ปี ค.ศ. 2017 ชื่อของ สยมภู มุกดีพร้อม โดดเด่นขึ้นมาบนหน้าสื่อกระแสหลัก จากการเป็นผู้กำกับภาพให้กับภาพยนตร์สัญชาติอิตาลีอย่าง Call Me by Your Name และเป็นที่กล่าวขวัญสำหรับคอหนังและนักวิจารณ์ทั่วโลก โดยเฉพาะการถ่ายทำด้วยฟิล์มอันทำให้เสน่ห์ของเครโมนา เมืองเล็กๆ ทางตอนเหนือของอิตาลีซึ่งเป็นฉากหลังของภาพยนตร์ในบรรยากาศฤดูร้อนนั้นเจิดจ้าประทับใจสำหรับหลายๆ คนที่ได้ชม และตัวภาพยนตร์ก็ได้รับรางวัลออสการ์ สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมมาครอง
a day BULLETIN มีโอกาสชวนสยมภูมาพูดคุยอีกครั้ง หลังจากที่เขาเพิ่งได้รับรางวัล Independent Spirit Awards สาขา Best Cinematography จากภาพยนตร์เรื่อง Suspiria มาหมาดๆ ทำให้ชื่อของเขาถูกพูดถึงอีกครั้งในระดับสากล ปฏิเสธไม่ได้ว่าประสบการณ์และความเข้าใจชีวิตที่หล่อหลอมตัวตนมามีส่วนอย่างมากต่อการทำงานของอาชีพที่ต้องเฝ้ามองผู้คนอย่างผู้กำกับภาพ ตัวตน ทัศนคติ มุมมองที่มีต่อชีวิต ต่อสังคม และต่อโลกใบนี้ของสยมภูจึงน่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากระบวนการความคิดที่เกี่ยวข้องกับการทำงานมากว่า 20 ปีของเขา เพราะเราเชื่อว่าทั้งสองสิ่งล้วนเชื่อมโยงกัน
ภายใต้ใบหน้าสุขุมและผมสีดอกเลาที่แซมอยู่กับผมสีดำของเขานั้น บทสนทนาระหว่างเราค่อยๆ เปิดเปลือยคมความคิดและมุมมองของเขาให้เราได้ลงลึกสู่ตัวตนของชายผู้นี้มากยิ่งขึ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงานหรือการดำเนินชีวิต สิ่งที่เขาพยายามบอกเราเสมอในบทสนทนาคือการ ‘เข้าใจ’ และ ‘มองเห็น’ ข้อเท็จจริงของสิ่งนั้นๆ อย่างถ่องแท้ อันจะนำมาซึ่ง ‘ปัญญา’ ที่เป็นหลักการดำเนินชีวิตของเขาในช่วงวัยนี้ด้วยเช่นกัน
“สุดท้ายแล้วเราพบว่าคนที่พูดได้ถึงแก่นเท็จจริงที่สุดคือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หนังสือการเมืองที่เราอ่านแล้วอินที่สุดคือหนังสือการเมืองของท่านพุทธทาสภิกขุ ทั้งที่ไม่เกี่ยวกันเลยด้วยซ้ำไป แต่มันเป็น fact ที่เราใช้สติปัญญาไตร่ตรองดู แล้วเห็นจริงตามนั้น”
เราสัมผัสได้ว่าเบื้องหลังสายตาแห่งการมองโลกและสังคมของเขานั้น น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าสายตาในการกำกับภาพในภาพยนตร์ของเขาเลย
การได้รางวัลกำกับภาพระดับโลกต่อๆ กันทั้ง Call Me By Your Name หรือ Suspiria ทำให้คุณรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในจุดสูงสุดของการทำงานกำกับภาพหรือยัง
คิดว่ายังนะ เราว่ายังมีทางไปอีก จริงๆ คือเราไม่ได้มองตัวรางวัลเป็นหลัก มองเรื่องงานที่ทำมากกว่า เพราะถ้าพูดเรื่องงานศิลปะ มันไม่มีที่สิ้นสุดอยู่แล้ว จนกว่าเราจะหมดแรง
ทุกวันนี้คุณเจอสูตรตายตัวในการกำกับภาพหนังแต่ละเรื่องหรือยัง
เราว่ามีทั้งสองอย่าง ตายตัวก็ตายตัว เปลี่ยนแปลงก็เปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งที่มีกระบวนการของมันเอง แต่กระบวนการนั้นก็ไม่จำเป็นต้องตายตัวเสมอ แต่ก็ต้องมีหลักการที่ชัดเจนว่าเป็นพื้นฐานจากอะไร เพราะฉะนั้น ถามว่ามีหลักการตายตัวไหม มี แต่ก็ไม่ได้ตายตัวจนไม่สามารถจะสร้างอะไรได้เลย
ตัวชี้วัดที่จะบอกว่าคุณในฐานะผู้กำกับภาพมีความสำเร็จหรือล้มเหลวคืออะไร
ก็ตัวภาพยนตร์เองแหละ วัดกันซึ่งๆ หน้าเลย ว่าภาพยนตร์นั้นเป็นอย่างไร
ในแง่ไหน รายได้หรือเปล่า
ในแง่ตัวหนังเอง เพราะรายได้ไม่ใช่เรื่องของเรา เป็นเรื่องของสิ่งอื่น
การทำงานกับกองหนังต่างชาติเปลี่ยนความคิดอะไรคุณไปบ้าง ทั้งในแง่การทำงานและมุมมองชีวิต
ก็ไม่เชิงเปลี่ยนนะ เราก็เป็นของเราอย่างนี้แหละ ไม่ได้เปลี่ยนตัวเองมาก แต่โอเค มุมมองก็จะกว้างไกลขึ้น เพราะเราได้ไปเห็นสิ่งต่างๆ มากขึ้น แต่ว่ามันก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไรจากที่เป็นหรอก เราก็มีพื้นฐานจากสิ่งที่เราเป็น หรือจากสิ่งที่เราได้เรียนรู้และเติบโตมา
