จอห์น รัตนเวโรจน์

Sounds of Earth: ฟังเสียงของโลกและความรู้สึกของตัวเองผ่านเพลงของ จอห์น รัตนเวโรจน์

“เหตุอันใดจึงมีรุ้งงาม เกิดเมื่อยามเวลาฝนซา เหตุใดฟ้าจึงแลดูกว้างไกล เส้นขอบฟ้าสิ้นสุดตรงไหน โลกเราหมุนไปทำไม”

        เสียงจากเพลง ไม่มีคำตอบ ของวงนูโว ที่ร้องนำโดย ‘จอห์น’ – นรศักดิ์ รัตนเวโรจน์ ดังก้องอยู่ในหูฟังของเรา ระหว่างการเดินทางด้วยรถไฟจากสถานีหัวลำโพง ไปยังโรงแรมดุสิตธานี หัวหิน โดยจุดประสงค์ของเรานั้นคือการไปพบกับคอนเสิร์ต Listen to the Earth in Silence ที่สร้างสรรค์โดยกลุ่ม SOE หรือ Sounds of Earth ที่มีผู้ชายเสียงหล่อทุ้มนุ่มคนนี้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก และเป็นการเปิดประสบการณ์ในการฟังและดูคอนเสิร์ตแบบ Silent Music ของเราอย่างเต็มตัวเป็นครั้งแรกด้วย 

        Silent Music ของ จอห์น นูโว คือการแสดงคอนเสิร์ตนักร้อง นักดนตรี เต็มวงเหมือนปกติ แต่จะไม่มีเสียงดังกระหึ่มกึกก้องออกมาจากลำโพงบนเวที คนที่อยากดูคอนเสิร์ตก็จะฟังเพลงผ่านหูฟัง (ที่มีคุณภาพเสียงที่ยอดเยี่ยม) จะยืนฟัง เต้นตาม นั่งหลบมุมฟัง หรือแม้แต่นอนฟังสบายๆ ในห้องพักก็ได้ เพราะส่งเสียงผ่านระบบไร้สายด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ส่วนคนอื่นที่ไม่ได้อยากดูหรือฟังเพลงก็ทำกิจกรรมของตัวเองโดยที่ไม่ถูกรบกวนจากเสียงในงานคอนเสิร์ตที่เกิดขึ้น 

        คนที่ตั้งใจมาดูคอนเสิร์ตก็สนุกกับเสียงเพลงของตัวเองอย่างเต็มที่ คนอีกกลุ่มก็พักผ่อนไปกับความเงียบสงบที่ตัวเองต้องการ สัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณรอบๆ ก็ไม่ถูกรบกวนด้วยสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในพื้นที่ ต่างฝ่ายต่างมีความสุขในวิถีชีวิตของตัวเองที่ไม่เบียดเบียนกันและกัน 

        สิ่งนี้อาจจะเป็นคำตอบของเพลงที่เขาขับกล่อมเรามาตลอดหลายปี และเปิดมุมมองใหม่กับการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืนของมนุษย์ในอนาคตก็ได้

 

จอห์น รัตนเวโรจน์

ทำไมคุณถึงเลือกใช้เทคโนโลยีในการเชื่อมต่อผู้คนเข้ากับธรรมชาติ

        เพราะสภาพจิตใจของคนในปัจจุบันถูกเทคโนโลยีผลักเราให้ห่างเหินจากธรรมชาติ ทั้งๆ ที่มนุษย์นั้นอยู่กับธรรมชาติมาตลอด ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ติดอยู่ในใจผมด้วย เพราะผมเป็นคนนำระบบอินเทอร์เน็ตมาให้บริการเป็นรายแรกๆ ของประเทศไทย ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้คนห่างเหินกับธรรมชาติมากขึ้นแล้ว ยังเกิดเป็นความสับสนในชีวิตของตัวเองได้พอสมควรเลย เพราะรอบตัวเรานั้นรายล้อมไปด้วยขยะดิจิตอลเต็มไปหมด 

