ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ | อย่าปล่อยให้ความกลัวของเรา ทำลายความฝันของลูก

ถ้าเปรียบชีวิตของเด็ก ๆ เป็นหนังสือสักเล่ม หรือภาพยนตร์สักเรื่อง พ่อแม่ส่วนใหญ่มักคิดว่าหน้าที่ของตัวเองต้องเป็นคนขีดเขียนเส้นทางชีวิตของพวกเขา แต่สำหรับ ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ นักเขียน และผู้ก่อตั้ง Documentary Club ที่นำภาพยนตร์วิพากษ์การศึกษาแสบๆ อย่าง Where to Invade Next, Childhood ฯลฯ มาฉายให้เราได้ดู เธอกลับไม่ยอมติดหล่มความกลัวของคนเป็นพ่อแม่ที่มีต่อระบบการศึกษา ว่าถ้าสอบไม่ติด เกรดไม่ดี ชีวิตจะล้มเหลว เธอตัดสินใจเปิดโอกาสให้ลูกสาวเข้าเรียนในโรงเรียนทางเลือก และให้เขาได้เป็นผู้ขีดเขียนเส้นทางชีวิตของเขาเอง เพราะบทสรุปเรื่องราวชีวิตที่มองเห็น อาจจะไม่ใช่บทสรุปเดียวที่มี

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

 

ในฐานะแม่คนหนึ่ง คุณคิดอย่างไรกับปัญหาการศึกษาไทยที่เด็กๆ เผชิญอยู่

     เรารู้สึกกับตัวเองมาตั้งแต่เป็นนักเรียนแล้วว่าระบบการศึกษามันไม่ตอบโจทย์เรา โรงเรียนเป็นที่ที่ไปแล้วไม่มีความสุข เราอยากได้ความรู้หรือวิธีการแสวงหาความรู้แบบนั้นแบบนี้ แต่โรงเรียนไม่ได้ให้ในสิ่งที่เราต้องการ จึงเกิดเป็นแนวความคิดว่าเราอาจจะไม่จำเป็นต้องให้ลูกเดินบนเส้นทางการศึกษาในระบบหลักก็ได้ เพราะโลกทุกวันนี้มีวิธีการแสวงหาความรู้หลากหลายวิธี อินเทอร์เน็ตทำให้เรารู้สึกว่าโลกภายนอกมีสิ่งต่าง ๆ ที่น่ารู้มากกว่าสิ่งที่โรงเรียนสอน

     ตัวอย่างเราเอง ถึงเรียนจบตามระบบ แต่เส้นทางการทำงานไม่ได้อยู่ในสายอาชีพที่เรียนมาเลย เราคิดว่าการเรียนเพื่อให้ได้วุฒิภายใต้ความเชื่อว่ามันเป็นการรับประกันอาชีพการงานได้ มันไม่ใช่คำตอบเดียว ก็เลยไม่ค่อยยึดติดกับการศึกษาในรูปแบบนี้เท่าไหร่ ตอนนี้ลูกก็เรียนโรงเรียนทางเลือก มันเป็นคำตอบสำหรับเราในตอนเริ่มต้นที่จะส่งลูกเข้าโรงเรียน แต่เราก็ไม่ได้คิดว่ามันจะต้องเป็นโรงเรียนแบบนี้เท่านั้น มันอาจจะไม่ใช่ก็ได้เมื่อเวลาผ่านไป

 

พอมีความคิดที่ค่อนข้างต่างจากคนทั่วไปในสังคมอย่างนี้ คนภายนอกมองเข้ามา มันส่งผลกับตัวคุณและครอบครัวไหม

