Tesco Lotus

เจาะแนวคิด ‘เทสโก้ โลตัส’ ห้างค้าปลีกที่สอดแทรกความยั่งยืนในทุกด้านของธุรกิจ

ย้อนไปเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน สลิลลา สีหพันธุ์ ตัดสินใจมาร่วมงานกับเทสโก้ โลตัส โดยเหตุผลหนึ่งในการตัดสินใจของเธอเป็นเพราะเธอเชื่อว่า ที่นี่เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน ตั้งแต่ในยุคที่คำนี้ยังไม่มีการพูดถึงมากเท่าทุกวันนี้

        “สมัยก่อนเราอาจจะเรียกเรื่องพวกนี้ว่า CSR คำว่า sustainability เป็นคำที่ใช้กันในยุคหลัง แต่ความตั้งใจของเราก็ไม่ได้ต่างกันตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว พอทราบว่าที่นี่ให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้ ก็เลยดีใจและอยากทำ เพราะเราคิดว่า ความที่เทสโก้ โลตัสเป็นห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ เราดีลกับผู้บริโภคสิบกว่าล้านคนต่อสัปดาห์ มีพนักงานอีกเกือบห้าหมื่นคนที่ทำงานประจำกับเรา

        “การที่เราทำอะไรแต่ละอย่าง เราสามารถสร้างผลกระทบที่ดีได้เยอะเลย เพราะฉะนั้นก็เลยคิดว่าถ้าเราทำอะไรดีๆ ผลดีที่เป็นแรงกระเพื่อมก็จะยิ่งกว้าง” ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัทเล่าถึงภาพขององค์กรที่เธอมองไว้ตั้งแต่ก่อนที่จะมาร่วมงาน และเมื่อได้มาเป็นส่วนหนึ่งของเทสโก้ โลตัสก็ได้รู้ว่าภาพความจริงกับภาพที่เธอคิดไว้นั้นเป็นภาพเดียวกัน

        แม้กระทั่งปี 2563 ที่โควิด-19 กลายเป็นปัจจัยที่ท้าทายเป้าหมายในด้านการสร้างความยั่งยืน แต่เทสโก้ โลตัสก็ยังยืนยันที่จะเดินหน้าทำตามเป้าหมายใหญ่เรื่องนี้ผ่านหลายโครงการที่เป็นทั้งความภูมิใจของพนักงานที่มีส่วนร่วม และพันธมิตรที่ได้ทำงานร่วมกัน

 

Tesco Lotus

ทุกวันนี้เวลาเราพูดกันถึงเรื่องความยั่งยืน คนมักจะนึกถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมก่อน อยากทราบว่าแผนงานความยั่งยืนของเทสโก้ โลตัสครอบคลุมเรื่องอะไรบ้าง มีอะไรที่นอกเหนือจากเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยหรือไม่

        แผนงานความยั่งยืนของเรา หลักๆ เราเน้นอยู่ 4 เรื่อง เรื่องแรกก็คือคน หรือ People ซึ่งหมายถึงเพื่อนพนักงานของเรา เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องของ Products ซึ่งก็คือสินค้าที่เราขาย เรื่องที่ 3 คือเรื่อง Places หรือชุมชน สุดท้ายเป็นเรื่อง Planet ซึ่งก็คือเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เราให้ความสำคัญ 4 เรื่องนี้ 

        ในแต่ละด้าน เรามีเรื่องที่คิดว่าเป็นตัวอย่างของความสำเร็จและเป็นเรื่องที่เราภูมิใจ ทั้งยังเป็นความคืบหน้าที่ดีด้วย เพราะความยั่งยืนเป็นเรื่องระยะยาว โดยมากเราจะตั้งเป้าหมายกันประมาณสิบปี เพราะฉะนั้น ความสำเร็จที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของปีนี้ก็จริง แต่ก็ถือเป็นความสำเร็จในเรื่องเราจะทำต่อไปอีกในระยะยาว 

ขอเริ่มต้นจากเรื่อง People ก่อน ตัวอย่างของความสำเร็จในปีนี้ที่คุณพูดถึงคืออะไร

        ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับคน เกี่ยวกับพนักงาน เราให้ความสำคัญมากในเรื่องความแตกต่างหลากหลายหรือ diversity เรายอมรับความแตกต่างของคนที่มาทำงานกับเรา ไม่ว่าเขาจะอายุเท่าไหร่ เพศอะไร นับถือศาสนาไหน หรือมีที่มาอย่างไร เราเปิดกว้าง รับคนทำงานตามความสามารถและทักษะ ไม่ได้รับตามอายุหรือลักษณะของเขา 

