Tasana Nagavajara

ดร. ทัศนา นาควัชระ: ในวันที่โควิดเปิดแผลของแวดวงดนตรีคลาสสิกในประเทศไทยให้เห็น

“ดนตรีไม่ใช่เรื่องที่ลอยอยู่บนฟ้า แต่เป็นเรื่องชีวิตของคนปกตินี่แหละ”

       หลายคนอาจมีมุมมองต่อดนตรีคลาสสิกว่าเป็นสุนทรียะของคนที่ดูมีระดับ แต่ในความเป็นจริง เมื่อโลกของการสื่อสารเปลี่ยนไป ดนตรีคลาสสิกไม่ได้ต่างจากดนตรีทั่วไปในตลาดเพลง ทั้งในแง่การเข้าถึง และการต้องพึ่งพาเม็ดเงินจากการเข้ารับชมของคนดูหรือผู้สนับสนุน 

       แน่นอนว่าเมื่อโควิด-19 มาถึง กิจกรรมการเข้าดูมหรสพอย่างดนตรีคลาสสิกในคอนเสิร์ตฮอลล์ขนาดใหญ่ก็ต้องหยุดชะงักไม่ต่างกัน นั่นหมายถึงรายได้ของนักดนตรีในวงที่ต้องสูญหายไปร้อยเปอร์เซ็นต์

       a day BULLETIN ได้สนทนากับ ดร. ทัศนา นาควัชระ นักดนตรีคลาสสิกมากประสบการณ์ ผู้อำนวยการด้านดนตรีและหัวหน้าวงโปรมูสิกา ถึงผลกระทบจากโควิด การปรับตัว รวมถึงทิศทางที่น่าสนใจหลังจากนี้ของดนตรีคลาสสิกในประเทศไทย ซึ่งเขาย้ำกับเราว่า ดนตรีที่หลายคนอาจมองภาพว่าเป็นสิ่งที่บริการสังคม โดยเฉพาะกับดนตรีคลาสสิก แต่ในความเป็นจริงก็ยังมีเหล่าผู้คนที่ต้องดำรงอยู่ด้วยการประกอบอาชีพนี้ และต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลง ไม่ต่างจากผู้ประกอบอาชีพอื่น

       “วันหนึ่งที่ผ่านโควิดแล้วทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม การมีรายได้จากสปอนเซอร์ มีหน่วยงาน สถาบันต่างๆ คอยสนับสนุน คอยอุ้มชูอยู่ มันไม่ใช่ของจริง หากสุดท้ายเรายังอยู่ไม่ได้จริงๆ จากรายได้จากการขายบัตร”

 

Tasana Nagavajara

เรารู้จักพวกดนตรีร็อก พ็อพ หรือฮิปฮอปในประเทศไทย แต่กับเรื่องดนตรีคลาสสิกเรารู้น้อยเหลือเกิน อยากให้คุณเล่าที่มาของดนตรีคลาสสิกในไทยแบบคร่าวๆ ให้ฟังหน่อย

       ถ้าให้แง่ของการเข้ามา ต้องบอกว่ามันเป็นวัฒนธรรมของฝรั่งที่นำเข้ามาโดยกลุ่มนักเรียนนอก ซึ่งนักเรียนนอกที่สำคัญคนแรกคือในหลวง รัชกาลที่ 6 ที่ทรงนำวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาอย่างจริงจัง ทั้งเรื่องศิลปะ การละคร เพราะพระองค์เคยทรงศึกษาที่อังกฤษ สมัยนั้นก็เริ่มมีกิจกรรมดนตรีที่เป็นดนตรีฝรั่ง เริ่มมีการตั้งกลุ่มวงเครื่องสายฝรั่งหลวงในยุคนั้น จนกลายมาเป็นวงของกรมศิลปากรในทุกวันนี้ คือเป็นหน่วยงานของรัฐ ส่วนดนตรีคลาสสิกรุ่นที่ส่งมาถึงผมก็เป็นกลุ่มนักเรียนนอกรุ่น หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช, อาจารย์กำธร สนิทวงศ์, อาจารย์สมัยสารท สนิทวงศ์, พันเอกชูชาติ พิทักษากร ผู้ที่ไปเรียนต่างประเทศในยุคนั้นซึ่งเล่นดนตรีกันในครอบครัว และเป็นสิ่งที่ผ่านมาถึงครูของผม มาถึงตัวผม ดังนั้น ดนตรีคลาสสิกเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาเกือบๆ ร้อยปีแล้ว

ยังจำบรรยากาศการฟังดนตรีคลาสสิกสมัยที่คุณเป็นเด็กได้ไหม บริบทในวันนั้นเป็นอย่างไร

