รุ่งโรจน์ ไทยนิยม

ลงสนามคราวนี้แค่อยากจะเป็น ‘รุ่งโรจน์ ไทยนิยม’ คนเดิมที่ไม่ต้องแบกความคาดหวังของใคร

“จุดเริ่มต้นที่ผมได้เล่นกีฬาคือตอน ป.5 ตอนนั้นเราเริ่มเล่นโดยไม่คิดว่าต้องไปเป็นเลิศ หรือต้องไปแข่งขันอะไรกับใคร แค่เล่นเพื่อออกกำลังกาย พัฒนาร่างกาย และมีความสุขกับมัน แล้วมีแข่งกีฬาสีของโรงเรียน ผมก็ลงแข่งเหมือนคนปกติเลย สุดท้ายได้แชมป์กีฬาสีตอนนั้น”

        หลังจากเขาแพนกล้องให้ดูว่าเตรียมตัวพร้อมแล้วที่จะบินลัดฟ้าไปยังโตเกียว เมืองหลวงแห่งแดนปลาดิบ เพื่อลงสนามอีกครั้งหลังจากฝึกซ้อม และเก็บแรงก์มากว่า 5 ปี ‘รุ่ง’ – รุ่งโรจน์ ไทยนิยม ผู้คว้าเหรียญทองแรกให้กับกีฬาปิงปองพาราลิมปิกไทย ก็เริ่มเปิดปากเล่าย้อนไปยังอดีตของตัวเองทันทีโดยไม่ต้องรอสัญญาณเตรียมพร้อม 

        มีความเป็นมืออาชีพทั้งการแข่งกีฬา และการให้สัมถาษณ์จริงๆ – เรานึกแซวเขาอยู่ในใจ 

        เขาเล่าต่อว่าตัวเองพิการมาตั้งแต่กำเนิด เนื่องจากคุณแม่คลอดก่อนกำหนดตอน 6 เดือน ทำให้มีความผิดปกติทางร่างกายคือ แขนและขาลีบ 2 ข้าง จึงมีการรักษาตัว ผ่าตัดขา และทำกายภาพฟื้นฟูร่างกายก่อนจะออกโรงพยาบาล หลังจากนั้นเขาก็เรียนในโรงเรียนสหศึกษาทั่วไป ไม่ได้เข้าเรียนโรงเรียนพิเศษสำหรับผู้พิการ เพราะอยากจะเล่นกีฬาเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายให้ได้มากที่สุด

        ทำไมถึงมาติดใจกับกีฬาปิงปองได้ – เราถาม

        “ตอนนั้นมีกีฬาไม่กี่ชนิด ฟุตบอลก็เล่นกับเพื่อนก็ไม่ได้ จะกระโดดหนังยางกับเพื่อนผู้หญิงก็คงไม่สนุก เพราะกระโดดไม่ได้ เลยไปเจอโต๊ะปิงปองพอลองเล่นดู เฮ้ย สนุก มันไม่ขัดต่อความพิการของเรา อีกอย่างคือมีกลุ่มเพื่อนที่ยินดีจะเล่นด้วยกัน ทำให้เราสนุกกับกีฬาชนิดนี้” 

        และแล้วเส้นทางของวีรบุรุษเหรียญทองก็เริ่มขึ้น หลังจากเอาชนะเพื่อนในงานกีฬาสีโรงเรียน

รุ่งโรจน์ ไทยนิยม

ไม่ใช่วีรบุรุษทุกคนจะชนะตั้งแต่ลงสนามจริงครั้งแรก

        หลังจากเรียนจบระดับชั้นประถมศึกษา รุ่งโรจน์ได้สมัครเข้าโรงเรียนหอวังด้วยโควตานักกีฬาช้างเผือก เขาฝึกซ้อมกับเพื่อนที่ไม่ได้มีปัญหาทางร่างกายเรื่อยมา กระทั่งได้ทราบข่าวว่ามีการแข่งขันกีฬาคนพิการเขาจึงไม่ปล่อยโอกาสให้จากไป เข้าไปคัดเลือกเป็นนักกีฬาด้วยทันที 

