเขียนของโรสน่าจะจำเรื่อง นคร-สวรรค์ ได้ เพราะเป็น 1 ใน 8 เรื่องสั้นชิ้นล่าสุดใน THERE เรื่องนี้ยังถือเป็นงานหนังในวาระจบการศึกษาจากชีวิตนักศึกษาศิลปะในเยอรมนีตลอด 4 ปี ล่าสุด นคร-สวรรค์ กำลังเดินทางไปไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ (Busan international Film Festival 2018) โดยมีกำหนดฉายวันแรกคือ 5 ตุลาคม

     การมีคนสนใจให้ทุนมาทำหนังของตัวเอง แถมยังได้ออกฉายในต่างประเทศ นับเป็นเรื่องโก้เก๋และน่าตื่นเต้นจนใครต่อใครต่างต้องอิจฉา แต่สิ่งที่ผลักดันให้ความฝันนี้ออกมาเป็นชิ้นเป็นอันได้ กลับมาจากเหตุการณ์จากไปของผู้เป็นแม่ ซึ่งเมื่อผ่านพ้นความฟูมฟายมาแล้ว เธอได้นำความทรงจำต่อแม่ ต่อครอบครัว และต่อชีวิตในวัยเด็กมาเป็นเครื่องมือที่ทำให้เรื่องเล่าในภาพยนตร์ของเธอทรงพลังยิ่งขึ้น

     คำว่า ‘นคร-สวรรค์’ ของคนอื่นเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่เธอมีภาพของคำนี้เป็นเหมือน พื้นที่ในการยอมรับและเยียวยาตัวเองจากเหตุการณ์ใหญ่ในชีวิต ทั้งยังเป็นพื้นที่แห่งการทำความเข้าใจดินแดนแห่งความเป็น-ตายของชีวิต

     นคร-สวรรค์เป็นเรื่องจริง หรือเป็นเรื่องแต่ง เป็นเรื่องของโรส หรือเป็นเรื่องของเรา มาฟังจากปากเธอไปพร้อมๆ กัน

 

พวงสร้อย

 

คุณจบการศึกษาจากเยอรมันแล้วใช่ไหม

     ใช่ คราวนี้กลับมาอยู่ไทยยาวๆ เลย กลับมาตั้งแต่ช่วงเมษายนที่ผ่านมา จริงๆ แล้วตอนต้นปีก็กลับมาแล้วครั้งหนึ่งเพื่อถ่ายเรื่อง นคร-สวรรค์ แล้วก็กลับไปเยอรมันพรีเซนต์ตัวจบ ก็คือหนังเรื่องนี้แหละ แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหนัง ยังไม่ได้ทำเป็นหนังยาวแบบเวอร์ชันล่าสุด พอกลับมาเราก็ส่งหนังไปที่ปูซาน เค้าให้ทุน Post Production ให้ไปทำสี ทำเสียง ทำ DCP คือทำเพื่อไปฉายในโรงหนังหรือไปฉายที่นิทรรศการหนัง ช่วงที่กลับมาก็เลยให้พี่ลี (ลี ชาตะเมธีกุล) ตัดต่อให้ เตรียมไปเกาหลี

 

หนังเรื่อง นคร-สวรรค์ เริ่มต้นมาอย่างไร

     เราว่าจุดเริ่มต้นมันก็คือความคิดถึงบ้านตอนเรียนอยู่ที่เยอรมันนั่นแหละ ด้วยความคิดถึงนั้น เราพยายามจะเก็บสิ่งต่างๆ ของคนที่บ้านไว้ระหว่างทาง บางทีก็อัดเสียงตอนคุยกับแม่เก็บไว้เฉยๆ หรือบางทีแม่ส่งรูปมาในเฟซบุ๊กแชตเราก็เซฟไว้ บางทีไม่ได้ตั้งใจเซฟตั้งแต่แรก แต่รู้สึกว่าอยากเก็บพวกนี้ไว้ทำอะไรสักอย่างหนึ่ง จนวิดีโอแรกที่เราทำ ตอนนั้นอยู่เมืองเบนเมน เราก็ถ่ายบรรยากาศเมืองแล้วก็เอาเสียงที่คุยกับแม่มาถ่ายเป็นวิดีโอ ก็รู้สึกว่าเออ อยากทำอะไรพวกนี้ไปเรื่อยๆ เก็บไว้ ไม่ได้ตั้งว่าจะทำพวกนี้เป็นหนัง พอทำไปเรื่อยๆ ก็เริ่มรู้สึกว่าเราอาจจะชอบอะไรแบบนี้ พอเราอยู่ไกลบ้านสิ่งที่คิดถึงก็กลายเป็นเรื่องตัวเอง เรื่องที่บ้าน เรื่องสมัยเด็ก เรื่องเก่าๆ เรื่องเพื่อน

