อาการเจ็บป่วยเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงกันได้ยาก บทจะล้มหมอนนอนเสื่อขึ้นมาต่อให้มีร่างกายแข็งแรงแค่ไหนก็ยังทรุด ยิ่งช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ไหนจะฝุ่น PM2.5 ที่มาทักทายเราเป็นระยะแบบไม่เกรงใจกันเลย และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ทำให้ตอนนี้คนเจ็บป่วยกันมากขึ้นแม้ว่าจะดูแลตัวเองดีแค่ไหนก็ตาม แต่สุดท้ายเมื่อร่างกายไม่ไหว ที่พึ่งของเราก็คือการเข้าไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล
และใครที่เคยไปใช้บริการในโรงพยาบาลรัฐก็คงรู้กันดีว่าต้องเตรียมความพร้อมขนาดไหน เริ่มจากการตื่นนอนตั้งแต่ตีสามเพื่อไปรอรับบัตรคิวตอนตีห้า และก็รอกว่าจะได้ตรวจยาวไปจนเกือบเที่ยง เรียกว่าวันนั้นลางานเอาไว้ได้เลยเพื่อแลกกับการได้พบกับหมอแค่ 5 นาที แม้แต่โรงพยาบาลเอกชนหลายๆ แห่งเอง การไปหาหมอก็ไม่ได้รวดเร็วอย่างที่คิดด้วยเช่นกัน เพราะยังไงคุณก็ต้องเจอกับคนที่มารอคิวกันเกือบเต็มหน้าห้องรับรองอยู่ดี
ปัญหาที่ว่านี้ได้เป็นสิ่งที่ค้างคาใจมานานแล้วสำหรับ ‘โจ้’ – รังสรรค์ พรมประสิทธิ์ ซีอีโอบริษัท YMMY ผู้ก่อตั้งและให้บริการแอพพลิเคชัน QueQ เขาจึงนำความสำเร็จในการทำแอพพลิเคชันสำหรับจองคิวร้านอาหารมาประยุกต์ใช้ในการจองคิวเข้ารับการรักษาพยาบาลโดยจับมือกับ ‘หมอโอ’ – นายแพทย์ โอฬาริก มุสิกวงศ์ สูตินรีแพทย์แห่งโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี นำร่องโรงพยาบาลต้นแบบที่เอาเทคโนโลยีในการจองคิวนี้มาใช้ เพื่อให้คนไข้และบุคลากรในโรงพยาบาลใช้เวลาที่มีประโยชน์กับตัวเองจริงๆ ไม่ต้องมานั่งรอให้เสียเปล่าแบบที่เคยเป็นมา
ความเจ็บปวดของการรอ
จริงๆ แล้วซีอีโอรังสรรค์บอกกับเราว่าเขาคิดถึงเรื่องการจัดการระบบคิวในโรงพยาบาลมาตั้งแต่ต้น เพียงแต่ว่าในตอนนั้นการเข้าไปเปลี่ยนพฤติกรรมคนป่วยเป็นเรื่องยาก ถ้ายังไม่มีสิ่งที่เป็นรูปธรรมให้เห็นกันชัดๆ เขาจึงเริ่มต้นกับ QueQ ด้วยการร่วมมือกับร้านอาหารต่างๆ เสียก่อน
“ร้านอาหารร้านแรกที่ผมเอาระบบนี้ไปเสนอจนเขาตกลงใช้นั้น ผมใช้เวลาหกเดือนกว่าจะทำสำเร็จ” เขาเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำต้องใช้เวลาพิสูจน์ตัวเอง
