ธีรนันท์ มิตรภานนท์

คลายปัญหาสุขภาพจิตท่ามกลางโรคระบาด และการใช้ชีวิตในวันที่คนมองสิ่งรอบข้างติดลบไปหมด

“ไม่อยากให้ลืมว่าหมอก็เป็นคนคนหนึ่ง คนอื่นประสบพบเจออะไร หมอเองก็ประสบเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอน ความเครียด ความวิตกกังวล ดังนั้น เราก็ต้องอนุญาตให้หมอเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน” 

        คำกล่าวของ นพ. ธีรนันท์ มิตรภานนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นทั่วไป พรั่งพรูออกมาทันทีหลังจากกล่าวทักทายและถามไถ่สารทุกข์สุกดิบในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ เขากล่าวแทนใจหมอหลายคนที่กำลังต่างยุ่งวุ่นวายกับเคสการรักษาที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม ถึงแม้ว่าช่วงนี้คนจะเน้นโฟกัสไปที่ปัญหาโรคระบาดซึ่งเป็นปัญหาทางกาย แต่เอาเข้าจริงแล้ว ปัญหาทางจิตใจก็เป็นเรื่องสำคัญที่ควรได้รับการเยียวยารักษาไม่แพ้ไปกว่ากัน

        ประโยคสั้นๆ เพียงเท่านั้นปรับเปลี่ยนมุมมองของเราไปมากพอสมควร เนื่องจากในช่วงเวลาเช่นนี้ เราก็มักจะคิดถึงแต่ตัวเอง กังวลแต่ปัญหาเรื่องราวของตัวเอง มองเห็นหมอเป็นคนที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างแข็งแกร่ง เพรียบพร้อมที่จะเป็นผู้ให้การรักษาแก่เหล่าบรรดาคนไข้ทั้งหลายแหล่ จนอาจเผลอหลงลืมไปว่าหมอก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกันกับเรา บาดเจ็บ ล้มป่วยทางกายและใจได้ ไม่แตกต่างไปจากคนทั่วไปอย่างเรา

        จากนั้นจึงเริ่มเปิดประเด็น ชวนพูดคุยเรื่องสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่นตามความเชี่ยวชาญของคู่สนทนา การเติบโตเลี้ยงดูลูกในช่วงโควิด-19 ที่สภาวะแวดล้อมรอบข้างต้องปรับเปลี่ยน ความเครียดและภาวะซึมเศร้าที่เพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มคนเหล่านี้ อะไรคือหลักการและเหตุผลเบื้องหลัง รวมไปถึงแนวทางการแก้ปัญหาของเด็กและพ่อแม่ผู้ปกครอง

        ครึ่งหลังเราชวนคุยเรื่องคนวัยโตมากขึ้น ถึงประเด็นสุขภาพจิตกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ใครหลายคนมองว่ายากลำบากไปเสียหมด อย่างไรก็ตาม เขากลับบอกเราว่าไม่อยากให้มองโลกในแง่ลบจนเกินไป ในโลกที่เราอาศัยมีทั้งสีขาวและสีดำ ขึ้นอยู่ที่คนเราจะเลือกมอง หากเราหันมามองโลกบวกมากขึ้น ก็จะทำให้ให้เรารู้สึกดีกับสิ่งที่เกิดขึ้น และหาทางออกที่ดีได้ในท้ายที่สุด

ธีรนันท์ มิตรภานนท์

นพ. ธีรนันท์ มิตรภานนท์

ผลกระทบของหมอจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19

        งานช่วงนี้ก็ยุ่งมากกว่าเดิมในหลายๆ ด้าน ขอพูดแทนใจหมอทุกคนโดยรวมก็แล้วกัน เพราะหลายคนอาจจะมองว่าหมอคือผู้ให้การรักษา ต้องเป็นคนที่แข็งแกร่ง แต่จริงๆ แล้วก็ไม่อยากให้ลืมว่าหมอก็เป็นคนคนหนึ่ง คนอื่นประสบพบเจออะไร หมอเองก็ประสบเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอน ความเครียด ความวิตกกังวล ดังนั้น เราก็ต้องอนุญาตให้หมอเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน

        ไม่ได้อยากให้ยกย่องบุคลากรทางการแพทย์ฝ่ายเดียว แต่อยากให้ยกย่องทุกคน เพราะทุกคนเสียสละหมด เจ้าของร้านอาหารก็เสียสละปิดร้าน แต่ละหน้าที่เสียสละในรูปแบบแตกต่างกัน แต่ละคนมีคุณค่าในตัวเอง และทุกคนมีส่วนร่วมต่อสถานการณ์โควิด-19 ทั้งหมด ต้องเคารพซึ่งกันและกัน และพยายามทำให้วิกฤตนี้ออกมาดีที่สุดเท่าที่พวกเราจะสามารถทำได้ ผมคิดว่าเราไม่สามารถรอเพียงอย่างเดียวได้ เพราะทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมเหมือนกันหมด

พัฒนาการและสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่นในสถานการณ์โรคระบาด

        ช่วงโรคระบาดนี้ผู้ปกครองมักจะตั้งคำถามว่าการเรียนออนไลน์ส่งผลต่อพัฒนาการและสุขภาพจิตของเด็กอย่างไร ผมมองว่าปัญหาหลักไม่ใช่เรื่องการเรียนออนไลน์ แต่เมื่อโควิด-19 เข้ามา จึงทำให้เด็กต้องเรียนออนไลน์ ซึ่งเป็นการบังคับให้พวกเขาปรับเปลี่ยนสภาวะแวดล้อม และทำให้เกิดความเครียดขึ้นโดยไม่รู้ตัวมากกว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เกิดความยากลำบากในการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เกิดความไม่แน่นอน ไม่มั่นคงต่อชีวิต สถานการณ์แบบนี้จึงส่งผลต่อสุขภาพจิตของเด็ก

        ถัดมาคือ ความเครียดจากสภาพครอบครัว บางคนพ่อตกงาน แม่มีปัญหาทางการเงิน ไหนจะเรื่องความเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ที่ขยับขยายกลายเป็นความวิตกกังวลเกินไปจนนึกว่าจะป่วยเป็นโควิด-19 ก่อตัวเป็นภาวะสะเทือนใจ (Psychological Trauma) มีความเสี่ยงเป็นซึมเศร้า (Depression) โศกเศร้า (Sadness) ท้อแท้หมดหวัง (Hopeless) ที่สำคัญอาจคิด วางแผน หรือลงมือฆ่าตัวตายได้ หรือไม่อย่างนั้น ก็มีอาการไฮเปอร์ (Hyperactivity) คือซนกว่าเดิมไปเลย

ความแตกต่างระหว่างการเรียนออนไลน์และออนไซต์

        โรงเรียนสมัยนี้ เวลาเด็กมีปัญหาสุขภาพจิต ในบางแห่งจะมีนักจิตวิทยาหรือครูมาประเมินสภาวะจิตใจเด็กเบื้องต้น แต่ปัญหาตอนนี้คือเด็กเรียนจากที่บ้านจึงไม่มีใครประเมินสุขภาพจิตของเด็กเลย หากเด็กคนนั้นไม่ได้เกิดความเจ็บป่วยเกี่ยวกับโควิด-19 พ่อแม่ผู้ปกครองอาจจะเลือกไม่พาไปหาหมอ ทำให้พลาดการประเมินสุขภาพทางจิตอย่างทันท่วงที ถ้ารักษาช้าไปก็มีโอกาสเป็นเรื้อรัง รักษายากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น กรณีติดเชื้อโควิด-19 ขึ้นมาอีก แล้วก็ยังไม่มีนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์มาประเมิน ก็จะทำให้มีผลกระทบซ้ำซ้อน

        แต่ถ้าถามว่าจริงๆ แล้ว เด็กๆ ปกติไปโรงเรียนกันทำไม คนส่วนใหญ่ก็จะตอบว่าไปเรียนหนังสือ ผมถามกลับต่อไปว่าแล้วเรียนที่บ้านหรือโฮมสกูล (Home School) ไม่ได้เหรอ เพราะความเห็นของผม เด็กไปโรงเรียนเพื่อไปเล่น ไปเสริมสร้างพัฒนาการ ไปเรียนรู้เรื่องการสื่อสาร กฎเกณฑ์ และระเบียบวินัย เพราะเวลาอยู่โรงเรียนคือ การอยู่ร่วมกันในสังคม มีเพื่อนฝูง มีแบบอย่างให้เห็น มีแรงจูงใจให้เกิดการกระทำต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีของการไปโรงเรียน

ธีรนันท์ มิตรภานนท์

        ส่วนข้อดีของโฮมสกูล หลักๆ คือ ทำให้พ่อแม่เกิดความสบายใจมากขึ้น ลูกอยู่กับร่องกับรอยมากขึ้น ไม่ต้องเผชิญปัญหาการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน (bullying) ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญมาก การโดนแกล้งบ่อยๆ มีผลต่อสมอง พัฒนาการ และโรคจิตเวชหลายๆ อย่าง ต่อมาคือความสบายใจของเด็กที่ไม่กล้าเข้าสังคม (Social Phobia) ไม่อยากไปไหน เวลาเจอคนจะใจสั่นจากความกลัวของตัวเอง โดยเฉพาะเวลาพูดหน้าชั้นเรียนหรือจับไมค์ เด็กที่มีอาการแบบนี้อาการจะดีขึ้นเมื่อเรียนโฮมสกูล แต่ก็เป็นดาบสองคมเหมือนกัน เพราะวันนึงที่เขาต้องกลับเข้าสังคม จะลำบาก ซึ่งอาการแบบนี้ควรได้รับการรักษามากกว่า

        อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนจากเรียนออนไซต์มาออนไลน์ ก็ย่อมมีโอกาสส่งเสริมให้ผู้ป่วยเป็นโรคทางจิตเวชมีอาการหนักขึ้น ส่วนคนที่ไม่ป่วย ก็มีโอกาสป่วยได้จากสิ่งเร้าและการกระตุ้นทางพันธุกรรม (genetics) โดยเฉพาะคนที่มีรหัสพันธุกรรมของซึมเศร้าอยู่แล้ว หรือมีพ่อแม่ญาติพี่น้องป่วยเป็นซึมเศร้า ก็จะยิ่งส่งเสริมให้มีโอกาสเป็นมากกว่าคนทั่วไป

แนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับเด็กและผู้ปกครอง

        การแก้ไขปัญหามีหลากหลายวิธีการ วิธีแรกคือปรับแก้แรงจูงใจ (motivation) แบ่งออกเป็นสองส่วน คือแรงที่ผลักให้เราทำ และแรงที่ดึงรั้งเราเอาไว้ มาได้จากหลากหลายทาง หนึ่ง พันธุกรรมหรือสารเคมีในสมอง ซึ่งก็ต้องให้จิตแพทย์จ่ายยาเพื่อรักษา สอง อารมณ์ นิสัยใจคอ สาม สภาวะแวดล้อมทางสังคม อิทธิพลทางสังคม และสี่ กระบวนการคิด หรือมายด์เซต (mindset)

        อีกส่วนหนึ่งมาจากการดูแลตัวเอง แบ่งออกเป็นสี่ประเภท ได้แก่ หนึ่ง การกินอาหารให้ครบห้าหมู่ เพราะวิตามินบางอย่างเป็นสารตั้งต้นเคมีในสมอง บางคนก็ขาดวิตามินแบบไม่รู้ตัว สอง การดื่มน้ำให้เพียงพอ รวมไปถึงการไม่ดื่มสิ่งไม่ดี สาม การนอน งดเล่นมือถือก่อนนอนสองชั่วโมง และควรนอนเวลาสี่ทุ่ม เพราะ Growth Hormone จะหลั่งในช่วงห้าทุ่มถึงตีหนึ่ง และสี่ การออกกำลังกายเบาๆ ครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมง ให้ระดับการเต้นของหัวใจอยู่ในระดับการเต้นแอโรบิd ให้ออกซิเจนมาเผาผลาญพลังงานบริสุทธิ์ เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้าง Growth Hormone ให้ไปพัฒนาสมองและอารมณ์ แรงจูงใจก็จะกลับมา