     จนอยู่เยอรมันไป 2 ปี แม่ก็ชวนกลับไทย ช่วงนั้นเราเขียนหนังสือ My best friend is me พอดี เราก็เลยกลับมาช่วงงานหนังสือต้นปี 2016 แม่ก็เลยชวนไปเยี่ยมย่าที่หาดใหญ่ จะได้ถือโอกาสไปเยี่ยมพ่อด้วย ตอนนั้นแม่ไม่ได้อยู่กับพ่อแล้ว พ่อกลับไปอยู่สวนยางคนเดียว เราก็ได้ไปเยี่ยมย่า ไปดูสวนยางของพ่อที่ไม่ได้ไปมานานมาก

     แล้วมันก็เป็นโมเมนต์ของการไม่ได้เจอพ่อนานแล้วน้องสาวก็ไปด้วย มันก็เหมือนกึ่งๆ รียูเนียนเล็กๆ แหละ แต่ก็เป็นการรียูเนียนที่ไม่ได้อบอุ่นอะไรขนาดนั้น ไม่ได้โผกอด แต่เป็นความรู้สึกประหลาดนิดๆ ในเชิงที่เหมือนว่าเราไม่รู้ว่าเรามาในฐานะแขก หรือเรามาในฐานะลูกสาว หรือเรามาในฐานะอะไร

     และด้วยสันดานเราเวลาไปไหนก็จะพกกล้องดิจิตอลไปด้วย ยิ่งพอมีกล้อง เขาก็ยิ่งถามว่าถ่ายอะไรนั่นนี่ เราก็บอกถ่ายเก็บไว้เฉยๆ เราก็ถ่ายบทสนทนาง่ายๆ เช่น “ทำไรอยู่” “อยู่ที่โน่นอยู่กับใคร” “ทำอะไร” ซึ่งมันธรรมดามาก แต่พอคุยไปคุยมามันกลายเป็นว่า แม่บอกว่าพ่อเคยไปเยอรมัน ก็เป็นสิ่งที่เราไม่เคยรู้มากมาก่อน แม่ก็บอกเดี๋ยวกลับไปบ้านจะเอารูปให้ดู ก็ทำให้รู้สึกว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่เราไม่รู้เกี่ยวกับเขา

     บางทีเวลาเราเปิดดูอัลบั้มรูปเก่าๆ เห็นพ่อเห็นแม่เราตอนหนุ่มสาว ก็จะมีแฟนตาซีอีกแบบหนึ่งที่เราไม่เคยเห็น เฮ้ย เขากินเบียร์เว้ย ซึ่งจริงๆ มันก็ปกติแหละ วัยรุ่นกินเบียร์ หรือเขาแฮงเอาต์ นี่คือผับที่เขาไป หรือกระทั่งอัลบั้มรูปที่พ่อไปเบอร์ลิน ใส่สูทผ้าไหม ถ่ายรูปที่สนามบินดอนเมือง ถ่ายรถไฟใต้ดิน ถ่ายทั่วไปเหมือนที่เราถ่ายกัน ก็เลยคิดว่ามันน่าสนใจ บางทีมันก็ซ้อนทับกับที่เราอยู่ที่นั่น ตอนที่พ่อไปเบอร์ลิน ตอนนั้นกำแพงมันยังอยู่ ถ้าพูดให้ยิ่งใหญ่ก็คือมันเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่นั่นที่นี่

     เราก็เลยทำวิดีโออีกชิ้นหนึ่ง วิดีโอแรกเป็นเรื่องแม่ คราวนี้เลยใช้รูปของพ่อ แล้วเอาเสียงที่เราคุยกับเขาที่สวนยางมาทำ มันไม่ยากอะไรเลย พอทำไปทำมาก็รู้สึกว่าเราคงทำหนังแนวนี้แหละ เลยเอาวิดีโอ 2 ชิ้นนี้มาลองดูว่าจะไปในทิศทางไหนได้บ้าง แล้วพอดีช่วงนั้นเราต้องทำงานตัวจบ ก็เลยลองเขียนเรื่องดู

 

ซึ่งยังไม่ใช่ นคร-สวรรค์ ใช่ไหม

     ไม่ใช่ นคร-สวรรค์ หนังจบเรื่องแรกมันเป็นเรื่องความรักพ่อแม่ที่เราแต่งเองผสมกับวิดีโอที่เราเคยทำ ตอนนั้นที่สิงคโปร์มีเปิดรับหนังของผู้กำกับที่ทำหนังยาวเรื่องแรก ให้ส่งเข้ามาเวิร์กช็อป ก็ลองส่งดู สรุปว่าได้ แล้วหนังเรามันไม่ได้รางวัลใหญ่ แต่ดันได้รางวัลที่กรรมการชอบแล้วอยากให้ ช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่เราตั้งคำถามกับตัวเองเยอะว่าเราจะทำหนังใช่ไหม มาทางนี้จริงๆ แล้วหรือเปล่า 

