เท่าพิภพ

เท่าพิภพ | ในวันที่ชะตาชีวิตพลิกผันจากคนทำคราฟต์เบียร์สู่ ส.ส. หน้าใหม่ในสนามการเมือง

แสงแดดร้อนระอุสาดส่องบริเวณย่านชุมชนกุฎีจีน ชายหนุ่มรูปร่างสูงโปร่งใบหน้าเกลี้ยงเกลา ไม่เหลือเค้าของหนุ่มคราฟต์เบียร์เคราดกที่ปรากฏตามหน้าสื่อเมื่อสองปีก่อน โผล่มาจากตรอกเล็กๆ พร้อมจักรยานคู่ใจ มีป้ายหาเสียงเบอร์ 7 แปะอยู่ข้างจักรยาน และมีธงโลโก้พรรคสีส้มโบกสะบัดตามแรงลมของแม่น้ำเจ้าพระยา วันที่พบกัน เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ผู้สมัคร ส.ส. เขต จากพรรคอนาคตใหม่ กำลังลงพื้นที่หาเสียงในโค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง เขาเล่าให้เราฟังว่าตลอดระยะเวลาหนึ่งปีตั้งแต่ก่อตั้งพรรคเป็นช่วงเวลาที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว แม้จะเหน็ดเหนื่อย แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ได้เรียนรู้จากการได้ลงพื้นที่พบปะชาวบ้าน ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ และแน่นอนว่ามันเปลี่ยนความคิดของเขาไปอย่างมาก

     ย้อนกลับไปช่วงปี 2560 เท่าพิภพ อยู่ในวัย 28 ปี เขากลายเป็นข่าวใหญ่บนสื่อหลังถูกเจ้าหน้าที่สรรพสามิตบุกจับกุมที่ห้องพักในข้อหาผลิตและจำหน่ายคราฟต์เบียร์ จนกระทั่งต้นปี 2561 เขาได้ปรากฏตัวอีกครั้งในฐานะนักการเมืองหน้าใหม่ หนึ่งในผู้สมัคร ส.ส. และผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ เขาได้รับความสนใจบนสื่ออีกครั้ง แต่เปลี่ยนจากสนามคราฟต์เบียร์เป็นสนามการเมือง ซึ่งจากเหตุการณ์เมื่อปี 2560 จนกระทั่งถึงการลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งนี้ หลายคนเคยตั้งข้อสันนิษฐานเชื่อมโยงว่านั่นอาจเป็นแผนการที่เขาได้วางไว้เพื่อให้ตนเองเป็นที่รู้จักในการเลือกตั้งครั้งนี้

     “บางคนเชื่อนะ เรื่องการวางแผนของเราจากตอนที่โดนจับมาถึงการลงเลือกตั้ง แล้วก็บอก โอ้โฮ นี่มันขงเบ้งชัดๆ”

     เขาตอบกับเราพร้อมเสียงหัวเราะ

     “แล้วมันเป็นความจริงไหม” เราโยนคำถาม

     “จริง (หัวเราะ) แต่เราขออธิบายเรื่องการวางแผนอย่างนี้ มันไม่ได้เกี่ยวกับการมาเล่นการเมืองเลย มันเป็นเรื่องของการทำเบียร์ล้วนๆ”

     การเลือกตั้งได้เสร็จสิ้นไปเรียบร้อย เขากลายเป็นผู้ชนะในเขตเลือกตั้งที่ 22 คลองสาน บางกอกใหญ่ และธนบุรี นั่นถือเป็นอีกหมุดหมายสำคัญในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อย่างไรก็แล้วแต่ นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นแรกเท่านั้น หนทางในวันข้างหน้าของสนามการเมืองที่เรียกได้ว่าหนักหนาสาหัสที่สุดยังคงรอเขาอยู่ โดยเฉพาะกับเป้าหมายหลัก และเป็นภาพลักษณ์ที่ถูกผูกติดกับตัวเขามาเสมอ นั่นคือประเด็นการปลดล็อกและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางกฎหมายของตลาดสุรา ตลาดคราฟต์เบียร์ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น และจะโยงไปสู่ประเด็นอื่นๆ ทางสังคมอีกมากมาย

     “เบียร์คือเรื่องกายภาพ แต่หลักการเบื้องหลังคือเรื่องโครงสร้างของทุนนิยมที่มันผิด เราถึงบอกไง ถ้าแก้เรื่องเบียร์ได้ แล้วนำหลักการนี้ไปปรับใช้กับทุกธุรกิจ มันจะดีแค่ไหน ถ้าพูดแบบวิชาการ คือเราอยากแก้ไขระบอบทุนนิยมที่ผิดเพี้ยนในประเทศไทย แก้เรื่องการแข่งขันให้เสรีขึ้น สุดท้ายมันคือทุกเรื่อง”

     a day BULLETIN มีโอกาสสัมภาษณ์เขาถึงสองครั้งในช่วงทั้งก่อนเลือกตั้งและหลังรู้ผล แม้จะยังไม่แน่ชัดว่าพรรคการเมืองที่สังกัดจะได้ทำงานในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน รวมไปถึงเงื่อนไขแปลกประหลาดในการแจกใบเหลือง ใบแดง ที่เขาชี้ให้เห็นว่าทุกอย่างเกิดขึ้นได้ในเงื่อนไขการเมืองของประเทศไทยตอนนี้ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขาย้ำคืออุดมการณ์ที่เหมือนเดิม สิ่งที่เราสัมผัสได้จากว่าที่ ส.ส. หน้าใหม่คนนี้คือความตั้งใจ ความแน่วแน่ ที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ไปสู่การปลดล็อกโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อสร้างความเท่าเทียมและเสมอภาคในการแข่งขัน และเปิดโอกาสให้คนเล็กๆ ที่ทำธุรกิจได้แสดงศักยภาพ ผลักดันให้ประเทศไทยมีความก้าวทันสังคมโลกมากขึ้น

      ด้วยเป้าหมายที่เขายืนยันหนักแน่นว่าเบียร์กับการเมืองคือเรื่องเดียวกัน ยิ่งมีความหลากหลายให้ได้เลือก ยิ่งมีความสวยงาม

 

เท่าพิภพ

 

ตั้งแต่ที่คุณโดนคดีเมื่อสองปีก่อนจนถึงตอนนี้ สถานการณ์เกี่ยวกับการผลิตคราฟต์เบียร์ในประเทศมีแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

     เหมือนเดิมเลย แต่โทษเยอะขึ้น ถึงแม้จะมีเสียงของประชาชน มีแรงกระเพื่อม แต่ถ้าไม่มีอำนาจเราก็เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ก็เลยต้องลงมาทำการเมือง เห็นไหม พอมีพรรคหนึ่งทำเรื่องนี้ พรรคอื่นก็ต้องทำ จาก people view ก็กลายเป็น political view ทำให้สามารถเป็นจริงได้ ไม่งั้นคุณก็บ่นไปสิ เหมือนเอ็นจีโอทำไปสิบปีทุกอย่างก็ไม่เปลี่ยนไปหรอก เพราะคุณไม่มีอำนาจไง นั่นก็เป็นสิ่งที่ทำให้คุณไม่สามารถเดินไปพร้อมกับสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นได้

     จริงๆ ในพรรคอนาคตใหม่ก็มีคนลักษณะนี้เยอะนะ เช่น คนที่เขาอยากขับเคลื่อนประเด็น LGBT เขาก็อยากได้อำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลง เหมือนเป็นตัวแทนกลุ่มเขา

 

ในมุมมองของคุณ ทำไมการเมืองถึงเป็นทางเลือกในการแก้ไขปัญหา

     คนไทยมองการเมืองเป็นปัญหา ไม่ได้มองว่าเป็นเครื่องมือแก้ปัญหา เรามองว่าการเมืองไม่ดี สกปรก ไม่น่าเข้าไป แต่ที่จริงการเมืองคือ solution ของทุกอย่าง คุณควรเข้าไปเพื่อมีสิทธิ์มีเสียงในสภา เพื่อคุณจะได้เปลี่ยนแปลง

