pyra

Pyra: สิ่งสำคัญที่อยากทำก่อนตาย คือฝากผลงานไว้ให้โลกจดจำ

“รู้ไหมว่าเงินก้อนแรกของเราได้มาจากการทำงานเพลง คือได้ร้องเพลง ค่าน้ำนม ที่เอาไปเปิดใช้กันทั่วประเทศ”

        นั่นคือผลงานระดับประเทศชิ้นแรกของ Pyra หรือ พีรลดา สุขวัฒก์ ที่สร้างไว้ตั้งแต่เด็ก ซึ่งถ้าเธอไม่บอก เราเองก็ไม่รู้ว่าเพลงนี้เป็นเสียงของเธอ แต่ก็เป็นสิ่งยืนยันที่ดีว่า เธอมีทั้งความสามารถและพรสวรรค์ในฐานะศิลปินมาโดยตลอด

        วันนี้เราจึงคุยกับเธอถึงเส้นทางในฐานะ ‘ผู้สร้าง’ ศิลปะให้แก่โลกในแบบของตัวเอง ซึ่งกว่าจะค้นพบตัวตนที่ชัดเจนในวันนี้ เธอต้องทดลองเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่บ่อยครั้ง เพื่อหวังว่าก่อนจะหายจากโลกใบนี้ไป เธอจะสามารถใช้ศิลปะเปลี่ยนโลก ให้ผู้คนจดจำในฐานะของ Pyra ไปอีกนานแสนนาน

 

Pyra

เพราะอยู่กับดนตรีมาตั้งแต่เด็ก การเป็นนักดนตรีถือว่าเป็นความฝันของคุณจริงๆ ได้ใช่ไหม

        เราไม่รู้ว่าจะเรียกความฝันได้ไหม เราคิดแค่ว่าดนตรีเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำได้ดีที่สุดในตอนนั้น เลยเข้าใจไปเองว่าเราน่าจะเหมาะกับการโตมาเป็นนักดนตรี

        เพราะเราทำหลายอย่างมากพร้อมๆ ไปกับการร้องเพลง ทั้งเล่นกีตาร์ เปียโน ว่ายน้ำ ต่อยมวย เทนนิส เราทำแทบทุกอย่างเลย โดยเฉพาะเทนนิส เมื่อก่อนเราจริงจังถึงขั้นเป็นนักกีฬาลงแข่งขันเลยนะ แต่ก็รู้สึกว่าไม่ได้ชอบอะไรขนาดนั้น

เป็นการลองทุกอย่างที่อยากทำแล้ว ก่อนจะพบว่าดนตรีคือสิ่งที่ชีวิตต้องการมากที่สุดใช่ไหม

        ใช่ แต่ไม่ได้แปลว่าต้องยึดเป็นอาชีพเลย ตอนนั้นเป็นความฝันที่ลมๆ แล้งๆ มาก ที่บ้านก็ไม่ได้สนับสนุนเรื่องนี้เท่าไหร่ แม้กระทั่งตอนนี้ก็ตาม (หัวเราะ) เพราะมีตัวอย่างให้เห็นเต็มไปหมดว่ามีศิลปินไม่กี่เปอร์เซ็นต์​ที่สามารถอยู่กินกับอาชีพนี้ได้ ยิ่งตอนที่เรียนจบนิเทศศาสตร์อินเตอร์ จากจุฬาลงกรณ์​มหาวิทยาลัย ครอบครัวเรายังบอกเลยว่าเรียนจบมาก็ดี แต่ทำไมเลือกเป็นนักดนตรีที่อาชีพไม่มั่นคงแบบนี้ล่ะ

        แต่เราเองไม่คิดแบบนั้น เพราะมองว่าถ้าได้ลองทำแล้ว ก็ต้องทำให้ตัวเองกลายเป็นส่วนน้อยที่อยู่ได้ ไม่ปล่อยให้ตัวเองกลัวแล้วเลิกทำไปดื้อๆ อีกอย่างคือเราก็เริ่มเข้าใจชีวิตตัวเองมากขึ้นแล้ว ว่าตัวเองไม่ได้ต้องการจะรวยขนาดนั้น แต่ที่ผ่านมาเราถูกสังคม ถูกครอบครัวปลูกฝังเสมอว่า ถ้ารวยแปลว่าคุณประสบความสำเร็จ