ถ้าอย่างนั้นย้อนกลับไปในช่วงเด็กหรือวัยรุ่น คุณเติบโตมากับครอบครัวแบบไหน สังคมแบบไหน
เราเติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางปกติ ไม่ได้เข้มงวด แต่ก็ไม่ได้ปล่อยปละละเลย พ่อรับข้าราชการเป็นหมอ เขาค่อนข้างให้อิสระกับเรา จะเรียนอะไรก็ได้ ด้วยความที่เราเรียนต่างจังหวัด เพราะฉะนั้น สังคมบ้านนอก ยิ่งเป็นสังคมเด็กด้วย มันไม่มีอะไรมากมายหรอก ปั่นจักรยานเล่นตามทุ่งหญ้า ไม่ได้มีสถานที่รวมตัวของเด็กเหมือนสมัยนี้ โครงสร้างทางสังคมในยุคสมัยเราถือว่ายังสบายอยู่นะ ความที่เทคโนโลยีก็ยังไม่ได้เหมือนตอนนี้ การแข่งขันยังไม่ได้สูง ชีวิตเด็กเลยเบากว่านี้
ถามว่าเข้าสังคมไหม ความเป็นเด็กมันเข้าสังคมโดยธรรมชาตินะ เช่น เราไปเตะบอล ก็เป็นการเข้าสังคมอยู่แล้วไง เราได้เล่นกีฬาด้วย ในขณะหนึ่งเราก็ได้เข้าสังคมด้วย มีค่าเท่ากัน แล้วยิ่งต่างจังหวัดเวลาเราไปเตะบอล คนทั้งอำเภอก็จะมาเตะด้วย เป็นสังคมโดยธรรมชาติ ก็มีเท่านั้น ไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้น (หัวเราะ) มัธยมต้นเราเตะบอลเพราะว่าอยู่ใกล้สนามบอลเท่านั้นเอง นอกจากนั้น เราก็เริ่มมาถ่ายรูปตอนมัธยมปลาย แต่ก็ถือเป็นกิจกรรมส่วนตัว เพราะว่าที่โรงเรียนก็มีชมรมถ่ายภาพด้วย
การอยู่บ้านนอกตอนเด็กๆ ในเวลานั้นทำให้คุณมีทัศนคติต่อโลกแบบไหน เชื่อถืออะไรง่ายๆ หรือมีความคิดต่อต้าน อยากตั้งคำถามอะไรบ้างหรือเปล่า
เราว่ามันมีทั้งสองด้าน ถามว่าต่อต้านไหม ก็มีความเห็นที่ต่อต้านเหมือนกัน แต่เราคิดว่าไม่น่าจะต่างจากเด็กคนอื่นนะ เพียงแต่ว่าเราไม่หยุดคิดที่จะตีความมันจนกว่าจะได้ข้อสรุป แล้วมุมมองตามวัยอะไรต่างๆ ก็เปลี่ยนไปตามประสบการณ์ที่เราเห็นมากขึ้น ตามความรู้ที่เรามีมากขึ้น แต่ตอนเป็นเด็กก็เป็นมุมมองปกติแหละ เพียงแต่ว่ายุคของเราอาจจะไม่ใช่ยุคที่มีเครื่องมือในการไกด์คนได้ขนาดนี้ คือเด็กสมัยนี้อาจมองว่าเข้าถึงอะไรได้ง่ายเหลือเกิน แต่นั่นแหละ สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เรามองว่าทำให้คนเป็นเครื่องจักร เป็นสิ่งเดียวกันมากขึ้นได้ง่ายกว่าสมัยที่เราเป็นเด็ก เนื่องจากการสื่อสารกับคนหมู่มากง่ายขึ้น เพราะฉะนั้น มันผลิตหรือเลียนแบบสิ่งที่คล้ายๆ กันได้มากขึ้น แต่ยุคของเราเป็นยุคที่สิ่งพวกนี้ยังไม่แข็งแรง เพราะฉะนั้น ความเป็นตัวตนก็คงสูงกว่าแหละ
ความง่ายขึ้นเช่นนั้นมีข้อดีหรือข้อเสียมากกว่ากัน
สำหรับเรามันเป็นข้อเสียอย่างชัดเจนนะ (ตอบทันที) สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ถ้าคนไม่เท่าทัน ไม่ฉลาดพอ ไม่รู้ว่า fact คืออะไร truth คืออะไร มองแค่สิ่งที่เราเข้าใจว่าเป็น fact เป็น truth ในระดับเราเท่านั้น โดยที่ไม่พยายามไปหาว่า absolute fact หรือ absolute truth คืออะไร จะลำบาก นึกภาพเหมือนเป็นกะลาที่ครอบอยู่เป็นชั้นๆ ถ้าใครทะลุกะลาไปได้มากที่สุดก็จะเห็นภาพที่ชัดเจนมากที่สุด
คุณจะบอกว่ายุคนี้ต่างจากยุคก่อนที่คนต้องศึกษาลงลึกก่อนกว่าจะได้ข้อมูลอะไรมา แต่ทุกวันนี้เราเห็นงานคนนั้นคนนี้แล้วเลียนแบบได้ง่ายมาก
ก็ใช่นะ เนื่องจากมันสำเร็จรูปมากขึ้น แล้วทุกอย่างต้องการความสำเร็จแบบรวดเร็ว ซึ่งเป็น fact ของยุคนี้ เราคงปฏิเสธไม่ได้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าเราคิดว่ามันไม่เปลี่ยนไปหรอก คุณก็ต้องกลับไปหาสิ่งที่เป็นพื้นฐานบ้างจริงๆ เพื่อที่คุณจะได้มีปัญญาจริงๆ
คำว่าปัญญาของคุณหมายถึงอะไร
คำว่าปัญญาไม่ได้แปลว่าความรู้เฉยๆ จะเปรียบเทียบให้เข้าใจ เหมือนกับว่าเวลาคุณเดินคุณคิดไหม คุณคิดเหรอ ไม่ใช่นะ เวลาเราจะเดินก้าวเท้าขวาเท้าซ้ายเราไม่ได้คิดไง จริงไหม ขอถามหน่อย เวลาคุณจะเดินคุณจะคิดก่อนไหมว่าจะทำอะไรก่อน