        ตัวอย่างชัดเจนของการเปิดกว้างในเรื่องนี้ที่เราทำมาอย่างต่อเนื่องและประสบความสำเร็จ คือการที่เราเป็นห้างค้าปลีกรายแรกที่รับผู้เกษียณอายุแล้วมาทำงานเป็นจำนวนมาก เราเริ่มตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปีนี้ แม้ปีนี้จะเป็นปีที่ไม่ง่ายสำหรับเรา เราก็ยังคงรับคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปมาทำงานกับเราอย่างต่อเนื่อง 

        โครงการนี้ของเราชื่อ 60 ยังแจ๋ว เป็นโครงการที่เราได้ช่วยเหลือสังคมในเรื่องผู้สูงอายุ ช่วยให้เขามีรายได้และมีสุขภาพจิตที่ดีด้วย เพราะหลายคนที่เกษียณแล้ว ถ้าต้องอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร บางทีจิตใจเขาก็ห่อเหี่ยวได้ การได้ทำงานอีกครั้งเลยไม่ใช่แค่เรื่องรายได้ แต่ยังมีผลดีต่อสุขภาพจิตเขาด้วย โดยปัจจุบันเรามีผู้สูงอายุที่ทำงานให้เราทั้งหมดประมาณ 650 ท่าน

ส่วนใหญ่แล้วผู้สูงอายุเหมาะกับงานส่วนไหนในเทสโก้ โลตัส

        งานที่เราเลือกให้เขาทำจะไม่ใช่งานที่ต้องใช้แรงกายเยอะ ส่วนใหญ่เราจะให้เขาประจำอยู่แผนกอาหารสด ทำหน้าที่อย่างเช่น จัดเรียงผลไม้ หรือชั่งน้ำหนักสินค้า หรือไม่ก็ประจำอยู่ตรงศูนย์บริการลูกค้า คอยตอบคำถาม ออกใบกำกับภาษี เป็นต้น ซึ่งเป็นงานที่เขาเองก็ชอบ และเหมาะกับวัยเขาตรงที่ไม่ต้องใช้ร่างกายหนักเกินไปด้วย

ตอนที่ประกาศโครงการนี้ออกไป มีผู้สูงอายุสมัครเข้ามามากน้อยแค่ไหน

        เยอะเลยค่ะ หลายพันคนเลย แต่เรามีการคัดเลือกตามความเหมาะสม อีกอย่างหนึ่ง หลายคนที่สมัครเข้ามาเขาอยากทำงานสาขาใกล้บ้าน แต่สาขาที่เขาต้องการอาจจะยังไม่มีตำแหน่งว่างในตอนนั้น ก็เลยต้องรอก่อน แต่บางครั้งพอเวลาผ่านไปแล้วมีตำแหน่งในสาขานั้นๆ ว่าง เราก็เรียกเขามาทำ

 

Tesco Lotus

นอกจากเรื่องความหลากหลายแล้ว ทางเทสโก้ โลตัส ยังให้ความสำคัญในประเด็นใดอีกที่เป็นเรื่องของคน

        เรายังมีเรื่อง inclusion ก็คือการที่เราให้ทุกคนมีส่วนร่วม คำว่า ‘มีส่วนร่วม’ ในที่นี้หมายความว่าเรายอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง บริษัทเราเปิดกว้างให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นด้วยกันได้ นี่คือเรื่องที่เราให้คำมั่นสัญญา เป็นปฏิญญาว่าเราเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ยอมรับความเท่าเทียมกัน 

        บริษัทเราไม่เน้นการมี hierarchy ไม่ได้เน้นเรื่องของขั้น ตำแหน่ง เราให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ช่วยกันคิด ช่วยกันทำได้ แม้กระทั่งการจัดที่นั่ง วัฒนธรรมการทำงานของที่นี่ ซีอีโอของเราไม่ได้จำเป็นต้องมีห้องทำงานใหญ่ๆ แล้วทุกคนต้องเปิดประตูเข้าไปถึงจะได้เจอ หรือต้องรอคิวเข้าพบซีอีโอ ผู้บริหารของเราทุกคนนั่งทำงานในบริเวณเดียวกันกับพนักงานคนอื่นๆ เพื่อให้พนักงานและผู้บริหารเองแลกเปลี่ยนความคิดกันได้ง่าย ทำงานด้วยกันแบบไม่ต้องมีขั้นมีตอนในการเข้าหากัน อันนี้เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนทางกายภาพ

มาที่เรื่อง Products หรือสินค้า ความสำเร็จด้านนี้ของปีนี้มีเรื่องอะไรบ้าง

        เราให้ความสำคัญตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการบริโภคที่ยั่งยืน ซึ่งเรื่องนี้เป็นหนึ่งในเป้าหมายของ UN Sustainable Development Goal ที่มีเป้าหมายว่าโลกเราจะอยู่ได้ เราต้องให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำของสิ่งที่เราใช้ 

