เร แม๊คโดแนลด์

เร แม๊คโดแนลด์: จากความซ่าสู่การค้นหาสมดุลแห่งชีวิตในฉบับไอคอนยุค 90s

คุณอาจจะรู้จักบล็อกเกอร์นักเดินทางชื่อดังมากมายหลายคนในยุคนี้ที่น่าติดตาม แต่หากย้อนกลับไปสักยี่สิบปีก่อน ชื่อของ เร แม๊คโดแนลด์ หนุ่มลูกครึ่งมาดกวน ผู้แจ้งเกิดจากการเป็นนักแสดงและพิธีกรวัยรุ่น สู่ตำนานแห่งยุคเก้าศูนย์ผู้เป็นต้นแบบแห่งการเดินทางและสรรค์สร้างรายการเกี่ยวกับการเดินทางที่มีจังหวะการเล่าเรื่องอันมีเอกลักษณ์ (เท่าที่เครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีในยุคนั้นจะทำได้) คงจะเป็นชื่อแรกๆ ที่คนนึกถึง เมื่อมีคำถามว่าใครคือไอคอนของการเดินทางในยุคนั้น โดยเฉพาะเหล่าวัยรุ่นผู้รักความซ่าทั้งหลาย

        ถึงจะพูดว่ายุคก่อน แต่ใช่ว่าชื่อของเรจะหายไปจากสารบบของนักเดินทางผู้สร้างแรงบันดาลใจ ปัจจุบันในวัย 42 ปี เขายังคงออกเดินทางสม่ำเสมอ แม้จะไม่ได้เห็นเขาตามสื่อบ่อยนัก แต่ทุกครั้งที่ปรากฏตัวก็เรียกความสนใจจากสาธารณชนได้ – แม้เขาจะพูดถึงตัวเองในการสนทนากับเราว่าเป็น ‘ดารายุคเก้าศูนย์ที่คนจำได้บ้างจำไม่ได้บ้าง’ ก็ตาม

        แน่นอน ด้วยวัยที่เพิ่มมากขึ้น เขาอาจจะไม่ได้บ้าระห่ำท้าทายเพื่อนคู่ใจอย่างเปเล่ (คริสโตเฟอร์ วอชิงตัน – คู่หูเดินทางของเรตั้งแต่ยุคเก้าศูนย์) เพื่อเดินทางโดยการแบกเป้นั่งรถไฟจากหัวลำโพงไปสู่อังกฤษอย่างในรายการ Roaming แต่การเดินทางยังคงเป็นแพสชันที่เขามีไม่เสื่อมคลาย ต่อยอดให้เขาสร้าง เร่ร่อน (Rayron) แพลตฟอร์มสำหรับรวบรวมเรื่องราวการเดินทางและนักท่องเที่ยวทุกรูปแบบไว้เป็นหนึ่งเดียว ที่ยังคงความสนุกในแบบของเรเช่นเดิม  

        จากความโลดโผนในวัยรุ่น ชีวิตใต้แสงสปอตไลต์ และการเดินทาง วันนี้เขาขยับมาอยู่เบื้องหลังมากขึ้น เปลี่ยนจังหวะชีวิตช้าลง ค้นหาสมดุลที่เหมาะสม ทั้งในการทำงาน และบทบาทในการเป็นพ่อลูกหนึ่งที่เปลี่ยนชีวิตและมุมมองของเขาไปอย่างสิ้นเชิง

 

เร แม๊คโดแนลด์

ตอนที่เราติดต่อสัมภาษณ์ไป คุณบอกเราว่ากำลังเดินทางอยู่ เล่าให้ฟังหน่อยว่าคุณเพิ่งไปไหนมา

        ช่วงนั้นเรากำลังไปถ่ายงานที่พังงาประมาณสี่ห้าวัน เพราะมีโปรเจ็กต์หนึ่งที่ออฟฟิศเราทำอยู่กับช่องทรู อินไซด์ ชื่อรายการ ติดเขา แต่เราไม่ได้เป็นพิธีกรเองหรอก ถ้าเป็นภาษาแก๊งละครก็คงเรียกว่าผู้จัดอะไรแบบนั้น เป็นรายการแบบทีวี้ทีวี ซึ่งหลายๆ คนในทีมก็รู้บ้างไม่รู้บ้างว่า อ้าว มันเป็นรายการลงช่องทีวีเหรอ (หัวเราะ) ทุกคนคิดว่ามันเป็นรายการออนไลน์ แต่เราไม่ได้สนใจหรอกว่าเขาจะดูในจอเล็ก จอใหญ่ จอมหึมา คือถ้าเรียกรวมๆ กว้างๆ ไม่ต้องคิดอะไรมาก จะเรียกว่ารายการท่องเที่ยวก็ได้ กิน เที่ยว จบ แต่ก็มีจิตวิญญาณอะไรของมันที่เราพยายามแทรกไป ก่อนหน้านั้นเราทำรายการ ติดเกาะ ติดพุง ที่เราเป็นพิธีกรเอง แต่สำหรับ ติดเขา เราคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีพิธีกรเลือดใหม่เข้ามา แล้วเราก็เขยิบมาข้างหลัง มันช่วยให้เราได้มุมมองใหม่ๆ แทนที่จะเป็นพิธีกรหรือดำเนินเรื่องอย่างเดียว