        ผมเชื่อว่าเรื่องนี้หลายคนไม่รู้ตัว โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่ความคิดเรื่องธรรมชาติกับตัวเขาเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ โปรเจ็กต์นี้ตอนแรกเราใช้ชื่อว่า Connected Earth เราจึงเอาแก่นของคำว่า connect มาใช้ และผมรู้สึกว่าเครื่องมือที่จะช่วยให้ตัวเองคลายเครียดได้ดีที่สุดคือเสียงเพลง ผมจึงคิดว่าถ้าอย่างนั้นเรามาทำเป็นโปรเจ็กต์ ‘สุนทรียนุรักษ์’ (Aesthetic Conservation) ดีไหม ให้ตัวเองได้รับการฟื้นฟูพลังใจจากธรรมชาติ จากสิ่งแวดล้อม ส่งให้กับคนทั่วไป จะใช้ศิลปินหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้าคุณอยากมาร่วมด้วยกันก็โอเค ลองมาเจอมาคุยกัน

ที่คุณบอกว่า Sounds of Earth คือการฟังความรู้สึกของโลกบ้าง หมายความว่าอะไร

        ผมเชื่อว่าเราจะสามารถรับฟังความเจ็บปวดของโลกใบนี้ได้ด้วยไหม เช่น เราทำร้ายโลกมากไปไหม ถ้าโลกใบนี้ส่งเสียงบอกเราได้ โลกจะพูดอะไรกับเรา เสียงของโลกจะสามารถร้องออกมาเป็นเพลงได้ไหม ถ้าได้ โลกจะพูดอะไรกับเรา โลกจะร้องเพลงออกมาแบบไหน เพลงนั้นจะหม่นหมองเศร้าหรือมีความสุขแค่ไหน อารมณ์ของโลกก็เหมือนอารมณ์ของมนุษย์ มีท้องฟ้าสดใส มีพายุ มีรุ้งงามๆ มีความเป็นเอเชีย มีบางอย่างที่ผมรู้สึกได้ และเชื่อว่าถ้าเราเปิดทุกเรดาร์รับฟังกันและกัน เราจะมาหาสมดุลด้วยกัน 

สมดุลที่ว่าคือการทดลองงานด้านดนตรีที่ SOE ทำอยู่ตอนนี้ใช่ไหม

        เป็นการทดลองด้านดนตรีมาอย่างต่อเนื่อง ภายในสุนทรียนุรักษ์ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยว่าเราจะทำอย่างไรถึงจะประพันธ์บรรยากาศได้ ทำอย่างไรงานของเราถึงจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างมลพิษทางเสียง ไม่ต้องใช้พลังงานมาก ให้โลกมาเป็นนักแสดง ซึ่งผมได้ความคิดนี้มาจากเสียงของจักจั่น 

        ผมเคยเดินทางไปทั่วประเทศด้วยรถบ้าน วันหนึ่งผมเล่นดนตรีกับน้องในทีม SOE ขณะที่ผมกำลังร้องเพลง โง่งมงาย แล้วมีเสียงจักจั่นแทรกเข้ามา ซึ่งเสียงของจักจั่นนั้นไม่มีคีย์ที่สอดคล้องกับเพลงของผมเลย แต่ผมก็ลองปล่อยให้เสียงนั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเพลงไปเลย ปรากฏว่าเพลงกลับเพราะ เสียงที่ได้สะกิดให้ผมรู้สึกว่า เราลองฟังเสียงธรรมชาติกันสิ ฟังเสียงนก เสียงน้ำตก จากนั้นเพลงของเราจึงมีเสียงนกร้อง เสียงทะเลแซมเข้ามา ใช้แอพพลิเคชันช่วยให้เกิดซาวนด์ของสิ่งแวดล้อมมาปรากฏตรงหน้า ทั้งเสียงกวาง เสียงช้าง เราสร้างซาวนด์ให้มีเสียงของสัตว์ป่าเกิดขึ้นในเมืองได้ สร้างสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นรอบตัวเรา