        ที่เทสโก้ โลตัส สิ่งที่เราเน้นมากคือสินค้าประเภทอาหาร โดยเฉพาะอาหารสดที่เรามีขายเยอะ เราให้ความสำคัญมากว่าต้องมีที่มาจากแหล่งที่ยั่งยืน โดยในปีนี้ เรื่องที่เราทำได้คืบหน้ามากคือเรื่องน้ำมันปาล์มที่ใช้สำหรับทอดอาหาร เรามีน้ำมันปาล์มบรรจุขวดที่เป็นแบรนด์ของเราเอง ซึ่งมีการรับรองมาตรฐาน RSPO ว่ามาจากแหล่งปลูกที่ไม่ได้ตัดไม้ทำลายป่า 

        เรื่องนี้สำคัญนะคะ เพราะหลายๆ ท่านอาจไม่ทราบว่าสิ่งที่เรารับประทานเข้าไปในแต่ละวันอาจจะมาจากแหล่งที่ไม่มีความยั่งยืน มีการถางป่า หรือเผาป่าเผาไร่เพื่อปลูกใหม่ เราเลยให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นทางว่าปาล์มน้ำมันจะต้องมาจากแหล่งที่ได้รับการรับรองว่าไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราถือเป็นเจ้าแรกที่มีการเปิดตัวน้ำมันปาล์มที่มีการรับรอง RSPO ในไทย

        นอกจากจะให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาที่ยั่งยืนแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับการจัดซื้ออย่างมีความรับผิดชอบหรือ responsible sourcing ด้วย เราถือว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องดูแลซัพพลายเออร์ทุกรายที่เราเข้าไปซื้อสินค้าด้วยให้ได้รับความเป็นธรรม 

ตัวอย่างของเรื่องนี้ที่เห็นได้ชัดและประสบความสำเร็จคือโครงการใด

        เราเริ่มทำงานด้วยการรับซื้อผักผลไม้ตรงจากเกษตรกร การที่เราเข้าไปซื้อตรง เราตัดพ่อค้าคนกลางออกไป ในอดีต เวลาพ่อค้าคนกลางรับซื้อจากเกษตรกร เกษตรกรจะไม่รู้เลยว่าพ่อค้าคนกลางเอาไปขายต่อในราคาเท่าไหร่ เราเลยพยายามพัฒนาโมเดลขึ้นมาให้เป็น responsible sourcing ก็คือซื้อตรงจากเกษตรกร ทำให้เกษตรกรได้ราคาที่เป็นธรรม เพราะเราเข้าไปช่วยเขาคิดว่าต้นทุนเท่านี้ เขาควรจะขายราคาเท่าไหร่ ไม่ใช่ขายแล้วขาดทุน 

        นอกจากนี้ การที่เราไปซื้อตรง เราสามารถวางแผนการเพาะปลูกร่วมกัน ว่าเราต้องการผักชนิดนี้ในแต่ละเดือนเป็นปริมาณเท่าใด ทำให้เกษตรกรวางแผนการปลูกได้ รับรู้รายได้ล่วงหน้า ไม่ต้องปลูกเยอะจนต้องทิ้งซึ่งก็เป็นต้นทุนเขา หรือปลูกขาดจนเสียโอกาสในการขาย นี่เป็นโมเดลที่เราทำขึ้นมาแล้วเราก็ภูมิใจ 

        เราตั้งเป้าหมายตั้งแต่ต้นปีว่า ปีนี้จะต้องมีการรับซื้อจากเกษตรกรให้ได้ 1,000 ราย ซึ่งเราก็ทำได้ครบก่อนสิ้นปี หมายความว่าอย่างน้อยตอนนี้ก็มีเกษตรกร 1,000 รายที่เขาสามารถมีรายได้จากราคาที่เป็นธรรมและมั่นคงจากการขายผลผลิตของเขาให้เรา

        ประโยชน์อีกอย่างที่สำคัญมากของโมเดลนี้ก็คือ ผู้บริโภคเองที่ซื้อผักผลไม้ของเทสโก้ โลตัส ก็จะได้ผักผลไม้ที่มีคุณภาพและปลอดภัย เพราะการที่เราเข้าไปซื้อตรง ทำให้เราสามารถเข้าไปตรวจสอบคุณภาพได้ว่าไม่มีสารเคมีตกค้าง เรื่องนี้เป็นหัวใจอย่างหนึ่งของโมเดลนี้เลย เพราะผู้บริโภคในปัจจุบันมักจะกังวลเรื่องความปลอดภัยของอาหาร ดังนั้น วิธีหนึ่งที่จะทำให้ลูกค้ามั่นใจเรื่องนี้ เราก็ต้องไปซื้อจากแหล่งหรือจากคนที่เราควบคุม หรือตรวจสอบกลับไปต้นทางได้ เรื่องนี้เป็นจุดที่เราคิดว่ามีความแตกต่างจากห้างค้าปลีกอื่น และต้องบอกเลยว่าเป็นโมเดลที่ไม่ง่ายเลยในการทำงาน

