“เราอยากไปเที่ยว อยากเดินทาง แล้วก็เขียนรูปภาพประกอบไปด้วย มันดูเป็นอะไรที่เป็นไปไม่ได้ สำหรับเราตอนนั้นมันเป็นไปไม่ได้”
เธอเล่าถึงอดีตของตัวเองในวันที่เรานั่งอยู่ด้วยกันในสตูดิโอพร้อมกับลมเย็นต้นฤดูฝน ซึ่งอีกมุมหนึ่งที่นี่ก็เป็นดั่งเช่น ‘บ้านสวน’ ส่วนตัวของเธอที่ตั้งอยู่กลางซอยรายล้อมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ หน้าบ้านติดทางรถไฟด้านหลังสวนเป็นคลองไหลเอื่อยๆ มีดอกไม้แห้งรอต้อนรับเราอยู่หน้าประตูและผ้าม่าน เธอเชิญชวนให้เรานั่งสบายๆ บนพื้น และต้อนรับด้วยน้ำเย็นๆ พร้อมรอยยิ้มกว้างกับเสียงหัวเราะตลอดการสนทนา ระหว่างทาง เธอทำลายภาพศิลปินที่เรามีในหัวเสียจนหมดสิ้น
เฉดสีที่หายไป
แซนด์เล่าให้ฟังว่าเธอชอบโทนสีน้ำตาล เสื่อคล้าสีครีมที่ปูอยู่ในห้องครัว ขวดโหลบรรจุผงไม้ ดิน และพรรณพืชตากแห้งที่วางอยู่เรียงรายรอบห้องทำให้ที่นี่เสมือนห้องปรุงยาชั้นดี แต่ถาดสีดินปั้นทั้งเล็กใหญ่ที่วางอยู่ในโต๊ะทำงานกลางบ้านกับฝักบัวแห้งเต็มไปด้วยสีในหลุมเล็กทั้งหลายกลับเป็นหลักฐานชั้นดีว่าที่นี่มี ‘ศิลปิน’ อยู่หนึ่งคน
เธอเรียนจบคณะคณะมัณฑนศิลป์ และเคยทำอาชีพหลากหลายเกี่ยวกับศิลปะ ทั้งกราฟิกดีไซเนอร์ อาจารย์ในโรงเรียนประถม มัธยม และนักวาดภาพประกอบ แต่จุดเปลี่ยนหลักที่ทำให้หญิงสาวคนนี้ยังรู้สึกขาดหายก็คือ ความสนุก
“เราเป็นคนที่อยู่กับระบบได้นะ” เธอเล่าด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม “ทุกงานประจำเราทำได้ เข้ากับคนได้ แต่จุดเปลี่ยนคือเรารู้สึกไม่สนุกเลย (หัวเราะ) เวลาคนอื่นๆ พูดถึงเรา มันก็คงเท่สำหรับเขา แต่ชีวิตจริงมันไม่เท่ มันไม่ภูมิใจ” เธอเปิดใจเล่าให้ฟังถึงงานที่ผ่านมา ว่างานเดียวที่ภูมิใจคือการวาดภาพประกอบหนังสือ แต่จะมีความสุขก็ต่อเมื่อได้เปิดหนังสือกางออกมา นั่นทำให้เธอพบกับความสุขอยู่พักหนึ่ง เมื่อปิดหนังสือลงความสุขนั้นก็หมดไป
ด้วยความไม่ประสาในตอนนั้น เธอเคยคิดง่ายๆ ถึงอาชีพครู และออกมาเป็นครูในโรงเรียนเอกชน แต่ความรู้สึกแปลกประหลาดและอึดอัดในใจคล้ายต้องการทำอะไรสักอย่างก็เกิดขึ้นอีก จนเธอเดินทางมาถึง ‘จุดเปลี่ยนครั้งสุดท้าย’ เมื่อคุณครูมัธยมของเธอเอ่ยปากชักชวนให้กลับถิ่นเกิด ณ อัมพวา อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม นั่นจึงเป็นเวลาที่เธอได้กลับ ‘บ้าน’
