“การเมืองถูกทำให้เข้มแข็งขึ้นได้ผ่านบทเพลง แต่บทเพลงมีศักยภาพในการท้าทายการเมือง”
ครั้งหนึ่งเนลสัน แมนเดลา นักต่อสู้เพื่อสิทธิและความเสมอภาคแก่คนผิวสี ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เคยกล่าวไว้เช่นนั้น
เมื่อเกี่ยวข้องกับการเมือง เพลงคือเครื่องมือสำคัญที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับรัฐได้ เป็นวิธีปลุกใจและปลูกฝังค่านิยมสนับสนุนรัฐอย่างแนบเนียน แต่ขณะเดียวกันอำนาจของรัฐก็อาจสั่นคลอนได้อย่างง่ายดายจากเพลงของประชาชน
ก่อนหน้านี้ บีตและไรม์แบบฮิปฮอป ประกอบเนื้อร้องแร็ปวิพากษ์วิจารณ์สังคมการเมืองของเพลง ประเทศกูมี โดยกลุ่มแร็ปเปอร์ Rap Against Dictatorship ส่งเสียงดังกระหึ่มเหนือความคาดหมายทั่วประเทศจนเข้าไปกระทบหูผู้มีอำนาจ ทำให้ ‘นัท’ – ณัฐพงศ์ ศรีม่วง aka Liberate P หรือ Liberate the People แร็ปเปอร์สายการเมือง หนึ่งในศิลปินผู้สร้างสรรค์เพลงนี้ถูกเพ่งเล็งอย่างหนัก เพียงเพราะเขากล้ายืนหยัดพูดความจริง และพยายามจุดประกายให้ประชาชนตื่นรู้ สังคมตื่นตัวต่อสิทธิการแสดงออกและการพูดในปัจจุบัน
ถึงวันนี้ ในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังจะเปลี่ยนผ่านก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลง เราจึงเลือกที่จะมาคุยกับเขาถึงสิ่งที่ประเทศกูมีมาตลอด นั่นคืออำนาจเผด็จการ และสิ่งที่ประเทศกูไม่มีอยู่จริง อย่างอิสรเสรีภาพ และประชาธิปไตย
ด้วยเงื่อนไขการปกครองที่กำกับประเทศนี้อยู่ การลุกขึ้นมาตอบโต้อำนาจที่มีฐานความคิดแบบเผด็จการจึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง อะไรทำให้คุณกล้าทำเพลงในทำนองนั้น
เริ่มจากตอนประมาณ ม.ต้น ผมอินกับประวัติศาสตร์การเมืองมาก เช่น 14 ตุลา หรือ พฤษภาทมิฬ เวลาผมเห็นเหตุการณ์ในอดีตเหล่านี้แล้วจะรู้สึกฮึกเฮิม รู้สึกว่าเมื่อไหร่จะมีม็อบอีกวะ อยากไปเข้าร่วม พอประมาณ ม.หก เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร ปี 49 ทีนี้กลับเริ่มรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องสนุกอย่างที่เราเคยคิด มันใหญ่กว่านั้น เพราะคนที่โดนรัฐประหารคือพรรคการเมืองที่มาจากระบอบประชาธิปไตย ณ ตอนนั้นเราเริ่มคุย เริ่มเถียงกับเพื่อนแล้วว่ามันไม่ถูกต้อง ทหารไม่ควรมีสิทธิ์เข้ามายุ่งกับการเมืองแบบนี้ นี่คือการจุดประกายให้ผมติดตามการเมืองมาตั้งแต่ตอนนั้น
เหตุการณ์รัฐประหาร ปี 49 ทำให้เราตามการเมืองหนักขึ้นเรื่อยๆ หนักแบบมากๆ
