ด้วยความสำเร็จอย่างท่วมท้นของอีพีแรก Rasmee Isan Soul ของ รัสมี เวระนะ เด็กน้อยจากอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ได้นำพาเรื่องราวชีวิตและจิตใจของเธอแพร่กระจายออกไปกระทบใจผู้คนทั่วทั้งโลก เพลงหมอลำพื้นบ้านภาคอีสานเมื่อได้ทดลองผสมผสานเข้ากับท่วงทำนองสากลที่หลากหลาย เผยให้เห็นชัดเจนว่าศิลปะทุกแขนง ดนตรีทุกแนว และมวลมนุษยชาติ ล้วนเชื่อมโยงถึงกันด้วยชีวิตและจิตใจแบบเดียวกัน
เธอออกเดินทางตามหาความฝันการเป็นนักร้องหมอลำ จนเพิ่งประสบความสำเร็จในเกือบเข้าวัยกลางคน ระหว่างทางเธอพบเจอความแร้นแค้น ผิดหวัง ล้มเหลว ครั้งแล้วครั้งเล่า เธอนำทุกความเจ็บปวดที่เคยเผชิญ ถ่ายทอดออกมาเป็นบทเพลงที่สลับซับซ้อน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งท่วงทำนองและความรู้สึก ในขณะที่คนส่วนใหญ่จมจ่อมกับความเศร้า ความเจ็บปวด และหยุดยั้ง ยอมแพ้ แต่เธอนำความเศร้าออกมาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะ ส่งออกไปให้คนอื่นได้สัมผัส และเยียวยาตนเอง
ทราบมาว่าคุณกำลังทำเพลงอัลบั้มใหม่อยู่ เพลงในอัลบั้มที่สองของคุณจะเป็นเรื่องราวความเศร้าของตัวเองเหมือนชุดแรกหรือเปล่า
ตอนนี้เรากำลังทำเพลงชุดใหม่ไปพร้อมกับไซด์โปรเจ็กต์ส่วนตัว อัลบั้มใหม่ของอีสานโซลก็ยังคงทำงานร่วมกับกลุ่มเดิม แต่จะมีเครื่องดนตรีชิ้นใหม่เข้ามาเพิ่ม และเราอยากจะค้นหารากดั้งเดิมของหมอลำอีสานผ่านเครื่องดนตรีอย่างพิณและแคนโบราณ ก็ได้มีการเดินทางไปจังหวัดสกลนครที่ถือเป็นอีสานเหนือ ซึ่งในแต่ละจังหวัดจะมีสำเนียงหมอลำแตกต่างกัน สกลนครมีชนเผ่ากะโซ่อาศัยอยู่มาก มีลำหลายแบบ ลำตังหวาย ลำภูไท เพลงชุดใหม่ของอีสานโซลน่าจะนำสำเนียงจากงานไซด์โปรเจ็กต์ของเราเข้ามาผสมผสานมากขึ้น เราทำงานกันอย่างมีแบบแผนมากขึ้นกว่าเดิม เพราะได้รับประสบการณ์การทำงานจากชุดแรก อัดเสียงอย่างไร ทำมิวสิกวิดีโออย่างไร โปรโมตอย่างไร
เราอยากให้เพลงสะท้อนเรื่องราวในสังคมมากขึ้นกว่าเดิม เพลงแรกที่ทำมาสเตอร์เสร็จ ชื่อเพลงว่า เด็กหญิง เพลงนี้ก็ยังคงเล่าเรื่องตัวเราสมัยเด็ก เราไม่ได้เรียนหนังสือสูงนัก จบแค่ ป.6 เพราะว่าครอบครัวขัดสนมากๆ ตอนนั้นเราต้องไปหาบน้ำกับพี่สาว ทุกวันที่ไปก็จะมีรถโรงเรียนขับผ่าน เราต้องทิ้งหาบน้ำไว้แล้ววิ่งหนีเข้าไปในป่า รอจนกว่ารถจะวิ่งผ่านไปถึงออกมาหาบน้ำต่อ มันเป็นความรู้สึกอายที่เกิดขึ้นในตอนเด็กๆ ของเราเอง