        “หลังจากเอเชียนเกมส์ผมได้รู้ว่ามีกีฬาคนพิการด้วย ตอนนั้นเขาคัดเลือกไปแข่งที่ประเทศญี่ปุ่น เราก็ไปคัดเลือกกับรุ่นพี่ที่อายุค่อนข้างจะเยอะประมาณ 30 กว่า ซึ่งเราเป็นเด็กอายุ 14-15 ที่เอาชนะพี่เขาค่อนข้างขาดลอย ทำให้ทีมงานทั้งโค้ช ทั้งสตาฟฟ์ก็ดีใจที่ได้เด็กรุ่นใหม่มาเข้าทีม

        “แต่ไปแข่งครั้งแรกผมก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จเลยนะ เราแพ้ให้นักกีฬาที่เขาเล่นมานานแล้วในแต้มที่ไม่ได้ขาดลอยมาก เลยทำให้รู้ว่าเราสามารถพัฒนาไปกับกีฬาชนิดนี้ได้ พอกลับมาก็ลงฝึกซ้อมอย่างจังจัง หลังจากนั้นจึงติดทีมชาติครั้งแรกคืออาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 2 ปี 2546 แล้วได้เหรียญทองแรกมา จึงตั้งเป้าหมายต่อไปที่ระดับเอเชียคือการแข่งขันเฟสปิกเกมส์ หรือปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น เอเชียนพาราเกมส์ ตอนนั้นผมลงแข่งที่ประเทศมาเลเซีย ปี 2549 ก็ได้เหรียญทองกลับมาอีก เลยถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี เราจึงกลายเป็นดาวรุ่งที่พุ่งแรง” 

ถ้าเราจมปลักกับคำว่าไอ้เป๋ไอ้ง่อย เราก็จะเป็นไอ้เป๋ไอ้ง่อยอยู่อย่างนั้น

        นอกจากการคว้าเหรียญทองกลับมาให้ตัวเองและครอบครัวได้ชื่นใจแล้ว อีกสิ่งสำคัญที่รุ่งโรจน์เอาชนะได้คือคำดูถูกดูแคลนที่ใครหลายคนพูดใส่หน้าเขา ดังนั้นการคว้าเหรียญกลับมาครั้งนี้ถือเป็นการตอกหน้าคนเหล่านั้น ทั้งยังเปลี่ยนทัศนคติเด็กในวัยนั้นหลายคนได้ว่า แท้จริงแล้วคนพิการไม่ได้ด้อยไปกว่าใครเลย

        “ในวันนั้นผมได้เหรียญทอง ผมไปยืนหน้าเสาธง เขาก็ประกาศว่าผมไปแข่งกีฬามาได้เหรียญรางวัล ทำชื่อเสียงให้กับโรงเรียน ให้กับประเทศ จากนั้นเด็กในโรงเรียนหลายคนก็เปลี่ยนจากเรียกไอ้เป๋ ไอ้ง่อย เป็น ดูสิพี่คนนี้ตีปิงปองเก่ง ผมว่าผมก็ประสบความสำเร็จในจุดนี้นะ

        “เพราะถ้าเราจมปลักอยู่กับคำว่าไอ้เป๋ ไอ้ง่อย เราก็จะเป็นไอ้เป๋ ไอ้ง่อยอยู่อย่างนั้น” (ยิ้ม)

รุ่งโรจน์ ไทยนิยม

บางทีวีรบุรุษก็หลงทางเป็นเหมือนกัน

        ไม่มีใครไม่เคยหลงทาง โดยเฉพาะกับช่วงที่เราคิดว่าชีวิตพุ่งอย่างพีกสุดๆ แล้ว นั่นจึงเป็นจุดที่อันตรายมากเช่นกัน เพราะยิ่งบินให้สูงเท่าไหร่ เวลาตกลงมาก็ยิ่งเจ็บเท่านั้นหากไม่ระวังตัว 

        “พาราลิมปิกเกมส์ครั้งแรกของผมคือปี 2551 ที่ประเทศจีน ตอนนั้นเป็นมือวางอันดับที่ 13 ของโลก ผมเพิ่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัยปี 1 อยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย ผมก็ซ้อมไปเรียนไป แต่ด้วยความที่เรายังเป็นวัยรุ่น ยังคิดไม่รอบคอบ เลยดรอปเรื่องการเรียนไว้ แล้วมาฝึกซ้อมอย่างเดียวเลย

        “สุดท้ายพอถึงวันแข่ง ผมตกรอบแรกเลย กลับมาก็มีคำถามกับตัวเอง อะไรวะ ทำไมชีวิตเราเป็นแบบนี้ ตั้งใจที่จะเล่นกีฬาตั้งใจที่จะเอาจริงเอาจังกับกีฬาแต่ก็กลับล้มเหลว กลับมาเรียนก็ไม่ได้เรียนเพราะดรอปไว้ ตอนนั้นเลยหันเล่นเกมออนไลน์ กลายเป็นคนติดเกมไปเลย

