นับตั้งแต่การปฏิวัติ 2475 จนเวลาล่วงเลยมา 80 กว่าปีแล้ว ประชาธิปไตยยังไม่สามารถลงหลักปักฐานในสังคมไทยเสียที หากย้อนมองการเมืองไทยในทศวรรษที่ผ่านมา พูดได้อย่างเต็มปากว่า กองทัพเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตย
ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงในวันที่ 24 มีนาคมนี้ นโยบายที่ร้อนแรงและได้ใจประชาชนมากที่สุดจึงหนีไม่พ้น ข้อเสนอให้ปฏิรูปกองทัพ ลดงบกลาโหม รวมทั้งเชิญทหารกลับเข้ากรมกอง แม้จะเป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็นหลายพรรคการเมืองกล้าเปิดประเด็นที่จะนำไปสู่การพูดคุยเพื่อหาหนทางสร้างทหารอาชีพให้สอดคล้องกับโลกเสรีประชาธิปไตย แต่ก็อดรู้สึกกังวลไม่ได้ ด้วยกลัวว่าที่สุดแล้ว ข้อเสนอเหล่านี้จะถูกพับเก็บไป หรือจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของพรรคการเมืองที่นำนโยบายนี้ไปสู่การปฏิบัติหรือไม่
“หลายๆ คนที่เป็นคนยุคเหตุการณ์พฤษภาฯ 35 จะมีความรู้สึกว่ารัฐประหารในปี 2534 นั้นคือการรัฐประหารครั้งสุดท้ายในเมืองไทย ต่อไปนี้ไม่มีแล้วล่ะ แต่ผมเคยบอกกับทุกคนนะว่าผมไม่เชื่อ เพราะหลังปี 35 เราไม่เคยมีชุดความคิดจริงๆ จังๆ กันเลยว่า ถ้าจะทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยมีความเข้มแข็ง เราต้องมาพูดกันถึงเรื่องที่ว่า ถ้ากองทัพต้องอยู่ในการเมืองไทย บทบาทของกองทัพจะอยู่อย่างไร”
นี่ไม่ใช่เสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปกองทัพครั้งแรก มันเคยเป็นประเด็นยอดฮิตของสัมคมไทยในอดีต โดยเฉพาะในเวทีสัมมนาการเมืองไทยยุคหลังเหตุการณ์พฤษภาฯ 35 แต่เพราะอะไรข้อเสนอเหล่านั้นจึงไม่เคยไปไกลเกินกว่าเอกสารหรือตำราวิชาการ ศาสตราจารย์ ดร. สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการ คนเดือนตุลาผู้คลุกคลีอยู่กับข้อเสนอในการสร้างทหารอาชีพมาอย่างยาวนาน จะมาถ่ายทอดบทเรียนที่จะเป็นเครื่องเตือนใจชั้นดีต่อคนรุ่นหลัง เพื่อไม่ให้การเมืองไทยเดินซ้ำรอยเก่า
นับตั้งแต่ปฏิวัติ 2475 จนเวลาล่วงเลยมา 80 กว่าปีแล้ว ประชาธิปไตยก็ยังไม่ลงหลักปักฐานในสังคมไทย แถมทหารยังคอยทำรัฐประหารอยู่เรื่อย เมื่อไหร่พวกเขาจะออกไปจากการเมืองไทยเสียที
(ยิ้ม) ต้องยอมรับว่าหลังจากการปฏิวัติ 2475 ยังไม่เคยมีภาวะที่ทหารออกไปจากการเมืองไทยเลย เพียงแค่ในบางห้วงเวลามันมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ช่วงที่บทบาทของทหารลดลง แต่ในการลดลงต้องยอมรับว่า มรดกทางอำนาจและทางอิทธิพลของทหารในการเมืองไทยมันไม่หมดไป คือการเมืองไทยไม่สามารถเดินไปสู่จุดเดียวกันกับการเมืองในตะวันตกที่กองทัพเป็นเครื่องมือของรัฐบาล ในสังคมการเมืองไทยนี้ กองทัพดำรงอยู่ในสถานะแบบรัฐซ้อนรัฐ เพราะฉะนั้น ในสภาวะแบบนี้ตอบได้ทันทีว่า สุดท้ายไม่ว่าอย่างไรทหารก็จะอยู่กับเรา
