โอม โปเตโต้

โอม โปเตโต้ | อาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญู กับความตั้งใจพาผู้เสียชีวิตกลับไปให้ถึงบ้าน

อุบัติเหตุจราจรทางบกนับความสูญเสียทั่วประเทศไทยในปี 2560 จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 8,727 ราย รวมเป็นมูลค่าความเสียหาย 52,018,356 ล้านบาท นับเป็นตัวเลขสถิติที่น่าใจหาย เหตุการณ์ร้ายแรงเช่นนี้ไม่อาจคาดเดาหรือควบคุม แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วสุดท้ายก็สร้างความเศร้าโศกเสียใจให้กับญาติมิตรทุกคน พวกเราพอจะทำอะไรที่จะช่วยเหลือเยียวยาจิตใจให้กับผู้สูญเสียได้บ้าง นี่คือคำถามที่เกิดขึ้นในใจของ ปิยวัฒน์ อนุกูล หรือ ‘โอม โปเตโต้’ ทำให้เขาอยากลงมือทำอะไรสักอย่าง และในที่สุดเขาก็ได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญู โดยให้เหตุผลว่า ‘อยากพาผู้เสียชีวิตกลับไปให้ถึงบ้าน’ สิบปีที่ผ่านมาเขาก็ทำหน้าที่นี้อย่างมุ่งมั่นมาโดยตลอด

โอม โปเตโต้

 

เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง

     “ทุกวันนี้ผมก็ยังร็อกอยู่นะ” ปิยวัฒน์ตอบเราอย่างอารมณ์ดี เมื่อเราขอมานั่งคุยเรื่องที่เขาใช้ชีวิตอีกด้านในการเป็นเจ้าหน้าที่อาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญู เพราะสงสัยว่าทำไมร็อกสตาร์ถึงแบ่งเวลามาทำงานอาสาสมัครแบบนี้ 

     “เอาจริงๆ นะ แต่ละคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน ถ้าผมไม่มาเป็นอาสาสมัครผมก็คงปาร์ตี้หนักหน่วงอยู่กับเพื่อนๆ และงานนี้ผมเองอยากทำมาตั้งแต่เด็ก ผมเข้าวัดมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะคุณตาพาไป ดังนั้น ผมจึงมองว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย นั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ”

     ปิยวัฒน์บอกว่า การทำงานอาสาที่ได้พบเห็นความตายเป็นประจำ ทำให้เขาเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง

     “คนเราถึงเวลาก็ต้องตาย ดังนั้น เราควรใส่ใจในการกระทำเมื่อยังมีชีวิต ผมได้เรียนรู้ชีวิตจากการเก็บศพ เพราะเราเลือกไม่ได้ว่าจะเก็บศพไหน บางคนเสียชีวิตจากการจมน้ำหลายวันแล้ว เราก็ต้องไปช่วยเอาเขาขึ้นมา”

 

โอม โปเตโต้

 

      ชีวิตบนท้องถนนมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายในแต่ละวัน แน่นอนว่าเขาเองก็เคยพบกับเรื่องราวสะเทือนใจระหว่างปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

     “วันหนึ่งผมไปซ้อมดนตรี ขณะกำลังขับรถกลับบ้านทางสะพานพระรามเจ็ด เจอรถพ่วงล้มทับมอเตอร์ไซค์ ผมเองก็มีชุดเตรียมไว้อยู่ในรถ ก็เลยวนรถกลับไปช่วย พอไปถึงก็พบว่าผู้ชายขี่มอเตอร์ไซค์มากับแฟน แล้วมอเตอร์ไซค์ถูกรถพ่วงดูดเข้าไปใต้ท้องรถ แฟนที่ซ้อนอยู่ถูกดูดเข้าไปใต้ล้อรถ ส่วนคนขี่กระเด็นออกมาข้างนอก เขานั่งกอดแฟนไว้จนกระทั่งญาติพาลูกของเขามาถึงที่เกิดเหตุ ผมเห็นแล้วร้องไห้เลย ใครจะไปคิดว่าเราก็ใช้ชีวิตตามปกติเหมือนเคยทุกวัน เลิกงานขี่มอเตอร์ไซค์กลับบ้าน แวะซื้อข้าวให้ลูก แล้วต้องมาเสียชีวิตตรงนี้ ที่เขาบอกว่าชีวิตก็เท่านี้ อยากทำอะไรก็จงรีบทำ”

     ปิยวัฒน์บอกว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดจากความประมาท บางครั้งเขาพาลูกชายไปดูการทำงานด้วย เพราะอยากให้ตระหนักถึงเรื่องการใส่หมวกกันน็อกขี่มอเตอร์ไซค์ และเมาไม่ขับ

