ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย

ปอป้อ ทรัพย์สิรี นักแบดมินตันโอลิมปิกที่เต็มเปี่ยมด้วยความมุ่งมั่นและไม่ย่อท้อ

ความสำเร็จเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครต่อใครก็คงอยากจะคว้าไว้มาเป็นของตัวเอง จริงอยู่ที่สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย หลายต่อหลายคนล้วนแล้วแต่ต้องล้มลุกคลุกคลานเป็นร้อยเป็นพันครั้งว่าจะคว้าสิ่งนั้นมาให้ได้สักครั้ง แต่จงเชื่อมั่นไว้อย่างหนึ่งว่า หากไม่ละทิ้งความพยายาม ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ความสำเร็จย่อมจะกลายมาเป็นรางวัลให้กับคนที่มุ่งมั่น ทุ่มเท ทำบางสิ่งบางอย่างด้วยความเต็มที่เสมอ ท้ายที่สุดนั้น ชีวิตที่มีคุณค่าและมีความหมายจะอยู่ไม่ไกลอย่างแน่นอน

        เช่นเดียวกับ ‘ปอป้อ’ – ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย นักกีฬาแบดมินตันหญิงมือวางอันดับสองของโลกประเภทคู่ผสม ที่แม้ว่าเพิ่งจะพลาดท่าโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ไปในรอบก่อนรองชนะเลิศ แต่ก็ยังคงวาดฝันภาพของตัวเองในการแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ครั้งหน้าที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี 2024 รวมถึงต่อให้จำเป็นต้องวางมือไป ก็คิดจะเปิดคอร์ตแบดมินตันในช่วงชีวิตบั้นปลายอยู่ดี เรียกได้ว่า ไม่ว่าอย่างไรเธอก็คงอาจไม่วางมือจากแบดมินตันอย่างแน่นอน

        เธอคือแบบอย่างที่ทำให้เราในเห็นถึงความมุ่งมั่นและพยายามอย่างไม่ย่อท้อ เพื่อที่จะทำให้ความฝันของตัวเองก้าวเข้าใกล้คำว่าประสบความสำเร็จที่สุดเท่าที่พละกำลังของเธอในชีวิตนี้จะสามารถทำได้ หลังจากโตเกียวโอลิมปิกเกมส์ 2020 ผ่านไปไม่นาน เราจึงตัดสินใจรีบติดต่อเธอไปเพื่อพูดคุยสัมภาษณ์ถึงอดีตที่พ้นผ่าน ปัจจุบันที่พานพบ และอนาคตที่คิดฝัน

       มาเรียนรู้เรื่องราวความมุ่งมั่นของเธอ เพื่อเป็นใบเบิกทาง และสร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวคุณเองไปพร้อมๆ กัน

ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย

ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด

       บทสนทนาเริ่มด้วยการสอบถามสารทุกข์สุขดิบทั่วไป รวมถึงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นภายใต้มาตรการป้องกันโรคระบาดที่เข้มงวด ทั้งที่เป็นการแข่งขันสนามใหญ่ แต่ไม่เห็นคนเชียร์รอบสนามตามปกติ สิ่งนั้นส่งผลต่อการแข่งขันอย่างไรบ้าง เราถามไปตรงๆ ว่าเธอรู้สึกแปลกไปและขาดกำลังใจหรือเปล่า 

       เธอเองเลือกที่จะตอบกลับเราด้วยน้ำเสียงที่ร่าเริง พลางบอกกับเราด้วยท่าทีที่ผ่อนคลาย

       “ไม่รู้สึกว่ามันแปลกอะไร เพราะการแข่งขันที่ผ่านมาตอนอยู่ที่ไทยก็ไม่มีคนดูเหมือนกัน ในทางกลับกัน ก็ช่วยให้เรามีสมาธิมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ได้ต้องตีตามเสียงของคนดูเวลาเขาเชียร์มา”