สังคมไทยอาจต้องคิดใหม่ มองดูบทเรียนจากในเวทีโลกมากขึ้น จะเห็นว่าประเทศที่มีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่รัฐบาลทหารเข้มแข็ง ปกครองด้วยการใช้มาตรการเข้มงวดมากๆ อย่างในละตินอเมริกา ทำไมวันนี้ทหารในประเทศเขาไม่หวนกลับมาทำรัฐประหารอีก สังคมไทยควรเรียนรู้เรื่องนี้
ในการเลือกตั้งคราวนี้ หลายพรรคการเมืองได้นำเสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพ มีนโยบายลดงบประมาณกลาโหมออกมา คุณมองเรื่องนี้อย่างไร
วันนี้เราได้ยินข้อเสนอในการปฏิรูปกองทัพกันมาก ซึ่งผมคิดว่า การปฏิรูปกองทัพมีเงื่อนไขทางการเมืองในตัวเอง เป็นเหรียญสองด้านและเป็นสองสิ่งที่ต้องเดินคู่กันไป พูดง่ายๆ คือจะปฏิรูปกองทัพต้องปฏิรูปการเมือง ในทางกลับกัน จะปฏิรูปการเมืองไทยก็จะต้องปฏิรูปกองทัพไทยด้วย
ประเทศไทยตอนนี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง (Political Transition) หรือช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย (Democratization) แต่สิ่งที่เราเห็นคือมันเปลี่ยนแล้วไม่ผ่าน จาก transition มันนำไปสู่ non-transition ท้ายที่สุดโจทย์หนึ่งที่ซ่อนอยู่คือ บทบาทของกองทัพ เพราะฉะนั้น ถ้าจะเปลี่ยนให้ผ่าน เราจึงต้องปฏิรูปกองทัพคู่ขนานกันไปด้วย
ในชีวิตผมมีโอกาสได้เห็นการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่สองครั้งในการเมืองไทย คือเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และพฤษภาทมิฬใน 2535 แต่การเปลี่ยนผ่านมันเดินไปไม่สุด เกิดอาการถอยหลังกลับทั้งสองครั้ง หนแรกสั้นมากคือจาก 2516 ผ่านไป 3 ปี ก็เกิดการยึดอำนาจในปี 2519 แล้วเราก็มาเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่อีกหนในปี 2535 คราวนี้อยู่ได้ 14-15 ปี พอถึงปี 2549 ก็ยึดอำนาจอีก
ผมมีความรู้สึกว่าหลายๆ คนที่เป็นคนยุคเหตุการณ์พฤษภาฯ 35 จะมีความรู้สึกว่ารัฐประหารในปี 2534 นั้นคือการรัฐประหารครั้งสุดท้ายในเมืองไทย ต่อไปนี้ไม่มีแล้วล่ะ แต่ผมเคยบอกกับทุกคนนะว่าผมไม่เชื่อ เพราะหลังปี 35 เราไม่เคยมีชุดความคิดจริงๆ จังๆ กันเลยว่า ถ้าจะทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยมีความเข้มแข็ง เราต้องมาพูดกันถึงเรื่องที่ว่า ถ้ากองทัพต้องอยู่ในการเมืองไทย บทบาทของกองทัพจะอยู่อย่างไร พูดกันบนพื้นฐานของความเป็นจริงผมว่าจะไม่อยู่เลยก็คงเป็นไปไม่ได้ เราปิดประตูเป็นศูนย์ไปเลยไม่ได้เหมือนกัน
กองทัพจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประชาธิปไตยให้หยั่งรากในสังคมไทยได้อย่างไร
การสร้างประชาธิปไตยประกอบด้วยบทบาทของการเลือกตั้ง บทบาทของนักการเมืองและพรรคการเมือง แล้วยังรวมถึงบทบาทของกองทัพ ผมอยากให้ลองย้อนกลับไปฟังคำพูดของผู้นำฝ่ายพลเรือนในปี 2535 ณ ตอนนั้นดูเหมือนว่าทุกอย่างจบลงแล้ว คือมองไม่เห็นโอกาสที่ทหารจะกลับมายึดอำนาจอีกแล้ว แต่ในที่สุดก็ต้องยอมรับว่าเราไม่เคยตอบโจทย์ในระยะยาวนี้เลย
สิ่งหนึ่งซึ่งเราพูดกันแต่ไม่เคยเป็นจริงคือการสร้างทหารอาชีพของกองทัพไทย แม้แต่ผู้นำทหารในปี 35 ก็ยังพูดชัดเลยว่า “ทหารอาชีพจะไม่ยึดอำนาจ” แต่เราก็ไม่เคยมีกระบวนการที่ทำให้สิ่งที่เราคิดฝันสามารถเกิดขึ้นจริงในสังคมไทย อย่างการสร้างทหารอาชีพ ซึ่งไม่ใช่แค่ส่งทหารเข้าไปเรียนในโรงเรียนทหาร จบออกมาแล้วคาดหวังว่าพวกเขาจะเป็นทหารอาชีพ มันไม่ใช่แบบนั้น เพราะยังมีเงื่อนไขของการผูกโยงทางการเมืองและทัศนะทางการเมืองด้วย
แล้ววันนี้ถ้าจะปฏิรูปกองทัพ หนึ่งเรื่องที่ใหญ่ที่สุดคือต้องปฏิรูปโรงเรียนทหารด้วย โดยเฉพาะการปลูกฝังคุณค่าเรื่องประชาธิปไตย สำหรับผมมองว่าโรงเรียนทหารสร้างทหารแบบเก่า ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์โลกปัจจุบันที่เปลี่ยนไปเยอะมาก แต่ทหารไทยวันนี้ยังเติบโตในระบบการศึกษาที่ต้องบอกว่าไม่ได้ตอบรับความเปลี่ยนแปลงของโลกเลย
เราได้ยินคำว่า ‘ปฏิรูป’ กันบ่อยครั้ง ทั้งปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูประบบราชการ หรืออะไรก็ตามแต่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราไม่เห็นว่ามันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เห็นผลจริงสักเท่าไหร่
ถ้าพูดในภาษาที่เลวร้ายคือว่า การปฏิรูปที่เราพูดถึงมันไม่เกิดผลเป็นเพราะเราไม่เคยมีหลักคิดจริงๆ ตกลงแล้วเราจะทำอะไรแค่ไหน ผมว่าสังคมไทยมีความฝันเหมือนกับหลายๆ สังคม แต่ถ้าไปดูพวกฝรั่ง จะเห็นว่าความฝันของเขาถูกแปลงออกมาเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่ต้องทำ ผมไม่ได้หมายถึงแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปีนะ แต่เป็นยุทธศาสตร์ที่มีการกำหนดทางเดินในแต่ละเรื่อง
ถ้าวันนี้เราวิจารณ์ว่าระบบการศึกษาในกองทัพก้าวไม่ทันโลก การศึกษาในมหาวิทยาลัยของเราก็ก้าวไม่ทันโลกพอกัน โจทย์ของประเทศไทยวันนี้ใหญ่มาก ในความเปลี่ยนแปลงของโลกมันไม่ได้ท้าทายพวกเราในฐานะปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่มันท้าทายสังคมไทยทั้งหมดทั้งมวล ในโลกที่เปลี่ยนไปเราจะปรับตัวอย่างไร ทั้งมิติทางเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง แทบทุกเรื่อง