     เหมือนตอนที่เราไปเรียนที่เยอรมัน มันเป็นช่วงที่เราหายไปจากที่นี่ ตอนนั้นอายุ 25 กำลังเป็นช่วงที่เปลี่ยนลำดับในการทำงาน เพื่อนแต่ละคนก็ทำงานกัน ในขณะที่เรายังอยู่ที่นั่น ตื่นไปเรียนตอนเช้า ตอนเย็นไปเสิร์ฟ

 

พวงสร้อย

 

แต่คุณก็คลุกคลีอยู่กับวงการหนังไทยมานานแล้วนะ ทำไมอยู่ๆ จึงเกิดความไม่มั่นใจขึ้นมา

     ไม่รู้เหมือนกัน อาจจะเป็นเพราะเมื่อก่อนเราเป็นผู้ช่วยผู้กำกับด้วยมั้ง พอทำงานเสร็จแล้วไปเรียนก็เลยขาดความคิดที่ว่าอันไหนคือหนังของเราวะ แล้วทุกคนก็ถามว่าเมื่อไหร่จะทำหนัง เราก็ไม่รู้ แล้วบางทีมันก็กดดันตัวเองนิดๆ ว่าเมื่อไหร่เราจะมีหนัง แต่ถ้าถามว่าเราเป็นคนที่อยากกำกับหนังขนาดนั้นไหม เราก็ยังไม่ถึงขนาด 100 % แต่พอได้รางวัลที่สิงคโปร์ ก็รู้สึกว่าเริ่มมีจุดโฟกัส หรือจุดที่อยากทำหนังขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง อาจจะไม่ใช่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต แต่เหมือนเป็นสิ่งที่เติมความมั่นใจในการทำหนัง

     หลังจากนั้นก็เขียนบท เตรียมถ่ายหนังอยู่เรื่องหนึ่งนะ ตอนนั้นก็กลับมาไทยปี 2017 แต่สรุปมาถึงแม่เสียเลยไม่ได้ทำเรื่องนี้ต่อ จำได้เลยว่าวันที่แม่เข้าโรงพยาบาลคือวันที่เรามาแคสต์นักแสดงแล้วปิดเครื่อง พอเปิดเครื่องน้องก็โทร.มาบอกว่าแม่อยู่โรงพยาบาล ตอนนั้นกำลังวุ่นวายกันการเตรียมทำหนัง แล้วก็เกิดคำถามกับตัวเองว่าเราควรทำหนังต่อหรือเปล่าวะ หรือควรหยุดไปจัดการชีวิต แม่ก็บอกให้ไปทำให้เสร็จแม่ไม่เป็นอะไร แต่อีกใจก็มีความรู้สึกบางอย่างว่าครั้งนี้แม่น่าจะไม่ไหว เลยขอหยุดโปรเจ็กต์หนังไปจัดการเรื่องแม่

 

สรุปแล้วได้ทำหนังเรื่องนั้นต่อไหม

     ไม่ได้ทำต่อ พอแม่เสียเราก็ต้องกลับเยอรมันไปลงทะเบียนเรียนให้จบ กลายเป็นว่าต้องโยนเรื่องนี้ทิ้งไปเลย เพราะสภาพจิตใจตอนนั้นไม่สามารถทำได้ พอเขียนถึงแม่ปุ๊บคือไม่ได้เลย แล้วกลับไปนู่นก็หนักกว่าเดิม ต้องไปอยู่คนเดียว ตอนนั้นชีวิตหลักเลยคือการทำงานเสิร์ฟที่ร้านอาหารไทยเป็นงานหลัก งานรองคือคิดเรื่องหนัง ซึ่งคิดยังไงก็คิดไม่ออก แต่ตัวสารคดีที่เราเคยถ่ายพ่อกับแม่ยังอยู่ เรารู้สึกว่าต้องทำอะไรกับสิ่งเหล่านี้แหละ แต่ว่าจะเล่าอะไร พอเกิดเรื่องนี้ กลายเป็นว่าความรักกุ๊กกิ๊กที่เราเคยเขียนมาก่อนหน้านี้มันจบไปเลย