 

จอห์น รัตนเวโรจน์

ที่คุณเล่ามานี่ถ้าเป็นการแสดงในแกลเลอรีก็คืองานศิลปะประเภท Performance Art เลยนะ 

        จะเรียกว่า Techno Art ก็ได้ เพราะจริงๆ ศัพท์ภาษาอังกฤษคำว่าสุนทรียนุรักษ์ก็มีแล้ว คือคำว่า Aesthetic Conservation ซึ่งผ้าใบของผมคือฉากที่อยู่ด้านหลังของแต่ละสถานที่ อย่างงานล่าสุด Listen to the Earth in Silence ซึ่งเป็นคอนเสิร์ต Silent Music จัดที่ริมชายหาดของโรงแรมดุสิตธานี หัวหิน นอกจากทะเลที่เป็นแบ็กกราวด์ข้างหลังแล้ว ผมก็ใส่เรื่องของวัฒนธรรมของพื้นที่นั้นๆ ลงไปด้วย เช่น ให้ศิลปินเป่าขลุ่ย และมีการอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์มาเล่น ซึ่งเหตุผลคือ โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน ตั้งอยู่ใกล้กับพระราชวังไกลกังวล ดังนั้น จึงมีเรื่องของความรู้สึก พื้นที่ ศิลปะ และเทคโนโลยีเข้ามาประสานกัน

        ซึ่งก่อนหน้านี้ผมเดินทางไปทดลองด้านดนตรีในวนอุทยานมาแล้ว ที่สวนลุมพินีก็ไปมา ตอนที่ไปเขาใหญ่เราก็จะมีเครือข่ายของผู้พิทักษ์สัตว์ป่าหรือเครือข่ายของคนดูนก ซึ่งเขาจะให้ข้อมูลว่าการฟังเสียงนกโดยไม่รบกวนนกต้องทำอย่างไร เช่น ไปถึงแล้วต้องดับเครื่องยนต์ให้หมด เป็นต้น แล้วดูว่าเราจะบิดซาวนด์ที่อยู่รอบตัวเราได้อย่างไร หรือถ้าเป็นบริเวณที่มีรถไฟฟ้าเราจะพาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้นอย่างกลมกลืนได้แบบไหน ผมชอบที่เราจะได้เรียนรู้การ revolve หรือ involve กับสภาพแวดล้อมได้

สามปีที่คุณทดลองโปรเจ็กต์นี้มา ค้นพบอะไรบ้าง

        ผมพบว่าสิ่งที่เราเคยคิดว่าคนละเรื่องกัน แยกกัน จริงๆ แล้วเป็นเรื่องเดียวกัน ผมเคยคิดว่าเรื่องสุขภาพใจและสุขภาพจิตของเรากับการอนุรักษ์โลกน่าจะแยกกัน แต่ลึกๆ ในใจผมอยากให้ทั้งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะถ้าเป็นเรื่องเดียวกัน แปลว่าเราได้เยียวยาใจพร้อมกับเยียวยาโลกไปด้วยกันได้ ตอนนี้ผมได้พิสูจน์แล้วว่ามันเป็นเรื่องเดียวกัน เช่น ในงาน Listen to the Earth in Silence ที่โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน ก็เป็นหนึ่งในงานทดลองของผม เพราะผมอยากทดลองสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลาอยู่แล้ว ผมลองใช้โลเกชันของโรงแรมและแสงจันทร์มาช่วยเยียวยาตัวเองขณะที่ร้องเพลงไปและมองพระจันทร์ไป ซึ่งผมเอาหลักการของจักระ (Chakras) มาใช้ในการเติมเต็มพลังให้ตัวเอง โดยให้นิ้วมือของผมสัมผัสกับแสงจันทร์ ฟังดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อ แต่มันก็เป็นหลักการเดียวกับที่เราตั้งสมาธิไปกับเสียงของระฆัง ซึ่งเป็นการผสมผสานร่างกายและจิตใจของตัวเองเข้ากับพลังของจักรวาล 