     ถ้าในแง่สังคมส่วนตัวเราไม่มีปัญหา เพียงแต่ว่าในระบบโรงเรียนทางเลือกเองก็มีคนที่คิดว่าถ้าเรียนกับโรงเรียนแบบนี้แล้วจะทำให้วิชาการไม่แข็ง ซึ่งก็เป็นความจริง ต้องยอมรับ เพราะก็มีเด็กหลายคนที่จบไปแล้วจำเป็นต้องใช้เวลาเกือบ 1 ปี ติวตัวเองใหม่หมดเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยตามระบบ การที่เราให้ลูกเดินบนเส้นทางประมาณหนึ่ง แต่พอถึงจุดหนึ่งเราก็เข็นเขาเข้าระบบเช่นเดิม แล้วในที่สุดเขาก็ต้องเสียเวลา 1 ปีนั่งติว เพื่อเข้าสู่ระบบที่เราเองก็ว่ามันไม่ใช่คำตอบ เราจึงเกิดคำถามว่า มันจำเป็นไหมที่จะต้องเข้ามหาวิทยาลัย ต้องจบปริญญาตรี เพื่อมาประกันความกลัวว่าเราจะมีงานทำแน่นอน

     แต่อาจจะยังตอบแบบชัดเจนไม่ได้นะ ตอนนี้ลูกเราพึ่ง ป.5 เขาจะต้องอยู่ในเส้นทางการเรียนนอกระบบไปอีกประมาณ 15 ปี สมมติว่าตอนนั้นโครงสร้างของการทำงานมันยังไม่เปลี่ยน คือยังวัดกันที่วุฒิ ใครเป็นรุ่นน้อง ใครเป็นรุ่นพี่อยู่ เราก็มีความกังวลว่าเขาจะปรับตัวได้ไหม แต่ความเชื่ออีกอย่างของเราที่มันมีมากกว่าความกลัวนี้ก็คือ เราเชื่อว่าโลกมันเปลี่ยนไป ถ้าเทียบตอนเราเรียนกับปัจจุบันนี้ ตอนนั้นเราไม่มีทางจินตนาการออกว่ามันจะมีอาชีพนักออกแบบเกมได้ เรานึกไม่ออกว่า google จะมาเปิดการศึกษาออนไลน์ที่เรียนจบแล้วคุณจะได้ใบรับรองเอาไปใช้งานได้ คือนึกไม่ถึงด้วยซ้ำว่าอินเทอร์เน็ตคืออะไร ดังนั้น เราคิดว่าโลกจะไม่มีวันแช่ตัวเองอยู่แบบนี้

การที่พ่อแม่เอาชุดประสบการณ์ของตัวเองว่า ต้องเรียนแบบนี้เพื่อที่จะจบไปเป็นแบบนี้มาครอบลูก มันเป็นความคิดที่ไม่เตรียมใจสำหรับการเปลี่ยนแปลงไปหน่อย

     เราเลยจะทำให้ลูกรู้สึกว่าโลกนี้มีหลายสิ่งที่น่ารู้ ให้เขาสนุกกับการแสวงหาความรู้ ค้นหาคนอื่นและตัวเองไปเรื่อยๆ เราเชื่อว่าคนที่มีจิตใจแสวงหาจะอยู่ได้ในโลกนี้ แล้วเขาจะมีเส้นทางไปของเขา อาจจะเป็นเส้นทางที่เรานึกไม่ถึงเลยว่ามันจะสามารถอยู่ได้ มุมมอง ณ ตอนนี้เราเชื่อว่าเป้าหมายของการศึกษาคือ เพื่อเรียนรู้ ทำความเข้าใจโลก และมีความรู้ที่หลากหลายเพื่อที่จะดำรงชีวิต และสร้างประโยชน์ให้กับโลกใบนี้

 

เป็นไปได้ไหมว่า ปัญหาที่เกิดกับการศึกษาในตอนนี้ อาจเป็นเพราะผู้ใหญ่เอาความกลัวของตัวเองไปใส่ให้กับเด็ก