คิดแค่ว่าจะเดินไปไหน
ถูกต้อง แต่กระบวนการเดินเราไม่ต้องคิดไง มันเป็นธรรมชาติ เข้าใจใช่ไหม เป็นสิ่งที่เราเข้าใจอย่างถ่องแท้และชัดเจนเสียจนเราไม่ต้องไปคิดถึง เหมือนเราหายใจ เราไม่ต้องคิด สิ่งนี้สำหรับเราคือปัญญา สิ่งนี้ไม่ได้มาจากการที่มีใครมาบอกคุณ เป็นไปไม่ได้
การจะได้มาซึ่งปัญญาต้องผ่านการฝึกฝนหรือเปล่า
ถูกต้อง คุณต้องอยู่กับตัวเองให้ได้ก่อน คุณต้องเข้าใจตัวเองให้ได้ก่อนว่าคุณจะทำอะไร ซึ่งกลายเป็นว่าทุกวันนี้มีแต่เรื่อง how to จะเป็นอย่างนี้ แต่กลับไม่มีคอนเทนต์พื้นฐานที่จะทำให้เราเป็นอย่างนั้น เหมือนคนทำกับข้าว น้ำตาลมีรสหวาน คุณเข้าใจว่ามันหวานไหม คอนเทนต์พื้นฐานคือความรู้เกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่คุณจะต้องรู้ ซึ่งหาได้น้อยเหลือเกิน เพราะว่าทุกคนมองไปที่ผลหรือความสำเร็จกันหมด โดยที่ไม่ได้มองว่าข้างหลัง วิธีการปรุง พื้นฐานความคิดคุณคืออะไร มาจากไหน
เราคิดว่าเด็กสมัยนี้โตมากับโลกเสมือนเสียจนจับโลกจริงยากแล้ว ทุกอย่างดูเหมือนง่ายไปหมด แต่จริงๆ มันจำลองให้คุณเฉยๆ ไม่ได้เป็นความจริง ทั้งความสัมพันธ์ ความรัก คุณดูหนัง ดูทีวี ดูละคร โอ้โฮ คุณบอกว่าเข้าใจ แต่คุณสร้างมันจากความจริงนั้นได้หรือเปล่า การรักกับเพื่อน ต่อยกับเพื่อน โกรธกับเพื่อน พวกนี้เป็นสิ่งพื้นฐานของมนุษย์นะ เด็กทุกคนต้องมีทั้งนั้นแหละ แต่เด็กสมัยนี้ถูกปกป้องหมดทุกอย่าง ยิ่งเด็กในเมือง ถูก protect โดยพ่อแม่ ถูกสร้างเพราะมีความหวังว่าต้องเป็นนู่นนี่ เพราะฉะนั้น ต้อง input สารพัดอย่างเข้าไปให้เด็ก ซึ่งก็ไม่ได้ผิดนะ เพียงแต่ว่ากระบวนการนั้นมัน absurd สำหรับเราในการสร้างมนุษย์สักคนหนึ่ง
คุณมองว่าควรปล่อยให้เป็นตามธรรมชาติ
ใช่ แต่ว่าจริงๆ พ่อแม่เขาก็ปล่อยนะ แต่สิ่งแวดล้อมที่เราสร้างขึ้นมาเองต่างหากที่ทำให้หนีไม่พ้น ซึ่งบางทีเราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไปว่าเราสร้างอะไรขึ้นมาบ้าง
คุณเคยบอกว่าตอนเรียนนิเทศฯ ชอบไปถ่ายชีวิตคนบนท้องถนนมากกว่านางแบบ เพราะอะไร
มันเป็นสิ่งภายในที่ผลักดันเรา เราไม่ถามตัวเองว่าทำไม แต่เราทำตามที่รู้สึกเท่านั้นเอง เราชอบเวลาเดินไปแล้วเห็นมากกว่าไง ถ่ายรูปนางแบบสวยๆ เราก็เฉยๆ นะ อาจเป็นเรื่องรสนิยม มุมมองของเราต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง นี่ไง เราถึงบอกว่ามันเป็นผลของการที่เราได้สะสมอะไรมาในอดีตด้วยเหมือนกัน เราเป็นเด็กที่อ่านหนังสือ เข้าห้องสมุด เพราะต่างจังหวัดไม่มีอะไรทำ ปิดเทอมก็ไปเล่นกับเพื่อน เสร็จก็เข้าห้องสมุด แล้วก็ออกมาเล่นต่อ ก็แค่นั้นเองชีวิต (หัวเราะ) เข้าใจใช่ไหม ไม่ต้องไปรถติดด้วย ไปไหนก็เดินไปได้
ชีวิตเด็กต่างจังหวัดหล่อหลอมให้คุณเป็นแบบนี้ใช่ไหม
คิดว่าใช่ คงเป็นเรื่องพรหมลิขิต ซึ่งมีจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้หรอก (หัวเราะ)
ตอนที่คุณไปตระเวนถ่ายสิ่งต่างๆ บนท้องถนน คุณโฟกัสอะไร ภาพที่ต้องการถ่ายหรือคำถามบางอย่างที่อยู่ในใจ
โฟกัสเรื่องเทคนิคล้วนๆ เลย เราพยายามตีความสิ่งที่เห็นว่ามันจะแปลเป็นความหมายเชิงเทคนิคได้อย่างไร
หลังจากนั้นคุณได้เริ่มคลุกคลีแวดวงภาพยนตร์ มีโอกาสไปอยู่ต่างประเทศ สิ่งเหล่านั้นมันเปลี่ยนมุมมองหรือความคิดอะไรบ้างไหม
ถือว่าเปิดโลกเหมือนกันนะ แต่เราก็ไม่ได้เปลี่ยนไปหรอก เราก็มีแบ็กกราวนด์จากที่เดิม เพียงแต่ว่าเราได้เห็นในสิ่งที่คนหมู่มากเขาอาจจะคิดไม่เหมือนกัน คนหมู่มากตรงนี้คิดแบบนี้ มีพิธีกรรมแบบนี้ แต่คนหมู่มากในที่อื่นเขามองสิ่งเดียวกันแล้วเขามีพฤติกรรมตอบสนองต่อสิ่งเดียวกันต่างออกไป เราก็ได้เรียนรู้ว่าทำไมพฤติกรรมถึงต่างกัน ความคิดพื้นฐานต่อสิ่งนี้เป็นอย่างไร แล้วก็ได้เปรียบเทียบว่า อ๋อ ถ้าคิดแบบนี้ก็จะเป็นแบบนี้นะ มันคือการได้เปิดโลกแหละ