        ผมหนีปิงปองไปพักใหญ่ เพราะกลัวกลับไปที่โรงยิมแล้วเขาจะเรียกผมว่า ‘ไอ้ขี้แพ้’ จนผมเข้าอินเทอร์เน็ตไปเจอกับพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงตรัสว่า ‘หากล้มแล้วจงอย่ากลัวกับการลุกขึ้นใหม่’ เลยตัดสินใจกลับไปที่โรงยิม จากตอนแรกที่กลัวว่าจะโดนตราหน้าว่า ‘ไอ้ขี้แพ้มาแล้ว’ แต่ความเป็นจริงนั้นตรงกันข้ามเลย พี่ๆ น้องๆ ที่โรงยิมบอกว่า ‘อ้าว! พี่รุ่งมาแล้ว ไปตีปิงปองกับพี่รุ่งกัน’ (ยิ้ม)”

        ในตอนนั้นเองที่รุ่งโรจน์เข้าใจว่า ความกลัวที่เกิดขึ้นในใจเป็นสิ่งที่เขาสร้างขึ้นเอง และกลัวไปคนเดียวมาโดยตลอด หลังจากปลดล็อกความกลัวนั้นได้ เขาจึงกลับมาวางแผนการแข่งขันใหม่อีกครั้ง ไม่ใช่แค่แผนด้านกีฬา และยังรุ่งด้านการเรียนด้วย

        “ผมก็วางแผนใน 4 ปีต่อไปว่าจะไม่ตกรอบแรก เงื่อนไขของการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ที่ลอนดอนปี 2555 คือ ถ้าเกิดคุณติดหนึ่งในสี่ของโลก คุณไม่ต้องแข่งรอบคัดเลือก แต่เข้าสู่รอบแปดคนสุดท้ายหรือควอเตอร์ไฟนอลได้เลย ดังนั้นตลอด 3 ปีก่อนการแข่งกันผมเก็บคะแนนมาตลอดจนติดมือวางอันดับ 5 ของโลก ซึ่งแมตช์สุดท้ายก่อนแข่งพาราลิมปิกเกมส์ที่ลอนดอน คือ อาร์เจนตินา ผมก็ได้มาสองเหรียญทองในการแข่งขันครั้งนั้น ทำให้อันดับผมขึ้นไปอยู่ที่ 4 ของโลก โอเค เป้าหมายแรกติดหนึ่งในแปดแล้ว”

วันแห่งวีรบุรุษมาเยือน

        หลังจากติดรอบ 8 คนสุดท้าย รุ่งโรจน์เอาชนะคู่แข่งมาจนถึงรอบรองชนะเลิศรอบ 4 คนสุดท้าย รอบนั้นเขาเจอกับนักแข่งจากประเทศเดนมาร์ก โดยที่ไม่รู้เลยว่าคู่แข่งที่ประจันหน้าอยู่ในตอนนั้นเคยเป็นแชมป์โลกมาก่อน สุดท้ายเขาเอาชนะอดีตแชมป์คนนี้ได้แบบสูสี 3-2 เซต 

        “แข่งเสร็จออกมา นักข่าวก็มาสัมภาษณ์ว่ารู้สึกอย่างไรบ้างที่ชนะแชมป์โลกเก่าได้ ผมเพิ่งรู้ตอนนั้นแหละว่าเขาเป็นแชมป์โลก ก็โอเค แฮปปี้ไป พอรอบชิงชนะเลิศเจอกับประเทศสเปนซึ่งเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่ตอนนั้นเหมือนเราปลดล็อกไปแล้ว คลายความเครียด ความกดดันไปแล้ว สมมติเราแพ้เราก็ได้เหรียญเงิน ชนะเราก็ได้เหรียญทอง ท้ายที่สุดผมชนะสเปนได้ 3-0 เซตเลย แล้วผมก็วิ่งลงไปก้มกราบโค้ช” (ยืดอกภูมิใจ)

