เคยสงสัยกันบ้างไหมว่า ทำไมหลังงานคอนเสิร์ตวงโปรดของคุณจบลง การจะหารถโดยสารสาธารณะกลับบ้านสักคันหนึ่งถึงเป็นเรื่องที่ยากเย็นและน่าเบื่อหน่าย จนทำให้พวกเราในฐานะผู้ชมที่เดินทางมาสนุกสนานในงาน กลับไม่สนุกสำหรับการหารถกลับบ้านที่เป็นแบบนี้อยู่แทบทุกครั้ง
สำหรับ ‘โมสต์’ – อิทธิกร อัฑฒพงษ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Loops แล้ว นี่คือคำถามก้อนโตในสมัยที่เขามีสถานะเป็นผู้ชมคอนเสิร์ตมาโดยตลอด และจากความคับแค้นใจในการยืนรอรถตู้หลังคอนเสิร์ตเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีวงโปรดนานถึง 2 ชั่วโมง ได้จุดประกายและเป็นต้นไอเดียให้กับ Loops เว็บไซต์จัดคิวรถตู้ขนส่งสำหรับพาผู้ชมคอนเสิร์ตกลับบ้านได้อย่างปลอดภัยและประหยัดเวลา
ซึ่งภายในเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์มไอเดียดีดังกล่าวก็ได้รับความนิยมและเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ใช้งานอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด วันนี้เราจึงชวนเขามาคุยกับ ‘กิ’ – กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร ผู้ก่อตั้ง HAVE YOU HEARD? โปรโมเตอร์คอนเสิร์ตรุ่นใหม่ เพื่อมาหาไอเดียร่วมกันว่าสุดท้ายแล้วในฐานะคนทำงานวงการคอนเสิร์ตด้วยกัน เราจะสามารถพา Loops พัฒนาไปสู่ทิศทางไหนได้บ้าง
เริ่มต้นจากการยืนรอรถวน Loops ไปราวกับอยู่ในอเวจี
“ต้องบอกก่อนว่าตัวผมเองก็เป็นแฟนคลับวงเกาหลี แล้วย้อนกลับไปเมื่อ 4-5 ปีก่อน ผมมีโอกาสได้ไปดูคอนเสิร์ตวงหนึ่งที่เมืองทองธานี ปัญหามีอยู่ว่าตอนงานเลิกผมจะกลับบ้าน แต่ไม่มีรถตู้เข้ามารับคนเลย คืนนั้นผมต้องยืนรอนานถึง 2 ชั่วโมงเลยครับ”
จากประสบการณ์ของโมสต์ที่เล่าถึงช่วงเวลาอันคับแค้นใจแต่ล้ำค่าสำหรับเขา เพราะแทนที่บทสรุปในคืนนั้นจะมีเพียงแค่ความหัวเสียต่อระบบขนส่งยามค่ำคืน แต่เขากลับมองเห็นถึงปัญหาและวิธีการแก้ไขอย่างชาญฉลาด
“ผมเลยเกิดไอเดียขึ้นมาตอนนั้นเลยว่าทำไมไม่มีใครแก้ปัญหาตรงนี้สักที จากนั้นผมเลยเริ่มลองสร้างเว็บไซต์ให้คนเข้าไปจองที่นั่งรถตู้ล่วงหน้าก่อน แล้วเราก็เริ่มจัดหารถตู้ให้กับคนที่จอง โดยตอนนั้นจะมีเส้นทางแค่จากเมืองทองธานีมาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและหมอชิตเท่านั้น ต่อมาเราก็เริ่มขยับขยายให้คนสามารถเลือกโหวตเส้นทางกันในเว็บไซต์ของเรา ซึ่งจะมีเส้นทางหลากหลายมากขึ้น” โมสต์กล่าวอย่างภาคภูมิใจถึงที่มาที่ไปของเว็บไซต์ในมือของเขาที่เปิดให้เราดูในขณะนั้น
“การทำงานคือผู้โดยสารจะโหวตเส้นทางที่จะกลับผ่านทางทวิตเตอร์ก่อน (https://twitter.com/loops_event) หากเส้นทางไหนมีคนโหวตจนสามารถจะจัดหารถให้ได้ เราก็จะเอาเส้นทางนั้นมาขึ้นบนเว็บไซต์ https://loops-event.com ของเราให้คนอื่นเข้ามาจองที่นั่งล่วงหน้า แล้วจะจัดหารถตู้สำหรับขนส่งผู้โดยสารไว้ให้ตามจำนวนคน”
