ละครคือความบันเทิงรูปแบบหนึ่งที่สะท้อนชีวิต สังคม และผู้คนตามยุคสมัย แม้ว่าละครเรื่องนั้นจะเป็นละครย้อนยุค หรือละครแฟนตาซีแห่งโลกอนาคตก็ตาม แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้การนำเสนอเนื้อเรื่องนั้นๆ คือแนวคิดและการตีความของทีมงานผู้สร้างสรรค์ละครเรื่องนั้นด้วยกันทั้งสิ้น
เช่นเดียวกับสมัยนี้ เมื่อผู้คนต่างเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น สังคมที่มีละครไว้เพื่อคลายความเครียด เพิ่มความบันเทิงเพียงอย่างเดียวแต่ไม่สร้างคุณค่าที่ดีงามในกับสังคมนั้นย่อมถูกตีตกจากผู้ชมเป็นธรรมดา โดยเฉพาะละครที่ลดทอนคุณค่าของผู้หญิง อย่างแนวตบจูบแย่งผัวชิงเมียที่เริ่มจะไม่มีที่ยืนแล้ว แต่ในขณะเดียวกันละครที่สะท้อนแนวคิดบางอย่างซึ่งทำให้ผู้หญิงลุกขึ้นมาสู้เพื่อคุณค่า และศักดิ์ศรีของตัวเองได้มักจะเป็นที่พูดถึงอยู่เสมอ
หลายเรื่องเหล่านั้นก็เป็นผลงานของผู้กำกับมากฝีมืออย่าง สันต์ ศรีแก้วหล่อ ชายผู้กำกับละครที่มีตัวละครหลักที่ทำหน้าที่ในการดำเนินเรื่องส่วนใหญ่ต่างเป็น ‘ผู้หญิง’ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ล่า, พิษสวาท, เมีย 2018, กลิ่นกาสะลอง และล่าสุดที่ใกล้จะถึงบทสรุปคือ ‘วันทอง 2021’
มากกว่านั้นคือ สันต์ รวมถึงทีมเขียนบท ก็ได้ทำให้ตัวละครหญิงที่ตัวเองกำกับเป็นผู้หญิงที่แข็งแกร่งทางความคิด และมุมมอง กลายเป็นผู้หญิงยุคใหม่ที่สร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้หญิงหลายคนที่ได้รับชมละครเรื่องนั้นๆ ทั้งยังอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมต้องมองความเป็นหญิงในยุคนี้เปลี่ยนไปด้วยอีกเช่นกัน
ปัจจุบันที่สังคมขับเคลื่อนด้วยการถกเถียงพูดคุย โดยเฉพาะเรื่องของ ‘ผู้หญิง’ ที่ตอนนี้เวลาจะสื่อสารอะไรออกไป จะต้องตกตะกอนให้ดีก่อนเสมอ แล้วในฐานะผู้กำกับนั้นประเด็นนี้มีผลอย่างไรกับการทำละครบ้าง
ที่มีผลแน่นอนคือในแง่การเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับผู้หญิง เพราะต้องระวังในหลายๆ เรื่อง ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือสิทธิสตรี ถ้าให้ยกตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ยุคนี้เราไม่สามารถทำละครที่พระเอกสามารถปล้ำนางเอกได้แล้ว นางเอกไม่สามารถมีความรักจากการถูกปล้ำได้ นี่คือจุดหนึ่งที่ชัดเจนที่สุด แต่ก็ยังมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวกันอีก เช่น รสนิยมคนดู ความเชื่อคนดู ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย อีกอย่างคือคนทำละครก็ไม่ได้อยากทำแบบนั้นแล้ว ถึงขั้นบางทีก็มาถามกันเองว่า “ทำไมกูต้องทนวะ กูจะทนทำไม หงุดหงิด” พอเป็นอย่างนี้เราก็ต้องเปลี่ยน