“ไม่มีใครวางแผนเพื่อจะเข้าโรงพยาบาลหรอก ดังนั้น เราจึงถอยกลับมาโฟกัสที่คนมีโอกาสใช้แอพพลิเคชันนี้ได้จริงและใช้ได้บ่อยก่อน แล้วค่อยๆ ขยับมาในเรื่องของการแก้ปัญหารอคิวรักษาในโรงพยาบาล ผมจึงเอาไปใช้กับการรอคิวร้านอาหาร งานอีเวนต์ต่างๆ เช่น การรอคิวซื้อรองเท้าที่มีปัญหาคล้ายๆ กัน จากนั้นจึงมาโฟกัสที่การรอคิวในโรงพยาบาลซึ่งเป็นความเจ็บปวดที่สุดในชีวิตของมนุษย์แล้ว
“การรอคิวเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ เราไม่สามารถไปทำให้คนมาโรงพยาบาลน้อยลงได้หรอก หรือจะไปบังคับให้หมอตรวจเร็วขึ้นก็ไม่ได้ แต่แทนที่เราจะมานั่งรอคิว รีบมาแต่เช้า เอารองเท้ามาวางต่อคิว นั่งรอ นอนรอกันอย่างแออัด เราก็แก้ปัญหานี้ให้เขาสามารถไปทำอะไรได้โดยไม่ต้องกังวล”
ซึ่งความวิตกนี้นอกจากเขาแล้วก็เชื่อว่ามีหลายคนก็เป็น แม้ว่าจะเป็นเรื่องไม่ซีเรียสมากนักอย่างการไปรับบัตรคิวที่หน้าร้านอาหารในวันหยุดหรือหลังเลิกงาน เราก็ไม่สามารถไปเดินเที่ยวเล่นหรือปลีกตัวไปทำธุระอะไรได้อย่างสะดวกเท่าไหร่นัก เพราะใจก็กังวลว่าเดี๋ยวจะกลับมาไม่ทันคิวของตัวเอง และต้องรอคิวใหม่ ซึ่งถ้าเป็นเรื่องของความเจ็บป่วย ระดับของความเครียดก็จะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก
“มีข้อมูลระบุว่าคนไข้ในโรงพยาบาลรัฐใช้เวลาในการรอคิวเพื่อได้พบหมอเฉลี่ยแล้วคนละ 3.5 ชั่วโมง ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจมาก แล้วคิดดูว่าในหนึ่งเดือนมีคนไข้หนึ่งแสนคนมารอใช้บริการ เวลารวมที่พวกเขาเสียไปสามารถทำอะไรอย่างอื่นได้มากมาย คิดแบบตลกๆ เลยว่าเราเอาเวลาเท่านี้ให้กับคนจำนวนนี้ไปขนหินขนทรายคุณจะได้พีระมิดขึ้นมาหนึ่งหลังเลยนะ
“แต่ไม่ใช่แค่คนไข้ที่เสียเวลาเท่านั้น สมมุติว่าคุณไม่ได้ป่วยหรอก แต่คุณแม่คุณป่วย คุณก็ต้องพาท่านไปโรงพยาบาล ไปอยู่เป็นเพื่อน ทีนี้เรื่องเวลาไม่ใช่ปัญหาแค่กับผู้ป่วยแล้ว แต่กลายเป็นปัญหาที่เกี่ยวพันไปถึงญาติพี่น้องที่ต้องไปเฝ้าหรือไปอยู่ด้วย”
“ฮิปโปเครติส (Hippocrates) บิดาแห่งการแพทย์กล่าวไว้ว่า ‘Cure sometimes, treat often, comfort always’ คือการมาหาหมอบางทีก็รักษาได้หรือไม่ได้ บางคนอาจจะได้ยา บางคนก็อาจจะไม่ได้ แต่ความรู้สึกปลอดภัยนั้นทุกคนต้องได้รับ บุคลากรของโรงพยาบาลก็ต้องทำให้คนไข้รู้สึกสบายใจ นั่นก็มาจากความสะดวกสบายที่เขามาหาหมอนั่นเอง” นายแพทย์โอฬาริกกล่าวถึงความสำคัญที่เขาเห็นจากการร่วมมือกับทาง QueQ
รอนานๆ ก็อาจจะบั่นทอนหัวใจ
ไอเดียเริ่มต้นที่ทำให้รังสรรค์อยากแก้ปัญหาการเข้าคิวนั้นเกิดขึ้นในวันที่เขามาทำธุรกรรมทางการเงินกับทางธนาคารและพบความกังวลที่เกิดขึ้นกับตัวเองจากการรอคิว
