สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

ดร. สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์: หมดเวลาถกเถียง เลิกตั้งความหวังบนโลกที่อาจกู่ไม่กลับ

a day BULLETIN สนทนากับ ดอกเตอร์ สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว ถึงประเด็นปัญหาเกี่ยวกับไฟป่าในออสเตรเลีย ด้วยทราบว่าวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของเธอคือการศึกษาเรื่องไฟของป่าในพื้นที่อุทยานห้วยขาแข้ง

        การสนทนาเริ่มต้นขึ้นด้วยเรื่องของไฟป่าที่กำลังลุกลามครอบคลุมพื้นที่ราว 6 หมื่นตารางกิโลเมตร นับเป็นสัดส่วนอันน้อยนิดจากโลกที่มีพื้นที่ทั้งหมดราว 510 ล้านตารางกิโลเมตร แต่ถ้าตระหนักถึงความเชื่อมประสานโยงใยของสรรพสิ่งในโลก เราจะมองเห็นว่าโลกทั้งใบกำลังตกอยู่ในวิกฤต และเข้าใจว่าเพราะอะไรการบริโภคอันล้นเกินหรือความสะดวกสบายที่มักง่ายของเราถึงยิ่งโหมไฟในผืนป่าออสเตรเลียให้ปะทุรุนแรงมากขึ้น

        “เรารู้แล้วว่าเราหยุดโลกร้อนไม่ได้ เพราะมันได้ขับเคลื่อนตัวเองไปถึงขั้นที่เราไม่สามารถจะหยุดยั้งได้แล้ว สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือพยายามหากระบวนการในการบรรเทาลงมา หรือหยุดยั้งให้มันไม่หายนะไปมากกว่านี้ จนถึงขั้นที่คนรุ่นต่อไปอาศัยในโลกนี้ไม่ได้แล้ว เราคิดว่าจุดนี้ยังพอหยุดได้ ดังนั้นก็ต้องเต็มที่”

 

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

ไฟป่าออสเตรเลียเป็นเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่ปีนี้ดูจะรุนแรง เลวร้าย และผิดปกติมากที่สุด มันเป็นเพราะอะไร 

        ถ้าจะให้พูดเรื่องนี้คงต้องย้อนกลับไปถึงเรื่องพื้นฐานอย่าง ‘สามเหลี่ยมไฟ’ หรือ 3 องค์ประกอบที่ทำให้เกิดไฟป่า ได้แก่ ออกซิเจน เชื้อเพลิง และความร้อน เพราะป่าในออสเตรเลียเป็นพื้นที่ที่มีเชื้อเพลิงอย่างเช่น หญ้า ใบไม้แห้ง และยูคาลิปตัส ซึ่งเป็นต้นไม้ที่มีน้ำมัน ทำให้ติดไฟได้ง่าย ดังนั้น ผืนป่าแห่งนี้จึงเป็นระบบนิเวศที่มีไฟเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการกำกับและขับเคลื่อน มีต้นไม้หลายต่อหลายชนิดที่ต้องพึ่งพาไฟ เช่น แบงก์เซีย (Banksia) ซึ่งเป็นพืชพันธุ์ท้องถิ่นของออสเตรเลีย มีลักษณะเป็นฝักๆ โดยเมล็ดของมันที่ฝังอยู่ในฝักต้องใช้ไฟในการทำให้เปิดออกเพื่อที่จะขยายพันธุ์ต่อไป

        ถามว่าปกติแล้วไฟในป่ามาจากไหน หนึ่ง—มาจากการจุดโดยมนุษย์ เช่น ชนเผ่าอะบอริจินที่จะรู้จักการใช้ไฟเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ในช่วงต้นฤดูร้อนเขามักจะเผาป่าเป็นหย่อมๆ เพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ แต่โดยปกติเขาจะไม่เผากันในช่วงที่มีอากาศร้อนจัด สอง—เกิดจากสภาพอากาศในธรรมชาติ ซึ่งพื้นที่ป่าในออสเตรเลียเป็นพื้นที่ที่มีฟ้าผ่าแห้ง (Dry Lightning) หรือฟ้าผ่าที่เกิดขึ้นในขณะที่ไม่มีฝนตก อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดไฟป่าเช่นกัน

        อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนี้เราเองก็ยังไม่รู้ว่าสาเหตุของไฟป่าเกิดจากมนุษย์หรือเกิดขึ้นโดยธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน แต่ประเด็นสำคัญที่ทำให้ไฟป่าออสเตรเลียกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกก็คือไฟป่ายังคงลุกลามไม่หยุด แถมยังโหมต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่ ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่หน่วยงานที่ดูแลเรื่องไฟป่าได้ทักท้วงล่วงหน้าไว้นานแล้ว พวกเขาเคยคาดการณ์ไว้ว่าอาจจะเกิดไฟป่าที่มีลักษณะรุนแรงและลุกลามไปไกลอย่างเช่นที่เกิดขึ้นในตอนนี้เลย เพราะสภาพอากาศแห้งแล้งจัดและยังมีแนวโน้มว่าจะอากาศจะยิ่งร้อนขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ถ้าเรากลับมาที่เรื่องสามเหลี่ยมไฟที่พูดไปในตอนแรก เท่ากับว่า ณ ขณะนี้พื้นที่บริเวณผืนป่าออสเตรเลียมีอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงขึ้นกว่าทุกๆ ปี ดังนั้น เพียงมีออกซิเจนกับเชื้อเพลิงที่เหมาะเจาะ ระดับความร้อนที่เพิ่มมากขึ้นก็ยิ่งทำให้ไฟป่าลุกลามและรุนแรงที่สุดเท่าที่ประวัติศาสตร์เคยบันทึกมา และอย่าลืมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้อาจจะยังไม่ใช่จุดพีกที่สุดก็ได้ เพราะฤดูร้อนยังไม่จบลง แปลว่าอาจจะมีวันที่อุณหภูมิยิ่งสูงจนส่งผลให้ไฟยิ่งปะทุกว่าที่เป็นอยู่

มนุษย์จะสามารถหยุดไฟป่าครั้งนี้ได้ไหม

        พอถึงจุดที่มันลุกลามไปไกลอย่างตอนนี้ มนุษย์เราอาจจะทำได้แค่พยายามรักษาชีวิตและทรัพย์สินให้ได้มากที่สุดเพื่อรอให้อากาศเย็นลงหรือรอให้เกิดฝนตามธรรมชาติเท่านั้น เพราะความรุนแรงของมันอยู่ในระดับเกินกว่าที่มนุษย์จะรับไหว อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นความเป็นห่วงต่อชีวิตของบรรดาสัตว์ในป่า ที่ช่วงแรกเก็บสถิติได้ว่ามีสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจนเสียชีวิตราว 500 ล้านตัว แต่ ณ วันที่เรานั่งคุยกันอยู่นี้สถิติก็พุ่งสูงไปจนถึงระดับพันล้านแล้ว อัตราการเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ (Mass Extinction) จึงทวีความรุนแรง คือเกิดมากขึ้นและเร็วขึ้น และเราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าเหตุการณ์นี้ไม่ได้เกี่ยวพันกับปัญหาโลกร้อน

นักวิทยาศาสตร์พยายามเตือนกันมาหลายสิบปีแล้วว่าโลกจะเกิดความเสียหายเช่นนี้ขึ้น แต่มนุษย์เราอาจยังไม่ได้จินตนาการไปถึงจึงไม่ใส่ใจ ในที่สุดหายนะก็ได้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แย่ยิ่งกว่าคือกระทั่งป่านนี้ยังมีคนพยายามปฏิเสธว่าไฟป่าในออสเตรเลียไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องวิกฤตทางสิ่งแวดล้อม บอกว่ามันเป็นเพียงอุบัติเหตุที่แปลกพิสดาร (freak accident) หรือบางคนแค่รู้สึกว่า ‘ปีนี้เราซวยจังเลย’ เท่านั้นเอง

อะไรคือความเสียหายใหญ่ๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากไฟป่าครั้งนี้ดับลง