ในยุคนี้คนดูไม่ชอบดูนางเอกที่แสนดี อดทน กล้ำกลืนน้ำตา “ฉันจะยอมเป็นคนดีเพื่อให้เห็นว่าสุดท้ายเธอจะต้องเห็นความดีของฉัน” สังคมไม่ต้องการนางเอกแบบนี้แล้ว แต่สังคมต้องการผู้หญิงที่ลุกขึ้นสู้ เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิง ความชัดเจนที่สุดเลยคือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหนก็แล้วแต่ ถ้าผู้หญิงลุกขึ้นสู้เรื่องนั้นคนดูจะชื่นชอบเสมอ ผมยกตัวอย่างชัดเจนสุดที่เคยทำ คือ เมีย 2018 เมื่อวันที่อรุณาตัดสินใจไม่อยู่กับสามีแล้ว พอเธอตัดผมปั๊บ ตอนนั้นเรตติ้งพุ่งพรวด แล้วทุกคนก็เชียร์ให้ไปหาบอสวศินตลอด
ถ้าอย่างนั้นความยากง่ายในการทำละครในแบบสมัยใหม่แตกต่างกันกับเมื่อก่อนไหม
ในแง่ของการทำงาน และการเล่าเรื่อง ผมว่าคล้ายๆ กันทั้งยุคก่อนและยุคนี้ คือการจับประเด็นให้ชัดเจนว่าเราต้องเล่าอะไร และไม่เล่าอะไร ดังนั้น ผมคิดว่าเรื่องนี้มันไม่ได้เป็นเรื่องของความยากง่าย เพียงแต่เลือกประเด็นให้ชัดเจน อย่างสมัยก่อนสมมติเราดูเรื่องละครเรื่อง จำเลยรัก เราก็จะรู้ว่าพระเอกจะต้องพานางเอกไปทรมาน แกล้งสารพัด สุดท้ายก็รักกัน เราก็จะรู้ว่าประเด็นของละครแนวนี้คือการขยี้ความเป็นละครตบจูบของพระเอกกับนางเอกในยุคนั้น แต่สมัยนี้ประเด็นเป็นอีกอย่างคือนางเอกต้องสู้ ต้องไม่ยอม พอเราจับประเด็นให้ถูกต้องแล้ว เราก็เล่าไปตามประเด็นนี้ เพราะฉะนั้น อย่างที่บอกการทำงานไม่ได้ยากหรือง่ายขึ้น เพียงแต่ว่าเปลี่ยนโฟกัสไปที่อีกประเด็นหนึ่งมากกว่า
ละครหลายๆ เรื่องที่คุณกำกับส่วนใหญ่ตัวละครที่เป็นทำหน้าที่ดำเนินเรื่องมักจะเป็นผู้หญิง ในฐานะผู้ชาย ยากไหมที่ต้องทำละครชูความเป็นหญิง
ผมว่าสงสัยว่าจะเป็นความถนัด และความคุ้นชินไปแล้ว เพราะได้ทำละครที่เล่าจากมุมมองของผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ ใน 20 ปีนี้ผมทำละครเกือบ 30 เรื่อง มีน้อยมากที่จะเล่าเรื่องในมุมมองของผู้ชาย แล้วพอผมไปเล่าละครในมุมมองชองผู้ชายก็เหมือนว่าไปไม่ถึง อาจจะเป็นเพราะสนิทกับแม่ก็ได้ แล้วก็ไม่ได้เป็นคนเกเรแบบเพื่อนผู้ชายทั่วๆ ไป ผมดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ได้ โดดเรียนไปเที่ยวอะไรได้หมด แต่ผมตีสนุ้กไม่เป็น (หัวเราะ) แล้วก็ไม่ทำกิจกรรมแบบแนวผู้ชายๆ มากนัก