       เราถามต่อถึงความรู้สึกในปัจจุบันหลังจบการแข่งขันครั้งล่าสุด

       “รู้สึกว่าการแข่งขันครั้งนี้เรายังทำได้ไม่ดีพอ เพราะตัวเราเองก็มีความคาดหวัง ความกดดันอยู่ แต่ก็พยายามไม่เอาสิ่งนี้ไปกดดันตัวเองมาก พยายามคุมสติ คุมสมาธิตัวเองให้มากที่สุด แต่ก็ยังรู้สึกว่าที่ออกมาไม่ดีพออยู่ดี ตอนนี้ก็เลยคิดว่าจะนำประสบการณ์ในครั้งนี้ไปใช้กับครั้งหน้าอย่างไร เพื่อไม่ให้มันเกิดความผิดพลาดขึ้นอีก”

       การแข่งขันขนาดใหญ่แบบนี้ เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้วที่จะต้องเกิดความกดดัน สิ่งที่เราอยากรู้ต่อไป คือเธอจัดการกับอารมณ์ในช่วงเวลาแข่งขันอย่างไร

       “บางทีถ้าเกิดเราเครียด ก็อาจจะกดดันตัวเองไปเลย แต่เพราะเราแข่งประเภทคู่ผสม จึงมีพาร์ตเนอร์คอยเตือนกันว่าให้มีสมาธิกับลูกนี้นะ ลูกไหนที่มันผ่านไปแล้วเสียไปแล้วก็ช่างมัน ก็ไม่ต้องไปสนมัน ทำปัจจุบันให้ดีดีกว่า เราสองคนคุยกันและให้กำลังใจกัน ก็มีแตะมือบ้าง แตะไหล่กันบ้าง คนอื่นก็จะช่วยพยายามตบเราให้กลับมาอยู่ในเกม ส่วนก็เราเองก็ต้องโฟกัสด้วยเหมือนกันว่าจะเล่นแบบไหน”

ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย

อดีตคือแรงผลักดันสู่อนาคต

       ย้อนรอยกลับมาถามไถ่เรื่องราวของเธอในวัยเด็กกันบ้าง จะเรียกว่าพรสรรค์ก็ฟังดูจะเป็นการดูถูกการฝึกฝนตั้งแต่เด็กของเธอไปสักหน่อย เราขอเรียกได้ว่าคุณพ่อคุณเห็นแววลูกมาตั้งแต่ตอนนั้นดีกว่า จากจุดเริ่มต้นของเด็กที่อดรนทนเห็นลูกแบดมินตันตกพื้นไม่ได้ ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อรับลูกขนไก่ ต่อให้ต้องล้มลุกคลุกคลาน กระโจนเข้าใส่ลูกแบดไม่รู้กี่ครั้งต่อครั้งก็ตามที

       เด็กธรรมดาคนหนึ่งที่ดูเหมือนจะไม่ได้จริงจังอะไรมาก แต่ในสายใยของครอบครัวกลับมองว่านั่นคือความพยายาม ที่สะท้อนออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน และเธอเองก็อยากทำสิ่งนั้นด้วยความตั้งใจ จึงได้รับการสนับสนุนมาตั้งแต่ตอนนั้น

       เมื่อเธออายุ 14 ปี ก็สามารถข้ามรุ่นไปคว้าแชมป์ในรุ่น 15 ปีมาได้ และพออายุ 15 ปีก็ขยับไปคว้าแชมป์ในรุ่น 18 ปีได้อีก ตรงนี้ก็ทำให้เธอสามารถติดทีมชาติได้ตั้งแต่ตอนนั้น และก็กลายมาเป็นแรงผลักดันให้เธอเริ่มมีเป้าหมายที่จะสู้ต่อมาจนถึงปัจจุบัน 

