หัวใจสำคัญที่ทำให้นักพัฒนาและนักอนุรักษ์ไม่สามารถนั่งร่วมโต๊ะกันได้ นั่นคือรูปแบบการจัดสรรทรัพยากรที่มองต่างมุม ที่ไม่สามารถมองหาจุดตัดที่เหมาะสมควรอยู่ตรงไหน นั่นทำให้เส้นทางของการทำธุรกิจและดูแลสิ่งแวดล้อมไม่เคยเดินอยู่บนถนนเส้นเดียวกัน
แต่เราชวนคุณมาพูดคุยกับ ดร. ธรณ์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเล ผู้ที่ร่วมผลักดันปัญหาทางทะเลจนกลายเป็นประเด็นหลักทางสังคมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การปฏิรูปอุทยานทางทะเลพีพีโมเดล (Phi Phi Model) การฟื้นฟูทะเลและปะการังที่เกาะตาชัยและอ่าวมาหยา และล่าสุดเขาได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมกะโปรเจ็กต์ของ สิงห์ เอสเตท ในโครงการ CROSSROADS พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนครบวงจร มูลค่ากว่า 22,000 ล้านบาทที่มัลดีฟส์
โดยความท้าทายที่สำคัญ สำหรับ ดร. ธรณ์ คือการเปลี่ยนความเชื่อเดิมๆ ว่าการพัฒนาธุรกิจและการอนุรักษ์ดูแลสิ่งแวดล้อมเดินไปพร้อมกันไม่ได้ โดยมีช่วงหนึ่งเขาบอกกับเราไว้ว่าเส้นทางการอนุรักษ์ไม่ได้มีเส้นเดียวหรอก
“การพัฒนาอย่างยั่งยืน ในความหมายจริงๆ มีอยู่แค่ 2 ประโยค คือ Maximize the profit, minimize the impact ซึ่งปัญหาคือสองอย่างนี้จะไปตัดกันในจุดที่เหมาะสมตรงไหน”
ไปดูเรื่องราวการทำงานของเขากับทีมงานสิงห์ เอสเตท ว่าทำไมพวกเขาถึงยอมพลิกแบบแปลนเกาะทั้งเกาะ เพียงเพื่อแนวปะการังไม่กี่ไร่ และชีวิตของเต่าทะเลเพียงตัวเดียว
เรากลับผังเกาะทั้งเกาะเพื่อเต่าหนึ่งตัว เพื่อให้เอ็มม่าได้มีที่อยู่ ไม่ให้เป็นการสร้างที่อยู่อาศัยพักผ่อนของมนุษย์ โดยที่ไปทับบ้านของสัตว์อื่นๆ
จุดเริ่มต้นที่มาร่วมงานกับสิงห์ เอสเตท
จริงๆ ผมรู้จักกับทางสิงห์มานานแล้ว และน้องสาวก็ทำงานอยู่ที่นี่ และพอดีคุยกับ คุณนริศ เชยกลิ่น (ซีอีโอ สิงห์ เอสเตท) และเราเห็นตรงกันว่าโฟกัสหนึ่งของสิงห์ เอสเตท คือเรื่องของทะเล และมีบางโปรเจ็กต์ของสิงห์ เอสเตท ที่ผมรู้สึกว่าท้าทาย โดยโปรเจ็กต์ CROSSROADS ที่มัลดีฟส์เป็นโปรเจ็กต์ที่ทำให้ผมตัดสินใจร่วมงานกับสิงห์ เอสเตท เพราะสำหรับชีวิตของนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลคนหนึ่งที่ทำงานด้านนี้มาตลอด ไม่มีสักครั้งที่เราจะได้ทดสอบฝีมือของเราอย่างเต็มที่ ในความฝันเรื่องงานผมก็ไปได้สักครึ่งหนึ่งของความฝัน ผมอาจจะเคยช่วยต่อสู้เรื่องทะเลจนสามารถปิดอ่าวมาหยา ฟื้นฟูเกาะตาชัยได้ แต่ความฝันที่มากที่สุดของผมคือการได้พัฒนาแนวปะการังสักแห่งหนึ่ง และใช้ความรู้ความสามารถในการจัดการอย่างเต็มรูปแบบ โดยที่ฝ่ายพัฒนาที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ให้อำนาจในการตัดสินใจ ให้อำนาจในการปรึกษาแนะแนว และที่สำคัญที่สุดคือเขาเชื่อเรา