 

Tesco Lotus

เพราะว่าอะไรถึงได้บอกว่าโมเดลนี้ไม่ง่าย

        ฟังดูอาจจะรู้สึกเหมือนกับว่า แค่ไปซื้อผักจากเกษตรกรนี่ ไม่น่าจะมีอะไรยาก แต่ในความเป็นจริงเราต้องวางแผนเยอะมาก เนื่องจากในวันหนึ่งๆ เราต้องการผักเพื่อการจำหน่ายในปริมาณมาก การหาผลผลิตให้ได้ในปริมาณที่เราต้องการต้องมีการวางแผนล่วงหน้าและไม่สามารถซื้อจากเกษตรกรทีละคนได้ ดังนั้น เราเลยต้องเริ่มตั้งแต่การรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อที่ว่าเวลาส่งรถไปรับผักก็จะได้ผักกลับมาเต็มรถ ไม่มีการสูญเสียด้านการขนส่ง 

        ตัวเกษตรกรที่มีการรวมกลุ่มเอง เขาก็จะต้องมีการบริหารจัดการกันในกลุ่มด้วย ต้องมีคนที่คอยนำ และวางแผนในการเพาะปลูกร่วมกัน อย่างเช่น ป้าเอจะปลูกผักบุ้ง ส่วนป้าบีจะปลูกกวางตุ้งนะ จะได้ไม่ซ้ำซ้อนกัน ตรงส่วนนี้เรามีการจ้างคนที่เรียกว่า Farm Manager เข้าไปช่วยบริหารกลุ่มด้วย เพราะไม่อย่างนั้นเราอาจจะได้ผลผลิตไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ คนที่ทำหน้าที่นี้ก็จะคอยตรวจสอบเรื่องสารเคมีด้วย งานนี้เป็นงานที่เราเริ่มตั้งแต่ศูนย์เลย เริ่มตั้งแต่ชวนเกษตรกรมารวมกลุ่มกัน แล้วก็บริหารงานกัน เรียกว่าเป็นความยากที่ท้าทาย 

ผักผลไม้ที่ได้จากเกษตรกรที่เราทำงานด้วยโดยตรงตอนนี้คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของผักผลไม้ที่วางขายอยู่ในเทสโก้ โลตัส 

        อธิบายก่อนว่าผักที่เราได้จากเกษตรกรโดยตรงตอนนี้มาจากกลุ่มเกษตรกรหลักๆ ประมาณ 4-5 กลุ่มทั่วประเทศ ส่วนผักผลไม้ที่เราวางขายอยู่มีหลายประเภท ถ้าเรานับเฉพาะผักผลไม้ที่มาจากเมืองไทย ไม่นับประเภทที่มาจากเมืองหนาว ก็เรียกว่ายังไม่ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ตามที่เราต้องการ เพราะบางครั้งผักก็ขาดไปเนื่องจากปัจจัยเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศ เราก็ต้องไปหาจากแหล่งอื่น ซึ่งต่อให้เป็นแหล่งอื่น เราก็พยายามคัดเลือกผักที่ดีมาใช้ อย่างไรก็ตาม เราต้องการมุ่งไปสู่เป้าหมาย 100 เปอร์เซ็นต์ให้ได้ในที่สุด เป็นเป้าหมายที่เรารู้ว่ายาก แต่เราก็จะพยายามต่อไป

        เพิ่มเติมอีกนิดว่า ปัจจุบัน ผักของเรายังเป็นผักที่มีการใช้สารเคมีอยู่บ้าง แต่จะเป็นผักที่ปลอดภัยในการบริโภค ไม่มีสารเคมีตกค้างตามมาตรฐานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่สิ่งที่เราจะมุ่งต่อไปในปีหน้าและได้เริ่มไปบ้างแล้วในปีนี้ก็คือการปลูกผักอินทรีย์ โดยใช้สารชีวภาพแทนสารเคมี ซึ่งไม่ง่ายเลยสำหรับการปลูกในสเกลใหญ่เพื่อให้เพียงพอสำหรับการจำหน่าย แต่เราก็ไม่ละความพยายามที่จะทำ และหวังว่าจะเห็นผลมากขึ้นในปีหน้า เพราะเราอยากให้มีผักอินทรีย์มากขึ้น เพื่อจะมุ่งสู่การดูแลสุขภาพผู้บริโภคด้วย