       ก่อนหน้านั้นเธอเล่นแบดมินตันประเภทหญิงเดี่ยวมาตลอด จากที่เคยชนะเรื่อยๆ พอไต่อันดับขึ้นมาถึงอันดับโลกแล้ว ก็มีจุดหนึ่งที่ทำให้เธอต้องเจอกับประสบการณ์แพ้รวด แต่ใช่ว่าเธอจะเสียกำลังใจจนย่อท้อและล้มเลิกไปตั้งแต่ตอนนั้น กลับลองเปลี่ยนมาเล่นประเภทคู่แล้วเหมือนมาถูกทาง ประสบความสำเร็จมากขึ้น และกลายมาเป็นแรงฮึดให้สู้ต่อไป 

       ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา เธอได้เริ่มลงเล่นจับคู่ในประเภทคู่ผสมกับ ‘บาส’ – เดชาพล พัววรานุเคราะห์ ซึ่งในขณะนั้นได้ผลตอบรับที่ดีเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของการแข่งขัน และแรงเชียร์จากผู้ชม ทว่าอย่างไรก็ตาม นั่นกลับกลายมาเป็นดาบสองคมที่กลับมาทิ่มแทงตัวเธอ

       “ความรู้สึกตอนแรกที่เล่นคู่กับบาสใหม่ๆ ทุกคนก็จะไม่ได้คาดหวังอะไรกับพวกเรามากเท่าไหร่นัก แต่วันหนึ่งเมื่อสามารถชนะจนขยับขึ้นมาในจุดที่เราเป็นมือสองของโลกแล้ว ทุกคนเขาก็คาดหวังกับเรามากขึ้น มันก็จะมีความกดดันที่ตัวเราเองก็มีอยู่แล้ว ถ้าเรายิ่งไปคิดว่าทุกคนเขาก็จะคาดหวังกับเราด้วยเหมือนกัน มันก็จะยิ่งเหมือนเราแบกอะไรไว้ หากเราแพ้ขึ้นมาก็จะเกิดผลเสียต่อเราแน่นอน มันก็เลยมีเสียงในหัวของเราที่พูดขึ้นมาว่า ทำไมทุกคนถึงไม่สนับสนุนเราในแบบที่เหมือนกับวันแรกที่เราเพิ่งก้าวเข้ามาในวงการนี้ 

       “มีคนมาคอมเมนต์ไปในทิศทางที่ไม่ดี โทษเรา โทษคนนั้น โทษคนนี้ เราเองก็ไม่ได้อยากสนใจพวกคอมเมนต์เหล่านั้น เพราะในความเป็นจริงมันเป็นอย่างไรเราก็รู้อยู่แล้ว คิดในแง่บวกดีกว่า ว่าอย่างน้อยเราเองก็มีคนรอบข้างที่คอยสนับสนุน ส่วนคนที่มาคอมเมนต์มันก็เป็นแค่ตัวหนังสือ ไม่ได้มาพูดกับเราตรงๆ เราก็อย่าไปสนใจดีกว่า”

       ฟังจากที่เธอเล่าก็ดูเป็นที่มองโลกในแง่ดีพอสมควร เราจึงถามเธอต่อไปว่าเหตุใดถึงได้คิดบวกได้ขนาดนี้ และคำตอบของเธอก็คือ การรับฟังเสียงจากคนรอบข้าง เพราะนั่นคือกำลังใจสำคัญที่คอยสนับสนุนให้มีทุกวันนี้ได้ 

       “อย่างการแข่งขันโอลิมปิก 2020 ล่าสุดเราก็มีความรู้สึกแย่ เพราะตัวเองยังทำได้ไม่ดีพอ อารมณ์ก็จะขึ้นบ้างลงบ้าง ในทางหนึ่งเราก็ช่วยเหลือตัวเองด้วยการคุยกับทางครอบครัว คุยกับเพื่อน ว่าจะทำอย่างไรดี แน่นอนว่ามันไม่ใช่จุดจบของชีวิตเราหรอก แต่มันเป็นสิ่งที่เราอยากได้ เพราะคิดว่าโอลิมปิกเกมส์คือที่สุดแล้วของกีฬาแบดมินตัน แต่คนอื่นก็บอกกันว่ามันก็ยังมีเป้าหมายใหม่ให้พุ่งชนอีก ทั้งในปีนี้ ปีหน้าที่ใกล้จะถึง และก็อีกสามปี ซึ่งมันเร็วมาก สักพักก็จะมีการแข่งขันโอลิมปิกอีกครั้งแล้ว เราก็เลยต้องฮึบตัวเองขึ้นมาได้ด้วยเหมือนกัน”