     สิ่งที่เป็นปัญหาจริงๆ คือโครงสร้างรัฐที่ยึดโยงกับนายทุน เมื่อเงินมีอำนาจเหนือการเมือง หรือว่าซื้อนักการเมืองได้ นักการเมืองที่มาจากเสียงประชาชนจึงไม่จำเป็นต้องฟังเสียงประชาชนแล้วไง เพราะเขาฟังอำนาจเงิน อำนาจของประชาชนโดนเจือจางโดยเงินจากกลุ่มทุนใหญ่ๆ ประเทศก็เลยกลายเป็นรูปแบบนี้ คือกินรวบ

     แล้วยิ่งอำนาจไม่ได้มาจากประชาชน แต่มาจากรัฐประหาร เขาก็แบมือขอเงินนายทุน นายทุนจ่ายมาเท่านี้ ก็ทำให้ อันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเบียร์ เหล้า แต่คือเรื่องทุกอย่าง มันเป็นโครงสร้างแบบนี้

 

คุณเริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่เมื่อไหร่

     ตอนอยู่ธรรมศาสตร์เราเป็นเด็กกิจกรรมอยู่แล้ว ทำค่ายอาสา คืออาจจะไม่ได้สนใจการเมืองหรอก แต่เราอยากเปลี่ยนแปลงประเทศตั้งแต่เด็ก เราอยากเป็นนายอำเภอ ผู้ว่าฯ เหมือนแต่ก่อนความคิดเด็กๆ คืออยากสอบเข้ารัฐศาสตร์ แต่เราสอบตรงไม่ติด มาสอบติดคณะนิติศาสตร์ ชีวิตเหมือนจับพลัดจับผลูให้มาด้านนี้นะ เอาจริงๆ ตอนนั้นแรงจูงใจที่เราไปค่ายอาสาคือเพื่อหาข้าวกินฟรี (หัวเราะ) เพราะอยู่หอไม่มีเงินเหลือแล้ว ก็ไปทุกค่ายเลย จบไปทำงานแล้ว ตอนลาพักร้อนก็ยังไปค่ายสร้างอยู่นะ

 

แล้วนอกจากไปกินข้าวฟรี คุณได้เห็นอะไรบ้างจากการออกค่าย

     เยอะมาก เราได้อยู่กับชาวบ้านเยอะ เจอคนที่เขาลำบากจริงๆ แล้วเห็นว่าเรามีโอกาสดีแค่ไหน โชคดีแค่ไหน ได้เรียนในสถาบันที่ดี เราก็เริ่มเรียนรู้แล้วตกผลึกว่า เออ เราต้องเป็นคนที่เปลี่ยนแปลงประเทศนะ มันไม่ใช่คนอื่นหรอก เราอยู่ในสถาบันที่ดีมากๆ แล้ว ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ เพราะก็มีความคิดว่าวันหนึ่งคนที่นั่งข้างๆ เรา เขาก็ต้องไปเป็นผู้พิพากษา อัยการ เป็นคนมีอำนาจ คือสู้ให้มาเจอสถานการณ์อย่างนี้แล้วเขาเข้าใจคนมากกว่า ดีกว่าสุดท้ายเขาเป็นไปเพื่ออำนาจของเขาเองนะ

     แล้วสุดท้ายมันก็จริงนะ ตอนนี้เพื่อนเราเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ เยอะแยะ อีกอย่าง ตอนนั้นเป็นยุคที่ไม่มีใครอยากทำงานการเมือง เพราะถูกปลูกฝังว่าการเมืองมันแย่ สกปรก นักการเมืองเลว ถ้าดูเพื่อนในรุ่น เท่าที่เรารู้ หรือรุ่นพี่รุ่นน้องบวกลบสิบปี แทบไม่มีคนในสายการเมืองเลย คือก็มีบ้างแต่ถือว่าน้อยมาก เป็นไปได้ยังไง บอกไปทุกคนอาจจะตกใจ เพราะสถาบันที่สร้างนายกฯ เยอะที่สุดในประเทศไทยรองจากโรงเรียนนายร้อย จปร. คือคณะนิติฯ ธรรมศาสตร์นะ

 

การที่บอกว่าเราต้องเป็นคนเปลี่ยนแปลง สะท้อนว่าคุณสิ้นหวังกับการเมืองที่ผ่านมาด้วยใช่ไหม

     ใช่ อันที่จริงก็มีหลายๆ อย่างที่พาโอกาสมาให้เรานะ คือถามว่าอยากทำไหม ถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากทำ อยากให้คนอื่นทำให้ เราก็อยากไปหางานทำดีๆ มั่นคง มีคนมาโดนด่าแทน แดดร้อน เหนื่อย แล้วไม่ได้เงิน แต่เราก็จะคิดว่า เฮ้ย บางคนอยากทำแต่เขาเข้ามาไม่ถึงนะ หรือกระทั่งบางคนเขาอาจไม่ได้อยากทำ แต่เขาเกิดในครอบครัวที่ทำการเมืองได้ง่าย เขาก็ทำ

     สรุปก็ด้วยความสิ้นหวังแหละ แต่ก็ไม่ขนาดนั้น เราแค่รู้สึกว่าเราเหนื่อยกับชีวิต เป็นความรู้สึกที่เหมือนกับว่า เราพยายามขยันขนาดนี้ ทำไมชีวิตยังไม่ดีขึ้น ทำไมเราเหนื่อยแทบตาย ทำตั้งสามอาชีพแต่ไม่รวย แสดงว่าต้องมีบางอย่างผิดปกติในประเทศนี้แล้ว ทีนี้ก็มาโดนจับ เลยกลายเป็นเหมือนประกายไฟที่จุดว่า ‘ต้องเราแล้วแหละ’ คือเหมือนเราโดนผลักมาด้านหน้าให้เป็นตัวแทนก่อน แล้วจังหวะก็พาตามน้ำไปเรื่อย

 

เท่าพิภพ

 

ตอนโดนจับถือเป็นความแค้นไหม

     เป็นความอยุติธรรมมากกว่า เป็นความรู้สึกว่าทำไมต้องเป็นแบบนี้ ไม่ควรเป็นแบบนี้ เราก็เลยอยากเปลี่ยนแปลงไง ถ้าดีอยู่แล้วก็คงไม่ลงมาทำหรอก ณ เวลานี้เราว่าเราก็ดันประเด็นเรื่องเบียร์มาไกลแล้วนะ พูดตามตรงคืออยากทำไปให้สุด เพราะว่าเราอยากเป็นตัวอย่างให้คนอื่นได้เห็นว่า เฮ้ย จริงๆ เป็นคนธรรมดา มีเงินในบัญชีสามหมื่นบาท คุณก็ลงสมัคร ส.ส. ได้ จริงๆ ไม่ได้โฟกัสว่าจะได้เป็น ส.ส. ไหม แต่ถ้าได้ก็จะพยายามทำทุกอย่างเพื่อพิสูจน์ว่า เราทำได้ คนอื่นก็ทำได้เหมือนกัน การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน การเมืองไม่จำเป็นต้องเป็นตระกูลใหญ่โต บ้านรวย ทุกคนสามารถทำการเมืองได้

 

เราเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์กับการเมืองไปด้วยกันได้ แล้วการเมืองต้องดึงดูดมากกว่านี้กับคนรุ่นใหม่ กับสังคม การเมืองคือการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่การตระหนักรู้ ถ้าคุณอยากได้แค่การตระหนักรู้ คุณก็ไปซื้อโฆษณาเฟซบุ๊กลงคลิปสวยๆ ก็พอ

 