แต่เราเชื่อว่าประสบการณ์ส่วนตัวเรื่องนี้น่าจะมีคนอื่นเคยคิดหรือเคยเป็นเหมือนกันกับเรา ปัญหาเรื่องการศึกษาไม่ใช่แค่ว่าเด็กๆ อย่างเราอยากไปโรงเรียนแต่ไม่ได้เรียน มันต้องขึ้นกับทัศนคติของคนรุ่นพ่อแม่ด้วย อย่างบ้านเราที่อยู่ชนบทรอบนอกนั้น เขาจะคิดว่า เอ้า ก็โตๆ กันแล้ว ก็ไปทำงานกันซะ หาเงินได้ก็ช่วยส่งกลับมาที่บ้านด้วย สังคมของเราตอนเด็กๆ เป็นแบบนั้น เราจึงอยากให้ผู้คนตอนนี้หันไปสนใจคนรอบนอกของสังคมด้วย มีใครดูแลเขาไหม เรามาให้ความสนใจเขากันหน่อย การศึกษาจะช่วยยกระดับชีวิตคนได้ แน่นอนว่ามันคงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาทุกอย่างหรอก แต่มันทำให้อะไรๆ หลายส่วนดีขึ้นบ้าง ก็อยากจะบอกปัญหาสังคมผ่านเพลงนี้ ไม่ใช่แค่สำเนียงดนตรีใหม่ๆ จังหวะใหม่ๆ แต่เราก็มีเมสเสจแบบนี้มาเล่าด้วย
อะไรที่ทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งด้อยโอกาส ลุกขึ้นมาต่อสู้ยืนหยัดได้มากกว่าคนอื่น
เป็นเรื่องของจังหวะชีวิตด้วย เราอาจจะโชคดีหรือมีจังหวะชีวิตที่ดี ตอนเด็กๆ เราอยากเป็นนักร้องอยู่แล้ว และที่บ้านเลี้ยงดูฟูมฟักให้เราเป็นนักร้อง ที่บ้านบอกว่าเราร้องเพลงเก่ง และเราก็เชื่อว่าตัวเองร้องเพลงเก่ง ตั้งแต่เด็กๆ ไม่เคยเขินอายที่จะออกไปยืนร้องเพลงให้คนทั่วไปฟัง ตรงนี้คงเป็นจุดเริ่มต้นที่นำพาเรามา ถึงแม้ว่าช่วงแรกๆ จังหวะชีวิตยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ตั้งแต่เด็กเราเข้ามาประกวดร้องเพลงในกรุงเทพฯ หลายครั้ง แต่ประกวดเท่าไหร่ก็ยังไม่ได้ ไม่ได้ ไม่ได้ มันยังไม่ใช่เวลา มีแต่ปัญหาอุปสรรคมากมายเกิดขึ้น ชีวิตที่ติดๆ ขัดๆ ตลอดมากลับกลายเป็นข้อดี
แม้ตอนนี้อายุจะปาเข้าไป 30 กว่าแล้ว ทุกคนก็พูดกันว่ามันแก่เกินไปสำหรับการเป็นนักร้อง ตอนที่เราบอกใครๆ ว่าจะเริ่มทำเพลงละนะ คนถามว่าอายุเท่าไหร่แล้วเนี่ย (หัวเราะ) คือคนทั่วไปมีความคิดว่าถ้าจะเป็นนักร้อง คุณต้องเริ่มตั้งแต่สาวๆ ตั้งแต่วัยรุ่น เป็นความคิดความเชื่อที่ปลูกฝังกันมาแบบนี้ ขนาด 25 นี่แก่เกินไปแล้วด้วยซ้ำสำหรับการเป็นนักร้อง
แต่ตอนที่เราเริ่มต้นทำรัสมี อีสานโซล เราไม่ได้เดินตามเส้นทางแบบนั้น โอเค ฉันไม่ไปประกวดอีกต่อไปแล้ว ไม่ได้มีความเชื่อแบบนั้นอีกแล้ว เพราะผ่านประสบการณ์ชีวิตมามากๆ เราคิดแค่ว่าอยากทำเพลง อย่างน้อยที่สุด ก็เป็นเพลงที่เราเปิดให้ตัวเองฟัง ถ้าสักวันมีลูก ก็อยากจะเปิดให้ลูกฟังว่านี่คือเสียงแม่นะ ถ้ามีน้องมีเพื่อน ก็อยากจะเอาแผ่นไปแจกๆ ให้เขาฟัง แบ่งๆ กันฟัง ไม่ได้คิดว่าจะต้องโด่งต้องดังอะไรแล้ว คิดแค่นี้แหละ จนกระทั่งทำเสร็จออกมาแล้ว ก็พบว่า เฮ้ย ทุกอย่างมันเป็นไปได้นะ และก็คิดว่าทั้งหมดที่ผ่านมานั้นดีแล้ว นี่คือเส้นทางชีวิตและจังหวะชีวิตที่ดีที่สุดของเราแล้ว
“
มากๆ เราคิดแค่ว่าอยากทำเพลง อย่างน้อยที่สุด ก็เป็นเพลงที่เราเปิดให้ตัวเองฟัง ถ้าสักวันมีลูก ก็อยากจะเปิดให้ลูกฟังว่านี่คือเสียงแม่นะ ถ้ามีน้องมีเพื่อน ก็อยากจะเอาแผ่นไปแจกๆ ให้เขาฟัง แบ่งๆ กันฟัง ไม่ได้คิดว่าจะต้องโด่งต้องดังอะไร