ทำให้คุณมองมนุษย์ลึกซึ้งขึ้นไหม
ก็ถือว่าได้เห็นมากขึ้นนะ ข้อมูลแบบ raw data ก็มีมากขึ้น เป็นในแง่นั้นมากกว่า
คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าคุณเข้าถึงภาพยนตร์ในแง่ของความเป็นสัจนิยม อยากให้อธิบายว่ามันมีข้อดีอย่างไรต่อมุมมองภาพในหนังที่ทำออกมาทุกวันนี้
(นิ่งคิด) อาจจะเป็นรสนิยมส่วนตัวของเรานะ คือช่วงหลังเราเลิกดูหนังมานานแล้ว เนื่องจากไม่มีหนังที่อยากจะดู เราคิดว่าหนังสมัยนี้เป็นหนังที่การตลาดเป็นใหญ่เหลือเกิน เราเลยเข้าไม่ติด สำหรับเราหนังเป็นจริงกว่านั้น เลยอาจใช้คำว่าสัจนิยมหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ คำว่า ‘เป็นจริงกว่านั้น’ แปลว่า ณ เวลาที่สร้างขึ้นมา ต้องเป็นจริงตามบริบทของกรอบของการเขียน ต้องเป็นจริงในกรอบนี้ให้ได้ จะจริงได้อย่างไร เราก็ต้องใช้ประสบการณ์ ใช้สิ่งที่เรามีทำขึ้นมาตัดสินมัน ซึ่งเรื่องพวกนี้เกี่ยวข้องกับหลายอย่าง เรื่องทักษะในการทำงาน หรือความเข้าใจในการดีล ซึ่งไม่ใช่งานคนเดียวด้วย แต่เป็นงานของคนหลายๆ คน เพราะฉะนั้น ถึงต้องเป็นทีม มันเป็นสัจนิยมในแง่นี้ เพียงแต่ว่าก่อนที่จะเป็นตรงนี้ ก็ต้องมีกรอบของการเขียนมาก่อน แต่ขณะเดียวกัน กรอบที่คุณเขียนมานี่แหละก็ต้องเป็นสัจนิยมที่จะไปตอบกับอะไรสักอย่างหนึ่งเวลาคนดูหนังเสร็จแล้ว เพราะว่าถ้าเกิดคนเขียนไม่สามารถเขียนให้เชื่อมโยงกับสิ่งที่เป็นจริงได้ มันก็เลื่อนลอยใช่ไหม
แม้แต่หนังของ Marvel เขาก็ต้องเชื่อมโยงกับสิ่งที่เป็นจริง ความเหงา ความเศร้า ความนู่นนี่ แต่เหงาเพราะอะไร เศร้าเพราะอะไร ก็เป็นเรื่องต่อไปแล้ว ก็ต้องถามเป็นขั้นๆ ไป ทีนี้ก็เลยย้อนกลับมาว่า ‘แล้วฉันจะไปดูทำไมล่ะ’ ถ้าคุณจะบอกแค่นี้ นึกออกไหม คือสำหรับเราเนื้อหาต้องมาก่อน พอเราคิดแบบนี้ก็จะวนกลับมาที่เนื้อหา ก็เลยอาจจะเป็นคำว่าสัจนิยมที่พูดไป เพราะสุดท้ายคิดไปมันก็กลับมาที่เรื่องเนื้อหาเหมือนเดิม
อย่างนั้นแล้วทุกวันนี้คุณมีหลักในการเสพหนังยังไง
อันนี้ส่วนตัวเลย เพราะเราคิดว่าศิลปะไม่มีข้อจำกัด จริงๆ เราเปิดกว้างมาก จะป๊อปแค่ไหนก็ดูได้ ถ้าตัวหนังมีอะไรน่าสนใจ และมีเนื้อหาน่าสนใจ ทำให้เราคิดต่อได้ หนังคุณจะยากฉิบหายก็ได้ หรือคุณยากแต่คุณกลวงฉิบหายเราก็ไม่เอาเหมือนกัน แค่นั้นเอง
หนังเรื่องล่าสุดที่คุณดูแล้วชอบคือเรื่องอะไร
หนังฮอลลีวูดนี่เราไม่ได้ดูนานมากแล้วนะ (นิ่งคิด) อ๋อ เราดูหนังญี่ปุ่นที่ได้คานส์ เรื่อง Shoplifter อันนั้นดีนะ อย่างนั้นน่ะเป็นความง่าย แต่เนื้อหากระแทกใจมาก แล้วทำให้เราคิดต่อ อ๋อ คนมันคิดแบบนี้ ถ้าอย่างนี้เราชอบเลยแหละ เพราะมันตั้งคำถามให้เราว่า เอ๊ะ ทำผิดหรือทำถูกวะ ต้องทำยังไงวะ แล้วเขาทำแบบง่ายๆ ด้วย ไม่ต้องซับซ้อน
คุณชอบหนังที่พูดถึงแง่มุมต่างๆ ของมนุษย์ใช่ไหม
เพราะมันทำให้มนุษย์ดูไง (หัวเราะ) ทุกอย่างในโลกนี้เราว่าเกี่ยวกับมนุษย์หมด มีเรื่องไหนที่ไม่เกี่ยวกับมนุษย์บ้าง คุณลองยกตัวอย่างมาหน่อยสิ
หมายถึงว่าที่ไม่เซอร์เรียลจนเกินไป เช่น เปรียบเทียบระหว่างหนังในจักรวาลมาร์เวล ซึ่งเป็นฮีโร่ต่อสู้ในอวกาศ กับ Shoplifter ที่พูดถึงสถานการณ์ในชีวิตคนจริงๆ
ไม่ๆ แต่มาร์เวลเป็นเนื้อหาที่เราไม่เข้าใจว่าจะต่อสู้ไปเพื่ออะไร ต่อสู้กับใคร คุณสร้างตัวละครที่มันเหนือมนุษย์ คุณสร้างสังคมปลอมขึ้นมา เราไม่เก็ตไง คือเราเข้าใจได้แหละ แต่ว่าถามว่าเราอินไหม เราเฉยๆ ไง เพราะว่าเราไม่รู้สึกถึง fact ของความเป็นจริงที่เกิดขึ้น สมมติเราถามคุณ ระบบการเมืองในโลกนี้คุณว่าระบบไหนดีที่สุด หรือคุณว่าสังคมเราควรจะไปทางไหน