ยิ่งช่วงปี 53 แทบไม่ได้ทำอะไรเลย วันๆ เปิดแต่เว็บบอร์ดเช็กข่าวสาร แล้วตอนปี 56 ผมก็เคยไปร่วมม็อบด้วย คือ กปปส. ที่ศูนย์ราชการ เราไม่ได้เห็นด้วยกับ กปปส. นะ แต่ไปเพราะว่าอยู่ใกล้ แล้วเราอยากรู้ว่าบรรยากาศม็อบเป็นยังไง ซึ่งมันก็คือม็อบ พูดไปเรื่อยๆ คนที่มาก็นั่งชิล จังหวะไหนที่เขาเฮกันก็เฮไป ผมมองว่ามันก็เหมือนเป็นการไปนั่งดูทีวี ดูไลฟ์อย่างหนึ่ง
ทีนี้ เราก็ชอบแร๊ปอยู่แล้วด้วย เลยเอาสองอย่างนี้มารวมเข้าไว้ด้วยกัน พอเริ่มมีผู้ติดตามมากขึ้น ก็เริ่มคิดแล้วว่าเราน่าจะพูดการเมืองในมุมมองของเราได้นะ ในขณะที่เคยมีคนอื่นๆ ทำเพลงการเมืองออกมาแล้ว แต่เขาพูดในมุมมองของเขา เราเองก็อยากพูดในมุมมองของเราบ้างที่เน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเท่าเทียม เลยเริ่มทำเพลงแร็ป
เมื่อคุณเลือกส่งเสียงสะท้อนสภาพสังคมและการเมือง ทำให้คนส่วนหนึ่งที่ไม่ได้มีความคุ้นชินกล่าวหาว่าคุณหัวรุนแรง ขบถ ก้าวร้าว เพราะขัดกับความคิด ความเชื่อ และบรรทัดฐานเดิมๆ คุณรู้สึกอย่างไร
จริงๆ เขาก็ไม่ผิดนะ การไม่เห็นด้วยคือสิ่งที่เราคิดไว้เหมือนกันว่าต้องมีคนที่ไม่เห็นด้วยแน่นอน ซึ่งมันโอเคมากเลยที่ไม่ได้เห็นด้วยกับเราแล้วออกมาด่าเรา ไม่ว่าจะด่าหยาบคายหรือมีเหตุผล หรือว่าจะเถียงบนหลักการอะไรสักอย่างผมว่าโอเคมาก อย่างน้อยมันทำให้คนลุกขึ้นมาตื่นตัวมากขึ้น พูดถึงประเด็น พูดถึงเรื่องที่เราพูดไว้ในเพลงมากขึ้น
แล้วที่สำคัญคือ พอเกิดการเคลื่อนไหวแบบนี้ เท่ากับว่าเพลงได้ทำหน้าที่ของมันเสร็จแล้ว เพราะจุดประสงค์ของเรา คือต้องการให้เพลงถูกปล่อยออกไปแล้วทำให้เกิดการเคลื่อนไหวบางอย่างเพื่อทำให้การพูดคุยกันในสังคมเกิดขึ้นมา ซึ่งผลลัพธ์มันตอบมาแล้วจากหลายๆ เพลงที่เราทำกัน
แล้วการแร็ปก็มีความขบถของมันเองอยู่แล้ว คือจะชอบพูดเรื่องอะไรก็ตามที่เป็นไปในลักษณะของการต่อต้าน มันจะเกิดขึ้นในรูปแบบของการด่ารัฐ ด่าตำรวจ อะไรทำนองนี้ ในประเทศที่เขาไม่ได้มีทหารมายุ่งแล้ว เขาก็จะไปด่าตำรวจ ด่ารัฐบาล ด่านักการเมืองแทน แต่บ้านเราคือถ้ายังด่าทหารไม่ได้ เราก็ไปไม่ถึงไหนหรอก เพราะว่านักการเมือง ตำรวจ หรือพระ อะไรก็แล้วแต่ เราด่ากันมาเป็นสิบยี่สิบปีแล้ว แต่ก็ไม่ได้แก้อะไร พอทหารเข้ามายึดอำนาจกลับไม่มีใครด่ากัน อาจเป็นเพราะความกลัวหรืออะไรก็แล้วแต่
ฉะนั้น คนที่ไม่ชอบเราก็ไม่ชอบเราต่อไป คือเราไม่ได้พยายามจะบอกว่า เฮ้ย คุณต้องเห็นด้วยกับเรานะ เราแค่บอกว่ามันเป็นแบบนี้ มันมีแบบนี้นะ คุณจะไม่เห็นด้วยกับเราก็ไม่ว่า แค่นั้นเอง มันไม่มีอะไรเลย แต่อย่าสนับสนุนอะไรที่มันไม่ใช่กติกาที่แท้จริง อย่าไปสนับสนุนอะไรแบบนี้เพื่อมาทำร้ายเรา
