earth director

Richard Dale & Stephen McDonogh | ผู้เปลี่ยนสารคดีสัตว์ป่าให้เป็นเรื่องเล่าแสนสนุก

เราไม่เคยคิดว่าหนังสารคดีสัตว์ป่าจะทำให้เราอินและสนุกจนจิกเก้าอี้โรงหนังได้ จนกระทั่งดู Earth: One Amazing Day ภาพยนตร์สารคดีที่สามารถเล่าเรื่องชีวิตสัตว์หลากสายพันธุ์ได้อย่างลุ้นระทึกและอิ่มเอมหัวใจ จนขึ้นแท่นเป็นหนังสารคดีเรื่องโปรดประจำปีนี้ไปเรียบร้อย เมื่อมีโอกาส เราจึงรวบรวมคำถามที่ค้างคาใจมากมายระหว่างดูหนัง มาพูดคุยกับ Richard Dale หนึ่งในผู้กำกับ และ Stephen McDonogh โปรดิวเซอร์ ถึงบทเรียนจากธรรมชาติ ผ่านการเข้าไปสังเกต คลุกคลี และเป็นส่วนหนึ่งกับสัตว์ป่ากว่า 38 สายพันธุ์ ใน 22 ประเทศทั่วโลก

earth director

Richard Dale (ซ้าย)
ผู้กำกับ

 

First Light of the Day… ผมไม่เคยทำหนังเกี่ยวกับสารคดีสัตว์โลกมาก่อน ก่อนหน้านี้ผมเคยทำแต่หนังเกี่ยวกับชีวิตคน หนังดราม่าเกี่ยวกับสังคม แต่สิ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจมาลองทำหนังสายนี้ดูสักครั้ง ก็เพราะผมเริ่มเข้าใจว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับสัตว์เท่านั้น มันไม่ใช่แค่เรื่องของธรรมชาติ แต่มันเกี่ยวกับเรา โลกของเรา… บ้านของมนุษย์ทุกคน เพื่อให้เราไม่ลืมว่าที่ที่เราอาศัยอยู่แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร

 

Be Part of Them… แปลกที่มนุษย์อย่างเรารู้เรื่องสัตว์น้อยเหลือเกิน จะมีกี่คนที่รู้ว่าวาฬมักจะงีบหลับแบบลำตัวตั้งตรง แล้วจะมีใครไหมที่คิดไปถึงขั้นว่าวาฬกำลังฝันอะไรอยู่ เราแทบไม่เคยพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่สัตว์กำลังเผชิญเลย เพราะแบบนี้ ในหนังเราถึงพยายามทำให้คนได้เห็นมุมมองใหม่ๆ ของสัตว์โลก ไม่ใช่ในฐานะที่มันเป็นสัตว์ตัวหนึ่ง แต่ในฐานะที่มันก็เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นคนรัก เป็นนักเรียน เป็นนักสู้ ซึ่งก็สะท้อนออกมาผ่านวิธีการเล่าเรื่องที่ไม่ใช่แค่การเฝ้าดูชีวิต แต่เป็นการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตสัตว์พวกนั้นจริงๆ

 

1,000 Hours Footage… สิ่งที่ยากที่สุดในการคัดเลือกฟุตเทจกว่า 1,000 ชั่วโมงคือ เราไม่รู้จะให้ใครเป็นนักแสดงนำดี (หัวเราะ) เพราะทุกตัวมีเรื่องราวที่น่าสนใจ เราจึงพยายามหาเนื้อเรื่องที่อยากจะเล่าก่อน แล้วค่อยใส่ตัวละครที่เหมาะสมที่สุดลงไป จนสุดท้ายก็สามารถคัดมาเหลือเป็น 89 นาทีได้สำเร็จ (ทำท่าปาดเหงื่อ)

 