        เราเองก็ยังด่วนสรุปในตอนนี้ไม่ได้หรอกว่าสัตว์จะหายไปมากแค่ไหน หรือจะมีสัตว์ชนิดไหนสูญพันธุ์บ้าง ถ้าอยากได้ข้อมูลที่แน่ชัดคงต้องรอการประเมินในตอนท้าย แต่ไม่ว่าอย่างไร สังคมพืชและสังคมสัตว์ในป่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน และลักษณะของการเกิดไฟป่าในครั้งต่อๆ ไปจะเปลี่ยนไปด้วย อย่างเช่น ต่อไปนี้จะเหลือเฉพาะพืชที่ทนไฟมากๆ เท่านั้นที่จะอยู่รอด และไฟป่าในอนาคตจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะว่าป่าทึบที่ถูกเผาไปอย่างมหาศาลจะกลายเป็นป่าเปิด แปลว่าจะมีหญ้าที่เป็นเชื้อเพลิงมากขึ้น ดังนั้น ป่าจึงติดไฟและลุกลามได้ง่ายดายขึ้นด้วย

        อีกอย่างก็คือ อย่าลืมว่าหายนะที่เราเห็นอยู่ในตอนนี้ ทั้งเปลวไฟที่กำลังเผาทุกสิ่งทุกอย่างให้วอดวาย สัตว์ป่าที่กำลังวิ่งหนีและต้องตกเป็นเหยื่อของไฟ บ้านที่ไฟไหม้เป็นพันๆ หลัง ฯลฯ คือหายนะที่เกิดขึ้นบนบกเท่านั้น ซึ่งพอฝนมา ไฟดับ สิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปคือ ฝนจะชะเถ้าถ่านที่อยู่บนบกลงแม่น้ำ และถึงแม้จะบอกว่าไฟป่าทำให้เกิดปุ๋ยได้ แต่ถ้าเกิดในน้ำมีปุ๋ยในปริมาณที่มากเกินไปก็ย่อมเป็นโทษมากกว่าใช่ไหมล่ะ นี่คือความเสียหายที่จะส่งผลกันไปแบบโดมิโน แม้แต่ตัวเราเองตอนนี้ยังไม่อยากจะจินตนาการถึงความเสียหายในลำดับต่อๆ ไปเลย

แล้วเราพอจะช่วยเหลืออะไรได้บ้างไหม นอกจากการส่งแรงใจและช่วยเหลือผ่านการบริจาค

        ที่สุดแล้วสิ่งที่เราพอจะทำได้ในรูปแบบอื่นๆ ก็คือบรรเทาปัญหาการทำลายธรรมชาติ อย่างที่บอกว่าความเสียหายที่เกิดกับผืนป่าออสเตรเลียมันมากกว่าแค่เรื่องโลกร้อน เพราะมันลุกลามจนนำไปสู่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ (Mass Extinction) หรือการที่ธรรมชาติถูกทำลายไปทั้งหมด เราจึงต้องตื่นตัว พยายามทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จริงจังกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ด้วยความเข้าใจว่าสรรพสิ่งในโลกนี้เชื่อมโยงและสลับซับซ้อน รวมถึงพึงสังวรณ์ไว้ด้วยว่าการแก้ปัญหาไม่ใช่บอกว่าแค่เลิกใช้ถุงพลาสติกแล้วจบ เพราะการเลิกใช้พลาสติกไม่ได้จบแค่ในตัวเอง แต่เราต้องจัดการในระดับโครงสร้าง ทั้งระบบการใช้วัสดุ รวมถึงการจัดการกับระบบขยะของเราด้วย อย่าเอาแต่บอกว่า ‘เลิกแจกถุงพลาสติกแล้วฉันจะทำอย่างไรดี ต่อไปนี้จะไม่มีถุงไว้ใส่ขยะแล้ว’ เฮ้ย เรื่องมีหรือไม่มีถุงขยะไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย ที่จริงแล้วถุงขยะไม่ใช่ของจำเป็นเลยด้วยซ้ำถ้าเรารู้จักการจัดการทั้งระบบจริงๆ

         ยกตัวอย่างเช่นในบ้านของเรา ซึ่งเราเองก็โชคดีที่บ้านมีสวน จึงแยกขยะได้ง่าย เช่น พวกเศษอาหารหรือขยะเปียก เราก็จะแยกไว้ทิ้งลงถังขยะอินทรีย์เท่านั้น เวลาใช้เสร็จแล้วก็ล้างถังได้ ไม่เห็นจะต้องใช้พลาสติกมารองรับเลย

 

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

แต่อย่างเราที่อาศัยอยู่คอนโดฯ ต่อให้แยกขยะ เลิกใช้ถุงพลาสติก และพร้อมที่จะล้างถังขยะ แต่ก็ไม่มีระบบที่มารองรับและนำไปจัดการต่ออยู่ดี แล้วการแยกขยะของเราจะก่อเกิดผลได้อย่างไร