แล้วการเดินทางล่าสุดหากไม่นับการไปทำงานคือที่ไหน 

        มีน้อยมากเลย พอเราจะไปพักผ่อนที่ไหน ก็จะมีความคิดว่า เฮ้ย เราสามารถแตกอะไรออกมาเป็นคอนเทนต์ได้ไหม มันเป็นวิธีคิดเราตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่ไอ้งานที่ว่านั้นเราไม่คิดว่ามันเป็นงานไง นึกออกปะ แต่ถ้าเป็นทริปล่าสุดจริงๆ (นิ่งคิด) หลังๆ นี้เราเริ่มสนุกกับการดำน้ำอีกรอบ หลังจากที่ไม่เคยอินอะไรเลย คือเมื่อประมาณยี่สิบปีก่อนเราโดนบังคับให้ไปสอบดำน้ำ เพราะตอนนั้นทำรายการท่องเที่ยวอยู่ ทีนี้มันมีบางจุดที่ต้องลง เราก็กลัวที่แคบ แม่งอึดอัด แม่งคุยกันไม่รู้เรื่อง ใต้น้ำลงไปทำหอยอะไรวะ คือไม่ใช่เราเลย แล้วเราก็ไม่ได้คิดว่าอยากจะดำน้ำอีก จนเมื่อสามปีก่อนทำรายการ ติดเกาะ และได้ไปสน็อกเกิลที่เกาะง่าม จังหวัดชุมพร วันนั้นน้ำใสมาก เราแค่จุ่มหน้าลงไป แม่งมองทะลุลงไปได้ประมาณ 10-20 เมตร ครั้งนั้นมันสะกิดติ่งให้เรารู้สึกรีเฟรชอีกรอบหนึ่ง หลังจากนั้นก็ดำน้ำมายาวเลย ตอนนี้รู้สึกว่ามันถูกจริตและวัยเรา คือเรารู้สึก comfortable กับการอยู่ใต้น้ำ มันลืมทุกสิ่งทุกอย่าง และเพลิน

        อีกอย่าง แต่ก่อนที่เราไม่ชอบดำน้ำเพราะมันช้า เราอยากดำแบบสปีดไดฟ์วิง หรืออะไรที่มันเร็วๆ คือมันก็มีแบบท้าทายๆ นะ แต่จะอันตรายหน่อย แต่ตอนนี้แค่ลงไปแล้วปล่อยให้ร่างกายไหลไปตามน้ำ ดูปลา ดูปะการัง ลงไปจุดเดิมห้าวันติดเรายังไม่มีปัญหาเลย เพราะว่าแต่ละวันเราก็ไม่รู้ว่าจะได้เจออะไรบ้าง

        นั่นแหละ ตอบซะยาวเลย เราลงไปชุมพรบ่อย ก่อนหน้านั้นก็ลงไปดำน้ำที่หลีเป๊ะ บุโหลน ถ้าไม่ขนงานหรืออะไรไปด้วยก็เป็นทริปดำน้ำเสียส่วนใหญ่ 

หลายคนบอกว่าพอเราโตเราจะเริ่มนิ่งขึ้น ทั้งความคิด หรืออะไรก็ตามแต่ แม้กระทั่งเรื่องการเดินทางของคุณ มันเป็นอย่างที่เขาว่าด้วยหรือเปล่า

        ใช่ ในตอนที่เด็กกว่านี้เราอาจจะต้องการอะไรที่ฉึบฉับหรือไวกว่านี้ เวลาเราทำอะไรที่ช้าๆ จะรู้สึกว่าไม่มันเลยว่ะ ทุกอย่างต้องเคลื่อนที่ด้วยความไว คือตอนนี้เรายังชอบจังหวะเร็วๆ อยู่นะ แต่อาจจะมีเรื่องดำน้ำหรืออะไรก็แล้วแต่มาบาลานซ์จังหวะกัน แต่คำว่าบาลานซ์เราไม่ได้เพิ่งมาค้นพบตอนอายุสี่สิบนะ เราพยายามหามาตั้งนานแล้ว ซึ่งเจอบ้าง ไม่เจอบ้าง สุดแท้แต่กันไป คือมันยากมากที่ชีวิตจะบาลานซ์พอดี เพราะอะไรเป็นมาตรวัดความบาลานซ์ล่ะ ยิ่งตอนนี้เราเข้าสู่อีกโหมดหนึ่ง อีกบทหนึ่งของชีวิต ที่ไม่ใช่แค่เรากับแหม่ม (ภรรยา) แค่สองคน เรามีลูก เราจะบาลานซ์ยังไงให้ทั้งมีเวลากับแฟนสองต่อสอง มีเวลาให้กับลูก มีเวลาให้งาน เลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้ คือมิตินี้เราไม่เคยเจอ บางทีมันมีความกดดันเพิ่มขึ้นมา เราเริ่มเข้าใจคนที่มีลูกในมุมมองผ่านความเป็นพ่อ เป็นอะไรที่แปลกแต่สวยงาม เราอธิบายไม่ถูก เคยมีรุ่นน้องที่มีลูกสองคนบอก ‘พี่ไม่เป็นพ่อเป็นแม่พี่ไม่เข้าใจหรอก’ คือแบบ มึงแอบด่ากูหรือเปล่าวะ แต่คือเราไม่เข้าใจอย่างที่มันว่าจริงๆ แต่ว่าพอมีลูกก็ดีอยู่อย่าง คือทำให้เราเข้าใจอะไรบางอย่างที่เราไม่เข้าใจมากขึ้น และทำให้เราเข้าใจบิดามารดรของเรามากขึ้นอย่างสุดซึ้งเลย

พอโตขึ้นเราก็จะเข้าใจในแง่มุมความเป็นมนุษย์ธรรมดาของพ่อแม่ ไม่เหมือนตอนเด็กที่เรามองว่าเขาทำได้ทุกอย่าง