        กลายเป็นว่าที่ผ่านมา สิ่งที่อยากที่สุดไม่ใช่การเอาชนะคู่แข่ง – เราถาม

        “ผมพูดกับตัวเองเสมอว่า ‘ก่อนบอกว่าทำไม่ได้ หรือก่อนจะไปขอความช่วยเหลือจากใคร ให้ลองลงมือทำเองเสียก่อน’ ผมมองว่านักกีฬาคนพิการทุกคนต้องเอาชนะร่างกายตัวเองก่อน ถ้าเกิดคุณยังไม่เอาชนะร่างกายตัวเอง คุณไปแข่งกับคู่ต่อสู้ไม่ได้หรอก ทุกคนต้องมีหัวใจที่แกร่ง กล้าที่จะลุกออกไปสู่สังคม

รุ่งโรจน์ ไทยนิยม

        “ตอนนั้นผมภูมิใจแล้วนะที่ได้เหรียญทอง แต่อีกอย่างหนึ่งที่ผมภูมิใจที่สุดคือ มีรถแห่จากสุวรรณภูมิไปเข้าทำเนียบ ประชาชนทั่วไปเขาเห็นเขาก็ตะโกนกันว่า ‘เฮ้ย! นักกีฬาคนพิการนี่ เขาได้เหรียญทองมานะ เขาไปแข่งขันจากต่างประเทศได้เหรียญทองมา’ ทำให้ตอนนั้นคนพิการมีพื้นที่ยืนในสังคมมากขึ้น คนไทยให้การยอมรับคนพิการมากขึ้น ไม่ใช่ว่าคนพิการจะเป็นภาระต่อสังคม คนพิการก็สามารถทำชื่อเสียงให้กับประเทศชาติได้ หลังจากนั้นก็มีพี่น้องคนพิการจำนวนมาก ที่กล้าออกจากบ้าน ออกมาสู่สังคม”

        เราสัมผัสได้ถึงหัวใจที่ฟูฟ่องขึ้นมาจากคุณพ่อมือใหม่คนนี้ คงไม่มีใครคิด แม้กระทั่งตัวเขาเองก็คงไม่ได้ว่าจากวันที่แค่อยากจะเล่นกีฬาเพื่อพัฒนาร่างกายจะมาไกลถึงอันดับหนึ่งของโลก แล้วยังมีส่วนสร้างแรงกระเพื่อมที่ทำให้สังคมต้องเปลี่ยนเลนส์ในการมองผู้พิการใหม่ โดยไร้อคติที่ว่าเป็นภาระของสังคม 

แต่การเป็นแชมป์ว่ายากแล้ว การรักษาแชมป์นั้นยากกว่า

        เป็นเรื่องธรรมดา หากเราสร้างมาตรฐานใดๆ ให้กับตัวเอง ครั้งต่อไปจะไม่ได้มีแค่เราที่คาดหวัง แต่มีอีกหลายสายตาที่จดจ้อง คาดหวัง และกดดันต่อตัวเราอย่างมากมายมหาศาล นั่นจึงเป็นเหตุให้แชมป์กลายเป็นอดีตแชมป์

        “อีก 4 ปีต่อมาที่ริโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ปี 2559 ผมมีความเครียด ความกดดันค่อนข้างจะมาก เพราะว่าเราอยู่เบอร์หนึ่งที่เคยได้เหรียญทองมาแล้ว ก็มีความคาดหวังว่าเราต้องได้มาอีก เหมือนแบกอะไรไว้เยอะมาก ตอนรอบรองชนะเลิศปีนั้น ผมเจอกับประเทศสเปนอีกครั้ง ตอนนั้นตีด้วยความเครียดร่วมกับสไตล์การเล่นเขาแกร่ง เราก็เลยพลาดแต้มง่ายๆ ทำให้ท้ายที่สุดก็แพ้ในรอบรอง แต่ก็คว้าเหรียญทองแดงมาได้ ดังนั้น การไปแข่งพาราลิมปิกทั้ง 3 ครั้งของผมสถานะต่างกันโดยสิ้นเชิง

        “ไปครั้งแรกเรายังโนเนม ครั้งที่ 2 เราได้แชมป์ ส่วนครั้งที่ 3 เรารับแรงกดดันมาเยอะมาก พอมาถึงการแข่งขันครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 4 ผมบอกกับทุกคนเลยว่า ‘ผมขอเป็นรุ่งโรจน์คนเดิมที่ไม่มีอะไร’ ผมขอแค่ได้เหรียญใดเหรียญหนึ่งก็พอแล้ว อย่ามาคาดหวังว่าผมต้องได้เหรียญทอง ดังนั้น ไปแข่งครั้งนี้ผมจะทิ้งทุกอย่าง เพื่อที่จะทำให้ตัวเองรู้สึกผ่อนคลายขึ้น แล้วก็เล่นได้เต็มที่อย่างอิสระครับ”