        คือจะคิดแค่ว่าพอทำแล้วเกิดปัญหา จึงไม่ทำต่อ จะยอมแพ้ง่ายๆ แค่นี้เหรอ เราเองก็ไม่รู้หรอกว่าที่อยู่อาศัยของคุณเป็นอย่างไร แต่มันอาจจะต้องการการจัดการในรูปแบบของการรวมตัวเพื่อพูดคุยกันหรืออะไรก็ตาม แต่มันไม่ได้มีอะไรที่สำเร็จรูปหรือง่ายดายขนาดนั้นหรอก การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีคนเริ่มต้นพูดคุยเพื่อชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่เป็นอยู่มันสร้างปัญหาจริงๆ แล้วแน่นอนว่ารัฐจะต้องอำนวยความสะดวก รวมทั้งเกื้อหนุนให้เกิดมาตรการต่างๆ ที่เป็นการแก้ปัญหาอย่างจริงๆ จังๆ ด้วย

        เราเองไม่อยากมานั่งคุยเรื่องขยะเพราะว่าเบื่อและขี้เกียจจะพูดแล้ว เราคุยมาตั้งแต่ 20-30 ปีแล้ว ตอนนี้อยากปล่อยให้คนอื่นเขาคุยกันไป แต่จะบอกไว้ว่าถ้ายังติดอยู่ที่ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ แค่ว่า ‘เฮ้ย ไม่มีถุงพลาสติกแล้วฉันก็ไม่มีที่ใส่ของสิ’ แปลว่าคุณกระจอกมากเลยนะ เพราะมันจะมีปัญหาในเรื่องของผลผลิตหรือในระดับเศรษฐกิจอีกตั้งมากมาย สุดท้ายก็คงไปไม่ถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับเหล่านั้นสักที

แปลว่าเราอาจต้องยอมเสียสละความสะดวกสบายที่เคยมี

        มันคือการปรับตัว มันจะไม่ใช่ความสะดวกสบายแบบมักง่าย แต่สุดท้ายเราเองไม่อยากจะโยนปัญหาไปที่ระดับปัจเจก แต่อยากจะชวนให้มองไปที่ระบบมากกว่า เราพูดถึงปัจเจกกันมายาวนานมากแล้วและมันมีปัจเจกเยอะแยะที่พยายามทำอยู่ แต่พอทำแล้วก็ต้องเจอกับปัญหาอย่างที่คุณบอกมาว่าระบบมันไม่เอื้อ ทีนี้มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบ อย่ามัวแต่พูดถึงเรื่องการสร้างจิตสำนึกให้เด็ก เพราะการพูดแบบนี้มันอาจจะเวิร์กเมื่อสามสิบปีก่อน แต่ ณ วันนี้มันเป็นปัญหาในระดับโครงสร้าง ดังนั้น ระบบต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขและต้องเซตอัพใหม่

แต่เราเหลือเวลาอีกแค่สิบปีเท่านั้น

        เราไม่มีเวลาแล้ว เพราะฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่คนรุ่นใหม่หลายๆ คนจะจิตตก โกรธเกรี้ยว หรือเป็นเป็นซึมเศร้า ด้วยความรู้สึกว่าตัวเองไร้อำนาจ ทำอะไรไม่ได้ แถมยังจะต้องเป็นคนคอยอยู่รับกรรมที่คนรุ่นก่อนได้ก่อไว้

การพยายามผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี โดยที่ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ จนในที่สุดเราก็มาถึงจุดที่ไม่หวนกลับ คุณรู้สึกโกรธไหม