        ใช่ คงเป็นธรรมดาของมนุษย์ อายุประมาณหนึ่งจะอยู่กับเพื่อน เพื่อนต้องมาก่อน แต่พออายุประมาณหนึ่งก็จะกลับสู่ครอบครัว ซึ่งตัวเราเองอาจจะเป๋หรือไปทางอื่น อยู่กับเพื่อน หรือใช้ชีวิตความเป็นวัยรุ่นมากกว่าปกติ มากกว่าที่ควร เราก็เพิ่งจะกลับมา appreciate แม่เรา หรือพ่อเราที่เพิ่งเสียไป เรามีมุมมองตรงนั้นมากขึ้น พอเราหันไปมองลูกตัวเอง เราคิดว่าเขาก็คงจะต้องได้ผ่านช่วงเกเรเหมือนกัน กว่าที่เขาจะเข้าใจคงต้องใช้เวลา เป็นธรรมชาติของมนุษย์นะ ก่อนหน้านี้มีอยู่ครั้งที่แม่เห็นเราตอนอยู่กับลูก แล้วลูกเราซน แม่เราก็จะยิ้มแบบเจื่อนๆ และมองหน้าเราแบบ ‘มึงรู้แล้วใช่ไหม’ แต่ไม่ได้พูดออกมา นึกออกปะ (หัวเราะ) อารมณ์เหมือนกูรอวันนี้มานาน แล้วสักพักก็ขับรถกลับบ้านไปเลย คือการเห็นหน้าหลานเขาก็อยากเห็นแหละ แต่คงสะใจที่ได้เห็นเรารู้แล้วว่านี่คือสิ่งที่เราเคยทำกับแม่ ตอนนั้นเรารักแม่มากขึ้นสิบเท่า รักเมียมากขึ้นสองร้อยเท่า เมียเราน่าจะได้รางวัลเมียดีเด่น แม่ดีเด่น เขาทำทุกอย่างจริงๆ เราก็ย้อนกลับไปคิดถึงคนที่เป็นซิงเกิลมัมที่ต้องเลี้ยงลูกคนเดียว และอยากมอบรางวัลให้ทั้งหมดเลย เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายจริงๆ

เคยคิดว่าอยากให้ลูกโตมาเป็นแบบไหนไหม

        ไม่เคยคิด คือยังไงอะ อยากให้เป็นคนดีของสังคม อยากให้มีความคิดแน่วแน่ของตัวเอง แบบนี้เหรอ ไม่เลย แต่ว่าอย่างหนึ่งที่เคยคิดแบบตลกๆ คือเราหวังว่าพอเขาโต ไอ้คำพูดที่บอกว่า ‘เฮ้ย มึงรู้หรือเปล่าพ่อกูเป็นใคร เดี๋ยวพ่อกูเคลียร์ให้’ ที่อาจจะดูโบราณมาก แต่มีอยู่ในสังคมเราจริง เราหวังว่าอันนั้นจะเป็นประโยคที่มองย้อนกลับไปแล้วรุ่นลูกเราจะหัวเราะ และบอกว่า คนรุ่นก่อนตลกฉิบหายเลย แม่งต้องให้พ่อมาเคลียร์ แต่ถ้าเราได้ยินคำนั้นจากลูกเรานะ เราคงคิดว่า โห ดีเอ็นเอแม๊คโดแนลด์มึงน้อยมาก มึงไม่โตพอ เพราะถ้ามึงโตพอมึงต้องรับผิดชอบสิ่งที่มึงทำถูกหรือทำพลาดไป

ถ้าเขาโตมาแล้วอวดเพื่อนว่าพ่อเขาคือ เร แม๊คโดแนลด์ ล่ะ

        เขาคงไม่สนใจหรอก สุดท้ายเราก็คงเป็นแด๊ดดี้ หรือป๊า หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่เขาจะเรียก เพราะพูดกันตรงๆ พอถึงรุ่นนั้น ไอ้คำว่า เร แม๊คโดแนลด์ เป็นใคร คนก็คงจำได้บ้างไม่ได้บ้างแล้วใช่ไหม เราว่ามันไม่ได้ช่วยอะไร

        มันก็คงมีบ้างที่จำได้ แต่เขาคงโดนล้อที่โรงเรียนมากกว่าว่า พ่อมึงแม่งดาราเก่า ไอดอลยุคเก้าศูนย์ (หัวเราะ) นึกออกปะ เราว่าคงไม่ได้ช่วยอะไร ถ้าถามว่าอยากให้ลูกเป็นอะไร ลูกจะเป็นอะไรก็ได้ แต่เราไม่มีการบังคับกันเด็ดขาด เราก็ไม่แน่ใจนะว่าพ่อที่สมบูรณ์คืออะไร แต่ว่าก็คงต้องช่วยผลักดันในสิ่งที่เขาอยากทำ สิ่งที่เขาน่าจะมีพรแสวงและพรสวรรค์ ที่น่าจะผลักดันไปทางที่เขาชอบ เราก็คอยตบๆ เข้ามา และคอยประคับประคองไปแหละ

สมัยคุณเป็นวัยรุ่น เคยคิดไหมว่าอยากเป็นผู้ใหญ่แบบไหน

        ไม่เคยคิดเลย ตอนเป็นวัยรุ่นเรารู้สึกว่าอายุสามสิบหรือสี่สิบนี่โคตรแก่เลย คือตอนนี้เรายังคิดอยู่เสมอว่าเรายังไม่เป็นผู้ใหญ่ เพราะคำว่าเป็นผู้ใหญ่ในสังคมเราคือเราต้องวางตัวใหม่ ต้องแต่งตัวใหม่ แต่เรารู้สึกว่าเราก็ยังเป็นเรคนเดิม ที่หน้าอาจจะเหี่ยวลง ผมอาจจะบางลง เราไม่ได้บอกว่าเราเป็นวัยรุ่นหรืออะไรนะ แต่ว่าเรารู้สึกว่าเรายังไม่เป็นผู้ใหญ่ แต่แน่นอนว่า มุมมองต่างๆ นานา กับโลกใบนี้ กับสังคมก็อาจจะเปลี่ยนไป หรือหลายๆ อย่างที่เราเห็นในมิติของความเป็นพ่อที่มีลูก เรามองเห็นว่าตรงไหนในโลกที่มันมีเหลี่ยม ทุกสิ่งทุกอย่างมีความน่ากลัว มีความอันตรายมากขึ้น เพราะว่าเราก็ต้องคอยดูแลลูกของเรา แต่คงไม่ได้นอยด์เกินไปจนออกไปไหนไม่ได้ เด็กก็ล้มทุกวัน เขาต้องเรียนรู้จากการหกล้มในทุกๆ อย่าง แต่ถามว่าเราเคยคิดว่าเป็นผู้ใหญ่ยังไง ไม่เคยคิด ไม่อยากเป็นผู้ใหญ่ ไม่อยากแก่ ฟังดูกลายเป็นผู้ใหญ่แล้วน่าเบื่อว่ะ