แปลกมาก ทั้งๆ ที่ภาพของ จอห์น รัตนเวโรจน์ ที่อยู่ในหัวเรามาตลอดคือผู้ชายที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยตลอดเวลา

        ใช่ ผมยังเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีอยู่ เพราะว่าเทคโนโลยีทำให้เราทำสิ่งนี้ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมมนุษย์ถึงยังเหนือกว่าปัญญาประดิษฐ์ เพราะสิ่งเหล่านี้ปัญญาประดิษฐ์ยังทำไม่ได้ แต่ในวันข้างหน้าปัญญาประดิษฐ์อาจจะพัฒนาจนสามารถทำได้ แต่ทำมาเพื่อช่วยเยียวยาโลก เหมือนตอนที่ผมนำอินเทอร์เน็ตเข้ามาให้คนไทยใช้ ผมเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายแรกๆ ของคนไทย ภาคตะวันออก ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ผมทำในนาม KSC ซึ่งตอนนั้นที่นำระบบอินเทอร์เน็ตเข้ามา เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่สรรค์สร้างสิ่งดีๆ เอามาเพื่อช่วยเหลือคน จนกระทั่งวันนี้เติบโตกลายเป็นโซเชียลมีเดียที่กลายเป็นแพลตฟอร์มที่มีทั้งดีและไม่ดี

        ผมมักพูดเสมอๆ ว่า “จงใช้เทคโนโลยี อย่าให้เทคโนโลยีใช้เรา อย่าให้มันมาเบียดบังจิตใจของเรา” ดังนั้น วันนี้เทคโนโลยีจึงเกี่ยวข้องตั้งแต่สุขภาพจิตไปจนถึงจิตวิญญาณของเราแล้ว เพราะมันได้เข้ามายึดจิตใจของเรา มันดึงความสนใจของผู้คนไปจนหมด แล้วก็เอาข้อมูลส่วนตัวของเราไปทำเงิน ดึงความสนใจทุกอย่างไปอยู่บนจอสมาร์ตโฟน เกิดความไม่สมดุลขึ้นมา ถ้าถามว่าจะทำอย่างไร ผมก็บอกเลยว่าให้ลองปิดโทรศัพท์ พาตัวเองไปอยู่กับโลก ฟังเสียงเพลงที่มีคุณภาพจริงๆ พักเพลงที่กระตุ้นให้อารมณ์เราพลุ่งพล่านไปก่อน ซึ่งเรื่องนี้เราก็ได้คนที่สนใจมาร่วมกันเป็นพาร์ตเนอร์ที่ต้องการบาลานซ์แบบเดียวกัน เช่น โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน ที่เขาก็มองว่าอยากทำเรื่องดีๆ แบบนี้ให้กับนักท่องเที่ยวของเขา

 

จอห์น รัตนเวโรจน์

ตอนทำกิจกรรม Silent Music คุณรู้สึกเขินๆ บ้างไหม ที่ต้องเล่นดนตรีแบบเงียบๆ ต่อหน้าคนดูที่ต่างคนต่างใส่หูฟังกันหมดในบรรยากาศที่ไม่มีเสียงเพลงออกมาจากลำโพงบนเวที

