ธนภัทร ติรางกูล: เกิดเป็นนักข่าวภาคสนาม ต้องวาร์ปให้เป็น จับประเด็นให้แม่น

ใครเป็นแฟนสถานีช่องเวิร์คพอยท์ โดยเฉพาะรายการข่าว คงคุ้นหน้าคุ้นตานักข่าวหนุ่มคนนี้เป็นอย่างดี ‘ชิน’ – ธนภัทร ติรางกูล มักจะมารายงาน 2 ข่าวใหญ่ให้เราชมในช่วงดึกๆ ของทุกวันเป็นประจำ ไม่นับรวมการบุกตะลุยไปรายงานข่าวสดๆ จากสถานที่จริง ซึ่งน้ำเสียง ลีลา และท่าทางอันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ผู้ชมเริ่มจดจำเขาได้มากขึ้น จนสุดท้ายกลายเป็นแฟนคลับการรายงานข่าวของเขาไปโดยไม่รู้ตัว 

        แต่ในภาพข่าวที่รายงานมาให้ชมทุกวัน เบื้องลึกเบื้องหลังกว่าจะได้งานมาแต่ละชิ้น ก็ไม่ได้ง่ายดายอย่างที่เห็น เขาเล่าว่าเทคนิคอย่างหนึ่งที่นักข่าวภาคสนามจำเป็นต้องมี คือต้องวาร์ปเก่ง ในที่นี้หมายถึงการเดินทางไปทำข่าวได้ทุกสารทิศอย่างรวดเร็ว (ประหนึ่งว่าวาร์ปไปได้) ซึ่งนี่เป็นแค่เทคนิคข้อเดียวเท่านั้น ยังมีเรื่องราวอีกมากมายในวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เขาถ่ายทอดให้เราได้ฟัง เอาเป็นว่า ตามไปเปิดโลกเบื้องหลังวิถีแห่งนักข่าวภาคสนามกับผู้ชายคนนี้กันต่อได้เลย…

เริ่มต้นอยากให้คุณช่วยเล่าเส้นทางการทำงานที่ผ่านมาให้ฟังหน่อย

         ผมเป็นนักข่าวมาประมาณ 11-12 ปี ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นนักศึกษา เรามีความฝันว่าจบมาแล้วอยากเป็นดีเจ เป็นพิธีกร แต่มันมีจุดประกายเล็กๆ อย่างหนึ่งที่ทำให้เราอยากมาเป็นผู้รายงานข่าว คือเราดูคุณสรยุทธ (สุทัศนะจินดา) เราโตมากับข่าวเช้าของเขา มีความรู้สึกว่าทำไมเขาพูดจาน่าฟังจัง ดูมาเรื่อยๆ จนคุ้นชิน พอมาถึงจุดหนึ่ง เราจึงมีความรู้สึกว่า การทำข่าวสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับใครหลายๆ คนได้ คือถ้าไม่เป็นหมอที่ช่วยเหลือคน เรารู้สึกว่าการเป็นนักข่าวก็น่าจะช่วยคนอื่นได้เหมือนกัน สุดท้ายพอเรียนจบ จึงตัดสินใจมาเป็นนักข่าว เริ่มต้นจากเป็นนักข่าวสายกีฬา จากนั้นก็ย้ายไปเป็นนักข่าวบันเทิง แล้วก็ไปเป็นนักข่าวทั่วไป จนปัจจุบันได้มาทำข่าวที่สถานีของเวิร์คพอยท์ 

คุณเข้ามาเป็นนักข่าวที่ช่องเวิร์คพอยท์ตั้งแต่เมื่อไร

         ประมาณ 3 ปีที่แล้ว ทางผู้ใหญ่เขาอยากให้เรามีภาพจำ และสามารถวาร์ปไปทำข่าวที่ไหนก็ได้ วันแรกที่ผมเข้ามารายงานตัวกับฝ่ายบุคคลที่ออฟฟิศ ปรากฎว่าพอตกบ่าย เขาส่งตั๋วเครื่องบินให้ไปรายงานข่าวทีมฟุตบอลหมูป่าที่ติดถ้ำหลวง จังหวัดเชียงรายทันที คือได้วาร์ปตั้งแต่วันแรกกันเลย (หัวเราะ) แต่ถือว่าเป็นโชคดีสำหรับงานแรก เพราะพอไปถึงปุ๊บ ทีมค้นหาก็สามารถช่วยน้องๆ ทีมหมูป่าออกมาได้พอดี ทำให้ผมได้งานเลย (หัวเราะ) ผมเป็นคนที่ค่อนข้างโชคดีในการลงพื้นที่ไปทำข่าว ครั้งหนึ่งเคยไปทำข่าวคนจมน้ำ เขาหาอยู่ตั้งนาน รอเป็นอาทิตย์ๆ แต่พอผมไปถึง มีคนตะโกนออกมา เจอศพแล้วๆ ผมก็ได้รายงานข่าวทันทีเลยเหมือนกัน (ยิ้ม)

