Sandee for Good

Sandee for Good: อายุ 15 ก็มาเป็นสาวที่คอยช่วยเหลือมนุษยชาติ

ในวันที่มีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ ความสุขของเราคือการเห่อกับการทำบัตรประชาชน เปลี่ยนคำนำหน้านามจากเด็กชายเป็นนายอยู่ได้สามวัน จากนั้นก็ใช้ชีวิตตามประสาเด็กๆ ที่รีบทำข้อสอบย่อยให้เสร็จเร็วๆ แล้วไปหยอดตู้เกมในห้างสรรพสินค้ากับเพื่อนก่อนเข้าบ้าน และตื่นไปโรงเรียนเพื่ออัพเดตเรื่องการ์ตูนในสัปดาห์นั้นอย่างเรื่อยเปื่อย

        แต่สำหรับ ‘ใบเตย’ – อิรวดี ถาวรบุตร ในวัย 15 ปี เธอได้ชักชวน ‘เป้’ – จิรภัทร เฮ้งเจริญ รุ่นพี่ที่สนิทกันมาร่วมสร้างแพลตฟอร์ม ‘แสนดี’ หรือ Sandee for Good ศูนย์รวม wishlist ขององค์กรเพื่อสังคมซึ่งต้องการความช่วยเหลือ ด้วยการให้คนมาร่วมบริจาคสิ่งของให้องค์กรและมูลนิธิต่างๆ โดยเราสามารถเลือกได้ว่าจะซื้อของอะไรที่กำลังขาดแคลนให้แก่สถานที่ที่รอการช่วยเหลือ แถมยังติดตามผลได้ว่าเงินที่เราจ่ายไปนั้นได้เปลี่ยนเป็นข้าวของเครื่องใช้และเดินทางไปถึงมือของผู้รับหรือยัง 

 

Sandee for Good
มนูญ แสนไม้ และ ‘ใบเตย’ – อิรวดี ถาวรบุตร

Sandee ในภาษากรีกมีความหมายว่า ผู้ปกป้องมนุษยชาติ

        “วันแรกที่น้องใบเตยโทรศัพท์มาหาผม แล้วบอกถึงเป้าหมายของการทำแพลตฟอร์มแสนดีนี้ให้ฟัง ผมเห็นถึงความตั้งใจที่น้องเขาไม่เพียงแต่จะช่วยเหลือเด็กกำพร้าที่อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่น้องเขาคิดที่จะทำให้แพลตฟอร์มนี้ให้ช่วยคนได้ทั้งโลก ซึ่งไม่มีเหตุผลไหนเลยที่เราจะไม่สนับสนุน” มนูญ แสนไม้ กรรมการมูลนิธิอะมีรุลมุอ์มินีน เพื่อเด็กกำพร้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บอกเราถึงวันแรกที่เขาได้ทำความรู้จักกับเด็กหญิงคนนี้ที่มาพร้อมกับการช่วยคลี่คลายปัญหาที่ทางมูลนิธิกำลังประสบอยู่

        “คนส่วนใหญ่เขาก็อยากจะเอาของไปบริจาคให้ถึงมือคนรับ แต่ปัญหาคือพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ทราบกันดีว่าคนไม่ค่อยกล้าไป ซึ่งจริงๆ แล้วปลอดภัยมากๆ แต่คนก็ยังกลัวอยู่ จึงเป็นปัญหาที่ทำให้เด็กๆ ขาดแคลนของใช้ที่จำเป็นมาโดยตลอด” 

        เราพยักหน้าเห็นด้วยจากการที่ได้ไปคลุกคลีที่จังหวัดปัตตานีและยะลามา ก็พบว่าเป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยว ผู้คนก็มีอัธยาศัยดี มีไมตรีจิตกับเราราวกับว่าพวกเขาเห็นเราเป็นคนในพื้นที่