        มีสิครับ มีเหวอ มีอายบ้าง (หัวเราะ) เพราะคนที่เหวอและคนที่อายคือคนที่ยังติดกับการฟังเพลงในคอนเสิร์ตรูปแบบเดิมอยู่ ถ้าคุณมองว่านี่เป็นรูปแบบใหม่ของการดูคอนเสิร์ตในอนาคตที่คุณสามารถสนุกกันได้โดยไม่รบกวนใคร คุณจะอยู่กับผมหน้าเวทีก็ได้ หรือจะสนุกอยู่ในห้องพักของตัวเองก็ได้ โดยไม่รบกวนคนที่พักอยู่ห้องข้างๆ เพราะคุณจะไปรู้ได้อย่างไรว่าเวลาคุณเปิดเพลงดังๆ หรือผมเล่นเพลงดังๆ จะรบกวนใครไหม ซึ่งก็ไม่ต่างกับคนที่ขับรถมาแล้วเปิดเพลงดังลั่น แล้วบอกว่าผมมีอิสรภาพในการทำสิ่งนี้ ผมจะเปิดเพลงเสียงดังได้ ซึ่งไม่ใช่เลย คุณกำลังป่วย คุณกำลังเรียกร้องความสนใจ ไม่ต่างกับการที่เราพยายามใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กในการดึงดูดความสนใจจากคนอื่นแล้วก็ถูกนำข้อมูลไปหารายได้จากสิ่งที่เกิดขึ้น ผมพูดแบบนี้อาจมีหลายคนที่ไม่เข้าใจและตีความผมไปในทางอื่นก็ได้ แต่หากคุณเข้าใจที่ผมพูดก็ขอบคุณมากๆ และผมขอยืนยันว่าตัวเองไม่เคยใช้โซเชียลมีเดียเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเลย

หมายความว่าตัวเลขต่างๆ ที่ลอยอยู่ในไซเบอร์สเปซนั้นไม่มีความหมายกับคุณเลยใช่ไหม

        ไม่เลยครับ ผมเป็นคนที่ไม่ชอบอะไรก็ตามแต่ที่จะเอาปริมาณ อย่างเรตติ้งรายการทีวี ยอดวิวยูทูบ หรือยอดในเฟซบุ๊กที่มีแผนทางธุรกิจในแบบที่จะเอาแต่การกดไลก์เพื่อสร้างความแตกต่างระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ผมไม่เห็นด้วยล้านเปอร์เซ็นต์ มันอาจจะดูไม่ค่อยทันสมัยเท่าไร อย่าลืมว่าผมมาก่อนนะ มาก่อนที่จะมีเฟซบุ๊กเกิดขึ้นอีก (หัวเราะ)

ถ้าอย่างนั้นสิ่งที่คุณจะสะกิดให้คนหันมาสนใจโปรเจ็กต์ของ SOE คืออะไร

        คุณภาพ เราต้องกลับมาว่ากันที่เรื่องคุณภาพในทุกมิติ ไม่ใช่มิติเดียว เป็นคุณภาพในการดูแลเยียวยาโลกด้วยความรู้สึก แต่คุณภาพของคนนั้น คุณต้องเข้าไปในรายละเอียดการดำเนินชีวิตของตัวคุณเอง สิ่งนั้นอยู่บนเจตนาของคุณหรือเปล่า เป็นเจตนาที่คุณจะสร้างอะไรแล้วเกิดประโยชน์กับตัวเองและผู้อื่นไหม คุณต้องรู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหนก่อน เพราะว่าถ้าคุณใช้วิธีการเปรียบเทียบว่าอันนั้นดี อันนี้เลว อันนี้มีคนไลก์มากกว่า คนติดตามมากกว่า นั่นคือคุณกำลังใช้เทคโนโลยีมาแบ่งแยกกัน ซึ่งก็ไม่ได้ถูกต้องเสียทั้งหมด ถ้าคุณบอกว่าเราต้องดูกันที่จำนวนตัวเลขสิ เราพูดด้วยวิธีแบบ จอห์น รัตนเวโรจน์ ไม่ได้ ผมเองก็จะบอกว่า ถ้าอย่างนั้นก็ต้องขอโทษด้วยเช่นกัน เพราะผมเองก็พูดภาษาแบบคุณไม่เป็นเหมือนกัน

เข้าใจว่าธุรกิจกับศิลปะนั้นอยู่ร่วมกันได้ยาก คุณทำอย่างไรกับการต้องบาลานซ์ความต้องการของตัวเองและพันธมิตรทางธุรกิจไว้ด้วยกัน 