        มีการแข่งขันครั้งไหนที่เป็นรอบประทับใจที่สุดไหม หากไม่นับว่าเราได้เหรียญมา เราถามออกไปตรงๆ

        “ผมก็สนุกกับทุกแมตช์นะ เพราะว่าทุกครั้งที่แข่งขันเราอาจจะเป็นคู่แข่งกันในเกมส์ แต่นอกเกมส์เราเป็นเพื่อนกัน ทุกคนต่างสนุกสนาน แต่ถามว่าแมตช์ประทับใจ คือตอนที่ผมไปแข่งขันที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งตรงกับวันเกิดผมพอดี เจ้าภาพก็ปิดไฟโรงยิม แล้วเป่าเค้กให้ กับที่ออสเตรเลียก็เป็นแมตช์ที่ผมมองว่าเขาใส่ใจนักกีฬามากว่า วันนี้เป็นวันเกิดนักกีฬานะ เขาก็มาเซอร์ไพรซ์ เป่าเค้กให้กับนักกีฬาหลายประเทศเหมือนกัน รู้สึกแฮปปี้มากครับ”

รุ่งโรจน์ ไทยนิยม

คงไม่มีวันนี้ หากไม่มีครอบครัวที่สนับสนุน 

        นอกจากความทุ่มเทให้กับการพัฒนาความสามารถด้วยตัวเองแล้ว อีกแรงสนับสนุนหนึ่งที่ทำให้เขาสามารถเป็น รุ่งโรจน์ ไทยนิยม ในวันนี้ได้นั่นคือ ‘ครอบครัว’ แบ็กอัพที่ไม่เคยห่างกายไปไหน 

        “คุณพ่อคุณแม่ผมทำงานทั้งคู่ ในวันธรรมดาเราเลยไม่ค่อยมีเวลาให้กัน กลับมาต่างคนก็ต่างหลับ แต่ทุกวันอาทิตย์เราจะมีกิจกรรมร่วมกันค่อนข้างเยอะ ไปบ้านคุณย่าบ้างผมเลยซึมซับมาว่าครอบครัวเราต้องรักกันและต้องมีความอบอุ่น แล้วครอบครัวผมเลี้ยงมาโดยที่ไม่กดดันผมว่าผมต้องเป็นนู่นเป็นนี่เป็นนั่น แค่สอนผมว่ารักดีได้ดี รักชั่วได้ชั่ว แล้วผมมีพี่ชายหนึ่งคนแต่ครอบครัวไม่เคยเปรียบเทียบเราสองคนเลย ตอนผมมีซ้อมแข่งปิงปองคุณพ่อก็เป็นคนฝากให้นักกีฬาที่สโมสรตำรวจช่วยฝึกให้ เพราะคุณพ่อทำงานอยู่ที่นั่น ทุกวันนี้ก็ยังคุยกันทุกคืนทางโทรศัพท์”

        ดังนั้น ในฐานะคุณพ่อที่ตอนนี้เพิ่งมีลูกน้อย อยากฝากอะไรถึงลูกชายคนนี้ในอนาคตไหม

        “ผมก็จะคอยดูอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ แต่ผลักดันเขาในทุกๆ เรื่องที่อยากจะเป็นดีกว่า ให้เขาเป็นคนตัดสินใจเองถ้าเรามองว่าเขาตัดสินใจไปแล้ว ถึงช่วงเวลาหนึ่งไม่โอเคเราค่อยประคับประคองเขากลับมาอยู่ในกรอบของเรา แต่ให้เขาได้มีสิทธิ์เลือกในเส้นทางเดินของเขาเอง เราจะเป็นคนคอยซัพพอร์ตเขาอยู่ด้านหลังเหมือนที่คุณพ่อคุณแม่คอยสนับสนุนผม” 

        เราอมยิ้มขึ้นมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นของคนเป็นพ่อ เราเชื่อว่าการลงสนามครั้งนี้เขาอาจไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง หรือประเทศ แต่สิ่งที่ต้องการมากที่สุดอาจเป็นสายตาที่ลูกมองเขาด้วยความภาคภูมิใจ

รุ่งโรจน์ ไทยนิยม


ภาพ: รุ่งโรจน์ ไทยนิยม