        “เมื่อทางแสนดีมีแอพพลิเคชัน ทางมูลนิธิก็ได้รับบริจาคสิ่งของอย่างตุ๊กตา ขนม นม รวมถึงข้าวสารอาหารแห้งในทุกเดือน ซึ่งของเหล่านี้จำเป็นกับเด็กๆ มาก เพราะพวกเขาอยู่ในพื้นที่ห่างไกล กว่าจะมีรถเข้ามาในเมืองก็ต้องรอเป็นเดือน เมื่อเสบียงหมดก็ต้องนั่งรถมารับของที่มูลนิธิเพื่อเอาของกลับไป” นายมนูญบอกกับเรา

       “หนูเคยทำงานกับมูลนิธิในจังหวัดภูเก็ตมาก่อน จึงรู้ว่าคนทำงานด้านนี้เขาเจออะไร มีปัญหาอะไรบ้าง เลยอยากสร้างแพลตฟอร์มอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือพวกเขาได้ในระยะยาว หนูอยากใช้ความรู้ ไอเดีย และเทคโนโลยีมาประยุกต์เข้ากับการให้ความช่วยเหลือมูลนิธิต่างๆ อยากทำอะไรที่ช่วยเหลือคนได้” อิรวดีเล่าให้ฟังถึงความคิดเริ่มต้นเมื่อปีที่แล้วในการทำ Sandee for Good โดยเลือกใช้ชื่อแสนดีเพราะคำว่า Sandee ในภาษากรีกมีความหมายว่า ‘ผู้ปกป้องมนุษยชาติ’

 

Sandee for Good

ก้าวแรกไม่เท่าไหร่ ก้าวต่อไปต้องเติบใหญ่กว่าเดิม 

        งานแรกของ Sandee for Good คือการทำงานร่วมกับมูลนิธิในจังหวัดภูเก็ต จากนั้นก็ขยับไปตามองค์กรต่างๆ เช่น โรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก และกรุงเทพฯ ​โดยปัจจุบัน Sandee for Good มีรายชื่อหน่วยงานที่ขอความช่วยเหลือผ่านทางแอพพลิเคชันนี้แล้ว 26 มูลนิธิ ซึ่งเธอบอกเราว่าจะไม่หยุดแค่นี้แน่ๆ

        “เหตุการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดอุบลราชธานีก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราอยากทำฟังก์ชันที่ตอบรับกับเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในอนาคต ถ้ามีเหตุการณ์กะทันหัน เราก็สามารถส่งความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว และไม่เพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น เราอยากให้ Sandee for Good เป็นตัวกลางเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ในการส่งความช่วยเหลือไปยังสถานที่ที่ต้องการความช่วยเหลือจากพวกเราได้ด้วย” 

        ในขั้นตอนการส่งของบริจาคนั้นทางแสนดีจะทำการรวบรวมออร์เดอร์และจัดซื้อสิ่งของไปส่งมอบกับหน่วยงานต่างๆ ตามที่ผู้บริจาคระบุไว้ โดยจะตัดยอดเดือนละครั้ง ซึ่งจำนวนองค์กรที่เพิ่มขึ้นและยอดผู้ที่มาใช้บริการผ่านแอพพลิชันและเว็บไซต์ก็เพิ่มมากขึ้น เราจึงถามไปตรงๆ ว่าไม่เหนื่อยบ้างหรืออย่างไร 

        “เหนื่อยค่ะ แต่ก็รู้ว่าต้องเหนื่อย ถ้าไม่เหนื่อยก็ไม่ได้เรียนรู้ แล้วเราก็ไม่ได้มีอะไรพัฒนาขึ้น หนูจึงเตรียมตัวเตรียมใจไว้แล้ว” คำตอบของเด็กที่กำลังจะมีอายุ 17 ในปีนี้ทำเราอึ้งไปพักใหญ่