        ถ้ามีธุรกิจ 2 รายมาเจอกัน มองหน้ากัน แล้วบอกว่าผมคิดคุณ 100% นะ คุณต้องทำให้ผมเต็มทั้ง 100% นะ ผมจะบอกว่าเอาอย่างนี้ดีกว่า เนื่องจากว่าเรามีสิ่งที่เหมือนกันอยู่ เราอยากจะทำเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน เพราะฉะนั้น ส่วนที่เราเหมือนกันคนละ 10% มารวมกันก็ได้ 20% แล้ว แล้วเราดึง 10% ของแต่ละฝ่ายออกไปจากสมการนี้ไหม เหมือนวงกลมสองวงที่มาซ้อนกันแบบเหลื่อมๆ มีช่องตรงกลางเกิดขึ้น นั่นคือค่าใช้จ่ายที่เราต่างเต็มใจซัพพอร์ตให้ เพราะเรามีเป้าประสงค์ตรงนี้เหมือนกัน คุณก็ลดไปได้ 10% ผมเองก็ลดไป 10% ทีนี้จากสิ่งที่ต้องทำ 100% ก็จะเหลือแค่ 80% แล้วก็ทำงานกันอย่างสบายใจด้วย ไม่ต้องมาคิดว่าใครจะเอาเปรียบใคร เพราะเราต่างมีความต้องการที่ลดลงในแง่ของการใช้ทรัพยากรต่างๆ ลงไป แล้วไปโฟกัสกับการทำงานให้มีคุณภาพดีที่สุดกัน

 

จอห์น รัตนเวโรจน์

ฟังแล้วน่าสนุกจนอยากรู้แผนการของ SOE ในอนาคตแล้ว

        วันนี้ Sounds of Earth ได้รับโอกาสในการที่จะใช้คอนเซ็ปต์ของเรา เข้ามาช่วยเหลืออุตสาหกรรมการเดินทางและการท่องเที่ยว ซึ่งเรื่องของการเดินทางเชิงอนุรักษ์ที่ผมตั้งใจทำขึ้นมาตั้งแต่สามปีก่อนนั้นเริ่มได้รับการยอมรับจากหลายหน่วยงานแล้ว ถ้าเป็นไปได้ผมก็วาดฝันไว้ว่าจะมีศิลปินที่สนใจมาเข้าร่วมโปรเจ็กต์กับเราเพิ่มขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมีอาสาสมัครที่จะมาเป็นสมาชิกในกลุ่ม SOE แล้ว เช่น นภ พรชํานิ, บอย โกสิยพงษ์, วง ETC ฯลฯ ซึ่งใครที่กำลังอ่านตรงนี้อยู่สามารถเข้าไปที่หน้าเพจ Sounds Of Earth by John ได้เลย บอกว่าขอเป็นเครือข่าย ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นแค่นักดนตรีนักร้องเท่านั้น คนทำงานศิลปะทุกแขนงก็สามารถมาร่วมกันได้ เราจะวาดภาพลงบนแคนวาสนี้ด้วยกัน ให้มีอนาคตด้วยกัน มาช่วยกันวาดสิ มาช่วยกันระบาย มาช่วยกันร้อง มาช่วยกันเขียน มาช่วยกันขับกล่อมให้เกิดเป็นสุนทรียนุรักษ์ ผมจะตอบอินบ็อกซ์เองเลย เรื่องแบบนี้ต้องตบมือสองข้างถึงจะดัง