”
อยากรู้ว่าความสามารถในการเขียนเพลงของคุณนั้นมาจากไหน
ไม่รู้เหมือนกัน อาจจะได้มาจากคุณพ่อหรือเปล่าก็ไม่รู้ ตอนเด็กๆ เราชอบเขียนไดอารี่มากนะ ไปไหนมาไหนมีสมุดติดตัวไว้ หรือพอกลับถึงบ้านดึกๆ ก็นั่งเขียนไดอารี่ก่อนนอนทุกวัน มีความสุขกับการเขียน เขียนทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา วันนี้เราเจออะไร แต่งกลอนใส่ไปด้วย ไดอารี่สมัยก่อนเขาไม่ได้เปิดให้คนอื่นอ่าน เขียนเองแล้วก็เก็บไว้จนหาย เสียดายมากเลย ตอนนี้หาไม่เจอแล้ว
เพลงทางอีสานมักจะพูดถึงชีวิตอันยากลำบากนู่นนี่ การไขว่คว้าหาโอกาส พอไปดูทางโซลหรือแจ๊ซ เราคิดว่าเพลงเขาก็เศร้าเหมือนกันนะ เล่าถึงเรื่องราวชีวิตที่ให้ความรู้สึกเดียวกับเพลงลูกทุ่งของเราเลย เพลงของทาสที่ทำงานในไร่ฝ้าย เขาไม่สามารถจะเงยหน้าพูดคุยกันได้ปกติก็เลยต้องร้องเพลงคุยกัน เพลงเป็นภาษาอย่างหนึ่งที่ช่วยสื่อความรู้สึกลึกๆ ออกไป ถ้าเราไม่อยากเล่าเรื่องราวเศร้าๆ ออกไปให้คนอื่นฟังแบบชัดๆ เราก็สามารถบอกผ่านทางเพลง บางเพลงก็เป็นความเศร้าผู้หญิงที่ถูกกดขี่โดยผู้ชาย ทำไมผู้ชายมีเมียหลายคน แล้วปล่อยผู้หญิงอยู่บ้านทำงานเลี้ยงลูก บางทีเราก็อยากระบายให้เพื่อนฟังว่ามีชีวิตแบบนี้อยู่ที่อีสานนะ
ทำไมสิ่งแรกที่ศิลปินสื่อสารออกมา มักจะเป็นความเศร้า
เป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจ แต่มันไม่มีผิดหรือถูกหรอกกับการแสดงอารมณ์ออกมา บางคนอาจจะชอบแสดงความรู้สึกด้านบวก สนุกสนาน บางคนชอบแสดงความรู้สึกด้านลบ อย่างของเราก็เป็นอารมณ์เศร้าใช่ไหม แต่ความเศร้าที่เราแสดงออก ไม่ได้จะบอกว่าเศร้าแล้วดี เราเศร้าเพราะอยากให้คุณตั้งคำถามขึ้นมา
ในฐานะของคนถ่ายทอดผลงานออกมา ความรู้สึกที่เรียลสุดๆ ของตัวเอง มันโอเคกว่าที่จะปิดบังหรือกลบเกลื่อน เทียบกับเพลงลูกทุ่งที่สนุกสนาน ตลกโปกฮา ล่อแหลม คนส่วนใหญ่น่าจะชอบแบบนั้นนะ ดูจากยอดวิว ยอดแชร์ ทุกสิ่งอย่าง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเลย วัฒนธรรมเพลงลูกทุ่งมีแบบนี้มานานมากแล้ว สองแง่สองง่าม แต่เราว่าเพลงสองแง่สองง่ามเมื่อก่อนน่ารักกว่าสมัยนี้ เดี๋ยวนี้เราพูดลามกตรงๆ เกินไป แล้วความงามของเรื่องสองแง่สองง่ามพวกนี้จะอยู่ตรงไหนล่ะ ความสนุกสนานในเพลงน่าจะมีมุมอื่นๆ ด้วย
ถ้าตอนสาวๆ เซ็นสัญญาเข้าค่ายเพลง ตอนนี้อาจจะร้องเพลงแบบนั้น
