TEDxBangkok

กระบวนการทำงานที่ ‘ควรค่าแก่การเผยแพร่’ ของเหล่าอาสาสมัคร TEDxBangkok

ความคิดที่ควรค่าแก่การเผยแพร่

        สโลแกนที่ผู้คนจดจำจากเวที TED หรือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อกระจายไอเดียใหม่ๆ ภายใต้หัวข้อเทคโนโลยี (Technology) ความบันเทิง (Entertainment) และการออกแบบ (Design) แม้ตั้งแต่ปี 1984 หัวข้อต่างๆ เหล่านี้จะถูกขยายผล จน ‘ความคิดที่ควรค่าแก่การเผยแพร่’ นั้นไม่ถูกจำกัดอยู่ที่สามหัวข้อนั้นอีกต่อไป รวมทั้งรูปแบบการจัดงานเอง ที่ TEDx ได้ขอลิขสิทธิ์ในการจัดงานตามเมืองต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้ง TEDxBangkok ในประเทศไทยที่จัดต่อเนื่องทุกปีมาตั้งแต่ 2015

        แต่นอกจากพรมวงกลมสีแดง แสงสปอตไลต์ที่ส่องไปยังสปีกเกอร์ในแต่ละปี เท็ดยังมีอีกสิ่งที่น่าสนใจ ในพื้นที่ที่สปอตไลต์ไม่ได้ส่อง ในห้องหลังม่านที่ไม่มีคนเฝ้ามอง นั่นก็คือทีม ‘อาสาสมัคร’ จำนวนหลายสิบชีวิต หลากหลายที่มา บ้างทำงานประจำเป็นระดับผู้บริหาร บ้างเป็นอาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์ บ้างเป็นศิลปิน บ้างเป็นเด็กจบใหม่ บ้างกำลังทำวิจัย แต่ในความหลากหลาย และหน้าที่การงานมากมายที่รับผิดชอบอยู่แล้ว พวกเขาก็ยัง ‘อาสา’ มาทำงานเบื้องหลังให้กับเวทีนี้เป็นเวลาหลายเดือน

        ไมเคิล แซนเดล (Michael Sandel) เคยกล่าวไว้ในหนังสือ ‘What Money Can’t Buy’ ของเขาไว้ว่าโลกได้เปลี่ยนจากเศรษฐกิจแบบตลาด (Market Economy) ไปเป็นสังคมแบบตลาด (Market Society) ไปแล้ว กล่าวคือเรามีปฏิสัมพันธ์กันในลักษณะแลกเปลี่ยน ได้มา-ให้ไปกันมากขึ้น แต่ถ้าเป็นอย่างนั้น อะไรกันคือเหตุผลของการ ‘อาสา’ รูปแบบการทำงานที่ลงแรง ออกความคิด ทั้งๆ ที่ไม่มีรายได้ตอบแทน

        ถ้าเรากำลังอยู่กันในสังคมแบบตลาดอย่างที่แซนเดลว่าจริง เราสงสัยว่าทีมอาสาสมัครได้อะไรกลับคืนมา มันมีจริงหรือการทำสิ่งใดโดยไม่หวังผลตอบแทน หรือคุณค่าบางอย่างนั้นตอบแทนคนทำงาน – อย่างที่เงินก็ให้ไม่ได้

        a day BULLETIN ล้อมวงพูดคุยกับตัวแทนอาสาสมัครสามวัย สามที่มาจากทีม TEDxBangkok หนึ่ง) ‘ไมเคิล’ – อธิวรรธน์ วงศ์ไวศยวรรณ Lead Consulting จากที่ปรึกษาซอฟต์แวร์ บทบาท Curator สอง) ‘ฮัลเลย์’ – ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์ ครูสอนพิเศษวิชาชีววิทยา บทบาท Content Writer และ สาม) ‘มัดหมี่’ – วิสสุตา กัจฉมาภรณ์ Gap-year Explorer ที่เพิ่งจบมัธยมปลายและกำลังค้นหาตัวเองผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งการจัดแคมเปญสื่อสารเรื่องปลาวาฬ รวมถึงทำงานอาสาสมัครให้กับ TEDxBangkok ในบทบาท Curator 