 

เร แม๊คโดแนลด์

คุณกลัวความแก่ไหม

        ไม่กลัวความแก่นะ คือถ้าแก่แล้วหมายถึงว่ามุมมองของเรา อาจไม่ใช่กว้างไกล แต่ผ่านอะไรมามากขึ้นกว่าเดิม และมองเห็นหลายมุมหลายมิติมากขึ้น เราโอเค เราว่าเราหาบาลานซ์ในชีวิตเกือบจะเจอแล้วแหละ เราเข้าใจว่าอะไรสำคัญหรือไม่สำคัญในชีวิต คำว่าช่างแม่งที่อยู่ในหัวที่อาจไม่ได้เกี่ยวกับงานหรืออะไร มันเริ่มเยอะ คือเดินไปตดไปได้หรืออะไรอย่างนี้ นึกออกไหม (หัวเราะ) เราจะเป็นลุงแล้วแหละ ไม่ได้กลัวความแก่หรอก แต่ว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่มีความสุขเหมือนเราเข้าใจโลกมากขึ้น ถ้าเกิดจู่ๆ เราจะต้องแก่อีกยี่สิบปีทันทีตอนนี้แล้วทำให้มีความสุขเท่านี้ เราไม่กลัวเลย เราก็เคยเจอคนทักว่า ‘โห พี่แก่ลงไปเยอะนะ’ เราก็บอก ‘เออ ทักกูแบบนี้ ระวังมึงไม่ได้แก่นะ’ ก็กวนตีนไป ไม่มีอะไร เป็นปกติ 

เหมือนโตขึ้นสามารถตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นกับชีวิตออกได้มากขึ้น

        โห ตัดซ้ายขวาหน้าหลังเลย สุดท้ายก็กลับมาที่ครอบครัว กลับมาที่เพื่อนซึ่งมีอยู่ไม่กี่คน บอกตรงๆ ว่าเจอกันน้อยมาก แต่ถามว่าจะตัดกันเลยไหม ไม่ตัด เพราะหลายๆ คนเขาก็เข้าสู่บทเดียวกันของชีวิตพร้อมๆ กัน ก็เข้าใจตรงกันว่าอะไรต้องมาก่อนมาหลัง

ย้อนกลับไปตอนวัยรุ่น ถ้าคุณไม่ได้มองว่าอยากเป็นผู้ใหญ่แบบไหน แล้วคุณมองชีวิตเป็นบทเป็นตอนเหมือนที่คุณพูดถึงบ่อยๆ ไหม เช่น ช่วงสิบถึงยี่สิบเป็นแบบนี้ ช่วงยี่สิบถึงสามสิบเป็นแบบนี้ หรือช่วงสามสิบถึงสี่สิบจะเป็นแบบนี้

        ก็ไม่เลย คือถ้าย้อนกลับไปตอนยี่สิบ เราบอกตัวเองว่าถ้าเราอายุถึงสามสิบได้กับการใช้ชีวิตแบบนี้ก็บุญนักหนาแล้ว เราอาจจะไม่ลงรายละเอียดว่าเราใช้ชีวิตโลดโผนขนาดไหน แต่ถือว่าใช้ชีวิตวัยรุ่นค่อนข้างคุ้ม ย้อนกลับไปที่ลูกเรา เราก็ไม่ได้อยากให้เขาเกเรอะไรนะ แต่ก็จะมีช่วงของวัยรุ่นที่เป็นช่วงของการลองผิดลองถูก การตั้งคำถาม อะไรแบบนี้ คือถ้าเกิดเขาจะเป๋ไปช่วงหนึ่งไม่ว่าจะทิศทางไหนก็แล้วแต่ ซึ่งหวังว่ามันคงไม่เกิดนะ แต่ถ้าเกิดก็ขอให้เกิดและจบลงเร็ว เพราะว่าเท่าที่เราเห็นมา หลายๆ คนที่เตือนสติเราตอนที่เราอายุ 19-20 จนเกือบจะสามสิบ ตอนนี้พวกเขาดันมาเป็นวัยรุ่นตอนที่อายุสี่สิบกว่า เพราะเขาไม่ได้ใช้ชีวิตในช่วงวัยรุ่น คือเราจะบอกว่าถ้าพลาดหรือเดินผิดทางตอนเป็นวัยรุ่น มันเข้าใจได้ไง คนยังให้โอกาส แต่ไม่ได้หมายความว่าพอมาเป๋ตอนสี่สิบกว่าแล้วคนจะไม่ให้โอกาสนะ แต่ว่ามันยากกว่า ในเมื่อไอ้คำว่าผู้ใหญ่มันครอบหัวอยู่ และมันกลับไปยากเท่านั้นเอง 