       ยุคที่ผมโตขึ้นมา ตอนนั้นวงการดนตรียังไม่ได้เจริญเหมือนทุกวันนี้ สมัยก่อนไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มียูทูบ สิ่งที่เราจะได้ฟัง คือต้องไปฟังที่คอนเสิร์ตจริงๆ ช่วงนั้นหน่วยงานวัฒนธรรมหรือสถานทูตต่างๆ การที่จะนำเสนอสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมของชาติ เขานำเสนอด้วยดนตรี ตอนเด็กๆ ผมไปฟังดนตรีที่สมาคมฝรั่งเศส สถาบันเกอเธ่ เอยูเอ มีวงดนตรีคลาสสิกดีๆ มีศิลปินดีๆ เข้ามาแสดงตั้งแต่ผมจำความได้เลย บางครั้งไปฟังจำเพลงไม่ได้ แต่จำความรู้สึกที่เดินเข้าไปในห้องแล้วได้ฟังดนตรีสดดีๆ ได้

       ผมเรียนดนตรีไทยมาก่อนตอนที่อยู่โรงเรียนสาธิตฯ ปทุมวัน คือโรงเรียนในยุคนั้นให้เด็กเรียนดนตรี ทุกคนต้องเล่นดนตรีเป็น แต่ครอบครัวผมคุณพ่อคุณแม่ก็ฟังดนตรีคลาสสิกอยู่แล้ว คุณพ่อฟังและเป็นนักไวโอลินสมัครเล่น ผมจึงเติบโตมากับเสียงดนตรีคลาสสิก กับแผ่นเสียงในบ้าน ผมจึงอยากจะเรียนดนตรีมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ก็สนับสนุนให้เรียน ซึ่งในยุค 2530 ตอนนั้นสถาบันที่สอนดนตรีไม่มีเยอะขนาดนี้ ตัวเลือกมีเพียงไม่กี่แห่ง ผมก็ตัดสินใจเข้าคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ รุ่น 5 ช่วงนั้นก็เริ่มมีวง Bangkok Symphony Orchestra มีวงดนตรีเล็กๆ ของคนไทยบ้าง แต่ก็ยังไม่ได้เฟื่องฟูเหมือนปัจจุบัน หลังจากเรียนจุฬาฯ สองปีผมก็ไปเรียนต่างประเทศที่ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา อยู่ประมาณสิบปี แล้วก็กลับมา ตอนกลับมาปี 1999 ข้ามเข้าปี 2000 พอดี 

       ตอนนั้นเริ่มมีวงดนตรีคลาสสิกโดยคนไทยเองจำนวนมาก วงการเริ่มเฟื่องฟู ทำไปทำมาวงของคนไทยมีมากกว่าของฝรั่งที่นำเข้ามา จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ มีวงดนตรีที่บริหารโดยคนไทยที่เล่นดนตรีคลาสสิกจริงๆ จำนวนหลายวง ทั้งที่เป็นสมัครเล่น ทั้งที่เป็นหน่วยงานของรัฐ และที่เป็นเอกชน 

กล่าวได้ไหมว่า ก่อนที่จะเกิดโควิด-19 วงการดนตรีคลาสสิกของไทยค่อนข้างคึกคัก

       ค่อนข้างคึกคัก แต่ก็ยังอยู่ในวงคนจำนวนจำกัด แต่ว่าเนื่องด้วยในปัจจุบันมันมีความเปลี่ยนแปลง คือการเข้าถึงง่ายขึ้นเยอะ ด้วยสื่อที่เปลี่ยนไป เราจะดูยูทูบวงไหนก็ได้ในโลก อยากจะฟังในสื่อออนไลน์มีให้ฟังหมด เพราะฉะนั้น คนสามารถเข้าถึงดนตรีคลาสสิกได้ง่ายขึ้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่ไกลตัวอีกต่อไป โลกเปลี่ยนไปจากโลกที่ผมเคยอยู่เมื่อผมเติบโตขึ้นมา ตอนนั้นมันเป็นเรื่องไกลตัวมาก คนที่เล่นดนตรีคลาสสิกหรือแฟนเพลงในสมัยนั้นต้องทำงานหนักกว่าสมัยนี้เยอะ ตอนนี้อยากไปดูที่ไหนก็มี กลางเมือง นอกเมือง เพียงแต่การที่จะลงทุนลงแรงเดินทางไปฟังของจริง มันยังเป็นคนกลุ่มเล็กๆ เป็นคนหน้าเดิมที่เป็นแฟนประจำอยู่

กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เล่นดนตรีคลาสสิกในยุคนี้มีเยอะไหม