        บทสนทนาก่อนออกเดินทางเข้าร่วมงานในปีนี้ต่างไปจากเดิมด้วยระยะเวลาทั้งหมด 15 วัน กับ 3 วันนัดหมายสำคัญที่ผู้คนจะได้มารวมตัวกัน แลกเปลี่ยนถึงทอล์กที่พวกเขาได้รับฟังไปภายใต้หัวข้อ ‘AWAKE’ ที่จะปลุกให้คนตื่นด้วย ‘ความคิดที่ควรค่าแก่การเผยแพร่’ ที่เมื่อได้พูดคุยกับตัวแทนอาสาสมัครทั้งสามแล้วต้องบอกว่า วิธีการทำงานเบื้องหลังของพวกเขานั้น ‘ควรค่าแก่การเผยแพร่’  ไม่น้อยไปกว่ากัน

 

 

TEDxBangkok

ใครทำอะไรในทีมบ้าง และทำไมถึงเลือกตำแหน่งนี้

        ไมเคิล: เราเลือกคิวเรเตอร์ หน้าที่คือค้นหาสปีกเกอร์ ช่วยคราฟต์ไอเดียว่าจะเสนอเรื่องราวอะไรภายใต้ธีมของปีนี้ ตอนสมัครคิดว่าอย่างแรกเลยคืออยากทำสิ่งที่ไม่เคยทำ เพราะจริงๆ ทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ไม่เกี่ยวอะไรกับคิวเรเตอร์เลย แต่ชอบฟังเท็ดอยู่แล้ว เลยอยากทำฝ่ายที่เกี่ยวกับเนื้อหา

        ฮัลเลย์: อยู่ทีมพีอาร์ครับ ทำหน้าที่สื่อสารเนื้อหาต่างๆ ให้ออกไปในวงกว้าง ตำแหน่งนี้มันต่างกับงานประจำมากที่เป็นครูสอนชีววิทยา สอนพิเศษ แต่เราชอบงานสื่อสารเลยอยากทำ จริงๆ เคยเป็นอาสาให้กับเท็ดมาตอนปี 2016-2017 แต่พักไปช่วงหนึ่งเพื่อไปเรียนต่อ ปีนี้กลับมาทำงาน เลยพอมีเวลาว่าง ก็อยากทำเท็ดอีกครั้ง แต่มันก็ไม่เหมือนเดิมเพราะเป็นบทบาทที่ต้องละเอียดมากขึ้น ตั้งแต่คิดคอนเทนต์ไปจนพิสูจน์อักษร ภาพเล็กก็ต้องใส่ใจ ภาพใหญ่ของการสื่อสารก็ต้องดู มันเป็นสิ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อนเลย มันเลยเป็นการกลับมาอาสาที่เดิม แต่ทุกอย่างใหม่มาก

        มัดหมี่: ฟังเท็ดมาตั้งแต่อยู่ ม.ปลาย ตอนแรกไม่แน่ใจว่าเขาจะรับหรือเปล่า เพิ่งเรียนจบมา ไม่เคยทำงานด้านนี้เลย แต่ก็ลองสมัครเป็นคิวเรเตอร์ดู เพราะคิดว่าน่าจะได้ใกล้ชิดกับสปีกเกอร์ที่มีแต่คนเจ๋งๆ แต่ต่อให้ไม่ใช่คิวเรเตอร์ ก็ยังอยากเป็นอาสาสมัครด้วยอยู่ดี ให้เป็นดอร์แมน เป็นอะไรก็ได้ 

 

ปกติคนเราถ้าจะสมัครงานก็ต้องดูก่อนว่าได้ทำตำแหน่งอะไร เท็ดพิเศษอย่างไรถึงต่อให้ไม่ใช่ตำแหน่งที่สมัครก็ยังอยากจะทำ

        มัดหมี่: เราเคยไปงานแล้วเจอคนเก่งๆ เจ๋งๆ เต็มไปหมด เลยรู้สึกว่ามันเป็นโอกาสที่เราน่าจะได้เรียนรู้อะไรมากกว่าที่เคยทำมา