Feel the Moment… เราทำหนังทั้งเรื่องโดยที่ไม่ใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกเลย แน่นอนว่ามันอาจจะง่ายกว่าถ้าเราจะเอาแอนิเมชันมาใช้ แต่เทคโนโลยีตอนนี้ทำให้เราถ่ายวิดีโอได้ดีมากจนแทบไม่จำเป็นต้องใช้ซีจีแล้ว อีกอย่างมันท้าทายและสนุกกว่าเยอะ ถ้าเราได้ไปเก็บภาพสวยๆ จากบรรยากาศจริงๆ เช่น ตอนไปถ่ายฉากแพนด้า เราต้องใส่ชุดแพนด้ากันด้วย แล้วก็ต้องป้ายอึแพนด้าด้วยนิดหน่อย จะได้มีกลิ่นเหมือนพวกมัน (หัวเราะ)

 

Favorite Scene… ผมชอบฉากหนูที่สุด มันดูเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต่ำต้อย อยู่ในโลกใบเล็กๆ เอาจริงๆ มันก็เหมือนพวกเราเหมือนกันนะ มีข้าวโพดให้กิน มีทุ่งหญ้าให้อาศัย เป็นสภาพแวดล้อมแบบเดียวกับมนุษย์เลย

 

earth director

Stephen McDonogh (ขวา)
โปรดิวเซอร์

 

Favorite Scene… ผมชอบแพนด้านะ เพราะชีวิตเรียบง่ายของมันโคตรขัดแย้งกับชีวิตในเมืองใหญ่ของประเทศจีนเลย ในหนังคุณจะเห็นแพนด้ากินทั้งวัน ซึ่งชีวิตจริงมันก็เป็นแบบนั้นแหละ (หัวเราะ) คนชอบบอกว่า โอ๊ย สบายจังเลยเป็นแพนด้า กินทั้งวัน อ้าว แล้วคุณจะให้มันทำอะไรล่ะ ถ้าคุณเกิดมาทำงาน แพนด้ามันก็เกิดมากิน การกินเนี่ยแหละเป็นหน้าที่สำคัญที่สุดของมันแล้ว

 

What Man Can Do… มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดมาพร้อมความสามารถพิเศษ คือการเข้าใจตัวเองและรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ เพราะสัตว์ต่างๆ ไม่รู้หรอกว่าตอนนี้โลกกำลังเกิดอะไรขึ้น มันไม่รู้ว่าจุดมุ่งหมายในชีวิตคืออะไร อย่างแพนด้า มันก็ไม่รู้ตัวเองสักหน่อยว่ามันอยู่ในประเทศจีน เพราะแพนด้าไม่ได้เรียนภูมิศาสตร์เหมือนเรา แล้วมันก็ไม่รู้หรอกว่าวันไหนจะสูญพันธุ์ แต่มนุษย์อย่างเรารู้ แล้วเราจะทำอะไรได้บ้างล่ะ

 

The World as We See It… โลกที่เราฉายในหนังมันอาจจะดูสวยงามก็จริง แต่ก็ต้องยอมรับเลยว่าในทุกๆ ที่ที่เราไป มันไม่มีที่ไหนและไม่มีสัตว์สายพันธุ์ใดที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ เราจะเลือกเล่าในมุมหายนะที่มีแต่ความเลวร้ายก็ได้ มันเป็นการเล่าเรื่องที่ดีเหมือนกัน แต่เราแค่ไม่ทำแบบนั้น เราอยากให้ผู้คนค่อยๆ หันมามองตัวเอง หันมามองโลกรอบๆ ตัว และเข้าใจว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่โชคดี ซึ่งสามารถหยุดหายนะเหล่านั้นได้

 

The Lucky Planet… ตอนจบของหนังเราใช้คำแทนโลกว่า ‘Lucky Planet’ เพราะมันเหมาะสมที่สุด ทั้งในแง่ของความหมายตรงตัวว่าโลกเป็นดาวเคราะห์ที่โชคดี ไม่ร้อนเกินไป ไม่หนาวเกินไป ได้รับแสงอาทิตย์ที่พอดี เหมาะแก่การอยู่อาศัย ส่วนอีกความหมายหนึ่งก็คือ ผมอยากบอกว่าพวกเราโชคดี มองไปรอบๆ สิ คุณไม่คิดว่าตัวเองโชคดีที่ได้อยู่บนโลกใบนี้เหรอ