สิงห์

สิงห์ อินทรชูโต: ความสำคัญของการแยกขยะและการ Upcycling ที่ไม่ศึกษาให้ดีอาจทำอันตรายถึงชีวิต

ในหนังสือ Cradle to Cradle: Remaking the Way We Make Things โดย William McDonough และ Michael Braungart ได้พูดถึงคำว่า Upcycling คือการทำให้วัสดุที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้แล้ว นำมาทำให้มีมูลค่าหรือใช้งานได้ดีกว่าเดิม ซึ่งในขณะที่บ้านเรากำลังตื่นตัวและเอาจริงเอาจังกับการรีไซเคิล แต่สำหรับ รศ. ดร. สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC กลับขยับไปข้างหน้าด้วยแนวทางของการ Upcycling เพราะตอนนี้ปัญหาขยะพลาสติกนั้นแค่ใช้กระบวนการรีไซเคิลอย่างเดียวคงไม่ทันการ

 

ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน

        ตั้งแต่ได้มาร่วมงานกับ MQDC (Magnolia Quality Development Corporation Limited) งานวิจัยต่างๆ ก็ได้รับการขยายผลมากขึ้น องค์ความรู้ที่มีถูกนำมาขยายผล ผ่านการทำงานที่ RISC ที่มุ่งมั่นวิจัยเรื่องของสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และข้อมูลต่างๆ ประชาชนหรือหน่วยงานที่สนใจสามารถนำไปใช้ต่อยอดในวงกว้างได้ และนั่นคือความตื่นเต้นในการทำงานครั้งใหม่ของผู้ชายหัวใจรักษ์โลกคนนี้

        “เราคุยกันว่า RISC จะเป็นศูนย์วิจัยที่ให้ความรู้กับสังคม ซึ่งเราจะไม่ทำงานวิจัยเพื่อตัวเอง ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่มีค่าใช้จ่าย ทุกคนสามารถเข้ามาใช้อุปกรณ์หรือพื้นที่ได้ฟรีๆ เมื่อได้องค์ความรู้กลับมา เราก็จะให้ความรู้นั้นไปฟรีๆ กับทุกคน ข้อตกลงนี้เป็นโอกาสสำคัญของชีวิตผมเลย เพราะสิ่งนี้คือประโยชน์ของคนหมู่มาก ผมจึงวางแนวทางของ RISC ไว้เป็นศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของโลกใบนี้”

        RISC จึงถูกตั้งขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นเรื่องที่รอกันนานไม่ได้ โดยใช้พื้นที่อยู่บนชั้น 4 อาคารแมกโนเลียส์ ราชดำริ บูเลอวาร์ด และเปิดให้บริการช่วงปลายปี 2017 เป็นต้นมา จนถึงวันนี้ก็พบว่ามีคนสนใจและเดินทางเข้ามาร่วมงานกับทางศูนย์ฯ นี้ตกเดือนละ 1,000 คน

        “หลายคนก็ถามเหมือนกันว่ามาตั้งตรงนี้จะดีเหรอ ถ้าขยับออกไปนอกเมืองสักหน่อยจะได้ศูนย์วิจัยที่กว้างกว่า ใหญ่กว่า ทำอะไรได้มากกว่า” รศ. ดร. สิงห์ ตอบข้อสงสัยที่เราคิดว่าพื้นที่ที่ใหญ่กว่าน่าจะอำนวยความสะดวกในการทำงานได้ดีกว่า

        “จุดประสงค์ของผมคือต้องเข้าถึงง่าย แล้วถ้าเราไปอยู่นอกเมืองแล้วคนจะทำอย่างไร คิดง่ายๆ เลยถ้าใครจะมา RISC ที่ตั้งอยู่นอกเมือง คุณต้องขับรถแล้ว จะให้ปั่นจักรยานไปก็คงลำบาก RISC จะต้องเข้าถึงง่าย อยู่ใกล้สถาบันการศึกษา มีเส้นทางที่เข้าถึงได้หลายเส้นทาง แล้วเราอยากโชว์ให้คนได้เห็นว่าเราตั้งใจทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ ซึ่งตอนแรกผมก็ไม่มั่นใจหรอกว่าเราจะทำได้ไหมบนพื้นที่ราคาแพงที่สุดของประเทศไทยแห่งนี้ แต่เพราะความร่วมแรงร่วมใจของทีมงานทุกคนก็ทำให้ RISC เป็นพื้นที่ที่มีคนสนใจเข้ามาขอข้อมูล เข้ามาทำวิจัยร่วมกันมากมายในแต่ละเดือน”