“วันที่ผมจะต้องไปจ่ายบิลค่าใช้จ่ายที่ธนาคารดันตรงกับวันสิ้นปีพอดี วันนั้นคนมาใช้บริการเต็มมาก ยืนออกันแน่นไปหมด ผมเข้าไปกดบัตรคิวแล้วก็ได้แต่ยืนรออยู่แถวนั้น จะเดินไปทำอย่างอื่นฆ่าเวลาก็กังวลว่าถึงคิวของตัวเองหรือยัง พอตัดสินใจเดินไปได้หน่อยก็ต้องเดินกลับมา และคิดว่าทำไมไม่มีอะไรมาบอกเราว่าถึงคิวไหนแล้ว เราจะได้ไปทำอะไรอย่างอื่นได้
“หลังจากทำแอพพลิเคชัน QueQ ขึ้นมา ผมก็คิดว่านอกจากจะแจ้งสถานะกับเราได้แล้ว เรายังสามารถกดจองคิวจากตัวแอพพลิเคชันได้เลย พอจองคิวเรียบร้อยแล้วก็ไม่ต้องไปยืนรอ เราไปทำอย่างอื่นก่อนพอใกล้ถึงเวลาแอพพลิเคชันจะแจ้งเตือน เราก็รีบไปตรงหน้าร้านได้ ยังไงก็ทัน”
“ตั้งแต่ที่ทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเริ่มนำร่องใช้แอพพลิเคชันนี้ คนไข้เขาก็สามารถจองคิวรักษาได้ทันทีผ่านโทรศัพท์มือถือ แล้วก็มีเวลาไปหุงข้าว อาบน้ำ ขับรถไปส่งลูกที่โรงเรียน แล้วค่อยมาโรงพยาบาลก็ยังทัน ไม่ต้องมานั่งแออัดมองหน้ากันไปมา หน้าห้องตรวจก็โล่งขึ้น ไม่มีการจ้องหน้ากดดันเจ้าหน้าที่ทำให้เกิดบรรยากาศตึงเครียดว่าเมื่อไหร่จะถึงคิวฉัน เมื่อไหร่ฉันจะถูกเรียก เขาก็ดูคิวในโทรศัพท์ เดี๋ยวพอใกล้ถึงระบบก็จะแจ้งเตือนเอง ช่วยลดความวิตกกังวลไปได้เยอะมากทีเดียว” หมอโอเล่าให้ฟังถึงข้อดีที่เขาได้เจอมาจริงๆ หลังจากที่ผลักดันให้คนไข้และเจ้าหน้าที่รับรู้ถึงการใช้งานแอพพลิเคชันนี้ ซึ่งเขาบอกว่าแม้ความสะดวกที่เกิดขึ้นมานั้นจะไม่ส่งผลกับทีมแพทย์เลยก็ตาม แต่สำหรับผู้ป่วยและนางพยาบาล การลดเวลาในการรอคิวนั้นช่วยพวกเขาได้เยอะมากจริงๆ
“ทุกวันนี้หมอก็ยังทำงานเหมือนเดิม แต่คนที่ได้ประโยชน์คือคนไข้และพยาบาล โดยก่อนหน้านี้คนไข้มาจะถามพยาบาลว่าถึงคิวฉันหรือยัง ผ่านไปแป๊บหนึ่งก็มาถามอีกว่าถึงคิวฉันหรือยัง และถ้ามากันเป็นครอบครัวก็จะผลัดกันมาถามว่าถึงคิวฉันหรือยัง พอเรามีแอพพลิเคชันที่ดี มีระบบรายงานผลที่ดี เขาสามารถมองที่จอแล้วก็ดูลำดับหมายเลขของตัวเองได้ทันที ไม่ต่างกับการที่เราไปเข้าคิวรอใช้บริการที่ธนาคาร ทีมพยาบาลได้ใช้เวลาอย่างมีประโยชน์ไปทำงานอื่นในการรักษาคนไข้ คนไข้ได้ประโยชน์ในการใช้เวลาของตัวเองเพราะอย่างน้อยก็รู้แล้วว่าฉันยังมีคิวข้างหน้าอยู่ 60 คิวเดินไปกินข้าวก็ยังทัน”