พอลงมาทำแล้วความคิดคุณเปลี่ยนไปไหม มีอะไรบ้างที่เหมือนหรือต่างจากที่คิด

     จริงๆ เหมือนกับที่คิดไว้นะ ตั้งแต่เริ่มตั้งพรรคมา ความขัดแย้งก็มีเป็นเรื่องปกติ เรามองว่าเป็นเรื่องที่ดีของพรรคการเมืองที่ต้องมีความแตกต่าง ไม่ใช่ไปทางเดียว ตอนแรกเขาจะให้เราลงปาร์ตี้ลิสต์ แต่เราไม่เอา เราอยากลงพื้นที่ คือเราก็รู้อยู่แล้วถ้าตรงนั้นอาจจะมีโอกาสได้ง่ายกว่า แต่ก็เลือกลงอันนี้ เพราะเราอยากมีพื้นที่ของตัวเอง วางแผนทุกอย่างเอง เช่น ตอนลงพื้นที่ รถแห่ไม่เอานะ ใช้จักรยาน ใช้การเดิน เป็นกลยุทธ์เลย หรือตรงนี้เป็นของพรรคตรงข้าม แล้วเราจะทำยังไงให้แย่งคะแนนมาได้ เราก็ลองใช้โซเชียลมีเดียช่วย ดูว่าโลกยุคใหม่เป็นยังไงแล้ว ถ้าเราสู้แบบเดิม คอนเทนต์เดิม วิธีเดิม เราก็สู้เขาไม่ได้

     มันเป็นสถานการณ์บังคับเหมือนทำเบียร์ ทำสตาร์ทอัพนะ คือยาก มืดมน ขออะไรไม่มีเงิน เอาง่ายๆ ประสบการณ์จากการทำเบียร์สอนให้เรามาทำการเมืองแบบนี้ หลายคนเป็นเอ็นจีโอแล้วมาทำการเมือง สไตล์การทำงานของเขามีรากฐานมาจากการเมือง เอ็นจีโอเขาก็มีแผนแบบหนึ่ง เอาคนมาฟัง ขอเงินพรรคมาทำ ขอไม่ได้ก็ออกจากพรรค ไปด่าพรรคว่าพรรคไม่ฟัง แต่การที่เรามาน้อย มีน้อย แล้วต้องใช้ความคิดเยอะ มันก็สนุก ก็กลายเป็นว่ามีความสร้างสรรค์ มีความแปลก คนก็ชอบ เราว่าการเมืองใหม่ควรจะเป็นแบบนี้ ไม่ใช่การเมืองใหม่แล้วใช้วิธีเก่า มันก็ไม่ใหม่ ไม่มีอะไรที่คนจะว้าว ครั้งหน้าสงสัยต้องขี่สกูตเตอร์ไฟฟ้า หรือเอาโดรนมาแจกใบปลิว (หัวเราะ)

     คือเราเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์กับการเมืองไปด้วยกันได้ แล้วการเมืองต้องดึงดูดคนรุ่นใหม่มากกว่านี้ กับสังคม การเมืองคือการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่การตระหนักรู้ ถ้าคุณอยากได้แค่การตระหนักรู้ คุณก็ไปซื้อโฆษณาเฟซบุ๊กลงคลิปสวยๆ ก็พอ ที่สำคัญเราเป็นพรรคใหม่ โจทย์คือคนไม่รู้จัก ไม่มีฐานเสียง ไม่มีหัวคะแนน เราก็ต้องปรับเปลี่ยน ไปลงตามบ้าน ไปมองหน้า ไปจับมือ ไปพูดคุยกับเขาจริงๆ

 

สิ่งสำคัญในการลงมาทำงานการเมืองของคุณคืออะไร

     เราว่าการทำการเมืองต้องมีประเด็น คุณสังเกตไหม นักการเมืองแถวบ้านเรา เช่น ส.ส. คนนี้ เขาก็มักจะบอกว่า ‘ขอสานต่องานเก่า’ แต่งานเก่าเขาคืออะไร (หัวเราะ) นึกออกไหม ไม่มีผลงาน ไม่มีประเด็น คือความเข้าใจของ ส.ส. กับคนไทยยังผิดอยู่เยอะ คือ ส.ส. ทำงานระดับประเทศ ไม่ได้ทำงานระดับท้องถิ่น คุณเข้าไปออกกฎหมายใหญ่ คุณก็ต้องมีประเด็นในการไปออกกฎหมาย คุณเป็น head of something ไปเรียกร้องอะไรบางอย่าง

     อย่างเราก็เป็นเรื่องสุรา กัญชา และยาเสพติด แล้วก็อยากทำสินค้าเกษตรแปรรูป ธุรกิจขนาดเล็ก หรือเรื่องการคมนาคมทางเลือก ก็มีเรื่องอื่นด้วย แต่แค่เรื่องเบียร์เรื่องเดียวก็หนักแล้วนะ เปลี่ยนเรื่องเบียร์ได้ก็ทำลายทุนทั้งประเทศได้ คือหลักๆ ถ้าพูดเรื่องเบียร์มันคือการทำลายทุนไง มันคือการกระจายทุน

 

ก่อนหน้านี้คนจดจำคุณในฐานะคนทำคราฟต์เบียร์ ตอนนี้มาทำงานการเมือง จะนิยามว่าคุณเองเป็นนักการเมืองเต็มตัวได้ไหม หรือคุณอยากนิยามตัวเองว่าอะไร

     เราจะนิยามตัวเองว่าเป็นนักสังคมนิยมประชาธิปไตย คือเป็น democratic socialism เราเชื่อว่าคนเราเกิดมาไม่เท่ากัน แต่รัฐควรจะส่งเสริมให้ทุกคนเท่ากันได้ ในระบบเศรษฐกิจเราเองก็คิดแบบทุนนิยม เราไม่ได้เกลียด capitalism นะ คนชอบด่าทุนนิยม ซึ่งทุนนิยมไม่ใช่เรื่องผิด แต่ที่คนเรียกว่าทุนนิยมตอนนี้มันผิด เพราะมันไม่ใช่ทุนนิยม ทุนนิยมต้องมีสองอย่าง มี free market คือตลาดเสรี และมีการแข่งขันที่เสรี ตอนนี้เมืองไทยมีตลาดเสรี แต่ไม่มีการแข่งขันที่เสรี เราจะเรียกว่า capitalism ไม่ได้

     ทุนนิยมไม่ได้หมายความว่าทุนเยอะแล้วชนะไง ถ้าทุนเยอะแล้วชนะเขาเรียกว่าเศรษฐกิจแบบพวกพ้อง แบบบริษัทใหญ่สองแห่งฮั้วกันว่าอย่าให้ใครเข้ามานะ มันก็ไม่มีการแข่งขันที่เสรี เท่าเทียม และเป็นธรรม เพราะในความเป็นจริง ผลของทุนนิยมก็คือสุดท้ายผู้บริโภคจะได้ประโยชน์สูงสุด เพราะว่าเกิดการแข่งขัน ราคาก็จะดี คุณภาพก็จะดี ที่สุดมันคือจุดที่เหมาะสมของทุนนิยม

 

ฟังดูเหมือนเรื่องกฎหมายสุราใช่ไหม ที่ยังไม่เกิดการปลดล็อกในประเทศ จึงมีแค่กลุ่มทุนไม่กี่เจ้าที่ผูกขาดตลาดนี้อยู่

     ใช่ หลักการคือแบบนี้ แล้วเบียร์ก็เป็นแบบนี้ นึกออกไหม เบียร์คือเรื่องกายภาพ แต่หลักการเบื้องหลังคือเรื่องโครงสร้างของทุนนิยมที่มันผิด เราถึงบอกไง ถ้าแก้เรื่องเบียร์ได้ แล้วนำหลักการนี้ไปปรับใช้กับทุกธุรกิจ มันจะดีแค่ไหน ถ้าพูดแบบวิชาการ คือเราอยากแก้ไขระบอบทุนนิยมที่ผิดเพี้ยนในประเทศไทย แก้เรื่องการแข่งขันให้เสรีขึ้น เพราะมันคือทุกเรื่อง ข้าว น้ำตาล สุดท้ายเห็นไหม คนรับซื้อข้าวมีอยู่ไม่กี่ราย ที่ข้าวราคาถูกไม่ใช่เรื่องจำนวนข้าวเยอะไปหรอก แต่เพราะคนแข่งขันน้อย แทนที่คนกลางรับซื้อข้าวแล้วอาจนำข้าวไปทำให้ได้ดีกว่านี้ หรืออาจจะไปหาตลาดที่ดีกว่า กว้างกว่า แต่กลายเป็นว่า พอเขาเอาไปขายต่อไม่ได้ ไม่มีคนรับซื้อ เขาก็กดราคาชาวนา เบียร์กับพวกราคาข้าว ราคายาง เรื่องเดียวกันเลย