       มีเยอะมาก เรียกว่าตอนนี้อาจจะเลยจุดอิ่มตัวไปแล้วด้วยซ้ำ เฉพาะในกรุงเทพฯ ตอนนี้ตลาดมันกำลังล้นแล้ว มีคนสนใจเรียน มีคนสนใจเล่นเยอะมาก แต่สิ่งที่ผมพูดมาตลอดคือ มันจะสร้างผู้เล่นอย่างเดียวไม่ได้ ต้องสร้างผู้ฟังด้วย แต่ผมคิดว่าการสร้างผู้ฟังยังตามไม่ทัน คนที่เล่นดนตรีคลาสสิก ครูบาอาจารย์ หรือคนที่ทำกิจกรรมในเรื่องนี้อาจจะยังไม่ทันโลกเท่ากับดนตรีแขนงอื่น กลุ่มนั้นเขามีวิธีการตลาดที่ทันสมัยกว่าเรา

 

Tasana Nagavajara

ตอนนี้มาตรฐานประเทศไทยอยู่ตรงไหนในแวดวงดนตรีคลาสสิกโลก

       ถ้าเรื่องมาตรฐานต้องยอมรับว่ายังล้าหลังอยู่ เมื่อเทียบกับ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี เขาไปไกลแล้ว แม้กระทั่งสิงคโปร์ มาเลเซีย เขาก็มีมาตรฐานเรื่องพวกนี้ที่ดีกว่าเรา ที่มาเลเซียวงของเขาตั้งทีหลังวงในกรุงเทพฯ อีกนะ แต่ด้วยความที่ประเทศอาจจะมีวิสัยทัศน์ เขาก็ไปไกล อย่างสิงคโปร์ไม่ต้องพูดถึง เขาสนับสนุนเรื่องของศิลปะ และคงอยากจะไประดับอินเตอร์ด้วย ฉะนั้น วงออร์เคสตราในสิงคโปร์หรือมาเลเซียเขาล้ำหน้าเราไปไม่รู้เท่าไหร่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ฉะนั้น มาตรฐานการแสดงของเรามันกำลังค่อยๆ ตามหลังอยู่ แต่ว่าความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ผมว่าไม่แย่เลยนะ ผมว่าเรื่องความคิดสร้างสรรค์ของคนที่ทำงานดนตรี งานสื่อในประเทศไทย เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ มาเลเซีย ผมว่าเราเหนือกว่าเขาเยอะในเรื่องการนำเสนอ แต่ว่าในแง่ของนักดนตรีคลาสสิก ความเข้มข้นของมาตรฐานการแสดง เรากำลังตามเขาอยู่ 

เวลามีคนบอกว่าดนตรีคลาสสิกเป็นของคนชั้นสูง ต้องมีเงินถึงจะชมการแสดงได้ คุณรู้สึกอย่างไร

       ผมคิดว่ามันมีมูล ไม่เช่นนั้นคนไม่พูดแบบนั้นหรอก อย่างที่บอกว่าตอนแรกมันถูกนำเข้ามาโดยนักเรียนนอก จากในหลวง รัชกาลที่ 6 จนกระทั่งถึงนักเรียนที่ถูกส่งไปเรียนอังกฤษ สมัยรุ่นปู่ รุ่นพ่อแม่ผม มันก็จริงว่าในยุคนั้นนำเข้ามาโดยกลุ่มคนที่เราเรียกว่าชนชั้นสูง อำมาตย์ แต่ในสมัยนี้ไม่จริง ลองไปดูราคาบัตรของดนตรีคลาสสิก ผมว่าถูกกว่าราคาบัตรของคอนเสิร์ตสมัยนี้แน่ๆ ถ้าเราไปคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิกในปัจจุบันจะเห็นเลยว่าคนก็แต่งตัวปกติธรรมดา แต่ผมไม่ได้พูดว่ามันเป็นภาษาสากลนะ ผมไม่เชื่อว่าดนตรีเป็นภาษาสากล ไม่จริง เหมือนอาหาร ไม่ใช่ทุกคนจะมาชอบกินสะตอหรือผัดไทยหมด บางคนก็ชอบอันนั้น อันนี้มันเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องเป็นสากล 