        “ตอนนี้เราอยู่ในช่วงทำกันเองสองคนกับพี่เป้ โดยมีทุนจากจากเงินเก็บของตัวเองและเงินที่ได้รางวัลจากรายการ Win Win WAR Thailand แต่เมื่อเราเติบโตมากกว่านี้ก็ยอมรับว่าจะต้องมีบุคลากรเพิ่ม และต้องหากำไรเพื่อที่จะนำมาใช้จ่ายในส่วนต่างๆ นี้เช่นกัน ซึ่งแนวทางที่ตั้งไว้คือการเชื่อมโยงกับร้านค้าออนไลน์ต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อลดการทำงานในส่วนของภาคปฏิบัติให้มากกว่านี้ การทำงานแบบนี้ต้องลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด เราอยากเป็นส่วนกลางในการเชื่อมโยงกับร้านค้าที่เขามีการส่งของออนไลน์อยู่แล้ว แต่ที่ช่วงแรกเราเริ่มต้นด้วยการส่งของกันเองเพราะอยากทดลองตัวแพลตฟอร์มก่อนว่า คนจะมาใช้บริการกันหรือเปล่า และเขาโอเคกับบริการนี้ของเราไหม” 

        อะไรที่เกี่ยวกับเรื่องเงินๆ เรื่องทองๆ มักตามมาด้วยปัญหาน่าปวดหัว รวมถึงดราม่าต่างๆ ที่แน่นอนว่าเมื่อเรามีความโดดเด่นก็ต้องมีคนที่ไม่ชอบใจอยู่บ้างตามธรรมดาของมนุษย์ ซึ่งเธอก็บอกเราว่ารู้ถึงสิ่งเหล่านี้ดี แต่ก็ยังไม่เจอปัญหาอะไรที่กระทบกระทั่งเข้ามา ถึงแม้ในอนาคตอาจจะเกิดขึ้นแต่ตัวเองก็พร้อมรับมือ

        “หนูมั่นใจว่าหนูทำด้วยความตั้งใจที่ดี และหนูไม่ได้คิดจะไปทำร้ายใคร หนูทำเพื่ออยากช่วยคนจริงๆ ยังไงหนูก็ต้องทำต่ออยู่ดี ข้อความด้านลบอะไรพวกนี้ไม่มีผลต่อการทำงานของหนู และไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม ต้องมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว ซึ่งก็ไม่ใช่ความผิดของเขาที่จะไม่เห็นด้วย

        “ถ้ามีคนที่กำลังต้องการความช่วยเหลือจากเราอยู่ ถึงจะต้องมีกระบวนการมากมายที่ยุ่งยากในการดำเนินการยังไงก็จะทำ หนูไม่อยากไปนั่งคิดว่าอะไรไม่ดี อะไรยุ่งยาก ไปหาอะไรที่ง่ายทำดีกว่า แต่เป็นตัวเราต่างหากที่ต้องหาวิธีที่จะทำงานกับระบบแบบนั้นให้ได้ แต่เท่าที่ได้คุยกับมูลนิธิต่างๆ ก็ยังไม่มีระบบอะไรที่ยุ่งยาก แต่ในความเห็นของหนู หนูเป็นคนที่ไม่ชอบบ่นหรือมองว่าขั้นตอนนี้เกิดอะไรขึ้นได้อย่างไร ถ้ามีปัญหาอะไรขึ้นมาหนูชอบที่จะเข้าไปแก้มากกว่า การมานั่งบ่นนั่นบ่นนี่หนูว่ามันเสียเวลาค่ะ” เธอตอบอย่างฉะฉาน 

        “เรื่องการเดินเอกสารติดต่อกับระบบที่ซับซ้อนส่วนมากจะเป็นหน่วยงานราชการ แต่กับมูลนิธิต่างๆ เราคุยกันได้ตรงๆ อยู่แล้ว และหลายๆ แห่งก็อยู่ในพื้นที่ห่างไกล การคุยกันผ่านโทรศัพท์หรือผ่านโปรแกรมสนทนาด้วยข้อความต่างๆ จึงสะดวกรวดเร็วกว่า เหมือนกับที่น้องติดต่อผมโดยตรงตั้งแรกแรก” มนูญกล่าวเสริม

 