        ฮัลเลย์: เราเองก็ชอบคนที่อยู่ตรงนี้ เขาดูมีไฟในการทำงานกัน มีคนหลากหลาย สายสถาปัตย์ กราฟิกดีไซน์ เป็นคนที่งานประจำเราจะไม่ได้เจอเลย มันเป็นคอมมูนิตี้ที่น่าสนใจ เราสมัครทำพีอาร์ก็จริง แต่ก็ไม่ได้กำหนดว่าต้องทำตำแหน่งอะไรขนาดนั้น เอาจริงถ้าอยากทำก็ลองสมัครเลย จะได้รู้ว่าเราทำได้ไหม

        ไมเคิล: ไม่ได้สนใจตำแหน่งเหมือนกัน แค่ชอบเท็ด ทำเพราะอยากลองทำในสิ่งที่สนใจ แม้เราจะไม่แน่ใจว่ามีสกิลที่เหมาะหรือเปล่า แต่เราทำได้แค่สมัครไปก่อน จะรับหรือไม่รับมันคือเรื่องของทีมแล้ว 

 

ปกติถ้าบริษัทรับคนเข้าทำงาน เรามักเลือกคนที่มีทักษะ มีประสบการณ์ คิดว่าอะไรที่ทำให้เท็ดเปิดรับอาสาสมัครที่บางครั้งไม่เคยทำงานด้านนั้นมาก่อน เท็ดมองหาอะไรในอาสาสมัครถ้าไม่ใช่ทักษะ ประสบการณ์

        ไมเคิล: คือเราก็เคยขึ้นเวทีมาบ้าง เคยทำคอนเทนต์เองมาบ้าง เคยผ่านความกดดันของการพูดมาก่อน และคิดว่าฟังเท็ดมาเยอะพอสมควร พอจับได้ว่าอะไรคือ good talk หรือ… (หยุดคิด) เราไม่อยากใช้คำว่า bad talk แต่มันคือทอล์กที่ยังบ่มไม่สุก มันยิงไม่ตรงเป้า อย่างตอนซ้อมมันจะมีสปีกเกอร์บางคนที่เขาเล่าเรื่องของเขาแล้วมีคนสะอื้นเลย คือเราก็รู้ว่ามันดี แต่มันทำให้คนอื่นรู้สึกตามได้ด้วย เราก็คิดตามว่าทำยังไงนะจะทำให้คนรู้สึกกับทอล์กได้มากที่สุด มีคนเปิดรับไอเดียนั้นได้มากที่สุด

 

 

TEDxBangkok

ดูแต่ละคนจะติดตามเท็ดกันมาอยู่แล้ว พอได้เข้ามาทำงานเบื้องหลังจริงๆ ภาพที่เห็นกับภาพที่เป็นมันต่างกันหรือไม่ อย่างไร

        ไมเคิล: ไม่ได้คาดหวังอะไรนะ แค่ได้ทำก็ดีใจแล้ว ดีใจที่ได้เสนอไอเดีย ชอบที่ได้เห็นกระบวนการทำงาน และที่ชอบมากๆ ก็คือ อาสาสมัครแต่ละคนไฟแรงมาก แทบไม่มีใครอู้เลย ตีหนึ่งตีสองก็ยังทำงานกัน ไม่ได้ทำเพราะมีใครสั่งด้วยนะ สิ่งพวกนี้มันเกินคาดมากสำหรับเรา

        ฮัลเลย์: แต่ก่อนเราเป็นคนทำงานในห้องแล็บ อยู่กับตัวเองทั้งวัน พอมาเจอคนที่ไอเดียพุ่งพล่าน ทุกคนเอาไอเดียมาเสนอกัน การประชุมแต่ละครั้งมันยาวมาก แต่ทุกคนก็ให้ความร่วมมือ อยู่ด้วยกันจนกว่าจะได้ข้อสรุป ยอมรับด้วยกันตอนจบ มันเป็นความหลากหลายที่หาจุดร่วมกันเจอ ซึ่งมันหาได้ยาก แถมมันยังเป็นกลุ่มที่ไม่มีใครเป็นหัวหน้าใครอีก ไม่มีใครสั่ง ไม่มีใครบังคับ 