ช่วยขยายคำว่า ‘ไม่เชื่อว่าดนตรีเป็นภาษาสากล’ ให้ฟังหน่อย

       ผมไม่ได้พยายามที่จะทำให้ดนตรีคลาสสิกเป็นเรื่องของคนทุกคนในชาติ เหมือนจะทำอาหารชนิดนี้ให้คนไทยกินทั้งประเทศ มันเป็นไปไม่ได้ อย่างตอนนี้ผมบริหารวง Pro Musica อยู่ ผมก็พยายามจะทำเมนูให้หลากหลาย ดนตรีคลาสสิกแบบฮาร์ดคอร์จริงๆ ศตวรรษที่ยี่สิบที่สะท้อนถึงการเข่นฆ่าชาวยิวในสงครามโลก ซูเปอร์ฮาร์ดคอร์ เล่นยาก ฟังยาก ดนตรีคลาสสิกที่นำเสนอในศตวรรษที่ 18 ให้เจ้านายในราชสำนักออสเตรียกินเลี้ยงก็มี หรือดนตรีคลาสสิกที่ชาวบ้านเล่นกันในคาเฟ่ของกรุงเวียนนา หรือดนตรีคลาสสิกที่ประพันธ์โดยนักประพันธ์ชาวไทยก็มี เรามองในความหลากหลาย ความรอบรู้ คือเราไม่ได้จะนำเสนอเมนูเดียว แต่ไม่ได้แปลว่าเมนูเดียวไม่ดีนะ มันเป็นวัฒนธรรมที่ไม่มีอะไรตายตัว ไม่ใช่ภาษาสากล ไม่ได้บอกว่าฟังยากหรือฟังง่าย ฟังยากก็มี ไม่ได้ปฏิเสธ ฟังง่ายก็มี ตรงกลางก็มี มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะนำเสนออย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ฝรั่งเขาทำมาหมดแล้ว 

ต่างชาติเขาทำอย่างไรบ้าง

       เมืองอย่างเวียนนาที่เขาค่อนข้างจะอนุรักษนิยม เขาก็มีฐานที่แข็งแรง เป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางดนตรีมาสองสามร้อยปี ส่วนเบอร์ลินก็เป็นเมืองศูนย์กลางของดนตรีมาหลายร้อยปี แต่เป็นเมืองที่ถูกถล่มราบไปเมื่อสงครามโลก แล้วก็สร้างเมืองขึ้นมาใหม่ ดังนั้น ก็จะมีความคิดที่ทันสมัยมากขึ้น หรือศูนย์กลางทางดนตรีในอเมริกาที่ทันสมัยมาก อย่างนิวยอร์ก หรือซานฟรานซิสโก วงออร์เคสตราเขาเป็นวงที่ทันสมัยมาก มี Music Director ชื่อ Michael Tilson Thomas ซึ่งเป็นคนควบคุมดูแลทิศทางของวงมา 25 ปี แต่เพิ่งจะรีไทร์เมื่อปีนี้ เขาเป็นคนที่ทันสมัยมาก ในคอนเสิร์ตฮอลล์มีส่วนที่สร้างออกมาเป็นคลับเลย แล้วเอาดนตรีคลาสสิกมานำเสนอในรูปแบบของคลับ มีแสงสี มีบาร์ ซื้อเครื่องดื่มได้ 

       หรืออย่างเบอร์ลินก็มีบริษัทชื่อ Deutsche Grammophon ซึ่งเป็นบริษัทแผ่นเสียงที่เราอาจคิดว่าเป็นอนุรักษ์นิยม เขาก็แตกแบรนด์มาทำ Yellow Lounge เป็นคลับมีดนตรีคลาสสิก แต่ว่านำเสนอในรูปแบบทันสมัย คนใส่กางเกงยีนส์ ซื้อเครื่องดื่มได้ หรือ Berlin Philharmonic เขาทำดิจิตอลคอนเสิร์ตฮอลล์มานานแล้ว ฉะนั้น เวลาที่เขาเจอโควิด-19 และต้องนำเสนออะไรที่เป็น social หรือ physical distancing เนี่ย เขาพร้อม แต่เทียบกับ Vienna Philharmonic เก่าแก่ ทุกอย่างชั้นเลิศหมด แต่เพิ่งมาขยับตัวทำออนไลน์ทีหลัง 

 

Tasana Nagavajara

ถ้ามองกลับมาในประเทศไทย โควิด-19 ส่งผลอะไรต่อแวดวงดนตรีคลาสสิกในบ้านเราบ้าง

       ผมว่าไม่ใช่แค่ในไทย ทั่วโลกมีปัญหาหมด ถ้าเรามองในแง่มุมของซิมโฟนีออร์เคสตราซึ่งมีคนจำนวนมาก วงดนตรีขนาดใหญ่ เล่นในคอนเสิร์ตฮอลล์ขนาดใหญ่ มีคนดูหลักพันคน อันนี้ผมว่าอยู่ในสถานการณ์วิกฤต เพราะมันเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ถ้าไม่มีการสนับสนุนโดยรัฐบาล หรือมีสปอนเซอร์ยักษ์ใหญ่ ก็ลำบาก เราต้องรู้ว่าวงดนตรีแบบนี้เขาเล่นคอนเสิร์ตอาทิตย์ละครั้ง ถ้าวงอย่าง Vienna Philharmonic เขาเล่นวันศุกร์ เสาร์ และอาจจะมีวันอาทิตย์ด้วย โปรแกรมหนึ่งเล่นสามรอบ ทั้งปีมีเป็นหลายร้อยคอนเสิร์ต ฉะนั้น เมื่อไม่มีคอนเสิร์ต ธุรกิจพังทันที เหมือนสายการบิน เหมือนร้านอาหาร เช่นกัน ในประเทศไทย วงออร์เคสตราขนาดใหญ่ซึ่งมีอยู่สองวงหลักได้รับผลกระทบทันที นักดนตรีได้รับผลกระทบทันที อย่างวง Thailand Philharmonic Orchestra ประกาศยกเลิกคอนเสิร์ตทั้งหมดในปีนี้ไปแล้ว ฉะนั้น สถานการณ์เหมือนกับต่างประเทศทุกอย่าง