คุณดื้อขนาดไหนตอนเป็นวัยรุ่น

        ตอนเป็นวัยรุ่นเราไม่รู้หรอก เราไม่ฟังด้วย มันอาจจะเป็นความเกเรของเรา ถ้าพูดตรงๆ ก็คือเด็กเหี้ย เหี้ยมาก คือตอนนี้เราไล่ขอโทษคนเยอะมาก โดยเฉพาะคนที่เราเคยทำงานด้วย ไม่ได้ขอโทษเพื่อของาน หรือเป็นดาราตกอับ ให้โอกาสผมอีกสักครั้งเถอะ ไม่ใช่ คือมันเป็นปมอยู่ในใจ ว่ากูไปทำอย่างนั้นได้ยังไง ตอนนี้หนึ่งก้าวเราอยู่ทั้งข้างหน้าข้างหลังในแง่การเป็น content provider มันทำให้เราเข้าใจมากขึ้น พอเรามองย้อนกลับไปก็เห็นว่า โห มีหลายดอกมาก ในยุคนั้นเราทำโปรดิวเซอร์วงการทีวีร้องไห้ไปหลายคนมาก พูดแล้วไม่ฟัง ไม่ทำ มาเลต คือต้องยอมรับเลยมันเป็นช่วงที่หลงตัวเองมากๆ อาจจะเพราะประสบความสำเร็จเร็ว เหมือนว่าจักรวาลทุกอย่างมีเราเป็นศูนย์กลาง แต่ไม่ได้เพิ่งมาคิดได้ตอนสี่สิบหรือสามสิบปลายๆ นะ แค่อาจจะเพิ่งมีโอกาสได้ขอโทษ ไม่อย่างนั้นเราไม่สบายใจ เราแค่อยากขอโทษในสิ่งที่ค่อนข้างก้าวร้าว แล้วไม่ต้องมาโทษแม่โทษพ่อเราว่าเลี้ยงลูกไม่ดี เพราะว่ายังไงเขาก็เอาเราไม่อยู่ นึกออกปะ (หัวเราะ) เพราะเราแทบไม่ได้อยู่บ้านเลยในช่วงวัยรุ่น

คำว่าเกเรของคุณเป็นแบบไหน

        เราไม่ได้เกเรแบบชกต่อยไล่แทงฟันตี แต่เราอาจจะไปอยู่ในมุมดาร์ก คือเที่ยวกลางคืนเสียมากกว่า สีลมซอย 4 คือมหาวิทยาลัยเรา หลายๆ คนก็คุยเล่นกันว่าอย่างเราน่าจะจบปริญญายังไม่ถึงเอก เพราะตอนนี้พวกปริญญาเอกเขายังกลับมาไม่ได้เลย เราอาจจะแค่เกือบๆ จบโทอะไรแบบนั้น และไม่ใช่แค่สีลมซอย 4 อย่างเดียว มีอีกหลายๆ ที่ นั่นคือมหาวิทยาลัย of the street ของเรา เป็นโลกกลางคืนของเราตอนวัยรุ่น พอเรามาเจอโลกกลางวัน ก็ไม่เคยรู้ว่ามันมีมุมนี้ด้วยเหรอ ทุกคนก็จะงงว่ามึงไม่รู้ได้ไงวะ เพราะตอนนั้นเราไม่มีโลกกลางวันเลย บาร์สมัยก่อนปิดตีสี่ตีห้า แต่ไม่บอกว่าบาร์ไหน เพราะจริงๆ ก็จำไม่ได้ แต่ปิดดึกกว่าตอนนี้เยอะ คือเที่ยงคืนค่อยออกจากบ้าน แล้วเราก็จะไปต่อ พอกลับบ้านตอนตีห้า ก็จะเห็นพวกวิ่งจ๊อกกิ้ง เราก็จะไปขำพวกเขา พวกนี้แม่งเอเลี่ยนว่ะ ไอ่ห่าแม่งตื่นมาทำไมตีห้า มึงตื่นมาวิ่งเหรอ บ้าหรือเปล่า แต่ตอนนี้แม่งกลับกัน เรากลายเป็นคนที่ออกไปวิ่งแทน (หัวเราะ) พอตีห้าครึ่ง เราก็ตื่นออกไปวิ่งแล้ว เออ ชีวิตมันก็แปลกดีเหมือนกัน

คุณวิ่งจริงจังหรือวิ่งแค่สนุก

        ไม่ได้จริงจัง ประมาณสามสี่ปีก่อนมีช่วงหนึ่งที่เราอ้วน เราก็คิดว่าต้องเอาลงแล้วล่ะ เพราะถ่ายรูปมา โห อันนี้พุงกูเหรอวะ กูไปถึงเลเวลนี้แล้วเหรอ อีกวันหนึ่งไปยิมเลย แต่ยิมเขาก็สายนักกล้าม เขาก็บอกให้วิ่งน้อยๆ เพราะมันทำลายกล้ามเนื้อ แต่เราไม่อยากเป็นก้ามปู เราอยากได้ลุกส์จับกัง เราก็เลยไปวิ่ง วิ่งมาเรื่อยๆ แล้วมันก็ติด แต่ตอนนี้วิ่งน้อยลง เพราะพอต้องทำงานออกกองแล้วมันสะดุด แต่ก็เริ่มพยายามกลับมาวิ่งมากขึ้นอาทิตย์ละสามวัน ครึ่งชั่วโมง สี่กิโลบ้าง ห้ากิโลบ้าง แต่ช่วงที่วิ่งเยอะก็จะตั้งเป้าไปด้วย พอวิ่งห้ากิโลได้ ลองดูสิสิบกิโลได้หรือเปล่า จบหรือเปล่า วิ่งแบบไม่หยุดถ่ายเซลฟี่นะ เสร็จปุ๊บ ฮาล์ฟไหวหรือเปล่า ฮาล์ฟได้ คือพอถึงเลเวลนั้น คิดว่าถ้าฮาล์ฟได้แล้ว ก็อยากจะไปฟูลมาราธอนเหมือนกัน แต่เหมือนต้องปรับวิธีคิด การเตรียมตัวอย่างน้อยสามสี่เดือน ซึ่งเราว่าเราตัวปลอมอะ หรือว่าเราแม่งเป็นคนครึ่งๆ กลางๆ นึกออกปะ ตอนนี้ขอเอาน้ำหนักลงนิดหนึ่งก็พอ แต่มันก็ขึ้นไปตามอายุอยู่ดี ทำไงได้