Maximize the profit, minimize the impact
Sustainability หรือว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในความหมายจริงๆ มีอยู่แค่ 2 ประโยค คือ Maximize the profit, minimize the impact ซึ่งปัญหาคือสองอย่างนี้จะไปตัดกันในจุดที่เหมาะสมกันตรงไหน ในโปรเจ็กต์ CROSSROADS เราทำงานร่วมกันด้วยความเชื่อตั้งแต่วันแรก ผมไปสำรวจที่ CROSSROADS ตั้งแต่ยังไม่มีทรายสักเม็ด ทั่วบริเวณมีแต่น้ำ ผมไปสำรวจที่นั่นกับทีมงานของสิงห์ เอสเตท ว่ายน้ำวนอยู่ 3-4 วัน จนเราไปเจอเต่าที่ชื่อว่าเอ็มม่า พอเจอเต่าตัวนั้น ผมก็บอกกับทีมงานสิงห์ว่า ถ้าสร้างเกาะในผังเดิม มันจะทับแนวปะการัง ซึ่งขนาดจริงๆ ก็ไม่กี่ไร่หรอกนะ แต่ว่าแนวปะการังนั้นมีเต่าอาศัยอยู่ ผมก็ถ่ายคลิปเต่าตัวนั้น และก็ส่งไปพร้อมกับคำแนะนำ
ซึ่งผมก็ไม่ได้คาดหวังว่าเต่าหนึ่งตัวจะสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เพียงแต่ว่าพอคลิปนั้นไปถึง คุณสันติ ภิรมย์ภักดี (กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด) ซึ่งคุณสันติเห็นแล้วก็พูดว่า อย่างงั้นพลิกเกาะกลับด้านละกัน เรากลับผังเกาะทั้งเกาะเพื่อเต่าหนึ่งตัว เพื่อให้เอ็มม่าได้มีที่อยู่ ไม่ให้เป็นการสร้างที่อยู่อาศัยพักผ่อนของมนุษย์ โดยที่ไปทับบ้านของสัตว์อื่นๆ ผมก็เลยคิดว่าถ้ามีใครสักคนบ้าพอที่จะเปลี่ยนผังเกาะจนคนทำงานวุ่นกันไปหมดเพื่อเต่าหนึ่งตัว ผมก็อยากร่วมงานด้วย หลังจากนั้นเราก็ร่วมพัฒนาโปรเจ็กต์มาด้วยกัน และเข้าใจร่วมกันว่า สิ่งที่ทำนั้นเพื่อที่จะลดผลกระทบต่อธรรมชาติ ในขณะที่ผลประโยชน์กับผู้ลงทุนมันก็ต้องได้แบบเหมาะสม
เชื่อมต่อองค์ความรู้เพื่อทะเล
ตอนที่พวกเราเข้าไปที่ CROSSROADS ครั้งแรก ตอนนั้นเป็นช่วงที่มีปะการังฟอกขาวหมาดๆ ซึ่งเราก็พยายามเลือกบางจุดให้เป็นจุดฟื้นตัวของปะการัง เราคิดเรื่องจะฟื้นฟูปะการังตั้งแต่ก่อนจะสร้างเกาะด้วยซ้ำ แต่ถ้าเราเข้าไปสร้างก่อนหน้านั้นสองสามปี รูปแบบของเกาะ CROSSROADS ก็อาจจะเปลี่ยนไป เพราะก่อนหน้านั้นยังไม่มีปะการังฟอกขาว คอนเซ็ปต์ในการทำงานครั้งนี้คือเราเริ่มช่วยเหลือธรรมชาติและสร้างธุรกิจไปพร้อมๆ กัน ความแตกต่างคือเราไม่ได้เริ่มจากการสร้างตึกก่อนแล้วค่อยมาคิดดูแลธรรมชาติ แต่เราทำไปพร้อมๆ กัน