เขากล่าวโดยสรุปก่อนที่จะเสริมถึงประโยชน์ต่อว่า “มันจะแก้ปัญหาเรื่องการเดินทางได้ 2 อย่างคือ เรื่องระยะทางและเวลา เพราะรถตู้มีเส้นทางเดียวไม่ต้องเสียเวลาแวะจอดตามทาง ส่วนการจองที่นั่งล่วงหน้าช่วยลดปัญหาการแย่งที่นั่งและการรอรถอย่างไร้จุดหมาย”
แล้วผลตอบรับในครั้งแรกเป็นอย่างไรบ้าง? เรายิงคำถามที่สงสัยที่สุดออกไป เพราะถึงแม้หลักการของ Loops จะดูสร้างสรรค์และพร้อมเข้าแก้ปัญหาได้ทันที แต่ในเมื่อนี่เป็นแพลตฟอร์มอิสระที่เกิดขึ้นโดยมนุษย์คนหนึ่งที่แทบไม่รู้จักหน้าค่าตากันมาก่อน ความปลอดภัยคงเป็นข้อกังวลแรกสำหรับการใช้บริการ เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำให้มนุษย์คนหนึ่งยอมขึ้นรถไปกับคนแปลกหน้าในยามวิกาลได้
“ตอนแรกเลยคือคนบอกว่าคอนเซ็ปต์ดี แต่พอใช้จริงเละมาก (หัวเราะ) วันแรกที่เปิดเลยคือคอนเสิร์ตเมื่อปีที่แล้ว ผมบอกเขาว่า 15 นาทีหลังเลิกงาน ซึ่งจุดจอดรถเปลี่ยน เลยทำให้ตอนนั้นวุ่นวายมาก บางคนเขาก็กลัวว่ารถจะมีจริงรึป่าว แต่เราเอาฟีดแบ็กตรงนี้มาปรับเปลี่ยนตัว Loops เรื่อยๆ”
Loops ของผู้จัดที่ต้องคอยกังวลเรื่องคนกลับบ้านหลังคอนเสิร์ต
สำหรับทางฝั่งผู้จัดคอนเสิร์ตที่อาจจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะสิ่งที่ต้องกังวลควรอยู่บนเวทีมากเสียกว่าเรื่องราวของระบบขนส่งสาธารณะยามดึก แต่ในฐานะเจ้าของงานแล้ว การทอดทิ้งคนดูหลังงานจบคงจะเป็นเรื่องที่ดูใจร้ายไปเสียหน่อย ซึ่งทางกิรตราเองก็ไม่เคยนิ่งนอนใจพร้อมทั้งอธิบายถึงการแก้ปัญหาที่มีมาโดยตลอด
“สถานที่ส่วนใหญ่ที่เราเลือกจัดงานคอนเสิร์ตก็จะพยายามเลือกจุดที่สามารถเดินออกมาเรียกแท็กซี่ได้อยู่แล้ว เพราะจริงๆ ในฐานะผู้จัดเราไม่อยากให้เขาขับรถมาดูคอนเสิร์ต เนื่องจากในงานพวกเขาก็จะดื่มแอลกอฮอล์กัน ซึ่งไม่ปลอดภัย เราก็จะแนะนำตลอดว่าให้นั่งรถโดยสารหรือนั่งรถไฟฟ้าดีกว่า” เธอเล่าถึงสิ่งที่พยายามบอกกับผู้ชมถึงข้อดีของการนั่งรถสาธารณะที่เป็นประโยชน์กว่าทั้งต่อตัวผู้จัดและตัวผู้ชม
“แต่ถ้าเป็นสถานที่ที่ลึกและเข้าถึงยาก เราก็จะมีการติดต่อเรียกรถไปรับ-ส่งจากสถานที่จัดคอนเสิร์ตไปจุดที่สามารถเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะต่อได้ เพราะไม่ใช่ทุกสถานที่จะสามารถเดินทางด้วยรถสาธารณะได้ เลยต้องมีการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นสำหรับการเดินทางในสถานที่ที่ไกลออกไปจากถนนเส้นหลัก ซึ่งก็มีคนใช้เยอะค่ะ แต่ถ้าเป็นคอนเสิร์ต สถานที่ส่วนใหญ่ก็จะกลับง่ายอยู่แล้ว คือเราพยายามสนับสนุนให้เขาต้องดูแลตัวเองก่อนระดับหนึ่ง แต่ถ้าสถานที่มันเป็นปัญหาจริงๆ เราก็จัดรถเตรียมไว้ให้”