ระบบที่สมบูรณ์ที่สุดคงไม่มี แต่ระบอบประชาธิปไตยน่าจะเป็นระบบที่เปิดโอกาสให้คนได้มีสิทธิ์มีเสียง มีการแสดงออกที่เสรีภาพในความเป็นมนุษย์ที่สุด
แล้วสิ่งนั้นมันนำซึ่งอะไรมาล่ะ
ก็คงเป็นความหลากหลาย แต่ความหลากหลายนั้นก็ต้องมีกฎอะไรบางอย่างที่คอยกำหนดให้เสรีภาพอยู่ในร่องในรอยด้วย
แต่สิ่งที่เราเห็นคือ มันถูกพิสูจน์แล้วว่าเส็งเคร็งโดยสิ้นเชิง เพราะมันเป็นแค่การทำให้คนมาโกงได้อย่างถูกต้องเฉยๆ ไม่มีสาระ คุณลองมองไปที่ไหนก็ได้ ถ้าคุณมองในรายละเอียดคุณจะเห็นว่ามันเป็นแหล่งรวมของการหาผลประโยชน์ โดยใช้เหตุและผลที่จะแสวงหาผลประโยชน์ของตัวเองเฉยๆ เท่านั้นเอง จะมีอะไรดีกว่านั้นล่ะ แล้วมันตอบคำถามเรื่องความไม่เท่าเทียมกันที่เป็นมาตั้งแต่ไหนแต่ไรได้หรือยังล่ะ ปรัชญาของมนุษย์เวลาเราพูดถึงเรื่องความรู้ เราพูดถึงสิ่งไหนกัน
คนเราเกิดมา สังคมเราอยู่กันยังไง เราควรจะเป็นยังไงคือสิ่งที่ดี สิ่งเหล่านี้พูดตั้งแต่สมัยกรีกโน่นแล้ว เพราะมันมีจุดประสงค์ชัดเจนว่าเราจะพูดถึงสิ่งไหนอยู่ แต่ก็เห็นอยู่แล้วว่ามันไม่เกิดอะไรขึ้น เกิดแต่การรบราฆ่าฟัน เกิดแต่การออกกฎเกณฑ์เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวทั้งนั้น เป็นข้ออ้างของใครไม่รู้สักคนหนึ่ง เพื่อที่จะเอาผลประโยชน์มาหาตัวเองเท่านั้นเอง ไม่นำพาไปสิ่งไหนเลย เพราะฉะนั้น เราเลยมองไม่เห็นทางออก ไม่ต้องพูดถึงภาพยนตร์ด้วย เวลาเราคิดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้าเราลงไปหาข้อมูลก็จะเจอเองว่ามันคืออะไร แต่ไม่รู้นะ เราหาจนเราไม่เจออะไรเลย แม้แต่ทางขวา ทางซ้าย เข้าใจใช่ไหม ยิ่งไปกันใหญ่ เละเทะพอกัน ในประเทศที่พรรคคอมมิวนิสต์แรงๆ ก็ล้มเหลว เนื่องจากว่าไม่สามารถตอบคำถามกับสังคมยุคใหม่ได้เหมือนกัน มันไม่มีทางไปแล้วคุณ
คุณจะบอกว่าก่อนที่จะเสนอความเห็นอะไรในทุกเรื่อง ไม่ว่าหนังหรือการเมือง จงไปศึกษาข้อมูลให้ถ่องแท้ก่อนใช่ไหม
ถ้าเราจะพูดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง คุณต้องเข้าใจสิ่งนั้นให้ดีก่อนที่จะพูด ไม่อย่างนั้นก็จะมีแต่คนพูดเยอะแยะไปหมด โดยที่ไม่มี fact เลย เท่านั้นเอง คราวนี้คนที่อยู่ภายใต้สิ่งนี้ ยิ่งรับก็ยิ่งงงกันไปใหญ่ จับจุดกันไม่ถูก ยิ่งฟังยิ่งกลวง
แล้วบนโลกใบนี้ อะไรคือ fact สำหรับคุณ
สุดท้ายแล้วเราพบว่าคนที่พูดได้ถึงแก่นเท็จจริงที่สุดคือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หนังสือการเมืองที่เราอ่านแล้วอินที่สุดคือหนังสือการเมืองของท่านพุทธทาสภิกขุ ทั้งที่ไม่เกี่ยวกันเลยด้วยซ้ำไป แต่มันเป็น fact ที่เราใช้สติปัญญาไตร่ตรองดู แล้วเห็นจริงตามนั้น
คุณหมายถึงคุณไม่เชื่อในระบบการเมืองหรือระบบการปกครอง แต่สิ่งที่ค้นพบความเป็นจริงของการใช้ชีวิตบนโลกใบนี้คือการได้ศึกษาเรื่องสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม
คืออาจารย์เราก็มีหลายคนในแต่ละเรื่องไป แต่อาจารย์ใหญ่ที่สุดของเราก็คือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเราเถียงท่านไม่ได้สักเรื่องเลย นึกออกไหม หรือคุณจะลองดูก็ได้นะ (หัวเราะ)
แต่กับสังคมที่ดำเนินไปแบบนี้ เราควรมีทัศนคติแบบไหนในการใช้ชีวิต
ก็ต้องดูแลตัวเอง ทุกอย่างต้องดำเนินไปตามนั้น ‘มันย่อมเป็นเช่นนั้นแล’ นึกออกไหม เราเปลี่ยนไม่ได้ เอาง่ายๆ คำถามนี้เหมือนกัน เราถามคุณง่ายๆ ชัดเจนที่สุด คุณจะลดโลกร้อนยังไง กลไกวิธีคิดเดียวกับที่คุณถามเราเลย
เริ่มเปลี่ยนแปลงจากวิถีชีวิตของตัวเราเองก่อน