เรามีการเชื่อมต่อการเรียนรู้เข้ามาด้วยกัน จากเมืองไทยสู่มัลดีฟส์ เพราะทั้งสองแห่งก็อยู่ในมหาสมุทรอินเดียเหมือนกัน ยกตัวอย่าง เรานำโมเดลของศูนย์ Marine Discovery Centre: MDC (ศูนย์การเรียนรู้ทางทะเล) ที่เกาะพีพี ซึ่งถือเป็นศูนย์การเรียนรู้แห่งแรกของประเทศไทยที่ตั้งอยู่บนที่ดินของเอกชนขนาดเป็นร้อยๆ ตารางเมตร มีแหล่งความรู้เกี่ยวกับทะเลเต็มไปหมด มีเด็ก มีประชาชนมาใช้งาน ซึ่งเรากำลังจะขยายโมเดลดังกล่าวไปที่ CROSSROADS ด้วยขนาดที่ใหญ่กว่าเดิมหลายเท่า แล้วเวลาที่เราคุยกับรัฐบาลของมัลดีฟส์ เขาจะถามถึงศูนย์การเรียนรู้นั้นก่อนเลย เขาไม่ได้ถามว่าวิลล่าสร้างไปกี่ห้องแล้ว แต่ถ้าเป็น 20 ปีก่อนเขาคงถามแค่ว่ายูให้เงินไอเท่าไหร่ก็จบ แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่ ค่าสัมปทานก็ส่วนสัมปทาน แต่ประชาชนเขาอยากได้อะไรมากกว่านั้น เราถึงทำศูนย์การเรียนรู้ให้ประชาชนได้ใช้ด้วย ไม่ได้ทำให้แค่นักท่องเที่ยวอย่างเดียว
ล่าสุดเรากำลังจะไปทำเรื่องไมโครพลาสติกที่มัลดีฟส์ ทุกๆ อย่างจะเชื่อมต่อกัน และสิ่งที่เราไม่ทิ้งคือเราไม่ได้ปล่อยให้ CROSSROADS เดินไปเดี่ยวๆ จะมีการเชื่อมต่อกับที่ประเทศไทยตลอด จนเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า Two island, one ocean ซึ่งองค์ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ทางทะเลของไทย จะไปช่วยให้มัลดีฟส์ขยับตัวได้เร็วขึ้น นี่เป็นสิ่งที่คุณนริศพูดกับผมตลอดว่าเราไม่ได้ไปสร้างแค่บังกะโล แต่เรามาสร้างองค์ความรู้เพื่อพัฒนาธรรมชาติควบคู่ไปกับธุรกิจทุกที่ที่เราไป
เต่าคือดัชนีชี้วัดว่าทะเลไหนอุดมสมบูรณ์หรือไม่อุดมสมบูรณ์ ทะเลไหนที่คนไม่หาประโยชน์จากทะเลมากเกินไป หรือทะเลไหนไม่มีพลาสติกลอยอยู่เกลื่อน
สถานการณ์เต่าทะเลไทย
สถานการณ์ของเต่าทะเลไทยก็เหมือนๆ กับทุกอย่างเกี่ยวกับทะเลไทย เรามีงานวิจัยที่นำหน้า มีการบริหารจัดการหลายๆ อย่างที่นำหน้า แต่ในขณะเดียวกันเราก็มีการใช้ประโยชน์และสร้างผลกระทบต่อทะเลมากกว่าที่มัลดีฟส์เป็นจำนวนมากเหมือนกัน ปัจจุบัน เต่าในประเทศไทยตายเฉลี่ยวันละ 1 ตัว เต่าทะเลพวกนี้จะติดอวน กินพลาสติก โดนเรือชน และที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือเครื่องมือประมงที่สร้างผลกระทบมาหลายปีแล้ว และอันดับสองที่พุ่งขึ้นมาเรื่อยๆ คือขยะทางทะเล จนถึงปัจจุบันเต่าทะเลที่ตาย 1 ใน 3 เราพบว่ามีพลาสติกอยู่ในท้องของเต่าเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่เราพบพลาสติกในเต่าเพียง 1 ใน 5 เมื่อห้าปีที่แล้วเรามีเต่าทะเลตาย 200 กว่าตัว แต่มาปีที่แล้วเรามีเต่าตายถึง 300 ตัว และในปีนี้เรากลัวว่าตัวเลขจะไปถึง 400-500 ตัวหรือเปล่า