คุณจะคัดเลือกคนที่มีเคมีเดียวกันอย่างไร

        คุยกันไม่เกิน 15 นาทีผมก็รู้แล้ว เพราะเราว่ากันที่วัตถุประสงค์นะ วัถตุประสงค์ของคุณคือต้องการอะไร A B C และผมไม่ได้มาตัวเปล่าหรอกนะ ผมก็มีทีมที่ต้องทำงานด้วยกันเป็นชุดใหญ่ ผมก็จะหันไปถามคนในทีมก่อนว่าวัตถุประสงค์นี้ตรงไหม ถ้าตรงก็โอเค ถ้าไม่ตรงก็ไม่ใช่ว่าเราจะตัดขาดกันไปเลย ผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่เราสามารถทำด้วยกันได้ในอนาคต ซึ่งผมมองในส่วนของการทำงานของ Sounds of Earth ว่าเรายังเป็นผู้นำอยู่ และผมเชื่อในคำที่เขาบอกไว้ว่า “ถ้าคุณไม่นำ ก็จงเป็นผู้ตาม แต่ถ้าจะไม่เป็นทั้งผู้นำและผู้ตาม ก็อย่ามาขวางทางกัน” ฟังดูแล้วแรงนะ แต่ก็เป็นเรื่องจริง (หัวเราะ) 

ก่อนที่จะมาพบกับความสงบทางใจ เมื่อก่อนคุณร้อนแค่ไหน เหมือนตัวละคร ‘นายหัวหฤษฎ์’ ที่สร้างชื่อให้คุณในด้านการแสดงจากละครเรื่อง จำเลยรัก ไหม

        หนักและเพี้ยนมาก (หัวเราะ) ถ้าผมดื่มเหล้าด้วยก็จะก้าวร้าว ตอนนั้นผมเยียวยาความรู้สึกตัวเองส่วนใหญ่ด้วยเครื่องดื่ม เลยเป็นคนที่ก้าวร้าว ดุดัน คิดแล้วยังรังเกียจตัวเองอยู่เลย ผมเดินเข้ามาในออฟฟิศก็ใช้อารมณ์กับลูกน้อง เป็นภาพเดียวกับที่คนเห็นผมตอนเล่นละครเรื่อง จำเลยรัก (หัวเราะ) จนถึงวันที่เรารู้สึกว่า ทำไมต้องไปขึ้นเสียงกับคนที่ไม่ได้ทำอะไรให้เราเลย ความรู้สึกนี้มาสะกิดใจผมว่า เราจะเอาขยะที่อยู่นอกบ้านเข้ามาในบ้านทำไม

        ผมมองว่าชีวิตตอนนั้นเป็นเรื่องการเอาตัวรอด เราทุกคนต้องการที่จะดิ้นรนเพื่ออยู่รอดเท่านั้น บางครั้งเวลาเราดิ้นรนเราอาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่เราต้องมามองตัวเองในกระจกว่า เช้านี้เราจะเป็นคนแบบไหนดี ซึ่งต้องใช้เวลาเหมือนกัน แต่เสียดายว่าทำไมมันไม่เกิดขึ้นให้เร็วกว่านี้เท่านั้นเอง ทำไมต้องรอจนอายุป่านนี้ ทำไมเราไม่เป็นคนดี เป็นคนที่เปอร์เฟ็กต์ทุกอย่างตอนเยาว์วัยกว่านี้ แต่ผมไม่อยากจะชี้นิ้วหรือโทษว่าอะไรมีส่วน จะยังไงก็ช่างสิ่งที่เกิดมันคือสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เราเป็นเรา หรือทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมก็ได้ อยู่ที่ว่าจะมองอย่างไร

 