แล้วสถานการณ์จริงๆ จะเป็นอย่างนั้นได้ไหม ไม่มีทางนะ สุดท้ายก็พากันลงเหว ไม่มีอะไรมากกว่านั้น คุณลองคิดดูให้ดี มันเหมือนกัน กลไกวิธีคิดเดียวกัน ไม่มีประโยชน์ เพราะคนจำนวนมากเกินไปไม่มีปัญญามากพอ เราพูดคำนี้เลย เขาก็ไม่ได้ผิดนะ เขามีชีวิตของเขา เขาเห็นโลกของเขา เพียงแต่เรื่องใหญ่ที่ลงไปข้างล่างเขาไม่เห็น ก็แค่นั้นเอง หรือแม้แต่คนที่เห็น คนที่มีอำนาจวาสนาก็ไม่สนใจหรอก ก็แค่เอาผลประโยชน์ของตัวเองพอแล้ว เพราะว่าบริษัทกู อาณาจักรของกู กูต้องได้กำไร แค่นั้นเอง อย่างอื่นก็เรื่องของมัน อีกตั้งร้อยปีกูไม่เกี่ยว จริงไหม เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ มนุษย์จะเปลี่ยนได้ยังไงล่ะ แต่คนที่พูดว่ามนุษย์เปลี่ยนได้มีคนเดียวคือพระพุทธเจ้า เปลี่ยนได้คือคุณก็ต้องมีปัญญา แต่ปัญญาไม่ใช่แค่การอ่านหนังสือ ก็แค่นั้นเอง มันง่ายมากนะ
แล้วในสังคมที่คนหลงทาง เราจะมีวิธีการเข้าถึงซึ่งปัญญานั้นอย่างไร
ต้องหยุด แล้วก็ต้องคิด ต้องหาอาจารย์ของตัวเอง คุณอย่าพูดเลยว่าศาสนาพุทธเลวร้ายอย่างนั้นอย่างนี้ มีแต่เรื่องที่เป็นพิธีกรรม คือศาสนาก็มีทั้งในแง่ของปรัชญา ในแง่ของการเมือง เราปฏิเสธไม่ได้ ที่ไหนก็มี เพราะฉะนั้น คุณอย่าอ้าง แต่คุณหาของแท้หรือเปล่าล่ะ หรือคุณแหกปากแล้วทั้งๆ ที่ยังไม่ทันหาของแท้ คุณอยากรู้คุณก็ต้องหาสิ่งที่มันอาจจะใช่ ณ เวลานี้ แต่ในอนาคตอาจจะไม่ใช่ เราก็เปลี่ยนความคิด แต่นั้นแหละ เราก็ได้ฝึกฝน ได้ลับมีดของเราไง
สายตาที่คุณใช้มองชีวิตทั่วไปอย่างที่เล่ามา กับสายตาที่คุณมองผ่านเบื้องหลังเลนส์ถ่ายหนัง ต่างกันไหม
สำหรับเราเป็นคนละเรื่องนะ บางทีหนังอาจจะเป็นเรื่องเทคนิคในการทำงาน มีกระบวนการตั้งหลายอย่างก่อนที่จะถ่ายหนัง แต่อย่าลืมนะว่าจะรับหรือไม่รับงานอะไรเราต้องอ่านบทก่อน คือถ้าบทซื้อเราได้ก็โอเค แต่ถ้าบทนั้นไม่ซื้อเรา เราก็ไม่ทำตั้งแต่ต้นแล้ว ก็ต้องมีเหตุผลหลายๆ อย่างที่มนุษย์เราจะเลือกทำอะไร เช่น บทไม่ดีมากๆ เลย แต่ โอ้โฮ เงินเยอะฉิบหาย เราอาจจะทำก็ได้ เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ เราไม่สามารถบอกกว้างๆ ได้หรอก แต่มันเลวร้ายแค่ไหนล่ะ แล้วเลวร้ายแบบไหนล่ะ คำว่าเลวร้ายของเราไม่ได้แปลว่าเลวนะ แต่อาจเป็นความไม่ชอบใจมากกว่า เพราะคนเราก็ต้องมี agenda มีความคิดของตัวเองว่าเป็นอย่างไร แต่ขณะเดียวกันก็ต้องระวังว่าเราเลือกสิ่งนี้แล้วเราจะไม่รับสิ่งอื่นเลยหรือ
ถ้าแว่นตาที่คุณใช้ตัดสินหนังเรื่องหนึ่งคือความสวยงาม แล้วแว่นตาที่คุณใช้ตัดสินโลกล่ะ คืออะไร
สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ที่เราเห็น ไม่ใช่สิ่งที่พูด ถ้าคุณเป็นนักวิชาการจริงๆ การเฝ้ามองสังคมไทย ณ ปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่โคตรน่าสนใจ สมัยนี้การบิดเบือนค่อนข้างสูง เนื่องจากอำนาจในการบิดเบื้อนเนื้อหาได้ถูกเรียนรู้มานานนับศตวรรษแล้ว วิธีการที่ใครสักคนอยากจะบิดเบือนเนื้อหา คุณก็รู้ว่าทำยังไง คนที่มีอำนาจวาสนามีเงินเยอะๆ ที่เขาฉลาด เขาจะไม่รู้เหรอ คิดง่ายๆ ทุกวันนี้มีการบิดเบือนเยอะเกินเสียจนไม่สามารถเข้าหา fact จริงๆ ได้แล้ว Al Jazeera ถึงต้องเกิดไง เพราะมันต้องคานกับ CNN ให้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม Al Jazeera ก็เป็น agenda ของอะไรสักอย่างเหมือนกันแหละ มันไม่มี fact นึกออกไหม นี่คือโลกที่เราอยู่ทุกวันนี้ คุณอยู่บนโลกที่ข้างบนเขากำลังแก่งแย่งกันโดยใช้ทุน ใช้เงิน แล้วก็หมุนกัน หมุนมาข้างล่าง คนส่วนใหญ่ก็หมุนตามเงินอยู่ข้างล่างเฉยๆ ทำอะไรไม่ได้ด้วย แค่นั้นเอง อย่ามาเหลาอะไรมากกว่านี้เลย ไร้สาระ (หัวเราะ)
แสดงว่าความหวังของสังคมคือการที่ต้องรู้เท่าทันใช่ไหม
ถูกต้อง คุณต้องมีปัญญาเกิดขึ้นมาให้ได้ แต่ปัญญาแบบมิจฉาทิฐินะ ที่เห็นความจริงเป็นจริงๆ เพราะคนบางคนก็คิดว่าตัวเองมีปัญญาแต่เอาเข้าจริงกลับหลงผิดก็มี อันนี้สุดท้ายก็ทะเลาะกัน
คุณคุยกับเด็กรุ่นใหม่บ่อยไหม ความคิดไหนเป็นสิ่งที่ทำให้คุณประหลาดใจมากที่สุด เขาต่างจากคนรุ่นคุณอย่างไรในการมองโลก