แพ้เป็น แต่ไม่อยากแพ้

       จากการแข่งขันหลายครั้งที่ผ่านมา ท้ายที่สุดแล้วย่อมจบลงด้วยการแพ้หรือชนะอยู่เสมอ แต่กว่าการแข่งขันจะสิ้นสุดลง ความรู้สึกที่หล่อเลี้ยงอยู่คืออะไร ความกดดันมันย่อมต้องมีบ้างอยู่แล้ว แต่มีครั้งไหนที่คู่แข่งดูเก่ง จนทำให้รู้สึกกลัวว่าเขาจะชนะบ้างหรือเปล่า

       “ไม่ได้รู้สึกว่ากลัวเขา แต่เหมือนว่าเราไม่อยากแพ้มากกว่า เรารู้สึกว่าเราตีได้ทุกคู่แหละ ก็จะมีบางคู่ที่เราคิดว่าใครตีดีกว่าใครอยู่นิดนึง แต่คือทุกคู่มันเป็นแนวไม่อยากแพ้มากกว่า”

ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย

       เพราะว่าไม่อยากแพ้ นั่นก็เลยเป็นเหตุผลให้เธอสู้จนกระทั่งบาดเจ็บขณะแข่งขันด้วย 

       “ตอนนั้นคือการแข่งขันซีเกมส์ 2017 เราล้มในการแข่งขันแล้วเจ็บมาก ก็เลยไปนั่งสักพักจนมันชา หมอเขาก็มาดู เสร็จแล้วเราก็ฝืนลุกขึ้นมาเล่นต่ออีกสองลูก จนสุดท้ายก็ไม่ไหว ณ จุดนั้นเราก็เจ็บมาก แต่เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเจ็บใจ กลับภูมิใจมากกว่า เพราะขณะนั้นเป็นการแข่งกันเองรอบชิงชนะเลิศ สุดท้ายแล้วยังไงประเทศไทยก็ได้เหรียญทอง เป็นวิธีการคิดที่ทำให้เราไม่มัวแต่รู้สึกแย่ไปมากกว่าเดิม”

       “สรุปเราเอ็นไขว้หน้าขาด เหมือนวินาทีแรกที่เราเจ็บก็ไม่ได้รู้ว่าเอ็นขาด จนกลับมาแล้วถึงจะรู้ ตอนแรกเราก็กลัวว่าจะสามารถกลับมาเล่นได้เหมือนเดิมไหม พอผ่าตัดเสร็จในช่วงแรกก็ไม่กล้าถอยในมุมที่เคยล้มลงมา แต่ปัจจุบันนี้ก็สามารถเล่นได้ทุกลูกเหมือนเดิมร้อยเปอร์เซนต์แล้ว”

       จังหวะที่มีความกลัวในตอนนั้น จัดการกับอารมณ์นั้นอย่างไรเพื่อให้สามารถไปต่อได้

       “เราพยายามทีละนิด ในจุดที่เราเจ็บ เราก็อาจจะไม่รีบ โค้ชก็พยายามจะปล่อยลูกให้ทีละช้าๆ ค่อยๆ ขยับไป เราเองก็บริหารเสริมให้แข็งแรง จนเริ่มดีขึ้น ก็พยายามมากขึ้น ฝืนงอตัวให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้มันเกิดเป็นพังผืดตามคำแนะนำของหมอ เราก็ฝืนให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้ไปสุดในมุมของมัน” 