ถ้าให้พูดว่าคุณเป็นผู้ชายที่เข้าใจผู้หญิงมากเลยได้ไหม
ไม่ได้ถึงกับเข้าใจนะ เพียงแต่ว่ารสนิยมผมอาจจะทำอะไรในแบบที่ผู้หญิงชอบ หรืออาจจะตีความของผู้ชายในแบบที่ผู้หญิงชอบพอดี ซึ่งได้จากการรับรู้มาตั้งแต่เด็กของเรารึเปล่า เรื่องนี้ผมก็ไม่มั่นใจ
ทำไมถึงเลือกหยิบวรรณคดี ขุนช้างขุนแผน มาทำเป็นละครเรื่อง ‘วันทอง 2021’
มีหลายปัจจัยร่วมกัน บริษัทอยากนำวรรณคดีมาทำ โดยเฉพาะเรื่องนี้เพราะบริษัทรู้สึกว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นโปรเจกต์ที่ดี แต่ส่วนตัวผมจริงๆ อยากลองทำละครจักรๆ วงศ์ๆ เพราะเราทำละครมาประมาณหนึ่งแล้ว ตัวเราเองก็ต้องหาความท้าทายใหม่ๆ ให้ตัวเองบ้าง ผมคิดมาสามสี่ปีแล้วว่าอยากทำจักรๆ วงศ์ๆ คือผมอยากทำเป็นแบบลิเกฝรั่ง เหมือนสมมติเราดูหนังฝรั่งพวก โรบินฮู้ด หรือหนังแฟนตาซีของฝรั่งที่ถือดาบเหาะบินกันไปมา หรือเหมือนเราดูหนังจีนพวก หมู่บ้านมีดบิน สามก๊ก หรือ Hero (2002) ที่เป็นหนังจีนกำลังภายใน เราดูแล้วเราเชื่อ ผมก็ขอพี่ป้อน (นิพนธ์ ผิวเณร) ว่าอยากทำละครแนวนี้สักเรื่องหนึ่งซึ่งตอนนั้นไม่ใช่เรื่องของวันทอง เพราะยังไม่ได้นึกถึง แต่ก็ยังหาจุดที่ลงตัวกันไม่ได้จนบริษัทก็มาบอกว่าจะทำเรื่อง วันทอง แล้วทีมเขียนบทก็สนใจเหมือนกัน ที่อยากเล่าเรื่องวันทอง ผมก็โอเค เมื่อทุกอย่างก็ตอบโจทย์สามารถจะเป็นลิเกฝรั่งได้ มีดราม่า มีแฟนตาซี มีประเด็นทางสังคมให้พูดถึง
มีความกดดันไหม เพราะวันทองก็เป็นเรื่องที่ฝังหัวคนไทยไปแล้วว่าเป็นผู้หญิงที่ไม่ดี
สิ่งที่ต้องทำการบ้านเยอะที่สุดสำหรับวันทองคือ เราจะนำวรรณคดีที่คนค่อนประเทศรู้จักมาเล่าอย่างไรให้คนสมัยนี้ดูได้ นี่คือโจทย์ เพราะฉะนั้น หลักๆ เลย แม้ว่าสถานที่จะต้องโบราณ เสื้อผ้าย้อนยุค ภาษาย้อนยุค แต่ผมให้อินเนอร์ของตัวละครเป็นคนในปัจจุบัน ดังนั้น อินเนอร์ของนักแสดงเวลาคุยกันจะมีความปัจจุบันมากกว่า เพราะฉะนั้นขนบบางอย่างที่เหมือนละครย้อนยุคบ้านเรา ที่จะมีความเนือยๆ เนิบช้า ผมก็จะรวบรับตัดตอนไปไม่ให้ละเอียดละออมาก
เคยมีนักวิชาการบอกว่าความจริงแล้ว ‘นางวันทอง’ ก็ไม่ใช่ผู้หญิงที่จัดว่าเป็นนางในวรรณคดี เพราะเขามีความแสบในตัวเองอยู่มากเหมือนกัน ไม่เหมือนกับผู้หญิงตามขนบธรรมเนียมคนอื่นๆ