ในความท้าทายใหม่เรากลับคิดถึงอะไรที่เก่าที่สุดคือ ถ้ามีปัญหาอะไรก็ยึดอำนาจ ซึ่งเป็นวิธีการที่เราใช้ในสังคมกันมาตั้งแต่ประมาณปี 2490 มันยังตอบโจทย์อยู่เหรอ พูดง่ายๆ คือเรายังติดกับความคิดแบบสมัยสงครามเย็นอยู่เลย ซึ่งตอนนี้มันปีที่เท่าไหร่แล้ว โลกเปลี่ยนไปตั้งเท่าไหร่ เรายังเชื่อกันอยู่อีกหรือว่าการรัฐประหารจะเป็นเครื่องมือของการแก้ปัญหาหรือสร้างอนาคตของประเทศไทย
ข้อเสนอในการปฏิรูปกองทัพครั้งเดิมๆ มันไปจบลงสองที่คือ ห้องประชุมและห้องสัมมนา พูดง่ายๆ ว่าออกมาเป็นแผ่นกระดาษแล้วก็จบ สุดท้ายเหลือเพียงแต่หนังสือหรือเอกสารเท่านั้น สิ่งที่เราไม่เห็นจึงตามมาถึงปัจจุบัน
ในบรรดาข้อเสนอมากมายต่อการปฏิรูปทหารของพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งครั้งนี้ มีอะไรที่แปลกใหม่และท้าทายบ้าง
ผมคิดว่าเดิมเราพูดกันมาพอสมควรแล้วนะ ถอยกลับไปในสมัย พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ช่วงนั้นมีการพูดกันเยอะมาก เพราะสถานการณ์คอมมิวนิสต์เบาลง เริ่มมีคำถามว่า แล้วกองทัพจะอยู่อย่างไร ใครคือข้าศึก โจทย์แบบนี้มันนำไปสู่แนวคิดว่า สุดท้ายแล้วเราไม่ควรคงไว้ซึ่งกองทัพที่มีทหารเยอะๆ แบบเดิม เราพูดกันทั้งเรื่องรถนายพล การคุมงบประมาณกองทัพ การเป็นทหารอาสากับการเกณฑ์ทหาร ผมว่าไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีอะไรที่ไม่เคยพูด เพียงช่วงหนึ่งเราเลิกพูดกันไป พอไม่ได้พูดเลยทำให้ดูเหมือนว่าเมื่อนำกลับมาพูดแล้วมันเป็นเรื่องใหม่ จริงๆ แล้วไม่ใช่
ข้อเสนอในการปฏิรูปกองทัพครั้งเดิมๆ มันไปจบลงสองที่คือ ห้องประชุมและห้องสัมมนา พูดง่ายๆ ว่าออกมาเป็นแผ่นกระดาษแล้วก็จบ สุดท้ายเหลือเพียงแต่หนังสือหรือเอกสารเท่านั้น สิ่งที่เราไม่เห็นจึงตามมาถึงปัจจุบัน นายพลที่เคยคิดว่าจะลดลง ณ วันนี้ไม่ลดแถมยังเพิ่ม
ผมมีโอกาสไปร่วมเวทีปฏิรูปกองทัพหลายๆ เวที โดยเฉพาะเวทีทางวิชาการก็เคยไปให้ข้อเสนอในที่ประชุม จนถึงจุดหนึ่งผมประกาศว่า หัวข้อที่ผมจะไม่รับพูดหัวข้อหนึ่งคือเรื่องการปฏิรูปกองทัพ
เพราะพูดจนเบื่อจะพูดแล้ว
ใช่ พูดไปแล้ว เหมือนเราเอาแต่พูดเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ พูดจนคนฟังที่อยู่ในเวทีเดียวกับผมเกษียณไปหมดแล้ว สิ่งที่เคยผลักดันในช่วงปลายสงครามคอมมิวนิสต์ไม่เกิดมรรคผลใดๆ เลย ขนาดตอนนั้นพอสงครามคอมมิวนิสต์จบทั้งในบ้านเราและทั่วโลก กองทัพไทยขณะนั้นก็รู้ว่าต้องปรับบทบาทใหม่ จึงเกิดเวทีวิชาการเรื่องการปฏิรูปกองทัพเยอะมาก แต่ไม่มีแรงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สุดท้ายพอการเมืองเปลี่ยน มันก็ค่อยๆ หายไป