สามารถขยับมาทำการแสดงออนไลน์เหมือนการแสดงดนตรีอื่นๆ ได้ไหม

       ออนไลน์ก็ไม่ใช่สิ่งที่เที่ยงแท้ถาวร จะทำจริงก็ได้นะ แต่ก็ต้องมีของจริงประกอบไปด้วย คือจะเป็นออนไลน์ออร์เคสตราอย่างเดียวก็ไม่ใช่ ฉะนั้น ตอนนี้การขยับทำออนไลน์ ผมมองว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ไม่ใช่สิ่งเป็นของจริงอยู่ดี เพราะมันเป็นวัฒนธรรมที่ต้องไปเสพ เหมือนดูฟุตบอล ดูทีวีกับไปดูของจริงไม่เหมือนกัน อย่างวัฒนธรรมฟุตบอลในอังกฤษก็อยู่ได้โดยคนที่เข้าไปดูของจริง ไม่ว่าเขาจะได้รายได้มหาศาลจากการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก จากการโฆษณา แต่คิดดูถ้าคุณถ่ายทอดสดฟุตบอลที่ไม่มีคนดู มันก็ไม่ใช่ มันเป็นอะไรสักอย่างที่เป็นของชั่วคราว

       อย่างผมเองออกจากวงใหญ่มาแล้วประมาณห้าหกปี ตอนนี้ผมทำกิจกรรมกับวงดนตรีเล็กๆ ที่มีกิจกรรมหลากหลาย เราไม่ได้เล่นในคอนเสิร์ตฮอลล์อย่างเดียวมานานแล้ว เราไปเล่นที่พิพิธภัณฑ์ สถานีรถไฟใต้ดิน ร้านอาหารเท่ๆ คาเฟ่สวยๆ เพราะฉะนั้น ผมทำงานแบบนี้มาก่อนที่จะเกิดโควิด-19 แล้ว เมื่อโควิด-19 มา เราต้องหยุด ผมก็ทำงานออนไลน์อยู่บ้าง แต่ว่าช่วงตอนนี้ที่กำลังจะฟื้นตัว เราเพิ่งเล่นคอนเสิร์ตไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ผมเป็นคนแรกของวงการดนตรีคลาสสิกในเมืองไทยที่กลับมาเล่นคอนเสิร์ต ที่แกลเลอรีเล็กๆ ในซอยสุขุมวิท 51 แล้วก็ที่สยามสมาคม คือพอเราเป็นองค์กรเล็ก เราฟื้นตัวได้เร็วกว่าองค์กรใหญ่

       แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องบอกก่อนว่า เราอยู่ได้ด้วยผู้สนับสนุนทั้งสิ้น ไม่มีวงดนตรีออร์เคสตราใหญ่ที่ไหนที่เลี้ยงตัวเองได้จากการขายบัตร ส่วนวงเล็ก รายได้ประจำปีจากการขายบัตร จัดคอนเสิร์ตเดียวก็เกลี้ยงแล้ว มันยังไม่ถึงเวลาที่จะอยู่ได้โดยการขายบัตรจริงๆ ฉะนั้น ผมก็ต้องขอบคุณผู้สนับสนุนทั้งหลาย ส่วนรัฐนี่คงพึ่งได้ยากในยุคนี้ 