       จากเรื่องเล่าของเธอ ทำให้หนึ่งคำที่พอจะอธิบายลักษณะเด่นของเธอผุดขึ้นมาในหัว คือคำว่า ‘แพ้ไม่เป็น’ (หรือเปล่า)

       “แพ้เป็นค่ะ ไม่ใช่ไม่เป็น” เธอหัวเราะลั่นออกมา และเรื่องราวที่เธอเล่าหลังจากนั้นก็กลับทำให้เราได้เข้าใจเธอมากขึ้น

       “ตั้งแต่ที่แข่งขันระดับเยาวชน เราก็ยังเป็นเด็กที่ยังอาจจะไม่ได้คิดอะไรลึกซึ้งขนาดนั้น แต่พออายุมากขึ้น ณ จุดหนึ่งก็กลับรู้สึกว่า ‘คนเราพ่ายแพ้กันได้’ แต่ว่าจะแพ้แบบไหนมากกว่า ถ้าแพ้แบบสู้สี แพ้สนุก แพ้เต็มที่ อย่างนี้ไม่เป็นไรหรอก เรากลับมาแก้ไขได้ แต่ถ้าแพ้แบบเรารู้สึกทำได้ไม่เต็มที่ อย่างนี้มันก็ค่อนข้างรู้สึกไม่ดี”

       ‘ไม่เป็นไร’ คือคำที่ผุดขึ้นมาในหัวเราหลังจากนั้น แต่คำนี้นั้นช่วยให้เธอกดดันตัวเองน้อยลง หรือผลักดันตัวเองน้อยลงบ้างไหม

       “แต่ก่อนเวลาแพ้ทุกคนอาจจะใช้คำว่า ‘เอาใหม่’ จนคำนี้กลายเป็นศัพท์ธรรมดาไปแล้วในความรู้สึกของเรานะ แต่เดี๋ยวนี้ พอเราแพ้ ทีมงานเราทุกคนก็จะมารวมตัวนั่งคุยกันว่าแพ้เพราะอะไร ต้องไปแก้ตรงไหนให้มันถูกต้อง ให้ทุกอย่างออกมาราบรื่นแบบนี้จะดีกว่า ต้องไปแก้ที่ร่างกาย เทคนิค กำลัง หรือสภาพจิตใจของเรากันแน่”

ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย

รางวัลของคนที่มุ่งมั่นคือความสำเร็จ

       แม้ว่าจะมีอุปสรรคเข้ามาย่างกราย ถึงขนาดเจ็บตัวและต้องพักรักษาตัวอยู่นานแรมปี เธอก็ไม่เคยย่อท้อ และไม่ยอมแพ้ ต่อสู้ฟันฝ่าปัญหาดีร้าย จนร่างกายสามารถฟื้นตัว และเรียกฟอร์มของตัวเองกลับมาได้อีกครั้งหนึ่ง เรียกว่าเป็นคนที่มีพลังในความมุ่งมั่น เคี่ยวกรำตัวเองในการฝึกซ้อม จนมามีอย่างทุกวันนี้ได้

       “เรารู้สึกว่าเป็นคนเคี่ยวเข็ญตัวเองพอสมควร ต่อให้วันไหนรู้สึกว่าวันนี้ฉันไม่อยากซ้อม ไม่ไหวแล้ว ไม่เอาแล้ว ไม่อยากวิ่ง แต่พอได้วิ่งทีไร ก็ใส่เต็มที่อยู่ดี เหมือนพอได้วิ่งแล้วก็จะคิดถึงอนาคตอยู่เสมอว่าเหนื่อยแน่ แต่สุดท้ายก็บอกตัวเองอยู่ดี ว่าวิ่งให้มันเสร็จไปเถอะ วิ่งเร็วก็ดีกว่าวิ่งช้า (หัวเราะ)”

       ตอนแรกก่อนที่จะได้มาคุยกับเธอ เรามีภาพจำจากในภาพยนตร์ว่า ช่วงซ้อมจะต้องตีแบดมินตันจนเลือดออก โดยปกติแล้วนักกีฬาที่มุ่งมั่นนั้นต้องมีซีนแบบนั้นในชีวิตหรือเปล่า