ฉะนั้นวันนี้ถ้าถามว่าสิ่งที่เคยนำเสนอกันมีอะไรบ้างที่เวทีปฏิรูปกองทัพในอดีตไม่เคยพูด คำตอบคือ ไม่มี แต่ปัญหากลับถูกสำทับด้วยเงื่อนไขของการรัฐประหารอีกสองครั้ง ทั้งจากปี 2549 และ 2557 ส่งผลให้เกิดการขยายบทบาททหารมากขึ้นไปอีก แล้วเราไม่มีทางจะปฏิรูปกองทัพภายใต้เงื่อนไขของการรัฐประหารได้เลย เพราะยิ่งทำรัฐประหาร อำนาจทหารก็ยิ่งเยอะขึ้นๆ
วันนี้ต้องให้เครดิตแรงผลักดันชุดใหม่ที่ช่วยเปิดโจทย์การปฏิรูปกองทัพอีกครั้ง จากที่เคยจบไปหลังสงครามคอมมิวนิสต์จบลง แต่การหวนกลับมารอบนี้ต้องถือว่าเป็นโจทย์ใหม่ที่มาจากมุมมองของคนรุ่นใหม่เช่นกัน ยิ่งเราดูยุทธศาสตร์ 20 ปี จะยิ่งเห็นชัดว่า ยุทธศาสตร์เสนอให้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปทุกเรื่องเลย แต่ไม่มีเรื่องเดียวคือคณะกรรมการปฏิรูปทางทหาร หรือเสนอโจทย์ปฏิรูปทุกด้านของประเทศไทยเลย แต่ไม่มีข้อเสนอในการปฏิรูปกองทัพ สิ่งเหล่านี้กำลังตอบว่ากองทัพไม่ได้ต้องการการปฏิรูปเลย
คำตอบของการปฏิรูปกองทัพในวันนี้อาจจะดูเป็นอนาคต คือคำตอบจะไปผูกอยู่กับผลหรือจำนวนเสียงของการเลือกตั้ง ต้องไปดูว่าปีกปฏิรูปแข็งแรงพอที่จะผลักดันการปฏิรูปจริงแท้แค่ไหน ถ้าปีกประชาธิปไตยได้เสียงข้างมากขึ้นจนอยู่ในฐานะพรรคเสียงข้างมาก ผมเชื่อว่าการผลักดันหลายๆ อย่างน่าจะเกิด ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปกองทัพหรือปฏิรูปอะไรอีกหลายๆ อย่างก็น่าจะเป็นไปได้
ถ้าเกิดการผลักดันการปฏิรูปขึ้นมาจริงๆ คุณว่ากองทัพจะเอารถถังออกมาทำรัฐประหารอีกไหม
ก็คงต้องไปพูดกันใหม่ตอนนั้นแล้วล่ะ ถึงจุดนั้นคงจะเป็นสถานการณ์อีกชุดหนึ่ง แต่ผมคิดว่าความอึมครึมชุดนี้มันมาจากปัญหาเดิม การเมืองหลังรัฐประหารไม่มีที่ไหนมีเสถียรภาพ อาจจะมีแค่ช่วงต้นๆ ของรัฐประหารเท่านั้นที่กองทัพควบคุมสถานการณ์วุ่นวายต่างๆ ได้ แต่ถามว่าคุมแบบนี้แล้วความขัดแย้งจบไหม ผมว่าไม่ใช่ สังคมไทยต้องตระหนักได้แล้วว่าการรัฐประหารเป็นกลไกของการสร้างความไร้เสถียรภาพทางการเมือง
เป็นไปได้ไหมที่ในอนาคตจะให้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการสร้างเสถียรภาพ ถ้าเรามองเห็นแบบนี้ เท่ากับว่า การตีกันบนท้องถนนไม่เห็นจะเป็นอะไร ปารีสก็ตีกันบนถนน วันนี้ผมอยากให้คนไทยดูข่าวเสื้อแจ็กเก็ตเหลืองที่ปารีส เอาใจว่างๆ ลองดู แล้วถามตัวเองว่า ถ้าเกิดแบบนี้ขึ้นในบ้านเรา คุณรับได้ไหม
ไม่น่าจะรับได้ คงมองว่าเป็นความวุ่นวาย รุนแรง และน่าหวาดกลัว