ชื่อของเร แม๊คโดแนลด์ มักถูกยกขึ้นมาเป็นลำดับต้นๆ เสมอเวลาคนพูดถึงไอคอนของการเดินทาง ถึงวันนี้คุณคุ้นชินมากแค่ไหน หรือรู้สึกเบื่อบ้างไหมที่คนติดภาพคุณแบบนั้น

        ไม่ๆ เราว่าช่วงนั้นมันผ่านมาแล้ว คำพูดนั้นน่าจะเฉพาะกลุ่มคนที่อายุประมาณ 30 อัพ เพราะทุกวันนี้ทุกคนก็จะมีฮีโร่เรื่องการเดินทางที่แตกต่างออกไป ซึ่งเป็นเรื่องดีมากๆ ยกตัวอย่างบล็อกเกอร์ตามเพจต่างๆ เขาก็ให้ข้อมูลละเอียด ภาพสวย คอนเทนต์ดี แล้วแต่ว่ากลุ่มเป้าหมายของแต่ละรุ่นเป็นอย่างไร เพราะถ้าไปถามเด็กรุ่นยี่สิบต้นๆ เขาจะไม่ค่อยรู้จักเราหรอก แต่ถ้าตอบตามคำถามที่ถามมาว่าเบื่อไหมก็ยังไม่เบื่อ เพราะเรายังไม่เบื่อที่จะเดินทาง เราไม่ได้ทำไปเพื่อคิดว่า เฮ้ย ไอ้เรมันต้องเป็นนักเดินทาง กูจะต้องเดินทาง แต่เราที่เราเดินทางอยู่เพราะว่าเรายังหลงใหล และสนุกกับมัน ไม่ได้มองว่าที่ที่เราอยากไปว่ายังไปไม่ครบ ไม่ได้ผจญภัยถึงขั้นที่ว่าต้องไปให้ครบทุกประเทศในโลก ซึ่งก็มีคำถามเหมือนกันว่า ‘เห็นไปประเทศนี้ซ้ำ ไปประเทศนั้นบ่อย’ เราก็บอกว่า ใช่ แต่เราไปคนละช่วงชีวิต ไปตอนยี่สิบบ้าง สามสิบบ้าง ไหนจะมีเรื่องของทีมงานที่จะต้องเดินทางและทำคอนเทนต์กับเรา เราจะชอบนั่งดูหน้าเขาว่าเขาอินในสิ่งที่เราอินไหม เขาเห็นในสิ่งที่เรารู้สึกไหม ซึ่งไม่จำเป็นที่เขาจะต้องรู้สึกเหมือนเรา เพราะทุกคนมีความชอบที่แตกต่างกัน ไม่มีถูกไม่มีผิด มันไม่ได้รู้สึกเบื่อ และเรายังมีอีกหลายที่ที่อยากไป

 

เร แม๊คโดแนลด์

เคยมีช่วงหมดไฟในการเดินทางบ้างไหม

        มีบ้างที่บางทีเกือบดับไป แต่ไม่ได้หายไป เหมือนพอโยนน้ำมันก๊าดเข้าไปมันก็เพิ่มขึ้น อย่างปีนี้ไฟในการอยากเดินทางเพิ่มขึ้นมาอีกระดับ อาจจะเพราะเราลงคอนเทนต์ในเพจเร่ร่อนมากขึ้น พอมันไม่มีกรอบ เราเลยรู้สึกเหมือนตอนอายุ 20 ต้นๆ หรือตอนทำรายการใหม่ๆ แบบ เฮ้ย มันดีว่ะ แต่สักพักก็จะคิดว่า มันเยอะเกินไปหรือเปล่าวะ (หัวเราะ) ทำไปทำมาสนุกจนงบเกิน แต่ยังดีที่มีพี่ๆ สปอนเซอร์เข้ามาช่วย แต่เราก็พยายามตัดหลายๆ อย่างออกไป ถ้ามีเงินส่วนตัวก็ต้องเอามาเติมเต็มบ้าง เพราะไม่อย่างนั้นมันอาจจะถูกตีกรอบจนเรารู้สึกว่ามันคือแพตเทิร์นเดิมที่ต้องขายของให้เขา ตังค์เราก็อยากได้ ความเป็นเราก็อยากมี แต่ก็ต้องมีบางอันที่เราคิดว่าไม่เป็นไรหรอกแล้วลุยไปด้วยตัวของเราเอง 

        อย่างสมัยก่อนตอนที่ทำรายการ Roaming มันเป็นเงินก้อนสุดท้ายของเราที่พร้อมจะแลกกับประสบการณ์ครั้งนั้น เพราะก่อนเราออกไปทุกคนหาว่าเราบ้า เพราะช่องเราก็ไม่มี สปอนเซอร์ก็ยังไม่มา แต่สุดท้ายรายการก็ออกไปแล้ว ซึ่งสมัยก่อนไม่ค่อยมีคนทำกัน หรือทำกันแต่ไม่คุ้ม แต่เราคิดว่าถึงแม้ตอนนั้น Roaming จะเป็นการนั่งรถไฟไป 2- 3 เดือนแล้วกลับมา แต่ไม่ได้เอาไปลงหรือออกอากาศที่ช่องไหน ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีใครพูดถึง ก็ไม่เป็นไร เพราะประสบการณ์ตรงนั้นมันคุ้มค่าสำหรับเรา แม้หลังจากกลับมาอาจจะใช้เวลานานหน่อยในการเรียบเรียงและตัดต่อ แต่โปรเจ็กต์นั้นคือเงินก้อนสุดท้ายของเรา ซึ่งเริ่มจากการท้าทายกันเองระหว่างผมกับเปเล่ (ตากล้อง/คนตัดต่อ) ว่า ‘เฮ้ย เราเริ่มเดินทางจากหัวลำโพงกันเลย มึงกล้าหรือเปล่า’ เสร็จแล้วก็รีเสิร์ช และออกลุยกันเลยสองคน เชื่อไหม ทุกวันนี้ 12 ปี ผ่านไป โปรเจ็กต์นี้ยังทำเงินให้เราอยู่เลย