     จนมีน้องมาชวนให้ไปเขียนงาน Bangkok Art book Fair เลยเป็นหนังสือ There รวมเรื่องสั้นที่เขียนกับ ใหม่ (ศุภรุจกิจ) หนึ่งในนั้นคือเรื่อง ‘นคร-สวรรค์’ จำได้ว่าเป็นเรื่องที่เขียนรวดเดียว คือมีแก้บ้างแหละ แต่สุดท้ายพอเขียนรวดเดียวแล้วเมื่อเขียนจบมันเกิดความรู้สึกอะไรบางอย่างไม่รู้ ไม่ได้โล่ง แต่เป็นมวลอะไรบางอย่างเกิดขึ้นกับเรา เพราะเป็นการเขียนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแรกหลังจากงานศพ หรือหลังจากอะไรก็ตามที่เรายังไม่มีเวลาจัดการความรู้สึกต่างๆ เราก็เลยคุยกับพี่ใหม่ (อโนชา สุวิชากรพงศ์) โปรดิวเซอร์ ว่าสรุปเราทำหนังเรื่องนี้นะ ซึ่งมันต่างจากบทอันแรกที่ส่งไปสิงคโปร์แบบคนละเรื่องกันเลย

 

นคร-สวรรค์ ในหนัง ต่างจาก นคร-สวรรค์ ในหนังสือไหม

     มันมีการหยิบยืมกันมา แต่ก็ไม่เหมือนเสียทีเดียว มันเป็นแค่มวลบางอย่างหรือความรู้สึกบางอย่างในเรื่อง เราใช้ตัวเรื่องสั้นนั้นมาลองเขียนเป็นบท ลองใช้ฟุตเทจที่เคยถ่ายพ่อแม่ไว้ เอาทุกอย่างมารวมกัน มันก็เลยจะไม่ใช่เรื่องแต่งหรือเรื่องจริงซะทีเดียว มันเหมือนกับการสะท้อนกันไปสะท้อนกันมา

     ในหนังจะเป็นเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งที่เพิ่งกลับมาจากการเรียนฟิล์มที่เยอรมัน เพื่อมาลอยอังคารกับครอบครัวของเธอ หนังเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นบนเรือภายในหนึ่งวันนั้น ก็จะมีผู้หญิงที่ชื่อ เอย มีพ่อที่ไม่ได้เจอกันนาน มีป้า มีลูกพี่ลูกน้อง มีคนขับเรือ มีกระดูกของแม่ เรือลำนี้จะลอยไปที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งปากน้ำโพจะมีความเชื่อว่ามันเป็นที่ที่จะไปสวรรค์ ตอนเช้าทุกคนไปลอยอังคาร หลังจากทุกคนกลับมาบ้านแยกย้าย ชีวิตของแต่ละคนก็ดำเนินต่อไป

     สำหรับเราหนังเรื่องนี้เป็นเหมือนการกระโจนลงไปในเรือ ฟังคนในเรือคุยกัน อาจจะเป็นเรื่องที่ธรรมดา แต่อย่างน้อยมันเห็นการเคลื่อนไหว เห็นมวลบางอย่างของการไปส่งแม่ครั้งสุดท้าย ในเรื่องก็จะสลับสารคดีที่เราถ่ายพ่อกับแม่ ก็เลเป็นเหมือนไดอะล็อกที่หยิบยืมกันไปมา เราอาจบอกไม่ได้ว่านี่เรื่องจริงหรือเปล่า หรือนางเอกในเรื่องนี้คือเรารึเปล่า เราอยากเล่นกับความจริงหรือแต่ง เหมือนว่าสุดท้ายแล้ว เรื่องทั้งหมดมันก็หยิบยืมกันไปมา จนเกิดเป็นหนัง จนเกิดเป็นเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งขึ้นมา

 

เท่าที่อ่านคำโปรยของหนัง ดูเหมือนว่าคุณจะชอบพูดถึงเรื่องการประกอบร่างของความทรงจำ อยากรู้ว่ามันมีความสำคัญอย่างไร

     อืม… พอรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนเล่าเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นสื่อไหนก็ตาม จะเขียน จะถ่ายรูป หรือจะถ่ายวิดีโอ มันมีเรื่องอยู่ในนั้น พอมันเป็นเรื่อง สิ่งที่เราหยิบจับได้มันก็อยู่ในหัว ซึ่งบางทีการที่มันอยู่ในหัว เราก็ตั้งคำถามว่ามันเกิดขึ้นกับเราจริงหรือเปล่าวะ บางทีมันผสม เชื่อมต่อ เชื่อมโยง หรือมันเบลอกันไปหมด 20% เกิดขึ้นจริง มีตัวละคร 2 คนนี้จริงๆ แต่ 80 % ที่เหลือ เราอาจจะเป็นสิ่งที่ใส่ไปเองบ้าง อยากให้เกิดบ้าง คำพูดจากอีกคนที่อยู่ดีๆ ก็อาจจะจำผิดว่าคนนี้พูด แต่จริงๆ แล้วอาจจะไม่ใช่เลย