แต่ถ้าย้อนกลับไปตอนปี 2553 ก็มีการปิดถนนทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่แค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แล้วยังมาเกิด Bangkok Shutdown ผมคิดว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ตอบชัดแล้วนะว่า ในอนาคตถ้ามีการประท้วงอีกก็เป็นเรื่องปกติ แต่การประท้วงจะต้องไม่ลุกลามและไม่ขยายตัวไปในรูปแบบที่เจ้าหน้าที่ควบคุมไม่ได้ ถามว่ามีความรุนแรงไหม ผมว่าเราไปดูที่ปารีสเถอะ มันไม่ได้น้อยไปกว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ มีคนบาดเจ็บ มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ไม่ต่างกัน
ความชุลมุนวุ่นวายบนท้องถนนและความรุนแรงถึงขั้นมีคนบาดเจ็บเนี่ยนะ เราควรถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติเหรอ
ถ้าเราเชื่อว่าการประท้วงเป็น Direct Communication หรือการออกมาพูดตรงๆ กับผู้มีอำนาจ หากเรายอมรับอย่างนี้ ผมก็ไม่เห็นจะมีปัญหา ขอเพียงอย่างเดียวคือเจ้าหน้าที่ติดอาวุธบางส่วนอย่ายืนอยู่หลังผู้ชุมนุม แต่ต้องทำหน้าที่ในการรักษาความสงบ ถ้าเป็นอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงของพี่น้องประชาชนฝ่ายไหนก็เป็นเรื่องที่ไม่น่ากลัว เพราะมันเป็นภาวะปกติ
เมื่อมีความขัดแย้งทางนโยบาย มันตอบได้อย่างเดียวคือการประท้วง แต่มันจะไม่ใช่การประท้วงแบบเดิมที่เอาป้ายคล้องคอเดินไปเดินมาอีกต่อไปแล้ว การประท้วงในตะวันตกคือตัวแบบของการเมืองยุคปัจจุบัน สิ่งที่น่าสนใจคือ อ้าว! แล้วทำไมการประท้วงในโลกตะวันตกมันไม่ไปจบที่รถถัง แต่ปัญหาถึงไปจบลงที่สภาได้
เมื่อมีปัญหา สังคมไทยต้องให้โอกาสระบบการเมืองไทยหาวิธีและกลไกการแก้ปัญหาจากภายใน แต่เรามักติดใจที่จะขับรถทางลัด หาวิธีนอกระบบจนรู้สึกว่าการแก้ปัญหานอกระบบทำได้ง่ายกว่า มันเลยมีคนที่บอกว่า ม.44 ดีนะ เพราะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง แต่ต้องตระหนักว่า ณ วันนี้เราทุกคนกำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจร่วมกัน ผมว่าถ้าสังคมไทยยังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำมากๆ ประชาชนประสบปัญหาชีวิตประจำวันในทางเศรษฐกิจมากขึ้น ถึงเวลานั้นสีเสื้อมันอาจจะจางลง
ถ้าเป็นการระบายความโกรธทางการเมืองเรายังพอบ่นลงโซเชียลมีเดียได้ แต่ถ้าเงินในกระเป๋าจะหมดอยู่รอมร่อ แค่บ่นในสเตตัสคงไม่ช่วยอะไรแล้ว
ใช่ คือถึงจุดนั้นแค่ระบายในโลกโซเชียลมีเดียไม่ได้ช่วยแล้ว (หัวเราะ) แล้วมันจะเดินไปสู่ตัวแบบของปารีส คือหนึ่งเป็นการประท้วงที่เกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ สอง เป็นการประท้วงที่ไม่มีการจัดตั้ง สาม เป็นการประท้วงที่เราพูดเสมอคือแกนนอน คือไม่จำเป็นต้องมีแกน เพราะปัญหาที่คนกำลังเผชิญนี่แหละกลายเป็นแกนของเรื่อง วันนี้ของจริงเกิดขึ้นที่ปารีสแล้ว คนออกมาประท้วงด้วยความรู้สึกร่วม ไม่ใช่การจัดตั้ง แต่เป็นการนัดแนะส่งสัญญาณกันว่า ฉันจะออกไปนะ ไม่จำเป็นต้องชวน เพียงแค่ถ้าคุณรู้สึกร่วมกันก็เดินมาด้วยกัน