ในความคิดคุณ ทำไมสังคมไทยถึงไม่ค่อยให้คุณค่ากับงานศิลปะเท่าไหร่นัก

        เราว่าสังคมตะวันออก โดยเฉพาะฝั่งเอเชีย ไม่ค่อยให้ค่ากับศิลปะเท่าคนในสังคมตะวันตก ทุกวันนี้คนไทยเข้าพิพิธภัณฑ์น้อยกว่ายุโรปมาก เพราะเราไม่ค่อยเห็นคุณค่าของศิลปะ จึงไม่สามารถตอบได้ว่าจะเข้าไปชมงานศิลปะแบบนั้นทำไม 

        นั่นคือเรื่องของการปลูกฝังวัฒนธรรมของคนไทย เราไม่เคยมีวิชาที่สอนว่าศิลปะมีคุณค่าต่อสังคมเราอย่างไร ไม่เคยบอกว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาในสังคมล้วนดำเนินตามรอยของวัฒนธรรมทั้งนั้น แม้กระทั่งเรื่องที่ดูไกลตัวอย่างเทคโนโลยี เศรษฐกิจ ก็มีรากฐานจากเรื่องพวกนี้มาโดยตลอด จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนไทยถึงไม่ค่อยเข้าพิพิธภัณฑ์ หรือไม่ค่อยเสพงานให้ลึกซึ้ง และมองศิลปะเป็นแค่สิ่งบันเทิง เพราะเขาไม่ได้รับข้อมูลที่มากพอว่าภายใต้ความสนุกสนานมันมีเรื่องของวัฒนธรรมต่างๆ ซ่อนอยู่

แต่อย่างนั้นก็เถอะ พอเรียนจบมา ทำไมคุณกลับไปทำงานที่บริษัทโฆษณาเลย มันเกิดอะไรขึ้นเหรอ

        มันเริ่มจากช่วงที่เราได้ฝึกงานกับบริษัทโฆษณาตอนปี 2 แล้วก็จับพลัดจับผลูได้มาลองทำเป็นงานแรกหลังเรียนจบ แต่พูดตรงๆ พอทำงานไปเราไม่มีความสุขเลย คิดอยู่ตลอดในตอนที่ทำงานว่านี่ไม่ใช่ที่ของเราแน่ๆ เรารู้สึกว่ากำลังพาตัวเองมาอยู่ในจุดที่ผิดพลาดของสังคมอยู่

        ทำไมเราถึงต้องทุ่มเงินหลายพันล้านบาทต่อปีเพื่อการโฆษณาสำหรับสินค้าที่มีราคาเพียงแค่ 10 บาท ซึ่งในราคานี้ก็รวมค่าโฆษณาไปตั้ง 5 บาทแล้ว มูลค่าของสินค้าจริงๆ มันแค่ 2 บาทเอง เราเลยรู้สึกว่างานที่ทำอยู่ค่อนข้างสูญเปล่าในการสร้างคุณค่าให้กับตัวเองเหลือเกิน 

        แต่เราไม่ได้ดูถูกอาชีพนักโฆษณาเลย ขอให้เข้าใจก่อน เรายังชื่นชมคนที่สามารถขายของให้คนสนใจมากๆ แบบนี้ได้ เขาเก่งจริงเราไม่เถียง เพียงแค่เรารู้สึกว่างานแบบนี้ไม่ได้ตอบโจทย์คนที่อยากสร้างอะไรบางอย่างขึ้นมาแบบเรา เอเจนซีโฆษณาเลยไม่ใช่อาชีพที่เราจะอยู่กับมันได้

นั่นคือการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในชื่อของ Pyra

        เรารู้สึกว่าอยากทำอะไรที่มีคุณค่าให้กับโลกนี้มากขึ้น

 

Pyra

พอมาทำเพลง คุณมีวิธีการคิดและสร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างไร