“ลองนึกภาพว่าเราไม่ต้องตื่นตั้งแต่ตีสามมีเวลานอนพัก อาบน้ำแต่งตัว แล้วไปถึงโรงพยาบาลเอาคิวที่จองไว้ให้กับทางเจ้าหน้าที่ นั่งรอเขาเรียกไม่นานก็เขาไปตรวจอาการแล้วก็เดินออกมา ชีวิตของคนไข้จะดีขึ้นแค่ไหน และเมื่อไหร่ที่โรงพยาบาลต่างๆ หันมาใช้ Digital Solution กันอย่างเต็มตัว ยังไงก็จะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริงแน่นอน และเปลี่ยนไปอย่างก้าวกระโดดด้วย เพราะการไปโรงพยาบาลเมื่อสิบปีที่แล้วเป็นอย่างไรตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่อย่างนั้น” แน่นอนว่าสิ่งที่รังสรรค์พูดมานั้น เราพยักหน้าเห็นด้วยกับเขาทันที
เมื่อไม่ต้องรอ ต่อไปก็ไม่ต้องไปโรงพยาบาล
เรานั่งคุยกันต่อว่าถ้าระบบนี้ถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย แก้ปัญหาความแออัดและการรอคอยที่ยาวนานได้สำเร็จแล้ว ต่อจากนั้นการเติบโตของแอพพลิเคชัน QueQ จะเป็นอย่างไรต่อไป ทางซีอีโอหนุ่มคนนี้ก็เล่าให้ฟังถึงแผนการในอนาคตว่า “ทุกคนต้องได้คิวเดียวกันตั้งแต่การนัดหมายกับหมอ การตรวจเลือดหรือเอกซเรย์ไปจนถึงรับยา และตอนนี้เราทำระบบให้มีการชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ และคิดว่าต่อไปคนไข้จะสามารถไปรับยาจากร้านขายยาแถวบ้านได้ ไม่ต้องไปเข้าคิวรับยา เป็นต้น จากเดิมที่เราต้องเสียเวลาอยู่ในโรงพยาบาล 3 ชั่วโมง กลายเป็นว่าไม่ถึงชั่วโมงก็กลับบ้านได้แล้ว”
“ลำบากช่วงแรก แต่ช่วงหลังควรจะสบายทั้งคนไข้และพยาบาล” หมอโอกล่าวเช่นนี้ เพราะการให้บุคลากรในโรงพยาบาลเข้าใจและสามารถแนะนำคนไข้ให้ใช้งานแอพพลิเคชันนี้ต้องใช้เวลา และการย้ำเตือนกันทั้งสองฝ่ายอย่างสม่ำเสมอ
“สิ่งที่สำคัญคือเราต้องบอกเหล่าพยาบาลให้ชัดเจนว่าถ้าคนไข้ใช้แอพพลิเคชันนี้แล้ว ตัวเขาเองได้ประโยชน์อะไร เราต้องยกตัวอย่างให้พวกเขาเห็นภาพเลยว่าเขาจะมีเวลาไปจัดการงานอย่างอื่นได้มากขึ้น ถ้าเขาไม่เห็นภาพเขาก็จะไม่เชื่อ แล้วเขาก็จะตั้งคำถามว่ามันจะทำได้จริงเหรอ แล้วเขาก็จะต่อต้านเพราะเขาจะรู้สึกว่าถูกยัดเยียดงานให้ทำเพิ่ม ส่วนคนไข้ที่ใช้เป็นแล้วและพบว่ามันดีขึ้นจริงๆ เขาก็จะบอกต่อให้เอง”
“เราต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของทั้งหมอและพยาบาลว่าเขาจะทำงานได้เหมือนเดิม ไม่ได้ซับซ้อนขึ้น ไม่ได้มีภาระมากขึ้น ซึ่งเราทำกันมาแล้ว 1 ปี ก็มีบางจุดที่ต้องแก้ไขกันต่อไป อาจจะมีการปรับเปลี่ยนมาใช้งานผ่าน Cloud Service เพื่อให้โรงพยาบาลทั่วประเทศใช้งานได้ ผมอยากให้เขาได้ประสบการณ์ และความประทับใจเหมือนกับที่เขาใช้งานร้านอาหาร ไม่ต้องเรียนรู้ใหม่ ความยากอยู่ที่ระบบหลังบ้านอย่างเดียวมากกว่า” ซีอีโอรังสรรค์ช่วยเสริม และบอกว่าทีมบุคลากรของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเองก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยพวกเขาเองก็คุ้นเคยกับ QueQ กันดีอยู่แล้ว เพราะใช้ในการจองร้านอาหารอร่อยๆ ไว้ให้รางวัลตัวเองหลังจากผ่านงานหนักๆ ในแต่ละวัน