วิธีการทำงานรายการท่องเที่ยวในยุคนี้ของคุณเปลี่ยนไปด้วยไหม

         สมัยนี้เราก็ยังชินกับการทำงานสองคนหรือสามคนเหมือนเดิม แต่เดี๋ยวนี้หลายๆ คนที่ทำคนเดียวงานก็ออกมาดีด้วยซ้ำ ดีกว่าการทำงานเป็นทีมแบบ traditional เหมือนรายการทีวีเก่าๆ เสียอีก เราเคยไปออกทริปกับ เบนซ์ The Gaijin Trips ซึ่งทำงานคนเดียว แล้วงานออกมาดี คนยอมรับ ตอนนี้เด็กเก่งๆ ที่เป็นบล็อกเกอร์ทำงานคนเดียวไม่ได้เป็นเรื่องที่แปลกและใหม่ สมัยก่อนเราทำงานสองคนบางทีเวลาเห็นทีมใหญ่ๆ ที่มีรายการทีวีอย่างช่องสาม ห้า เจ็ด เก้า เราก็อาจจะงงๆ ว่าเขาทำได้อย่างไร แต่ยุคนี้ไม่ใช่ ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว

นอกจากโลกการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป โลกของการใช้ชีวิตในระดับสังคมก็เปลี่ยนไปเช่นกัน คุณกังวลไหมกับการที่คุณ และลูกของคุณต้องเติบโตมาบรรยากาศแบบทุกวันนี้

        มันน่ากลัวมาตลอด แค่พอมีลูกก็อาจจะคิดเยอะหน่อย เฮ้ย มี PM 2.5 เฮ้ย ทำไมโลกเราเหลี่ยมเยอะจังวะ ทำไมไม่โค้งมน นุ่มนิ่ม และมีดีไซน์สำหรับเด็ก มีอะไรให้ต้องระวังเยอะขึ้น ถามว่ากังวลไหม มีบ้าง เราถามตัวเองอยู่เหมือนกันว่าควรจะย้ายดีไหม เปลี่ยนที่ดีไหม ไปอยู่ในที่ที่ไม่ได้แออัดหรือเต็มไปด้วยความเครียด มีความเป็นธรรมชาติมากกว่านี้ คำถามนี้เราถามตัวเองและถามภรรยาอยู่ตลอดว่าเราย้ายไปอยู่ที่อื่นสักพักไหม เพื่อให้ชีวิตบาลานซ์กัน แต่บอกตรงๆ เลยว่าสเต็ปนั้นเรายังไม่กล้า แต่หากเจอที่และโอกาส เราอาจจะย้ายไปอยู่ที่ที่เราได้สัมผัสกับธรรมชาติ อยู่กับทะเล อยู่ในที่ที่สภาพอากาศดีกว่านี้หน่อย เพื่อให้ลูกได้โตมาในสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร แต่สุดท้ายเราคือเด็กกรุงเทพฯ เรารักกรุงเทพฯ และเราเดาว่าคนจำนวนกว่า 10 ล้านคนที่อยู่กรุงเทพฯ ต่างมีความหวังคล้ายๆ กันว่าทุกอย่างจะดีขึ้น ใช่ปะ ถ้าไม่มีความหวังเราคงย้ายไปนานแล้วล่ะ

นักเดินทางอย่างคุณรู้สึกว่ากรุงเทพฯ คือบ้านของคุณ

        แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้จะมีคำถามอยู่ในใจตลอดว่าหลายๆ ครั้งเวลารถติด หรือเวลาติดไฟแดงตรงสี่แยกแล้วเวลาแม่งนับถอยหลังมาตั้งแต่สามร้อยกว่าวินาที จนถึงศูนย์แล้วก็เด้งกลับไปสามร้อยกว่าอีกครั้ง เราจะเกิดคำถามว่ากูทำอะไรอยู่ที่นี่วะ อันนี้มันใช่เหรอวะ การเดินทางก็แออัดยัดเยียด มันมีคำถามอยู่ตลอด แต่เรายังมีความหวังว่าสักวันมันคงดีขึ้น ซึ่งรอมาหลายเดี๋ยวแล้ว

มีหลายคนที่ไม่ได้ทำงานที่บ้านเกิด แต่เดินทางเข้ามาทำงานในเมืองหลวงด้วยความจำเป็น ถึงแม้อยากกลับบ้าน แต่ก็กลับไม่ได้ด้วยเงื่อนไขบางอย่าง เช่น บ้านเกิดมีตัวเลือกงานน้อยกว่าเมืองหลวง คุณมีอะไรอยากแนะนำคนเหล่านี้บ้างไหม 