โควิด-19 เปิดแผลในหลายธุรกิจให้เห็น สำหรับแวดวงดนตรีคลาสสิกมีบ้างไหม

       ผมคิดว่าวงการดนตรีคลาสสิกแทบจะไม่มีใครพึ่งตัวเองได้มาก่อน มันเป็นวงการที่อยู่ได้ด้วยผู้สนับสนุน เพราะมันไม่ใช่ธุรกิจจริง มันไม่ใช่เกิดจากการขายบัตรแล้วได้เงินมาเลี้ยงตัวเองจริงๆ ฉะนั้น คนที่จะคิดในเรื่องเอาตัวรอดหรือว่าอยู่ได้โดยรายได้จริงมีน้อยมาก นักดนตรีเองก็ไม่ได้คิดแบบนี้ คือมีงานเข้ามาก็ไปเล่น งานหลักอาจจะอยู่ที่การสอน ตอนนี้ก็อาจจะมีรายได้จากการปรับตัวไปสอนออนไลน์อยู่ แต่การเล่นดนตรีมันแทบจะล่มสลายไปแล้วตอนนี้ ดังนั้น ตอนนี้ผมคิดว่าเราต้องเรียนรู้แล้วว่า วันหนึ่งที่ผ่านโควิดแล้วทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม การมีรายได้จากสปอนเซอร์ มีหน่วยงานหรือสถาบันต่างๆ คอยสนับสนุนคอยอุ้มชูอยู่นั้นไม่ใช่ของจริง หากสุดท้ายเรายังอยู่ไม่ได้จริงๆ จากการขายบัตร 

ไม่จริงในแง่ไหน

       องค์กรใหญ่นี่ไม่ต้องพูดถึงรัฐนะ รัฐเอาตัวไม่รอด มหาวิทยาลัยเองก็ไม่ได้คิดเรื่องนี้ คุณลองไปดูว่ามีมหาวิทยาลัยจำนวนมากที่ไม่ได้คิดเลยว่าการเรียนการสอนดนตรีจะต้องเลี้ยงดูตัวเองได้ เห็นได้ชัดก็อย่างเช่น จัดคอนเสิร์ตยังฟรีคอนเสิร์ตอยู่เลย ถ้ามหาวิทยาลัยจัดฟรีคอนเสิร์ตไก็ม่ต้องพูดถึงว่าเด็กที่เรียนออกไปจะทำมาหากินอะไร เขาไม่เคยเรียนรู้ว่าการจัดคอนเสิร์ตมันมีค่าใช้จ่าย นักดนตรีต้องมีกินมีใช้ แน่นอนว่าถ้าเรียนทางธุรกิจมันต้องมีช่วงโปรโมชัน แต่ถ้าเกิดมีโปรโมชันทั้งปี วันหนึ่งคนเขาชินแล้ว เขาไม่เสียเงินมาชมดนตรีคลาสสิก คุณผลิตบัณฑิตออกไป แล้วเขาจะไปทำอะไรกิน ซึ่งผมต่อต้านทุกองค์กรที่ทำแบบนี้มาตลอด 

       เวลาผมไปแสดงกับนักเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วงดนตรีเครื่องสายของเรามีทีมบริหารอยู่ข้างในเลยนะ ใครเป็นผู้จัดการวง ใครเป็นเหรัญญิก หาเงินอย่างไร มีสปอนเซอร์เข้ามาแค่ไหน ทุกคอนเสิร์ตผมจะมีบัญชีให้เขาทำกันเอง คือต่อให้ไม่กำไร เขาก็จะเห็นเลยว่ามันไม่มีกำไรนะ แต่เขาจะเห็นคุณค่าของการนั่งรถบัสไปเล่นที่เชียงใหม่ ใช้เงินกี่บาท นอนโรงแรมห้องละสองสามคนใช้เงินกี่บาท นอนกี่คืน ลูกศิษย์ผมทุกคนก็จะเข้าใจ มีเซนส์เรื่องธุรกิจในเรื่องการบริหาร เราไม่ได้พูดเรื่องงกเงินเลยนะ มันคนละเรื่อง แต่เราต้องสอนให้เขารู้ว่ามันต้องอยู่ให้ได้ ฉะนั้น คนที่อยู่บนก้อนเมฆแล้วมองว่าดนตรีคลาสสิกเป็นสิ่งบริการต่อสังคม ศิลปวัฒนธรรม แล้วในอนาคตลูกศิษย์ที่เราสร้างขึ้นมาเขาจะอยู่อย่างไร ไม่ต้องพูดถึงตัว ตัวเราอาจจะรอดไปแล้วนี่ คุณเป็นอาจารย์ มีเงินเดือน มีค่าตำแหน่งวิชาการ ไม่ได้เดือดร้อน แต่เด็กที่เขาจบออกไป จะมีสักกี่คนที่จะไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หรือไปเป็นอะไรที่มีเงินเดือน ผมว่าโควิด-19 เป็นเครื่องเตือนสติที่ดีมากๆ ว่าตั้งสติกันหน่อย เรากำลังทำอะไรกันอยู่ในเวลานี้

 

Tasana Nagavajara

สำหรับคุณที่ได้แสดงดนตรีทั้งแบบดั้งเดิมต่อหน้าผู้ชม และรูปแบบออนไลน์ ผู้ชมทั้งสองแบบแตกต่างกันอย่างไร 