     เราเลยรู้สึกว่าเวลาที่เขียนเรื่องสั้นหรือทำหนัง มันคือการยืมสิ่งที่อยู่ในหัวมาใช้ โดยบางทีเราก็ไม่สามารถบอกได้ 100% ว่ามันคือเขาคนนี้หรือเปล่า มันคือเรื่อง A B หรือ C แต่สุดท้ายมันรวมกันกลายเป็นเรื่อง Z ทั้งหมดทั้งมวล เราก็เลยอ้างๆ ไปแล้วกันว่ามันคือความทรงจำ มันอาจจะจำจริงหรือเปล่า หรือเราแต่งขึ้นมา แต่มันก็วนอยู่ในนี้แหละ

 

พวงสร้อย

 

พอมันเป็นก้อนอะไรก็ไม่รู้ที่อาจจะไม่ใช่ความจริง ในฐานะที่เราเป็นนักเล่าเรื่อง จะใช้ประโยชน์กับมันได้อย่างไรบ้าง

     ไม่แน่ใจว่ามันสามารถเรียกว่าประโยชน์หรือเปล่านะ ด้วยความที่ นคร-สวรรค์ มันมีความเป็นเรื่องส่วนตัว มันมีแม่ของเรา มีพ่อ มีสิ่งประกอบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในครอบครัว คนอื่นอาจจะไม่ได้รู้ก็ได้ว่าคนนี้คือแม่ แต่เขาจะรู้ว่านี่คือผู้หญิงคนหนึ่งที่กำลังทำอะไรบางอย่าง ผู้ชายคนหนึ่งที่กำลังพูดถึงลูกสาวของเขา

     เรื่องนี้เราให้พี่ลีตัดต่อ ก็มีการนั่งคุยกัน ซึ่งการที่มีคนตัดต่อที่ไม่ได้รู้จักกับเรามากมันเป็นเรื่องดีนะ ตรงที่มันมีช่องว่างในการมองก้อนที่เราคิดอยู่เป็นอีกแบบหนึ่ง อีกความรู้สึกหนึ่ง ตอนที่ตัดเขาก็จะมีคำถามง่ายๆ ถามเรา เช่น ไม่เจอพ่อมานานกี่ปีแล้ว ผสมกับสิ่งที่เขาเห็นบนจอ แล้วพอดูไปเรื่อยๆ ก็เหมือนเรานั่งมองเรื่องของเราจากมือของอีกคนหนึ่งด้วย พอมันรวมๆ กัน พอเราเห็นแม่ซ้ำๆ เยอะๆ มันเป็นการเยียวยา แต่มันก็คงไม่ได้หายขนาดนั้น แต่ก็ทำให้รู้สึกว่าเขาก็อยู่ตรงนี้แหละ ไม่ได้ตายไปไหนหรอก เปิดหนังเรื่องนี้ดูก็จะรู้สึกว่าแม่อยู่ตรงนี้

     คำพูดในหนังก็ธรรมดาๆ กินข้าวยัง อย่าลืมกินยานะ ไปถ่ายตรงนั้นตรงนี้สิ เคยมีมงกุฎที่แม่เคยได้ มันเหมือนเป็นบทสนทนาที่เกิดขึ้นในบ้านแบบปกติที่รีรันไปเรื่อยๆ ไม่ใช่คำพูดให้แรงบันดาลใจแบบ ลูกต้องสู้ต่อไปนะ ไม่มีเลย แต่มวลประเภทนี้แหละมันทำให้รู้สึกว่าเขายังอยู่ตรงนี้

 

ถ้าเราชื่อว่าความทรงจำมันเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด เราจะใช้ชีวิตอยู่กับมันอย่างไร

     สิ่งที่เราทำได้หรือควรจะทำก็คือ นึกถึงมันในแบบที่เราอยากนึกถึงนั่นแหละ ถ้าอันไหนที่มันเป็นความทรงจำที่ไม่ดี ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทำให้กลายเป็นความทรงจำที่ดีหรอก ในฐานะที่คุณเป็นนักเล่าเรื่อง คุณจะเขียน คุณจะทำหนัง หรือคุณจะถ่ายรูป สุดท้ายแล้ว ถ้ามันไม่ดีคุณก็แค่ยอมรับว่ามันไม่ดีก่อนก็ได้