ผมคิดเอาเองนะ ว่าเรื่องนี้เป็นวรรณดีที่แต่งขึ้นเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้วก็ย้อนไปเล่าเรื่องในอยุธยา ซึ่งผู้ชายในสังคมยุคนั้นเป็นคนเล่า เขาจึงเล่าวันทองออกมาแบบนั้น ผมเชื่อว่าเจตจำนงของการเขียน เขาไม่ได้เขียนเพื่อที่จะยกย่องวันทอง เขาเขียนเพื่อที่จะให้ดูว่าผู้ชายสองคนจะมาฆ่ากันให้ตายเพียงเพราะผู้หญิงแบบนี้ทำไม เพราะว่าในสังคมสมัยนั้นเชื่อว่าผู้ชายมีหลายเมียมันไม่ได้ผิดอยู่แล้ว แต่ผู้หญิงที่แต่งงานกับเขาแล้ว แปลว่าผู้หญิงคนนั้นเป็นของเขาและจะเป็นทาสเขาจนวันตาย การที่วันทองสับไปสับมาไม่ว่าจะด้วยเหตุอะไรพาไป แต่ท้ายที่สุดเธอเลือกไม่ได้ว่าจะอยู่กับใคร ก็แปลว่าเธอไม่ถูก ซึ่งแนวคิดนี้ผมอนุมานเอาเองนะว่าสมัยนั้นเขาคงคิดอย่างนั้นเลยสร้างอย่างนั้นขึ้นมาแบบนั้น
แต่พอเราเอามาตีความหรือให้นักศึกษาสายอักษรศาสตร์ตีความ ก็จะตีความว่าความจริงนางวันทองไม่ได้เลวเลยนะ เพราะวันทองถูกกระทำ ขุนแผนต่างหากที่เลว ขุนช้างต่างหากที่ทำ คำถามของผมคือแล้วทำไมตั้งแต่เกิดมาถึงไม่มีใครพูดว่าวันทองดีเลย เรารับรู้เรื่องนี้มาตลอดว่าวันทองคือคำด่าผู้หญิง แปลว่าต้นกำเนิดที่เขาสร้างขึ้นมานั้นเพราะเขาพิจารณาไปอีกด้านหนึ่ง เขาไม่ได้ตั้งใจจะให้ความสำคัญที่นางวันทองในความรู้สึกของผม เพราะถ้าในความตั้งใจของบทประพันธ์ หรือในความตั้งใจของนักประพันธ์เพื่อจะยกย่องให้วันทองเป็นคนดี ถ้าอย่างนั้นในสองร้อยปีที่ผ่านมาต้องมีสักครอบครัวที่ตั้งชื่อลูกสาวว่าวันทอง
เมื่อเรานำกลับมาตีความใหม่ ท้ายที่สุดเราเลือกประเด็นชัดเจนที่สุดก็คือ ‘วันทองเป็นผู้หญิงที่เกิดผิดยุค’ เราก็เลยนำมาเล่าในมุมนี้ ฉันรักพี่แก้วแล้วฉันก็หวังจะอยู่กับพี่แก้วตลอดเวลา แต่พี่แก้วอยู่ดีๆ พาเมียใหม่มาได้อย่างไร ฉันยังอยู่กับพี่คนเดียวได้แล้วทำไมพี่อยู่กับฉันคนเดียวไม่ได้ ฉันไม่ยอมฉันจะสู้ พอเริ่มสู้ก็เลยเกิดเรื่องราวต่างๆ ตามมาจนสุดท้ายคำถามคือ “วันทองผิดอะไร” ถ้าเราคิดตามตรรกะของคนสมัยนี้ผมก็รู้สึกว่าจุดนี้ก็น่าจะโดนใจ ทำให้เกิดการถกเถียงกันได้ แล้วก็มาลองดูกันว่าวันทองเวอร์ชันนี้จะเป็นอย่างไร
กระแสของละครเรื่องนี้ก็ทำให้วงการวิชาการที่ไม่เคยพูดอะไรถึงนางวันทองมาก่อน แต่ตอนนี้มีทั้งวงเสวนา นำบทความมาถกเถียงกันใหม่ ตีความกันสนุกสนานมาก
เรื่องนี้ ทีมเขียนบท (พิมพ์มาดา พัฒนอลงกรณ์, พิมสิรินทร์ พงษ์วานิชสุข และ จุติมา แย้มศิริ) ก็ดีใจกันนะ เหมือนของเก่าของโบราณที่ไม่เคยมีคนสนใจ พอวันดีคืนดีมีไฟส่อง คนก็หันไปดู แค่นี้ก็เป็นความพึงพอใจของคนทำแล้ว ทีมเขียนบทเขายกตัวอย่างว่าเหมือนพระปรางวัดอรุณ แต่ก่อนก็ตั้งสวยๆ งามๆ คนก็เข้าไปถ่ายรูปนิดๆ หน่อยๆ แต่พอเมื่อนำไฟสีเขียวไปส่อง แต่สุดท้ายทุกคนก็แห่ไปถ่ายรูปที่วัดอรุณกัน ผมว่านี้ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน
แม้จะมีคนพูดกันว่า เบื่อละครตบตีแย่งผัวชิงเมียก็ตาม แต่สุดท้ายละครแนวนี้ก็ยังมีเรตติ้งดีกว่าเมื่อเทียบกับละครน้ำดีหลายเรื่องที่เรตติ้งไม่ขึ้นตาม ในมุมของผู้กำกับละครคุณมีความคิดเห็นอย่างไร
ผมมองว่าเป็นความหลากหลายของวงการ เพราะคนในประเทศก็มีหลายล้านคนย่อมมีความต้องการที่หลากหลายรูปแบบ และเงื่อนไขบางอย่างที่แตกต่างกัน ถ้าสังเกตดูละครเย็นก่อนข่าวตอนนี้เรตติ้งสูงมากแทบทุกเรื่องเลย แต่ละครหลังข่าวกว่าเรตติ้งจะขึ้นมาได้สักหนุ่งจุดนี่ยากมากๆ
ยกตัวอย่างละครของช่อง One31 เรื่อง ดงพญาเย็น เรตติ้งห้าถึงหกทุกวัน ส่วน วันทอง กว่าจะขึ้นมาถึงสามน้ำตาแทบไหล (หัวเราะ) อาจเพราะละครหลังข่าวจบดึกไปสำหรับคนตอนนี้ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตรึเปล่า หลายคนอาจต้องตื่นเช้าขึ้น หรือมีช่องทางการดูย้อนหลังมากขึ้นรึเปล่า ละครตอนเย็นเลยน่าจะเป็นเวลาเหมาะเจาะกับคนทุกบ้านจะเปิดทิ้งไว้ตอนกินข้าว หรือทำงานบ้านก็ได้ หรืออาจเพราะกลุ่มคนดูละครเย็น กับละครหลังข่าวเป็นคนละกลุ่มกันก็ได้
แต่ส่วนตัวผมในฐานะคนทำงานก็ต้องหาส่วนผสมที่ลงตัวที่สุดให้ได้ ตอนนี้ใช่ว่าละครตบตีจะได้ดีทุกเรื่อง เราต้องชวนอย่างไรให้คนมาดู แต่พอดูแล้วเราจะหลอกล่อให้คนดูไปจนจบ และซาบซึ้งกินใจไปกับประเด็นที่เรานำเสนอได้อย่างไร ผมว่ามันเป็นหน้าที่ของคนทำงานที่จะต้องทำสิ่งนี้ให้ได้
เวลาเจอดราม่าที่เกี่ยวกับละครที่คุณทำ คุณรับมือกับกระแสนั้นด้วยวิธีไหน
ผมก็ไม่อ่านโซเชียลฯ ไม่เข้าสักระยะหนึ่ง เช่น ทวิตเตอร์ หรือบางเว็บอย่างพันทิป ผมจะไม่เข้าเลยเพราะโดยส่วนตัวผมคิดเอาเองว่าถ้าเข้าไปอ่านในระหว่างที่กำลังทำละครอยู่ สมมติเป็นละครที่ทำไปออนแอร์ไปแล้วเรามานั่งอ่านความคิดเห็นของคนในนั้นไปด้วย ความคิดของเราจะเพี้ยนกระจายเพราะเราจะกังวลไปกับสิ่งเหล่านั้น ดังนั้น ถ้าเรามั่นใจว่าสิ่งที่เราทำไม่ได้ไปสร้างความเดือดร้อนให้ใคร หรือถ้าพลาดไปแล้วก็ยอมรับความผิดพลาดแล้วนำมาเป็นบทเรียนเท่านั้นเอง แต่ถ้ารับไม่ได้กับคำด่าก็ออกมาก่อน อย่างตอน เมีย 2018 ก่อนที่อรุณาจะสู้ก็โดนด่ายับ คนดูด่ากระจัดกระจายจนไม่ไหวจะอ่าน ต้องเลิกอ่านแล้วก็บอกตัวเองว่า “ช่างแม่ง” ความคิดเห็นไหนที่อ่านแล้วมีแต่อารมณ์ที่อินจากการดูละคร ไม่มีเหตุผลเลย แล้วก็ทำในสิ่งที่เราเชื่อว่าดีแล้วต่อไป