(หัวเราะ) ก็เป็นไปได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดอะไรนะ เพียงแต่ถ้าเราไปร้องเพลงแบบนั้น พอมาถึงวันนี้เราคงแก่เกินไปแล้ว ร้องต่อไปไม่ได้อีกแล้ว ตอนสาวๆ เราไปสมัครอยู่กับวง เขาก็ให้เราเต้นเป็นหางเครื่องเหมือนกัน สมัย 18-19 ไปอยู่กับวงเขาเพื่อรอให้เขาแต่งเพลงให้ รอให้เขาเซ็นสัญญา แต่ก็ไม่ได้ร้องเพลงเสียที ต้องไปเต้นก่อน เป็นแบบชุดว่ายน้ำเลยล่ะ แล้วก็ประดับพู่ มีเลื่อม มีอะไรแบบนั้น จนวันหนึ่งพ่อมาเห็น พ่อบอกว่า กลับบ้าน ไม่ต้องอัดแล้ว อะไรเนี่ย มาใส่ชุดอะไรเต้น พ่อเป็นนักร้องเพลงเจรียง เป็นเพลงโบราณของเขมร เหมือนร้องลิเกของบ้านเรา แต่เป็นลิเกเขมร พ่อเลยไม่ชอบให้เรามาเต้นเพลงลูกทุ่งวับๆ แวมๆ เพลงเจรียงเป็นการเล่าเรื่องต่อกลอนกัน พ่อแต่งเพลงเองด้วย แล้วก็เดินทางไปแสดงตามหมู่บ้าน บางทีก็ช่วยสอนคนที่อยากเรียนด้วย เพลงของพ่อบอกเล่าเรื่องราวชีวิตเหมือนละครทีวี คนก็จะมาตามดูพ่อเล่าเรื่องราวที่ดำเนินไป
สังคมเชียงใหม่ให้แรงบันดาลใจในการทำงานศิลปะเป็นพิเศษใช่ไหม
ใช่เลย เชียงใหม่มีคนหลากหลายกลุ่ม ซึ่งทุกคนลิงก์เข้าหากัน กลุ่มนักเขียน นักดนตรี มีคนทำฟาร์มออร์แกนิก ทำกาแฟ คนปั่นจักรยาน ทุกคนอยู่ในแวดวงร่วมกันหมด ทุกคนจะสร้างผลงานของตัวเอง แล้วดึงคนอื่นเข้ามาร่วมจอยกัน มีคนทำฟาร์มออร์แกนิกเปิดตลาดนัดขึ้นมา ก็ดึงนักร้องนักดนตรีไปร่วมแสดง ทำให้คนที่นั่นรู้จักกันหมด และได้เรียนรู้เรื่องราวของกันและกัน มีเพื่อนเป็นคนปั่นจักรยาน เขาเดินทางไปหลายประเทศด้วยจักรยาน กลับมาก็เล่าให้กันฟัง เป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่น บางคนมีผับมีบาร์ ก็ก่อตั้งโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รณรงค์ให้ช่วยกันปลูกต้นไม้ เรารู้สึกดีกับแวดวงนี้ และสิ่งที่ชอบมากคือเชียงใหม่มีความเป็นเมือง มีอะไรๆ เยอะแยะมากมาย แต่พอปั่นจักรยานห่างออกมาแค่สิบนาที เราก็จะได้อยู่กับธรรมชาติ ได้อยู่บนเขาแล้ว เราว่าบรรยากาศช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ดีมาก
สำเนียงเพลงอีสาน วัฒนธรรมอีสาน ไปตกผลึกที่เชียงใหม่ได้อย่างไร
เพราะที่นั่นเปิดกว้างและมีความหลากหลาย เราไปเจอ ‘ก้อง’ – สาธุการ ทิยาธิรา เขาเป็นชาวเชียงใหม่ เล่นดนตรีในโบสถ์คริสเตียน เราต่างฝ่ายต่างก็ไม่ได้รู้จักสำเนียงเพลงของอีกฝ่ายเลย เรารู้จักเพลงอีสานดี ส่วนก้องเล่นดนตรีสากล กีตาร์ เปียโน ไวโอลิน พอมาทำงานร่วมกัน ก้องเปิดกว้างรับฟังไอเดียจากเรา ทดลองทำซาวนด์แบบนี้ไหม ลองร้องแบบนี้ดูไหม เราก็เปิดกว้างรับฟังไอเดียจากก้องด้วย การทำงานร่วมกันแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ยากถ้าต่างฝ่ายต่างยังยึดถือประเพณีมากเกินไป ถ้าเราจำกัดตัวเองให้ทำงานแค่ในท้องถิ่นของตัวเอง ก็อาจจะมีคำถามมาว่าร้องแบบนี้ได้เหรอ? ทำแบบนี้ทำไม? ซึ่งเราเข้าใจนะว่าในท้องถิ่นก็ต้องรักษารากเหง้าวัฒนธรรมตัวเองไว้ แต่เมื่อเรานำวัฒนธรรมออกไปภายนอก เรามีโอกาสได้ต่อยอด มีคนที่หลากหลายได้มาลองฟัง ได้ทดลองทำงานแบบใหม่ๆ เราก็พบว่ามันไม่ได้สร้างความเสียหายกับวัฒนธรรมอีสาน ไม่ได้ทำให้หมอลำเสียหาย