     นี่เราพูดไปด้วยก็พยายามทำความเข้าใจกับตัวเองไปด้วยอยู่เหมือนกัน พอเราเรียนรู้ความทรงจำว่ามันเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี ยอมรับว่ามันดีหรือไม่ดี แล้วก็ทำสิ่งเหล่านั้นออกมา

     เหมือน นคร-สวรรค์ ที่เรามีความทรงจำ เราคิดต่อเรื่องนี้แบบนี้ เราก็เลยทำ อย่างน้อยเราก็ได้ทำมันออกมา มันก็คือการบันทึก จัดเก็บช่วงเวลานั้นไว้ คำว่าแต่งหรือ ffiiction เรายังมีความรู้สึกว่ามันมีส่วนที่เกิดขึ้นจริง แค่ไม่ได้เล่ามันออกมาตรงๆ เรายืมคนนั้น เรายืมสิ่งนั้น มาพูดแทน เรายืมคาแร็กเตอร์ของเพื่อนคนหนึ่งมาเป็นตัวละครในหนัง ทุกอย่างถูกอ้างว่าเป็นเรื่องแต่ง แต่สุดท้ายสิ่งที่กลั่นกรองหรือสิ่งที่ประมวลออกมาก็คือประสบการณ์ มันคือคนที่ผ่านไปผ่านมา แต่ถ้ามองลงไปก็เหมือนเป็นการช้อปปิ้งสิ่งที่เกิดขึ้นจริง หยิบเรื่องราว สิ่งของ ผู้คน แล้วเอามาเขียนใหม่

 

แล้วถ้าเป็นความทรงจำที่ดีในชีวิตล่ะ คุณคิดถึงความทรงจำช่วงไหนของตัวเอง

     ถ้าคิดเร็วๆ เลือกเอาความรู้สึกดีๆ คงเป็นความทรงจำตอนเด็กที่อยู่กับตากับยาย เพราะโตมาก็มีความทรงจำที่ดีและไม่ดีปะปนกัน แต่ตอนเด็กคือความทรงจำที่ดีอย่างเดียว ไม่ต้องอะไรมาก ตอนนั้นอยู่ต่างจังหวัด ยังไม่ได้มาอยู่กับแม่ในกรุงเทพฯ ภาพที่คิดออกเลยคือ มีตาขับรถ ยายพาไปวัด ยายอ่านหนังสือให้ฟัง เราเขียนเบาะรถ ตอนนั้นเป็นเด็กหญิงพวงสร้อยที่ยังเพียวอยู่ ยังไม่ได้มีความคิดกับโลกใดๆ ขนาดนั้น น่าจะเพียวที่สุดแล้วล่ะ

 

ถ้าให้พูดความทรงจำที่มีต่อชีวิตช่วงที่อยู่เยอรมันล่ะ จะนึกถึงอะไร

     อื้อหือ (หัวเราะ) นึกถึงเหตุการณ์หนึ่งตอนเราย้ายมาอยู่ที่เมืองสุดท้ายที่ฮัมบวร์ก ห้องที่อยู่เราแชร์กับเจ้าของบ้าน แต่เขาไม่ค่อยได้อยู่บ้าน ที่บ้านจะมีเครื่องชงกาแฟแบบจริงจัง เขาก็สอนเราชงกาแฟ แล้ววันหนึ่งเครื่องทำกาแฟมันเสีย เจ้าของบ้านก็ไม่อยู่ เขาก็บอกให้เรายกไปซ่อม ภาพที่จำได้เลยคือเราก็เอาเครื่องใส่ถุงอีเกีย ฝนตก เดินกางร่มไปซ่อมที่ร้าน แล้วร้านเขาขายเครื่องทำกาแฟจริงจัง เราจะมีความกลัวคนเยอรมันโดยอัตโนมัติเพราะรู้สึกว่าภาษาเราไม่ได้ดีขนาดนั้น ฟังได้ พูดได้บ้าง แต่นี่มันหมวดซ่อมกาแฟ กูจะพูดยังไงวะ (หัวเราะ) เราถึงขั้นเขียนบทพูดเพื่อที่จะไปคุยกับเขา

     แล้ววันนั้นคนในร้านเยอะมาก เขาก็คงยุ่งอยู่ เขาก็ถามว่าชื่ออะไร เราก็บอกชื่อเจ้าของไป เขาก็บอกมันไม่ได้อ่านแบบนั้น ก็โดนไปดอกแรก (หัวเราะ) ปรากฏว่าเราไม่ได้เป็นสมาชิกอีก เขาก็เลยขอชื่อเรา แล้วชื่อคนไทยมันจะเป็นปัญหามากกับคนเยอรมัน คนที่นู่นเวลาแนะนำตัวเขาจะพูดนามสกุล แล้วนามสกุลเรา ‘อักษรสว่าง’ มันยาวมาก เราก็สะกดให้ฟัง เขาก็บ่นว่าทำไมชื่อเธอมันยาวขนาดนี้ ก็คิดในใจความผิดกูหรือเปล่า คือตอนนั้นด้วยความกดดันอะไรสักอย่าง น้ำตามันจะไหลทั้งที่เป็นเรื่องธรรมดามากนะ