       “ไม่ขนาดนั้นค่ะ คือโค้ชเขาเองก็จะดูตามสภาพนักกีฬา ว่าวันนี้ถ้าตึงมาก เหนื่อยมาก เขาก็อาจจะมีออมมือเบาให้บ้าง ไม่ได้เหมือนพยายามเค้นจนทุกคนไม่ไหว เขาไม่อยากให้นักกีฬาเจ็บ”

       ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เรามุ่งมั่นได้แต่เราต้องดูกำลังตัวเองต้องดูสมรรถภาพตัวเองในขณะซ้อมด้วยเช่นกัน พลังเราอาจจะมีเต็มเปี่ยมหนึ่งร้อย แต่ตอนซ้อมก็อาจจะใส่สักแปดสิบเปอร์เซ็นต์ของกำลังกายลงไปอย่างนั้นใช่ไหม

       “จริงๆ ทุกครั้งที่ซ้อมเราเต็มที่ทุกรอบอยู่แล้ว คือถ้าเราใส่เต็มร้อย ร่างกายก็จะยืดได้เยอะ ซึ่งจะผ่อนคลายมากกว่า”

       เห็นเป็นคนเต็มที่แบบนี้ จริงๆ แล้วเป็นคนปล่อยวางอะไรได้ง่ายไหม เช่นเวลามีปัญหาชีวิตในการทำงานรุมเร้าเข้ามาแล้วจัดการได้อย่างไร การเล่นกีฬาช่วยให้เราแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ไหม มีตัวอย่างที่เป็นรูปธรมมแบบใดพอจะเล่าให้ฟังได้บ้างไหม

       “กีฬาฝึกให้เราใจเย็นด้วยนะคะ มีเรื่องหนึ่งไม่รู้จะเกี่ยวกันไหม สมมติว่าเราจะตากผ้า แล้วคราวนี้เราหยิบเสื้อมาแขวน เคยโดนจังหวะที่ไม้แขวนมันเกี่ยวกันไหมคะ พอหยิบไม่ออกแล้วเราต้องสะบัดผ้า จังหวะนี้คือ บางทีถ้าคนอารมณ์ร้อนก็จะสะบัดออกทีเดียวเลย มองอีกแง่หนึ่ง ถ้าเรารู้สึกตัวได้ เราคิดได้ ทำไมเราถึงไม่คิดว่า ถ้าไม่หลุดก็ปล่อยมันไป แล้วไปหยิบอันใหม่ แทนที่จะขว้างให้มันกระจายตกลงบนพื้น มันออกมาเป็นแนวแบบนี้ วินาทีนั้นที่เราหงุดหงิดมันก็จะหมกมุ่นอยู่ตรงนี้ พอเราถอยออกมาดู ทำไมเราไม่ทำแบบนี้ดีกว่า เราจะได้ไม่ต้องมานั่งเก็บอันอื่นต่อด้วย”

       ในทุกวันนี้การเป็นนักกีฬามืออาชีพ มีสิ่งใดต้องกลัวอยู่อีกไหม

       “ไม่มีอะไรต้องกลัวเลย เพราะถ้าเรื่องแบดมินตันก็เป็นหน้าที่ของโค้ช เรื่องเวต (Weight Training) ก็เป็นหน้าที่นักวิทยาศาสตร์การกีฬาว่าจะเสริมยังไง ทีมงานทุกคนและอาจารย์เจริญจะคอยช่วยเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬา สภาพจิตใจ สมาธิ เขาก็มักจะคอยเตือนเราให้สวดมนต์ นั่งสมาธิอย่างนี้ด้วย เพราะตอนแข่งขันไม่ใช่แค่เรื่องร่างกายกับแบดมินตันเท่านั้น ยังมีเรื่องของสภาพจิตใจด้วย ว่าเราจะทนต่อสิ่งเร้า สิ่งกดดันเมื่อเจอแต้มสูสีแล้วควบคุมได้หรือเปล่า”