       ต้องคิดว่าเราจะพูดว่ามันแยกขาดจากกันได้ไหม ออนไลน์ก็ออนไลน์ คอนเสิร์ตสดก็คอนเสิร์ตสด ในอนาคตมันอาจจะไม่จริงก็ได้ อย่างผมได้เรียนรู้ไปสองสามครั้งตอนที่เคยจัดงานว่า แฟนคลับที่อยู่ในโลกออนไลน์ เปอร์เซ็นต์ที่จะตามมาดูคอนเสิร์ตจริงไม่ได้แปรผันตามยอดไลก์อย่างเดียว ดังนั้น ตอนนี้เป็นไปได้ว่าเราก็ต้องทำทั้งสองแบบ โลกสองโลกนี้ต้องเดินไปด้วยกัน ผมเรียนรู้แล้วว่ามันมีอีกโลกหนึ่งซึ่งเราก็ต้องเข้าไปเรียนรู้ในโลกของเขา แต่โลกของเราที่เล่นคอนเสิร์ตเหมือนสมัยวัฒนธรรมเมื่อสามร้อยปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันมันก็ต้องยังอยู่ ประสบการณ์จริงที่คนมานั่งฟังเรา ได้ยินเสียงเราหายใจ เห็นเหงื่อเรา เราเห็นผู้ฟังที่โยกตัวตาม มันเป็นสิ่งที่ออนไลน์แทนกันไม่ได้ แล้วสองโลกนี้จะมาเชื่อมกันไหม ก็เป็นหน้าที่เราที่ต้องทำงานต่อไป ถ้ามันมาเชื่อมกันได้ แฟนคลับที่มาดูคอนเสิร์ต ติดตามช่องยูทูบของเรา ติดตามเฟซบุ๊ก อินสตาแกรมของเรา รู้ข่าวสารที่เราสื่อทุกวันก็เป็นเรื่องดี แฟนคลับจำนวนมากที่ไม่เคยมาดูคอนเสิร์ตเราเลย แต่ว่าติดตามในโซเชียลฯ วันหนึ่งเขาอาจจะข้ามมาในคอนเสิร์ตจริงก็ได้ 

       มันเป็นหน้าที่พวกเราที่ต้องทำงานหนัก และต้องไม่อยู่ในกล่องแคบๆ ของเรา เหมือนที่เคยเป็น ยิ่งขยับตัวเร็ว ยิ่งรอบรู้ ยิ่งหลากหลายมากเท่าไหร่ ยิ่งบริหารการเงินได้ดีในข้อจำกัดได้มากเท่าไหร่ มันยิ่งดีเท่านั้น ผมว่าเหมือนธุรกิจอื่นๆ เหมือนแพลตฟอร์มอื่นๆ ดนตรีไม่ใช่เรื่องที่ลอยอยู่บนฟ้า แต่เป็นเรื่องชีวิตของคนปกตินี่แหละ

คาดเดาได้ไหมว่าหลังโควิด-19 จะเกิดอะไรขึ้นกับแวดวงดนตรีคลาสสิกบ้านเราบ้าง

       ตั้งแต่ก่อนมีโควิด-19 วงใหญ่ที่ใช้เงินมันค่อยๆ เสื่อมลงไป เพราะคนอาจจะไม่ออกมาดูคอนเสิร์ต สมมติว่าวออร์เคสตรามีคน 80 คนอยู่บนเวที แปลว่าเขาต้องซ้อมกันมาก่อนหน้านั้น แล้วสมมติว่าวงที่เขาเป็นวงอาชีพเขาจ่ายเงินเดือน เขาก็ต้องเล่นคอนเสิร์ตจำนวนมากเพื่อจะมาสนับสนุนกับรายจ่ายนั้น ส่วนวงอย่างเมืองไทยจ่ายเป็นกึ่งอาชีพ เป็นฟรีแลนซ์ หนึ่งคอนเสิร์ตจ่ายเงินคน 80 คน ต้องซ้อมมาอย่างน้อยก่อนหน้านั้น 3-4 ครั้ง คูณเข้าไป รวมค่าคอนเสิร์ตฮอลล์ ค่าพีอาร์ มันมหาศาล ตอนนี้ออร์เคสตราอาจเป็นอะไรที่เหนื่อยในเรื่องดนตรีคลาสสิก ตอนนี้เราคาดเดาไม่ได้ว่าหลังโควิด-19 จะเป็นอย่างไร อาจจะมีภัยแล้ง มีน้ำท่วม มีรัฐประหารอีกรอบ เราก็ไม่รู้ ฉะนั้น ตอนนี้ผมว่าต้องมีสติ แล้วก็เอาใจช่วยคนที่เขาลำบากจริงๆ หน่วยงานอาจต้องช่วย อย่างกระทรวงวัฒนธรรมมีนโยบายช่วยศิลปินในบ้านเราบ้าง หรือค่ายเพลง ร้านอาหาร ที่นักดนตรีตกงานกันหมด 