“ตอนนี้ที่คิดไว้คืออยากให้มีการแจ้งเตือนกับการนัดหมายครั้งหน้าเพราะบางครั้งพอจะนัดกันเป็นระยะเวลา 1 เดือน แล้วก็แจ้งรายละเอียดว่าพรุ่งนี้คุณต้องไปพบกับหมอตามนัดหมาย ต้องงดน้ำงดอาหารไหม ต้องใช้เวลาประมาณเท่าไหร่ มีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไหร่สามารถเป็นซูเปอร์แอพพลิเคชันสำหรับคนไทยที่จะไปโรงพยาบาลได้”
“ผมอยากให้การรักษาพยาบาลพัฒนาไปถึงระดับที่คนไข้บางรายไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาลก็สามารถรักษาอยู่ที่บ้านได้ ด้วยการคุยกับหมอผ่านแอพพลิเคชันโดยตรง และไปรับยาใกล้บ้านได้ เช่น คนไข้ที่ต้องมาตรวจบ่อยๆ เพราะเป็นโรคเบาหวาน ถ้าเขาสามารถควบคุมระดับน้ำตาลจนถึงค่าปกติและสามารถรักษาระดับได้อย่างต่อเนื่อง เขาก็ไม่จำเป็นต้องขับรถไปกลับหมดไป 2 ชั่วโมง เพื่อมาคุยกับหมอแล้วได้รับคำว่าคุณทำดีมากแล้วใช้ยาเดิมต่อไป แต่คุณแค่ส่งผลมาว่าเมื่อเดือนที่ผ่านมาระดับน้ำตาลของคุณเป็นอย่างไร ตอนนี้ค่าน้ำตาลในตัวคุณโอเคแล้วนะ ทุกอย่างดีแล้ว คุณกินยาตัวเดิมต่อไป แล้วเดี๋ยวทางเราจะส่งยาไปให้ที่บ้าน ซึ่งเราสามารถทำแบบนี้ก็ได้ แล้วโรงพยาบาลก็จะเหลือคนที่ต้องมารักษาที่โรงพยาบาลจริงๆ ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง เมื่อความหนาแน่นลดลง การรอคิวก็สั้นลง ทุกคนทุกฝ่ายมีความสุขไปหมด”
“การมาโรงพยาบาลไม่ใช่ว่ามาตรวจแล้วก็รับยาอย่างเดียว แต่ต้องได้รับการรักษาทุกอย่าง แม้กระทั่งทางใจด้วย” ซีอีโอหนุ่มช่วยเสริม
“เมื่อก่อนผมต้องขอโทษคนไข้เสมอว่ารอตั้งนานได้เจอหมอแค่นี้ แต่ก็ต้องเป็นอย่างนั้นเพราะว่ามีคนไข้คนอื่นรออยู่ ระบบนี้ถ้าเราทำสำเร็จและพัฒนาต่อ เราก็จะสามารถคุยทางไกลกับคนไข้ได้ เขาก็ไม่ต้องมาเสียเวลาที่มีคุณค่ากับการมานั่งรอคิว”
ระบบที่ดีส่งผลไปยังคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย
แต่ถ้าพูดในแง่ของการทำธุรกิจทั้งจำนวนคนใช้แอพพลิเคชันหรือการที่คนมาใช้บริการก็ตามนั่นคือรายได้ที่เข้ามาไม่ใช่เหรอ การที่หมอโอบอกเราว่าอยากให้คนมาโรงพยาบาลน้อยๆ จะมีผลกับยอดประกอบการในเชิงองค์กร หรือรายได้ที่ลดลงจะกระทบต่อโรงพยาบาลหรือเปล่า ซึ่งเขาก็ตอบข้อสงสัยเราอย่างหนักแน่น