 

การปลดล็อกตลาดเสรี หรือกฎหมายสุรา สุดท้ายแล้วจะนำมาซึ่งการมีปัญหากับคนที่ไม่เห็นด้วยไหม

     เราว่าคำถามของประเทศไทยมันเลยคำว่าคราฟต์เบียร์ควรจะปลดล็อกได้ไหมมานานแล้ว เราขอพูดไปไกลกว่านั้น คือเรื่องของการกระจายอำนาจ กระจายรายได้ให้ท้องถิ่น แล้วพอสุดท้าย ทำได้ แต่ใครให้ทำ แล้วใครเก็บภาษี เออ อันนี้สิควรเป็นคำถามวาระต่อไปของวงการเบียร์

     เรื่องปลดล็อกประเทศไหนก็ทำ มันไม่ยากเลย คนที่ยังต่อต้านเรื่องนี้อยู่ หนึ่งคือมีผลประโยชน์แอบแฝง สอง เขาคงคิดไม่ไกลไปกว่านั้นแล้วจริงๆ เขาอาจจะเชื่อในสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากกว่าเรื่องนั้น เขากลัวบางอย่างที่ไม่ใช่ความจริง แต่อันแรกเราว่าสำคัญ คือถ้าใครต่อต้าน บอกได้เลยว่าคือคนที่มีผลประโยชน์แอบแฝง สังคมส่วนใหญ่ เรื่องปลดล็อกหรือทำได้มันเลยมาไกลแล้ว แต่เราต้องมาคุยกันถึงรายละเอียดว่าจะทำยังไง ถ้าใครไม่เห็นด้วยก็แปลว่าคนนั้นเขาอาจจะโดนขัดผลประโยชน์จากกฎหมายเก่า หรือเขากำลังจะถูกขัดผลประโยชน์เท่านั้นเอง

 

ถ้าคุณเข้าไปมีอำนาจ จะกล้าจัดการกลุ่มคนที่อาจเสียผลประโยชน์พวกนี้เหรอ

     ก็เปลี่ยนกฎหมายให้ทุกคนทำได้ เขาไม่ตายหรอก นึกออกไหม บริษัทเป็นแสนล้าน เขาอยู่ได้ ลองคิดดู อยู่ดีๆ เราลาออกไปทำนิตยสารเอง a day BULLETIN จะเจ๊งไหม ไม่เจ๊งหรอก ก็แค่มีสื่ออื่นๆ ให้อ่านมากขึ้น มีตัวเลือกหลากหลายขึ้น แล้วเขาจะได้ประโยชน์จากสิ่งนี้มากกว่าด้วยซ้ำ แต่ทุกอย่างมีข้อเสียนะ เช่น ทำไมเราสร้างรถไฟฟ้า แต่เราไม่มาประเมิน ไม่พูดถึงข้อเสียมันบ้าง เหล้าเบียร์ก็เหมือนกัน ต้องคิดสิว่ามันมีข้อเสีย แล้วจะจัดการยังไง หรือจะทำให้มันมีประโยชน์มากกว่าได้ยังไง เอาภาษีไปพัฒนาท้องถิ่นสิ เอาภาษีไปใช้กับเรื่องขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล การศึกษาสิ อันนี้ก็เป็นแนวทางที่กำลังคุยกับทางพรรคอยู่ พยายามผลักดันให้เกิดขึ้น

     ส่วนตัวเรามองว่าเราเป็นคนทำเบียร์ เราก็ไม่อยากให้คนที่ดื่มผลงานเราแล้วตายหรือเปล่า เราไม่อยากเปิดร้านแล้วฆ่าลูกค้าตัวเองหรือเปล่า มันเป็นจรรยาบรรณ ก็ต้องหาวิธีร่วมกัน แล้วเรามองว่าเรื่องเหล้าเบียร์มันเป็นผลเสียหายจากท้องถิ่น เราควรทำภาษีใหม่ด้วยซ้ำ เรื่องภาษีสรรพสามิตที่เข้าส่วนกลาง เราว่าไม่ค่อยแฟร์ สมมติเราดื่มเบียร์เมาอยู่พะเยา รถเราชนที่พะเยา รถพัง ตาย หรือเข้าโรงพยาบาลพะเยา ภาษีบาปมันควรจะให้ท้องถิ่น ไม่ใช่ให้ สสส. เอาไปทำอะไรก็ไม่รู้ ตรวจสอบได้ยาก หรือเอาเงินไปทำโครงการที่มันวัดผลไม่ได้ ผลสัมฤทธิ์ก็ไม่ได้อะไรเลย นี่ก็เป็นสิ่งที่เรามองว่ายังมีความย้อนแย้ง

 

เท่าพิภพ

 

เป็นการดูลงลึกไปถึงกฎหมายที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใช่ไหม

     ใช่ ต้องดูเรื่องการจัดการภาษีด้วย ไม่ใช่แค่มีเบียร์ดื่ม แต่ต้องคิดไปให้ไกลกว่านั้น มีการจัดการภาษี การให้อำนาจท้องถิ่น เมื่อให้อำนาจเขาไปแล้ว เขาจะทำอย่างไร หรือจะให้ไหมในพื้นที่นี้ คุณก็ไปคุยกันเอง หรือว่าคุณจะกำหนดเขตตรงไหน สภาท้องถิ่นก็กำหนดมา ถ้าคนในท้องถิ่นไม่อยากได้จริงๆ คุณก็ไปตั้งหมู่บ้านถือศีลห้าบ้าศีลแปดอะไรไป ใช่ไหม นี่แหละคือการกระจายอำนาจ

     สมมติที่หนองบัวลำภูไม่มีงาน โอ้โฮ มาเลยครับ ผู้นำท้องถิ่น อปท. (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ทำให้เลย คนเข้าไปเลย จัดการง่าย ทำถนนคราฟต์เบียร์ให้เลย วางท่อน้ำ ขอใบโรงงานได้ง่าย คนก็แห่ไปทำเบียร์ตรงนั้น เห็นไหม อันนั้นก็จะเกิดการแข่งขันระหว่างท้องถิ่น เกิดการกระจายไป คนก็ไม่ต้องมาอยู่แค่กรุงเทพฯ อย่างเดียว ทุกที่ก็อาจจะเจริญได้ มีจุดขายของตัวเองไป มาตรงนี้นะครับน้ำผมดี มาตรงนี้เป็นที่ที่เหมาะสมแล้วผมสนับสนุน หรือบางแห่งที่พี่น้องไม่เอา โอเค ไม่เป็นไร แต่เราไปทำที่อื่นคุณก็ไม่ได้ภาษีนะ ก็แฟร์ๆ ก็ดีกว่าไปเข้าส่วนกลาง

     บางคนชอบบอกว่ากระจายไปเดี๋ยวก็มีแต่จังหวัดใหญ่ จังหวัดเล็กๆ ไม่มีภาษี มันจัดการได้ มันมีการเกลี่ยภาษี แต่ต้องให้ท้องถิ่นแข่งกันเองบ้างเพื่อดึงดูด ไม่ใช่รอรัฐส่วนกลางเข้าไป เอาโครงการอะไรไม่รู้ที่ไม่เหมาะกับท้องถิ่น มันก็เกิดแนวต้าน สุดท้ายไม่ไปไหนสักที

 