        อย่างแรกเลย อย่าคิดว่าต้องทำเพลงที่คนเขาอยากฟัง เพราะถ้าคิดแบบนั้นมันไม่ใช่การทำเพลงเพื่อศิลปะแล้ว มันคือการสร้างเพื่อรองรับตลาดผู้บริโภค ซึ่งเราเชื่อว่าเพลงจะกลายเป็นสินค้ามากว่างานศิลปะ

        ดังนั้น เพลงของเราจะสร้างตามวิถีชีวิตที่เราเติบโตขึ้นมา เราเป็นเด็กในสังคมโรงเรียนอินเตอร์ในกรุงเทพฯ เราไม่เก่งภาษาไทย ก็เลยทำเพลงภาษาอังกฤษแทน นี่เป็นตัวอย่างเล็กน้อยที่อธิบายให้เห็นว่า ถึงแม้คนรอบตัวจะฟังเพลงภาษาไทยอย่างไร แต่เราก็จะไม่ฝืนตัวเองว่าต้องทำเพลงภาษาไทยเพื่อแค่อยากให้คนฟังเข้าใจ อยากให้ดัง อะไรแบบนั้น 

ดนตรีอิเล็กทรอนิกเชิงทดลองมีความน่าสนใจก็จริง แต่ก็ยังห่างไกลจากสังคมไทยมากเลย ทำไมถึงยังกล้าทำเพลงแนวนี้

        ช่วง 10 ปีที่แล้ว เราเคยได้เรียน Music Production กับครูคนไทยที่เขาจบมาจากนิวยอร์ก ซึ่งเขาก็เริ่มเผยแพร่วัฒนธรรมการฟังเพลงของคนที่นั่นให้เราฟัง ซึ่งเรามาสะดุดตรงดนตรีอิเล็กทรอนิก ที่เมื่อก่อนคนไทยยังเรียกว่าเพลง EDM อยู่เลย 

        แต่กลายเป็นว่าทุกวันนี้ดนตรีอิเล็กทรอนิกหมุนเวียนอยู่ในดนตรีแทบทุกแนวเลย มันมีความ unlimited ในการสร้างสรรค์งานมากๆ คุณสามารถเลือกกีตาร์ได้ 100 เสียง กลองได้ 100 แบบในเพลงเดียวกัน โดยผ่านการกดปุ่มเดียวบนคอมพิวเตอร์เท่านั้นเอง มันเลยเป็นพื้นที่กว้างมากสำหรับการเติมแต่งจินตนาการเข้าไปในเพลงได้

อีพีอัลบั้มแรกอย่าง Stray (2016) ได้เสียงตอบรับจากคนไทยอย่างไร

        เสียงตอบรับไม่ดีเลย ไม่มีใครเข้าใจสิ่งที่เราทำ (หัวเราะ) แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเราเพิ่งเข้าใจว่าสิ่งที่เราทำลงไปในตอนนั้นอย่างเช่นเพลง Levitate ซึ่งเป็นดนตรี Lo-Fi Hip Hop ก็กลายมาเป็นกระแสหลักในประเทศไทยตอนนี้ เหมือนกับว่าเราทำเพลงที่มาก่อนกาล ที่กว่าคนไทยจะรู้จักต้องใช้เวลานานถึง 4 ปี

 

แต่ที่น่าตลก ในต่างประเทศเขากลับชื่นชมงานของคุณมากเลยนะ 

        อย่างที่บอกไปว่าบ้านเราไม่ได้รับการปลูกฝังเรื่องการชื่นชมศิลปะอย่างลึกซึ้งเท่าไหร่ ประเทศเราใช้ศิลปะสร้างยอดวิวมากกว่าแรงบันดาลใจ 

        เราคิดว่าถ้าระบบการศึกษาไทยมีวิชาจำพวก Art Appreciation สอนทั่วไป เพลงของเราอาจเป็นที่รู้จักมากกว่านี้ก็ได้ หลายคนยังไม่เข้าใจว่าการสร้างศิลปะที่จะมีโอกาสประสบความสำเร็จในเวทีระดับโลกต้องเป็นการสร้างอะไรที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าเพลงที่ดีคือเพลงฟังเพื่อสนุก ยังต้องร้องตามได้อยู่เลย