เราทำงานกับเด็กก็จริง แต่ว่าเราไม่ได้ร่วมงานในฐานะที่เป็นคู่คิด ก็คงตอบยากนะ แต่เด็กรุ่นใหม่ก็เป็นยุคของเขา วันหนึ่งเราก็ต้องตาย เดี๋ยวเขาก็ทำต่อ เป็นเรื่องปกติแค่นั้นเอง (หัวเราะ)
ได้รางวัลระดับโลก มีคนชื่นชม แต่ถ้าวันหนึ่งไม่มีใครชื่นชมหนังที่คุณกำกับภาพแล้วล่ะ จะรู้สึกอย่างไร
มนุษย์แหละนะ ก็คงเป็นเรื่องปกติ แต่ว่าเราไม่ได้ยึดสิ่งนี้เป็นสรณะตั้งแต่ต้น เราเลยไม่รู้จะตอบยังไงเหมือนกัน หน้าที่เราคือการทำ หน้าที่เราไม่ได้ไปบอกว่าคุณต้องชอบสิ่งที่เราทำ
คุณเคยต้องทำงานในช่วงเวลาท้อแท้กับชีวิตบ้างไหม มันส่งผลกระทบต่อภาพในงานมากน้อยแค่ไหน
เราว่าทุกอย่างที่ผ่านมาในชีวิตส่งผลทุกอย่างแหละ แต่ว่าอย่างที่บอก เราก็ต้องรู้เท่าทันว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นมันมีผลกับมุมมองของเราอย่างไร มันก็เป็นเรื่อง fact ปกติ กลับมาเรื่อง fact เหมือนเดิม คุณเอาอารมณ์ส่วนตัวเข้ามาอยู่ในการทำงาน มันก็จบเห่ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว คนอื่นเขาไม่ได้อินเหมือนกับคุณนี่
สำหรับคุณ อาชีพผู้กำกับภาพมีวันหมดอายุไหม
มีนะ ถ้าร่างกายสังขารไม่ไหว ก็ทำไม่ได้แหละ แต่อาจจะช้านิดหนึ่ง ถ้าสังขารไม่ไหวเราก็หมดเวลา แก่แล้ว ก็เป็นเรื่องธรรมดา เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องปกติ
แล้วคุณเคยคิดไหมว่าจะหยุดเมื่อไหร่
ไม่เคยคิดนะ ก็ทำไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็ทำสิ่งอื่นไปด้วย เราว่าวัยนี้ต้องทำอะไรให้โลกแล้วล่ะ ไม่ใช่ทำให้คนแล้ว คนต้องปล่อยไปแล้วล่ะ (หัวเราะ) เพราะคนทำร้ายโลกเสียจนโลกต้องการความช่วยเหลือมาก ทุกวันนี้เราเลยสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นสิ่งเดียวที่มนุษย์จะทำให้โลกได้ มากกว่านั้นไม่มีสาระให้จับต้องอะไร เนื่องจากว่ามันไม่สามารถควบคุมได้แล้ว
ทำให้โลกมากขึ้นในแง่ไหน แง่การทำงานในการเป็นผู้กำกับภาพหรือแง่อื่นๆ
ในแง่อื่นๆ มากกว่า คือมันจับต้องกันเห็นๆ ง่ายๆ แล้วไม่ใช่เพราะช่วงวัยถึงคิดแบบนี้นะ แต่เหตุผลคือเหมือนเราหมดศรัทธาในมนุษย์แล้ว เพราะเห็นอยู่แล้วว่ามนุษย์ก็พากันลงเหวอยู่ดี ไม่มากกว่านั้นหรอก แต่ว่าคงไม่ใช่ช่วงใกล้ๆ นี้เท่านั้นเอง เราก็เลยคิดว่าไม่มีประโยชน์หรอก ไปถ่ายรูปกระทิงดีกว่า (หัวเราะ) แต่ว่ามันคือ fact อีกแล้วไง เพราะว่าสิ่งนี้ถูกกระทบเสียจนไม่เหลือแล้ว อย่างเรื่องโลกร้อนเนี่ย fact เห็นกันอยู่ตรงหน้าจะจะ ผลกระทบก็เกิดทุกวัน คนเราก็บ่นกันทุกวัน งดใช้ถุงพลาสติกสักถุงยังลำบากฉิบหายเลย
เวลาคุณมองกลับเข้าไปในสังคมแบบนี้ทำให้คุณท้อแท้ไหม
ไม่ท้อแท้นะ ก็ตลกดี เหมือนกับว่าเราอยู่ข้างนอกแล้วเห็นคนต่อยกัน (หัวเราะ)
คุณอยากลองทำหนังที่เสียดสีสังคมบ้างไหม หรือมีบทหนังอะไรที่อยากทำแต่ยังไม่ได้กำกับไหม
ก็มีนะ แต่ก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง ไม่รู้สิ พอเราคิดถึงเนื้อหาต่างๆ แล้วรู้สึกเฉยชาไปหมด สำหรับเราพอมองเห็นทุกอย่างเป็นความไม่จริงเลยไม่สามารถจับอะไรขึ้นมาได้ ถ้าถามเรา เราชอบหนังแนวแบล็กคอเมดีมาก เพียงแต่ว่าธรรมชาติเราไม่ใช่ผู้กำกับนะ เราเป็นช่างภาพ เราอาจจะไม่มีศักยภาพพอก็ได้ หรือเวลาที่เรามีอยู่ก็เอาไปคิดสิ่งอื่นมากกว่า เช่น ฉันจะปลูกปะการังยังไงดี มากกว่าที่จะคิดถึงบทหนัง (หัวเราะ)
คุณกลัวว่าความรู้สึกเฉยชาต่อโลกจะกลายเป็นการลดพลังงานหรือลดความตื่นเต้นไปเรื่อยๆ จนไม่อยากทำอะไรไหม
ไม่กลัวนะ เพราะมันเฉยชาอยู่แล้ว แต่ว่าอย่างที่บอก เราก็ต้องรู้ทันไง ก็หาสิ่งที่ไม่เฉยชามาคิดมาทำสิ เช่น เราชักเริ่มสนใจเรื่อง ultra-spectrum photography ที่เป็นการถ่ายภาพที่ถ่ายทั้งสเปกตรัมเลย แต่ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นมาไม่ได้เอามาเป็นเรื่องของศิลปะ ณ เวลานี้ แต่เป็นเรื่องของการเอาไปใช้ในวิทยาศาสตร์ อะไรแบบนั้น