        ความสำเร็จในก้าวแรกของ  RISC อาจเรียกได้ว่าเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ แต่ชัดเจนที่สุดนั่นคือ การทำทุกอย่างเพื่อสาธารณประโยชน์นั่นเอง

 

Take Your Responsibilities Seriously

        เราพบว่ามีคนมากมายสนใจ และตระหนักถึงวิกฤตของสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ตอนนี้ แต่ปัญหาดังกล่าวกลับเพิ่มมากขึ้นทุกวัน สวนทางกับสิ่งที่ใครต่อใครต่างออกมาช่วยกันคืนสภาพสิ่งแวดล้อมให้กลับมาดีขึ้นเสียเหลือเกิน เรายังเห็นกันอย่างชัดๆ เลยว่าปัญหาขยะล้นเมืองยังเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ

        “คุณต้องเข้าใจว่าในประเทศไทย กระแสสิ่งแวดล้อมเพิ่งเข้ามาอย่างจริงจังช่วงปี 2007 นี่เอง” นั่นคือแคมเปญต่างๆ อย่างตาวิเศษ หรืองาน Earth Day ให้โลกเราสวยพวกเรามาช่วยกัน… ที่เห็นมาทุกปีสมัยตอนเป็นเด็กเพิ่งจะผลิใบออกมาเป็นต้นอ่อนในช่วงสิบปีนิดๆ ที่ผ่านมาเท่านั้นเอง

        “ตอนนี้เราอยู่ในช่วงสิบปีแรกที่ Organic Growth ไม่มีระบบที่บังคับในด้านกฎหมายให้ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม เราก็เลยเหมือนกับเด็กอายุสิบขวบ แต่ถ้าเราอยู่ในช่วงสิบปีที่มีกฎหมายใหม่เข้ามาว่าคุณต้องคัดแยกขยะ การเก็บค่ากำจัดขยะที่ต้องราคาสูงขึ้นแต่ได้ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเราก็ยังไม่มี ยังคงราคาเดิมไว้อยู่ เราจึงไม่มีกระบวนการในการกำจัดขยะอย่างอื่นเลยนอกจาก Organic Growth ต่างจากประเทศจีนหรือไต้หวันที่เขาออกกฎมาเลยว่า ‘ห้ามให้ถุงพลาสติก’ กฎหมายออกมาว่าทุกคนต้องคัดแยกขยะ พอมีข้อบังคับออกมาเขาก็เปลี่ยนจาก Organic Growth เป็น Control Growth ความเปลี่ยนแปลงก็จะเร็วมาก แต่บ้านเราเป็น Organic Growth มาตลอดนั่นหมายความว่าปล่อยให้ทุกอย่างเติบโตไปตามกรรมและวาระ”

        เสียงหัวเราะที่เกิดขึ้นระหว่างสนทนาแต่แฝงด้วยความเจ็บปวดลึกๆ เพราะในขณะที่ประเทศจีนซึ่งมีประชากรมากมายกว่าเราหลายร้อยเท่า และในอดีตเราเคยมองว่าบ้านเมืองของเขาสกปรกไม่มีระเบียบ แต่เขาสามารถพลิกฟื้นมาเป็นเมืองที่สะอาดและใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขอนามัยที่ดีของประชาชนได้ในเวลาไม่ถึง 5 ปี ในขณะที่บ้านเรา ในแม่น้ำลำคลองยังเห็นฟูกนอนที่คนมักง่ายโยนทิ้งลอยมาให้เห็นกันชัดๆ คาตา

        “รัฐบาลจีนเขาบังคับให้ทุกคนแยกขยะที่เป็นเศษอาหารออกมา ทีนี้ขยะที่ไม่ใช่เศษอาหารทั้งหมดต่อให้นำไปเผาเขาก็จะได้พลังงานกลับมาแบบมหาศาล เพราะขยะที่ถูกคัดแยกออกมาไม่ต้องไปเสียเวลาเปลี่ยนจากขยะเปียกให้กลายเป็นขยะแห้ง ส่วนขยะเศษอาหารที่ถูกคัดแยกมาแล้วก็นำไปเปลี่ยนเป็นปุ๋ยได้ทันที เขาถึงสามารถแก้ปัญหาขยะได้เพราะต้องมีการบังคับ”