        โกรธ… โกรธความโลภ โกรธความเห็นแก่ตัว แต่เราต้องรู้จักหยิบมันวางลง เพราะเราไม่ใช่คนที่ขับเคลื่อนด้วยความโกรธ เราชอบขับเคลื่อนด้วยความสนุก ไม่ได้ชอบเล่นประเด็นร้อน เราจึงเลือกทำเรื่องการศึกษาเรียนรู้ แต่ยอมรับว่าเวลาพูดถึงประเด็นเหล่านี้ทีไรก็มักจะไปเจอกับเรื่องราวที่คอยกระตุ้นให้โกรธเสมอ แต่พอเราตั้งสติได้ จะรู้ว่ามันไม่มีประโยชน์ เราจึงต้องวางอารมณ์เหล่านี้ไว้แล้วคิดถึงอนาคตให้มาก เพราะรู้แล้วว่าเรามีเวลาเหลือน้อย แต่ถ้ามัวแต่มองว่าฉันมีเวลาน้อย ฉันไม่มีแรง ฉันไม่มีพลัง หรือฉันไม่มีอำนาจ เราก็จะหมดหวัง แต่ ‘ความหวัง’ ก็เป็นสิ่งที่ควรจะพูดถึงเมื่อยี่สิบปีก่อนเช่นกัน เพราะตอนนี้เราไม่มีเวลาให้คิดถึงเรื่องความหวังอีกแล้ว เราต้องรู้ข้อมูล มองภาพใหญ่ให้ออก และลงมือทำปัจจุบันให้มากที่สุด

        เรารู้แล้วว่าเราหยุดโลกร้อนไม่ได้ เพราะมันได้ขับเคลื่อนตัวเองไปถึงขั้นที่เราไม่สามารถจะหยุดยั้งได้แล้ว สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือพยายามหากระบวนการในการบรรเทาลงมา หรือหยุดยั้งให้มันไม่หายนะไปมากกว่านี้ จนถึงขั้นที่คนรุ่นต่อไปอาศัยในโลกนี้ไม่ได้แล้ว เราคิดว่าจุดนี้ยังพอหยุดได้ ดังนั้นก็ต้องเต็มที่

ดังนั้น อย่าอ้างว่าไฟป่าที่ออสเตรเลียไม่ใช่เรื่องของฉัน เพราะฉันอยู่เมืองไทย ฉันจะอยู่ในพื้นที่อันสุขสบายของฉันและจะบริโภคล้นเกินต่อไป

        ถ้าเราเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับโลก ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศก็ย่อมเกี่ยวข้องกับเราทุกคน และเราล้วนมีส่วนในการสร้างปัญหานี้ด้วยกันทั้งหมด จากการบริโภคอันล้นเกินของเรา เพราะสังคมประกอบด้วยหน่วยย่อยต่างๆ มากมาย ซึ่งพอเอามารวมกันแล้วผลกระทบมันใหญ่หลวง นี่คือความยากของการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

        แต่ก็ยังอยากจะย้ำว่าเราสร้างสำนึกของปัจเจกมาเยอะมากแล้ว จึงอยากจะเน้นไปที่ ‘อภิปัจเจก’ อย่างพวกคนที่อยู่ในระดับท็อป 1 เปอร์เซ็นต์ของโครงสร้างเศรษฐกิจ หรืออภิมหาเศรษฐีทั้งหลาย เขาได้สัมปทานพื้นที่ไปมากมายเพื่อทำธุรกิจ ในขณะเดียวกันเขาก็อาจจะทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่โฆษณาให้เห็นว่าเป็นพื้นที่ที่ได้อยู่กับธรรมชาติ เพราะฉะนั้น เขารู้ว่าธรรมชาติมันสำคัญต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และความคิดสร้างสรรค์ แน่นอนว่าตัวเขาเองก็อยากอยู่กับธรรมชาติ แต่การทำแบบนี้มันหมายความว่าจะมีแค่คนมีสตางค์อยู่กลุ่มเดียวหรือเพียง 1 เปอร์เซ็นต์บนยอดพีระมิดเท่านั้นที่จะได้อภิสิทธิ์ในการอยู่ในพื้นที่ที่มีธรรมชาติ

        เช่นเดียวกับขณะที่ออสเตรเลียกำลังเกิดไฟป่า แต่นายกฯ ออสเตรเลียที่อุดหนุนอุตสาหกรรมถ่านหินกลับเดินทางไปพักร้อนที่ฮาวายได้โดยไม่เดือดร้อนอะไรเลย แต่คนที่ถูกผลกระทบคือพวกคนในระดับอย่างเราๆ หรือเป็นพวกคนยากจนที่ไม่ได้มีทุนรอนจะหนีไปต่างประเทศได้แบบพวกคนมีอำนาจเหล่านั้น จากเหตุการณ์นี้จะเห็นได้ว่า เราในฐานะพลเมืองจึงต้องเรียกร้อง เพราะมันเป็นประเทศของเรา และเขาก็ไม่มีสิทธิไล่เราออกไปที่ไหนด้วย