เอาจริงๆ คุณวางแผนว่าจะส่งเพลงไปตีตลาดต่างประเทศตั้งแต่แรกแล้วใช่ไหม

        จริงๆ เราไม่คาดหวังทั้งสองตลาดเลยมากกว่า สิ่งที่เราคาดหวังคือเพลงสามารถถ่ายทอดอารมณ์ของเราออกมาได้ถูกต้องมากที่สุด จนสามารถสร้างปรากฏการณ์บางอย่างให้กับโลกได้ อีกอย่างคือเราทำเพลงขึ้นมาเพราะใช้มันเยียวยาอาการซึมเศร้าของเรา

มันช่วยได้ด้วยเหรอ กระบวนการเยียวยาด้วยเพลงมันเป็นอย่างไร

        มันคือการตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนวิธีการทำงานเพลงว่า เราคือใคร เป็นอะไร คิดอะไรอยู่ จากนั้นก็จะกรองความคิดออกมาเป็นข้อๆ จัดลำดับความรู้สึกตัวเองได้ ซึ่งพอเราได้ทำกระบวนการนี้ผ่านบทเพลง ก็รู้สึกว่าตัวเองจัดการกับอารมณ์ได้ดีขึ้นจริงๆ 

        สำหรับคนอื่นอาจไม่ใช่ดนตรีก็ได้ อาจเป็นการพาสัตว์เลี้ยงออกไปเดินเล่นตอนเย็น การปลูกต้นไม้ การนั่งสมาธิ หรืออะไรก็แล้วแต่ ทั้งหมดคือการตั้งคำถามกับตัวเอง การใช้เวลาอยู่กับอารมณ์อย่างแท้จริงมากกว่า

        เราเป็นหนึ่งคนที่ไม่เชื่อเรื่องการรักษาโดยใช้เคมีบำบัดผ่านยารักษาโรคหรือแผนรักษาทางการแพทย์อะไรแบบนั้น เราเชื่อว่าของแบบนั้นมันมีเรื่องทุนนิยมเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ มีการผูดขาด มีการหั่นราคา มีเรื่องของคุณภาพยาเข้ามา

        สุดท้ายแล้วคนที่น่าสงสารคือผู้บริโภค บางคนเขาก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังกลืนอะไรลงคอ หรือที่น่าสงสารสุดคือคนที่กลืนยาเหล่านั้นลงคอไม่รู้กี่ปีแล้ว แต่อาการไม่ได้ดีขึ้นมาเลย เรารู้สึกว่าพวกเขากำลังถูกเอาเปรียบจากระบบทุนนิยมแบบนี้อยู่ เป็นไปได้ก็อยากให้ลองตั้งคำถามกับตัวเองดูว่าเราเป็นอะไร แล้วทำไมต้องกินยาพวกนั้น

ดูเหมือนคุณเป็นคนที่ไม่เชื่อว่าสิ่งที่เกิดในสังคมจะถูกต้องสำหรับคุณเลย  

        ใช่ เราไม่เคยเชื่อเลย เพราะเราชอบตั้งคำถามตลอด เวลาสังคมบอกว่าทำแบบนี้สิดี อยู่ตรงนั้นสิดี กินแบบนี้สิดี เราก็จะถามตลอดว่ามันดีอย่างไร ทำไมเราต้องทำตาม ซึ่งสุดท้ายทั้งเราหรือคนอื่นก็ตอบคำถามเหล่านั้นไม่ได้ เราก็เลยคิดมาตลอดว่าแล้วเราจะไปทำตามเขาทำไม เราเลยเลือกที่จะทำอะไรตามสิ่งที่ตัวเองคิดมากกว่าสังคมบอกให้ทำอยู่ตลอด

ดังนั้นเพลงที่เกิดจากอารมณ์ล้วนๆ จะไม่มีคุณค่ามากพออย่างนั้นหรือ

        ไม่ใช่ เราไม่ได้พูดถึงคุณค่าของบทเพลงทั่วไป แต่เรากำลังพูดถึงคุณค่าของเพลงสำหรับเราเท่านั้น เรามองว่าศิลปะมัน abstract ในตัวของมันอยู่แล้ว ไม่มีทางที่คุณจะไปตีความหรือกำหนดกรอบว่าแบบไหนดีหรือไม่ดีได้หรอก เพลงจะมีความหมาย ไม่มีความหมาย มันก็มีคุณค่าในแบบของมัน เพียงแต่ว่าคุณค่าเหล่านั้น เราจะเห็นด้วยหรือไม่ก็เท่านั้น แต่ส่วนตัวเรา เราให้ค่ากับเพลงที่ตอบคำถามบางอย่างกับจิตใจได้เสมอ