        ต่อมาก็คือ ความมีวินัยระเบียบ (discipline) หรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ต้องมีข้อตกลงชัดเจน แต่จำไว้เสมอว่าคนเราไม่ใช่หุ่นยนต์ คงไม่สามารถบังคับอะไรได้ขนาดนั้น จึงควรสร้างกรอบกิจวัตรประจำวันกว้างๆ ที่เหลือก็ให้เขาได้ฟรีสไตล์ พอสร้างเด็กมีพฤติกรรมอยู่ในกฎระเบียบ ก็ควรจะได้รับรางวัลเป็นแรงจูงใจ ทางหนึ่งคือ การเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcement) คือให้พักผ่อน ทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ หรือหยิบของที่เขาชอบให้เป็นรางวัล อีกทางหนึ่งคือ การเสริมแรงทางลบ (Negative Reinforcement) เหมือนเป็นการให้รางวัล แต่เป็นการหยิบสิ่งที่เด็กไม่ชอบออกไป เช่น วันนี้ให้ละเว้นการทำงานบ้าน ส่วนการลงโทษ (Punishment) ไม่ว่าจะดุด่า ว่ากล่าว หรือตี ให้หลีกเลี่ยง อีกทั้งพ่อแม่ต้องระมัดระวังอารมณ์ตัวเอง อย่าเอาอารมณ์ลบใส่เข้าไปในเด็ก ถึงแม้ว่าจะมีความเครียดหรือกังวล ก็พยายามอย่าแสดงออกเชิงลบ ให้เลือกแสดงออกเชิงบวกจะส่งผลดีมากกว่า

การประคับประคองจิตใจในเวลาที่ยากลำบาก

        เริ่มต้นด้วยความเข้าอกเข้าใจ (empathy) คือการแสดงออกถึงการรับรู้ความรู้สึกหรือมุมมองของอีกฝ่ายหนึ่ง ว่าเราเข้าใจว่าเขากำลังประสบภาวะอะไรบางอย่างอยู่ เราต้องยอมรับ เปิดใจฟัง โดยที่ไม่บอกว่าความคิดใครถูกหรือผิด เป็นการเสริมกำลังใจให้เขารู้สึกถึงคุณค่าของตัวเองและการยอมรับจากสังคม คือเขาทุกข์อยู่เราจึงยื่นมือเข้าไปช่วยเพราะว่าเรารับรู้ แต่ไม่ใช่กระโดดลงไปจมด้วยกัน แตกต่างจากความเห็นอกเห็นใจ (sympathy) ที่เหมือนเรารับรู้แล้วเข้าไปกอดคอร้องไห้ จมดิ่งไปด้วยกัน ซึ่งถ้าหากทุกสถานการณ์สามารถมีความเข้าอกเข้าใจกันและกันได้เช่นนี้ ก็จะช่วยเยียวยาไม่เพียงแค่คนอื่น แต่รวมถึงตัวเราเองด้วย

ต่อมาคือการมีความหวัง (hope) แต่ความหวังจะไม่เกิดขึ้น หรือหมดหวัง (hopeless) ก็เพราะว่าความกลัวสิ่งแย่ๆ ที่จะเกิดขึ้น แน่นอนว่าสิ่งที่แย่ไม่ได้ทางเกิดร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้ว่าสมองเราเชื่อว่าจะเกิดขึ้นเช่นนั้น ความจริงอาจเกิดขึ้นเพียงยี่สิบเปอร์เซ็นต์ เราสามารถแก้ปัญหาได้โดยการเปลี่ยนกระบวนการคิดทั้งสองส่วน คือกายและใจ ดูแลกายให้ดี ชีวิตจะสดใส หาอะไรฟังเชิงบวก ไปคลุกคลีกับคนที่มีมายด์เซตบวก และมองว่าคนเราไม่ได้เพอร์เฟกต์ไปเสียทุกอย่าง

ธีรนันท์ มิตรภานนท์

        ทางออกของคนหมดหวังอาจไม่ใช่การหาหนทางเยียวยาเพียงอย่างเดียว หมอขอตั้งข้อสังเกตว่าคุณอาจป่วยเป็นซึมเศร้าหรือเปล่า หากเป็นเช่นนั้นก็ควรจะนำไปสู่การรักษา โดยลักษณะของผู้ป่วยเป็นซึมเศร้าก็จะประกอบด้วยสามอย่าง หนึ่ง คิดลบต่อตนเอง มองอะไรที่เกี่ยวกับตนเองลบไปหมด สอง มองสภาวะแวดล้อมลบ ทั้งที่สิ่งแวดล้อมรอบข้างเหมือนเดิม แต่กลับมองแต่สิ่งลบๆ สาม อนาคตลบ รู้สึกสิ้นหวัง มองไม่เห็นอนาคต