ผมมักจะพูดเสมอกับคนที่รู้สึกว่าเรามองไม่เห็นแสงสว่าง คือถ้าคิดแบบฤดูกาล ไม่มีปีไหนที่ฤดูใบไม้ผลิจะไม่มา บางครั้งฤดูใบไม้ผลิที่เราเฝ้ารออาจจะมาช้าแต่ไม่มีปีไหนที่ไม่มีฤดูใบไม้ผลิ เหมือนการเมืองไทยที่รอความเปลี่ยนแปลงอยู่
มีบางคนที่อยู่ร่วมประท้วงในเหตุการณ์พฤษภาฯ 35 เขาเคยรู้สึกว่าการเมืองนับจากนั้นจะต้องดี เสรีภาพจะต้องเบ่งบาน เศรษฐกิจจะมั่งคั่ง จนมาเจอรัฐประหารซ้ำถึง 2 หน
วันนี้เขาเลยรู้สึกสิ้นหวังใช่ไหม ผมเข้าใจได้ดี คือไม่กล้าพูดในเชิงปริมาณนะว่าเยอะไหม แต่มันอาจจะเป็นความรู้สึกที่คงเทียบกับชีวิตผมได้ว่า ผมคือคนที่ผ่านยุคของคนเดือนตุลา แล้วเมื่อมาเป็นอาจารย์ก็เห็นเดือนพฤษภา ผมพูดเสมอว่า ในชีวิตนี้ผมได้เห็นฤดูใบไม้ผลิสองครั้ง เวลาเราพูดถึง Arab Spring เราต้องไม่ลืมว่าเรามี Bangkok Spring นะครับ คือปี 2516 กับปี 2535 เพียงแต่มันมีคำถามคาใจที่เรายังตอบไม่ได้ก็คือ ฤดูใบไม้ผลิในไทยทำไมมันไม่ยั่งยืน พอฤดูใบไม้ผลิมารอบแรก แป๊บเดียวก็ฤดูหนาว
จาก Bangkok Spring ในปี 16 กลายเป็น Bangkok Winter ในปี 19 และเกิดแบบนี้ตามมาอีกในปี 35 และปี 49 กลายเป็น Bangkok Winter again แล้วก็เข้าสู่พายุหนาวครั้งใหญ่ในปี 57 แต่ผมคิดแบบคนโรแมนติกนะ ผมมักจะพูดเสมอกับคนที่รู้สึกว่าเรามองไม่เห็นแสงสว่าง คือถ้าคิดแบบฤดูกาล ไม่มีปีไหนที่ฤดูใบไม้ผลิจะไม่มา บางครั้งฤดูใบไม้ผลิที่เราเฝ้ารออาจจะมาช้าแต่ไม่มีปีไหนที่ไม่มีฤดูใบไม้ผลิ เหมือนการเมืองไทยที่รอความเปลี่ยนแปลงอยู่ ถ้าสังคมไทยจะอยู่โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงเหมือนที่ปีกอนุรักษ์นิยมพยายามจะเหนี่ยวรั้งสังคมไทยไว้ ผมว่ามันเหนี่ยวรั้งไว้ได้ไม่หมด
วันนี้เราอาจจะอยู่ในฤดูหนาวที่ยาวนาน แต่สุดท้ายฤดูใบไม้ผลิจะมา ผมพูดอย่างนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะอายุอานามของตัวเองด้วย ในยุคที่ผมอยู่ในขบวนนิสิตนักศึกษา ความตื่นตัวกระจุกอยู่แค่ในรั้วมหาวิทยาลัย และอีกส่วนหนึ่งอยู่กับพี่น้องคนงานในสหภาพแรงงานและพี่น้องชาวนาในปีกที่ก้าวหน้า ซึ่งยังไม่ได้เข้าไปสู่ผู้คนในสังคมเลย แต่วันนี้ไม่ว่าเราหันไปทางไหนก็เห็นแต่คนสนใจการเมือง พูดคุยถึงการเมืองกันมาก