คุณบอกว่าถ้าทำละครไปออนแอร์ไปด้วย แล้วถ้าเข้าไปอ่านความคิดเห็นผู้ชมทำให้ความคิดไขว้เขว เราสงสัยว่าเวลาที่ทำละคร ต้องการให้คนเข้าใจในสิ่งที่ทีมงานตีความ หรือทำละครให้คนดูเอาไปตีความเอง
ในฐานะคนทำงานเราต้องสื่อสารอะไรสักหนึ่งอย่างออกมาอยู่แล้ว เราต้องมีอะไรที่เราอยากจะพูด เพราะฉะนั้น ความคาดหวังก็คือ เราหวังในใจว่าคุณจะได้รับสิ่งนี้ไปจากเราบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งถ้าทำได้ก็คือเราประสบความสำเร็จ แต่เราห้ามคนดูไม่ได้หรอกเวลาเขาดู เขาอาจจะคิด หรือตีความไปอีกแบบ ซึ่งนั่นเป็นสิทธิ์ของคนดูอยู่แล้ว แต่ดีแล้วที่เขาดูผลงานของเรา เราก็ขอบคุณที่เขาดู
ในฐานะคนทำสื่อ คนก็คาดหวังว่าสื่อต้องรับผิดชอบต่อสังคม สำหรับคุณที่เป็นผู้กำกับคิดว่าต้องรับผิดชอบแค่ไหน
แน่นอนว่าเราต้องไม่ทำอาหารขยะให้คนดูแน่ๆ ผมว่าเรื่องนี้เป็นพื้นฐานของคนทำงานอยู่แล้ว อย่างน้อยที่สุดไม่ว่าจะละครที่ต้องปีนบันไดดู ละครดูง่าย หรืออะไรก็แล้วแต่ ดังนั้น ไม่มีละครเรื่องไหนสอนให้คนเป็นโจรหรอก และไม่มีละครเรื่องไหนสอนให้คนทำเลวร้ายใดๆ หรอก คนเลวคนชั่วในละครส่วนใหญ่มักต้องได้รับกรรม ตอนนี้ถ้าจะให้พูดจริงๆ ผมว่าข่าวบางข่าวยังดราม่ากว่าละครอีก ยิ่งหลังๆ เขามีกราฟิกสามมิติให้ดูด้วยว่าฆ่ากันท่าไหน ปล้ำกันท่าไหน ชัดกว่าละครอีก แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับมุมมองการนำเสนอของแต่ละฝ่าย ส่วนในแง่ของละครผมว่าคนทำก็ต้องมั่นใจว่าสิ่งที่ตัวเองทำไม่ใช่อาหารขยะสำหรับคนดู ซึ่งเราก็ต้องรู้ว่าเราอยู่ตรงไหน คนดูเราอยู่ตรงไหน ทำให้ใครดู เราก็ต้องแยกแยะให้ชัดเจน
สุดท้ายคนที่ดู หรือถ้าเราดู ‘วันทอง 2021’ แล้วจะได้เรียนรู้อะไรจากผู้หญิงคนนี้บ้าง
มีประเด็นหนึ่งผมพูดถึงคือ วันทองเธอคิดและเชื่อบางสิ่งบางอย่างว่าถูกต้อง แล้วเธอก็สู้เพื่อความถูกต้องนี้ เธอก็ยืนยันที่จะสู้ และคิดว่าสิ่งที่เชื่อนี้ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร แต่เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่ควรจะทำ วันทองก็สู้จนตัวตายซึ่งทุกคนก็รู้อยู่แล้ว แต่เราตีความการตายของวันทองด้วยการต่อสู้ทางความคิดของเธอ
ผมเชื่อว่าถ้าจะฝากอะไรถึงคนที่เป็นแฟนนางวันทอง ก็คือการยืนยันในความคิดในความเชื่อของตัวเองว่า เมื่อใดก็ตามที่ความเชื่อ หรือความคิดของเราไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้กับใครก็ยึดไว้แล้วก็ทำตามความเชื่อนั้นต่อไปเถอะ