       พูดได้ว่าปัจจุบันเธอสามารถวางใจให้คนอื่นจัดการได้เลยโดยที่เราเองก็ไม่ต้องเครียดหรือเป็นกังวล

       “ใช่ เพราะเขาไม่ได้มาวางแผนแบบวันต่อวัน แต่เราเห็นเขาทำงานวางแผนวางเป้าหมายที่จัดเอาไว้ทั้งปีแล้ว ทุกครั้งที่ประชุมอาทิตย์ละสามวันเราก็จะบอกแผนงานเสมอ ทำให้เราวางใจได้เลย”

ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย

อนาคตคือเป้าหมายที่ไม่ไกลเกินเอื้อม

       ปัจจุบัน เธอและบาสเป็นคู่อันดับสองของโลกในประเภทคู่ผสมและกวาดรางวัลกลับมาจากการแข่งขันมากมาย แต่ทั้งสองก็ยังไม่หยุดพยายาม ยังคงเดินหน้าสร้างผลงานให้กับวงการแบดมินตันประเทศไทยและระดับโลกต่อไปอีกในอนาคต 

       เราถามไถ่ถึงความรู้สึกของเธอในปัจจุบัน ที่เรียกได้ว่าอยู่ ณ จุดที่สูงลิ่ว แต่ก็ยังคงไม่หยุดฝันต่อไป

       “ความรู้สึกของคำว่า ‘อันดับโลก’ มันเป็นผลพลอยได้มากกว่า ถ้าเราสามารถเข้ารอบชิงแชมป์ได้ทุกแมตช์ ไม่ว่าอย่างไร อันดับโลกก็ไม่ไกลเกินเอื้อม”

       นั่นหมายความว่า ต่อให้เป็นอันดันหนึ่ง สอง สาม หรือเท่าไหร่ก็ไม่ติดอะไรแล้วใช่ไหม, เราถามแกมหยอก

       “ถ้าได้ที่หนึ่งได้ก็ดี อยากเป็นมือหนึ่งค่ะ ถ้าผลงานดี แรงก์ก็ขึ้นอยู่แล้ว (หัวเราะ)”

       เท้าความกลับไปในอดีตที่ผ่านมาสักเล็กน้อย สำหรับเธอแล้วมีแมตช์ไหนที่พูดได้เต็มปากเต็มคำว่าประทับใจหรือเปล่า

       “แต่ก่อนเราไม่เคยชนะพวกมือหนึ่งของโลกเลย มือหนึ่งของโลกคือจีน แล้วที่สิงคโปร์เป็นแมตช์แรกที่เราชนะ และเป็นเกมที่แข่งกันแบบสูสี รู้สึกว่าอันนี้ตีแล้วสนุก ตีแล้วเราไม่กดดัน เราเหมือนเป็นตัวเองได้มากที่สุด พอเราสามารถเอาชนะเขาได้ เหมือนเป็นการปลดล็อกว่าเราก็จะชนะคู่อื่นได้เหมือนกันนี่นา”

       ถ้าหากมองไปยังอนาคต เป้าหมายหรือว่าสิ่งสำคัญที่กำหนดว่าในชีวิตนี้ต้องทำให้ได้คือสิ่งใด

       “อย่างภายในปีนี้ก็คือชิงแชมป์โลก ปีหน้าก็จะมีเอเชียนเกมส์ที่ยังไม่เคยได้ ส่วนระยะยาวก็คือเป็นโอลิมปิกเกมส์ที่ปารีส 2024 แต่ปกติทุกครั้งที่เล่นก็คาดหวังที่จะได้แชมป์อยู่แล้ว”