ความตื่นตัวทางการเมืองของผู้คนในสังคมไทยปัจจุบันใหญ่กว่าคนยุคผมเยอะ จากปี 2516 ถึงวันนี้ 2562 มันเป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน แต่ในความยาวนานนี้ผมว่าผมเห็นความตื่นตัวของพี่น้องประชาชนเป็นรูปธรรมที่ชัด แล้วความตื่นตัวชุดนี้ไม่ถอยหลังกลับ ผมเชื่อว่าลึกๆ แล้ว พวกเบื่อการเมืองหรือรู้สึกหดหู่ทางการเมือง พวกเขายังมีสิ่งหนึ่งเหลืออยู่ คือพวกเขายังทิ้งการเมืองไปไม่ได้ แม้จะมีความรู้สึกหดหู่หรือรันทดกับภาวะที่เกิดขึ้นแค่ไหนก็ตาม
วันนี้การเมืองไทยทำให้สังคมกลายเป็นโรงเรียนการเมืองชุดใหญ่ ที่ให้การศึกษากับพี่น้องประชาชนในทุกจังหวัด ต้องเลิกคิดได้แล้วว่าพี่น้องในอีสานโง่เพราะไม่รู้หนังสือ หรือพี่น้องคนเหนือถูกหลอก เราต้องมองให้เห็นการเติบโตในมิติทางสังคม ผมคิดว่าที่จริงแล้วปีกอนุรักษ์นิยมมีไม่มากแต่เสียงดัง ส่วนปีกที่อยากเห็นประเทศไทยเปลี่ยนแปลงมีเยอะแต่เสียงค่อย
ฤดูใบไม้ผลิจะต้องมาถึง ผมไม่ได้พูดเพียงเพราะต้องการให้กำลังใจ แต่พูดเพื่อให้เห็นความเป็นจริง เมื่อความตื่นตัวและสนใจการเมืองมันขยายตัวมากขึ้นอย่างนี้ การเลือกตั้งรอบนี้จึงมีนัยยะสำคัญ ผมนั่งมองการเลือกตั้งและเห็นว่าคนจำนวนมากอยากตัดสินใจการเมืองด้วยการออกเสียง ด้วยการเลือกนโยบายที่พวกเขาเห็นชอบ เพราะฉะนั้น ผมจึงเชื่อว่าวันที่ 24 มีนาคมจะเป็นจุดเปลี่ยนประเทศไทย
มีคนรุ่นใหม่ที่รอการเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิตอยู่มากมาย
เจเนอเรชันใหม่ที่ยังไม่เคยเลือกตั้งเลยมีอยู่ประมาณเกือบ 8 ล้านคน มหาศาลนะ ซึ่งในจำนวนคนเหล่านี้มัน represent ได้ด้วยเพลงสองเพลงคือ คืนความสุขให้ประเทศไทย กับ ประเทศกูมี ผมคิดว่าวันนี้ยอดวิวของเพลงประเทศกูมี มันตอบอะไรหลายอย่าง และคำตอบมันชัดว่า คนพวกนี้ไม่มีทางโหวตให้รัฐบาล คสช. แต่จะโหวตให้พรรคไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง ในทางกลับกันต้องถามว่า แล้วเพลงที่รัฐบาล คสช. แต่ง ไม่ว่าจะตอบโต้กับเพลง ประเทศกูมี หรืออะไรก็ตาม มีคนให้ความสนใจเท่าไหร่ เพลงสองเพลงนี้คือตัวแทนของโพลจริงๆ ในประเทศไทย แทบไม่ต้องไปดูผลโพลที่ไหนเลย
ภาพลักษณ์ของทหารตอนนี้ถือว่าตกต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเลยหรือเปล่า
ผมคิดว่า ถ้าจะพูดว่าตกต่ำ ชุดแรกที่ผมเห็นคือตอน 14 ตุลาฯ ทหารแต่งเครื่องแบบออกจากบ้านไม่ได้ วันนี้ทหารรุ่นใหม่ยังไม่เคยเห็นนะครับ วันที่ประชาชนชนะ หลังปี 35 ก็มีอาการอย่างนั้น คือทหารเกรงว่าประชาชนจะทำร้าย ซึ่งผู้นำทหารรุ่นปัจจุบันอาจจะนึกไม่ออก แต่ถ้าย้อนกลับไปดูก็จะเห็นว่า มีช่วงที่กองทัพตกต่ำและต้องเผชิญกับสถานะที่คนไม่ยอมรับ ปัจจุบันก็มีสัญญาณอย่างนี้เยอะแล้ว ในหลายพื้นที่พี่น้องประชาชนประกาศชัดเจนมาก เขาไม่ได้ทะเลาะกับกองทัพ แต่เขาทะเลาะกับทหารที่เข้ามาลิดรอนเสรีภาพ ทะเลาะกับทหารที่เข้ามายึดอำนาจ