นอกจากเรื่องผักแล้ว ยังมีเรื่องอื่นอีกไหมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของผู้บริโภค

        มีค่ะ ตอนนี้ถ้าเป็นเมนูอาหารพร้อมทานที่เราผลิตเอง เป็นแบรนด์ของเรา เราตั้งเป้าเลยว่า ทุกสูตรที่เราปรับหรือพัฒนาขึ้นใหม่จะต้องดีต่อสุขภาพมากขึ้น หมายความว่า เราจะลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม และลดแคลอรี เราเอาสูตรปกติที่เขาใช้กันมาเป็นตัวตั้ง แล้วดูว่าเราจะลดทั้งหมดนี้ได้อย่างไรโดยที่ไม่กระทบต่อรสชาติ อย่างขนมไทยที่เราทำขายก็ลดน้ำตาลไป 30 เปอร์เซ็นต์ หลายสูตรนอกจากลดน้ำตาลแล้ว เราก็เปลี่ยนมาใช้หญ้าหวานแทน เป็นต้น การลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม และลดแคลอรีเป็นสิ่งที่เราทำได้ตามแผนและทำได้อย่างต่อเนื่อง

        นอกจากเรื่องสุขภาพของผู้บริโภคแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับการดูแลสวัสดิภาพสัตว์หรือ animal welfare ผู้บริโภคในประเทศไทยส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ได้ใส่ใจประเด็นนี้เท่าใดนัก แต่ห้างค้าปลีกที่ดีก็ควรจะมองเรื่องนี้ด้วย ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา เราได้ประกาศว่าจะขายไข่ไก่ที่มาจากแม่ไก่ที่ไม่ขังกรง หรือ cage-free eggs ไข่ประเภทนี้ แม้ว่าแม่ไก่จะยังถูกเลี้ยงอยู่ในโรงเรือนก็จริง เพราะยังต้องมีการป้องกันโรค แต่เขาไม่ได้ถูกขังอยู่ในกรงเล็กๆ แคบๆ แม่ไก่มีพื้นที่ในการเคลื่อนไหวอย่างเหมาะสม ซึ่งเราก็เชื่อว่าการเลี้ยงแบบนี้ทำให้แม่ไก่ไม่เครียด ไข่ที่ได้มาก็จะมีคุณภาพดี การทำงานตรงนี้มีต้นทุนอยู่ไม่น้อย แต่เราก็อยากทำเพื่อส่งมอบสิ่งที่ดีกับให้ก้บผู้บริโภค พร้อมกับดูแลสวัสดิภาพสัตว์ด้วย

        เพราะฉะนั้น เราเลยกำหนดว่า ไข่ที่เป็นแบรนด์ของเราเองจะต้องมาจากแม่ไก่ไม่ขังกรงทั้งหมดภายในปี 2571 เพราะเราเข้าใจว่าเรื่องบางเรื่องมันไม่สามารถเปลี่ยนได้ภายในปีเดียว แต่ว่าในปี 2563 นี้ เรามีความคืบหน้าที่ดีมาก เพราะไข่ที่เราขายเป็นแพ็ก 10 ฟองทั้งหมดเป็น cage-free eggs แล้ว ตอนนี้ถ้าใครซื้อไข่ของเราที่เป็นแพ็ก 10 ฟองจะดูได้เลยว่าเป็นไข่ประเภทนี้ ส่วนที่เป็นแพ็ก 30 ฟองนั้น เราอยู่ระหว่างมุ่งหน้าไปยังจุดเดียวกัน

ฟาร์มที่ส่งไข่แบบ cage-free eggs ให้เทสโก้ โลตัส เป็นฟาร์มของเราเองหรือฟาร์มที่เราทำงานด้วย

        เป็นฟาร์มคู่ค้าหรือที่เราเรียกว่าเป็นพันธมิตร เราเข้าไปทำงานและวางแผนร่วมกันกับเขา พันธมิตรของเราก็สนับสนุนโรงเรือนที่เป็นการเลี้ยงระบบนี้ แต่เราเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เพราะเขาเองก็ต้องปรับหลายอย่าง แม้กระทั่งการเลือกพันธุ์ไก่ที่เหมาะสม แต่เราก็ตั้งใจไว้ว่า ภายในปี 2571 เราจะต้องทำให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

 

Tesco Lotus

ในเรื่องของสินค้า มีแง่มุมใดที่ทางเทสโก้ โลตัสใส่ใจและทำงานเพื่อความยั่งยืนในเรื่องนี้เป็นพิเศษอีกบ้างไหม

        ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือเรื่องของบรรจุภัณฑ์ เป้าหมายของเราคือ บรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นแบรนด์ของเราเองจะต้องรีไซเคิลได้ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเรามีความคืบหน้ามาก เพราะสินค้าใหม่ที่เราออกมาทั้งหมดในปีนี้ภายใต้แบรนด์เทสโก้ เราเลิกใช้วัสดุที่รีไซเคิลได้ยากใช้วิธีลด ละ เลิก นั่นคือถ้าอะไรที่ไม่ใช้ได้ก็ไม่ใช้เลย อย่างเช่น ผ้าห่มแบรนด์เทสโก้ สมัยก่อนจะใส่ในบรรจุภัณฑ์พลาสติก มาปีนี้ เราเย็บเป็นถุงผ้าใส่ผ้าห่มแทน ไม่ใช้พลาสติกแล้ว หรืออย่างบรรจุภัณฑ์อื่นๆ ที่ยังต้องใช้พลาสติก เราเปลี่ยนเป็นประเภทที่รีไซเคิลได้ 

        เรื่องนี้เราถือเป็นเรื่องใหญ่ แผนที่ตั้งเป้าไว้ในอนาคตก็คือ ทั้งสินค้าเก่าและสินค้าใหม่ของเราที่เป็นแบรนด์เทสโก้จะเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดเป็นแบบที่รีไซเคิลได้ภายในปี 2568 ซึ่งเบื้องหลังที่จะนำไปสู่จุดนั้นเราต้องทำงานกันอย่างหนัก อย่างแค่การเลือกวัสดุใหม่ก็มีความท้าทายแล้ว เพราะวัสดุใหม่ที่จะใช้บางอย่างอาจไม่มีการผลิตในประเทศ หรือไม่ก็ต้นทุนสูง เราก็ต้องพยายามศึกษาเรื่องเหล่านี้เพื่อให้ทำได้ตามเป้าหมายนั้น

เรื่องบรรจุภัณฑ์ที่เป็นส่วนของสินค้าดูเหมือนจะเชื่อมโยงกับเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เป็นหนึ่งในเป้าหมายด้านความยั่งยืนของเทสโก้ โลตัสด้วย

        ใช่ค่ะ เพราะเรื่องบรรจุภัณฑ์ที่อยากพูดถึงอีกเรื่องก็เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเราสนับสนุน circular economy หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า โควิดทำให้การใช้พลาสติกกลับมาใหม่และเพิ่มขึ้น ทั้งเรื่องความสะอาด เทรนด์การสั่งอาหาร และเทรนด์การช็อปปิ้งออนไลน์ ที่ทำให้มีทั้งถุงพลาสติก กล่องพลาสติก และกล่องกระดาษเพิ่มขึ้น 

        เราทราบดีว่า เราคงไม่สามารถปฏิเสธพลาสติกทุกอย่างได้ แต่สิ่งที่เราทำได้ก็คือการสร้างระบบปิดเพื่อให้เกิด circular economy ผ่านการตั้งจุดรับบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราลงทุนทำเองและเริ่มมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยทำตู้รับขวดพลาสติกอัตโนมัติ ใครที่เอาขวดพลาสติกมาหยอดก็จะได้แต้มพิเศษ ซึ่งตอนนี้เรามีทั้งหมด 15 ตู้แล้ว และเฉพาะปีนี้ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนตุลาคม เราเก็บขวดพลาสติกเข้าระบบได้แล้วมากกว่าแปดแสนขวด คิดว่าภายในสิ้นปีจะต้องถึงล้านแน่นอน ซึ่งขวดพลาสติกเหล่านี้ก็จะไม่ไประเกะระกะเป็นขยะอยู่นอกระบบ แต่จะอยู่นำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกต้อง

        ส่วนเรื่องกล่องกระดาษที่มาพร้อมกับการซื้อของออนไลน์ แล้วหลายๆ คนไม่รู้ว่าจะเอาไปเก็บไว้ที่ไหนดี เราก็มีการติดตั้งตู้รับกล่องกระดาษซึ่งเราทำงานร่วมกับพันธมิตรอย่างเอสซีจี โดยจะติดตั้งตู้รับกล่องกระดาษที่สาขาขนาดใหญ่ของเราทั้งหมดทั่วประเทศ และมีเป้าหมายว่าจะต้องเสร็จทั้งหมดภายในสิ้นเดือนธันวาคมนี้ กล่องกระดาษเหล่านี้ก็จะถูกนำเข้าระบบเช่นกัน เพื่อให้ทางเอสซีจีนำไปรีไซเคิลต่อไป 