จอห์น รัตนเวโรจน์

ในวัยนี้สายตาที่คุณมองโลกนั้นเป็นภาพแบบไหน

        ผมอยู่กับปัจจุบันแล้ว และอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด แต่ว่าด้วยความรับผิดชอบ ผมมีครอบครัวที่ต้องดูแล ชีวิตผมตั้งแต่มีลูก 2 คน คือมหาสมุทร (จัสติน) กับสุดฟ้า (สกาย) ชื่อของทั้งสองคนคือสิ่งที่บอกว่าครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของผม ดังนั้น เวลาผมคิดอะไรผมจะไม่ได้คิดเพื่อตัวเองแล้ว เพราะผมมีเท่านี้ อยู่ตรงนี้เท่านั้น แต่เทคโนโลยีและโลกใบนี้จะไปต่อ ดังนั้น สิ่งที่ผมทำจะทำในสิ่งที่เป็นความต้องการของเรา ถ้าคุณดูตามนามบัตรของบริษัทผม (หยิบนามบัตรให้ดู) จะมีคำว่า ‘Fulfill Your Purpose’ หรือเติมเต็มทุกความต้องการของคุณ หมายถึง คุณก็ต้องเติมเต็มทุกความต้องการของตัวเอง แต่เป็นการเติมเต็มทุกวัตถุประสงค์ในการดำเนินชีวิตของคุณ แล้วมีอะไรให้ผมช่วยเติมเต็มไหม ถ้ามีเรามาเจอกันครึ่งทาง เพราะว่าถ้าเราบวกลบคูณหารแล้ว ถ้าเรามีสิ่งที่เราเติมเต็มเหมือนกันได้ มันเป็นการลดค่าใช้จ่าย ลดเวลา ลดทุกอย่างในโลกไปโดยปริยาย เหมือนที่ผมบอกคุณเมื่อกี้ว่าผมมี 10% คุณมี 10% เอามารวมกันได้ 20% แล้วไปหักออกจากต้นทุน 100% ที่เราตั้งไว้ก็เหลือ 80% 

อยู่กับปัจจุบันแล้วคาดคะเนอนาคตของโลกไว้ด้วยไหม 

        ดาวอังคาร (หัวเราะ) ถ้าตอบในมุมของคนที่ทำงานกับเทคโนโลยี ผมก็จะบอกว่าต่อไปเทคโนโลยีจะพาเราไปดาวอังคารได้แล้วนะ ถ้าใส่หมวกของผู้บริหาร ผมก็มองว่าบิ๊กดาต้าที่เราได้จากคนจริตเดียวกันจะสามารถเยียวยาให้โลกใบนี้ โควิด-19 ได้สอนอะไรเราเยอะมาก ถ้าหยุด ละ เลิก โรคก็ฟื้นฟูขึ้นมาได้ คุณจำท้องฟ้าในกรุงเทพฯ ตอนที่ไม่มีรถวิ่งได้ไหม เห็นจำนวนสัตว์ทะเลที่เพิ่มขึ้นตามชายหาดสิ แต่ในขณะเดียวกันมนุษย์ก็ต้องเข้าใจว่า พอคุณเปลี่ยนแปลงโลก คุณก็ต้องอยู่ร่วมกับโลกด้วย ผมเชื่อว่าถ้าเราเชื่อมต่อกันได้ เหตุการณ์ที่วาฬ 350 ตัวมาเกยตื้นที่ออสเตรเลียคงไม่เกิดขึ้น แต่อีกฝั่งมีคนที่ MIT เขาคิดค้นวิธีที่ใช้คลื่นเสียงที่บอกทิศทางเพื่อให้วาฬไม่เข้ามาใกล้ชายฝั่ง ซึ่งถ้าคนนี้กับคนที่อยู่ทางชายหาดของออสเตรเลียได้รู้จัก อาจจะช่วยบรรเทาเหตุการณ์นี้ก็ได้ ผมอยากให้โลกเชื่อมต่อด้วยจิตใจกันมากกว่านี้ อย่าใช้การ connectivity ในการทำร้ายกันเองอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

ถ้ามองในฐานะที่สวมหมวกเป็น จอห์น รัตนเวโรจน์ จริงๆ ละ

        ผมเห็นภาพตัวเองดำน้ำอยู่ที่จังหวัดกระบี่ เห็นปลากระเบนกำลังว่ายน้ำผ่านหัวผมไป ซึ่งผมเคยเจอมาแล้วจริงๆ โลกใต้ทะเลที่เงียบงัน สงบ ซึ่งนั่นเป็นที่มาของ Sounds of Earth ด้วยครับ

 

จอห์น รัตนเวโรจน์

 


ขอขอบคุณภาพภายในงาน ‘Listen to the Earth in Silence’ โดยกลุ่ม Sounds of Earth