แก้ไขระบบขนส่งสาธารณะให้ไม่ต้องติดอยู่ใน Loops เดิมๆ อีกต่อไป
แต่ในเมื่อบริการขนส่งก็ยังมีทั้งแท็กซี่ รถเมล์ หรือแม้กระทั้งองค์กรอิสระอย่างเช่น Grab อีกหนึ่งปัญหาที่สงสัยใคร่รู้ที่ตามมาคือ แล้ว Loops เคยมีปัญหากับรถเหล่านี้บ้างหรือไม่? ซึ่งในข้อนี้โมสต์ก็ตอบได้อย่างเข้าใจหัวอกขนส่งเจ้าเก่าได้อย่างน่าประทับใจนัก
“Grab จะมีวิธีการทำงานต่างกัน เพราะของเราจองก่อน ไม่เหมือนของเขาที่จะมาเรียกเอาหน้างาน ดังนั้น ลูกค้าของเรากับของเขาจะคนละกลุ่มกันอยู่แล้วเลยไม่มีปัญหา ส่วนเจ้าถิ่นอย่างแท็กซี่หรือโดยเฉพาะรถตู้ เราก็จะมีการพูดคุยกับเขา จริงๆ เราก็เข้าใจธรรมชาติของเขานะครับว่าจะมีความหวงถิ่นในระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้น เวลาทำงานที่ไหน เราก็จะใช้รถและคนตรงนั้น ซึ่งเขาจะเข้าใจธรรมชาติของคอนเสิร์ตอยู่แล้ว ว่างานเลิกกี่โมง ต้องมารอกี่โมง ซึ่งจะเป็นกลุ่มแรกที่เราเลือกเข้ามาใช้ …เราจะไม่เอาคนนอกเข้าไป เราพูดคุยให้เขาทำงานกับเราได้มากกว่า มันคือการเข้าไปแก้ไขมากกว่าสร้างปัญหาเพิ่มครับ”
เราพยักหน้ารับและมองเข้าไปในแววตาชายคนนี้ว่าทำไมเขาถึงได้มีวิธีการแก้ปัญหาได้ดีนัก แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่าแล้ว Loops ของเขาดีกว่ารถที่ให้บริการอยู่แล้วอย่างไร
“อย่างแรกเลยคือทุกคนได้กลับบ้านแน่นอนครับ” โมสต์เล่าถึงจุดมุ่งหมายที่สำคัญที่สุดของแพลตฟอร์มนี้
“เราใช้ระบบคนมาครบรถถึงออก เพราะถ้าเราให้เขาเลือกที่นั่งในรถเลย มันจะเกิดปัญหาที่คนยังมาไม่ครบในแต่ละคันซึ่งทำให้รถยังออกไม่ได้ แต่ถ้าเราใช้ระบบคนมาครบรถออก จะทำให้คนที่มาก่อน ขึ้นรถคันที่เต็มก่อน จะได้กลับบ้านไวกว่า และก็จะไม่มีปัญหาตกรถเพราะทุกคนเข้าไปจองที่นั่งไว้ตั้งแต่แรกแล้ว เราจะมีรายชื่อของทุกคนที่จองอยู่ หากใครยังไม่มาก็จะเหลือที่นั่งในคันสุดท้ายสำหรับเขาที่จองอยู่ ดังนั้น สบายใจได้เลยว่าทุกคนได้กลับบ้านแน่นอน”
“สิ่งที่ดีกว่าอีกอย่างคือความยืดหยุ่น เพราะเราไม่ได้ใช้เวลาตามนาฬิกาเป็นชั่วโมงเป็นนาที แต่เลือกใช้คำว่า 30 นาทีหลังจากงานจบ หรือ 1 ชั่วโมงหลังงานจบแทน เพราะเราเข้าใจธรรมชาติของคอนเสิร์ตดีว่าเป็นงานที่เลิกไม่เคยตรงเวลา (หัวเราะ)” นอกจากเรื่องสรรพคุณของแพลตฟอร์มแล้ว เรายังเห็นความใส่ใจต่อคนขับเจ้าถิ่น ผู้ชม รวมไปถึงผู้จัดงาน ที่ทุกอย่างถูกคิดเพื่อแก้ปัญหาไว้เรียบร้อยแล้วภายใต้แพลตฟอร์มของ Loops
Loops ของแพลตฟอร์มที่อยากขยายออกไปในวงกว้าง
จนถึงตอนนี้สิ่งที่เราคิดต่อหลังจากเห็นสรรพคุณอันมากมายของ Loops คือ แล้วจะทำอย่างไรให้แพลตฟอร์มนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เราจึงเริ่มคุยถึงวิธีการทำงานของ Loops ว่าปกติแล้วเวลาจะจัดหารถสำหรับคอนเสิร์ตงานหนึ่งต้องไปคุยกับใครบ้าง