        มัดหมี่: เราไม่เคยทำงานมาก่อนในชีวิต ก็เลยไม่มีความคาดหวังอะไร ไม่รู้ว่าปกติคนเขาทำงานกันอย่างไร 

 

ในความเป็นน้องเล็กสุด ท่ามกลางรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ทำงานมามาก บรรยากาศแบบไหนที่เขาทำให้เราสามารถมีส่วนร่วมได้ ไม่รู้สึกกดดัน

        มัดหมี่: พี่ๆ เขาจะค่อยๆ ถามว่าเราคิดยังไง ตอนแรกก็งงๆ ว่าต้องทำอะไรบ้าง พอพี่ๆ เขาขอไอเดียจากเรา ที่ตอนแรกเราก็คิดไม่ออก เขาก็จะปล่อยให้เราค่อยๆ คิด เวลาเราพูดอะไร ไม่มีใครมาตัดสินเราว่าอะไรดีไม่ดี เราก็ค่อยๆ เรียนรู้จากวิธีการของพี่ๆ เขา เขาคิดอะไร ออกความเห็นกันยังไง มันก็ทำให้เราค่อยๆ ลองทำดูบ้าง

 

ทำงานกันดึกดื่น กระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วม ไม่เกี่ยงตำแหน่ง ไม่รอให้ใครมาบังคับ – อะไรทำให้อาสาสมัครเท็ดทุ่มเทกับมันขนาดนี้ ทั้งที่นี่ก็เป็นงาน ‘อาสา’ ที่ไม่มีรายได้ตอบแทน

        ฮัลเลย์: ถ้ามันได้เงิน เราจะทำเท่าที่มันคุ้มค่ากับเงินที่ได้มา แต่พอไม่มีเงิน ไม่มีเพดาน ไม่มีกรอบจำกัด คนเรามันก็จะ go beyond กรอบบางอย่าง ใส่เต็มที่เลยคราวนี้

        ไมเคิล: เราว่ามันเป็นธรรมชาติ คนเราชอบที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่แล้ว เช่น มัดหมี่นี่พูดน้อยแต่ต่อยหนัก นานๆ เขาจะพูดทีแต่พูดแล้วลึกมาก เขามีมุมมองที่คนอายุมากกว่า หรือมีวุฒิภาวะมากกว่านึกไม่ถึง เราสนุกกับอะไรแบบนี้ เหมือนได้มาทำงานกลุ่มสมัยมัธยม คือพอเป็นเพื่อนกัน เป็นทีมเดียวกันมันไม่มีเส้นแบ่งระดับชั้น มันแค่อยากทำให้งานออกมาดีด้วยกัน

        มัดหมี่: มันไม่ใช่เรื่องเงินแต่แรกอยู่แล้ว แต่ละคนชัดเจนว่าอยากเข้ามาเพื่อจะได้ทำอะไรใหม่ๆ งั้นถ้าเราทำมาก เราก็ได้เรียนรู้มาก ถ้าหาข้อมูลสปีกเกอร์ได้เยอะ เราก็ได้รู้จักคนในวงกว้างขึ้น หรือถ้าเราเข้าฟังประชุมออนไลน์เวลาคนในทีมเสนอสปีกเกอร์ เราก็ได้ข้อมูลใหม่ๆ ที่คนอื่นเตรียมมา พอคนมันอยากจะรู้อยู่แล้ว ก็ไม่มีใครต้องบังคับใคร

 

 

TEDxBangkok

ความหลากหลายของคนในทีมเท็ดเป็นเรื่องบังเอิญ หรือเป็นสิ่งที่ถูกดีไซน์มา และความหลากหลายของคนในทีมส่งผลอย่างไรต่อกระบวนการและผลของงาน

        มัดหมี่: เวลาอยู่ที่โรงเรียน เราก็เจอแต่คนรุ่นเดียวกัน มาจากโรงเรียนเดียวกัน ถูกสอนเหมือนกัน อยู่ในกฎเดียวกัน เราเลยไม่รู้ว่าคนในสังคมอื่นเขาคิดยังไง พอได้เจอคนที่คิดต่างกันมันเตือนเราเลยว่าสิ่งที่เราเชื่ออยู่อาจไม่ใช่ความจริงสูงสุด คนที่เขาเชื่อในมุมอื่นๆ ด้วยเหตุผลอื่นๆ ก็มี