จุดเปลี่ยนครั้งสุดท้ายก่อนออกเดินทาง
“วันแรกเราร้องไห้” เธอเล่าปนขำว่าเข้าไปวันแรกก็โดนรับน้องโดยเด็กสุดเฮี้ยวห้องสิบสามสุดซนที่ไม่เชื่อฟังเธอเลย แต่หลังจากนั้นเด็กกลุ่มนี้กลับค่อยๆ กลายเป็นเพื่อนของแซนด์ และส่งผลสำคัญต่อชีวิตของเธอในภายหลัง แซนด์กลายเป็นครูที่เข้ากับเด็กๆ ได้จนครบปีครึ่ง เมื่อต้องเข้าสู่ตำแหน่งขั้นถัดไป คือการสอบบรรจุข้าราชการตามที่ครอบครัวคาดหวังไว้ นั่นจึงเป็นเวลาที่เธอได้กลับมาทบทวนตัวเองว่าอาชีพนี้เป็นสิ่งที่เธอชอบจริงๆ หรือเปล่า “จริงๆ มันสนุก แต่เราไม่สามารถสนุกได้ทุกวันหยุด เพราะวันจันทร์อังคารก็ควรมีความสุขด้วยหรือเปล่า” เธอตั้งคำถามกับตัวเองในตอนนั้น “พอได้กลับมาคิดว่า เราพอใจกับสิ่งนี้ไปจนจบสิ้นอายุข้าราชการไหม เราพบว่ายังอยาก ‘สนุก’ อยากทำอะไรที่ยังเสี่ยงอยู่ เราเลยส่งใบสมัครไปถึงมหาวิทยาลัยวิศวภารตีที่ขึ้นชื่อเกี่ยวกับศิลปะในอินเดีย”
แต่เวลานั้นนอกจากสังคมจะชินกับภาพของคนที่รับราชการเป็นครูที่มีความมั่นคง ครอบครัวของแซนด์จึงคัดค้าน โดยเฉพาะคุณพ่อที่ถึงกับพาเพื่อนสนิทและอาจารย์ที่เธอเคารพมาเกลี้ยกล่อมให้กลับไปเป็นอาจารย์ แซนด์เล่าไปหัวเราะไปเมื่อพูดถึงความทรงจำครั้งเก่าว่า ‘เหมือนไม่มีใครบนโลกนี้ที่สนับสนุนให้ไปเลย’ แต่สุดท้ายขณะที่เธอกำลังจะยอมรับข้อตกลงทั้งหมด ลูกศิษย์ห้องสุดเฮี้ยวห้องสิบสามก็ขับมอเตอร์ไซค์เข้ามาเยี่ยมเธอถึงบ้าน “ตอนที่เครียด กินอะไรไม่ได้ หน้าเป็นสีเทา (หัวเราะ) ลูกศิษย์ก็เข้ามาหา แล้วบอกเราว่าคุณครูศิลปะคนใหม่ท่าทางดูสดใส เหมือนมีสายรุ้งสีสวยอยู่บนหัวเลย แต่ทำไมอาจารย์ดูเหมือนมีเมฆเทาที่ฝนตกอยู่บนหัวตลอดเวลา” เธอยิ้มเมื่อนึกถึงอดีต วินาทีนั้นแซนด์จึงรู้ตัวว่าเวลาที่ผ่านมา เฉดสีในชีวิตของเธอเป็นเช่นไร และเฉดสีที่ขาดหายคือสิ่งที่เธอตามหามาตลอดนั่นคือ ‘ความสนุก’
ประจวบเหมาะกับที่เธอได้มีโอกาสอ่านหนังสือเรื่อง ‘คีตาญชลี’ หนังสือที่วางอยู่ในบ้านมานาน และยังเป็นหนังสือที่ส่งให้ ‘รพินทรนาถ ฐากุร’ นักคิดและนักเขียนคนสำคัญของอินเดียได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม (รพินทรนาถ ฐากุร ยังบังเอิญเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยที่เธอส่งใบสมัครไป) แซนด์ได้อ่านประโยคที่ว่า