เราเป็นอนุรักษ์นิยมด้วยและเสรีนิยมด้วย เป็นพร้อมกันทั้งสองอย่างเลย เราว่าวัฒนธรรมไม่ควรจะถูกแช่แข็งไว้ มันจะไม่เกิดการพัฒนาอะไรขึ้นมา ไม่ใช่แค่เพลงของเรานะ โลกนี้ก็มาในเทรนด์นี้กันทั้งนั้น ดนตรีแอฟริกันก็ถูกนำมาผสมกับแจ๊ซกับอะไรมากมาย หมอลำของเราก็มีความพิเศษในตัว มีรากฐานเฉพาะตัว และสามารถเอาไปแจมกับดนตรีอื่น เพราะมีบางส่วนสอดคล้องกัน เช่น ความสามารถในการอิมโพรไวส์กัน เราเข้าใจคนอนุรักษ์นะ เราไม่เคยคิดลบหลู่ครูบาอาจารย์ เรายกครูบาอาจารย์ไว้ข้างบน แล้วหยิบบางส่วนลงมาต่อยอด มาทำงาน
นอกจากเพลง เด็กหญิง แล้ว เพลงในอัลบั้มใหม่จะเศร้าแค่ไหน
ตอนนี้เรามีหลายเพลงที่นำออกแสดงสดแล้ว แต่ยังไม่ได้อัดเสียงลงอัลบั้ม อย่างเพลง อารมณ์ เพลงนี้แต่งที่ทะเล เป็นอารมณ์แบบผู้หญิงๆ ที่ขึ้นลงไม่คงที่ ตอนเช้ายังอารมณ์ดีอยู่ พอตกบ่ายกลับหงุดหงิดเป็นบ้าเลย เราว่านี่เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงทุกคนนะ เหมือนวันที่เป็นเมนส์ (หัวเราะ) นี่เป็นข้ออ้างที่ดีที่สุดสำหรับอารมณ์ของผู้หญิงเรา เราแต่งที่เกาะหลีเป๊ะ แต่งให้แฟน ตอนนั้นเกิดสงสารแฟนขึ้นมา ว่าทำไมผู้ชายคนนี้จึงยอมทนอารมณ์ของเราได้ สงสารเขามาก เขาน่าจะเอาเวลาไปทำอย่างอื่นนอกจากมานั่งทนเรา เป็นเพลงที่แต่งให้ตัวเอง พอเอามาเข้ากับเปียโนแล้วดีมาก มันกลายเป็นโซลและอาร์แอนด์บีนิดๆ
อีกเพลงคือ สวยไท เล่นแล้วในหลายคอนเสิร์ต แรงบันดาลใจมากจาก พี่เยาวดี ชูคง เรานั่งคุยกันเรื่องสีผิวของผู้หญิงไทยว่าความสวยคืออะไรกันแน่ เขาเล่าว่าลูกสาวของเพื่อนไปกินยาให้ตัวขาว เร่งผิวขาวจนไม่สบาย เพราะเป็นผลมาจากสังคมที่โรงเรียน เพื่อนล้อกัน หรือคุณครูบางทีก็แซวเล่น แต่เด็กๆ จะคิดมาก กลายเป็นปมด้อย เราอยากจะสื่อประเด็นสังคมเรื่องนี้ อยากให้เกิดการตั้งคำถามว่าทำไมยุคนี้ต้องสวยแค่แบบเกาหลีเท่านั้น ทำไมไม่สวยเหมือนอินเดียบ้าง แอฟริกาบ้าง หรือสวยแบบไทยๆ เราเองบ้าง เราอยากให้ทุกคนภูมิใจในความเป็นตัวเอง ไม่ต้องไปขึ้นอยู่กับสายตาคนอื่น มันจะเป็นลูกทุ่งฟังง่ายๆ โจ๊ะๆ เหมือนยุคดิสโก้
เท่าที่แต่งมา คุณชอบเพลงไหนของตัวเองมากที่สุด
ชอบเพลงที่แต่งแล้วทำให้ตัวเราได้คิดอะไรเยอะขึ้น และมันให้อะไรกับคนฟังได้ด้วย อย่างเพลง มายา เราแต่งด้วยความรู้สึกฉับพลันทันใด เหมือนการทำงานศิลปะแบบอิมเพรสชันนิสม์ คือคิดขึ้นมาได้แวบนั้นก็เขียนออกมาจนจบเพลง แล้วหลังจากนั้นมาเราก็แต่งเพลงแบบนั้นไม่ได้อีกเลยนะ มายา แต่งจบใน 15 นาที ตอนกำลังนั่งรอขึ้นเครื่องบิน มันมีความคิดบางอย่างอยู่ในหัวที่เราบ่มมาในช่วงหลายวันก่อนหน้านั้น เป็นสถานการณ์ที่ได้ไปเจอ แล้วเรารู้สึกว่า โอ๊ย อะไรเนี่ย เพื่อนมานั่งเมาท์เรื่องผู้ชายให้เราฟังแล้วทำให้เราอึดอัด เขาบอกว่า เนี่ย ผู้ชายคนนี้ถ้าได้ก็เอา ถ้าได้ก็ดี เราฟังแล้วก็คิดในใจ เฮ้อ มันมีผู้หญิงแบบนี้ด้วยเนอะ ก็เลยเขียนออกมา สรุปความคิดทั้งหมดออกมาจบในเพลงได้ภายใน 15 นาที พอกลับถึงเชียงใหม่ก็เอามาเรียบเรียงดนตรี แล้วเอาเข้าห้องอัดเลย เป็นโมเมนต์ที่หาไม่ได้อีกแล้ว