     ใช่ แต่เราก็เข้าใจความกลัวนี้นะ คือ มันไม่ใช่ความกลัวของปัจเจก แต่มันเป็นอารมณ์ที่สังคมไทยสร้างไว้ มีอาจารย์คนหนึ่ง เขาแสดงความเห็นจากสเตตัสของคุณพ่อท่านหนึ่ง ที่เขียนเล่าว่าพาลูกไปติวนู่นนี่วันเสาร์อาทิตย์ เพื่อที่จะไปสอบเข้าโรงเรียนชื่อดัง ซึ่งเขาบอกว่าปัญหาเรื่องการศึกษาเป็นการสะท้อนความกลัวของคนไทย ที่บอกว่าชีวิตของเราไม่มีความมั่นคงเลย ถ้าเราไม่เรียนให้จบ ไม่เรียนให้สูง ไม่ไต่เต้า เราก็พร้อมร่วง ถ้าคุณป่วยต้องมีประกันชีวิตราคาแพง ต้องเข้าโรงพยาบาลเอกชนถึงจะรอดชีวิตอะไรแบบนี้ ถ้าลูกคุณตกงานคุณนึกไม่ออกว่าลูกคุณจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร เพราะสังคมไทยไม่ได้มีสวัสดิการมาคอยช่วยเหลือ มันจึงเป็นความกลัวที่สะท้อนความบกพร่องของสังคมมาก

 

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

 

เหมือนเราเรียนเพื่อจะประคองความกลัวนั้น

     เราว่าเด็กทุกคนมีพลังในการค้นหา เพียงแต่ว่า

พอถึงจุดหนึ่งความกลัวมันจะทำให้เรารู้สึกว่าความฝันมันเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ หรือแม้แต่ไม่มีความฝันที่อยากจะเป็นอะไรเลย

     ความหวาดกลัวรอบตัวได้บอกว่าเขาต้องเป็นอะไรสักอย่างที่ซึ่งต้องทำตามระบบ คุณต้องแย่งกันเข้าไปมีที่นั่งในมหาวิทยาลัยให้ได้ไม่อย่างนั้นคุณจะไม่รู้ว่าอนาคตของคุณคืออะไร มันน่าเศร้าที่สังคมบอกว่าเรามีทางรอดแค่ทางเดียว แล้วทุกคนก็ต้องเบียดกันเข้าไปในนี้ให้ได้ คนที่ถูกทิ้งไว้ด้านหลังก็ไม่มีอะไรมาโอบอุ้ม

 

ทำไมคนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง

     เราคิดว่าทุกสิ่งมันมีความเชื่อมโยงกัน แต่เวลาเรียน เราเรียนแบบตัดขาด เราเรียนประวัติศาสตร์เป็นช่วงๆ เรานึกไม่ออกว่าประวัติศาสตร์ช่วงนู้นมันเชื่อมโยงกับช่วงนี้อย่างไร ทำให้เราไม่เห็นภาพรวม จึงไม่แปลกที่เราจะถูกผูกติดกับความกลัวที่จะเอาตัวเองไม่รอด

     เหมือนเรื่องประกันสุขภาพ คนนึกไม่ออกว่า 30 บาทรักษาทุกโรคดีอย่างไร จะมองว่าคนที่ใช้คือคนจนซึ่งไม่ใช่เรา จนกว่าจะมีคนในครอบครัวเราป่วยหนักแล้วเราไม่สามารถจะเอาเงินเก็บทั้งหมดมาใช้กับการรักษาได้ แล้วเราก็เพิ่งรู้วันนั้นว่าสามารถผ่าตัดด้วยเงิน 30 บาทได้

 

ในภาพยนตร์เกี่ยวกับการศึกษาที่คุณเอามาให้ผู้คนรับชม เช่น Where to Invade Next, Childhood ฯลฯ ทำให้เราเห็นว่าประเทศต่างๆ มีการปรับเปลี่ยนด้านการศึกษาอย่างไรบ้าง