        ซึ่งการออกกฎข้อบังคับนี้ไม่ใช่เพราะว่าเป็นประเทศจีนถึงทำได้ ในอดีต ไต้หวันหรือญี่ปุ่น เจ้าแห่งประเทศของการคัดแยกขยะเองก็ถูกบังคับเช่นกัน

        “ประเทศญี่ปุ่น ถ้าคุณทิ้งขยะผิดถังผิดวัน เขาไม่เก็บขยะนั้นให้คุณนะ และเขาจะส่งค่าปรับมาที่บ้านคุณด้วย คนไทยก็ต้องมีข้อบังคับใช้ในการคัดแยกขยะได้แล้ว แต่ก็ต้องทำใจว่าจะมีการหลบเลี่ยงอยู่บ้าง แต่ยังไงภาพรวมก็จะต้องไปทางนี้ เหมือนตอนนี้ที่เราเริ่มออกมารณรงค์การใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งหรือไม่รับหลอดพลาสติก แล้วเราก็พบว่าก็มีผลิตภัณฑ์ทางเลือกออกมาให้ใช้กันแล้วอย่างหลอดกระดาษ หลอดแก้ว หรือหลอดอะลูมิเนียม เป็นต้น”

 

ความน่ากลัวของพลาสติกในมหาสมุทร

        จำนวนขยะพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้นในท้องทะเลกำลังเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบถึงสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ เพราะตอนนี้เราต่างพบว่าสัตว์น้ำทั้งหลายต่างพากันตายลงเป็นจำนวนมากเนื่องจากกินขยะพลาสติกเหล่านี้เข้าไป และต่อไปเราอาจจะกลายเป็นมนุษย์ที่มีร่างกายเสริมด้วยใยพลาสติก มีผิวพรรณที่เต่งตึงถ้าเรายังสามารถมองโลกในแง่ดีได้

        “เรื่องนี้ทาง RISC เองก็กำลังพยายามแก้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเลให้ได้ ซึ่งตอนนี้เป็นภารกิจอันหนักหน่วงของเราเลยก็ว่าได้ เพราะถ้าไปเก็บขยะพลาสติกในทะเลมา วิธีแรกที่จะแปรรูปได้คือเอาไปทำเป็นวัสดุก่อสร้าง เพื่อนำไปใช้ในโครงการที่ทาง MQDC จะนำไปใช้ในอนาคต เราจึงมีพรมที่ทำจากขยะพลาสติก ขอบถนนที่มาจากขยะพลาสติก และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เรากำลังค้นคว้าเพื่อแปรรูปจากขยะพลาสติก”

         การ Upcycling ในช่วงเริ่มต้นนั้น ปัญหาหลักก็คือค่าใช้จ่าย ทั้งค่าออกเรือไปเก็บขยะ กรรมวิธีในการแปรรูป โดยโปรดักต์เหล่านี้เมื่อยังไม่เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมจริงๆ ต้นทุนในการเกิดเป็นชิ้นงานจึงสูง ราคาของชิ้นงานก็จึงแพงสำหรับคนทั่วไป แต่เราก็หวังว่าในอนาคตเมื่อมีคนเข้ามาทำธุรกิจตรงนี้มากขึ้น ค่าใช้จ่ายในทางต้นทุนก็จะลดลง และเราก็จะสามารถซื้อหาผลิตภัณฑ์รีไซเคิลได้อย่างสะดวกใจ

        “เวลาทำต้นแบบขึ้นมาอะไรก็แพงไปหมด คุณทำเก้าอี้ต้นแบบมาหนึ่งตัว ต้นทุนก็เป็นหลักหมื่น แต่พอได้ผลิตออกมาจริงๆ ก็ตกตัวละพันกว่าบาท เป็นช่วงที่ต้องถูไถกันไป ซึ่งต้นทุนส่วนหนึ่งจะลดลงไปได้ถ้าคุณมาที่ RISC เพราะองค์ความรู้เหล่านี้เราทำไว้แล้ว คุณก็เข้ามาเอาไปใช้ได้เลย กระบวนการก็ลดลง ต้นทุนก็ลดลง” รศ. ดร. สิงห์ กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่ต่อไปสินค้าจากขยะพลาสติกจะมีราคาถูกจนจับต้องได้