แสดงว่าสิ่งที่ทำให้คุณตื่นเต้นในชีวิตตอนนี้คือการเฝ้ามองสังคม เฝ้ามองโลกการทำงานที่เปลี่ยนไปหรือพัฒนาขึ้นในแง่เทคนิคหรือเปล่า
ส่วนหนึ่งก็ใช่นะ แต่สิ่งที่เราตื่นเต้นมากคือเทคโนโลยีไหนที่จะทำให้ในอนาคตเราอยู่รอดได้จริงๆ จังๆ AI ก็ใช่ เพราะเราหนี AI ไม่พ้นหรอก ทุกวันนี้เราอยู่กับมันมาตลอด คุณรู้ตัวไหมล่ะ คนที่รู้ก็จะรู้ว่าเราอยู่กับ AI แค่ไหน คนที่ไม่รู้ก็ไม่รู้ แล้วมันจะมากขึ้นกว่านี้เรื่อยๆ ในอนาคต เช่น มีเทคโนโลยีบางอย่างที่อาจจะทำให้การอนุรักษ์บางสิ่งง่ายขึ้น การเก็บข้อมูลง่ายขึ้น เพื่อให้การ approach การตอบสนองต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเร็วขึ้น เช่น สมมติว่าปะการังฟอกขาวปีนี้เกิดขึ้น เราจะแก้ไขปัญหายังไง แล้วมีข้อมูลที่เร็วพอ ชัดเจนพอที่จะตอบตรงนี้ไหม อันนี้ตัวอย่างนะ แต่มากกว่านั้นเราก็เฉยๆ เพราะก็ยังนึกไม่ออกว่าวันหนึ่งจนถึงวันที่มนุษย์จะต้องไปอยู่นอกโลกจะเป็นอย่างไร ยังไม่รู้ว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่ก็ไม่ได้ตื่นเต้นมากนัก เพราะเราคิดว่าถึงตอนนั้นโลกคงหายนะแล้วล่ะ แล้วคงมีไม่กี่กลุ่มหรอกที่ไปได้ กลุ่มอื่นก็ตายหมดแล้ว
เราเลยรู้สึกว่าสิ่งที่จะทำให้โลกในอนาคตดีขึ้น เช่น The Great Green Wall of China คือเมืองจีนเขาสามารถสร้างกำแพงสีเขียวเพื่อต่อต้านการขยายตัวของทะเลทรายโกบีได้จริง แล้วพื้นที่ที่เป็นทะเลทรายเขาปลูกหญ้าปลูกต้นไม้ขึ้นมาเป็นแนว เพื่อไม่ให้มันลามออกไป และเขายังสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่นให้ปักกิ่งได้ อันนี้เราตื่นเต้น แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้หรอก ซึ่งสิ่งนี้ถูกพิสูจน์แล้วว่าถ้าคนต้องการที่จะทำให้โลกอยู่ได้จริงๆ มันทำได้นะ ไม่ใช่แบบคุณซื้อกาแฟแก้วนี้แล้วคุณจะมีหนึ่งเปอร์เซ็นต์ไปให้องค์การนั้น นี่เป็นการตลาดเฉยๆ ไม่ได้เกิด fact ขึ้นมา ไม่ใช่ความจริง สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองจีนก็คือเขาใช้เวลาประมาณเจ็ดสิบกว่าปี เปลี่ยนผ่านคนตั้งสองสามรุ่น
หรือเรื่องการเปลี่ยนโฉมของการใช้พลังงานบนโลกนี้ อันนี้ก็ตื่นเต้น เพราะว่าเครื่องยนต์ เทคโนโลยีที่ใช้ปัจจุบันถูกพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่ามีแต่ทำลาย แล้วไม่พาเราไปไหน เราจะเปลี่ยนได้คือก็ต้องหยุดมัน ซึ่งที่อื่นเขาไปหมดแล้ว เรายังไม่ไปไหนเลย แต่ว่าอย่าไปโทษใครนะ โทษตัวเองสิ คุณยังไม่เห็นกันเลยใช่ไหม ช่วยไม่ได้ คุณยังปล่อยให้เป็นเรื่องของใครไม่รู้อยู่เลย ทั้งที่ควรเป็นเรื่องของคุณเอง
คุณคิดว่ามันสะท้อนอะไรในสังคมเราบ้าง
เอาง่ายๆ แค่เรื่องวงการภาพยนตร์นี่แหละ คุณก็ยังปล่อยให้เป็นเรื่องคนอื่นอยู่เลย ถ้าถามเรา มีหลายเรื่องเกี่ยวกับวงการภาพยนตร์ที่เราควรต้องทำ เราก็เห็นว่าปัญหาคืออะไร แล้วคนที่ได้ผลประโยชน์โดยตรงก็คือคนที่อยู่ในวงการนี้โดยตรง คือก็มีคนที่ทำนะ ไม่ใช่ไม่ทำ เห็นมีการรวมกลุ่มกันอยู่ แต่ไม่รู้นะ เหมือนกับส่วนมากเราจะคิดว่าต้องรอให้คนนั้นคนนี้เริ่ม หรือเป็นหน้าที่คนอื่น เป็นหน้าที่ของนักการเมืองบ้าง ของรัฐบาลบ้าง ซึ่งเราว่าวิธีคิดนี้ต้องเปลี่ยนได้แล้ว พวกเราต้องขับเคลื่อนด้วยตัวเราเอง เหมือนที่เรามีสตูดิโอ white light นี่ไง เราไม่อยากจะต้องมารอให้ใครมาสนับสนุนวงการภาพยนตร์ เราเลยทำเท่าที่เราทำได้ ถามว่าทำไมต้องสนับสนุน ก็เราเกิดมาจากสิ่งนี้ไง แล้วเราเห็นว่ามีความสำคัญเพื่อที่จะสร้างสิ่งใหม่ออกมา ดีเลวก็ว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง นี่คือตัวอย่าง ต้องลงมือทำสิ ไม่ใช่รอให้ใครมาทำ