 

Pyra

แล้วถ้าเพลงไม่สามารถวัดได้ว่าแบบไหนดีหรือไม่ดี คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าเพลงที่คุณทำขึ้นมา เปลี่ยนโลกได้จริงๆ อย่างที่คุณต้องการ  

        เราคิดว่าคงเป็นอะไรที่เห็นผลเป็นรูปธรรม เช่น เพลงของเราสามารถช่วยให้คนไม่ฆ่าตัวตายได้ ซึ่งเคยเกิดขึ้นจริงแล้ว เคยมีคนทักข้อความมาหาเราว่าขอบคุณมากที่เพลงของเราช่วยเขาได้ แบบนี้ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว แต่ก็แค่ในระดับหนึ่งเท่านั้น สุดท้ายเราก็ยังคงเปลี่ยนโลกไม่ได้ ยังมีคนฆ่าตัวตายอยู่ทุกวัน มีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นอยู่ตลอด ถ้าอยากเปลี่ยนให้ได้จริงๆ เราอาจจะต้องเป็นนายกรัฐมนตรี  เป็นทูต หรือคนมีอำนาจมากกว่านี้ สิ่งสำคัญคือเราอยากมีกระบอกเสียงที่กว้างขึ้นไว้คอยประกาศจุดยืน ประกาศสิ่งที่เป็นอยู่ให้บางคนที่อาจจะเศร้าอยู่ได้รู้ว่า ยังมีเราที่ยืนอยู่ข้างเขา

คิดว่าดนตรียังสามารถเปลี่ยนโลกได้อยู่ไหม เหมือนที่ครั้งหนึ่ง The Beatles ทำให้คนอเมริกันกลายเป็นบุปผาชนได้

        มันคงเกิดในเชิง Soft Power มากกว่า คงไม่สามารถไปสั่งให้ใครทำอะไรได้เหมือนเมื่อก่อนแล้ว โลกมันเปลี่ยนไป ศิลปะคงทำหน้าที่เป็นเหมือนสื่ออีกทางเลือกหนึ่งให้คนได้รับรู้ถึงอีกหนึ่งมุมมองต่อสังคม ถ้าถามว่าจะสามารถเปลี่ยนโลกได้ไหม คิดว่าได้ แต่อาจจะต้องใช้เวลาหน่อย อีก 10-20 ปี หรืออีก 100 ปีหลังศิลปินตายก็อาจเป็นไปได้ เพราะมันกลายเป็นเรื่องของการปลูกฝังความคิดคนฟังระยะยาวมากกว่า

        แต่ที่ต่างไปจากเดิมแน่ๆ คือโลกจะไม่มีวงแบบ The Beatles ที่เป็นอันดับ 1 ของโลกแล้ว ทุกวันนี้เรามีทางเลือกในการเสพสื่อมากขึ้น มีปริมาณวงให้ตามเป็นจำนวนมาก เรามีศิลปินระดับเล็ก (Micro Star) ที่อยู่ในระนาบเดียวกันมากมายเต็มไปหมด คงไม่มีใครขึ้นไปเป็นอันดับหนึ่งแต่ละประเภทดนตรีได้แล้ว ขนาดแนวดนตรีเอง ทุกวันนี้ยังถูกกลืนจนไม่สามารถแยกประเภทได้เลย การประสบความสำเร็จของศิลปินหรือเพลง ไม่ได้แปลว่าเพลงของคุณดีหรือไม่ดีแต่อย่างใด

        เราเลยอยากให้ศิลปินคิดกันว่าเราอยู่ในยุคที่มีการเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายมากกว่าสมัยก่อน เรามีโอกาสเสพผลงานได้เยอะกว่าศิลปินที่ผ่านมา ดังนั้น เราพยายามสร้างสิ่งใหม่กันเถอะ อย่ามัวแต่จะเป็น New Micheal Jackson, New The Beatles กันเลย เป็นตัวของตัวเองดีที่สุดแล้ว 