        ฮัลเลย์: แต่ก่อนตอนเรียนปริญญาเอก ทำงานในแล็บ ขลุกอยู่ในโซเชียลฯ เหมือนเราอยู่ในวงจรเดิมๆ ตอนนี้เหมือนเราเอาเข็มเจาะบับเบิ้ลตัวเองออกมา มันก็ได้ความเห็นใหม่ๆ สุดท้ายเราก็เลือกรับข้อมูลเองแหละ แต่คลังข้อมูลมันมากกว่าแต่ก่อน เราไม่จำกัดยึดติดอยู่แค่สิ่งที่เราเคยเชื่อแล้ว 

        ไมเคิล: รู้สึกไหมว่าเราจะจำความยากลำบาก ความล้มเหลวได้ดีกว่าความราบรื่น อะไรผ่านไปด้วยดีเป็นปกติเราไม่ค่อยจำหรอก แต่ถ้ามันท้าทายเรา เราจะเรียนรู้และจำมันได้ดี เหมือนกับความต่าง เวลามันโพล่งขึ้นมา บางทีมันก็สะกิดความรู้สึก กระทบเราเหมือนกันนะ แต่ถ้าถูกกระแทกบ่อยๆ เราจะไม่ตึงแล้ว เราจะยืดหยุ่น ยิ่งทำงานกับคิวเรเตอร์ที่ต้องคุยกันตลอด ต้องถกต้องเถียง มันโยนเราไปเจอมุมมองใหม่ๆ ที่ไม่เคยเจอ หรือบางทีสิ่งที่ดูต่างกันมากๆ พี่อ๋อง (วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ) ก็จะนั่งนิ่งๆ ไปสักพัก แล้วบอกว่ามันคือสิ่งเดียวกัน เขาเชื่อมโยงมันได้ พอเราถูกทำให้เห็นความเชื่อมโยงแบบนี้บ่อยๆ เราจะรับมือกับความต่างได้สบายมาก หรือบางครั้งที่เราคุยกับสปีกเกอร์จนหมดคำถามแล้ว หมดข้อสงสัยแล้ว แต่มัดหมี่เขายังถามต่อ เราก็… เออ ใช่ๆ มันมีเรื่องให้เราหาคำตอบได้ไม่จบสิ้น และมันก็ทำให้เห็นว่า คนไม่ว่าจะวัยไหน เขามีมุมมองที่น่าสนใจทั้งนั้น อายุไม่ใช่สิ่งที่จะมาตัดสินกันได้เลย ทุกวัย ทุกสาขา มีมุมมองที่มีค่าหมด

 

ดูเหมือนว่าเท็ดไม่ใช่แค่ผลลัพธ์ที่เป็นทอล์กในวันงาน แต่คือกระบวนการระหว่างการทำงาน 

        ฮัลเลย์: TED is not only talk เป็นสิ่งที่พูดกันมาสักพัก อย่างปีนี้เรามาในหัวข้อ AWAKE เพราะเราอยากสร้างกระบวนการให้คนได้มารู้จักตัวเอง สังคม ผู้คนที่ออกเดินทางด้วยกัน ค่อยๆ เกิดการตื่น ไปเรื่อยๆ ระหว่างเข้าร่วมกิจกรรม งานปีนี้เลยต่างไปจากปีอื่นๆ ยาวเป็นพิเศษ มีทั้งหมด 15 วัน ตั้งแต่ 15-29 สิงหาคม มีอีเวนต์ให้เข้าร่วม มีเกมให้เล่น และจะมีหลักไมล์สำคัญสามวันคือ 15, 22 และ 29 ที่ผู้ฟังจะได้มาเจอกัน มาฟังทอล์ก ได้พูดคุย แลกเปลี่ยน โดยเราจะมีกล่องเครื่องมือให้แต่ละคนได้บันทึกเรื่องราวในแต่ละวัน ให้ได้สังเกต ทบทวนตัวเองไปตลอดการร่วมกิจกรรม 