ในเรื่องของ Places หรือชุมชน มีโครงการใดที่เป็นความสำเร็จในปี 2563 บ้าง

        ด้านชุมชนสำหรับเราก็คือการดูแลสังคมและผู้ทุกข์ยากโดยรวม ซึ่งเราก็ดูแลกันมาตลอดอยู่แล้ว แต่ปีนี้โควิด-19 ทำให้เราเน้นเรื่องนี้มากขึ้น เพราะโควิดทำให้มีคนตกงาน ขาดรายได้ เราตั้งเป้าในการบริจาคอาหารให้ได้หนึ่งล้านมื้อ ซึ่งก็ทำสำเร็จไปแล้วเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งบริจาคให้แก่เด็ก ผู้ใหญ่ และคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และเรายังไม่ได้หยุดแค่นั้น ตอนนี้ถ้ามีใครต้องการความช่วยเหลือ เราก็ยังบริจาคต่อ

        นอกจากนี้ เรายังให้ความช่วยเหลือชุมชนเมื่อมีอุทกภัยหรือภัยพิบัติต่างๆ ด้วยความที่เรามีสาขาอยู่ทั่วประเทศ ก็เหมือนกับเราอยู่ในพื้นที่ ความช่วยเหลือของเราจึงทำได้รวดเร็ว และเราไม่ใช่แค่อยู่ตรงนั้น แต่เรายังมีของด้วย ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือของใช้ต่างๆ นานา อย่างเมื่อไม่กี่เดือนก่อนที่มีชุมชนหนึ่งย่านฝั่งธนบุรีไฟไหม้ทั้งซอย เราก็นำเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มไปให้ได้อย่างรวดเร็ว เราเน้นในเรื่องความรวดเร็วและเครือข่ายที่มี

 

Tesco Lotus

อย่างที่ทราบกันว่า ปีนี้สถานการณ์เรื่องโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อหลายอย่าง ทางเทสโก้ โลตัสเองก็มีหลายโครงการด้านความยั่งยืนที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ก่อนแล้ว สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปีนี้ทำให้การทำตามเป้าหมายยากขึ้นหรือไม่

        เราคิดว่าโควิด-19 ไม่ได้ทำให้การทำตามเป้าหมายของเรายากขึ้น แต่ทำให้ต้องมีการปรับแผนกัน อย่างที่คุยกันเมื่อกี้ว่าพฤติกรรมการสั่งของออนไลน์และการสั่งเดลิเวอรีเยอะขึ้น เพราะฉะนั้น เราก็ต้องปรับแผนให้สอดคล้องกับเรื่องนี้ อย่างเรื่องการเก็บบรรจุภัณฑ์เข้าระบบ พอเราเห็นว่าเทรนด์มันมาแรงมาก เราก็ต้องเร่งติดตั้งจุดรีไซเคิลให้เสร็จเร็วขึ้น จากแต่เดิมที่เราวางไว้ว่าค่อยๆ ทยอยทำทีละส่วน เราก็มองว่าทยอยไม่ได้แล้ว เราต้องรีบทำแล้ว

        หรืออย่างเรื่องชุมชน เราตั้งใจอยู่แล้วว่าจะต้องเป็นผู้ที่มอบอาหารที่ดีให้กับผู้ยากไร้ แต่พอโควิดมา เรารู้เลยว่า เรามอบในเรตปกติไม่ได้แล้ว ต้องทำให้เร็วขึ้น เยอะขึ้น เพราะฉะนั้นถึงได้บอกว่าโควิด-19 ไม่ได้ทำให้ทำงานยากขึ้น แต่เป็นเรื่องของการปรับแผนเสียมากกว่า

คุยกันมาถึงหลายโครงการที่เป็นความสำเร็จในปีนี้แล้ว สำหรับปีหน้า มีโครงการไหนบ้างที่ทางเทสโก้ โลตัสมุ่งเน้นเป็นพิเศษ

        แพลนปีหน้าที่เราอยากจะมุ่งเน้นต่อไปก็จะเป็นเรื่องของบรรจุภัณฑ์ที่เราจะขยายเรื่อง Circular Economy ด้วยการทำระบบปิดและพยายามเก็บบรรจุภัณฑ์ให้ได้มากขึ้น อย่างเรื่องถุงพลาสติก เราเลิกให้ถุงพลาสติกมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา และจริงๆ เราก็รณรงค์เรื่องนี้มาตั้งแต่เกือบ 10 ปีที่แล้ว โฟมและหลอดพลาสติกก็เลิกไปแล้วเช่นกัน เพราะฉะนั้น หน้าที่ของเราตอนนี้ก็คือช่วยดูว่าจะเก็บอะไรของคนอื่นที่ยังมีอยู่ให้เข้ามาอยู่ในระบบได้อย่างไร