        “คุณต้องเข้าใจก่อนนะว่าขยะในทะเลไม่ได้มีความสำคัญกว่าขยะที่อยู่บก แต่… ”  เขาหยุดพูดสักครู่เพื่อให้เราคิดตามได้ทัน “ขยะในทะเลมีความน่ากลัวมากๆ อย่างหนึ่งคือ เมื่อพลาสติกลงไปในน้ำทะเล ตอนแรกมันยังเป็นพลาสติกอยู่ สัตว์น้ำก็ยังไม่กิน แต่หลังจากเจ็ดวัน พลาสติกเหล่านี้เปลี่ยนรูปร่าง และโดนเคลือบด้วยกลิ่นของน้ำทะเลจนสัตว์คิดว่ามันเป็นอาหาร กลิ่นของพลาสติกเหมือนกลิ่นของปลา ดังนั้น นกหรือสัตว์น้ำนั้นเขาไม่ได้โง่ แต่เมื่อกลิ่นของพลาสติกเปลี่ยนไป สัตว์ก็เข้าใจว่าเป็นอาหารและกินเข้าไป ซึ่งเรามีเวลาแค่เจ็ดวันเท่านั้นที่จะต้องรีบเอาขยะเหล่านั้นกลับมาก่อนที่มันจะเข้าไปอยู่ในท้องของสัตว์”

        เพราะวัสดุทดแทนยังมีราคาสูงด้วยหรือเปล่า จึงทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ล่าช้า ซึ่ง รศ. ดร. สิงห์ เองก็เห็นด้วยว่าเป็นปัจจัยสำคัญแต่ก็ยังมีเงื่อนไขอื่นที่แทรกอยู่ในกระบวนการนี้

        “ราคาของวัสดุทดแทนอาจจะใช่ แต่ผมคิดว่าการกระจายสินค้าก็เป็นส่วนสำคัญ เพราะวัสดุทดแทนเพิ่งจะถูกพูดถึงในช่วงสองสามปีนี้เอง อย่างหลอดกระดาษที่ออกมาก็เพิ่งจะมีในปีนี้ ซึ่งเมื่อสามปีก่อนผมเคยพูดว่าต่อไปคนจะให้ความสำคัญกับหลอดพลาสติกกันมากขึ้น เพราะหลอดนี่คือขยะที่ร้ายแรงมากที่สุดของบรรดาขยะพลาสติก เวลาหลอดพลาสติกเข้าสู่สายพานในโรงงานกำจัดขยะ หลอดพวกนี้ก็จะร่วงหล่นไปตามรูสายพานการผลิต ผมบอกเจ้าของโรงงานทำหลอดกับโรงงานกระดาษว่าเริ่มพัฒนาหลอดทางเลือกได้แล้ว ทุกคนหัวเราะ บอก ไม่มีทางหรอก คนไม่สนใจเรื่องนี้กันหรอก แล้วตอนนี้เห็นหรือยังว่าเราต่างเรียกร้องหลอดทางเลือกกันแล้ว

        “เรามีเทคโนโลยีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องใช้เวลาหนึ่งปีในการพัฒนา แต่มาเรียกร้องเอาตอนนี้ก็ไม่มีใครทำให้ทัน” นี่คือปัญหาที่พวกเราตระหนักถึงความสำคัญกันช้าเกินไป

        แต่เรื่องของการใช้ของทดแทนนั้น รศ. ดร. สิงห์ ก็บอกเราตรงๆ ว่า ยังต้องใช้เวลาตามหาวัสดุทดแทนกันอีกนาน ดังนั้น การคัดแยกขยะจึงเป็นกระบวนการเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด

        “เรายังหาตัวแทนของขวดน้ำพลาสติกในทุกวันนี้ไม่ได้ วัสดุอะไรที่ดีกว่าและย่อยสลายได้เองในธรรมชาติ สามารถนำไปวางในรถ ถือไปขึ้นเรือ ทำตกหลุดมือก็ยังไม่แตก ซึ่งยังไม่มี ถ้าบอกว่าใช้ขวดที่เป็นวัสดุย่อยสลายได้ สภาพขวดก็จะเป็นเมือกๆ หน่อย มีสีขุ่นๆ คนก็จะตะขิดตะขวงใจแล้วว่าจะดื่มได้ไหม และวัสดุพวกนี้ไม่เพียงแต่ดูแฉะๆ เปียกๆ เวลาผ่านไปมันจะไม่อยู่ทรง เก็บรักษาไว้ได้ไม่นาน ดังนั้น จะเอาไปชนกับขวดพลาสติกเลยก็ยังไม่ได้”