“ผมคิดว่าบุคลากรในพยาบาลและหมอควรจะมีแนวคิดเดียวกันว่าอยากให้คนมาโรงพยาบาลให้น้อยที่สุด คนต้องไม่ป่วย คุณต้องสุขภาพดี เราถึงมีโปรแกรมป้องกัน มีการชวนกันออกกำลังกาย อย่ามาโรงพยาบาลเลย ซึ่งทุกคนต้องเห็นเป้านี้ด้วยกัน ถ้ามาบอกว่าทุกคนต้องมาโรงพยาบาลเพื่อโรงพยาบาลจะได้มีรายได้ ผมว่าเป็นคอนเซ็ปต์ที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ทางโรงพยาบาลต้องไปหา Business Model อื่นๆ มาเพิ่มรายได้มากกว่า เช่น การตรวจสุขภาพอะไรก็ได้ แต่อย่ามุ่งหวังในความต้องการคนป่วยมาโรงพยาบาลเยอะๆ เลย”
ทางฝ่ายของผู้พัฒนาแอพพลิเคชันก็เสริมว่า ระบบของ QueQ คือการไปเปลี่ยนระบบการรอคิวแบบเดิมๆ จากออฟไลน์ให้เป็นออนไลน์ ซึ่งไม่ได้ต้องการแก้ปัญหาแค่เรื่องของการต้องไปนั่งรอคิว 3 ชั่วโมงหน้าห้องตรวจเท่านั้น
“เรากำลังทำให้เวลาที่เสียไปกว่า 3 ชั่วโมงกลับคืนมา เมื่อระบบนี้ถูกใช้งานได้จริงทั่วประเทศ เราจะมีชุดข้อมูลที่ทางกระทรวงสาธารณสุขสามารถเอาไปใช้อ้างอิงได้ว่าต้องจัดกำลังพลอย่างไร ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพโรงพยาบาลที่ไหน ต้องเพิ่มโรงพยาบาลตรงไหนของประเทศ ส่วนไหนต้องการบุคลากรทางการแพทย์ ทรัพยากร รวมถึงรู้ว่าต้องเอายาชนิดไหนไปกระจายในพื้นที่ไหนบ้าง นี่จะเป็นภาพรวมเพื่อคนทั้งประเทศ ทางรัฐบาลก็สามารถเอาไปใช้วางแผนพัฒนานโยบายของตัวเองต่อได้” เมื่อฝ่ายประกอบการเล่าเรื่องนี้จบ หมอโอเองก็มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจในวงการแพทยากต่างประเทศมาแชร์ให้เราฟังด้วย
“เรื่องข้อมูลพวกนี้มีตัวอย่างให้เห็นจริงๆ อย่างในฝรั่งเศสเขาจะรู้เลยว่าช่วงเวลาใดควรมีแพทย์รองรับแค่ไหน เช่นในเดือนกรกฎาคมเวลาประมาณ 24.00-06.00 น. หมอที่อยู่ในแผนก ER ควรจะมีสักกี่คน และเขาก็รู้ด้วยว่าต้องเป็นหมอประเภทไหน ซึ่งช่วงเวลานั้นหมอที่คนไข้ต้องการคือหมอโรคปอด เพราะตามสถิติของบ้านเขา ส่วนใหญ่คนไข้จะมาตรวจโรคปอดกันในช่วงเวลานี้ เพราะช่วงหน้าหนาวมีเกสรดอกไม้เยอะ เขาก็จะเอาหมอเฉพาะทางด้านนี้ไปอยู่เวร และพอเขารู้ว่าช่วงเวลานี้คนไข้จะมาเยอะ เขาก็จะเพิ่มเวรของหมอจากคนเดียวเป็นสองคน การมีระบบข้อมูลที่ดีทำให้สามารถประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าได้ ซึ่งผมเองก็อยากให้บ้านเราทำให้ได้ถึงขนาดนั้น”