หลังจากเพลง ประเทศกูมี สร้างแรงสั่นสะเทือนให้สังคมไทย จนทำให้กลุ่ม Rap Against Dictatorship ถูกจับตามองเป็นพิเศษ ในฐานะคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ชีวิตและตัวตนคุณเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
ที่เห็นได้ชัดคือมีคนเข้ามาสัมภาษณ์แบบนี้ (หัวเราะ) วันที่ปล่อยเพลงไปวันแรกยังไม่เท่าไหร่ แต่พอเพลงเริ่มเป็นที่สนใจ มีคนพูดถึงเยอะ จนวันที่ศรีวราห์เริ่มออกมาพูดว่า เพลงนี้น่าจะผิดหรือไม่ผิด ห้าสิบห้าสิบ วันนั้นเป็นวันที่สื่อติดต่อเข้ามาหนักมาก และค่อนข้างเหนื่อยมากๆ เกิดมาจากแรงกดดันด้วยว่าเราจะโดนจับหรือไม่ นี่คือใจความสำคัญที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันแย่ เรากำลังโดนคุกคาม ข่มขู่ เรารู้สึกว่าไม่ได้ใช้ชีวิตปกติ โดนจับตามอง โดนเพ่งเล็งทุกอย่าง เรากังวลไปหมดว่าเขาจะมาจับเราตอนไหน ถ้าเขามาจับ เขาจะมาจับแบบไหน คือคิดตลอดเวลา
แล้วผมเป็นคนคิดมากอยู่แล้ว ก็จะคิดเยอะไปหมดเลยว่าถ้าเขามาจับ เขาจะเคาะประตูห้องไหม หรือเขาจะพังประตูห้องเข้ามาเลย เราคิดหมดเลยนะ แล้วเราก็มีศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่คอยช่วยเหลือเรื่องตรงนี้อยู่ ณ จุดนั้นเราเลยปรึกษาเขาว่า “เขามาแบบไหนได้บ้างครับ” ทีมทนายก็บอกว่าจริงๆ ไม่มีกฎอะไรทั้งนั้น เขามาได้ตลอด เพราะด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวกับการเมือง และเป็นอำนาจที่ถูกแทรกแซงไปแล้ว ดังนั้น การมาของเขามาได้ตลอดเวลา มันทำให้เรารู้สึกกังวลไปหมดเลย
จริงๆ เพลงนี้เราประเมินกันว่ามันเป็นเพลงที่เบามากเลยนะ มันไม่ได้มีอะไรถึงขั้นต้องมาโอ้โฮกันขนาดนั้น แต่ด้วยความที่มีคน (ศรีวราห์) ลงมาเล่นกับเรา มันทำให้การเคลื่อนไหวเปลี่ยนไป กลายเป็นว่าสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไวรัลได้ขนาดนั้น ดังเป็นพลุแตกขึ้นมา กลายเป็นเกินความหมายเราไปเลย ทำให้เราได้รู้ด้วยว่า เพลงสามารถทำอะไรได้บ้างหลังจากที่ออกไปแล้ว คนคิดยังไงกับเรา คนได้อะไรไปจากเพลงเรา เราควบคุมไม่ได้เลย แต่มันมีจุดประสงค์หลักที่เราต้องการ คือเราต้องการให้คนตื่นตัว ซึ่งเห็นได้ชัดเลยว่าคนตื่นตัวจริงๆ คือเพลงมันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่เพลงมันสามารถปลุกให้คนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงได้
เปลี่ยนแปลงในที่นี้คือลุกขึ้นมารักษาสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก?
ใช่ คือมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงมี ถ้าไม่มี ทุกคนจะไม่รู้สึกถึงกรอบหรืออิสรภาพของตนเอง ถ้าทุกคนโดนกดมาตั้งแต่เด็กอย่างนี้ พอโตมาจะเป็นอย่างไร? ถ้าพูดแบบเท่ๆ หน่อยมันก็เหมือนนก นกที่โตมาในกรงมันบินไม่เป็นหรอก ก็เหมือนคนในประเทศ ถ้าไม่เคยได้รับเสรีภาพ เขาก็ไม่รู้หรอกว่าเสรีภาพคืออะไร ไม่เคยมีเสรีภาพมาก่อนเลย หรือตอนมีก็แทบจะน้อยนิดแล้ว พอโดนยึดไปอีกก็แทบไม่รู้สึกว่าเขาเอาไป แต่ถ้ามีเสรีภาพและสิทธิขั้นพื้นฐานในระดับที่เขาควรได้รับแบบที่ในโลกสากลเขาเป็นกัน ถ้าวันหนึ่งมันถูกยึดไป เขาต้องรู้ตัวแล้วว่าตัวเองกำลังโดนลิดรอน
เรื่องนี้มันเหมือนไปถึงระดับโครงสร้างสังคม แต่ตัวบุคคลก็มีส่วนนะ เช่น การตัดผมเด็กนักเรียน ถ้าวันหนึ่งเด็กหือขึ้นมาก็ได้ใช่ไหม แต่เด็กก็เหมือนถูกกดมาตั้งแต่เล็กเหมือนกัน จนมันแก้ไม่ได้ เด็กเองก็กลัวครู อย่างผมเคยหือนะ ผมเคยโดนไถหัว วันหนึ่งผมโกนหัวเลย ไม่ตัดทรงนักเรียนด้วย ก็โดนเรียกเข้าห้องปกครอง ซึ่งผมว่ามันเป็นการขบถอย่างหนึ่งในวัยเรียน มันควรมีอะไรอย่างนี้บ้างสำหรับเด็กในวัยเรียนนะ คืออย่างน้อยเราโดนกด เราก็ต้องแสดงบางอย่างเพื่อให้เขาเห็นว่าเรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องผิด
เมื่อติดตามความเคลื่อนไหวของการเมืองไทยมาตลอด คุณมีมุมมองต่อการเมืองที่ผ่านมาและที่เป็นอยู่ตอนนี้อย่างไร
โดยเฉพาะปัจจัยเรื่องช่วงวัยและอายุ ที่เรามักจะเห็นการวิวาทระหว่างคนอายุมากกว่ากับคนอายุน้อยกว่า ก็ยังเป็นการเมืองแบบเดิม คือเป็นการเมืองซ้ำๆ ซากๆ มาตั้งแต่ปี 49 พรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเองอย่างสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็เป็นพรรคที่ไม่สามารถรักษารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไว้ได้ พูดกันตรงๆ คือ พรรคเพื่อไทยก็มีส่วนที่ทำให้อำนาจทหารกลับเข้ามา ทำให้คนรู้สึกว่าที่พึ่งสุดท้ายตอนนี้คือทหาร กลายเป็นว่าทำให้ทหารมีความชอบธรรมในการกลับเข้ามา
ถามว่าการกระทำของพรรคเพื่อไทยโอเคไหม ก็ไม่โอเค แต่ต่อให้ไม่โอเคยังไง ทหารก็ไม่มีสิทธิ์เข้ามาแทรกแซง ณ ตอนนั้น เพราะว่าเพื่อไทยเองก็ยุบสภาไปแล้ว แต่ม็อบตอนนั้นก็ยังไม่หยุด ยังดึงดันต่อไปเพื่อให้ทหารเข้ามา ซึ่งตรงนี้ผมมองว่าไม่โอเค