        ทางแก้หนึ่งที่เขาบอกเราคือ หน่วยงานราชการควรตั้งจุดดื่มน้ำที่ดี และสะอาดจริงๆ น้ำที่ได้มีคุณภาพสูงกว่าน้ำทั่วไป อาจจะใช้หลักการทางมายาคติเสริมเข้าไปด้วยว่าน้ำจากจุดนี้ดื่มแล้วสวย ดื่มแล้วคืนความเป็นหนุ่มสาว เราก็เชื่อว่าคนจะเริ่มหันมาใช้ภาชนะส่วนตัวมารองน้ำดื่มที่จุดเติมน้ำนี้กันมากขึ้น แม้เราจะไม่ได้รักษ์โลกอะไรขนาดนั้น แต่น้ำดื่มแห่งนี้นั้นดีกับตัวเอง ปัญหาการใช้ขวดพลาสติกก็จะถูกแก้ไขได้ส่วนหนึ่ง

        “ที่ประเทศญี่ปุ่นหรือยุโรป เราดื่มน้ำจากก๊อกได้ แต่ที่บ้านเราไม่เชื่อถือเพราะก๊อกน้ำสาธารณะที่เราเห็นคืออะไร คือก๊อกน้ำเก่ามาก มีคนมาล้างเท้า ล้างไม้กวาด เจอแบบนี้ก็ทำใจยากอยู่เหมือนกัน การออกแบบที่ดีต้องดำเนินคู่กันด้วย ดีไซน์ไม่ได้เอื้อต่อฟังก์ชันให้คนดื่ม โอเค เขาบอกว่าน้ำประปาสะอาด ดื่มได้จริง เราก็เชื่อ แต่ดีไซน์ไม่ได้ออกแบบมาให้เราเชื่อว่าดื่มได้ คนก็เลยเอาไปใช้อย่างอื่นแทน ผมว่าจริงๆ ความสนุกจะอยู่ตรงนี้แหละ การเอาดีไซน์มาช่วยแก้ปัญหาเชิงระบบและช่วยแก้ปัญหาอื่นต่อไปได้”

 

โปรดักต์จากพลาสติกอาจจะไม่ได้ดีต่อเราเสมอไป

        รีไซเคิลคือสิ่งที่เรารู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่ของที่ได้จากการรีไซเคิลนั้นจะมีคุณภาพที่ต่ำลงกว่าวัสดุดั้งเดิม Upcycle คือการตัดกระบวนการที่วุ่นวายออกไป หรือเป็นการสร้างมูลค่าให้สูงขึ้น ดังนั้น กระบวนการนี้จึงเห็นผลกับบริษัทต่างๆ ที่นำพลาสติกไปแปรรูปเป็นเส้นใยว่ามีความสำเร็จสูงมาก เส้นใยเหล่านี้อาจจะมีราคาไม่สูงมากเมื่อทำออกมา แต่พอเอามาผลิตเป็นโปรดักต์ก็จะมีราคาสูงขึ้นมาทันที เช่น พรมปูพื้น เสื้อผ้า รองเท้า โดยเฉพาะรองเท้าที่ตอนนี้เราเห็นหลายๆ แบรนด์ที่ผลิตรุ่นที่ทำมาจากขยะพลาสติก และมีราคาแพงด้วย ยิ่งถ้าเป็นแบรนด์ไฮเอนด์ด้วยราคายิ่งไปไกลจนเราเอื้อมไม่ถึง ซึ่งสินค้าตอนนี้ยังอยู่ในระดับพรีเมียม เพราะโรงงานที่สามารถรีไซเคิลเส้นใยไนลอนได้นั้นมีแค่ที่เดียว คือที่ประเทศอิตาลี ถ้าเป็นโรงงานที่ผลิตเส้นใยยาว (PET) ก็จะมีแค่โรงงานเดียว ก็คือบริษัท Indorama Ventures (IVL)