ในขณะที่เรารณรงค์เรื่องการใช้พลาสติก ไม่สร้างขยะในทะเล เราก็ควรตระหนักว่าสิ่งที่เราทำกันอยู่คือการลดสิ่งที่สะสมอยู่ ถุงพลาสติกที่ลงไปในทะเลก่อนหน้านี้ ย้อนไปจนถึงปี 27-28 ที่คนไทยเริ่มใช้ถุงพลาสติกกันครั้งแรก ขยะพวกนั้นมันกองอยู่ในทะเล ถุงพลาสติกใบแรกที่เราทิ้งลงไปก็ยังอยู่ในทะเล คำถามว่าเต่าทะเลจะตายน้อยลงไหม คำตอบคือผมมองไม่เห็น ในรอบสิบปีต่อจากนี้ไปมันก็ต้องตายในระดับ 300 กว่าตัว อาจจะเพิ่มเป็น 400-500 ตัว แต่ถ้าเราทำดีมากพอ ก็อาจจะคงอยู่ในปริมาณนี้ แต่ถ้าเกิดปริมาณการตายเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ก็เตรียมใจไว้ได้ว่าสิ่งมีชีวิตที่วิวัฒนาการมาหลายร้อยล้านปีก่อน อาจจะจบในรุ่นเรา
เต่าทะเลคือดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของมหาสมุทร
เต่าทะเลเป็นสัตว์มหัศจรรย์ในมุมมองของคนที่เกี่ยวข้องกับทะเลทุกคน เต่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่วิวัฒนาการมาไม่รู้กี่ร้อยล้านปีแล้ว ความมหัศจรรย์ของเขาคือเต่าตัวเมียจะขึ้นมาวางไข่บนแผ่นดินปีละครั้งเดียว และถ้าเป็นตัวผู้เขาจะแตะแผ่นดินครั้งเดียวคือตอนที่เขาเกิด และเขาจะไม่กลับมาบนบกอีกเลย เพราะฉะนั้น ชีวิตของเต่าทะเลจะเกี่ยวข้องกับมหาสมุทร ถ้าเป็นเต่ามะเฟืองก็จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับแมงกะพรุน เพราะเขาจะกินแมงกะพรุนเป็นอาหาร ในขณะที่เต่าบางชนิดก็จะเข้ามาอาศัยอยู่ตามแนวปะการัง
เต่าคือดัชนีชี้วัดว่าทะเลไหนอุดมสมบูรณ์หรือไม่อุดมสมบูรณ์ ทะเลไหนที่คนไม่หาประโยชน์จากทะเลมากเกินไป หรือทะเลไหนไม่มีพลาสติกลอยอยู่เกลื่อน ซึ่งถ้าทะเลไหนมีแต่พลาสติกลอยเกลื่อน ไม่สามารถจะดูแลการประมง มีการท่องเที่ยวที่ไม่สามารถควบคุมได้ คุณก็จะได้เจอซากเต่าที่ตายโดยมีพลาสติกอยู่ในท้อง หรือเจอเต่าที่เกยตื้นตายโดยมีรอยกระดองถูกฟัน เต่าจึงเป็นดัชนีชี้วัดการใช้ประโยชน์ทางทะเลของพื้นที่นั้นๆ
เส้นทางของการอนุรักษ์ไม่ได้มีเส้นเดียวหรอก บางคนก็อาจจะมองกันคนละเส้นทาง แต่จุดหมายคือจุดหมายเดียวกัน คือทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น ทำให้โลกมีความสุขไม่เฉพาะแค่กับมนุษย์ แต่มีความสุขกับทุกชีวิต
คลื่น Disruption ทางสิ่งแวดล้อม