ส่วนเรื่องคน จริงๆ ผมมองว่ามันไม่ใช่คนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าเสียทีเดียว มีคนรุ่นเก่าที่เขาก็ไม่เอาทหารแต่เดิมอยู่แล้วเหมือนกัน หรือคนรุ่นใหม่ที่เอาทหารอยู่ก็มี จึงไม่ใช่การวิวาทกันระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ แต่เป็นการวิวาทกันระหว่างประชาชนกับรัฐทหารมากกว่า ซึ่งประชาชนในนี้จะมีคนรุ่นใหม่ วัยรุ่น หรือคนแก่กี่เปอร์เซ็นต์ไม่รู้ ในฝ่ายทหารเองจะมีกี่เปอร์เซ็นต์ก็ไม่รู้ แต่ที่ชัดคือภาครัฐปัจจุบันกับประชาชนกำลังชนกัน
คุณบอกตัวเองอย่างไรในวันที่หลายสิ่งหลายๆอย่างในประเทศไม่เป็นไปตามใจอยาก
เมื่อก่อนก็เครียดนะ ช่วงปี 49 ต้องเถียงกับเพื่อน ใครพูดเรื่องการเมืองผมต้องร่วมด้วย สมัยก่อนยังไม่มีเฟซบุ๊ก ผมก็จะไปสิงอยู่ตามเว็บบอร์ด เวลาเห็นคนพูดขัดใจเรา ผมจะเข้าไปแย้ง ทุกคนต้องเชื่อผม ตอนนั้นผมยังมีความเป็นเด็กสูง พอโตมาเรารู้สึกว่าได้ก้าวข้ามมันไปแล้ว คำว่าก้าวข้ามไม่ได้หมายถึงว่าเราคิดบวกกับคนที่เห็นต่างกับเรานะ แต่เราพยายามเข้าใจว่าทำไมเขาถึงคิดอย่างนั้น ซึ่งพอเราเข้าใจตรงนั้น มันกลายเป็นว่าเราคิดได้ว่าสิ่งที่เขาพูดมันมีความจริงอยู่ มันไม่ใช่ว่าเขาพูดอะไรมาก็ผิดหมด
อย่างทุกวันนี้เวลาคุณอภิสิทธิ์พูดอะไรสักอย่าง ถ้าเป็นเมื่อก่อนผมจะไม่ฟังเลย แต่ตอนนี้ผมว่าเขาพูดดีมาก ถ้ามองตามหลักการจริงๆ ผมว่าคุณอภิสิทธิ์เป็นนักการเมืองคนหนึ่งที่พูดได้ดีมากๆ คือพูดบนหลักการประชาธิปไตยได้ดี และมีการประนีประนอมในการประคองอะไรบางอย่างอยู่ แต่ในหลักปฏิบัติและความเป็นจริงผมไม่รู้ แค่สิ่งที่เขาพูดมันโอเค แล้วเวลาเขาแย้งอะไรมามันมีความจริงอยู่ ซึ่งเราก็พยายามรับฟังอะไรแบบนี้มากขึ้น
หรือแม้กระทั่งคนมีชื่อเสียงต่างๆ ที่มาวิจารณ์เรา เราก็รู้สึกว่า เออเขาก็พูดจริง หรือเวลาเขาวิจารณ์ประชาธิปไตย activist (นักกิจกรรมผู้เคลื่อนไหวประเด็นสังคมต่างๆ) หรือพวกนักการเมืองฝั่งประชาธิปไตย เวลาเขาพูดแบบนี้ ผมคิดว่าสิ่งที่เขาพูดมีความจริงอยู่ คือเขาพูดในอีกมุมหนึ่ง
คุณมองตัวเองเป็น Active Citizen ไหม คือเป็นคนหนึ่งที่ไม่นิ่งเฉยกับปัญหาสังคม และปลุกกระแสบางอย่างให้เกิด เพื่อนำไปสู้การแก้ไขและการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