ของแบบนี้ถ้าตั้งใจเขียนก็ไม่ได้นะ มันต้องออกมาเอง อย่างตอนที่เราไปพักผ่อนที่สเปน 40 วัน เราตั้งใจไว้ว่าไปเที่ยวไกลๆ แบบนี้ จะแต่งเพลงออกมาได้เยอะแน่นอน กลับมาเราสบายแน่ๆ (หัวเราะ) จนใกล้วันจะกลับ ยังแต่งอะไรไม่ได้เลยสักเพลง ไม่ได้เลยสักเพลงจริงๆ แล้วจู่ๆ ก็มีโมเมนต์หนึ่ง เรานั่งรถไฟกลับจากเซบิยาเข้ามาดริด มองออกไปนอกหน้าต่างเห็นบรรยากาศสวยมาก มันเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิที่มีดอกไม้เต็มไปหมด และพระอาทิตย์กำลังตกดิน สวยมากๆ สวยจนเราต้องหยิบสมุดปากกาออกมาเขียนเพลง แต่มันไม่ได้จบเพลงในรวดเดียว ต้องเอามาขัดเกลา มาเขียนเพิ่มจนจบ
เพลงพวกนี้แท้จริงแล้วมันมาจากไหน เสียบปลั๊กมาจากฟากฟ้าหรือเปล่า
ทิวทัศน์เหรอ อืม… ไม่รู้สิ มันต้องมีแรงขับอื่นๆ อีกหลายอย่างเลยล่ะ ในโมเมนต์นั้นเรานึกถึงคุณแม่ของแฟน เขามาส่งลูกชายขึ้นรถไฟ ปกติเขาเป็นคนที่ไม่ยอมนั่งรถบัสหรือรถไฟเลย เขาเดินอย่างเดียวเพื่อแสดงความต่อต้านรัฐบาล (หัวเราะ) ไม่ยอมนั่งพับลิกทรานพอร์เทชันอะไรสักอย่าง แม่แฟน 70 กว่าแล้ว แต่ยังแข็งแรงอยู่ วันนั้นเป็นวันเดียวที่เขายอมนั่งรถรางมาพร้อมกับเรา เพื่อจะมาส่งลูกชายที่สถานีรถไฟ เราเห็นการล่ำลาของพวกเขา แม่เดินตามมาโบกมือที่หน้าต่างรถไฟ แม่ยืนอยู่ตรงนั้นตลอดจนรถไฟลับสายตา เราคิดว่าแม่คงร้องไห้ เราสะเทือนใจมาก
ความพลัดพราก ความโหยหา คือความรู้สึกที่เป็นสากลมากๆ
ใช่ และเราควรรู้สึกถึงความรู้สึกของคนอื่น ระหว่างทางกลับมาดริด เราคิดถึงแม่แฟนตลอดว่าเขาจะอยู่อย่างไร ในใจเขาจะโศกเศร้าแค่ไหน เรารู้สึกว่าเขาคงคิดว่านี่คือครั้งสุดท้ายในชีวิตที่ได้เจอหน้าลูกชาย เขาแก่มากแล้ว และลูกชายย้ายมาอยู่เมืองไทย ระหว่างทางเราผ่านภูเขา ผ่านทุ่งดอกไม้ ผ่านพระอาทิตย์กำลังตก เราทนรับความรู้สึกแบบนั้นไม่ไหวจริงๆ เรานั่งรถไฟมาหลายครั้ง แต่ครั้งนั้นเป็นการนั่งรถไฟที่พิเศษที่สุดในชีวิต เราจึงแต่งออกมาเป็นเพลง บรรยายความงดงาม ความรู้สึกทั้งหมดที่ท่วมท้นออกมา เราเก็บมันไว้ที่ปลายปากกา แล้วรถไฟขบวนนี้ก็มาจบที่เมืองหลวง
อะไรคือจุดที่แตกต่างกันระหว่างคนที่กำลังเศร้าเสียใจแล้วฆ่าตัวตาย กับคนเศร้าเสียใจแล้วแต่งเพลง สร้างสรรค์ผลงาน
เราคงไม่สามารถเข้าใจคนที่อยู่ในสภาวะที่จะฆ่าตัวตายแบบนั้นได้อย่างแท้จริง เขาคงเศร้ามากจนเราไม่รู้หรอก แต่สำหรับเรา เวลาอกหักเราแต่งเพลงหรือเขียนรูป มันเป็นการระบายออกแบบหนึ่ง เหมือนกับบางคนที่ออกไปกินเหล้ากับเพื่อน ก็เพราะเขาต้องการระบายความรู้สึกนั้นออกมาเช่นกัน มันขึ้นกับวิธีของแต่ละคนนะ
คนที่สามารถดึงความเศร้าออกมาทำงานศิลปะ เป็นการปลดปล่อยพลังออกมา เพื่อการรักษาเยียวยาตัวเอง ถ้าเราเก็บความรู้สึกนั้นไว้ข้างใน สุดท้ายอาจจะทนไม่ไหวและฆ่าตัวตายเหมือนเขาก็ได้ คนที่เก็บอะไรไว้ภายในเยอะๆ เยอะเกินไปจนถึงจุดที่เป็นระเบิดตูมใหญ่ อย่างเราโชคดีที่ได้ระบายออกมา ได้ทำงานร้องเพลง เขียนรูปออกมา เราได้ระบาย ก็เลยรู้สึกดีกับงานตัวเอง
ย้อนไปสมัยก่อนตอนเป็นวัยรุ่น เราเป็นคนที่ดำดิ่งไปในอารมณ์มากกว่าตอนนี้อีก มีอะไรเข้ามากระทบเราจะรู้สึกกับมันอย่างรุนแรง ก็เลยระบายออกมาด้วยเพลงเศร้า เพลงอกหัก พื้นฐานชีวิตของเรา เราเกิดมาท่ามกลางความเศร้า เห็นครอบครัว เห็นยาย มันหล่อหลอมให้เราเป็นคนแบบนี้ ไม่ใช่คนด้านลบนะ หรือมีแต่อารมณ์ลบๆ นะ ความเศร้าสำหรับเราคือความจริง มันเป็นความจริงสำหรับเรา ซึ่งถ้าในอนาคต ชีวิตเราอาจจะมุ่งไปสู่ความสวยงาม เบ่งบาน ก็เป็นไปได้ ถ้าถึงเวลานั้นคุณอาจจะได้ฟังรัสมีอีสานโซลในแบบสนุกสนาน ไปในอีกแนวทางหนึ่งเลยก็ได้
เวลาร้องเพลงเศร้าแล้วเห็นคนฟังกำลังเศร้าไปด้วย คุณรู้สึกอย่างไร
เราชอบมากเลย (หัวเราะ) มีแฟนเพลงคนหนึ่งติดตามไปดูการแสดงของเราหลายที่จนเราจำเขาได้ ทุกครั้งเขามาเพื่อเสพเพลงของเราจริงๆ ดื่มด่ำกับทุกโน้ต ทุกเนื้อที่ร้องออกไป เราแอบเห็นเขาทอดถอนหายใจ เฮ้อ… เราว่าเขามีอารมณ์ร่วม และเขาก็ได้ปลดปล่อยความเศร้าของตัวเองออกมาไปด้วยพร้อมกัน พอฟังเสร็จก็กลับบ้านไป ไม่เคยเข้ามาคุยกับเราเลยสักครั้ง แต่พวกเราเชื่อมต่อความรู้สึกกัน มีวันหนึ่งเขาถือไม้เท้ามา สงสัยเกิดอุบัติเหตุอะไรสักอย่าง พอถึงช่วงที่อารมณ์เพลงพีกๆ เขาก็ลุกขึ้นร้องตาม ลืมไปเลยว่าขากำลังเจ็บ หรือในการไปแสดงดนตรีที่ต่างประเทศ เราก็เห็นคนฟังเป็นฝรั่งไม่น้อยที่น้ำตาไหล ถึงแม้จะฟังเนื้อร้องไม่เข้าใจเลย แต่เขาเศร้าไปกับอารมณ์ของเราตอนนั้น หลังการแสดง เขาเดินเข้ามาทัก ถามหาว่าวันนี้คุณยังไม่ได้ร้องเพลงนั้นเลย เราก็ดีใจว่า โอ้ เขารู้จักเพลงเราหมดเลยนะ
พอเป็นศิลปินที่ที่มีชื่อเสียงดังขนาดนี้ คุณยังโอเคกับตัวเองไหม
โอเค แต่บางทีก็เหนื่อยๆ คิวงานเยอะ พบเจอผู้คนเยอะขึ้น กินเหล้าเยอะขึ้น และรู้สึกว่ามันชักจะบั่นทอนสุขภาพ (หัวเราะ) อนาคตเราอยากอัดเพลงให้เยอะกว่านี้ ทำงานในห้องอัดให้เยอะ มีผลงานออกมามากขึ้น เพลงที่เจ๋งๆ ให้คนได้นำไปฟัง เราจะได้ออกเดินสายน้อยลง
ชื่อเสียงทำร้ายคุณไหม