นี่เป็นสิ่งที่คุณได้เสนอพรรคตั้งแต่แรกเลยหรือเปล่า

     ใช่ๆ ตอนแรกมาก็จะปลดล็อกเลย หางานเข้าตัวเอง (หัวเราะ) คุณธนาธรบอกเลยนะ ‘แจ๋วๆ เอาเลยเท่า ทำเลย’ ทีนี้ก็ยาวเลย ตอนแรกจะประกาศเป็นนโยบายแบบร้อยวันแรกทำ อะไรแบบนั้น เราใช้คำว่าปลดล็อกนะ ไม่ใช้คำว่าเสรี ใช้คำเสรีเดี๋ยวโดนพี่ช่อ (พรรณิการ์ วานิช) ว่า (หัวเราะ) เสรีคือไม่มีการควบคุมไง คนจะเข้าใจผิด ใช้คำว่าปลดล็อกดีกว่า

 

เราจะไม่มีกฎหมายใหม่กว่าโลกนี้เลย ถ้าเรายังไม่เปลี่ยนมายด์เซตว่าพ่อปกครองลูก รัฐเป็นผู้กำกับทุกอย่าง มันไม่ใช่สังคมที่ก้าวสู่นวัตกรรมเลย อนาคตเราจะตามเขาหมด

 

ถ้าวันหนึ่งปลดล็อกสุราแล้วจะเกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาหรือเปล่า เพราะหากใครๆ ก็ทำได้ อาจทำให้เกิดประเด็นเบียร์ไม่มีคุณภาพ หรือมีผลเสียต่อสุขภาพคนได้ คุณคิดเห็นอย่างไร

     เดี๋ยวเขาก็เจ๊งเอง มันคือ free market ไง ตลาดจะตัดสินเอง ถ้าราคาคุณเท่านี้ แต่ของคุณไม่ดี เราก็ไม่ซื้อ เขาก็เจ๊ง คือเราอย่าไปดูถูก เพราะระบบมายด์เซตไทยจะเป็นแบบนี้ เฮ้ย เดี๋ยวคนเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันควรจะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกนะ อธิบายง่ายๆ มันคือระบบมายด์เซตว่าคุณต้องทำไปก่อน แล้วรัฐค่อยออกกฎหมายกำกับตาม ไม่งั้นประเทศไทยไม่เจริญ พูดคำนี้เลยว่าไม่เจริญ เรายังเถียงกันเรื่องเบียร์อยู่เลย อย่างกัญชาก็มาแล้ว แต่เมืองนอกเขาปลูกเนื้อกันในแล็บแล้ว แต่คนไทยถ้าจะทำคอยดูนะ ผิดกฎหมายอีก ไม่มีกฎหมายรับรองอีก แล้วเมื่อไหร่มันจะเสร็จ

     เราจะไม่มีกฎหมายใหม่กว่าโลกนี้เลย ถ้าเรายังไม่เปลี่ยนมายด์เซตว่าพ่อปกครองลูก รัฐเป็นผู้กำกับทุกอย่าง มันไม่ใช่สังคมที่ก้าวสู่นวัตกรรมเลย อนาคตเราจะตามเขาหมด บอกตรงๆ ว่าคือแค่เรื่องนี้แหละ เรื่องมายด์เซตของรัฐที่เป็นการกำกับดูแล ทำไมเราไม่ทำแล้วเรียนรู้ไปด้วยกันล่ะ เราไม่มีการทำงานร่วมกันเลย มีแต่ทำงานแบบสั่ง แล้วสังเกตจากข้าราชการนะ คนทั่วไปจะมองว่าเป็นคนที่บ้าอำนาจ เมื่อก่อนยังมีคำที่ว่าทำงานเพื่อประชาชนอยู่นะ แต่ตอนนี้เหมือนเราไปขอให้เขาช่วย มันไม่ใช่

 

ถ้าอย่างนั้นตอนนี้ภาคประชาชนหรือคนทำคราฟต์เบียร์ตัวเล็กๆ เขามีการดำเนินการกันอย่างไรบ้างในการผลักดันวงการช่วงที่กฎหมายยังล็อกอยู่

     มีๆ จริงๆ เรารวมคนไม่ค่อยได้หรอก คือคนก็ชอบเราเยอะนะ คนเกลียดก็มี แต่เราก็ไม่อยากจะไปเอาคนทำคราฟต์เบียร์มาประท้วง มารวม บอกทุกคนเรื่องอนาคตใหม่ เราว่ามันเป็นเรื่อง free will นะ แล้วหลายคนก็มีการต่อสู้ในหลายรูปแบบ เปิดร้านเบียร์เยอะ หรือสอนคนทำเบียร์ให้เยอะๆ แต่เรามองว่าสุดท้าย practical way อย่างที่พูดในตอนต้นคือการมีอำนาจแล้วเข้าไปเปลี่ยน ไม่งั้นก็เหมือนเดิม คือทำไปแล้วหวังว่านักการเมืองคนหนึ่งจะมาช่วย คำถามคือ ทำไมเราไม่เป็นคนนั้นล่ะ หรือทำไมพวกเราไม่เป็นคนนั้นล่ะ นั่นก็เป็นจุดที่เรามาทำการเมืองประเด็นนี้แบบเฉพาะเจาะจงเลย

    เรามองว่าเรื่องเบียร์เป็นจุดเริ่มต้น แต่ต่อไปในความคิดเราก็มี end game เหมือนกัน ว่าอยากผลักดัน อยากทิ้งมรดกอะไรไว้ คือทุกคนไม่ได้เอาเงินเป็นที่ตั้งหรอก เราเองเป็นคนที่ใช้ชีวิตเพื่อการทำงานที่เติมเต็ม ไม่ได้ทำงานเพื่อเงิน เงินไม่ใช่เป้าหมาย แต่ถ้ามีเงินด้วยก็ดีนะ (หัวเราะ)

 

แล้วถ้าวันหนึ่งคุณเกิดต้องเลือกระหว่างอุดมการณ์กับเงินล่ะ

     ไปให้สุดก่อน แล้วเดี๋ยวค่อยเปลี่ยนอุดมการณ์อีกที (หัวเราะ) ไม่หรอก บางครั้งเราไม่รู้หรอก อย่างน้อยทำไปเถอะ จากจุดนี้อาจจะพาเราไปตรงไหนก็ได้ เราไม่รู้ คือถ้าให้ฝากทุกคนเลยนะว่าทำไมเรามาถึงจุดนี้ได้ ตอบง่ายๆ เลยว่าต้องเป็น yes man ทำทุกอย่าง เปิดโอกาส ไม่กลัว ทำไปเถอะ ไม่รู้ก็ทำไป เดี๋ยวชีวิตและโชคชะตาจะพาเราไปที่ไหนสักแห่งเอง ถ้าเราปิด ไม่เคยลองอะไร จะไม่เกิดอะไรในชีวิตเลย เราต้องลอง ต้องเสี่ยง ต้อง take a risk กลับไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ทำไมต้องกลับล่ะ แค่ได้ทำก็สุดยอดแล้ว โอกาสไม่ได้มาหาบ่อยๆ รับไว้ก่อน ถึงจะล้มเหลวแต่สุดท้ายจะได้ประสบการณ์ ยิ่งยังเด็กยิ่งต้องทำเยอะ จะได้สะสมประสบการณ์เยอะๆ ไม่ต้องรวยหรอก