        “องค์ความรู้เหล่านี้ยังกระจุกตัวอยู่ ยังไม่ถูกส่งต่อมาที่คนทั่วไป และนั่นจะทำให้มีอันตรายเกิดขึ้น” รศ. ดร. สิงห์ กำลังเตือนเราว่าการจะรีไซเคิลโปรดักต์อะไรสักอย่างต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดเสียก่อน โดยเฉพาะตอนนี้ที่มีวัดนำขวดพลาสติกมาแปรรูปเป็นเส้นใยและทอขึ้นมาเป็นเครื่องนุ่งห่มสำหรับพระได้สำเร็จ

        “เครื่องนุ่งห่มสำหรับพระที่ทำขึ้นมานั้นต้องตรวจเช็กด้วยว่าบริษัทไหนรับทำเส้นใยให้ ถ้าไม่ใช่บริษัท Indorama Ventures (IVL) พระท่านจะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งจากไมโครพลาสติก เพราะถ้าที่อื่นทำหมายความว่าจะได้เส้นใยแบบสั้น เครื่องนุ่งห่มที่พระท่านห่มในเวลาต่อมาจะเกิดเป็นขุย และพระก็จะสูดเอาไมโครพลาสติกเหล่านั้นเข้าไปในร่างกาย ดังนั้น ต้องเช็กด้วยว่าเส้นใยที่เอามาทำเครื่องนุ่งห่มสำหรับพระคือเส้นใยยาวหรือเส้นใยสั้น เรามัวแต่คิดว่าจะต้องรีบกำจัดพลาสติกจนลืมดูว่าบริษัทที่นำไปแปรรูปให้นั้นมีอันตรายกับตัวเราหรือเปล่า”

        ฟังดูอาจจะน่ากลัว แต่ก็ใช่ว่าเราจะหยุดความตั้งใจที่จะลดการใช้พลาสติกลง ยังมีวิธีอื่นที่สามารถทำเองได้อย่างปลอดภัยได้ เช่น พกแก้วน้ำของตัวเองติดตัว ใช้หลอดที่สามารถล้างแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ หรือแม้แต่การพกถุงผ้าติดตัวก็ยังเป็นวิธีคลาสสิกที่ช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกได้จริง

        “ถ้าเรามีกฎหมายบังคับห้ามใช้ถุงพลาสติกจริงๆ เชื่อเถอะว่าถุงผ้าที่กองอยู่ใต้บันไดบ้านของพวกคุณยังไงก็ได้เอาออกมาใช้แน่นอน” รศ. ดร. สิงห์ กล่าวพร้อมกับหัวเราะออกมาดังๆ ราวกับรู้ว่าที่บ้านเรานั้นดองถุงผ้าไว้เยอะขนาดไหน

โรงงานจัดการขยะของชุมชน

        เชื่อไหมว่าแนวคิดในการจัดการปัญหาขยะในชุมชนนั้น หลายฝ่ายเคยคิดว่าจะเป็นทางออกที่ดีในการกำจัดและคัดแยกขยะในประเทศไทย แต่กลับกลายเป็นปัญหาที่ยากที่สุดที่ทำให้โครงการเหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้

        “ผมเคยคิดจะทำโรงงานจัดการขยะชุมชน จะดูแลให้เขตนี้สะอาดที่สุดให้เป็นชุมชนตัวอย่าง แต่เป็นไปไม่ได้ เพราะกฎหมายเก่าเหล่านั้นไม่อนุญาตให้คนทั่วไปจัดการขยะเอง ต้องให้ทางเขตดูแล ทั้งๆ ที่ในปัจจุบันเราสามารถดูแลขยะของตัวเองกันได้แล้ว แต่กฎหมายทำให้เราไม่สามารถขนขยะจากคอนโดมิเนียมนี้ไปทำลายที่ศูนย์การกำจัดขยะ ทั้งๆ ที่เรามีเครื่องมือที่พร้อมกว่า เพราะเป็นการนำขยะไปทิ้งนอกเขต ซึ่งเทคโนโลยีได้เปลี่ยนไปแล้ว และการขนย้ายก็ไม่ได้มีน้ำจากขยะหยดลงมา ขนมาให้เราแล้วเราก็จัดการได้เลย เหมือนกับที่ประเทศจีนที่เขาดึงเอาขยะมาจากทั่วมณฑล ตีเป็นขยะจากคนหนึ่งร้อยล้านคน มาไว้ที่เดียวกัน การจัดการขยะก็ง่ายขึ้น เมื่อคัดแยกขยะดีๆ ก็นำกลับไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกครั้ง แต่บ้านเรายังเป็นเขตใครเขตมัน จังหวัดใครจังหวัดมัน ข้ามจังหวัดกันไม่ได้”