     ทีนี้เขาก็ถามว่ามันเสียได้ยังไง กูอัดวิดีโอมาแล้ว เตรียมคำพูดมาแล้ว เราก็เปิดวิดีโอให้ดู เขาก็ โอ๊ย… ฉันไม่มีเวลาดูวิดีโอเธอหรอก เขาก็ตรวจๆ ตอนนั้นเขาคงเห็นว่าเราตาแดงๆ จะร้องไห้ เขาก็บอกว่า ฉันไม่ได้ทำให้เธอร้องไห้นะ ใจเย็นๆ ฉันแค่ถามว่ามันเป็นอะไร สรุปเราก็กลับบ้านมา มันก็คือวัน Bad day วันหนึ่งแหละ

     อีกอาทิตย์หนึ่งเจ้าของบ้านกลับมาเราก็บอกว่าเครื่องทำกาแฟเสร็จแล้วนะ เธอไปรับให้หน่อย เจ้าของบ้านก็ไปรับให้ พอกลับมาถึงที่ตึกเขาก็บอกว่า เนี่ย ฉันไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นนะ แต่ว่าเจ้าของร้านเขาฝากลูกอมช็อกโกแลตมาให้เธอด้วย มันเกิดอะไรขึ้นเหรอ ประมาณว่าเอาลูกอมช็อกโกแลตไป อย่าร้องไห้อีเด็กน้อย (หัวเราะ) ก็เลยรู้สึกว่า เออนี่แหละ น่าจะเป็นความทรงจำในชีวิตเยอรมันของเรา คือมันมีความทรมานกับการสื่อสาร เพราะเราพยายามแล้ว แต่ชีวิตในเยอรมันก็สนุกแหละ ถ้าเลือกได้ว่าจะไปอีกไหมก็คงไปอีก แต่ก็คงจะไปเรียนเยอรมันให้เก่งกว่านี้แล้วกัน ชีวิตน่าจะดีขึ้น

 

พวงสร้อย

 

ชีวิตหลังจากกลับมาไทยล่ะ ถือว่าดีไหม

     มันก็โหวงๆ นะบอกไม่ถูก จากที่เคยอยู่คนเดียวกลับมานี่อยู่กับที่บ้านหลายๆ คน การจัดการชีวิตตัวเอง เรื่องการเดินทางที่กว่าจะไปไหนทีต้องต่อหลายต่อ แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์ ในขณะที่อยู่ที่นู่นลงรถก็มีรถไฟใต้ดินเลย แล้วเราจะไปไหนก็ได้ทุกที่ รู้สึกว่าที่นู่นมันสนับสนุนชีวิตขั้นพื้นฐานได้ดีกว่าที่นี่

     แล้วยิ่งเรากลับมาทำหนังด้วยแล้ว มันไม่มีเวลาแยกชัดเจนว่าอันไหนชีวิตส่วนตัว อันไหนชีวิตการทำงาน จันทร์ถึงอาทิตย์คือทำงานและพักผ่อน เลยงงว่านี่กูพักผ่อนอยู่หรือเปล่าวะ หรือกูทำงาน แต่กูก็นั่งตอบเมลอยู่นะ หรือนัดคุยงานตอนเย็นเลิกเที่ยงคืน ตื่น 11 โมง กว่าจะกินข้าวเสร็จบ่าย 3 นี่คือยังไง เราขี้เกียจหรือเราตื่นสายหรือเราทำงานอยู่ มันเป็นการเถียงกันไปมา เราก็เลยคิดว่าช่วงนี้มันก็คงกำลังจัดการชีวิตตัวเองอยู่แหละ พยายามจัดการชีวิตให้ลงตัว

 

จากคนที่เคยเกิดคำถามกับตัวเองว่าเอาดีด้านทำหนังดีไหม แต่ตอนนี้มีหนังยาวของตัวเองแล้ว คุณน่าจะมั่นใจเรื่องเส้นทางชีวิตมากขึ้น