คาแรกเตอร์ของการนำเสนอข่าวแบบบุกตะลุยไปทุกที่ หรือแม้แต่ท่าทางการรายงานข่าวที่ชู 2 นิ้วในช่วง 2 ข่าวใหญ่ เรื่องราวเหล่านี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร

         มันมีที่มาจากพี่ติ่ง (สมภพ รัตนวลี) ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวของเวิร์คพอยท์ทีวี เขาอยากสร้างคนข่าวขึ้นมาสักคนหนึ่ง ที่เป็นพวกบุกลุยไปได้ทุกที่ เขาบอกกับผมว่า “ชิน มึงจะต้องเป็นภาพจำ คนจะต้องจำว่า ถ้ามีน้ำท่วมที่ไหน ต้องเป็นมึง ถ้าเกิดระเบิดที่ไหน ต้องเป็นมึง” มันก็เลยเป็นที่มาที่เห็นผมวาร์ปไปโน่นไปนี่ อย่างเช่นวันนี้ผมอาจจะอยู่เชียงใหม่ พรุ่งนี้ไปโผล่สุไหงโกลก วิถีชีวิตผมจะเป็นแบบนี้ตลอด (ยิ้ม)

         หรืออย่างช่วง 2 ข่าวใหญ่ ที่ชู 2 นิ้ว พี่ติ่งก็เป็นคนเดินมาบอกเหมือนเดิม ชิน มึงชูนิ้วชี้ขึ้นชี้ฟ้าแบบคุณปัญญา (นิรันดร์กุล) แล้วตะโกน ‘ข่าวฟ้าแลบ!!’ ผมก็ถามเขา เอาจริงๆ เหรอพี่ (หัวเราะ) สักพักเปลี่ยน เพราะมันเป็น 2 ข่าว พี่ติ่งเลยบอก งั้นมึงพูด 2 ข่าวใหญ่ แล้วชู 2 นิ้วแบบขึงขัง ผมฝึกอยู่ 3-4 วัน เอาให้มันคล่อง ไม่อย่างนั้นมันจะดูเก้ๆ กังๆ จนพอทำในสตูดิโอเริ่มชิน ทีนี้ต้องไปชู 2 นิ้วตอนออกไปทำข่าวข้างนอก ทีนี้เขินสิ (ยิ้ม) แต่ทำไปทำมา ทุกวันนี้กลายเป็นว่า พอคนเห็นหน้าผม เขาจะทักทันที อ้าว นี่ 2 ข่าวใหญ่มาแล้ว แล้วก็ชู 2 นิ้วให้เรา มันกลายเป็นภาพจำ และที่สำคัญ คือเขาเชื่อในความเป็นเราไปแล้ว

คุณเคยมีการรายงานข่าวครั้งไหนที่จำไม่ลืมไหม แบบที่สะท้อนถึงความสดของการรายงานจริงๆ

         เมื่อก่อนจะมีรายการข่าวดึกชื่อ ‘สดจากที่จริง’ คอนเซปต์คือต้องไปยืนบนที่จริง เช่น น้ำท่วม ก็ต้องลงไปยืนในน้ำ แต่ที่ไม่เคยทำมาก่อนเลยคือยืนท่ามกลางชิ้นเนื้อศพ จำได้แม่นเลย มันเป็นข่าวโรงงานพลุระเบิดที่พิจิตร แล้วร่างคน 6-7 คนถูกระเบิดเหลือแต่ซาก ปรากฎว่าเราก็ไปรายงานข่าวที่บริเวณนั้น แล้วยังเห็นว่ายังมีเศษเนื้ออยู่ที่พื้น เราก็ได้นึกในใจ เอาวะ ครั้งหนึ่งในชีวิต สดจริง สดมากๆ

ปัญหาส่วนใหญ่ในการลงพื้นที่ทำข่าวภาคสนามที่มักจะเจอ มีเรื่องอะไรบ้าง

         ส่วนใหญ่ที่เจอคือ บางทีเราไม่รู้ว่าแหล่งข่าวที่เราจะไปเจอ เขาจะให้ความร่วมมือกับเราหรือเปล่า เพราะบางทีถ้ามันเป็นเรื่องไม่ดีสำหรับเขา เขาก็จะไม่เปิดรับเลย อันนี้เราก็ต้องเป็นนักเจรจาที่ดี ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแทบทุกงาน นอกจากนั้นต้องทำให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด และต้องเตรียมพร้อมให้ดีที่สุด ข้อมูลทุกอย่างต้องครบ 

         บางทีเราไปโดยไม่บอกแหล่งข่าว อันนี้ถือเป็นเคล็ดลับอย่างหนึ่ง ถ้าเราบอกว่าจะไปหาปุ๊บ ปิดบ้านเลยทันที ต้องไปแบบไม่ให้รู้ตัว (ยิ้ม) แต่ส่วนใหญ่ถ้าได้เจอหน้าเจอตากัน การทำงานก็เป็นไปด้วยดี เงื่อนไขสำคัญคือ ต้องทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ถ้าเราทำให้เขาเชื่อใจเราได้ งานก็สำเร็จลุล่วง แต่ในมุมกลับกัน เราเองก็ต้องตรงไปตรงมากับข่าวที่นำเสนอด้วยเหมือนกัน

ความตรงไปตรงมาของนักข่าว คือเงื่อนที่สำคัญในการจะได้ข่าวชิ้นนั้นมา พูดอย่างนี้ได้ไหม

         ได้ และต้องเพิ่มความจริงใจด้วย เวลาผมไปลงพื้นที่ ผมบอกเสมอว่า ผมไม่ได้มาโจมตีพี่นะ แต่ผมมาเปิดพื้นที่ให้พี่ ให้เขาได้พูด แล้วเราไม่เคยทำตัวเป็นฤาษีแปลงสาร เราอาศัยความจริงใจกับเขา เวลาผมทำงาน ผมเจอแหล่งข่าว ผมจะรู้สึกเหมือนไปผูกสัมพันธ์กับเขา เพื่อที่วันข้างหน้าเรายังสามารถกลับไปหาเขาได้อีก หรือบางทีคิดถึงเขาในช่วงปีใหม่ ยังเคยส่งขนมไปให้ก็ทำมาแล้ว

ทุกวันนี้สื่อมวลชนมีการแข่งขันกันสูง โดยเฉพาะเรื่องความเร็วในการนำเสนอข่าวสาร แต่ในมุมกลับกัน ก็นำมาซึ่งข้อมูลที่ผิดพลาด หรือมี fake news เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง คุณมีความเห็นอย่างไรในฐานะที่เป็นคนทำงานคนหนึ่งในวงการนี้

         อันนี้ต้องยอมรับว่าสื่อเองก็มีความผิดพลาดจริงๆ บางข้อมูลเราไม่ได้เช็กให้ถี่ถ้วน หรือหลายอย่างมันมาจาก fake news แต่อยากจะบอกว่า fake news ส่วนใหญ่ไม่ได้ official มาจากเพจสื่อหลักๆ สักเท่าไหร่ มันมาจากเพจอะไรก็ไม่รู้ แล้วคนก็ส่งต่อๆ กัน แล้วไปเข้าใจว่านี่คือสื่อ แต่ถ้าพูดถึงโลกการทำงานสื่อที่เป็นสื่อจริงๆ อาจจะมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ พลาดแล้วต้องขออภัย แล้วต้องรีบแก้ไขให้เร็วที่สุด 

         โลกการทำงานสื่อทุกวันนี้เปลี่ยนไป ยิ่งในมุมของการนำเสนอข่าว เปลี่ยนจากเมื่อก่อนอย่างมาก ทุกวันนี้การเล่าข่าวเหมือนเป็นพีระมิดหัวกลับ คือเอาภาพน่าตื่นเต้น หรือประเด็นไฮไลต์มาขึ้นต้นก่อน แล้วค่อยกลับมาเล่าที่ตัวเนื้อหาข่าวทีหลัง ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่ต้องทำแบบมาตรฐาน ใคร ทำอะไร เกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไร อย่างไร แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่ เหมือนเป็นการปรุงอาหาร ทำให้ข่าวน่าชม น่าเสพมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานของกรอบกติกาในการเป็นสื่อสารมวลชนเช่นกัน

ในฐานะคนทำงาน คุณมองการเปลี่ยนผ่านในเรื่องบุคลากรคนทำข่าวยุคเก่ากับยุคใหม่เป็นอย่างไร 

         มีดีคนละแบบ ผมเป็นคนรุ่นกลางๆ คือเคยเห็นทั้งของเก่า ประเภทไปทำข่าวที่ต้องมีรถโอบี มีคนไปทำข่าวเยอะแยะมากมาย จนมาถึงยุคที่ไปทำข่าวกันแค่ 2 คนก็พอแล้ว ผมมองว่าคนทำข่าวรุ่นเก่าก็มีดีที่ประสบการณ์ และการมองประเด็นข่าว ส่วนคนรุ่นใหม่จะได้เรื่องเทคโนโลยี และทักษะใหม่ๆ ทุกวันนี้คนทำข่าวต้องทำได้หมด ตั้งแต่รายงานข่าวได้ เขียนข่าวได้ ทำสกู๊ปข่าวได้ ไลฟ์สดก็ต้องได้ คือทำทั้งออนไลน์-ออฟไลน์ได้หมด แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือ ความละเอียด ผมจึงรู้สึกว่า ยุคนี้คือการผสมผสานของคนทำงานสองรุ่นเข้าด้วยกัน เหมือนการซัพพอร์ตกันมากกว่า นักข่าวรุ่นใหม่ๆ ก็เหมือนกองหน้าที่ลงไปหาข่าว ไปรายงานข่าวเข้ามา ส่วนพวกกองหลังคือรุ่นพี่ๆ ที่มีประสบการณ์ ก็จะคอยตบข้อมูล หาจุดเด่นของข่าว ทำให้ข่าวมีคุณภาพมากขึ้น การทำงานแบบนี้จะช่วยยกระดับข่าวให้มีความน่าสนใจต่อไปในอนาคต

ถ้าจะแนะนำคนรุ่นใหม่ๆ กับการมาเป็นนักข่าวภาคสนาม คุณคิดว่าต้องมีหลักการสำคัญอะไรบ้าง

         หนึ่ง คุณต้องมีหัวใจที่ตื่นเต้นทุกครั้ง เวลาที่มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นในประเทศ ต้องรู้สึกว่าเราอยากไปอยู่ที่นั่น หรืออย่างเวลาทำข่าว พอเห็นประเด็นแล้วต้องตาลุกวาว นี่คือสารตั้งต้นเล็กๆ ที่ควรจะต้องมี ต่อมาข้อที่สอง ต้องอึด เวลาส่วนตัวแทบไม่มี เข้างาน 9 โมงเช้า เลิกงาน 6 โมงเย็นไม่มีอยู่จริง วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ถ้ากำลังดูหนังกับแฟน เกิดมีข่าวสำคัญขึ้นมา คุณก็ต้องหายใจเข้าลึกๆ ทำสมาธินิดนึง จากนั้นก็ออกจากโรงหนังแล้วไปทำข่าวซะ เรื่องทำนองนี้คุณได้เจออย่างแน่นอน และต้องทำให้ได้ด้วย (ยิ้ม) และข้อสามคือ ต้องหัดเป็นคนเอ๊ะ หมายถึงต้องเป็นคนขี้สงสัย การขี้สงสัย ทำให้ประเด็นข่าวเราไม่เหมือนขาวบ้าน ทำให้ข่าวที่เรามี ไม่เหมือนของคนอื่น นอกจากนี้เวลาไปลงพื้นที่ ต้องวิเคราะห์สถานการณ์ให้ดี เพราะบางครั้งเราอาจถูกย้อมแมว หรือตกเป็นเครื่องมือของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเอาได้ อย่าเพิ่งไปเชื่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าแบบ 100% ที่เหลือก็หัดวาร์ปให้เก่ง ไปที่โน่นที่นี่ได้อย่างรวดเร็ว นี่คือคุณสมบัติสำคัญของการเป็นนักข่าวภาคสนาม

สมมติพรุ่งนี้จะเกิดข่าวใหญ่ในประเทศไทยที่คุณจะต้องชู 2 นิ้วในการรายงาน คุณอยากให้ 2 ข่าวนั้นเป็นข่าวอะไร

         (หัวเราะ) เอาอย่างนั้นเลยเหรอ (นิ่งคิด) ข่าวแรก เป็นข่าวคนไทยได้รับวัคซีนคุณภาพแบบร้อยเปอร์เซนต์ และทำให้เศรษฐกิจประเทศสามารถขับเคลื่อนไปได้ ส่วนข่าวที่สอง ประเทศไทยมีฤดูหนาวครบ 4 เดือนเต็มๆ เริ่มตั้งเดือนพฤศจิกายน ไปสิ้นสุดที่เดือนกุมภาพันธ์ และมีหิมะตกในเดือนมกราคมด้วย คือหนาวต่อเนื่อง 4 เดือน หนาวแบบมีคุณภาพ หนาวอย่างสมภาคภูมิกันไปเลย (หัวเราะ)