        ซึ่งอีกแนวคิดหนึ่งที่เขาเสนอคือ การส่งขยะอันตรายอย่างเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่เสียแล้วหรือแบตเตอรี่ต่างๆ ที่หมดอายุ ให้มีจุดรับส่งตามบริการขนส่งไปรษณีย์ต่างๆ เพื่อไปทำลายที่ศูนย์ควบคุมมลพิษ ก็เป็นอีกทางออกให้กับการคัดแยกขยะของเสียไม่ให้ไปปะปนกับขยะชนิดอื่นๆ

 

วิถีแห่งอนาคต

        สิ่งหนึ่งจากการคาดคะเนของเรา ว่าทำไมคนรุ่นใหม่ถึงจริงจังกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนรุ่นก่อน ข้อสันนิษฐานหนึ่งคือ พวกเขา (คนเจนวาย) เติบโตมาพร้อมกับข้อมูลข่าวสารและปัญหาวิกฤตของสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่แรก เพราะสื่อใหญ่ในต่างประเทศก็จับเรื่องนี้ไม่ปล่อยเพราะเขาเห็นว่านี่คือประเด็นใหญ่ของมนุษยชาติ ต่างกับคนเจนเอ็กซ์ที่รับรู้ว่าโลกนี้กำลังมีปัญหา แล้วยังไงล่ะ ฉันต้องหาเงินเลี้ยงปากท้องครอบครัวให้อิ่มก่อน รวมถึงไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่ชอบการท่องเที่ยวเป็นชีวิตจิตใจ และแชร์ชีวิตตัวเองลงไปในโซเชียลเน็ตเวิร์กโดยเติมเรื่องของสิ่งแวดล้อมลงไปหน่อยเพื่อให้ตัวเองมีกิมมิกในการเล่าเรื่อง ซึ่งข้อดีที่เกิดขึ้นคือ เราจะได้เห็นสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ไฟแรงหลายเจ้าที่เข้ามาทำธุรกิจด้านนี้อย่างจริงจัง เช่น Moreloop ที่มีแนวคิดหมุนเวียนใช้ทรัพยากรเพื่อความยั่งยืน Refun Machine ตู้รับซื้อขวดพลาสติกอัตโนมัติใจกลางเมือง หรือ GEPP แอพพลิเคชันที่มารับซื้อขยะถึงหน้าบ้านคุณ

        “ผมคิดว่า Moreloop จะประสบความสำเร็จได้เร็วกว่าคนอื่น” รศ. ดร. สิงห์ กล่าวถึงเหล่าสตาร์ทอัพที่มาแรงในตอนนี้

        “เพราะ Moreloop เชื่อมโยงกับโรงงานอุตสาหกรรมได้โดยตรง เขามีพาร์ตเนอร์เป็นเจ้าของโรงงานผ้า เขาเป็นคนรุ่นใหม่ที่พูดกับคนเจนเขาได้ มีดีไซเนอร์เริ่มสนใจใช้วัสดุจากเขามาทำเป็นโปรดักต์ ตอนนี้ทาง Moreloop จึงมีความสำเร็จตั้งต้นให้เราได้เห็นกันบ้างแล้ว ถ้าต่อไปเขาไปดีลกับโรงงานไม้ โรงงานเหล็ก โรงงานกระดาษ หรือโรงงานพลาสติกได้ ผมว่าในอนาคตธุรกิจของพวกเขาจะสนุกมาก

        “ส่วน GEPP อาจจะเจอปัญหาหนักอยู่ถ้าเขายังหาลูกค้าประจำไม่ได้ การที่เขาพึ่งพาแต่ยูสเซอร์ทั่วไป บางทีธุรกิจจะไปต่อได้ลำบาก ลองคิดถึงคุณเปิดร้านอะไรสักอย่างแล้วไม่มีลูกค้าประจำก็ได้ ลูกค้าประจำคือรายได้หลักของคุณ ส่วนลูกค้าขาจรคือน้ำจิ้ม ซึ่งทาง GEPP เองยังไม่มีลูกค้าประจำ ก็อาจจะทำให้ดำเนินการลำบากสักหน่อย”