     “ถึงคุณจะบอกว่าขี่ในซอย ไม่เร็วหรอก แค่ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ถ้าดวงซวยไปเจอรถที่เปิดไฟเลี้ยวแล้วเรามองไม่เห็น แล้วไปชนหรือโดนรถเกี่ยวแค่นิดเดียว ความเร็ว 50 นั้นก็ทำให้เราหัวกระแทกตายได้ เรียกว่าตายแบบโง่ๆ เลย ขี่ไม่เร็วแต่ตาย ผมอยากให้ลูกเข้าใจความตายมากขึ้น ให้เขาเห็นและระวังตัวว่าทำไมเราถึงต้องเตือนเขา”

     โอมบอกว่า เขาใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลกนี้ ยังมีคนรอบข้างที่อาจจะได้ผลกระทบต่ออุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันในวันใดวันหนึ่งก็ได้

     “ถ้าผมเป็นอะไรไป เชื่อว่าคนข้างหลังคงไม่ลำบาก ประกันสุขภาพผมก็ทำไว้ แล้วจริงๆ ผมคิดว่าประกันต่างๆ นั้นเราควรทำกันไว้ ถึงแม้เราจะไม่อยากให้ตัวเองต้องใช้สิทธิ์นั้นก็ตาม”

 

โอม โปเตโต้

 

คุณค่าของคนต้องค้นหาด้วยตัวเอง

     ปิยวัฒน์ได้รับแรงบันดาลใจในการช่วยเหลือคนอื่นจากคุณพ่อที่เพิ่งจากไปไม่นาน

     “แม้แต่ความตายของพ่อผมเองก็สอนอะไรเราได้เยอะ ท่านเสียก็จริงแต่ท่านยังยิ้มอยู่ แสดงว่าท่านไปสบาย พ่อผมเป็นคนที่ชอบช่วยคนอื่น เขาเคยบอกว่า ถ้าให้อยู่บ้านเฉยๆ เขาจะเบื่อ เหมือนตัวเองไม่มีคุณค่า เขาชอบออกไปช่วยงานที่วัด ตอนที่ผมบอกพ่อว่าจะไปทำงานเป็นอาสาสมัครช่วยเก็บศพ พ่อก็บอกว่าดีแล้ว ไปช่วยคนอื่นบ้าง”

     เราถามเขาว่า การช่วยเหลือคนอื่นนั้น แท้ที่จริงแล้วก็คือความหมายของชีวิตของเราทุกคนใช่ไหม เขานิ่งเงียบไปสักพัก แล้วก็อธิบายกลับมา

     “ผมว่าจริงๆ คุณค่าของคนต้องค้นหากันเอาเอง คนแต่ละคนมีคุณค่าคนละอย่างกัน คนแต่ละคนเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะแต่ละคนก็มีจุดเด่นคนละอย่าง ถ้ามองมุมดีๆ ของเขาให้เจอ นั่นคือคุณค่าของคนคนนั้น”

 

โอม โปเตโต้

 

     อย่างที่เราทุกคนรู้กันดีว่าตอนนี้บนท้องถนนกรุงเทพฯ มีแต่เรื่องน่าทอดถอนใจ การจราจรที่ติดขัด คนขับรถที่ใจร้อนวู่วาม อุบัติเหตุที่เกิดจากการไม่เคารพกฎจราจร จนเราสงสัยว่าน้ำใจจากคนบนถนนนั้นยังมีเหลือให้กันอยู่บ้างไหม

     “ยังมีอยู่นะ” เขายืนยันหนักแน่นและเรียกความหวังเรากลับมา “อย่างตอนเกิดเหตุรถพลิกคว่ำ ก็มีคนมาจอดรถช่วยเหลือคนที่อยู่ข้างในรถ ช่วยพาคนขับหรือผู้โดยสารออกมา คนอื่นๆ ก็โทรศัพท์หาเจ้าหน้าที่ หน่วยกู้ภัย ตำรวจ โรงพยาบาลให้ นี่คือหนึ่งในเรื่องดีที่เกิดขึ้นบนถนน”

     คนกรุงเทพฯ ควรสร้างจิตสำนึกให้มีน้ำใจและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน หลักการไม่ยากจากคำแนะนำของโอม

     “ถ้าเราอยากได้อะไรก็ให้มอบสิ่งนั้นกับคนอื่น และเราไม่ชอบอะไรก็อย่าทำแบบนั้นกับใคร เราไม่ชอบให้ใครมาตวาดใส่ เราก็อย่าไปพูดเสียงดังใส่เขา เวลาขับรถเราไม่อยากให้เขามาปาดหน้ารถเรา เราก็อย่าไปปาดเขา ผมว่าแค่มองที่ตัวเองก่อนว่าไม่ชอบก็อย่าทำ ง่ายๆ แค่นี้เอง”

     หลังจากกล่าวคำอำลากันเล็กน้อย เขาก็ขอตัวกลับไปทำงานต่อ ซึ่งเราถามว่าแล้วคืนนี้เขาจะออกไปทำหน้าที่อาสาสมัครด้วยไหม ซึ่งเขาก็ยิ้มตอบกลับมาพร้อมกับเปิดประตูรถแล้วหยิบชุดฟอร์มของตัวเองให้ดูเหมือนจะบอกกับเราว่า “ผมพร้อมเสมอ”