       ส่วนเป้าหมายที่ไกลกว่านั้นคืออะไร – เราถามกลับทันที

       “ตอนนี้ขอคิดถึงโอลิมปิกก่อนแล้วกัน เพราะว่าด้วยอายุก็เยอะแล้ว อย่างโอลิมปิกครั้งหน้าก็อายุ 32 แล้ว อีกสี่ปีก็ 36 มันขึ้นอยู่ที่ร่างกายของเราแหละ แต่อันนี้เดี๋ยวค่อยว่ากันอีกทีก็แล้วกัน (หัวเราะ)”

       สมมติจะต้องวางไม้แล้ว สิ่งที่อยากทำต่อไปคืออะไร

       “ก็อยากเปิดสนามแบดฯ ของตัวเอง หรืออาจจะทำธุรกิจเสริมอื่นอีก”

       คำตอบสั้นๆ แต่ยืนยันได้ชัดเจนว่าอย่างไรก็ตามเธอก็คงไม่วางมือจากแบดมินตันอย่างแน่นอน

การเรียนรู้

       เส้นทางแบดมินตันอันยาวนานของเธอ ที่เหมือนจะไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงง่ายๆ ตลอดการเดินทางนั้น สิ่งที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนคือความมุ่งมั่นและไม่ย่อท้อต่อความผิดพลาด รู้จักปล่อยวางให้เป็น เพื่อที่จะได้ก้าวเดินต่อไปอย่างสง่าผ่าเผย และคว้าชัยชนะและความสำเร็จตรงหน้ามาครอบครอง 

       แต่สำหรับเธอนั้น มองว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้จากกีฬานี้จากตลอดหลายปีที่ผ่านมาคืออะไร

       “แบดมินตันเป็นกีฬาที่ต้องใช้ไหวพริบ แล้วก็คิดแก้เกมอยู่ตลอดเวลา เหมือนเกมชิงจังหวะกันว่าใครจะเป็นฝ่ายเริ่มก่อน เพราะว่าในการตอบโต้แต่ละคนไม่เหมือนกัน แล้วทุกลูกที่ตีพลิกแพลงได้ตลอด การเป็นนักกีฬาก็ฝึกทั้งเรื่องระเบียบวินัย ความรับผิดชอบด้วย แล้วก็มีเรื่องรู้แพ้รู้ชนะแล้วก็มีน้ำใจกัน”

       เธอยังเล่าถึงสิ่งที่อยากฝากถึงคนอื่น ที่อาจจะท้อแท้ไปบ้าง ไม่ว่าจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนเราให้เปลี่ยนไปไม่เป็นอย่างเคย จนไม่สามารถออกไปฝึกซ้อมได้ หรือคนในแวดวงอื่นเองก็ดี มีคำแนะนำเพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นยังคงรักษาความมุ่งมั่นและตั้งใจ และนำเอาสิ่งนี้กลายมาเป็นพลัง เพื่อผลักดันให้ประสบความสำเร็จฝากผ่านทางเรามาด้วย

       “อยากจะฝากถึงทุกคนที่อยากเป็นนักกีฬา ถึงสถานการณ์ที่บ้านเราตอนนี้อาจจะทำอะไรไม่ได้ แต่เราสามารถฝึกด้านสภาพจิตใจ หรือร่างกายที่บ้านก่อนก็ได้ ต่อให้อาจจะยังไม่ใช่เรื่องของแบดมินตัน เพราะว่าสิ่งนี้สามารถฝึกฝนกันได้ พัฒนากันได้ไม่ยากเท่าเรื่องร่างกายกับสภาพจิตใจ เพราะถ้าร่างกายไม่พร้อมต่อให้ตีอย่างไรก็ไม่ได้ อยากจะให้มีความมุ่งมั่นต่อไป และก็ตั้งใจทำให้เต็มที่ ถ้าสมมติเราตั้งใจทำจริงๆ แล้วผลลัพธ์ที่เราจะได้ ย่อมไม่ทำให้เราเสียดาย หรือว่าเสียใจแน่นอน ยังไงก็คุ้มค่ากับสิ่งที่เราสูญเสียอย่างแน่นอน”


ภาพ: ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย