24 พฤษภาคม 2557 หลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพียงสองวัน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ก่อตั้งขึ้น โดยการรวมตัวของกลุ่มทนายความ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางสังคม เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากผลพวงของรัฐประหาร ทั้งการถูกละเมิด ถูกข่มขู่ ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งหนึ่งในรายชื่อของผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง ‘ทนายจูน’ – ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ได้กลายเป็นที่รู้จักในสังคมมากขึ้นจากการที่ได้เป็นหนึ่งใน 10 คนที่ได้รับ ‘รางวัลผู้หญิงกล้าหาญ’ จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในปี 2018 และถือเป็นคนไทยคนที่ 2 ที่ได้รับรางวัลนี้
ถึงแม้ช่วงสี่ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลทหารจะมีการกล่าวอ้างว่าบ้านเมืองมีความสงบนิ่งดีแล้ว แต่ในความเป็นจริงสถานการณ์ของการคุมอำนาจจากรัฐบาลยังมีการกดทับอยู่มาก โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมแบบทหารที่ คสช. สร้างขึ้น เพื่อจะนำมาใช้กับประชาชนหลังรัฐประหาร ส่งผลให้มีประชาชนถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมหลายกรณี เพียงเพราะไปขัดต่อกฎหมายที่ออกมาโดย คสช. สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้การละเมิดสิทธิมนุษยชนจะเกิดขึ้นในทุกรัฐบาล แต่จำนวนของผู้ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมกลับมีจำนวนสูงสุดในยุคของรัฐบาลทหาร
ปัญหาในประเด็นของการถูกละเมิดสิทธิโดยอำนาจรัฐนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างอ่อนไหว ไม่ใช่แค่ประชาชนถูกเพ่งเล็ง แต่ผู้ที่ทำงานเพื่อปกป้องสิทธิของคนเหล่านี้ก็มีความเสี่ยงในการถูกข่มขู่ คุกคาม จากผู้มีอำนาจ และร้ายแรงที่สุดคือการถูกอุ้มหาย ดังเช่นในหลายกรณีตัวอย่างในอดีต และยังไม่มีคำตอบให้สังคม
ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเลือกตั้งซึ่งเป็นกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย และเป็นก้าวสำคัญของการเดินหน้าต่อ แต่ในความเป็นจริงนั้นยังมีกระบวนการที่เกี่ยวกับความยุติธรรมอีกเยอะที่ต้องแก้ไข แม้จะดูเหมือนไร้ความหวังในการที่ประชาชนตัวเล็กๆ จะเผชิญกับการตัดสินจากอำนาจรัฐ แต่อย่างน้อยหากเราไม่ยอมนิ่งเฉย พยายามตระหนักถึงสิทธิที่เรามี และลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงเท่าที่เราพอจะทำได้ ก็อาจจะทำให้สังคมไม่ดูสิ้นหวังจนเกินไป
สถานการณ์ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร ถูกละเมิด ถูกข่มขู่คุกคาม และถูกดำเนินคดีทางอาญาจากรัฐอย่างไม่ชอบธรรม มีจำนวนมากน้อยขนาดไหน
เราเองก็มีงานที่ทำในส่วนของการเก็บข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ว่าในสภาวะที่เสรีภาพถูกจำกัด การติดตามว่าประชาชนถูกคุกคามหรือเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ หรือได้รับความอยุติธรรม ก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ ถ้าจำกันได้ สื่อก็โดนคุม โดนจำกัด รายงานอะไรได้ไม่ได้ เราอยู่ภายใต้สภาวะ 4-5 ปี ที่สื่อเซ็นเซอร์ตัวเอง หรือมีกลไกของ คสช. เข้ามาจัดการ
อย่างเรื่องการถูกพาเข้าไปอยู่ค่ายทหาร 7 วัน หรือที่ใช้คำว่าปรับทัศนคติ เราก็เห็นว่ามีคนถูกปรับทัศนคติเยอะ เอาที่เราติดตามมาได้น่าจะมากกว่า 1,300 คน ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือการจับและเอาตัวคนไปโดยที่ไม่ให้เขาได้ติดต่อทนายหรืออะไรเลย เป็นการควบคุมที่ไม่ถูกกฎหมาย นักข่าวโดน สื่อโดน นักการเมือง ทนายบางคนก็โดน นักกิจกรรม น้องนักศึกษา หลายคนอาจจะรู้สึกว่าถ้าคุณไม่เคลื่อนไหวคุณก็ไม่โดน แต่จริงๆ แล้วชาวบ้านทั่วไปก็โดน
เพราะฉะนั้นปัญหาคือ จากวันนั้นถึงวันนี้ 4 ปีกว่าแล้ว สถานการณ์อาจดูเหมือนนิ่ง เหมือนเราจะเข้าสู่เลือกตั้ง มีการยกเลิกให้ชุมนุมได้แล้ว 5 คนขึ้นไป แต่ปรากฏว่าความจริงสถานการณ์หลายอย่างยังมีการกดทับอยู่เยอะ เขายกเลิกชุมนุม 5 คนก็จริง แต่ตอนนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารทางการใช้ พรบ. ชุมนุมที่สาธารณะ ผ่านโดย สนช. ยุคนี้ที่แต่งตั้งมาโดย คสช. คือเขาออกกฎหมายในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยที่ไม่ได้เป็นไปตามระบบปกติ เราไม่ได้มีส่วนร่วม ปกติเวลาออกกฎหมายต้องมีขั้นตอน ฟังความคิดเห็น ประชาชนสามารถยื่นความเห็นเข้ามาได้ แต่ 4 ปีที่ผ่านมาไม่มีเลยนะ สนช. ออกกฎหมายไปกว่า 300 ฉบับ แล้วก็กลายเป็นกฎหมายที่จะอยู่กับประเทศเราต่อไป
แสดงว่าช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมาสังคมเราเต็มไปด้วยคดีการละเมิดสิทธิจากผู้มีอำนาจสูงใช่ไหม
ค่อนข้างสูงผิดปกติเลย จริงๆ มีการละเมิดสิทธิทุกรัฐบาลนะ ช่วงแรกที่เราเริ่มทำงาน เราไปทำในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่รัฐบาลคุณทักษิณ ก็มีทั้งคดีฆ่าตัดตอน ปราบปรามยาเสพติด ต่อมารัฐบาลอื่นๆ ก็มีอีก เช่น ตอนการสลายการชุมนุมทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดง เราเองก็ได้เข้าไปดูในส่วนที่ช่วยเหลือได้ แต่พอมาในยุคนี้ คำถามคือทำไมถึงสูงกว่าปกติ นั่นเพราะ คสช. มีอำนาจเบ็ดเสร็จมาก แล้วยุคที่ผ่านมาที่เห็นความขัดแย้งมาสิบกว่าปี ยังไม่เคยมีการใช้ศาลทหารแล้วเอาประชาชนไปขึ้นศาลทหารเลยนะ แต่ยุคนี้มี นี่เป็นความรุนแรงในระบบที่มันกระเทือนกับระบบกฎหมายมาก
โดยเฉพาะมาตรา 44 ซึ่งเป็นอะไรที่พิสดารมากๆ ทั้งในมุมหลักการกฎหมาย การบังคับใช้ และการเมือง ในมุมกฎหมายคือมาตรา 44 ให้อำนาจคนคนเดียว หรือก็คือหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งอะไรก็ได้ แถมยังชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเป็นที่สุด ปัจจุบันหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจออกคำสั่งมาสองร้อยกว่าฉบับ และจะยังอยู่เป็นมรดกตกทอดไปอีกนานมาก เหมือนคำสั่งคณะปฏิวัติในหลายๆ ยุคที่ยังอยู่ถึงปัจจุบัน คำสั่งที่กระทบต่อประชาชนก็ยังอยู่ จนกว่าจะมีการยกเลิก ซึ่งก็ไม่ง่าย ต้องเป็นพระราชบัญญัติโดยรัฐสภาในสมัยหน้าหลังเลือกตั้ง
มีกฎหมายอะไรอีกไหมในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่คนส่วนใหญ่อาจไม่รู้มาก่อน แต่เกี่ยวข้องกับประชาชนอย่างมาก
มีอีก 2 มาตราในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่คนทั่วไปอาจไม่รู้ เป็นมาตราที่พูดง่ายๆ ว่า นิรโทษกรรมให้กับคณะรัฐประหาร และยังยกเว้นไม่ให้ คสช. กับตัวแทนที่ทำตามคำสั่ง ต้องรับผิดชอบหรือมีความรับผิด ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ร้ายแรงมากที่ซ่อนอยู่ มันคือการยกเว้นให้กลุ่มคนกลุ่มคนหนึ่งลอยนวล ไม่ว่าจะทำอะไรสุดท้ายก็จะไปอ้างว่ารัฐธรรมนูญบอกแล้วว่าไม่ต้องรับผิด ฟังดูเวอร์แต่จริง
มีกรณีที่ประชาชนฟ้องศาล โต้แย้งว่าแบบนี้มันผิด เจ้าหน้าที่ทำไม่ชอบนะ แต่ศาลก็มีปัญหา ศาลไม่ได้ดูอะไรเลยแล้วก็บอกแค่ว่า อ๋อ พอดีมันมีรัฐธรรมนูญบอกไว้แล้วว่าชอบด้วยกฎหมาย ก็คือถูกกฎหมาย แล้วเป็นที่สุด ศาลก็ตัดทิ้งออกไป สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นทั้งในศาลปกครอง หรือศาลพลเรือนเอง
นี่เป็นตัวอย่างที่คนอาจจะพูดว่า ‘ถ้าไม่ผิดกฎหมาย ถ้าไม่ได้ทำผิด ก็ไม่ต้องกลัว’ หรือว่า ‘ถ้าเข้าสู่กระบวนการ เดี๋ยวศาลก็ให้ความยุติธรรมเอง’ แต่ความจริงในเส้นทางของกระบวนการยุติธรรม มันมีหลุมมีบ่อสำหรับคนตัวเล็กตัวน้อยหรือคนที่ไม่รู้เยอะ คุณต้องเป็นคนที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง คุณถึงจะสามารถเดินเข้าไปสู่เส้นทางที่บอกว่าดำเนินคดีหรืออะไรก็ได้ ฉันไม่กลัว
แสดงว่าการที่เรามีรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอาจไม่ใช่คำตอบของประชาธิปไตย
พอเรามีรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ทุกคนก็คิดว่าเรามีรัฐธรรมนูญถาวรแล้ว ประเทศจะกลับเข้าสู่ภาวะที่มีประชาธิปไตยแล้ว แต่เอาเข้าจริงรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำไปสู่ภาวะวิกฤตทางการเมืองอีกรอบแน่นอน เพราะหนึ่ง เป็นรัฐธรรมนูญที่มีที่มาผิดตั้งแต่ต้น ร่างโดยใคร ออกโดยใคร
สอง ร่างรัฐธรรมนูญ 60 รับรองไว้ว่า คำสั่งต่างๆ และ คสช. ยังมีผลเหมือนเดิม และอยู่ยั่งยืนไปกับเราจนกว่าจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง
สาม นิรโทษกรรมตัว คสช. ก็ยังอยู่เหมือนเดิม เราก็ยังไม่สามารถไปฟ้องเขาให้ขึ้นศาลได้ ในฐานะที่ทำรัฐประหาร
สี่ กลไกต่างๆ ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญปี 60 ปัจจุบัน เป็นเหมือนตะขาบทายาทอสูร ถึงผ่านไปแล้ว แต่มันจะอยู่ในร่างคุณอีกนาน นั่นก็คือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งกลไกมันมีปัญหาทั้งฉบับนะ
รัฐธรรมนูญนี้เป็นมรดกของอำนาจเผด็จการสมัยนี้ที่สืบทอดมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ เพราะในประวัติศาสตร์ชาติไทยไม่เคยมีการดำเนินคดีกับคนทำรัฐประหารเลย คือคุณเป็นทหาร คุณปฏิวัติ คุณไม่เป็นกบฏ ดังนั้นจะมีไหม รัฐบาลหรือใครก็ตามหลังเลือกตั้งที่จะมองเห็นว่าประเด็นหลักๆ รากฐานใหญ่ โครงสร้างใหญ่ของความอยุติธรรมในสังคม หนึ่ง คือเรื่องโครงสร้างกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม สองคือเรื่องของประวัติศาสตร์และการเข้าใจสังคมของคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด เวลาเราพูดถึงกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง ตั้งแต่ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล กระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมไปถึงการศึกษากฎหมาย ต้องมีการปฏิรูปให้นักกฎหมายเข้าใจถึงภาวะสังคมและสิ่งที่อยู่เบื้องหลังของกฎหมาย อันนี้เป็นวาระที่สำคัญ
แต่ก็มีหลายพรรคที่ประกาศว่าหากได้จัดตั้งรัฐบาลก็จะมีการปฏิรูปกองทัพ
ใช่ ถามว่าทำไมถึงเป็นประเด็น อย่างที่บอกว่าประวัติศาสตร์อันยาวนาน ทุกครั้งที่มีอะไรที่เป็นปัญหาการเมือง ที่จริงๆ ภาคประชาชนควรมีสิทธิได้เรียนรู้จนถึงสุดทาง แต่กลายเป็นกองทัพหรือทหารเข้ามาแทรกแซงตลอดเวลา เหมือนเราถูกฆ่าตัดตอนกระบวนการเรียนรู้ เรามีความกลัวว่าถ้าเขาไม่เข้ามาหยุดอาจจะล้มตายเยอะมาก แต่จริงๆ มันมีฟังก์ชันอื่นที่ดูแลความสงบเรียบร้อยได้ แล้วคุณก็ต้องยอมให้สังคมเรียนรู้ไปด้วยกัน ไม่ใช่อยู่ๆ มีคนหนึ่งออกมาถือปืนแล้วบอกว่าทุกคนต้องหยุด ฉันมีอาวุธนะ ทุกคนต้องฟัง แล้วสุดท้ายพอถึงจุดต่ำสุด ที่เราทะเลาะเบาะแว้งกัน เราคุยกันได้ไหม เราหาฉันทามติร่วมกันได้ไหม เราชอบอะไร ไม่ชอบอะไร
เพราะฉะนั้น เราเห็นปรากฏการณ์นี้มาตลอด แม้กระทั่งวัยรุ่นก็เห็นว่า เฮ้ย ทำไมทหารไม่อยู่ในบทบาทของคุณ คุณมาอยู่ในพื้นที่นี้ได้ยังไง คือไม่ได้มีคนที่มีความรู้เหมาะสมที่จะมาเป็นคนดูแลนโยบาย การจัดการเรื่องนี้มันยาก เราไม่สามารถจัดการแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินได้ อย่าใจร้อน เพราะว่าใจร้อนปุ๊บ กลับสู่วงจรเดิม คือรัฐประหาร เราต้องอดทน และเรียนรู้ไปพร้อมกัน หรือแม้กระทั่งการแก้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมและละเมิดสิทธิประชาชน ก็ต้องพิจารณาไปพร้อมกัน ให้ตามยุคสมัยและสังคมโลก
มันสะท้อนว่าตั้งแต่อดีตประเทศเราไม่ได้ถูกกำหนดโดยประชาชน แต่ถูกกำหนดหรือควบคุมโดยผู้มีอำนาจในมือว่าสังคมจะเป็นอย่างไร เพราะผู้ปกครองเป็นอย่างไร สังคมก็เป็นอย่างนั้น เหมือนที่สี่ห้าปีมานี้คดีเรื่องการละเมิดสิทธิก็มากขึ้นในยุคเผด็จการ
ใช่ ถามว่าเราต่อสู้เพื่ออะไร ก็เพื่อให้ประชาชนได้มีอำนาจบ้าง เพราะถ้าประชาชนได้ชัยชนะแค่หนึ่งครั้งจะทำให้อะไรหลายๆ อย่างเกิด อันนี้ไม่ได้พูดถึงความรุนแรงนะ แต่ถามว่าทำยังไงเราถึงจะสั่นหรือเขย่าตัวคนที่มีอำนาจให้เขารู้ว่า ถามจริงๆ เถอะ อำนาจที่คุณมี คุณเห็นหรือเปล่าว่ามีประชาชนอยู่ และนั่นเป็นสิ่งที่เราคิดว่าคนที่มีอำนาจกลัว
ยุคสมัยที่เปลี่ยน ประชาชนมีอำนาจ มีความรู้ ในการเข้าถึง มีอำนาจที่จะออกไปรู้ว่าข้างนอกเป็นยังไง ทำไมรัฐถึงจำกัดสิ่งที่คนเบื่อกันแล้ว จำกัดสิทธิ เสรีภาพ ในการพูด การคิด ก็เพราะว่ามันทำให้ประชาชนมีอำนาจต่อรองกับคนที่เอาอำนาจเราไปนั่นแหละ เป็นไปไม่ได้หรอกที่เราทุกคนจะมาปกครองร่วมกัน แต่อย่างน้อยๆ เมื่อประชาชนมีศักยภาพ มีความรู้ เข้าถึงข้อมูลข่าวสารรอบด้าน มีสิทธิ์ตัดสินใจเอง เมื่อเขารวมกลุ่มกันก็จะมีแรง มีพื้นที่ มีอำนาจต่อรองกับตัวแทนของเขา
แต่ตั้งแต่อดีตก็มีประชาชนหรือแกนนำที่พยายามเรียกร้องสิทธิจากผู้มีอำนาจถูกอุ้มหาย มันกลับยิ่งทำให้คนหวาดกลัวและไม่กล้าพูดขึ้นไปอีกหรือเปล่า
สมมติเราพูดว่าอุ้มหาย มันมีความน่ากลัวโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แล้วอุ้มหายในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ชื่อเต็มมันคือ บังคับให้สูญหาย คือบังคับให้คนคนนี้หายไปจากโลก อาชญากรรมนี้รุนแรงมาก เพราะการที่คุณทำให้คนคนหนึ่งที่เคยมีชีวิตอยู่ในสังคมมลายหายไปจากสังคมนั้น มันไม่ได้กระทบแค่คนที่หายไป แต่กระทบครอบครัว เพื่อนฝูง สังคมบริวาร สร้างความหวาดกลัว
และที่เรียกว่าอุ้มหายในความหมายการละเมิดสิทธิโดยรัฐน่ากลัวกว่าการลักพาตัวนะ คำว่าลักพาตัวใช้แบบลักพาไปเรียกค่าไถ่ ลักพาตัวไปทำร้าย ก็คือเอกชนกับเอกชน แต่พอเป็นอุ้มหาย นั่นคือเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วน เพราะเจ้าหน้ารัฐมีอำนาจ มีเครื่องไม้เครื่องมือที่เหนือกว่าประชาชน มีกรณีหลายอย่างที่เกิดขึ้น ผลที่ออกมาคือสร้างความหวาดกลัวมาก มีผลกระทบมาก
บางครั้งในบางประเทศที่ประชาชนไม่เข้มแข็ง รัฐเลือกละเมิดแค่คนเดียว สามารถทำให้เงียบได้ทั้งชุมชน มันเป็นการส่งข้อความจากคนที่ทำ โดยเฉพาะถ้าคนทำเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ นั่นหมายความว่ารัฐกำลังส่งการคุกคามไปที่ประชาชนว่า ถ้าทำแบบนี้คุณจะมีชะตาแบบนี้หรือเปล่า
เรามีกฎหมายเอาผิดกับคนมีอำนาจได้ไหม เพราะหลายกรณีก็ไม่เคยเห็นผู้ได้รับผิดเลย
ถ้าตามกฎหมาย เรื่องอุ้มหายจะถือว่าเป็นกรณีที่รุนแรงมาก และจะไม่มีอายุความจนกว่าจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ชะตากรรมเขาเป็นอย่างไร แต่ยกตัวอย่างกรณีของทนายสมชาย มันติดที่กฎหมายภายในประเทศ คือเรายังไม่มีข้อหาอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เรามีแต่ข้อหาลักพาตัว ซึ่งลักพาตัวยังไม่ถึงดีกรีของคำว่าอุ้มหาย เรายังไม่มีข้อหาซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เรามีแต่ข้อหาใกล้เคียงกัน แต่ยังไม่ถึงเหมือนกัน เช่น ทำร้ายร่างกาย ทำให้บาดเจ็บสาหัส ข่มขืนจิตใจ มันเป็นช่องโหว่ของกฎหมาย ตราบใดที่รัฐไม่ได้มีแนวโน้มที่อยากจะออกกฎหมายที่มันคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ก็จะมีช่องโหว่กฎหมายแบบนี้แหละ
ทำอย่างไรประชาชนถึงจะมีความเข้าใจและตระหนักถึงสิทธิของตนเอง
ต้องให้ความรู้ ให้พื้นที่ ให้สิทธิเสรีภาพเขา ให้เขาคิด ให้เขาเข้าถึงข้อมูล อย่างที่บอก ในยุคนี้คุณจะมาใช้ single gateway คุณจะดับความรู้ คุณจะไม่ให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าถึงไม่ได้แล้ว ดังนั้น เราเห็นช่องว่างของการเรียนรู้ของคนในยุคสมัย ก็คงจะต้องมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้กัน เพราะฉะนั้น กลับมาที่เรื่องนี้แหละ ประเทศไทยต้องเดินหน้าต่อไปในกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย เราไม่ควรที่จะถดถอยเอาตัวเองลงคลองไปอยู่กับเผด็จการ การเลือกตั้งสำคัญที่ตรงนี้ เหมือนเราก้าวขาตัวเองกลับมาจากที่เดินถอยไปในตอนแรก เพื่อที่จะไปต่อข้างหน้า เลือกตั้งไม่ใช่สูตรสำเร็จของประเทศไทย ยังมีกระบวนการอีกเยอะที่ต้องเดินหน้า
กระบวนการที่ว่าเช่นอะไรบ้าง
สิ่งที่เราคิดว่าต้องจับตามองคือเรื่องของนโยบายต่างๆ หรือรัฐบาล ว่าจะลืมเรื่องเหล่านี้ไปไหม ถ้าบอกลืมไปเถอะ เราสมานฉันท์ปรองดองกันเถอะ ก็ลำบากนะ เพราะประวัติศาสตร์ซ้ำรอยมาเยอะ คิดว่าน่าจะถึงเวลาที่สังคมต้องพูดคุยกันแล้วว่าเราต้องมีฉันทามติร่วมกัน หนึ่ง จะต้องไม่มีการทำรัฐประหารอีก จะได้ไม่มีใครมาดึงให้สังคมสะดุด สอง หากเราบอกว่าจะป้องกันการทำรัฐประหาร เราควรต้องทำอย่างไร เช่น คนที่ทำรัฐประหารควรได้รับบทเรียนหรือไม่ หรือต้องมีการเยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายต่างๆ ที่ให้อำนาจมาจับกุมประชาชน ปิดสื่อ คุกคามต่างๆ ต้องกำจัด หรือ สาม คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ต้องได้รับการตรวจสอบ รวมถึงศาลด้วย
แล้วถ้าหลังเลือกตั้งเราได้เผด็จการกลับมามีอำนาจอีกครั้งล่ะ ประชาชนควรมีวิธีคิดแบบไหนในการใช้ชีวิตกับสังคมแบบนี้
สิ่งที่จะช่วยได้ในรัฐที่อำเภอใจ คือ อย่างน้อยๆ พยายามรู้ว่าสิทธิขั้นพื้นฐานของตัวเองว่ามีอะไรบ้าง แล้วให้ความรู้นั้นกับคนรอบข้าง ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องทำหน้าที่เหมือนกัน เรามีกองหน้า มีกองหลัง มีกองอื่นๆ สนับสนุนตลอดเวลาอยู่แล้วในหลายๆ เรื่อง ถ้าคุณอยากสนับสนุนอะไร คุณทำได้ขนาดไหนก็ทำ
เช่น การออกมาเลือกตั้ง หรือการที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบาย ทำเท่าที่คุณทำได้ เพราะทุกคนมีเหตุผลในชีวิตที่ไม่เหมือนกัน แต่ว่าถ้าทุกคนในสังคมเพิกเฉย นิ่งเงียบ จะกลายเป็นวันดีคืนดีมารู้ตัวอีกทีเราได้ช่วยกันก่อกำแพงกั้นความรุนแรงที่มันเงียบมาก พอเป็นอย่างนั้นไปเรื่อยๆ เมื่อเกิดอะไรขึ้นซ้ำๆ ก็ไม่มีใครพูดอะไรแล้ว อันนี้ไม่ได้ยุยงให้คุณต้องออกมา ต้องกล้า แต่คุณต้องรู้สิทธิ ตระหนัก ตื่นตัวอยู่ ดูจังหวะเวลา ทำอะไรได้ทำ แต่อย่าอยู่นิ่งเฉย หรือแม้กระทั่งไม่คิดถึงมันเลย อันนี้คุณกำลังสร้างสิ่งแวดล้อมที่มันเอื้อประโยชน์ให้กับคนมีอำนาจที่เขาอยากให้เราเป็นประชาชนเชื่องๆ
ตัวอย่างการถูกดำเนินคดีของประชาชนจากคำสั่งหรือประกาศจาก คสช. ในช่วงปี 2557 ถึงพฤษภาคม 2561
– ประชาชนที่ถูกเรียกรายงานตัวและปรับทัศนคติ ถูกข่มขู่ คุกคาม และติดตาม อย่างน้อย 1,138 คน
– กิจกรรมสาธารณะถูกเจ้าหน้าที่ทหารปิดกั้นและแทรกแซง อย่างน้อย 264 กิจกรรม
– พลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหาร 1,886 คดี
– ซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ทหารเกิดขึ้นระหว่างการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกและคำสั่งหัวหน้า คสช. อย่างน้อย 18 ราย
– ละเมิดคำสั่งห้ามมิให้มีการร่วมกลุ่มชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป อย่างน้อย 378 ราย
*ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai Lawyers For Human Rights)