     พอเรามาทำการเมือง เริ่มเห็นคนรวยมากกว่าแต่ก่อนเยอะ ก็ดูเขาไม่ได้มีความสุขมากไปกว่าคนธรรมดานะ เราไม่ได้เกลียดคนรวยนะ แต่ต้องรวยแบบคุณหามาเอง เราไม่อยากให้ทุกคนโฟกัสที่เรื่องนี้ แต่ให้โฟกัสสิ่งที่เราอยากทำ ชีวิตคนเรานี่ one life to live จริงๆ นะ เราเองก็ใช้ชีวิตแบบนี้มาตลอด เรียนจบมาเป็นทนายสองปี แล้วก็มาเป็นไกด์ แล้วก็เรื่อยเปื่อย ว่างทำเบียร์ ทำบาร์ อ้าว โดนจับ ทำทัวร์ เปิดร้าน เจอคนนู้นคนนี้ เจอลูกค้าที่ร้านชวนไปตั้งพรรค เอ้า ไปๆ โดนชวนลง ส.ส. เอ้า ลงๆ (หัวเราะ) นึกออกไหม มันมาเรื่อยๆ ใครจะไปรู้ว่าทำเบียร์อยู่ดีๆ จะมาเป็น ส.ส. ได้ คือเป้าหมายคนละอย่างเลย

 

หากวันหนึ่งคุณได้อำนาจการเปลี่ยนแปลงมา แล้วทำการปลดล็อกตลาดเบียร์ ตลาดสุรา ถึงวันนั้นประเทศจะได้อะไร ผู้ประกอบการได้อะไร ในทางกลับกัน เราจะเสียอะไร หากกฎหมายไม่เปลี่ยน

     ถ้าถึงตรงนั้น เขาเรียกว่าทฤษฎีสามเหลี่ยมพีระมิดหัวตั้งหัวกลับที่มาชนกัน ถ้าตรงกลางเป็นคนทำเบียร์ ด้านล่างคือกลุ่มการผลิต ตั้งแต่เกษตรกร คนเก็บเกี่ยว คนทำมอลต์ คนปลูกฮอปส์ คนขนส่ง จนมาผลิต มีคนงาน มีนักธุรกิจลงทุน ทำออกมาเป็นเบียร์ พีระมิดขึ้นมาอีก มีคนซื้อ มีคนทำบาร์ มันก็สร้างงานได้เยอะ มีมูลค่าเศรษฐกิจที่แฝง ยิ่งโรงเบียร์ขนาดเล็ก ยิ่งใช้คนเยอะ อย่างที่อเมริกา คราฟต์เบียร์ไม่ถึง 10% แต่จ้างงานประมาณเกือบ 50-60% ของจำนวนพนักงาน ซึ่งเป็นอะไรที่ให้งานเยอะ สร้างรายได้

     เอาง่ายๆ ไม่ใช่แค่เบียร์นะ คือเหล้าด้วย การทำเหล้าทำให้ชาวนาสามารถยื้อการขาย เพิ่มอำนาจในการต่อรองขึ้น เพราะอะไร เพราะเวลาเป็นเหล้าไม่เสีย ถ้าเป็นข้าว เป็นผลผลิตการเกษตรอื่นจะเสีย พอเอามาแปรสภาพแล้วสามารถเก็บไว้ได้ แล้วมันเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่ม การขนส่งก็จะมีราคาถูกกว่าต่อราคาสินค้า เราก็มองว่าช่วยชาวนาได้ ที่สำคัญคือเกิดการแตกอุตสาหกรรมใหม่ ความฝันเราก็อยากให้เหล้าไทยไปอยู่ในร้านอาหารไทยทั่วโลกเหมือนกัน อันนี้เป็นไปได้มาก เหมือนเกาหลีมีโซจู ญี่ปุ่นมีสาเก เราเข้าร้านอาหารที่ไหนในโลกมีหมด แต่ทำไมเข้าร้านอาหารไทยมีแต่เบียร์ยี่ห้อดังไม่กี่ยี่ห้อ นึกออกไหม ไม่มีเหล้าไทย เราเลยรู้สึกว่าถ้าเราทำได้ ก็จะเป็นการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่ใหญ่มากขึ้นมา

     ในทางกลับกัน ถ้าเราไม่ทำ เราก็จะเสียโอกาส ทั้งงานที่ควรจะมี รวมไปถึงในส่วนแบ่งของการตลาดโลก เพราะมันจะช่วยส่งเสริมอย่างอื่นด้วย ไม่ได้มีมูลค่าแค่เฉพาะตัวเอง แต่มีมูลค่าทั้งหมดทั้งมวลกับอุตสาหกรรมอื่นที่ต่อเนื่อง เช่น อุตสากรรมบริการ อาหาร แล้วก็การท่องเที่ยว เพราะอย่างที่ยกตัวอย่างไป อาจจะมีคนไปอำเภอหนองบัวลำภู เพื่อไปกินเบียร์ที่ถนนสายคราฟต์เบียร์ แล้วไปๆ มาๆ ในนั้นก็มีขายผ้าทอท้องถิ่นก็ได้

 

เท่าพิภพ

 

จริงๆ ทุกวันนี้คราฟต์เบียร์ไทยก็มีเยอะ แต่ต้องผลิตนอกแล้วส่งกลับมาขายในไทยใช่ไหม

     แข่งไม่ได้ไง ราคาสูง เพราะมันไกล สเกลเล็กด้วย ต้นทุนก็สู้เขาไม่ได้แล้ว เจ้าใหญ่ๆ เขาก็ทำเบียร์จนไปถึงราคาลิตรละบาทแล้ว แล้วกฎหมายเขามีที่เรียกว่า barrier to entry เป็นข้อจำกัดในการเข้าสู่ตลาด ทำน้อยไปเข้าไม่ได้ แปลกนะ ปกติเล็กๆ ต้องยิ่งทำได้ ใหญ่ๆ เข้าไม่ได้ค่อยเมกเซนส์หน่อย แต่เล็กๆ เข้าไม่ได้นี่คืออะไร การควบคุมไม่ได้เหรอ อันนี้คือข้ออ้างเขา แต่ถ้าเราเปิดร้านขายของสักร้าน แล้วเราไม่จ้างแคชเชียร์เหรอ คุณได้เงินอยู่แล้ว คุณก็จ้างแคชเชียร์เพิ่มสิ แล้วมาบอกไม่มีคนเก็บเงิน ก็นั่นแหละ ข้าราชการเขาก็เซ็งๆ เอือมๆ ขี้เกียจทำงานกัน

     ทุกวันนี้ในซูเปอร์มาร์เกตคราฟต์เบียร์นอกเยอะ คราฟต์เบียร์ไทยมีสัก 10% อาจจะดูเยอะนะ แต่เราว่ายาก ไม่มีใครทำแล้วได้กำไรเลย ไม่มีใครทำแล้วรวย จริงๆ นะ

 

ถ้าสุดท้ายกฎหมายไม่เปลี่ยน คนทำคราฟต์เบียร์ควรมีทัศนคติหรือควรมีวิธีการอย่างไรในการอยู่รอด

     ก็ต้องทำเมืองนอกนั่นแหละ แต่เราคิดว่าคราฟต์เบียร์มาถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนแล้วไง ทุกอย่างถูก built up มา การต่อสู้มีกราฟที่ขึ้นมา ถือว่ามีโอกาสเป็นไปได้ เราพูดตรงๆ เลย ก่อนเลือกตั้ง agenda ในการมาเล่นการเมืองเราสำเร็จแล้วนะ คือมีพรรคการเมืองพูดเรื่องนโยบายคราฟต์เบียร์ จากการต่อสู้ที่เราโดนจับมา เกิดกระแสในสังคม แล้วก็ไม่มีใครพูดต่อ ไม่มีนักการเมืองคนไหนพูด จนวันนี้กลายมาเป็นนโยบายพรรคใหญ่ เราถือว่าโอเคแล้ว

 

ที่ว่าคุณโดนจับในตอนนั้นเพื่อสร้างกระแสทางการเมืองในวันนี้ เป็นเรื่องจริงไหม

     บางคนเชื่อนะ เรื่องการวางแผนของเรา แล้วบอก โอ้โฮ นี่มันขงเบ้งชัดๆ

 