     มันมีความพยายามในการปรับรูปแบบการศึกษาให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลก อย่างในประเทศอเมริกา สังเกตว่าเริ่มมีการตั้งคำถามว่าในยุคปัจจุบันที่มี AI ทำทุกอย่างแทนมนุษย์ การศึกษาแบบเดิมผลิตมนุษย์มาเป็นแรงงานในระบบอุตสาหกรรม แต่ขณะเดียวกันโรงงานเอาเครื่องจักรกลเข้ามาใช้ เอาปัญญาประดิษฐ์เข้ามาแทนคน แล้วคนพวกนี้ไปทำอะไร ก็กลายเป็นแรงงานไม่มีฝีมือ แสดงว่าการศึกษาแบบนี้มันไม่ถูกแล้วใช่ไหม แล้วระบบจะสร้างคนให้ขึ้นไปเหนือ AI ได้อย่างไร มันก็มีหลายคำตอบ เช่น สร้างคนให้มีความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้นมันจึงเกิดการศึกษาทางเลือกอีกแบบที่ให้คนเรียนแบบโปรเจ็กต์เบส คือ ให้ทำงานเป็นกลุ่ม และรู้จักการคิดครีเอต ซึ่งเป็นสิ่งที่ AI ยังทำไม่ได้

     แต่ก็ยังเป็นการศึกษาที่คัดสรรคนเก่งอยู่ดี คนที่ไม่สามารถพัฒนาตัวเองให้เหนือ AI ก็คือพวกไม่มีศักยภาพในตลาดแรงงานเช่นเดิม หรือระบบการศึกษาในประเทศพวกนอร์ดิก สแกนดิเนเวีย ก็จะเป็น การสร้างคนให้คิดถึงประชาธิปไตย ความเท่าเทียม สิ่งแวดล้อม เขาจะมองโลกแบบในเชิงปรัชญา สร้างมนุษย์ที่ไม่ได้ออกไปเพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงาน แต่อยู่อย่างเคารพโลกและเพื่อนมนุษย์ ซึ่งเขาอาจจะมองว่าให้ปรัชญาแบบนี้กับเด็ก แล้วเด็กค่อยไปค้นหาเอาเองว่าอยากจะทำอะไร ก็เป็นวิธีคิดอีกแบบ แม้แต่ฟินแลนด์ที่เป็นต้นแบบระบบการศึกษาก็มีการเปลี่ยนแปลง ค้นหาไปเรื่อยๆ ว่าอะไรดีที่สุด ซึ่งเราว่ามันถูกต้อง เมื่อโลกมันเปลี่ยนการศึกษาก็ต้องมีวิธีคิดที่เปลี่ยน

 

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

 

ในฐานะพ่อแม่หรือคนที่จะผลักดันเด็กรุ่นใหม่เข้าสู่สังคม คุณจะบอกกับเด็กๆ อย่างไรถึงปัญหาที่เขาจะต้องเจอ       

     สิ่งที่เราพูดกับลูกไม่ว่าจะเรื่องไหนก็ตามคือ

อย่ามีชีวิตอยู่บนความกลัว เพราะมันจะทำให้จิตนาการในการใช้ชีวิตหายไป

     เราคิดว่าสิ่งสำคัญของคนเราคือการมองให้เห็นว่าโลกใบนี้มีความเป็นไปได้ หน้าที่ของพ่อแม่คือการทำให้ลูกรู้สึกว่าโลกนี้มีความเป็นไปได้ แล้วตัวเขามีศักยภาพที่จะดำรงชีวิตอยู่บนโลกนี้ ในแบบไหนก็ได้ที่เขาค้นเจอ เราจะไม่ไปกรอบเขาว่าต้องเป็นหมอ ต้องเรียนนิเทศ หรืออะไร แต่หมายความว่าเขาจะเป็นอะไรก็ได้ และเป็นประโยชน์ได้

