Highlights
- ‘สน’ – ญานิสา สันธนาภรณ์ ดีไซเนอร์ผู้เป็นทั้งคนออกแบบและตัดเย็บชุดเจ้าสาว ‘Indigo Brides’ บนฐานคิดที่ต้องการให้ผ้าธรรมชาติในหมู่บ้านเล็กๆ ทางภาคเหนือเป็นที่รู้จัก ผ่านการออกแบบชุดเจ้าสาวที่สามารถใช้ได้อีกในโอกาสอื่นๆ หลังจากงานแต่งงานจบลง โดยเธอเริ่มจากชุดเจ้าสาวของตัวเอง ก่อนปรับพื้นที่บ้านส่วนหนึ่งให้กลายเป็นสตูดิโอขนาดเล็กในปัจจุบัน
- ผ้าธรรมชาติที่นำมาเป็นตัวเลือกให้กับลูกค้าเพื่อตัดเป็นชุดเจ้าสาวสไตล์ ‘Indigo Brides’ คือฝ้ายธรรมชาติที่ไม่ผ่านกระบวนการฟอกหรือย้อมสีเคมี เนื้อสัมผัสจะนุ่ม คงเอกลักษณ์ของความเป็นฝ้าย ทอแบบเรียบง่าย เน้นลวดลายดั้งเดิมที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดลำปางและลำพูน
- เศษผ้าไม่ใช่ขยะ แต่คือผ้าคุณภาพดีเหมือนเดิม เพียงแค่เหลือส่วนเล็กๆ ไว้เท่านั้น ‘Indigo Brides’ จึงนำชิ้นส่วนของผ้าที่เหลือนั้นมาเย็บเข้าด้วยกัน กลายเป็นช่อดอกไม้เล็กๆ ไว้ทำเป็นเข็มกลัดประดับบนเสื้อ ร้อยสายสำหรับเป็นข้อมือประดับของเจ้าสาวหรือดัดแปลงเป็นเครื่องประดับชิ้นเล็กๆ ได้อีกมากมาย
“เพราะเราอยากทำแบรนด์เล็กๆ ที่มีความชอบ ใส่เรื่องราวของผ้าธรรมชาติ และสามารถอยู่กับสิ่งนี้ไปได้นานๆ ห้องเสื้อขนาดเล็กที่ออกแบบเอง โดยใช้ชื่อว่า Indigo Brides Studio จึงเกิดขึ้น”
‘สน’ – ญานิสา สันธนาภรณ์ แห่ง Indigo Brides ได้บอกถึงปลายทางแห่งความฝันที่เริ่มต้นมาจากผ้าและการตัดเย็บ เบื้องหลังรั้วต้นไม้ขนาดย่อมในบ้านเดี่ยวคือที่ตั้งของสตูดิโอและโชว์รูมขนาดเล็กสีขาวสะอาดตา รูปทรงบ้านหลังน้อยที่ถอดแบบออกมาคล้ายกับภาพวาดบ้านของเด็กๆ หลังคาเป็นทรงจั่วสามเหลี่ยม ผนังห้องติดกระจกรอบด้าน โดยฝั่งหนึ่งสามารถเปิดกระจกได้กว้างเกือบสุดผนัง เพิ่มความอ่อนหวานด้วยผ้าลูกไม้ยาวระพื้น ที่ให้ความรู้สึกเหมือนชายกระโปรงของเจ้าหญิง
ส่วนด้านในมีเพียงกระจกเงาสูงกว่าความสูงของเจ้าสาว ห้องลองชุดที่ล้อมด้วยม่านครึ่งวงกลม และราวแขวนชุดเจ้าสาวที่เป็นตัวอย่างชิ้นงาน เพื่อให้ลูกค้าได้มาสัมผัสเนื้อผ้า เห็นแบบตั้งต้น อีกฝั่งคืออดีตพื้นที่ทำงานและโต๊ะวางจักร ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นโซฟาตัวยาวไว้ต้อนรับว่าที่เจ้าสาวเข้ามาพูดคุยกับเธอในฐานะนักออกแบบได้โดยตรง