เพิ่มการเรียนรู้ในพื้นที่ทุรกันดาร

        ปัจจุบันอิรวดีศึกษาอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 5 โรงเรียนนานาชาติร่วมฤดี (RIS) โดยสนใจด้านวิทยาศาสตร์และวิชาฟิสิกส์วิศวกรรม ซึ่งเธอตั้งใจว่าเมื่อเรียนจบ เธออยากจะเป็นวิศวกรที่สร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยเหลือมนุษย์ 

        “หนูได้แรงบันดาลใจตอนไปดูงานที่ MIT Media Lab ในเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา ที่นั่นมีสิ่งประดิษฐ์มากมายที่ต่อมาถูกพัฒนาให้เป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลกอย่างจอทัชสกรีนที่ต่อมาก็นำมาใส่ไว้ในสมาร์ตโฟน รถยนต์ไร้คนขับที่เป็นไอเดียให้กับ อีลอน มัสก์ หนูอยากประดิษฐ์สิ่งของอะไรก็ได้ที่ช่วยคนได้ และใครก็เอาไปใช้ได้ อยากให้ของที่ตัวเองสร้างขึ้นมาทำให้เกิดประโยชน์กับสังคม”

        ด้วยความตั้งใจที่แรงกล้านี้เองทำให้เธอบอกถึงแผนการในอนาคตหลังจากที่ Sandee for Good ยืนได้ด้วยตัวเองแล้ว เป้าหมายต่อไปของเธอคือการให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษากับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล 

        “หนูอยากทำแพลตฟอร์มอะไรบางอย่างเพื่อพัฒนาอาชีพในสถานที่ที่ห่างไกล และเรื่องของการศึกษาในสถานที่ห่างไกล ตอนนี้ยังมีพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือและพัฒนาแนวคิดนี้อีกเยอะมาก ตัวเรามีโอกาสที่จะไปเรียนหรือไปพัฒนาทักษะเยอะแยะมากมาย แต่เด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลเขาไม่มีเลย และครอบครัวเขาก็ไม่มีเงินพอที่จะซื้ออุปกรณ์หรือให้ลูกได้เรียน นี่คือปัญหาหนึ่งซึ่งเป็นปัญหาระยะยาวที่ต้องแก้ เพราะการให้สิ่งของก็เป็นการช่วยในระดับเริ่มต้น การพัฒนาทักษะจะทำให้เขามีสกิลติดตัวไปตลอดชีวิต เหมือนกับการให้เบ็ดตกปลาและสอนเขา ต่อไปเขาก็จับปลาได้เองตลอดชีวิต”

        มนูญเสริมในเรื่องของการช่วยเหลือด้านวิชาชีพที่กำลังเตรียมงานกันอยู่ว่า “การมีอาชีพคือคุณค่าของมนุษย์ ตอนนี้ทางมูลนิธิก็กำลังทำเรื่องของอาชีพ ซึ่งเราก็จับมือร่วมกับคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาในเรื่องนี้อยู่ เราอยากให้เขาพึ่งพาสังคมหรือพึ่งพาคนอื่นได้น้อยที่สุด ให้เขายืนอยู่ด้วยตัวเองได้ ซึ่งนี่คือคุณค่าของความเป็นมนุษย์”

 

Sandee for Good

 

        “เชื่อไหม เด็กผู้หญิงบางคนเขาก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเป็นช่างหรือวิศวกรได้ หนูอยากให้เด็กผู้หญิงมีความคิดว่าตัวเองทำอาชีพอะไรก็ได้ จะเป็นเจ้าของกิจการก็ได้ จะเป็นวิศวกรก็ได้ อยากเป็นช่างเสริมสวยก็เป็น อยากเป็นศิลปินก็เป็น ไม่ว่าจะเพศไหนก็อยากให้เขารู้ว่าสามารถทำอาชีพอะไรก็ได้ที่เขาฝันอยากทำ