แล้วเป็นความจริงไหม

     จริง (หัวเราะ) แต่เราขออธิบายเรื่องการวางแผนอย่างนี้ มันไม่ได้เกี่ยวกับการมาเล่นการเมืองเลย ในตอนนั้นเป็นเรื่องของการทำเบียร์ล้วนๆ อย่างที่ทราบกันว่าตอนนั้นเราทำคราฟต์เบียร์ เราไม่ได้โทร.ให้ตำรวจมาจับนะ แต่เรารู้อยู่แล้วว่าต้องโดนจับ มันเป็นแพลนที่เราวางไว้เพื่อให้แบรนด์มี identity เพื่อวางแผนไปทำโรงเบียร์ที่เมืองนอก เหมือนเป็น refugee bury เลย ดังนั้น ไม่เกี่ยวกับการเมืองแน่ๆ แต่เป็นเรื่องเบียร์ที่ว่าสุดท้ายแล้วมันสามารถผลักดันไปได้ไกลกว่านี้ ตอนนั้นคิดว่าต้องโดนจับ แล้วก็ต้องเป็น global news ซึ่งก็เป็นจริงๆ

 

ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับการเมือง

     ไม่เกี่ยวแน่นอน

 

คุณจะมีวิธีเปลี่ยนความคิดหรือทัศนคติที่เป็นเส้นบางๆ ระหว่างคนที่คิดว่าเบียร์คือสิ่งมึนเมา กับการดื่มคือศิลปะ ที่เอาเข้าจริงก็มีความหลากหลายไม่ต่างกับกาแฟได้ยังไง

     ต้องค่อยเป็นค่อยไป เราว่าเรื่องนี้คนเข้าใจไม่ยาก ทีแรกคนอาจจะมองว่าบาป แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าชี้ให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เราทำเราขอแค่หนึ่งเปอร์เซ็นต์เอง แล้วเป็นประโยชน์ของรายย่อยนะ หลายคนจะเข้าใจ คือเราต้องเข้าใจการตัดสินใจของคน ของสมองมนุษย์ เราไม่มีทางลบความคิดของเขาได้ ไม่ใช่อคติด้วยนะ เขาเชื่อแบบนั้นจริงๆ เราไม่มีทางลบความเชื่อของเขาได้ แต่ต้องเอาเหตุผลหรือเอาความคิดอะไรบางอย่างที่มีผลบวกมากกว่า แล้วเอาชนะความคิดตรงนั้นได้มาชี้ให้เขาเห็น ซึ่งส่วนใหญ่เขาก็โอเคนะ เช่น หนึ่ง มันสร้างงานนะ สอง มันสู้รายใหญ่ได้ ทุกคนเป็นคนตัวเล็กที่อยากสู้รายใหญ่ได้ ไม่มีใครบอกว่าไม่แฮปปี้ที่คนมีงานทำหรอก เรื่องนี้พูดกับใครก็ชัวร์อยู่แล้ว เหตุผลนี้เป็นสิ่งที่คนไม่สามารถปฏิเสธได้

 

สำหรับคุณการดื่มเบียร์ลึกซึ้งอย่างไร ทำไมคุณถึงหลงใหลขนาดนั้น จนมันได้นำทางคุณมาถึงวันนี้

     โห ไม่ได้พูดเรื่องความลึกซึ้งของเบียร์นานแล้วนะ ช่วงนี้พูดแต่การเมือง (หัวเราะ) สำหรับเราเบียร์เป็นโลกอีกใบหนึ่งที่มีความหลากหลาย เป็นสิ่งที่คนไทยหลายคนมองข้าม เพราะเราเติบโตมาก็เห็นอยู่ไม่กี่ยี่ห้อ คนไทยอาจจะรับรู้แค่เบียร์ประเภทเดียวที่กินแล้วสดชื่น เราเชื่อว่าทุกคนรักเบียร์ที่เขาทำแหละ ถึงบางทีรสชาติอาจจะน้อยไปหน่อย แต่ในความเป็นจริงเบียร์มีความหลากหลายมาก วันนี้เราเหนื่อยเราก็อยากกินเบียร์ง่ายๆ จืดๆ ให้สดชื่น หรือบางวันอยากกินเบียร์ดำ อยากกินเบียร์ IPA ก็เลือกกินได้

     สุดท้ายแล้ว ตลาดเบียร์หรือตลาดคราฟต์เบียร์ก็เป็นเครื่องแสดงความหลากหลาย เป็นหัวหอกแห่งวัฒนธรรมกบฏ ในขบวนการการเคลื่อนไหว ประชาชนคนธรรมดาควรจะมีตัวเลือก ควรมีสิทธิ์ที่จะเลือก เพราะความหลากหลายมันมีอยู่ คนเรามีความปัจเจก เราไม่ควรจะต้องชอบเหมือนกันหรือคิดเหมือนกัน เราสามารถจะพูดว่า ‘ไม่’ กับอะไรก็ได้ คือเบียร์ก็ลึกซึ้งในเรื่องนั้นด้วย เหมือนกับการเมืองนะ ที่เราควรจะมีสิทธิ์และตัวเลือกหลากหลาย แล้วเราไม่ควรจะบอกว่าคุณกินเบียร์นั้นห่วย คุณกินเบียร์นั้นได้ยังไง ผมไม่ชอบ แต่สุดท้าย ทุกคนก็ตามความปัจเจก ตามมู้ด ตามอารมณ์ ทุกคนมีความเปลี่ยนแปลง มีพลวัต มีความคิดของตัวเอง มีความชอบส่วนตัว ทุกคนก็ควรจะเคารพ แล้วสุดท้ายความหลากหลายก็ทำให้คนอยู่ด้วยกันมากขึ้น แล้วคนสามารถแสดงความเป็นตัวเองมากขึ้น มีอิสรภาพมากขึ้น

 

พรรคอนาคตใหม่ก็อยากออกมาเป็นทางเลือก เป็นเหมือนเบียร์คราฟต์ แสดงถึงความหลากหลาย เราก็ไม่ทราบหรอกว่าใครจะชอบเบียร์อนาคตใหม่บ้าง หรือชอบพรรคเราบ้าง แต่เราเชื่อว่าที่เราทำพรรคขึ้นมา ก็เหมือนกับการปรุงเบียร์ คือเราปรุงเบียร์ที่เราชอบที่สุด แล้วแค่หวังว่าทุกคนจะชอบเบียร์ที่เราทำ

 

คราฟต์เบียร์กับพรรคอนาคตใหม่เหมือนกันอย่างไรในความคิดคุณ

     ถ้าเปรียบเบียร์กับอนาคตใหม่ ก็เหมือนประเทศเราที่แต่ก่อนมีเบียร์เจ้าใหญ่สองเจ้า พรรคอนาคตใหม่ก็อยากออกมาเป็นทางเลือก เป็นเหมือนเบียร์คราฟต์ แสดงถึงความหลากหลาย เราก็ไม่ทราบหรอกว่าใครจะชอบเบียร์อนาคตใหม่บ้าง หรือชอบพรรคเราบ้าง แต่เราเชื่อว่าที่เราทำพรรคขึ้นมา ก็เหมือนกับการปรุงเบียร์ คือเราปรุงเบียร์ที่เราชอบที่สุด แล้วแค่หวังว่าทุกคนจะชอบเบียร์ที่เราทำ โห โคตรเท่ (หัวเราะ)

 

เท่าพิภพ

 

ตอนรู้ว่าได้รับชัยชนะคุณรู้สึกอย่างไร

     เราดีใจนะ แต่ก็ไม่ได้เซอร์ไพรส์เท่าไหร่ เรารู้สึกว่ามีโอกาสได้อยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เราทำเต็มที่แล้ว ฝึกให้อารมณ์เราเป็นกลาง ไม่ต้องไปอะไรกับมันมาก พอสุดท้ายได้ก็ดีใจแหละ แต่คนรอบข้างเขาดีใจกว่าเราเยอะ พ่อแม่เรานี่ดีใจมาก

 

หนักใจมากน้อยขนาดไหน จากเพียงแค่ผู้ลงสมัคร แต่ตอนคุณนี้ได้รับคัดเลือกแล้ว ความคาดหวังก็น่าจะเพิ่มขึ้นเยอะ