     คิดว่าเป็นเส้นทางกึ่งเก่ากึ่งใหม่ คิดว่ามันมีที่ทางของตัวเองอยู่แล้ว ก็รู้สึกว่าตัวเองยังไม่ได้มีเป้าหมายว่ากูจะเป็นผู้กำกับหนังตลอดไปและที่สุด แต่รู้สึกว่าในช่วงชีวิตหนึ่ง อายุ 30 มีหนังหนึ่งเรื่องว่ะ ปีหน้าอาจจะกลับไปเขียนหนังสือ ถ้าให้เลือกก็เลือกไม่ได้ขนาดนั้น ตอนนี้มันก็เหมือนเป็นโอกาสหนึ่งในช่วงนี้ แค่ชีวิตหนึ่งในช่วงนี้ที่ทำหนังอยู่ แต่มันก็ไม่ใช่ตลอดไป

 

พอหนังมันเสร็จและกำลังรอฉายแล้ว มันเป็นความรู้สึกที่ดีมากๆ ใช่ไหม

     มันเหมือนคลอดลูกออกมา 1 คน เหมือนได้ยกความรู้สึกหนักอึ้ง ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาปล่อยไป ถามว่ามันหายเครียดไหม ก็ยังนะ เพราะก็จะมีก้อนเครียดมาให้เราได้จัดการอีก เช่น ไปฉายแล้วเขาจะชอบหนังเราหรือเปล่า มันจะไปไหนต่อได้บ้าง หรือมันจะไม่ไปไหนเลย ก็จะเป็นอีกมวลหนึ่ง แต่เรื่องนี้มันก็เป็นลูกเรา มันจะดีหรือไม่ดีก็ลูกเราแล้วล่ะ ก็พยายามทำความเข้าใจตัวเองเหมือนกันว่าจะกังวลเรื่องคนชอบ-ไม่ชอบหนังเราทำไม ในเมื่อเราทำแบบนี้ออกมาแล้ว พยายามกล่อมตัวเองแบบนี้อยู่

     สมมติว่าลูกเราไปอยู่ในโรงเรียนมันก็คงมีเด็กที่จะมาแกล้ง จะมาชอบ หรือจะมารัก สุดท้ายแล้วเดี๋ยวมันก็ทำหน้าที่ของมันเองแหละ เราก็คงทำอะไรไม่ได้แล้วในเชิงความรู้สึกตรงนั้น แต่พอเห็นมันเสร็จก็แค่รู้สึกว่าที่ทำมาทั้งหมดมันเสร็จแล้วว่ะ ยังเครียดอยู่แหละ เดี๋ยวต้องรอดูว่ามันจะเป็นยังไง

 

พ่อกับน้องได้ดูหนังหรือยัง

     ยังๆ บางทีเราก็อยากรู้เหมือนกันนะ ว่าถ้าเขามองตัวเองแล้วมันจะเป็นยังไง พอทำหนังแล้วมันมีเราในหลายแบบ เราในฐานะเป็นลูกที่มีเราอยู่ในนั้น มีเสียงเราอยู่ในนั้น เราในฐานะผู้กำกับหนังเรื่องนี้ หรือเราในฐานะคนสังเกตการณ์สิ่งที่มันเกิดขึ้นทั้งหลาย มันก็สนุกดีในการใช้ตัวเองมองหนังเรื่องนี้ให้หลายๆ แบบ

 

คุณเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายไหม เชื่อไหมว่าไปส่งแม่ที่ปากน้ำโพแล้วคือทางไปสวรรค์

     ไม่แน่ใจ ไม่รู้ว่ามันมีหรือเปล่า แต่รู้สึกว่าอยากให้มันจบมากกว่า เมื่อตายแล้วก็คือตาย ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด จริงๆ การไปสวรรค์มันก็เหมือนการจบ การหมดทุกข์หมดโศก สุดท้ายแล้วการไปสวรรค์อาจจะเป็นแค่คนที่อยู่ที่นึกถึงเรื่องราวดีๆ ของเขาหรือเปล่า หรือการที่คนหนึ่งตายไปเขาส่งผลกับชีวิตเราในแบบไหน ถ้าเขาเป็นแม่เรา เราคิดถึงแม่ เราอยากให้แม่มีความสุข เราอยากให้แม่หายป่วย

     การที่แม่ตายมันก็คือการที่เขาหยุดทรมาน ไม่ต้องใส่สายยาง การที่เขาไปสวรรค์คือการที่เขาหยุดความทรมานในชีวิตนี้ หรือการไปนรกมันคือการที่คนอยู่ยังคงยึดติดกับคนตาย ยังคิดถึง ยังคิดว่าถ้าเขายังอยู่เราน่าจะทำดีกับเขา มันเหมือนความรู้สึกผิดของคนอยู่ แต่การไปสวรรค์คือพอแล้ว จบแล้ว ตอบไม่ได้ว่าเชื่อเรื่องนี้ไหม แต่คิดว่าหยุดดีกว่า

 

พวงสร้อย

เรื่อง: จรัลพร พึ่งโพธิ์