        หากคุณรู้สึกเช่นนี้ หมอแนะนำให้คัดกรองอาการซึมเศร้าเบื้องต้น ถ้าสงสัยจริงๆ ไปปรึกษาจิตแพทย์เลย จะคัดกรองจากแบบประเมินออนไลน์ หรือโทร.เข้าไปปรึกษาโรงพยาบาลก็ได้ สุดท้ายก็คือ เข้าสู่กระบวนการประเมินรักษา ทำจิตบำบัด ให้หมอจ่ายยา และปรับมายด์เซตให้ดีขึ้น

ปรับความคิด เปลี่ยนชีวิตให้เต็มไปด้วยมุมมองเชิงบวก

        สถานการณ์ในช่วงนี้ใครหลายคนอาจมองอะไรลบไปหมด ทางแก้คือยอมรับความจริงและเห็นความจริง ว่าในความจริงนั้นจะมีสิ่งที่คุณชอบและไม่ชอบ ทั้งบวกและลบอยู่ แล้วคุณก็ไปโฟกัสแล้วหยิบสิ่งที่บวกขึ้นมา คุณต้องวิเคราะห์ก่อนว่าสถานการณ์นี้มีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง คุณจะหยิบข้อดีอะไรออกมาเป็นประโยชน์ได้บ้าง เหมือนคุณได้ดินมากองนึงก็ร่อนออกให้เหลือแต่ทอง มองถึงความเป็นไปได้ ในวิกฤตย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ ในโลกที่เราอาศัยมีทั้งสีขาวและสีดำ ขึ้นอยู่ที่คนเราจะเลือกมอง หากเราหันมามองโลกบวกมากขึ้น ก็จะทำให้ให้เรารู้สึกดีกับสิ่งที่เกิดขึ้น และหาทางออกที่ดีได้ในท้ายที่สุด

        ส่วนสำหรับใครที่ป่วยเป็นซึมเศร้าอยู่แล้ว การมองโลกในแง่บวกอาจเป็นเรื่องยาก ดังนั้น ปัญหาคือเราจะช่วยคนที่มองลบอย่างไรให้มองบวก หมอจะพยายามทำให้ง่ายที่สุดคือ เราก็ต้องรู้ตัวก่อนว่าช่วงที่มีความเครียดจะทำให้อาการแย่ลง สิ่งที่เราไม่คาดคิดจะทำให้เราเซอร์ไพรส์ และถ้ารู้ว่าเราเครียดเยอะๆ อาการซึมเศร้าจะแย่ลงบ้างนิดหน่อยนะ เราต้องหาทางป้องกัน กายกับใจสำคัญ และที่สำคัญอย่าหยุดยาซึมเศร้า ถ้ารักษาอยู่แล้วให้รักษาต่อเนื่อง ถ้าอาการแย่ลงจะปรับยาหรือเปลี่ยนวิธีรักษานั่นคือหน้าที่ของหมอ ส่วนที่เราทำได้คือออกกำลังกาย นอนให้เพียงพอ ปรับความคิด และทำจิตบำบัด

เอาชนะความกล้า มาหาจิตแพทย์

        แต่ก่อนคนมักจะมองผู้ป่วยจิตเวชในทางลบ ปัญหาคือชุดความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่แพร่หลาย ไม่ได้อัปเดต ทัศนคติของผู้ใหญ่บางครั้งเราก็ต้องยอมรับและเข้าอกเข้าใจเขาที่มองแบบนั้น เราอาจจะเปลี่ยนความคิดเขายาก แต่ถ้าเปลี่ยนได้ก็ควรเปลี่ยน สำคัญที่สุดไม่ใช่คนอื่นมองอย่างไร แต่คือตัวเราเองมองอย่างไร

        ถามว่าจิตเวชตอนนี้ทำไมถึงให้หมอรักษา เพราะหนึ่งต้องใช้ยา และสองเราอาจตรวจเจอหลายโรคที่พ่วงมากับโรคทางจิตเวช ดังนั้น เราจึงควรได้รับการประเมินตรวจเช็กสุขภาพ ว่ามีสัญญาณอะไรบางอย่างแสดงออกมาหรือไม่ ไปหาจิตแพทย์จริง แต่เพื่อให้หมอตรวจเช็คว่านอกจากสุขภาพจิต มีโรคอื่นไหมที่เป็นสาเหตุของอาการซึมเศร้า ลองมองง่ายๆ ว่ามาหาไลฟ์โค้ชก็แล้วกัน


ภาพ: นพ. ธีรนันท์ มิตรภานนท์, Elia Pellegrini / Unsplash, Amin Moshrefi / Unsplash