“ดังนั้น จึงต้องมีคุณหมอและพยาบาลที่สามารถเปิดรับกับระบบที่เข้ามานี้ และรู้ว่าระบบนี้ไม่ได้เปอร์เฟ็กต์หรือสำเร็จแล้วมาตั้งแต่แรก เราต้องการการทำงานร่วมกัน และรู้ว่าต้องมีปัญหาอะไรบางอย่างที่แก้ไขไปด้วยกัน พอระบบสมบูรณ์ในวันนี้เราก็กล้าที่จะขยายออกไปทั่วประเทศ” พูดจบซีอีโอหนุ่มก็หันไปสบตากับคุณหมอจนบริเวณที่นั่งคุยกันอบอวลไปด้วยความอบอุ่นละมุนใจ เรียกเสียงกรี๊ดจากสาวๆ ที่อยู่ใกล้ๆ กับเราได้อย่างเฮฮา และก่อนที่ใครจะคิดอะไรเลยเถิดไปกว่านั้น เขาก็พาเรากลับมาครุ่นคิดถึงประเด็นใหญ่ที่ตอนนี้สตาร์ทอัพฝีมือคนไทยแท้ๆ ยังไม่ได้รับการสนับสนุนดีพอ และนั่นก็จะส่งผลเสียต่อภาพของของเม็ดเงินในประเทศอย่างมหาศาล
“ตอนนี้มีสตาร์ทอัพรายได้มาแรงและประสบความสำเร็จมากอย่างน่าชื่นใจ แต่เราลืมคิดไปกันว่าบริษัทแม่ของพวกเขาไม่ได้เป็นของคนไทย รายได้จากผู้ใช้งานก็ออกไปสู่บริษัทแม่ที่อยู่ต่างประเทศ ทุกวันนี้มีสตาร์ทอัพเกิดใหม่ขึ้นมามากมาย แต่ถ้ารัฐบาลไม่สนับสนุนสตาร์ทอัพไทย แล้วปล่อยให้ไปหาทุนในการพัฒนาจากต่างประเทศ หรือไปเปิดบริษัทแม่ที่ต่างประเทศ คำถามเดียวเลยคือเงินภาษีจากรายได้นั้นจะไปเข้าที่ประเทศไหน นี่คือเหตุผลสำคัญว่าทำไมภาครัฐบาลต้องสนับสนุนสตาร์ทอัพของคนไทย รัฐบาลไทยต้องตามเกมนี้ให้ทัน และถ้าเราผลักดันให้สตาร์ทอัพของไทยไปเปิดบริการที่ต่างประเทศได้ด้วย เงินภาษีก็จะเข้ามาที่ประเทศของเรา”
“สิ่งสำคัญที่สุดคือเราสามารถตรวจคนไข้บางคนที่ต้องให้เวลากับเขาได้นานขึ้น เมื่อก่อนบางคนป่วยหนักมาก ตัวหมอเองก็อยากจะตรวจให้ละเอียด แต่ก็ทำไม่ได้ ต้องรีบตรวจเพราะมีคนไข้คนอื่นรออยู่ แต่ถ้าคิวน้อยลงผมเชื่อว่ายังไงหมอเขาก็อยากคุยกับคนไข้นานขึ้นและตรวจให้ละเอียดขึ้นทั้งนั้น แต่ในบริบทของปัจจุบันบางทีเราก็ทำไม่ได้ นี่คือสิ่งที่ผมเสียดายมาก”
ในทุกเรื่องราวมีแสงแห่งความหวังเสมอ แม้แต่ความเจ็บป่วยซึ่งเป็นสิ่งที่คนเราหวาดกลัวและพยายามหลีกเลี่ยงให้มากที่สุดก็ยังไม่อาจหนีพ้นได้ แต่ถ้าเรามีระบบการจัดการที่ดี สามารถไปโรงพยาบาลได้โดยไม่ต้องทุกข์หรือทนอยู่กับการตื่นนอนตอนตีสาม และรู้ล่วงหน้าได้ว่าจะวางแผนชีวิตอย่างไรในการรับการรักษาพยาบาล เพียงเท่านี้ก็ทำให้ใจคลายความกังวลไปได้เกินครึ่งแล้ว เมื่อมีกำลังใจที่ดี ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ความเจ็บป่วยที่เคยเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสของชีวิตก็จะบรรเทาลงไปได้เยอะจนไม่น่ากลัวอีกต่อไป