บ้าน สตูดิโอ และโชว์รูม
“สตูดิโอแห่งนี้เริ่มต้นมาจากการออกแบบบรรยากาศการทำงานของเรา เราอยากได้ที่ที่ทำให้เรามีสมาธิในการทำงานและส่งเสริมความคิดในการออกแบบ จึงเลือกพื้นที่หน้าบ้านของคุณพ่อคุณแม่ บริเวณริมรั้ว และมีต้นไม้ สร้างสตูดิโอสองหลัง หลังหนึ่งทำเป็นโชว์รูมและห้องทำงาน อีกหลังไว้เป็นที่เก็บของต่างๆ โดยมีขนาดหลังละ 3×4 เมตร ทั้งสองหลังติดกระจก เพราะเราต้องการให้แสงธรรมชาติเข้ามาเยอะๆ เวลาเย็บผ้าก็จะดีต่อสายตาและเห็นได้อย่างชัดเจน
“แต่ว่าตอนนี้เรานำโต๊ะจักรออก เพราะไม่ได้ตัดชุดด้วยตัวเองแล้ว เนื่องจากว่าเรามีลูกชายตัวน้อย ทำให้ไม่มีเวลาตัดเย็บด้วยตัวเอง เราจึงส่งต่อไปให้ช่างตัดเย็บที่รู้จักกันช่วยทำงานให้ ส่วนการออกแบบและทำเครื่องประดับต่างๆ ยังคงทำเองหมือนเดิม เราจะเปิดพื้นที่นี้เฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์ เพื่อให้ลูกค้ามาดูแบบชุดหรือมาฟิตติ้งเท่านั้น”
ผ้าธรรมชาติ และชุมชน
จากพื้นที่ภายนอก สนได้แบ่งปันเรื่องราวพื้นที่ภายในให้เราฟังถึงที่มาของการนำผ้าธรรมชาติมาใช้ในการออกแบบชุดเจ้าสาวที่เรียบง่ายแต่ดูมีเอกลักษณ์
“ด้วยความที่เราชอบตัดเย็บชุดออกงาน จนมาได้ตัดเย็บชุดเจ้าสาวในงานตัวเอง ก่อนที่จะมีลูกค้าเดิมมาให้เราตัดชุดเจ้าสาวให้ เราก็เริ่มสนุกไปกับการคิดทั้งแบบที่ต้องรวมบริบทต่างๆ เข้าด้วยกัน เราเริ่มลงลึกในรายละเอียดมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องผ้า ที่เรารู้สึกว่าผ้าธรรมชาติมีความสวยงามและน่าสนใจ น่าจะนำมาตัดชุดแล้วสวยไม่น้อย
“เราก็เลยออกตามหาผ้าธรรมชาติที่สนใจ จนไปเจอกับผ้าของหมู่บ้านเล็กๆ ที่จังหวัดลำปางและลำพูน ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ทอฝ้ายธรรมชาติ เราจึงเริ่มต้นที่นั่น และออกเดินทางเพื่อไปดูกระบวนการทำฝ้าย ทอผ้าและย้อมธรรมชาติ ที่ยังคงใช้ภูมิปัญญาและวิถีดั้งเดิม โดยเฉพาะเรื่องการทอผ้าด้วยมือ โดยการใช้สีเส้นฝ้ายที่ย้อมจากธรรมชาติรอบตัว อย่างแก่นไม้บริเวณรอบบ้านของเขา
“จากตรงนั้นทำให้เราคิดว่าในประเทศไทยยังมีหมู่บ้านที่ทำงานทอมือและย้อมธรรมชาติอยู่อีกมากมายที่ยังไม่มีใครไปจับมือรวมพลังกับพวกเขา หมู่บ้านที่เราบังเอิญเจอก็เช่นกัน ยังไม่มีแบรนด์ใดมาสนับสนุนเป็นหลัก แต่ชาวบ้านก็ยังคงทอผ้าและจำหน่ายเป็นรายได้เสริมด้วยตัวเองอยู่ เราเลยคิดว่าน่าจะนำสิ่งที่มีอยู่ในประเทศอย่างผ้าธรรมชาติที่ทอด้วยมือ ที่ใช้สีและลวดลายดั้งเดิมที่ชาวบ้านถนัดอยู่แล้วนั้น นำมาสื่อสารใหม่ผ่านชุดเจ้าสาวที่เราออกแบบไปพร้อมๆ กัน”
ชุดเจ้าสาว Eco Brides
“จากวันนั้นที่เราลงพื้นที่ เราจึงอุดหนุนผ้าทอมาจากชาวบ้านทั้งหมดสามสี คือสีธรรมชาติไม่ฟอกไม่ย้อม เป็นสีหลักที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ในขณะที่สีครามผสมสีธรรมชาติที่ออกโทนสีเทา และครามเข้มธรรมชาติ จะเป็นตัวเลือกรองๆ ลงมา แต่ก็เริ่มเป็นนิยมในช่วงนี้ เพราะสาวๆ เริ่มหันมาให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมในรูปแบบอื่นๆ มากขึ้น ชุดเจ้าสาวจึงเป็นอีกหนึ่งไอเทมเช่นกัน อีกอย่างคือเรารู้สึกว่าชุดเจ้าสาวก็น่าจะใช้สีเข้มๆ แทนสีของชุดเจ้าสาวแบบเดิม ที่ต้องมีสีขาว ครีม หรือสีงาช้างเพียงอย่างเดียว และนอกจากผ้าฝ้ายธรรมชาติแล้ว เรายังมีผ้าลินินเป็นตัวเลือกให้ว่าที่เจ้าสาวคนใหม่อีกด้วย”
ไม่เพียงดีไซเนอร์ที่เล็งเห็นถึงความเป็นมิตรต่อตัวเองและสิ่งแวดล้อม แต่ว่าที่เจ้าสาวทั้งหลายก็มองเห็นคุณค่าเหล่านี้เช่นกัน
“หลังจากที่ตัดแพตเทิร์นชุดแล้วจะเหลือเศษผ้าเยอะมาก เรารู้สึกเสียดายผ้าดีๆ ที่กองรวมกันได้เป็นถุงใหญ่ เลยนำมาทำเป็นเครื่องประดับบนเสื้อผ้า อย่างเข็มกลัดดอกไม้ ข้อมือดอกไม้ เพื่อไม่ให้เหลือทิ้งจนกลายเป็นขยะและเป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต”
สุดท้ายพื้นที่เล็กๆ ตรงนี้กับผ้าธรรมชาติได้สร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้ตัวเอง และเชื่อว่าจะสามารถส่งต่อความรู้สึกนี้ให้กับคนอื่นๆ ไปได้เรื่อยๆ ตราบเท่าที่แบรนด์และธุรกิจเล็กๆ ของเธอยังคงขับเคลื่อนต่อไป
“เราไม่ได้อยากตัดแค่ชุดเจ้าสาว แต่เราอยากตัดชุดที่สามารถถ่ายทอดที่มาของผ้าไทยและเรื่องราวที่เราไปเห็นจากหมู่บ้านแห่งนี้ให้ลูกค้าชาวไทยและชาวต่างชาติได้ฟัง ซึ่งส่วนใหญ่เราจะชอบและภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองได้เลือก เพราะนอกจากจะรู้สึกว่าสิ่งทอนี้เป็นมิตรต่อตัวเองแล้ว เรายังมีส่วนเล็กๆ ที่ช่วยชาวบ้านได้เช่นกัน”