     ก็มีความหนักใจอยู่บ้างนะ เช่น ต้องตอบแชตเยอะขึ้น (หัวเราะ) คนถามเข้ามาเรื่อยๆ แต่เราเองก็วางแผนว่าจะทำอะไรต่อไปแล้ว ยังไม่ได้รู้สึกว่ามันยาก ก็พยายามทำไป ลงพื้นที่ต้องขนาดไหน ไหนจะฝั่งสภาอีก คือเราก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะตอนนี้ยังมีเรื่องใบเหลืองใบแดงเข้ามาอีก แต่เราก็พร้อมลุยต่ออยู่แล้ว มีอะไรที่อยากทำอีกหลายอย่าง

 

หัวหน้าพรรคพูดอะไรกับคุณบ้างไหม พรรคมีทิศทางอย่างไรต่อ

     ก็คงเป็นเรื่องพยายามทำทุกอย่างให้ดี แล้วก็อยู่ในจุดมุ่งหมายเดิมให้มากที่สุด เรากับพี่เอก ธนาธร ก็ไม่ได้พูดอะไรกันเยอะ เพราะอยู่ด้วยกันมานาน ก็ไปต่อเรื่อยๆ อย่างที่บอกว่ายังไม่แน่ใจว่าจะเจออะไรบ้าง เหมือนเจอมารเยอะนะ (หัวเราะ) ต้องพยายามกันต่อไป

 

ถ้าอย่างนั้นกังวลเรื่องใบเหลืองใบแดงขนาดไหน แล้วมีความเป็นไปได้ขนาดไหนที่จะเกิดเหตุการณ์นั้น

     คือเราว่าเราไม่ผิด เพราะเราไม่ได้ทำอะไรอยู่แล้ว แต่อย่างว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้หมด เพราะครั้งนี้ก็มีอะไรแปลกๆ เยอะในการเลือกตั้ง แต่เรามั่นใจว่าไม่ได้ทำอะไรผิด เราก็ไม่ควรถูกมองว่าผิด แต่อยู่ดีๆ ถ้าสมมติเขาจะเอาให้เป็นเรื่องขึ้นมา เขาก็สามารถทำได้หมดแหละ

 

ตอนนี้คุณได้อำนาจเพื่อการเปลี่ยนแปลงมาอยู่ในมือแล้ว หลังจากนี้สิ่งที่คุณจะทำคืออะไร

     ก็ต้องไปผลักดันพวกการแก้กฎหมายเบียร์ แต่สถานการณ์ตอนนี้ก็เป็นไปได้สูงที่เราจะได้เป็นฝ่ายค้านนะ ก็หมายความว่าเรามีแค่อำนาจในการตรวจสอบ หรือเป็นปากเสียงของประชาชน แต่เราอาจจะผลักดันได้ไม่สมบูรณ์  เพราะก็อาจจะยังไม่ถึงคิวเรา

 

แสดงว่าก็ยังไม่ใช่อำนาจเต็มใบแบบที่เราต้องการใช่ไหม

     ใช่ เราคิดว่ามันก็ไม่มีอำนาจไหนที่เต็มใบหรอก มันก็มีการตรวจสอบหรือมีการคานอำนาจหมดแหละ คือถามว่าจะเป็นไปได้ไหม ก็เป็นไปได้ ถ้าพรรคหรือฝั่งอื่นเขาออกกฎหมายมา ถึงแม้ว่าจะเป็นนโยบายกัญชาหรือเหล้าเบียร์ เราก็ต้องดูว่า เฮ้ย มันผูกขาดหรือเปล่า มันให้ใครได้ผลประโยชน์หรือเปล่า ต้องมาดูว่ามันไม่ใช่ลักไก่นะ ตอนนี้ก็ต้องไปสู้กันในสภาแล้ว ต้องระแวดระวังไม่ให้กฎหมายเอื้อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกินไป ไม่รู้นะ ส่วนตัวเราก็ว่ายาก คืออย่างที่บอก เราอาจจะเป็นฝ่ายค้านก็ได้ ก็เลยเตรียมใจไว้แล้ว (หัวเราะ)

 

คุณมีแผนรองรับไหม จากตอนแรกที่หวังจะได้เป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาล แต่สถานการณ์กลับผลักให้มีโอกาสเป็นฝ่ายค้านมากกว่า

     แน่นอนต้องมี เพราะว่าตอนนี้ จริงๆ แล้วเราอยากทำเรื่องพวก ส.ก. (สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร) ส.ข. (สมาชิกสภาเขต) หรือพวกเลือกตั้งท้องถิ่นกรุงเทพฯ เราอยากไปโฟกัสตรงนั้น เพราะว่าตรงนั้นเราอาจจะได้อำนาจส่วนท้องถิ่นเข้ามาสังกัดในพื้นที่เราได้ง่ายกว่า เวลาเป็น ส.ส. คนชอบถามว่าจะทำอะไรให้พื้นที่ ซึ่งเราก็มีโปรเจ็กต์พัฒนาอะไรหลายอย่าง แต่มันไม่ได้สอดคล้องกับอำนาจ ส.ข. ที่เราจะไปพัฒนาหรือว่าบริหารงานในท้องถิ่นขนาดนั้น เราก็เลยหวังว่าจะชนะเลือกตั้งพวกเขตที่เราอยู่

     ตอนนี้ก็ตั้งโปรเจ็กต์ว่าจะทำงานในพื้นที่ให้เยอะขึ้น ระหว่างที่รอเข้าสภา ก็เริ่มมีโปรเจ็กต์กับคนที่ทำงานในพื้นที่แล้ว เริ่มจากเข้าไปคลุกคลีกับเขา เริ่มติดตามงานต่างๆ เริ่มคุยกับประชาชน จริงๆ ก็ทำเหมือนเดิมนะ จากที่หาเสียง คือตอนหาเสียงก็ต้องหาคนให้ได้เยอะที่สุด แต่ตอนนี้ก็อาจจะเริ่มทำให้เป็นชิ้นเป็นอัน เพราะเราก็ได้เจอหลายๆ คนตอนที่หาเสียง เราก็คุยกันหลายอย่าง และอยากจะทำอะไรร่วมกันให้มันเป็นชิ้นเป็นอัน พยายามเป็นกระบอกเสียงของคนที่บ่นให้เราฟัง เป็นตัวกลางเจรจาให้เขา เป็นปากเสียงให้ทั้งในและนอกสภา

 

ถ้าสุดท้ายผลในครั้งนี้ออกมาว่าได้เป็นฝ่ายค้านจริงๆ คุณยังมีความหวังถึงสังคมที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงไหม

     แน่นอน เราว่าพรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคใหม่ ปีนี้เป็นปีแรกด้วย ก็ไม่ได้ห่วงนะ ยังมีเวลา จริงๆ ถ้าเรามองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เราได้มา 80 ที่นั่ง เอาชนะพรรคที่เก่าแก่ได้ มันดีมากนะ

     แล้วเราเชื่อว่าการทำงานเป็นฝ่ายค้าน ก็ได้ทำหน้าที่เหมือนกัน เพราะว่าเราก็อยากโชว์ฝีมือว่าเราจะเปลี่ยนประเทศ เราอยู่ฝั่งไหนก็ได้ หากมีคนโกงหรือกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม เราสามารถทักท้วงได้ ในส่วนนี้เราคิดว่าการเป็นฝ่ายค้านก่อนก็ถือว่าได้ลองของนะ แล้วก็มีพลังในสภา บวกกับประสบการณ์บริหารหรือความสามารถในการบริหารที่หัวหน้าพรรคมี เราเชื่อว่าจะเป็นพรรคที่แข็งแกร่งขึ้น เพราะว่าได้รู้ทั้งสองฝั่ง ถ้าครั้งหน้าได้เป็นรัฐบาล ก็จะรับมือกับอำนาจหรือพลังทางการเมืองในสภาได้ดีขึ้น การบริหารก็น่าจะสมบูรณ์ขึ้น