“คุณกำลังสวดมนต์ภาวนาอยู่ที่มุมห้องมืดๆ นั้นหรือเปล่า ทั้งที่คุณรู้ว่าพระเจ้าไม่ได้อยู่ที่นี่”
เธอนิ่งลงสักพัก ก่อนบอกกับเราถึงความหมาย “มันก็แค่ออกไปเผชิญโลกกว้างซะ แล้วคุณจะเข้าใจ” เธอยิ้มและยืนกรานว่า “ด้วยความเข้มแข็งในหัวใจของเรา ให้ไปตามเรา ไม่ใช่ไปตามการเปลี่ยนแปลงความคิดของใคร” หลังจากนั้นแซนด์กลับมามั่นใจในสิ่งที่ตัวเองทำมากขึ้น เหลือเพียงปราการด่านสุดท้ายที่ต้องเอาเอกสารไปให้คุณพ่อเซ็น เป็นลายเซ็นสุดท้ายที่จะทำให้เธอได้ไปอินเดีย แซนด์ไปหาคุณพ่อถึงที่ทำงาน แต่เมื่อถึงเวลาจริง สุดท้ายคุณพ่อก็ยอมเซ็นให้โดยไม่มีการเกลี้ยกล่อมใดๆ และยังขับรถไปส่งเธอที่ท่ารถตู้ เธอบอกว่าท้ายที่สุด สิ่งที่พ่อเธอทำมาตลอดคงเป็นความเป็นห่วงในตัวลูกสาว แต่สุดท้ายเมื่อเธอยืนกรานแล้ว เขาก็คงมั่นใจในตัวเธอมากขึ้น และเชื่อมั่นว่าเธอสามารถทำได้ และแล้วเฉดสีของเธอก็เริ่มเปลี่ยนไปอีกครั้ง
เฉดสีใหม่ที่อินเดีย
“เมืองนั้นเป็นเมืองที่เงียบมาก” เธอหัวเราะเมื่อพูดถึงการผจญภัยครั้งใหม่ในประเทศสุดเซอร์เรียล แผนเดิมของเธอในตอนนั้นคือเที่ยวเป็นงานหลัก ทำงานระหว่างทาง นอกจากไดอารีที่สามารถทำได้ตอนท่องเที่ยว แซนด์ยังสนใจธรรมชาติและการพึ่งพาตัวเอง ประกอบกับเพื่อนร่วมหอของแซนด์เองที่สุดโต่งกันทั้งคู่ คนหนึ่งอยู่ติดบ้านไม่ออกไปไหน ในขณะที่อีกฝ่ายแทบไม่กลับบ้านเลย ใช้ชีวิตอยู่แต่ในปาร์ตี้หนักถึงขั้นชวนคนอินเดียมาร่วมวง แซนด์จึงมีโอกาสได้ใช้ชีวิตสันโดษมากขึ้น และเริ่มทดลองค้นหาเฉดสีใหม่ๆ ในชีวิต
เธอเริ่มทำสีจากดอกไม้ แต่ผลลัพธ์แม้สีจะสวยงามแต่กลับซีดเป็นสีน้ำตาลเช่นเดียวกับดอกไม้เหี่ยวตามกาลเวลา เมื่อใช้สีจากดินและถ่าน สุดท้ายงานที่ทำก็กลายเป็นแค่ฝุ่นผงเคลือบลงไปบนกระดาษ เธอยังไม่สามารถใช้สีจากธรรมชาติได้จริง แต่ ณ เวลานั้น การเริ่มเข้าไปรู้จักกับในชุมชนทำให้เธอได้พบผู้คนใหม่ๆ
“ที่นั่นเหมือนเป็นแหล่งรวมคนที่อยากใช้ชีวิตตามอุดมคติ อย่างคนทำหนังอินดี้ที่เป็นแฟนคลับของ เป็นเอก รัตนเรือง หรือคุณลุงขายผ้ามัดย้อมในหีบที่ต้องจิบชารอกว่าสี่สิบนาที” แซนด์บรรยายนิสัยศิลปินของคนที่นี่ และเล่าว่าว่าได้รู้จักกับตลาดงานคราฟต์กลางป่ายูคาลิปตัสที่ชื่อว่าตลาด ‘โซนาจูรี่’ และได้พบกับคุณลุง ‘โมฮาน จิตรการ’ ที่ใช้สีจากธรรมชาติอย่างเขม่าติดหม้อและหินสองสีจากแม่น้ำมาวาดภาพสัตว์ป่า จนสุดท้ายแซนด์ก็ได้ค้นพบวัตถุดิบลับคือ ‘กัมอารบิก’ ยางไม้ลักษณะคล้ายก้อนคริสตัลใส เป็นตัวเชื่อมและยึดเหนี่ยวสีให้เกาะกัน นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอเริ่มค้นหาและทดลองสีจากธรรมชาติมาจนถึงวันนี้
ในอีกมุมหนึ่ง แซนด์ก็สารภาพว่าเธอหลงไหลชีวิตแบบนี้อย่างจริงจัง ชีวิตของลุงโมฮานที่แสนจะสมถะ ชีวิตที่มีแค่สี่เฉดสีก็เพียงพอ ข้างหลังบ้านเป็นทุ่งนาและคนเลี้ยงควาย
“เราพบว่ามันมีอยู่จริง สิ่งที่เราคิดว่าเป็นไปไม่ได้” แซนด์บอกเราด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นถึงชีวิตของคนที่นั่น “เรารู้สึกว่าเขาดูมีความสุขมาก พาควายไปไถนาแล้วนั่งดูพระอาทิตย์ตกดิน บางคนมีเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่งก็เล่นอยู่ใต้ต้นตาล ตอนเป็นเด็กเคยเหมือนกันคิดว่าทำไมเราต้องหาเงินขนาดนี้ด้วย เป็นไปได้ไหมที่เราจะเข้าป่าและมีชีวิตแบบนี้ แล้วหมู่บ้านนี้ก็เป็นแบบนี้มาตั้งนานแล้ว”
อีกเรื่องที่เธอค้นพบคือ ชาวอินเดียให้คุณค่ากับงานศิลปะจนกลายเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน นอกจากชาวบ้านจะเพนต์บ้านดินอย่างเป็นกิจจะลักษณะแล้ว นามสกุลของคุณลุงโมฮานคือ ‘จิตรการ’ เป็นตระกูลจิตรกรจากรุ่นสู่รุ่น โดยตระกูลนี้ในอดีตมีทั้งการเล่านิทานปรัมปราและในม้วนภาพวาด ซึ่งในปัจจุบันภาพวาดก็ยังคงใช้ตามโอกาส เฉดสีขาวแดงใช้ในงานแต่งงาน หรือเป็นเฉดสีสันในงานเฉลิมฉลอง เธอเสริมเรื่องขำขันเกี่ยวกับคนอินเดียที่ไม่เข้าใจว่าทำไมเพื่อนคนไทยกลัวชุดนางรำ เพราะชุดประจำชาติอย่างส่าหรีก็เป็นสิ่งที่คนอินเดียใส่กันอยู่ทุกวัน ไม่เห็นจะมีอะไรน่ากลัว เธอจึงเปิดหนังสยองขวัญไทยให้ดูเสียเลย
จากเฉดสีที่ค้นพบ แซนด์จึงพัฒนามาเป็นงานธีสิสจบของตัวเองและพบว่า “เรารู้สึกว่าไม่เหมาะกับสตูดิโอ” เธอหัวเราะร่วน แล้วบอกกับเราว่าเธอนำงานของตัวเองไปแสดงใต้ต้นพิกุลแบบสมถะตามสไตล์ชุมชน และให้ทำสีกับโปสต์การ์ดแลกกัน พร้อมหยิบเรื่องราวที่พบเจอและไดอารีจากจุดตั้งต้นมารวมกันเป็นหนังสือ ประหนึ่งบันทึกเส้นทางการจาริกชีวิตในอินเดีย แต่แล้วชีวิตที่เหมือนจะดีขึ้นก็ไม่ยอมปล่อยให้เธอได้หยุดพัก เมื่อเธอตัดสินใจลาจากประเทศอินเดียที่รัก กลับมายังบ้านเกิดอีกครั้ง
เฉดสีที่ผสมผสาน
“ตอนนั้นเครียดมาก ทำอะไรดีวะ” แซนด์พูดติดตลกก่อนหัวเราะยกใหญ่
“เราอยู่เที่ยวต่ออีกหนึ่งเดือนระหว่างรอเอกสารจบ แต่จนแล้วจนรอดเราไปสมัครงานหลายที่มากแต่ก็ไม่ถูกเรียกตัว จนได้กลับมาที่งานสอนในมหาวิทยาลัยอีกครั้ง” แซนด์เล่าให้ฟังถึงชีวิตที่พลิกผันแบบไม่ทันตั้งตัว ว่างานที่ได้ขัดกับชีวิตแบบเดิม และงานเวิร์กช็อปกับงานบรรยายก่อนหน้าแบบสุดๆ จนถึงจุดหนึ่งที่นักศึกษาอยากทำโปรแกรมมายา นักศึกษาเข้ามาหาเธอ แต่แซนด์กลับไม่สามารถช่วยได้เพราะไม่ได้เชี่ยวชาญหรือสนใจโปรแกรมคอมพิวเตอร์ “ประโยคนี้เลยทำให้เรารู้สึกว่าเราจะเป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้ เพราะที่นั่นก็ยังมีนักเรียนอีกหลายคนที่คาดหวังในชีวิตของเขา” เธอจึงเริ่มคิดถึงความรับผิดชอบในฐานะครูและชีวิตของเธอเอง ที่อาจไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเด็กได้ เธอจึงเริ่มกลับมาตั้งคำถามในชีวิตตัวเองอีกครั้ง
“พอหมดวันเราต้องไปหาอะไรอร่อยๆ เพื่อเติมเต็มความเว้าแหว่ง แต่เติมเท่าไหร่ก็ไม่เต็มสักที” เธอยิ้มไปอธิบายไป “เรารู้สึกว่าสิ่งมีชีวิตควรต้องอยู่กับดิน การอยู่แบบนั้นมันผิดจากปกติสำหรับเรา” ฟังแล้วก็เศร้าปนขำที่ใครสักคนจะเอาแต่คิดถึงความชอบในธรรมชาติและวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย จนครั้งหนึ่งถึงกับร้องไห้เมื่อมองเห็นแสงสีส้มเหลืองจากผ้าม่านเพราะคิดถึงชีวิตที่อินเดีย จนหยุดคิดได้ว่า ‘ทำไมไม่ทำชีวิตแบบนั้นในตอนนี้ซะเลยล่ะ’
นั่งคือการตัดสินใจยื่นใบลาออก (อีกครั้ง) ในชีวิตหลังจบเทอม พร้อมออกเดินทางตามหาตัวตนและการใช้สีสันที่เธอถนัดด้วยตัวเอง