        มัดหมี่: เราคุยกันว่าถ้าเราพูดถึงการเปลี่ยนแปลง ทำไมต้องเป็นแค่ทอล์กบนเวที แต่ครั้งนี้เราไม่ได้พูดเฉยๆ มีกิจกรรมด้วย อยากให้มันเป็นมากกว่าทอล์ก

        ไมเคิล: คำว่า Awake มันคือการชนกันของความรู้ทั้งเก่าและใหม่ มันไม่มีอะไรมาแทนที่อะไร อาจมีคนถามว่าเราเป็นใคร ทำไมกล้ามาบอกได้ว่าคนต้องตื่นรู้ ต้องรู้สึก เราไม่ได้บอกให้ทุกคนตื่น แต่เรามานั่งดูกันว่าประสบการณ์แบบไหนที่ทำให้คนเกิดอาการตื่นขึ้นมาได้ แล้วไปสร้างปัจจัยต่างๆ ให้เขาได้เจอประสบการณ์แบบนั้นด้วยตัวเอง เช่น บางคนอ่านนิยายแล้วตื่น บางคนออกเดินทางแล้วตื่น เราแค่เอาสิ่งเหล่านั้นมาปะติดปะต่อกัน แล้วให้เขาได้เรียนรู้เอง ฉะนั้น งานปีนี้ที่มันต้องจัดยาวถึง 15 วันเพราะมันเป็นการดีไซน์เพื่อให้เกิด environment change เพื่อให้เขาได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มันจะไปกระตุ้น กระทบความรู้สึกข้างใน ไปเขย่าความคิดที่เขาเคยยึดติดมาก่อน

 

ทำไมปีนี้ต้อง AWAKE การตื่นรู้ ตื่นตัวสำคัญอย่างไร 

        ไมเคิล: มันก็มีไอเดียเกิดขึ้นเยอะมาก แต่ช่วงที่ brainstorm กันมันเป็นช่วงที่โควิด-19 เริ่มมา มีไฟป่า PM 2.5 เพิ่งผ่านเหตุการณ์กราดยิง เราเลยรู้สึกว่าโลกตอนนี้ความหวังมันหดหายเหลือเกิน เราอยากให้คนมีความหวังขึ้นมาได้บ้าง ตื่นจากความเศร้าได้บ้าง ให้กลับมารู้ตัวว่าทำอะไรอยู่ ทำอะไรได้อีกบ้าง หรือตรงกันข้ามถ้าเขาเพิกเฉย ไม่รู้สึกอะไรเลย ก็ตื่นได้เช่นกันว่าความจริงเป็นอย่างไร 

        มัดหมี่: Awke คือการตื่นรู้ ขยับจากความรู้ ความเชื่อเดิมไปสู่ความคิดใหม่ ไม่ใช่ว่าสปีกเกอร์มาบอกให้ตื่นนะ แต่เขาจะไปสะกิดให้คนฟังได้ตื่นด้วยประสบการณ์ของเขาเอง จริงๆ มันมีไอเดียดีๆที่ตกรอบไปเยอะเหมือนกัน แต่เวลาประชุมเราก็จะหยิบไอเดียพวกนั้นมาพิจารณาใหม่ สุดท้ายมันก็เป็นไอเดียสุดท้ายที่มาจากไอเดียที่เคยเสนอกันไป ไม่มีไอเดียอะไรที่หายไป เพียงแค่มันถูกนำเสนอด้วยมุมไหนเท่านั้นเอง

        ฮัลเลย์: แต่เราไม่ได้ยัดเยียดนะ เราเลือกเนื้อหา สปีกเกอร์มาก็จริง แต่ถ้าคุณรับไปแล้วอยากแย้ง อยากดีเบต เรายินดีมาก นั่นคือเหตุผลที่งานของเรามันต้องมีวันให้คนออกมาเจอกัน จะได้มานั่งคุยกันว่าอะไรที่เราคิดต่าง หรือเห็นด้วย

 

 