“ส่วนมากเราจะคุยกับสถานที่ก่อนผู้จัดครับ (นิ่งคิดสักครู่) จริงๆ เราอยากคุยกับทั้งสองส่วนเลย ทั้งสถานที่และผู้จัด เพราะเรามีการติดต่อประสานงานในเรื่องที่ต่างกัน แต่ในส่วนแรกที่เราต้องการคือรถ ในการใช้รถต้องมีที่จอดรถ เพราะฉะนั้น นี่คือสิ่งที่เราต้องคุยกันเป็นเป็นอันดับแรก แต่ถ้าเป็นผู้จัดอยากให้ช่วยในเรื่องของการโปรโมตให้เราด้วย”
ดังนั้น เมื่อสิ่งที่ Loops ยังขาดอยู่คือการโปรโมตผ่านทางผู้จัด และในตอนนี้ก็อยู่ในสถานการณ์อันดีที่ได้นั่งคุยกับทางผู้จัดคอนเสิร์ตอย่างกิรตรา เราจึงอดไม่ได้ที่จะแอบหยอดคำโปรยให้ลอยอยู่ในบทสนทนาไปว่าในอนาคตเรามีโอกาสจะได้เห็น Loops ทำงานกับผู้จัดคอนเสิร์ตอย่าง HAVE YOU HEARD? บ้างไหม
นอกจากที่จะได้รับเสียงหัวเราะแก้เขินจากทั้งสองฝ่ายแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือเธอตอบกลับมาว่า “ในช่วงปลายปีเราก็มีคอนเสิร์ตใหญ่อย่างมหรสพ (Maho Rasop Festival) เหมือนกันค่ะ ซึ่งสถานที่คือ Live Park พระราม 9 ที่ห่างไกลจากจุดขนส่งสาธารณะทั้งรถไฟฟ้าและจุดจอดรถเมล์ ดังนั้น ทีมงานก็คุยกันถึงเรื่องการขนส่งเหมือนกัน แต่ก็ยังไม่ได้มีการตกลงจริงจังกันในตอนนี้ Loops เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจนะคะ ลองมาดูกันต่อไปว่าจะเป็นยังไง”
จนถึงจุดนี้แล้ว Loops เพียบพร้อมไปด้วยคอนเซ็ปต์และความเข้าใจในการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและถูกต้องอย่างมาก แต่เราก็ไม่ลืมที่จะยิงคำถามทิ้งท้ายเอาไว้สำหรับการติดตามแพลตฟอร์มไอเดียดีนี้ต่อไปว่าจากนี้เราจะได้เห็นอะไรนอกจากการรับ-ส่งคนดูกลับจากคอนเสิร์ตอีกบ้าง?
“นอกจากคอนเสิร์ตแล้ว เราก็อยากเป็นระบบขนส่งสาธารณะให้คนทั่วไปใช้ได้ด้วย ผมอยากทำให้ Loops เป็นระบบขนส่งสาธารณะอีกประเภทหนึ่งที่ซ้อนเข้าไปกับระบบการเดินทางปัจจุบัน เพื่อให้คนมีการเดินทางที่สะดวกมากขึ้น ราคาถูกลง และเข้าถึงง่ายมากขึ้น”
ต้องดูกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้ว Loops จะมีทิศทางการต่อยอดแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์เช่นนี้ได้อย่างไรบ้าง แต่อย่างน้อยในบทสนทนาครั้งนี้ก็ประสบความสำเร็จในตัวมันเองแล้ว จากการพูดคุยถึงปัญหาที่ยังได้รับการแก้ไขได้ไม่ดีเท่าที่ควรในการรับชมคอนเสิร์ตของทั้งสองฝ่ายที่เพิ่งเจอกันเป็นครั้งแรก
เพราะการพบเจอกันในครั้งนี้หมายถึงการที่ผู้จัดคอนเสิร์ตอย่าง HAVE YOU HEARD? จะได้รู้จักอีกหนึ่งเครื่องมือในการแก้ปัญหาอันคาราคาซังนี้ และทางฝั่ง Loops ก็ได้มีพื้นที่บอกเล่าถึงแพลตฟอร์มไอเดียดีที่อยู่ในมือของเขาที่ควรค่าแก่การได้รู้จักมากขึ้น