วิธีคิดหลังจากนี้ของการแสดงดนตรีคลาสสิกจะเป็นอย่างไร

       โรงสำหรับจัดคอนเสิร์ตตอนนี้มันไม่จำเป็นต้องเป็น 2,500 ที่นั่ง เหมือนโรงหนังตอนนี้ก็อยู่ยาก ดนตรีก็เหมือนกัน จะไปหวังพึ่งสถานที่แบบนั้น กว่าจะฟื้นเมื่อไหร่เราก็ไม่รู้ ฉะนั้นตอนนี้เราต้องดูว่าจะสามารถนำสิ่งที่เราทำไปเชื่อมกับอะไรได้บ้าง ร้านอาหารเขากำลังฟื้น เขายังไม่ค่อยมีคน เราเอาดนตรีไปเจอกับร้านอาหารดีไหม หรือมิวเซียมเพิ่งคลายล็อกดาวน์ เราไปแจมกับเขาไหม แม้กระทั่งห้างสรรพสินค้าเองคนก็เดินน้อย เขามีฟังก์ชันรูม มีห้องที่มองเห็นแม่น้ำเจ้าพระยาสวยงาม เราไปเชื่อมกับเขาได้ไหม ผมคิดว่าเราต้องมองแบบนี้ มองแบบหลากหลาย รอบรู้ คนตัวเล็กๆ อย่างเราต้องพยายามออกแรงมากหน่อย ซึ่งผมคิดว่าทุกที่เป็นแบบนั้น ร้านอาหารเล็กๆ หรือโปรดักชันเฮาส์เล็กๆ โรงแรมเล็กๆ พวกตัวเล็กๆ จะทำอย่างไร จะเชื่อมธุรกิจได้อย่างไร อาหารกับที่พักกับศิลปะกับร้านกาแฟ อะไรก็แล้วแต่ แต่ผมไปในทิศทางนี้มาก่อนแล้ว ตอนนี้ยิ่งทำให้ผมขยับตัวแรงมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

Tasana Nagavajara

ในฐานะคนที่อยู่แวดวงดนตรีคลาสสิกมาเป็นเวลานาน คุณอยากให้มีอะไรเกิดขึ้นหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ไหนบ้าง

       ผมมองเห็นแล้วว่า คอนเสิร์ตฮอลล์ขนาดใหญ่มันเลี้ยงดูยาก ผมไม่ได้ปฏิเสธนะ เพราะมันเป็นสิ่งที่เมืองใหญ่อย่างมหานครต้องมีมหรสพ ต้องมีสถานที่ที่คนไปชมศิลปะ แต่ว่าเมืองไทยมันยากนิดหนึ่ง เราอาจจะตามหลังชาวบ้านอยู่ อย่างศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ฮอลล์คุณใหญ่โตสวยงาม แต่ไม่มีที่จอดรถ ไกลจากสถานีรถไฟฟ้า ฝนตกก็เดินลำบาก ไปถึงการบริหารจัดการร้านอาหาร คาเฟ่ มันไม่ค่อยโสภาเท่าไหร่ อย่างโรงที่ออกจากกรุงเทพฯ ไป 70 กิโล ทุกอย่างดีเลิศหมดเลย แต่คนที่ไม่มีรถจะไปอย่างไร มันต้องมีการบริหารจัดการหลายถาคส่วนโดยรัฐ เช่น สถานีรถไฟฟ้าของ MRT ชื่อศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ทำไมมันไม่โผล่ใต้บันไดหน้าคอนเสิร์ตฮอลล์เหมือนในประเทศที่เขาเจริญแล้ว เรื่องพวกนี้สำคัญ นักดนตรีทำอย่างเดียวไม่ได้ แต่ถ้าเรารอ แล้วเมื่อไหร่เรื่องเหล่านี้มันจะเกิดขึ้น รออีกสามรัฐบาลมันจะเกิดขึ้นหรือเปล่า ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ดังนั้น ตอนนี้ผมเลยไม่รอไง ผมอายุ 50 แล้ว ผมจะเล่นไวโอลินได้อีกนานแค่ไหน จะมีแรงทำไปได้อีกนานสักแค่ไหน ตอนนี้ผมไม่ได้ทำให้ตัวเองอย่างเดียว ผมทำเพื่อเยาวชน เพื่อน้องๆ รุ่นลูกศิษย์ เขาจะอยู่กันอย่างไร เขาควรจะมีชีวิตที่ดีกว่าเรา ไม่ใช่แย่กว่าเรา จึงเป็นหน้าที่เราที่ต้องทำให้เขาด้วย

 


ภาพ: Pro Musica

ติดตามผลงานของ ดร. ทัศนา นาควัชระ และวง Pro Musica ได้ที่