        เราว่าพอถึงจุดหนึ่ง อายุงานระดับหนึ่ง อาจจะมีคำถามขึ้นมาว่า ‘อิ่มหรือยัง พอหรือยัง’  ถ้าเกิดในใจลึกๆ เรารู้สึกอิ่มจากตรงนี้แล้ว การกลับไปอยู่บ้านก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า ได้อยู่ใกล้พ่อแม่ปู่ย่าตายาย แม้กลับไปแล้วรายได้อาจจะไม่ได้มากเท่ากับรายได้ตอนนี้ หรืออาจจะได้มากกว่า แต่มันไม่ควรจะเป็นแค่เรื่องรายได้ที่เป็นดัชนีมาชี้วัด เพราะสุดท้ายมันควรจะมาจากใจลึกๆ ว่าเราอยากกลับบ้าน ที่บ้านมันใช่แล้ว เพราะความอิสระของเราจะกลับมา ไม่ได้บอกว่างานในเมืองหลวงไม่มีอิสระ แต่มันก็คงมีกรอบบางอย่าง หรือเราต้องคิดว่าเราอยากเป็นนายตัวเองไหม ชีวิตเราจะทำอยู่อย่างเดียวที่เมืองหลวงเหรอ ถ้าเกิดว่าเรามีใจที่อยากจะกลับบ้านจริงๆ เราว่าไปเลยเว้ย ไม่อย่างนั้น ยกตัวอย่างเป็นคุณก็ได้ มันก็จะกลับมาที่แพตเทิร์นเดิมคืออยู่หน้าจอ มาสัมภาษณ์ดารายุคเก้าศูนย์ที่มาช้าสิบห้านาทีอะไรอย่างนี้ วันหนึ่งมันจะถึงจุดอิ่มตัว แน่นอนว่าสเต็ปแรกมันยาก แต่แค่ต้องถามตัวเองว่าเรากล้าหรือเปล่า อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องรายได้ เราว่ามันไม่ได้สำคัญแต่มันจำเป็น เราอาจจะต้องวางแผนล่วงหน้าสักหน่อย เช่น เก็บเงินสิบเดือนแล้วค่อยกลับ อย่างน้อยก็ทำให้เรามีเงินตั้งต้นได้ หรือถ้าบ้านรวยอยู่แล้วก็ไปเลย (หัวเราะ) แต่อายุขนาดนี้แล้วมันก็ไม่ควรขอพ่อแม่หรือเปล่าวะ

เคยอ่านบทสัมภาษณ์ที่คุณบอกว่าไม่อยากให้คนที่ชื่นชอบคุณได้รู้จักตัวตนจริงๆ ของคุณ เป็นเพราะอะไร ตอนนี้ยังมีความรู้สึกนั้นอยู่ไหม

        ตอนนี้ก็น้อยลงหน่อย เราไม่ได้บอกว่าเราเสแสร้งอยู่ในคอนเทนต์ที่เราทำ เพราะมันก็คือตัวเราอีกพาร์ตหนึ่ง แต่อีกพาร์ตหนึ่งของเราซึ่งอาจจะเป็นด้านมืด หรือตัวตนจริงๆ หลายคนอาจจะรับไม่ได้ เพราะเวลาเราเจอบางคนที่เราบอกว่าชื่อเร เขาก็บอก หนูรู้ เราก็บอกว่า ไม่ใช่ อันนั้นน้องรู้จักพี่แค่ในจอ แต่ตอนนี้เรารู้จักกันอย่างเป็นทางการแล้ว ไอ้กำแพงห่าเหวอะไรเนี่ยตัดมันทิ้งไป เราเป็นเพื่อนกัน แค่นั้นเอง อย่างที่บอกว่าพออายุสี่สิบแล้ว เราสามารถเลือกได้ว่าคนที่จะอยู่ในชีวิตเราควรเป็นแบบไหน ไม่จำเป็นที่จะต้องมีเยอะแยะมากมาย ขอแค่เป็นคนที่มีคุณภาพ เป็นคนที่รักและเกลียดเราจริงๆ เห็นเราในทุกมิติมาแล้ว เป็นคนแรกที่ยินดีกับเราเมื่อเราประสบความสำเร็จ และเป็นกลุ่มคนเดิมๆ ที่มาหาเราในวันที่เราย่ำแย่ แค่นี้ก็พอ

อายุมากขึ้นคุณหันหน้าเข้าศาสนาบ้างหรือเปล่า

        ไม่เลย ส่วนใหญ่จะอ่านผ่านๆ เราคิดว่าสิ่งที่เราได้จะเป็นเรื่องของปรัชญาและวิธีคิดที่มาจากคนที่เราไม่ได้มองว่าเขาว่าเป็นใครมาจากไหนมากกว่า เช่น หลายๆ ครั้งที่เราได้คุยกับชาวบ้านมักจะมีวิธีคิดที่มันโดน มันเข้ามาในสมอง ถ้าเป็นภาษาวัยรุ่นเก่าของเราจะเรียกว่า ‘พบแจ้ง’ คือพบทางสว่าง จากในที่ที่เราไม่คิดว่าจะเจอจากการพูดคุย อย่างนี้เราจะรู้สึกว่าเขาเป็นครู ไม่ต้องทำอาชีพครูหรอก แล้วเราอยากกลับไปขอบคุณเขา ขอบคุณวิธีคิดของเขาที่ให้เรามา เขาอาจจะไม่ได้ใช้คำพูดที่สวยหรู หรือคำพูดเท่ๆ แต่แม่งเข้าใจง่าย แล้วเรารู้สึกว่ามันจริง

คุณเริ่มวาดภาพชีวิตตัวเองในบั้นปลายบ้างแล้วหรือยัง 

        เราคิดมาสักพักแล้วว่าเราอยากจะใช้ชีวิตกึ่ง nomad คือเป็นชนเผ่าเร่ร่อน เราอยากจะอยู่ตรงนี้สักหกเดือน แล้วอยู่ตรงโน้นอีกหกเดือน หรือแบ่งสี่เดือนสามรอบในหนึ่งปี แล้วเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่ก็จะมีข้อจำกัดคือพอลูกเข้าโรงเรียน เราก็ไม่อยากให้ย้ายโรงเรียนบ่อย มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องตัดสินใจคนเดียว แต่ต้องตัดสินใจหลายคน แต่ยังอยากทำอยู่ดี แล้วเรายังไม่มีความคิดที่จะหยุดเดินทางหรือหยุดค้นหา ซึ่งเราว่าเราเจอคำตอบในใจของสิ่งที่เราค้นหาแล้ว แต่เราอยากจะย้ำไปเรื่อยๆ คือยังหลอกตัวเองอยู่ว่ายังไม่เจอสักที เพราะเราจะได้ออกไปตามหามันเรื่อยๆ แค่นั้นเอง (หัวเราะ)

คำตอบที่ว่าคืออะไร

        ไม่บอก บอกทำไมวะ (ยิ้ม)