        อีกหนึ่งปัญหาที่ถกเถียงกันอยู่ตอนนี้คือธุรกิจเดลิเวอรีซึ่งกลายเป็นการเพิ่มขยะพลาสติกทางอ้อมขึ้นมา เมื่อเราสั่งอาหารให้มาส่งสักหนึ่งชุด จะพบว่าภาชนะที่ใส่อาหารนั้นล้วนแต่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเต็มไปหมด

        “ปัญหานี้อาจทำให้รัฐบาลยังลังเลอยู่ว่าจะออกกฎหมายห้ามใช้พลาสติกดีไหม เพราะถ้าออกมาปุ๊บ บริษัทรับส่งอาหารเหล่านี้ลำบากทันทีเลย ฉันจะออกกฎหมายนี้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ธุรกิจเหล่านี้ได้รับผลกระทบ จะให้ห่ออาหารด้วยใบตองกลัดไม้กลัดก็คงไม่ได้ แต่ถ้าผู้หริหารยอมอดทนและปรับตัวไปกับนโยบายลดใช้ถุงพลาสติก ก็ยังมีทางไปต่อได้โดยที่เราก็ไม่ต้องหักดิบทำลายวงจรธุรกิจเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมหรือยอมให้สิ่งแวดล้อมพินาศเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไป”

        ความยืดหยุ่นอาจเกิดขึ้นในบ้านเราได้เหมือนเวลาที่เราดูหนังฝรั่งแล้วตัวละครสั่งอาหารจากไชนาทาวน์มากิน ก็จะเห็นว่าเขาใช้ภาชนะที่บรรจุมากับกล่องกระดาษสี่เหลี่ยมและถุงกระดาษสีน้ำตาล ซึ่งแทบไม่มีส่วนที่เป็นพลาสติกอยู่ในแพ็กเกจนั้นเลย

        “ใช่ เมื่อมีกฎว่าห้ามใช้ถุงพลาสติก เขาก็จะปรับตัวเป็นใช้ถุงกระดาษแทน จะมีการปรับตัวทันที กฎหมายจะทำให้คนที่อยากรวยกระเสือกกระสนหาทางออกให้ได้ และประเทศไทยจำเป็นต้องมีการบังคับ เพราะถ้าไม่สั่งคุณก็ไม่ทำ ต่อให้จะมีคนหาทางเลี่ยงแต่สุดท้ายก็ต้องทำอยู่ดี”

        นอกจากผู้ประกอบการแล้ว ผู้ใช้บริการเองก็ต้องออกมาเป็นปากเป็นเสียงให้กับการลด ละ เลิกใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งกันด้วย เพราะไม่อย่างนั้นความเปลี่ยนแปลงก็จะไม่เกิดขึ้น ส่วนคุณลุงคุณป้าที่ยังเรียกร้องให้มีการแจกถุงพลาสติกต่อไป เราก็คงต้องค่อยๆ รอการปรับตัวจากพวกเขา เพราะก็คงไม่สามารถไปเปลี่ยนความคิดได้อย่างรวดเร็วเหมือนกับพวกเรา แต่ก็เชื่อว่าเมื่อเสียงของคนรุ่นนี้ส่งออกมาดังพอ อย่างไรเสียรัฐบาลและผู้ประกอบการเองต้องได้ยิน และหาแนวทางมาช่วยบรรเทาปัญหาขยะพลาสติกล้นเมืองกันแน่นอน

 


Tip on Sorting Waste

        นอกจากการใช้ถุงผ้า พกแก้วส่วนตัวไปไหนมาไหน และงดใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง วิธีการง่ายๆ อีกอย่างที่แนะนำคือ ถ้าเราคัดแยกขยะไม่เป็นจริงๆ หรือไม่มีเวลามานั่งแยกขยะแต่ละประเภท อย่างน้อยที่สุดให้เราแยกขยะที่เป็นเศษอาหารออกมา ขยะที่เหลือก็ทิ้งรวมๆ ไป เพียงแต่อาจจะล้างวัสดุที่ห่ออาหารนั้นให้อาหารหน่อยก็พอ เพราะพอขยะพลาสติกนั้นสะอาดแล้ว คนที่คัดแยกขยะก็จะแยกขยะด้วยความสบายใจ ไม่ใช่ว่าแยกขยะไปก็เจอแต่ถุงที่มีราขึ้น เจอของเน่าเหม็น และสุดท้ายเขาก็ไม่อยากแยกและเอาขยะเหล่านั้นไปกองรวมกันไว้เหมือนเดิม