ผมไม่ได้มองตัวเองขนาดนั้น ผมนิยามตัวเองว่าเป็นคนทำเพลง ทำมาหากินเลี้ยงดูตัวเอง แต่ก็อาจจะมีส่วนที่พวกเราเองคือหนึ่งในคนที่ลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างมากกว่า ก็ต้องช่วยกันแก้กันไป คือมันก็หนีไม่ได้ ก็ต้องอยู่อย่างนี้แหละ ไม่ได้สิ้นหวังด้วย แต่รู้ว่ามันต้องค่อยๆ แก้
ผมไม่เคยสิ้นหวังกับการเมืองนะ ผมไม่เคยรู้สึกว่าพอแล้ว ไม่ตามแล้ว ไม่เคย เพราะว่ามันไม่มีทางทำอะไรได้ดั่งใจเราร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกอย่างต้องแก้ไปทีละจุด แก้ไปเรื่อยๆ ตรงนี้ผิดพลาดก็แก้ตรงนี้ไปเรื่อยๆ
คนแบบไหนที่คุณ Respect
ผมไม่เคยใช้คำว่า respect กับใครนะ คือรู้สึกว่ามันแอบน้ำเน่านิดหนึ่ง แต่ถ้าถามว่าชื่นชมใครเป็นพิเศษก็เป็นพวกนักวิชาการ หรือพวก activist ที่ยอมทำเรื่องตรงนี้แล้วเสี่ยงคุกเสี่ยงตาราง ทั้งๆ ที่พวกเขาอยู่เฉยๆ ก็ได้ หรือบางคนลงมาทำตรงนี้แล้วไม่มีที่อยู่หรือตายไปบ้างก็มี เช่น ไปม็อบแล้วโดนลูกหลง ผมว่าคนพวกนี้คือคนที่ควรชื่นชมว่าจริงๆ เขาอยู่บ้านก็ได้ เขาไม่จำเป็นต้องมาทำอะไรแบบนี้
ถ้า คสช. ได้สืบทอดอำนาจต่อไปล่ะ
ไม่แปลกใจเลย ไม่เซอร์ไพรส์เลย รัฐประหารปี 49 เป็นครั้งสุดท้ายที่เราเซอร์ไพรส์ เรารู้สึกว่า เฮ้ย ปี 49 แล้วนะเว้ย ยังมีรัฐประหารอีกเหรอ มันห่างหายจากปี 34 มาตั้งกี่ปีแล้ว ซึ่งนานมาก แต่ก็ยังเกิดขึ้นได้อีก มันทำให้เรารู้สึกแปลกและประหลาดใจมากว่าเกิดขึ้นได้ยังไง จนมาเกิดรัฐประหารอีกทีตอนปี 57 ในยุคของ คสช. เนี่ย หลังจากนั้นเกิดกรณีอะไรตามมา ก็ไม่เซอร์ไพรส์แล้ว
เช่น กรณีโดนยุบพรรค ไม่แปลกใจเลยเพราะผมรู้สึกว่ายังไงก็โดน ยังไงก็มีอีก จนกว่ากลุ่มประชาชนที่สนับสนุนเขาจะเลิกสนับสนุน เมื่อไหร่ที่ประชาชนเลิกสนับสนุน นั่นคือเรื่องเซอร์ไพรส์สำหรับผม สมมติวันไหนมีการรัฐประหาร แล้วมีการชุมนุมขัดขวางด้วยคนกลุ่มหนึ่งแล้วทำสำเร็จ อันนั้นผมเซอร์ไพรส์ แปลว่าคนไม่เอาทหารแล้วจริงๆ อย่างครั้งนี้ต่อให้เกิดการรัฐประหารหรืออะไรขึ้นมาอีก ผมก็ไม่เซอร์ไพรส์ ชนะการเลือกตั้งผมก็ไม่เซอร์ไพรส์ แต่กลับกัน ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้ง ผมเซอร์ไพรส์มากกว่า
ถ้าให้คุณมองไปถึงอนาคตการเมืองไทย อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณกังวลใจมากที่สุด