“อาชีพเวิร์กช็อปที่ทำตั้งแต่ตอนอยู่อินเดียดูมีคนสนใจ และรายได้มากกว่างานประจำกับเงินเดือนขั้นต่ำในตอนนั้นอีก แล้วระหว่างนั้นเริ่มมีคนมาสอบถามวิธีทำสีทำมือ ซึ่งเราก็เลยเริ่มขายออนไลน์ไปด้วย” นี่คือจุดเริ่มต้นหลังลงหลักปักฐานที่บ้านสวนหลังนี้ ที่เจ้าตัวลองเสี่ยงเลือกชีวิตในแบบที่เธอชอบ ตัดสินใจคว้าโอกาสและพัฒนาสินค้าจนสูตรเริ่มคงที่ แม้ช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดจะทำได้เพียงขายสินค้าออนไลน์และรับงานวาดภาพประกอบ แต่ก็มีความยืดหยุ่นในการประกอบอาชีพ แค่ต้องจัดการบริหารตัวเองให้ดีพอ ก็จะสามารถจัดการภาพรวมและกระจายความเสี่ยงในอาชีพได้
อีกเรื่องคืออย่าไปจมจ่อมอยู่กับงานจนเกินไป ซึ่งตัวเธอนั้นไม่เคยจำกัดตัวเองว่าในแต่ละวันต้องทำงานมากน้อยแค่ไหน การทำงานบ้านหรือแม้แต่เล่นกับแมว ให้ถือเป็นงานที่ต้องทำด้วยเช่นกัน เธอพูดพร้อมกับคว้าเจ้าเหมียวที่เป็นแมวจรมาเกาพุงให้มัน และพูดแบบติดตกว่า “ตอนนี้งานของเราคือการจัดบ้านเป็นหลัก”
เธอชวนเราเล่นกับแมวอยู่สักพักใหญ่จนมีเสียงรถไฟแล่นผ่านด้านหน้าบ้าน เธอนิ่งไปสักพัก ก่อนตอบคำถามที่คนส่วนใหญ่สงสัยในตัวเธออย่างจริงจัง คำถามที่มีคนถามบ่อยมากๆ ว่า หากอยากออกจากงานประจำเพื่อมาใช้ชีวิตอยู่แบบนี้บ้าง ต้องทำอย่างไร รอยยิ้มเล็กๆ เผยออกมาพร้อมกับคำตอบว่า “ถ้าวันหนึ่งอาจจะลำบาก อยู่ได้ไหม ไม่มีรถขับได้ไหม ไม่มีอาหารอร่อยๆ แต่เป็นอาหารทำกินเองได้ไหม เพราะเราต้องอยู่กับสิ่งนี้ ถ้ามีเงินเท่านี้แล้วต้องบาลานซ์ให้ได้” และแซนด์ยังเสริมมุมมองชีวิตในเส้นทางที่เธอ ‘ได้เลือก’ และ ‘เลือกได้’ ว่า “ไม่มีหรอกใช่หรือไม่ใช่สำหรับเรา แต่นั่นคือสิ่งที่เราเลือกเองหรือเปล่า เพราะชีวิตใหญ่เราไม่ได้เลือกเองไง แต่ถ้ามันเป็นสิ่งที่เราได้เลือก เราจะสู้ไปกับมัน”
เฉดสีในปัจจุบันยังกลายเป็นส่วนผสมที่แซนด์ตัดสินใจค้นหาและแต่งเติมลงบนกระดาษไปเรื่อยๆ กลายเป็นจุดกึ่งกลางระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคตที่ยังไม่หยุดนิ่ง “ชีวิตช่วงนี้กลายเป็นการทบทวนสิ่งที่เราเคยอยากทำ ว่าเป็นสิ่งที่เราต้องการจริงๆ หรือเปล่า ชื่อเสียง การยอมรับ เป็นสิ่งที่เราชอบจริงๆ ไหม เราเองก็ยังตั้งคำถามและไม่รู้ว่านี่จะเป็นอาชีพในบั้นปลายของเราได้หรือไม่” นี่อาจจะเป็นประโยคสรุปชีวิตในวันนี้สำหรับเธอ
“เพราะชีวิตก็ต้องหาจุดเหมาะสมอยู่เรื่อยไป ไม่ใช่ว่าจุดนี้ดีจะที่สุดแล้ว”
เราเชื่อว่าหากถึงเวลาต้องเพิ่มเฉดสีใหม่ เธอคงได้เจอตัวเองในมุมใหม่ ที่เป็นมากกว่าตัวเธอในแบบเดิม