        อีกเรื่องก็คือเรื่อง food waste หรือขยะอาหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่เราสามารถบอกได้ว่า ในธุรกิจนี้เราเป็นผู้นำในไทยในด้านการลดขยะอาหาร หลายคนทราบเรื่องการลดขยะพลาสติกและทำอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและควรทำต่อไป แต่บางคนอาจจะไม่ได้ตระหนักว่า ขยะอาหารก็สร้างปัญหาไม่น้อยเช่นกัน และยังคิดว่าอาหารที่ทิ้งไป ในที่สุดก็จะย่อยสลายไปเอง ซึ่งจริงๆ แล้วขยะอาหารปล่อยก๊าซมีเทนที่ทำให้โลกร้อน

        เราเป็นห้างค้าปลีกรายแรกที่ประกาศตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อนแล้วว่าเรามีเป้าหมายในการลดขยะอาหารของเราให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 และปัจจุบันเราเป็นเจ้าเดียวที่มีการวัดปริมาณขยะอาหารของตัวเองอย่างจริงจังและโปร่งใส มีการเผยแพร่ตัวเลขขยะอาหารของเราบนเว็บไซต์ว่าในแต่ละปีมีขยะอาหารปริมาณเท่าใด ซึ่งช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้เราก็ลดได้ แต่นอกจากลดแล้ว เรายังจับมือกับพันธมิตรที่เป็นองค์กรการกุศล นำอาหารไปแจกให้กับคนที่ต้องการด้วย โดยในปีนี้ได้ขยายพื้นที่ในการบริจาคไปที่ภูเก็ต เพราะช่วงที่ผ่านมาภูเก็ตเป็นเมืองที่คนไม่มีงานทำกันมาก การได้อาหารจากเราไปก็น่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยเขาได้

        ในปีหน้า เราคิดว่าหน้าที่ของเราในเรื่องขยะอาหารจะไม่ใช่แค่ลดของตัวเองแล้ว แต่จะพยายามสร้างเครือข่ายในสังคม ทำให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ไทยต้องให้ความสำคัญ เพราะไทยเป็นประเทศที่ผลิตอาหาร ขายอาหารเยอะมาก เราเลยวางแผนว่าจะเข้าไปทำงานร่วมกับภาครัฐและเครือข่ายๆ ต่าง อย่างหอการไทย เพื่อจะช่วยขับเคลื่อนประเด็นเรื่องการลดขยะอาหารให้เป็นวาระแห่งชาติ นี่คือหนึ่งในเรื่องที่เราจะให้ความสำคัญต่อไป

        อีกเรื่องหนึ่งก็คือการพัฒนาการปลูกผักอินทรีย์ที่ได้พูดถึงไปแล้ว เราจะพยายามพัฒนาเรื่องผักผลไม้ปลอดภัยให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

        การวางแผนเรื่องความยั่งยืนส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องระยะยาว การทำงานแต่ละปีจึงเป็นเรื่องของความคืบหน้าในปีนั้นๆ งานของเราไม่จบหรอกค่ะ มันมีเรื่องใหม่ๆ เข้ามาเรื่อยๆ แล้วก็มีปัญหาเข้ามาทุกปี และเรายังต้องอาศัยความร่วมมือกับหลายภาคส่วน เพราะความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องที่ทำคนเดียวได้ ต้องหาพันธมิตรมาช่วยกันทำ เพื่อขับเคลื่อนให้โลกดีขึ้น

 

Tesco Lotus

ก่อนที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรนี้ ตัวคุณเองเป็นคนสนใจเรื่องความยั่งยืนหรือสิ่งแวดล้อมอยู่ก่อนแล้วหรือเปล่า

        ต้องบอกว่าเป็นคนสนใจเรื่องที่ทำให้สังคมดีขึ้นในหลายๆ ด้าน สิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องหนึ่ง การทำให้สังคมดีขึ้นสามารถทำได้หลายส่วน 

        ที่จริงแล้ว นอกจากโครงการต่างๆ ที่เราคุยถึงกันในวันนี้ การทำให้สังคมดีขึ้นก็คือการทำให้ธุรกิจเป็นธุรกิจที่ดีด้วย หมายความว่าเป็นธุรกิจที่มีจริยธรรมและโปร่งใส ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เมื่อเราเป็นธุรกิจที่ดีก็จะมีส่วนช่วยให้สังคมดีขึ้นได้

        เรื่องนี้คนอาจจะไม่ค่อยเห็นเท่าไร เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของโครงการโดยตรง แต่เป็นเรื่องของการทำธุรกิจในแต่ละวัน เพราะถ้าเราทำตัวให้ดี คู่ค้าของเรา พันธมิตรของเรา พนักงานของเรา ไปจนถึงลูกค้าก็จะได้ประโยชน์ด้วย การเป็นองค์กรที่ดีจัดเป็นความยั่งยืนพื้นฐานเลยค่ะ