เรื่องนี้ผมว่าต้องมองเป็นภาพใหญ่นะ คือถ้าอนาคตการเมืองยังไม่มีเสถียรภาพแบบนี้ มันก็ต้องส่งผลในทุกๆ ด้าน เช่น เศรษฐกิจ สังคม หรืออะไรก็แล้วแต่ ผมว่ามันเกี่ยวข้องกันหมด เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องการให้ประเทศมีคือเสถียรภาพทางการเมือง มันควรจะเกิดขึ้นได้แล้ว ในขณะที่เกาหลีใต้มีเสถียรภาพทางการเมืองมาก คือต่อให้รัฐบาลเขาโกง เขาก็ยังอยู่ในกติกาความเป็นประชาธิปไตยของเขา หรือประเทศที่เจริญแล้วหลายประเทศเขาก็มีเสถียรภาพทางการเมืองสูง แต่ไทยมันไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองเลยตั้งแต่อดีตจนถึงตอนนี้
อีกเรื่องที่สำคัญมากๆ คือสิทธิขั้นพื้นฐาน อย่างการแสดงออกต้องมี ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐได้อย่างเต็มที่ โดยที่ไม่มีกฎหมายควบคุมหรือมีการขู่ฟ้องร้อง จับกุมตัว หรืออะไรก็แล้วแต่ ไม่ได้พูดถึงแค่รัฐบาลทหารนะ รัฐบาลประชาธิปไตยเองก็ด้วย แต่ส่วนใหญ่แล้วปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มันเกิดขึ้นกับรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ เพราะฉะนั้น เวลาเราพูดอย่างนี้ คนที่กระทบคือรัฐบาลทหาร ไม่ใช่รัฐบาลประชาธิปไตย พอเราพูดอย่างนี้ก็กลายเป็นว่าเราด่าแต่รัฐบาลทหาร คือบางอย่างมันเกิดขึ้นแค่ในรัฐบาลทหารเท่านั้น ดังนั้น เวลาเราพูดไปเลยกระทบเต็มๆ มันก็กลายเป็นเหมือนว่าเอะอะเราก็จะด่าแต่รัฐบาลทหารอย่างเดีย
ประชาธิปไตยคือคำตอบสุดท้ายหรือเปล่า
ผมมองว่าประชาธิปไตยคือวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อชี้ว่าระบอบแบบนี้คือประชาธิปไตย แต่ในใจความสำคัญคือการปฏิบัติหรือกติกาของประเทศ ฉะนั้น ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง มันคือหลายอย่างที่เกิดขึ้นจากไอเดียของสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค จึงเกิดคำว่าประชาธิปไตยขึ้นมา มันเหมือนเป็นระบอบที่มีความแฟร์มากที่สุด สามารถถกเถียงกันได้มากที่สุด อาจจะไม่ใช่ระบอบที่ดีที่สุด แต่ ณ ตอนนี้ยังไม่มีอะไรที่ดีกว่าระบอบประชาธิปไตย ถ้าเราพูดกันตรงๆ ก็คือ เผด็จการ คอมมิวนิสต์ หรืออื่นๆ ก็ไม่ได้มีเสรีภาพเท่าประชาธิปไตย แล้วทำไมคนถึงคิดว่าอย่างอื่นมันจะดีกว่า ในเมื่อมันพูดไม่ได้