ดูเหมือนเป้าหมายคุณจะมีแต่การสร้าง ‘เพลงดี’ แล้ว ‘เพลงดัง’ คุณไม่สนใจบ้างเหรอ

        เราก็อยากให้เพลงของตัวเองดังอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่มันไม่ใช่เป้าหมายหลักของเราในฐานะศิลปิน เราอยากให้เพลงดังเพราะมันช่วยเพิ่มโอกาสให้เข้าถึงคนจำนวนมากได้จริง แต่ก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องทำให้ดังในทันทีทันใดที่เพลงออกมาเลยแบบนั้น สักวันหนึ่งเดี๋ยวคนจะเข้าใจสิ่งที่เราทำเอง

ทุกวันนี้กับสิ่งที่ทำอยู่สำหรับคุณแล้ว ถือว่าเป็นความสุขได้หรือยัง

        ความสุขสำหรับเรา คือการที่รู้ว่าตัวเองชอบทำอะไร แล้วสามารถทำเป็นอาชีพได้ เช่น ของเราคือการเล่นดนตรีที่สามารถใช้เลี้ยงชีพได้จริง ไม่ต้องไปทำงานอื่นเสริม แบบนี้คือความสุขที่สุดแล้วสำหรับเรา ที่สามารถทำสิ่งที่รักแล้วได้เงินตอบแทน 

        การรู้ว่าตัวเองชอบอะไรคือความโชคดีของชีวิตเราเลยก็ว่าได้ เพราะเรามีโอกาสได้ลองทำอะไรหลายอย่างในวัยเด็ก มีเพื่อนสนิทหลายคนที่เขามีเงินเดือนเยอะมากก็ยังอิจฉาเราอยู่ เขารู้สึกว่าต่อให้เขาเงินเดือนเยอะกว่าเราอีก 4-5 เท่า เขาก็ขอเลือกทำงานที่ตัวเองชอบแบบที่เราเป็นดีกว่า มันมีคุณค่าต่อตัวเองมากกว่าเงินทองอยู่มาก

ของแบบนี้มันสอนกันไม่ได้ใช่ไหม เพราะความชอบของแต่ละคนแตกต่างกัน

        ใช่ แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องพยายามขนาดนั้น เราเคยดู TED Talks ของ อดัม ไลป์ซิก เขาอธิบายว่าการที่คนเราเกิดมาแล้วไม่มีเป้าหมายไม่ใช่เรื่องผิดอะไร คนเราอาจจะตายไปพร้อมกับการไร้เป้าหมายในชีวิตก็ได้ เพราะชีวิตเรา เราเป็นคนตัดสินใจใช้เอง เพียงแต่ขอให้คุณซื่อสัตย์กับตัวเอง ถ้ามีสิ่งที่เป็นเป้าหมายก็ไปคว้ามา อย่าใช้ข้ออ้างนี้ในการไม่ออกไปทำอะไรเลย แบบนั้นก็ไม่ดีเหมือนกัน

 

แต่ชีวิตที่เกิดมาเพื่อตาย ไร้ซึ่งเป้าหมายแต่มีความสุขมากๆ มีชีวิตแบบนั้นคุ้มค่าจริงเหรอ

        เราอิจฉาคนแบบนั้นมากๆ อิจฉาคนที่ไม่มีความฝันอะไรยิ่งใหญ่ แต่เขามีความสุข เราเป็นคนที่อยากมีความสุขมาตลอด แต่การมีความสุขโดยที่ไม่ฝันกลับไม่ใช่ตัวเรา เราเลยต้องดิ้นรนอยู่ทุกวันนี้ บางทีก็คิดเหมือนกัน ทำไมไม่ใช้ชีวิตง่ายๆ แต่งงาน มีลูก ไปเที่ยวต่างประเทศ แค่นี้ก็พอแล้ว ถามตัวเองบ่อยอยู่เหมือนกัน ว่าทำไมกูไม่พอใจกับอะไรแบบนี้วะ ทำไมถึงต้องอยากได้ อยากเป็นอะไรมากมายขนาดนั้น (หัวเราะ)