TEDxBangkok

ช่วงนี้มีทอล์ก มีคอนเทนต์ออนไลน์เยอะมาก เท็ดปีนี้ก็ดูเหมือนถูกผลักให้ไปอยู่ออนไลน์ แต่ทำไมยังต้องให้มีกิจกรรมออฟไลน์อยู่

        ฮัลเลย์: พูดไปมันเหมือนเข้าข้างตัวเองนะ แต่คนที่เคยได้มานั่งฟังในฮอลล์ มาร่วมกิจกรรมเต็มวันจะรู้สึกถึงพลังงานอบอวลทั้งจากสปีกเกอร์ ทีมงาน และผู้ฟังด้วยกันเอง และเท็ดไม่ได้มีแค่เนื้อหาบนเวที แต่กิจกรรมนอกฮอลล์ก็เป็นสิ่งที่เราใส่ใจมากๆ ยิ่งช่วงนี้ที่เราเจอกันไม่ค่อยได้ มันยิ่งเห็นเลยว่าการได้ฟัง ได้อยู่ด้วยกัน การได้คอนเน็ต์กันมันสำคัญยังไง 

        มัดหมี่: แต่ก่อนเราก็เป็นคนที่มาเข้าร่วม และมันไม่ได้มีแค่สปีกเกอร์บนเวทีจริงๆ พอออกนอกห้องมามันมี Open Mic ให้ผู้เข้าร่วมเหมือนกันมาเปิดมินิทอล์กของตัวเอง มันก็เห็นเลยว่าทุกคนรอบตัวเรานี่มีเรื่องน่าสนใจนะ

        ไมเคิล: ยิ่งมีโควิด-19 มันยิ่งเป็นโอกาสให้เราถามกันเองว่าเราจะเป็นแค่ทอล์กหรอ ถ้าเราคิดว่าไม่ใช่ เราลองทำอะไรที่ไม่เคยทำได้ไหม ยิ่งโลกมันบังคับให้เราต้องมีระยะห่างระหว่างกัน เราจะทำยังไงให้คนกลับมาคอนเน็กต์กันได้ เราเลยบอกทุกคนว่าโยนไอเดียใหญ่ๆ ไปเลย เราจะรู้ว่ามันเกิดขึ้นได้หรือเปล่าก็ต่อเมื่อได้ทดลองแล้วเท่านั้นแหละ 

 

คิดว่าการมีเท็ดแค่ปีละครั้งมันสร้างแรงกระเพื่อมเพื่อการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้จริงไหม กังวลไหมว่ามันจะเป็นเพียงพลุที่จุดแล้วดัง สว่างอยู่สักพัก แล้วหายไป

        ไมเคิล: เป็นเรื่องที่คุยกับทีมเหมือนกัน ตอนนี้เรายังมองว่าเท็ดมีความเป็นโปรเจ็กต์อยู่ คือมันมีไทม์ไลน์ชัดเจน แต่เราอยากชวนมองเท็ดเป็นโปรดักต์มากกว่าโปรเจ็กต์ เพราะ product lives longer เราต้องคิดถึงมันในระยะยาวมากกว่า ต้องพัฒนามันไปเรื่อยๆ ส่วนเรื่องมันจะสร้างผลอะไรหรือไม่ คนจะชอบไหม เราคิดว่าเราทำอะไรไม่ได้ นั่นเป็นความเห็นของเขา ส่วนของเราคือทำมันให้เต็มที่ วันนี้เขาอาจไม่ชอบทอล์กนี้ หรือไม่เข้าใจ แต่เหตุการณ์บางอย่างในอนาคตอาจทำให้คุณหวนคิดถึงสิ่งที่ได้ฟังวันนี้ งานปีนี้จัด 15 วันเพราะการตื่นมันต้องใช้เวลา การเปลี่ยนแปลงบางอย่างก็ต้องใช้เวลาเหมือนกัน

        ในทีมคิวเรเตอร์มันจะมีคำนึงว่า ‘call-to-action’ คือข้อความบางอย่างฝากไว้ให้คนลงมือทำ แต่เราว่ามันไม่ต้องมีคำตอบ หรือวิธีการตายตัวว่าคนฟังต้องทำอย่างไรก็ได้ เราว่ามันอาจเป็น ‘call-to-question’ ก็ได้ คือแทนที่จะให้คำตอบ เราทำให้เขาตั้งคำถามกับความเชื่อเดิมๆ แทน และการตั้งคำถามของเขานี่แหละจะทำให้เขาได้วิธีการ ได้แอ็กชันที่เป็นของเขาเอง ถ้าคนจะ AWAKE ได้มันต้องเกิดจากการที่ความรู้เก่าชนความรู้ใหม่ ฉะนั้น การตื่นมันไม่ได้มาจากผู้พูดอย่างเดียว มันต้องมาจากคนฟังด้วย 

        ถ้าจะใจหายอยู่บ้างก็คงเป็นเรื่องงานจบ แต่คิดว่าคนที่เคยร่วมทำอะไรกันสักอย่างแล้วเดี๋ยวมันจะวนมาเจอกันอีกจนได้ มันไม่หายจากกันไปไหนหรอก แค่เปลี่ยนโจทย์ เปลี่ยนบทบาท

 

มันเคยมีแฮชแท็กที่อาสาสมัครปีก่อนๆ พูดเล่นกันขำๆ ว่า #ทำเท็ดแล้วลาออก มันจริงไหม และคิดว่าเพราะอะไร

        ฮัลเลย์: ช่วงที่เราเรียนริญญาเอกอยู่ เราชอบเรียนนะ แต่ไม่ชอบทำวิจัยเลย ทำไปทุกข์ไป พอได้มาเจอคนในเท็ด มีคนชวนไปทำคอนเทนต์ ไปทำกิจกรรมนู่นนี่ เรารู้สึกเลยว่าชีวิตมันมีมากกว่าการเรียน มันทำให้เราตอบตัวเองได้มากขึ้นว่าอยากทำอะไร การมาเป็นอาสากับเท็ดมันทำให้เราเห็นความเป็นไปได้มากกว่าที่เราเคยคิดว่าเราทำได้

        ไมเคิล: โชคดีที่เราพักงานเองก่อนจะมาทำเท็ดเลยไม่เกิดขึ้นกับเรา (หัวเราะ) เราทำงานประจำมาสิบปีเต็ม ที่เดิม เขาเลยให้พักเต็มๆ สามเดือน ก็จังหวะโควิด-19 มาพอดี ได้ตอบรับเข้าทีมพอดี เลยกลายเป็นว่าตอนนี้ทำงานกับเท็ดฟูลไทม์ ไม่รู้เหมือนกันว่าถ้าเราทำงานประจำอยู่เราจะเต็มที่ได้ขนาดนี้ไหม แต่ที่เห็นคนทำงานประจำกัน ก็ตอบไลน์ตีหนึ่ง ตีสองกันอยู่นะ (หัวเราะ) 

 

 


        ผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมเดินทางในทริปนี้ไปด้วยกัน TEDxBangkok 2020 กรอกใบสมัครได้ ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม ไปจนถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2563 

        ครั้งแรกของ TEDxBangkok ที่จะไม่ได้เป็นเพียงแค่อีเวนต์วันเดียวจบ แต่มาพร้อมกิจกรรมอัดแน่นทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ที่คุณจะไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน:

  • 15 วัน ที่ไอเดียจะออกเดินทาง
  • 3 วันสำคัญ ของการนัดรวมตัว (15 และ 22 สิงหาคม 2563 ทางออนไลน์ และ 29 สิงหาคม 2563 ทางออฟไลน์ ณ มิวเซียมสยาม)
  • 6 ทอล์ก + 2 ชุดการแสดง ที่จะปลุกคุณให้ตื่น
  • 10 กิจกรรมหลากหลายรูปแบบและเนื้อหาที่จัดโดยทีมอาสาสมัคร ให้คุณได้เลือกสรรตามความสนใจ
  • 1 กระเป๋าเดินทาง ที่แพ็กอุปกรณ์สำคัญทั้งหมด ส่งตรงถึงบ้านคุณ
  • 1 คอมมูนิตี้ ที่จะผลักดันให้เกิดการลงมือทำไปพร้อมกัน

 

        ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/tedxbangkok และเว็บไซต์ https://www.tedxbangkok.com/tedxbangkok-2020