ไม่ขนาดนั้น ไม่รู้สึกว่าเราดังหรือมีชื่อเสียง เพราะไปไหนมาไหนยังไม่ค่อยมีใครจำได้ เราเดินไปซื้อขนมข้างทางแล้วเดินกินได้ เรายังไม่ได้มีชื่อเสียงแบบนั้น บางคนอาจจะไม่เคยเห็นหน้าเรา แต่เคยฟังเพลงเรา เรามีชื่อเสียงแค่นิดหน่อย แบบนี้กำลังพอดีๆ แล้วล่ะ ถ้าต้องไปออกทีวีเยอะๆ ชีวิตอาจจะลำบากนะ เพียงแต่งานเยอะ ต้องรับผิดชอบเยอะ
“
สำหรับเรา เวลาอกหักเราแต่งเพลงหรือเขียนรูป มันเป็นการระบายออกแบบหนึ่ง เหมือนกับบางคนที่ออกไปกินเหล้ากับเพื่อน ก็เพราะเขาต้องการระบายความรู้สึกนั้นออกมาเช่นกัน มันขึ้นกับวิธีของแต่ละคนนะ
”
คนหนุ่มสาวอีกมากมายที่อยากทำงานในแบบฉบับของเขา และเขากำลังก้มหน้าก้มตาทำอยู่ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเสียที คนเหล่านี้จะต้องทำอย่างไร
สิ่งสำคัญคือต้องไม่ยอมแพ้นะ สำหรับเราคิดว่าต้องทำต่อไปไม่ท้อถอย เราเคยมีช่วงชีวิตที่ยอมแพ้ไปแล้ว หยุดร้องเพลงไปเลยนานหลายปี หลังจากที่แต่งงานกับแฟนคนแรกเราไม่ร้องเพลงเลยหกปี ไปเข้าเรียนมหาวิทยาลัย หัดเขียนรูป ไปทำอะไรอย่างอื่น จนมาถึงวันหนึ่ง ความรักในดนตรีก็กลับคืนมา จู่ๆ เรานึกว่า เอ๊ะ เมื่อก่อนเราเคยรักการร้องเพลง เราฝันอยากทำอัลบั้มเพลง แล้วทำไมเราล้มเลิกไปล่ะ เราต้องลุกขึ้นมาทำได้แล้ว ทำในตอนที่ยังมีโอกาส ถึงแม้จะไม่ใช่สาวๆ แล้ว ถึงแม้จะ 30 กว่าเข้าไปแล้ว
ความยืนหยัดในสิ่งที่รักเป็นสิ่งสำคัญนะ แค่มีแผ่นเพลงของตัวเองออกมาสักอัลบั้มนี่มันยากขนาดนั้นเลยเหรอะวะ ไม่นี่นา เราทำได้ ทำเองเลย บางทีมันมีโมเมนต์ที่รู้สึกแย่ๆ แพ้ๆ แต่เราไม่ท้อถอย แค่ถอยมาตั้งหลัก อยู่กับตัวเองสักพัก เราใช้วิธีนี้ พอทำอะไรแล้วรู้สึกเหนื่อยเกินไป ยากเกินไป ไปต่อไม่ได้ รู้สึกแย่ข้างใน เหนื่อยกับผู้คน เหนื่อยกับทุกสิ่งอย่าง เราขอถอยมาก่อน ตั้งหลักใหม่ อะไรก็แล้วแต่นะ มันขึ้นอยู่กับตัวเราเอง ว่าเราจะดีลกับปัญหาอย่างไร
เราเคยดูคุณพูดบนเวที TEDxBuengKaenNakorn ว่าชีวิตของผู้หญิงไทยจะต้องติดกับกำแพงกั้นหลายด้าน วัย ความสวย ภาษา และโอกาสในชีวิต
เราเชื่อว่าดนตรีเป็นเครื่องมือในการทำลายกำแพงเหล่านั้น พวกคุณทำแบบนี้กับเราใช่ไหม เราเจ็บช้ำ แต่ก็จะกลับมาทำงาน แต่งเพลง แสดงออกไป แล้วก็เดินหน้าต่อไป คนอื่นจะตัดสินเราอย่างไร จะทำกับเราอย่างไร เราไปห้ามเขาไม่ได้หรอก มีเพียงแต่ตัวเราเองนี่แหละ ว่าเราคิดอย่างไรกับตัวเอง บางคนบอกว่า เฮ้ย เพลงหมอลำนี่มันอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เราไม่คิดอย่างนั้น เราก็แต่งเพลงหมอลำของเราไป ทุกอย่างมันขึ้นกับความคิดของเราเอง ความเข้มแข็งของเราคือการได้เขียนเพลง ได้ทำงาน ได้ตอบโต้กลับไป ถึงแม้พวกเขาจะได้ฟังเพลงเราหรือเปล่า ถึงแม้เขาจะไม่ได้ยิน ไม่ได้เห็น เราเชื่อว่าสักวันเขาจะได้ยิน อย่างน้อยเราได้พูดสิ่งที่เราอยากพูดออกไป
สไตลิสต์: Hotcake