ถ้าไม่มีความฝันในการเป็นศิลปิน เคยคิดไหมว่าอยากมีชีวิตแบบไหน

        อยากไปอยู่ป่า แล้ว ‘ช่างแม่ง’ ให้ทุกอย่างเลย อยากมีชีวิตอยู่นอกระบบการปกครอง ปลูกผักกินเองไม่ต้องยุ่งกับใคร มีโซลาร์เซลล์ใช้บนหลังคาตลอดชั่วอายุของมนุษย์คนหนึ่ง

ทำไมถึงอยากตัดขาดออกจากสังคม สิ่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ไม่ดีอย่างไร

        เพราะไม่อยากถูกสังคมมาตีกรอบในสิ่งที่เป็น เราเคยตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่า ถ้าเกิดไม่มีสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตเลย จะตอบได้ไหมว่าตัวเองเป็นใคร เพราะเรารู้สึกว่าตัวเองคงไม่ได้มานั่งพูด คะ/ค่ะ เรียบร้อยอยู่แบบนี้แน่ๆ ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเพราะสังคมสั่งให้ทำทั้งนั้น แล้วถ้าเราไม่ยอมรับและปฏิบัติตามก็จะกลายเป็นคนขวางโลก กลายเป็นผู้ร้ายของสังคมทั้งที่เราแทบไม่ได้ทำอะไรผิดเลย

แล้วคุณตอบได้ไหมว่า ถ้าไม่โดนสังคมตีกรอบแล้วจะเป็นอย่างไร 

        เราพอมีไอเดียอยู่ในหัวอยู่บ้าง แต่ก็ตอบไม่ได้เพราะเราเองก็ไม่เคยเอาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์นั้นจริงๆ ไม่รู้ว่าที่สุดแล้วจะเป็นอย่างไร เราจะคิดตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นไหม 

ถ้าอย่างนั้น สุดท้ายแล้ว Pyra จะคือใคร

        ถึงตัวตนที่แท้จริงของเราเองจะยังตอบไม่ได้ แต่คิดว่าการแสดงของ Pyra บนเวทีน่าจะใกล้ตัวตนที่แท้จริงที่สุดแล้วในตอนนี้

 

pyra

พูดถึงอุตสาหกรรมเพลงกันบ้าง ทำไมการเป็นศิลปินฝั่งตะวันออกถึงไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าฝั่งตะวันตกเลย 

        เราว่ามันเป็นเรื่องของโครงสร้างของอุตสาหกรรมด้วย เอาง่ายๆ วงการดนตรีมีบริษัทใหญ่ที่สุด 3 อันดับ เป็นของสหรัฐอเมริกาหมดเลย  (Warner, Sony และ Universal) ซึ่งเขายิ่งใหญ่มาก มีแหล่งผลิตสินค้าของตัวเอง มีบริษัทลูกข่ายทั่วโลก ทำให้ศิลปินในค่ายของเขามีทรัพยากรและการเข้าถึงโอกาสที่มากกว่า

        จริงๆ ยังไม่ต้องไปเทียบกับอีกทวีปก็ได้ เอาแค่ในทวีปเดียว ถ้าลองเทียบกับประเทศที่อุตสาหกรรมบันเทิงใหญ่มากอย่างญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ ก็จะพบว่ามันต่างกันราวฟ้ากับเหวจริงๆ เพราะประเทศเหล่านั้นได้รับการสนับสนุน มีเงินทุน อุปกรณ์ดี มีเงินจ้างคนที่มีความสามารถมาร่วมงานได้ อย่างที่ไต้หวัน ถ้าคุณอยากทำอัลบั้ม คุณสามารถทำเพลงไปเสนอรัฐบาล ถ้าเขาชอบเขาให้เงินทุนไปทำเพลงต่อเลย หรือเขาอาจจะแนะนำให้รู้จักโอกาสสู่โลกตะวันตก เช่น โอกาสได้ไปแสดงโชว์ที่งาน Glastonbury หรือได้รู้จักโปรดิวเซอร์ได้ง่ายมากขึ้น