       “หลายครั้งที่เด็กไปตั้งข้อจำกัดให้ตัวเอง ทั้งที่จริงๆ แล้วเขามีความสามารถแต่ไปจำกัดตัวเองด้วยความคิดที่เติบโต หนูอยากจะเข้าไปช่วยให้คนอื่นๆ ได้เห็นว่าจริงๆ แล้วตัวเขามีศักยภาพที่จะทำอะไรได้มากกว่าสิ่งที่เขาคิดว่าเขาเป็นอยู่” 

        ซึ่งความคิดทั้งหมดของเด็กผู้หญิงคนนี้ก็ได้รับมาจากแม่ของเธอที่สอนมาตั้งแต่เด็ก และคอยสนับสนุนให้เธอทำตามสิ่งที่ตัวเองคิดและฝันให้ได้ 

        “แม่เป็นคนสอนใบเตยมาตลอดว่าไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร อายุเท่าไหร่ อยู่ที่ตัวเราว่าจะทำอะไร เราสามารถฝันในอายุนั้นได้ เราก็สามารถทำในอายุนั้นได้เหมือนกัน แม่ไม่ได้แคร์ว่าตอนนี้หนูอายุเท่าไหร่ หรือบอกว่าอย่าเพิ่งทำนะเพราะยังเล็กอยู่ แม่บอกว่าถ้าหนูคิดได้ หนูก็ทำได้ และก็ลงมือทำเลย”

 

Sandee for Good

 

        “เรื่องอาชีพที่น้องใบเตยพูดมาจริงๆ ก็ไม่ใช่หน้าที่เขาด้วยซ้ำ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชนของตัวเอง สิ่งที่น้องใบเตยพูดเป็นหน้าที่ที่ผู้นำประเทศต้องพูด” เมื่อมนูญพูดจบเราก็พยักหน้าเห็นด้วย พร้อมกับความรู้สึกเหนื่อยเล็กๆ ที่การพัฒนาทางการศึกษาก้าวไปข้างหน้าอย่างเชื่องช้าและเป๋ไปเป๋มาไม่ลงตัวสักที แต่สำหรับอิรวดีกลับบอกว่าอย่าไปคิดแบบนั้นเลย 

        “ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะช่วยพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น เราอยู่ในสังคมนี้ ถ้าเราอยากให้สังคมดีขึ้นก็มีแค่ตัวเรานี่แหละที่เปลี่ยนแปลงอะไรได้ หนูไม่อยากเป็นคนที่นั่งรอไปวันๆ หรือเอาแต่นั่งบ่นด่าไปวันๆ ว่าคนอื่นไม่ทำอะไร เราทำสิ่งนั้นขึ้นมาเองเลยดีกว่า ถ้าเราอยากเห็นสังคมเปลี่ยนแปลงอะไรด้านไหนเราก็ทำสิ่งนั้นขึ้นมาเลย เราสร้างการเปลี่ยนแปลงได้นะคะ

        “หนูคิดว่าทุกอย่างเป็นไปได้ ถึงจะเหนื่อยหรืออาจจะใช้เวลานาน แต่ว่าถ้ามีคนทำก็เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ หลายๆ ประเทศก็มีตัวอย่างให้เห็น บางประเทศเขาแย่กว่าเราด้วยซ้ำ แต่เขาพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้แล้วก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่เกิดเพราะประชาชนช่วยเหลือกัน มีแรงผลักดันจากประชาชนที่คอยผลักดันให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลง ตอนนี้เราก็อยู่ในช่วงที่ประชาชนกำลังผลักดันอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ก็เป็นเรื่องที่ดีกว่าเมื่อก่อนแล้ว หนูมองว่าเราไม่ได้กำลังจะเจอกับทางตัน แต่เป็นทางเดินต่อไป หนูเชื่อว่าเดี๋ยวก็ต้องดีขึ้นถ้ามีคนรุ่นไหนก็ได้ ที่เขาอยากมาช่วยเหลือกัน ยังไงก็ต้องทำได้แน่นอนค่ะ”

        เชื่อไหมว่าเรายกนิ้วโป้งให้ทั้งสองมือหลังจากที่เด็กคนนี้พูดจบทันที 

 


ข้อมูลเพิ่มเติม: