เดอะดวง

ดำดิ่งในห้วงฝันของหนังสือการ์ตูนไร้บทพูด แต่เติมเต็มความรู้สึกด้วยดนตรีประกอบการอ่าน

ในแวดวงนักวาดการ์ตูนเมืองไทยและเอเชีย ชื่อของ เดอะดวง หรือ วีระชัย ดวงพลา เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ด้วยลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์ กับเรื่องราวในการ์ตูนที่เป็นมุมมองตลกร้ายแต่สะท้อนความเป็นจริงของสังคมและแฝงด้วยศีลธรรมอันเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งทำให้ใครๆ หลงรักในจินตนาการของเขา

        หลังคลุกคลีอยู่ในวงการกว่า 20 ปี ผ่านการวาดการ์ตูนมา 30 กว่าเล่ม ปีนี้เดอะดวงกลับมาอีกครั้งกับผลงานที่เขาบอกว่า “ให้ลืมงานก่อนหน้านี้ที่ผมเคยเขียนมาทั้งหมด” เพราะ My Inspiration III หนังสือภาพไร้คำพูด ผลงานชิ้นใหม่ของเขา (ซึ่งไม่ได้มีความต่อเนื่องกับ My inspiration และ My inspiration II) ได้แรงบันดาลใจจากความฝันที่สะสมมาเป็นเวลานานหลายปี และถูกจับมาเชื่อมโยงร้อยเรียงกันเป็นเรื่องราวที่ด่ำดิ่งลึกลงไปในความฝันผ่านลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์ของเขา 

        “ตอนเด็กมากๆ เราเคยฝันเห็นทุ่งหญ้าสีขาวกว้างใหญ่และจบแค่นั้น พออีกหลายปีต่อมาเราก็ฝันเห็นทุ่งหญ้าสีขาวที่เดิม แต่เราเขยิบเข้าไปใกล้ขึ้น มีประตูรั้ว เราเปิดเข้าไป แล้วภาพก็ตัดอีก พออีกหลายปีต่อมาก็ฝันต่อ เราเลยรู้สึกว่าสิ่งนี้น่าหยิบมาเป็นจุดเชื่อมเรื่องที่จะอยู่ในหนังสือการ์ตูนเรื่องนี้ด้วย”

        แน่นอนว่าความพิเศษต้องไม่จบแค่นั้น เพราะหนังสือภาพเล่มนี้จะมีดนตรีประกอบ (เหมือนสกอร์หนัง) ชื่อเพลง MORPHEUS จากฝีไม้ลายมือของ ‘อ๊อฟ’ – เรืองวิทย์ ไสเหลื่อม มือกีตาร์แห่งวงสุดอินดี้อย่างไปส่งกู บขส. ดู๊ และนักร้องนำวง Mole The Explosion สำหรับการพลิกหน้ากระดาษอ่าน ที่จะทำให้ผู้อ่านจมดิ่งลึกลงไปอีกขั้น นับเป็นมิติใหม่ของการทำงานร่วมกันระหว่างนักวาดการ์ตูนและนักดนตรี ซึ่งเป็นส่วนผสมอันลงตัวที่ทำให้หนังสือเล่มหนึ่งน่าสนใจมากขึ้นในยุคที่คนมองว่าวงการหนังสือกำลังซบเซาถึงที่สุด

        “เราคิดว่ามันยังหาวิธีเล่นสนุกกับหนังสือได้เรื่อยๆ อย่างวิธีการทำเล่มนี้เราก็รู้สึกว่าเป็นการอัพเกรด ให้คุณค่า และหาลูกเล่นให้หนังสือ แล้วมันจะกลายเป็นมากกว่าหนังสือ แต่กลายเป็นของสะสม กลายเป็นงานศิลปะ” 

 

เดอะดวง

โปรเจ็กต์หนังสือ My inspiration III เล่มนี้เกิดมาได้อย่างไร 

        เดอะดวง: จุดเริ่มต้นมาจากการที่เราฝัน เป็นฝันที่รู้สึกว่าแปลกดีและเราอยากจะถ่ายทอดออกมา เราคิดจะทำหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่สองปีก่อน แต่ติดปัญหาคือไม่รู้จะสื่อออกมาอย่างไร มันเข้าถึงยากมาก แม้กระทั่งตัวเราเองยังเข้าไม่ถึง ณ ตอนนั้นจึงต้องใช้เวลาเพื่อคิดถึงสองปีว่าเราจะนำเสนออย่างไรดี เพื่อให้คนอ่านไม่รู้สึกว่าเข้าใจยากจนเกินไป คืออ่านไม่รู้เรื่องไม่เป็นไร เพราะเป้าหมายที่เราต้องการคือต้องให้คนอ่านรู้สึกให้ได้ 

        ฝันเป็นอะไรที่ไม่มีจุดเริ่มต้น มันคืออะไรไม่รู้ ความฝันของเราถูกสะสมมาตั้งแต่เด็ก อันไหนที่น่าสนใจก็จะจดไว้ บางอันไม่ได้จด แต่จำได้ขึ้นใจเลย มีภาพบางภาพที่เราฝันต่อเนื่อง ซึ่งดูน่ากลัวเหมือนกันนะ อย่างตอนเด็กมากๆ เคยฝันเห็นทุ่งหญ้าสีขาวกว้างใหญ่และจบแค่นั้น พออีกหลายปีต่อมาเราฝันเห็นทุ่งหญ้าสีขาวที่เดิม แต่เขยิบเข้าไปใกล้ขึ้น มีประตูรั้ว พอเราเปิดเข้าไปภาพก็ตัดอีก หลายปีต่อมาก็ฝันต่อ เราเลยรู้สึกว่าสิ่งนี้น่าหยิบมาเป็นจุดเชื่อมเรื่องที่จะอยู่ในหนังสือการ์ตูนเรื่องนี้ด้วย

ฝันล่าสุดที่ประหลาดและจำได้แม่นของคุณคือฝันแบบไหน

        เดอะดวง: เราฝันเห็นเด็กหัวเป็นถั่วลิสง แต่ในฝันน่ากลัวมาก คือเห็นเป็นฉากที่เขากำลังจะกระโดดตึกพอดี พอเราไปเห็น เขาก็กระโดดลงไป เราก็กระโดดตาม หลังจากนั้นตื่นเลย จำได้แม่นมาก แปลกดี เป็นภาพที่เกิดขึ้นได้ยังไงไม่รู้ (หัวเราะ)

เคยลองนั่งวิเคราะห์ไหมว่าฝันประหลาดๆ แบบนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร

        เดอะดวง: เราคิดว่าคงเป็นอะไรที่เราเสพสะสมรวมกันมา อีกอย่างตอนฝันเราไม่ได้ตั้งใจ อาจจะเหนื่อยหรืออะไรก็ว่าไป แต่จะเป็นอย่างนี้เสมอ รู้ไหม ความสนุกอีกอย่างหนึ่งที่เราค้นพบจากการฝันคือการโกงความฝัน ตอนแรกเราไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่พอไปอ่านในเว็บไซต์ก็รู้ว่ามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น และทุกคนพยายามจะโกงอยู่ ช่วงหลับน่าจะเป็นช่วงเวลาประมาณ 5 โมง เราโกงมันได้ น่าสนใจมาก

        คือเราจะรู้ตัวว่าฝันอยู่ พอรู้แล้วเรายังสามารถอยู่ในฝันต่อได้ด้วย เรื่องตลกคือคนในกระทู้ที่มาแชร์กันเขาพยายามฝึกโกงให้นานขึ้นด้วย จริงจังกันเลย (หัวเราะ) แต่ว่าเราจะโกงอยู่ได้แค่แป๊บเดียวนะ แล้วเราสามารถสร้างอะไรขึ้นมาในฝันก็ได้ ลองนึกถึงหนังเรื่อง Inception คืออาจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น แต่จะเป็นอย่างนั้นจริงๆ พอสร้างขึ้นมาได้แล้ว แป๊บเดียวก็จะหายไป เพราะเหมือนมันมีกลไกบังคับอยู่ 

        อ๊อฟ: เราเคยมีครั้งหนึ่งที่พยายามโกงความฝัน เราฝันว่ากำลังขับรถอยู่และรถกำลังจะพัง เราก็พยายามเปลี่ยนรถให้เป็นอย่างอื่น แต่แทนที่จะเปลี่ยนรถเป็นเครื่องบิน ฝันก็เปลี่ยนเรื่องไปเลย กลายเป็นนั่งกินข้าวอยู่ ตัดเร็วมาก (หัวเราะ)

งานของเดอะดวงถือว่าโดดเด่นในเส้นเรื่องแบบตลกร้าย ทำไมคุณสนใจแง่มุมนี้

        เดอะดวง: ความสดใสวาดง่ายนะ แต่ไม่รู้ว่ามันจริงไหม เพราะว่าความเป็นจริง ความสดใสน่ากลัวกว่าสิ่งที่เราทำอยู่อีก (หัวเราะ) เวลาเราดูงานที่ฟีลกู๊ดมากๆ เรารู้สึกว่ามีความระแวงอยู่ในนั้นเสมอ ในขณะที่เราไม่ได้ระแวงกับสิ่งที่มันเลวร้ายอยู่แล้ว เพราะมันบอกตรงๆ อยู่แล้วว่าเลวร้ายนะ แต่ความดีเคลือบอะไรอยู่เราไม่รู้ ถ้าคุณเข้าใจ แนวทางที่เราทำไม่ได้เน้นรุนแรงไปเรื่อยเปื่อย ถ้าอ่านจบจะรู้ว่าจริงๆ ศีลธรรมคืออะไร อะไรที่ทำไปจะเกิดผลอย่างไร ถ้ามองด้วยเหตุผลก็จะเห็น

        เราไม่ได้ไปบอกว่านี่คือความดีนะ แต่เราแสดงความชั่วให้เห็นเลย (หัวเราะ) เราคิดว่ามันจริงกว่าการพูดความดีล้วนๆ เราไม่ได้มองโลกในแง่ร้ายนะ เราก็ชอบอะไรที่มันฟีลกู๊ด แต่แค่เวลาอยากนำเสนองานออกไป เรารู้สึกว่าในมุมมองนี้จริงใจกว่า

 

เดอะดวง

กลับมาที่หนังสือเล่มใหม่ รูปแบบในการนำเสนอที่มีภาพการ์ตูนไร้คำพูดแต่มีเพลงประกอบมาได้อย่างไร

        เดอะดวง: ตอนแรกยังไม่ได้คิดว่าจะมีเพลง เราคิดว่าภาพอย่างเดียวน่าจะเอาอยู่ ครั้งแรกทำภาพออกมาเป็นดราฟต์ที่พอดูรู้เรื่องให้พ่อดู ดูเสร็จพ่อบอกว่ามันอึดอัดดี เราเลยรู้สึกว่าตรงโจทย์แล้ว แต่ก็คิดว่าจะไปให้ลึกกว่านี้ได้อย่างไร เราเลยนึกถึงอ๊อฟ คือปกตินอกจากเล่นกีตาร์ เขาก็ทำเกี่ยวกับงานซาวนด์อยู่แล้ว เราเลยมั่นใจว่าเขาทำได้ พอเราอธิบายไอเดียหนังสือกับแนวเพลงที่อยากได้ให้เขาฟัง เขาก็จัดมาให้เลย

        อ๊อฟ: จริงๆ เราเคยทำงานกับพี่ดวงมาก่อนหน้านี้แล้ว ทีนี้พอพี่ดวงเล่าว่าเป็นเรื่องความฝัน เอาภาพมาให้ดู เราเลยบอกว่านี่เป็นแนวเพลงที่เราทำอยู่แล้ว การทำงานเลยง่ายมาก พี่ดวงบรีฟว่าจะเริ่มฝันจากเบาๆ ยังไม่ได้ดาร์กมาก ค่อยๆ เล่าเรื่องไปจนกระทั่งไปพีกช่วงหลังสุด

ความจริงไอเดียการทำการ์ตูนไร้คำพูดก็เคยมีคนทำมาแล้วใช่ไหม 

        เดอะดวง: ใช่ ไอเดียไม่ถือว่าใหม่นะ เพราะการ์ตูนใบ้เคยมีอยู่แล้ว แต่ว่าจะใช้จำนวนหน้าเยอะแค่ไหนมากกว่า อย่างเล่มนี้ 160 หน้า เรารู้สึกว่าการทำการ์ตูนใบ้ 160 หน้าท้าทายดี กับการที่เราจะไม่บอกอะไรกับคนอ่านเลยตลอดทั้งเล่ม ซึ่งตอนที่เริ่มทำเล่มนี้ก็แอบรู้สึกว่า เอ๊ะ กูกำลังฆ่าตัวตายหรือเปล่า (หัวเราะ) แต่ก็ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว คือ 160 หน้าฟังดูเหมือนเยอะใช่ไหม แต่เอาจริงๆ ตอนเปิดอ่าน เราเชื่อว่าแรกๆ คนจะไม่ได้พิจารณาภาพลึกซึ้งอะไรขนาดนั้น คือแค่เปิดให้มันผ่านไปเรื่อยๆ และถ้าจะมาดูภาพทีหลัง เขาคงมาเปิดดูกันได้เองอยู่แล้ว 

ทำไมถึงคิดว่าการอ่านตัวหนังสือไม่สำคัญเท่ากับการให้ฟังเพลงแล้วจินตนาการเรื่องราวเอง

        เดอะดวง: มันเป็นการเปิดโอกาสให้คนอ่านได้ตีความ ได้คิด ได้รู้สึกต่างกันไป โดยที่ไม่มีอะไรมาบังคับ เราอยากให้เป็นอย่างนั้น เล่มนี้สำคัญในเรื่องของความรู้สึก ว่าจะทำอย่างไรให้คนรู้สึกว่า เออ นี่คือความฝันว่ะ แม่งคืออย่างนี้เลย ไม่ใช่อ่านแล้วไม่รู้เรื่อง จะสื่อถึงอะไรวะ ที่เราต้องใช้เวลาคิดนานเพราะแบบนี้แหละ

        เวลาเราทำการ์ตูนแต่ละเล่มจะต้องอ่านการ์ตูนตัวเองหลายรอบมาก ถ้าอ่านแล้วรู้สึกว่าเราเองยังไม่สนุกเลย คนอ่านจะสนุกได้ยังไง เหมือนกันกับเล่มนี้ ถ้าเราอ่านแล้วไม่อิน เราก็จะรู้สึกว่ามันยังไม่ดีพอ

        ตอนเริ่มทำเล่มนี้มันเร็วมาก เพราะข้อมูลเรื่องความฝันมีแล้ว เราต้องหาวิธีที่จะเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้ให้สมูธที่สุดเวลาอ่าน สมมติว่าเราจะเปลี่ยนภาพไปเหตุการณ์อื่น เราจะ transition ยังไงให้เวลาคนเปิดหน้ากระดาษดูเขาไม่สะดุด ระหว่างที่ทำเสร็จหนึ่งหน้าสองหน้าก็ต้องมาลองเริ่มอ่านตั้งแต่แรกใหม่ ถ้ารู้สึกสะดุดนิดหน่อยเราก็ต้องวาดใหม่เลย

ในส่วนของดนตรี คุณมีวิธีไหนในการเอาบรีฟจากหนังสือมาตีโจทย์เป็นเพลงประกอบ

        อ๊อฟ: เราตีโจทย์แทนค่าเป็นเสียงเปียโน เหมือนเรานอนนิ่งๆ อยู่แล้วได้ยินเสียงกระซิบของอะไรบางอย่างในความฝัน ยังไม่เป็นเรื่องนะ เพราะพอเวลาคนเราหลับ เรายังไม่รู้ว่ามันเป็นฝันที่รู้เรื่องอะไรหรือเปล่า วิธีการทำเพลงคือดูภาพก่อนทั้งหมด เริ่มจากคลอเปียโนขึ้นมาสดๆ ก่อนสองสามคอร์ด แล้วค่อยๆ ใส่รายละเอียดลงไป 

        เราเรียกดนตรีที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ว่าเป็น epic deep จริงๆ มันก็คือเพลง epic rock เพียงแต่ว่าเป็นเพลงที่เราทำไม่ได้แทนค่าคำว่า epic ด้วยออร์เคสตรา แต่เป็นพวกเพอร์คัสชัน รูปแบบการทำงานเหมือนทำสกอร์หนัง (ดนตรีบรรเลงในภาพยนตร์) ประมาณนั้น เพราะเราคิดว่าน่าจะดีหากเป็นการผสมกันระหว่างเพลงที่มีความลึกหม่นกับเพลงที่เป็นเพลงบรรเลงแบบภาพยนตร์ เหมือนเวลาที่คนอ่านเปิดดูภาพไปทีละหน้า ดนตรีก็จะเปลี่ยนท่อนไป 

        เดอะดวง: เพลงประกอบหนังสือมีเพลงเดียว เพราะเราคำนวณแล้วว่าใน 6 นาที คนจะอ่านหนังสือเล่มนี้จบพอดี อาจจะดูเร็วนะ แต่เราเชื่อว่ามันจะอ่านซ้ำได้อีก

        อ๊อฟ: พูดถึงเรื่องเวลาในการอ่าน ถือเป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับการทำงานครั้งนี้ ตอนทำเพลงเราถามเรื่องเวลากับพี่ดวงว่าใช้เวลาอ่านกี่นาที เราก็ต้องเช็กดูให้เพลงจบพร้อมกับคนอ่านพอดี สำหรับเราจึงเป็นอะไรที่ปลดล็อกการทำงานสายดนตรีมาก เราอยากทำงานกับหนังสือหรือการ์ตูนอยู่แล้ว คือทำสกอร์ ทำเพลงวง เราเคยทำมาแล้ว แต่ทำเพลงกับหนังสือไม่เคยทำมาก่อน 

 

เดอะดวง

การทำเพลงสำหรับวงดนตรีกับทำเพลงประกอบหนังสือภาพแตกต่างกันขนาดไหน

        อ๊อฟ: คนละแบบเลย อย่างทำเพลงวงไปส่งกู บขส. ดู๊ จะเป็นการแชร์กับวง หรืออีกวงหนึ่ง Mole The Explosion จะเป็นการทำของเราคนเดียว ตามใจตัวเองทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การทำเพลงกับพี่ดวง เหมือนการตามใจตัวเองประมาณแปดสิบเปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเยอะมาก บวกกับภาพที่เขาเล่าเรื่อง เราถือว่าโชคดีที่ได้ทำดนตรีหลายๆ แบบ และเป็นสิ่งที่อยากทำมาตลอด

การทำงานของเล่มนี้กับเล่มอื่นของเดอะดวงมีอะไรต่างกันบ้างไหม

        เดอะดวง: ต่างในเรื่องของวิธีคิด เล่มนี้น่าจะต่างไปจากทุกเล่มที่เคยทำมาตลอดชีวิต เพราะเล่มอื่นยังมีการเล่าเรื่องด้วยตัวหนังสือ มีบทพูด ต่อให้เรื่องจะต่างกัน แต่วิธีการทำงานเหมือนกัน แต่เล่มนี้คือการจะทำสิ่งที่ไม่รู้เรื่องให้คนอ่านเข้าใจได้อย่างไร

        เราว่าการได้เอาแต่ใจอย่างที่สุดคือความสนุกของการทำเล่มนี้ เราทำงานตามใจลูกค้ามาน่าจะเกือบทั้งชีวิต นานๆ จะได้ทำหนังสือตัวเอง พอได้ทำหนังสือที่มาจากตัวเองเรามีความสนุกมาก เป็นความรู้สึกไม่อยากไปทำอย่างอื่น อยากจะอยู่ตรงนี้ ปกติเราต้องออกไปสังสรรค์ตลอด แต่ตอนทำเล่มนี้เราหายไปจากกลุ่มเป็นเดือนเลย (หัวเราะ) คือช่วงที่ยังรอเพลงจากอ๊อฟ เราจะอยู่กับตัวเองในห้องทำงานแล้วก็เปิดเพลงบรรเลงที่มันลึกๆ หม่นๆ ฟังไปด้วยเพื่อคิดภาพที่จะออกมา

        อ๊อฟ: เราได้ทดลองอะไรเยอะมาก คือพอเป็นเรื่องความฝัน ในมุมมองเราคิดว่าทำอะไรได้เยอะ หลายๆ เทคนิคที่อยากจะทำเราก็ใส่ไปกับเพลงนี้เยอะมาก เช่น นอยซ์ต่างๆ หรืออะไรที่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ในเพลงเพลงหนึ่ง สนุกมาก จริงๆ สนุกตั้งแต่พี่เขาชวนเราแล้ว

ถ้าเปรียบเป็นเพลง หนังสือเล่มนี้ก็เป็นเพลงอินดี้พอสมควร คุณคาดหวังอย่างไรบ้างกับฟีดแบ็กของคนอ่าน

        เดอะดวง: ตอนเริ่มทำเล่มนี้เราคาดหวังแค่ให้ตัวเองทำงานเสร็จ เพราะมันเป็นสิ่งที่ต้องลงมือทำแล้ว พอทำเสร็จตอนนี้โล่งใจ สบายใจมาก แต่ถ้าถามว่าคาดหวังอะไรหลังจากที่หนังสือออกไปแล้ว เราคิดว่ามันควรจะเกิดการกระตุ้นอะไรบางอย่างในแวดวงหนังสือ คือเราไม่รู้ว่าจะมีปรากฏการณ์อะไรในแวดวงหนังสือบ้างไหม แต่ถ้ามันสะกิดได้แม้นิดเดียว เราโอเคนะ

        บางคนอาจจะมองว่าวงการหนังสือย่ำแย่แล้ว ซึ่งก็จริงส่วนหนึ่ง แต่เราคิดว่ามันยังหาวิธีเล่นสนุกกับหนังสือได้เรื่อยๆ อย่างวิธีการทำเล่มนี้เราก็รู้สึกว่าเป็นการอัพเกรด ให้คุณค่า และหาลูกเล่นให้หนังสือ แล้วมันจะกลายเป็นมากกว่าหนังสือ แต่กลายเป็นของสะสม กลายเป็นงานศิลปะ เพราะหลังจากนี้พอหนังสือวางขาย เรากำลังคิดจะจัดนิทรรศการเหมือนกัน

เด็กไทยมักติดในกรอบบางอย่างเสมอ อย่างงานการ์ตูน บางคนอาจไม่เคยคิดว่านำเสนอแบบนี้ก็ได้ คุณอยากแนะนำเด็กๆ ที่ชอบวาดการ์ตูนอย่างไรให้สามารถแหกกรอบความคิดเดิมๆ และปลดปล่อยไอเดียใหม่ๆ

        เดอะดวง: อันดับแรกคงต้องเข้าใจกรอบที่เราอยู่ก่อน เข้าใจว่าอะไรที่แหกกฎไปแล้วจะเกิดผลลัพธ์อย่างไร เพราะถ้าเราเข้าใจได้ดีพอ ตอนที่เราแหกกฎออกไป เราจะแหกกฎได้สุขุมกว่าการแหกกฎแบบเด็กๆ ไม่ใช่ว่าจู่ๆ คุณก็แหกกฎโดยที่รู้ว่าไม่ดีก็แหก อันนั้นคือแหกแบบวัยรุ่นทั่วไป แต่ถ้าแหกกฎแบบมีความคิดมันจะเท่

        อ๊อฟ: ถ้าเป็นนักดนตรีก็คือการหาเสียงของตัวเองให้เจอว่าเราชอบแบบไหน แล้วมันจะอยู่ในเพลงเราทุกแบบ แต่การจะหาเพลงให้เจอก็ต้องมีพื้นฐานที่แน่นก่อน เพราะถ้าแน่นแล้วมันต่อยอดทำอะไรได้อีกเยอะมาก หรือถ้าเราเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในวงการที่เราอยู่ เราสามารถฉีกกรอบออกไปได้เยอะมาก เมื่อก่อนเราเป็นเด็กวัยรุ่นที่อยากทำอะไรใหม่ๆ แต่ไม่เคยรู้เลยว่าสิ่งที่เราทำมันเก่าไปแล้ว มันเลยทำให้เราเรียนประวัติศาสตร์เยอะ จะได้รู้ว่าอะไรที่เขาทำมาแล้วบ้าง อะไรที่เป็นตัวเราได้บ้าง

        เดอะดวง: เปรียบเทียบเหมือนภาพ abstract สมมติว่าคนทั่วไปมอง เขาจะมองว่าภาพอะไรวะ ดูไม่รู้เรื่องเลย แต่ก่อนที่ศิลปินจะมาทำภาพแบบนี้ ทุกคนต้องมีทักษะเจนจัดมาก วาดภาพเหมือนเป็น แสงเงาแม่น ความรู้และทฤษฎีแน่น เหมือนเขาเก่งจนรู้สึกว่าเขาอยากจะปลดปล่อยอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่รูปลักษณ์แบบเดิมออกมา งานหนังสือเล่มนี้ของเราอาจจะไม่ถึงขนาดนั้น แต่ว่าก็เป็นสิ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อน

 

เดอะดวง

วาดการ์ตูนมากว่ายี่สิบปี คุณมีวิธีรีเฟรชตัวเองอย่างไรให้ไอเดียยังสดใหม่เสมอ

        เดอะดวง: ต้องหาเวลาทำงานตัวเอง ถ้าเรามีเวลาทำงานที่คิดเองวาดเองทุกอย่างโดยที่ไม่มีใครมาให้โจทย์ ถ้าหาเวลาทำงานแบบนั้นได้ เราจะยังอยู่กับมันได้ มันมีช่วงเหี่ยวเฉาเหมือนกัน คือไม่มีเวลาทำงานตัวเอง แต่ต้องทำงานตามโจทย์มาตลอดปีสองปี เป็นช่วงที่เข้าใจเลยว่าอาการจะหมดไฟเป็นยังไง เพราะเราไม่ได้ใช้ความคิดเราเลย พอโดนกดดันจากลูกค้าเยอะๆ เราจะรู้สึกว่าเรามีคุณค่าไหม ที่ทำมาทั้งชีวิตคืออะไร (หัวเราะ) 

        อ๊อฟ: เราก็เหมือนกันกับพี่ดวง เคยมีช่วงเวลาเหี่ยวเฉาเหมือนกัน แต่ของเราเป็นเรื่องว่าบางทีทำเพลงตัวเองเยอะเกินไปแล้วรู้สึกว่าทำไมมันซ้ำ ฉะนั้น ถ้าได้ทำงานกับคนอื่นบ้าง ก็เหมือนเราได้เรียนรู้อะไรจากเขา แต่ต้องไม่ใช่ลูกค้านะ (หัวเราะ) งานลูกค้าก็ทำ แต่จะรู้สึกอีกแบบ เราเลยคิดว่าหาเวลาทำงานตัวเองเยอะๆ อยู่กับแวดวงที่สามารถแชร์ไอเดียกันได้ตลอด ไม่ว่าจะเป็นคนวาดการ์ตูน ผู้กำกับ หรือใครที่อยู่ในแวดวงเดียวกัน น่าจะช่วยเรื่องความคิดได้เยอะ

        เดอะดวง: ใช่ การอยู่ในสภาพแวดล้อมของคนที่ทำงานไปในแนวทางเดียวกันช่วยเติมไฟให้กันได้มาก

ในมุมมองคุณ แวดวงการ์ตูนไทยทุกวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง

        เดอะดวง: การ์ตูนเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ มันก็มีสัดส่วนที่ลดลงไป เพราะว่าถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี เช่น อีบุ๊ก แต่เรารู้สึกว่าเราแค่ต้องยอมรับมัน เรียนรู้ แล้วหาวิธีที่จะไปคู่กับความเปลี่ยนแปลงก็พอ ถ้าเราไปต่อต้านกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามาจะกลายเป็นว่าเราเองที่จะไม่ไปไหน ในขณะที่อย่างอื่นไปข้างหน้าหมดแล้ว ยอมรับแล้วก็อย่าอคติกับมัน โลกมันต้องเปลี่ยนไป เราก็ต้องเปลี่ยนตาม 

ทุกวันนี้แวดวงดนตรีมีคนรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะและง่าย ในแวดวงการ์ตูนเองมีคนรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาบ้างไหม

        เดอะดวง: จริงๆ ก็มีเรื่อยๆ แต่คงไปอยู่ใน LINE WEBTOON, comico หรือเปิดเพจตัวเอง เพราะว่าน่าจะเป็นหนทางเริ่มต้นที่ง่ายที่สุดอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นนักเขียนการ์ตูนสายคอมิกส์เลยเริ่มน้อยลง สำหรับการจะเกิดขึ้นมาใหม่ เพราะว่าการ์ตูนเป็นประเภทงานวาดที่ต้องใช้พลังงานสูงมาก สิ่งที่ทำให้คนวาดการ์ตูนน้อยลงเพราะทุกวันนี้เฟซบุ๊กจะมีเพจที่วาดรูปคอนเทนต์ง่ายๆ แล้วมีคำพูดประกอบ แต่เรียกร้องความสนใจได้เยอะกว่า พอเด็กที่โตมาใหม่เขารู้สึกว่าตรงนี้น่าตื่นเต้น มีคนมากดไลก์เยอะ รู้สึกว่าแบบนี้ง่าย เขาเลยเลือกไปในทิศทางนั้น โดยที่เขาลืมพื้นฐานของการที่จะฝึกฝนไป จึงทำให้คนน่าจะเลือกทางที่ง่ายและฉาบฉวยมากกว่า 

        เอาจริงๆ เราเอียนมากนะ เพราะคอนเทนต์คล้ายกันหมด สมมติพูดถึงความรัก ก็พูดเรื่องความรักกันกี่เพจ มันคือคำเดิมๆ ช่วยทำอย่างอื่นได้ไหม เบื่อแล้ว (หัวเราะ)

สำหรับพวกคุณงานศิลปะช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไรบ้าง

        อ๊อฟ: สำหรับเราคิดว่าช่วยได้เยอะ คือเราเคยสอนก่อนที่จะมาทำ Sound Design เราได้เจอกับเด็กที่เป็นเจเนอเรชันใหม่ๆ เยอะ เราได้เจอเด็กบางคนที่เขาไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าสามารถเดินเข้าไปทางนี้ได้นะ เหมือนเรานำสิ่งที่เรารู้มาช่วยเป็นตัวเลือกให้เขาได้ว่าไม่จำเป็นต้องเหมือนที่ทุกคนในโรงเรียนเป็นก็ได้ มันช่วยเปลี่ยนแปลงมุมมองคุณได้

        เดอะดวง: อันดับแรกเราว่ามันช่วยเรื่องจิตใจ บางทีคนเสพศิลปะได้แรงบันดาลใจ ได้ฟื้นฟูจิตใจ มีกำลังใจไปใช้ชีวิตในการทำงานอย่างอื่นต่อ อาจจะไม่ต้องมาทำงานศิลปะก็ได้ แต่ว่าส่งผลให้เขามีแรงใจ สมัยก่อนช่วงที่ยังมีการส่งจดหมายถึงนักเขียน เราเคยได้จดหมายฉบับหนึ่งที่มีคนส่งมาที่สำนักพิมพ์ เขาเล่าว่าเป็นช่วงที่หดหู่มากในชีวิต เขาอยากจะฆ่าตัวตาย พอดีมีหนังสือของเราเล่มหนึ่งวางอยู่บนโต๊ะ ซึ่งโชคดีที่หนังสือนั้นเป็นหนังสือที่ให้กำลังใจพอดี ไม่ใช่หนังสือตลกร้ายแบบที่เราทำปกติ (หัวเราะ) พอเขาหยิบหนังสือเล่มนั้นขึ้นมาอ่าน เขารู้สึกว่าชีวิตน่าอยู่ต่อ เราเลยแฮปปี้มาก รู้สึกดีกว่าขายหนังสือได้เยอะอีก เพราะหนังสือเรามีผลกระทบต่อจิตใจคน โคตรเป็นรางวัลชีวิตเลย ฉะนั้น เราเชื่อว่างานศิลปะเปลี่ยนแปลงคนได้