        แต่ทั้งหมดนี้ ก็ไม่ได้ทำให้เพลงจากประเทศเขา ‘ดี’ กว่าเรานะ มันแค่ทำให้เขา ‘ดีขึ้น’ ได้เร็วกว่าเราเท่านั้น สุดท้ายสักวันหนึ่งอีกหลายประเทศก็คงตามญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ไป แต่เมื่อไหร่เราก็ไม่รู้เหมือนกัน (หัวเราะ)

แต่ที่คุณพูดเป็นแค่เรื่องความดังใช่ไหม เพลงจากฝั่งตะวันออกก็ยังมีดีไม่แพ้ฝั่งตะวันตกอยู่เหมือนกัน

        เราว่าโลกมันกำลังเปลี่ยนไปแล้ว หนังเกาหลีอย่าง Parasite (2019) ก็ได้รางวัลออสการ์ปีล่าสุด ศิลปินหลายคนที่ใช้ภาษาจากเอเชียแต่ก็มีคนฟังมากขึ้นแล้ว หรือแม้กระทั้งตัวศิลปินเองอย่างลิซ่า วง Blackpink ก็ยังมีพื้นที่สื่อในฝั่งตะวันตกมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

        มันเริ่มมีการเคลื่อนไหวที่เรียกร้องความเท่าเทียมทางวัฒนธรรมต่างๆ ให้เห็นขึ้นแล้ว เริ่มมีการส่งเสียงว่ายังมีอีกหลายอย่างที่โดน ‘กระแสหลัก’ จากอุตสาหกรรมตะวันตกกลบเอาไว้อยู่อีกมาก

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่คุณพาเพลงของตัวเองไปสู่ตลาดโลกมากกว่าจะให้เพียงแค่คนไทยรู้จัก

        ใช่ แต่สุดท้ายเราก็ออกไปอยู่ด้วยลำแข้งตัวเองอยู่ดี เพราะถึงเราไปอยู่ในสังคมที่ดี แต่รัฐบาลเขาก็ไม่ได้สนับสนุนเราขนาดนั้น เพราะเราไม่ใช่ประชาชนในประเทศเขา 

        แต่สิ่งที่ทำให้เราตัดสินใจไปลุยที่ต่างประเทศจริงๆ เป็นเพราะเขามีกลุ่มคนฟังเพลงที่หลากหลายกว่าไทยมาก ดังนั้น เพลงที่เฉพาะทางโคตรๆ ของเราเลยมีโอกาสที่จะถูกฟังมากกว่าตอนอยู่ประเทศไทยอย่างแน่นอน สมมติในไทยมีคนฟังแค่ 1,000 คน ตลาดโลกที่อาจมี 1,000 คนในอีก 200 ประเทศที่ฟังเพลงของเราแทน เราเลยรู้สึกว่าควรผลักตัวเองไปสู่ตลาดที่ใหญ่มากกว่า

คุณคิดว่าประเทศไทยจะมีอุตสาหกรรมดนตรีเติบโตได้ไกลแบบประเทศอื่นบ้างไหม

        เราคิดว่าทุกอย่างเกิดขึ้นได้ เรานับถือคนไทยมาก ศิลปินทุกวันนี้ได้รับการสนับสนุนที่น้อยโคตรๆ แต่ก็ยังมีศิลปินเกิดขึ้นใหม่เยอะมาก ทั้งที่ทุกคนรู้ตัวดีว่าทำแล้วอาจไม่ได้ค่าตอบแทน

        เราเลยคิดว่าคนไทยเป็นชาติที่มีแรงจูงใจต่อศิลปะสูงมาก ถ้าเกิดเรามีทรัพยากรที่เอื้อกว่านี้คงไปได้ไกลกว่านี้แน่นอน เพราะคนไทยมีความคิดสร้างสรรค์อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสายโฆษณา แฟชั่น ศิลปะ ก็มีหลายคนไปคว้ารางวัลระดับโลกมาแล้ว แต่นั่นมันก็แค่ 0.1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นของศิลปินไทยที่มีโอกาสเข้าไปแตะความสำเร็จระดับโลกได้ ผลงานที่ดี แต่ไม่มีคนเห็น มันน่าเสียดายนะที่ชาวโลกไม่มีโอกาสได้เห็นเลย