     แต่การศึกษาในระบบทุกวันนี้มันตัดทอนพลังพวกนี้ ทำให้เราพุ่งเป้าไปกับการสอบให้รอด เรามีคำถามเกี่ยวกับการสอบเอนทรานซ์มานานแล้ว ทุกอย่างจบเมื่อเอนฯ ติด ดังนั้นมันต้องมีคนที่ทุกอย่างจบเมื่อเอนฯ ไม่ติดเช่นกัน พอเราเอนฯ ติดก็เหมือนบรรลุทุกอย่างในชีวิตแล้ว ไอ้ความฝันที่เคยพลุ่งพล่านตอนม.ปลายก็ลืมไปหมด เราเลยรู้สึกว่าการสอบมันทำลายศักยภาพคน แล้วมันเป็นแนวคิดที่มาจากยุคอุตสาหกรรม เพราะยุคนั้นต้องการผลิตแรงงาน ป้อนคนเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม ซึ่งวันนี้โลกมันไม่เหมือนเดิมแล้ว แต่การศึกษามันยังเหมือนเดิมอยู่ เราว่ามันผิดพลาดมากๆ

 

พ่อแม่ส่วนใหญ่มักคาดหวังว่าลูกต้องเป็นตามที่พ่อแม่ต้องการ สำหรับคุณคิดเห็นอย่างไร

     ตามวัยนะ ตอนนี้เขาเริ่มค้นพบว่าสิ่งที่พ่อแม่พูดไม่ใช่คำตอบสูงสุดอีกต่อไปแล้ว เขาพบว่าพ่อแม่ก็งี่เง่าเหมือนกัน เหมือนกับว่าตอนลูกยังเล็กพ่อแม่อยู่เหนือกว่าเยอะ เพราะต้องคอยชี้แนะ แต่เมื่อลูกเป็นผู้ใหญ่ขึ้นเราก็ต้องลดตัวลง จะมีอำนาจเหนือตลอดไม่ได้ เพราะในที่สุดเราก็เป็นคนเหมือนๆ กัน ทุกคนต้องการที่ทางของตัวเองเราจะไปกำหนดเขาได้อย่างไร พ่อแม่เรายังไม่เคยกำหนดเราเลย แต่สิ่งสำคัญก็คือการสร้างฐานข้างในจิตใจของเขาให้แน่น ให้เขารู้สึกว่าในชีวิตของเขาในอีก 50 ปีข้างหน้า เขาจะสามารถฝ่าอุปสรรคต่างๆ ไปได้ เราต้องการแค่นั้น

 

การศึกษาควรจะเปลี่ยนไปอย่างไร

     ถ้าทุกคนเข้าถึงและเปิดโลกทัศน์ รู้จักความหมายของการเรียนรู้ แล้วรักษาความกระหายใคร่รู้ในตัวเด็กจะดีแค่ไหน แต่เด็กที่ผ่านการสอบในทุกวันนี้มันจะมีใจไปแสวงหาอะไรอีก ‘เสรีภาพทางการศึกษา’ ประเด็นนี้สำคัญ มันไม่ควรที่จะมีเกณฑ์การวัดที่ว่าต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยติดไม่ติด พวกสอบไม่ติดคือสังคมทิ้ง ควรมีความคิดที่ว่าคุณเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ คุณก็เรียนออนไลน์ได้และมีศักดิ์ศรีเท่ากัน รวมทั้งคนที่ไม่ได้เข้าระบบการศึกษาเลย หรือคนสูงอายุที่พ้นระบบการศึกษาแล้ว เขาควรเข้าถึงห้องสมุดสาธารณะที่มีทั่วไปเพื่อพัฒนาความรู้ที่เขาต้องการ เขาอาจจะไม่ได้เอาสิ่งที่เขาอ่านไปทำมาหากิน แต่มันก็ทำให้ชีวิตวัยชราเขามีความสุขที่ได้เรียนรู้โลก มันไม่ได้เป็นเรื่องคุณภาพชีวิตคนเหรอ

     ถ้ามองว่าการศึกษาคือเครื่องมือที่ใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตคนทุกระดับ โมเดลการศึกษาต้องเปลี่ยนใหม่ ต้องทำให้คนทุกคนมีเสรีภาพที่เข้าถึงการศึกษาทุกแบบได้ และมีศักดิ์ศรีเท่ากันหมด เราว่านี่คือคำตอบ

 


เรื่อง: เจลดา ภูพนานุสรณ์, ปริญญา ก้อนรัมย์ ภาพ: ณัฐริกา มุคำ