พอพูดถึงเรื่องการ Disruption เรามักจะคิดว่าเป็นเรื่องของเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ไม่ใช่ Disruption ที่เห็นชัดพอๆ กับเทคโนโลยีคือเรื่องสิ่งแวดล้อม เราจะเห็นว่าข่าวโลกร้อนมีออกมาทุกวัน ผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่เห็นชัด คลื่นความร้อนในยุโรป แม่น้ำโขงแห้งตลิ่งสูง 11 เมตร ไฟป่าในอเมริกา เรื่องโลกร้อนไม่ได้เป็นแค่คำพูดอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว มันส่งผลถึงรัฐสภาอังกฤษ ซึ่งออกมาประกาศภาวะฉุกเฉินเรื่องโลกร้อน ปัญหาเรื่องโลกร้อนเข้าไปมีอิทธิพลในกฎหมาย และการมีส่วนร่วมของสังคม บริษัทหรือภาคเอกชนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็จะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์พวกนี้
ปัจจัยสำคัญสำหรับองค์กรใหญ่ๆ ได้กลายเป็นเรื่อง Sustainability ไปแล้ว แต่เดิมคอนเซ็ปต์ของบริษัทส่วนใหญ่ คือ From good to great ทำอย่างไรให้บริษัทใหญ่โตขึ้น แต่มาถึงวันนี้คอนเซ็ปต์ คือ From great to good แต่ good ในที่นี้ก็คือความดี คือเมื่อก่อนเราแข่งกันสร้างตึกสูงที่สุดในโลก แต่ตอนนี้คนสนใจบริษัทที่ทำดี ยกตัวอย่างบริษัท Tesla ของ อีลอน มัสก์ ในแง่ตัวเลขบริษัทนี้เจ๋งจะตาย แต่เวลาคนมองเข้าไปคิดว่า เฮ้ย Tesla มันเจ๋ง มันดี เพราะว่า อีลอน มัสก์ ทำนวัตกรรมที่ช่วยโลก คนก็ประทับใจทั้งที่ผลประกอบการห่วย แต่คนประทับใจ และบริษัทเหล่านี้ก็หวังผลในระยะยาว หรือถ้าพูดประเด็นเรื่องการลดต้นทุน ตามคอนเซ็ปต์เดิมบริษัทจะคิดว่าลดต้นทุนให้ถูกที่สุด ในขณะเดียวกันก็เอาเงินไปสร้าง branding ไปสร้างการพีอาร์ แต่ปัจจุบัน ถ้าคุณเพิ่มต้นทุนเข้าไปอีกนิดหนึ่ง มันก็จะเกิดแบรนดิ้งในองค์กรโดยอัตโนมัติ ไม่จำเป็นต้องลดให้ต่ำสุด แต่ลดให้เหมาะสม เพื่อที่จะได้สิ่งที่คุ้มกว่า เพราะจริงๆ แบรนด์ดิ้งไม่ใช่สิ่งที่แผนกพีอาร์หรือแผนกมาร์เกตติ้งต้องทำ แต่คนที่ต้องทำคือทุกคนในบริษัท คนทำพีอาร์แค่เป็นคนฉายไฟที่ส่องให้เห็นสิ่งที่ทำอยู่เท่านั้น
เส้นทางการอนุรักษ์ไม่ได้มีเส้นเดียว
เส้นทางของการอนุรักษ์ไม่ได้มีเส้นเดียวหรอก บางคนก็อาจจะมองกันคนละเส้นทาง แต่จุดหมายคือจุดหมายเดียวกันคือทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น ทำให้โลกมีความสุขไม่เฉพาะแค่กับมนุษย์ แต่มีความสุขกับทุกชีวิต เพียงแต่ว่าบางเส้นทางอาจจะเป็นเรื่องของความขัดแย้ง บางเส้นทางอาจจะเป็นเรื่องของการคัดค้าน แต่เส้นทางที่ผมคิดว่าเป็นเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดคือเส้นทางของการเข้าใจกันและกัน ไปด้วยกัน นั่นคือเหตุผลที่ผมเข้ามาร่วมงานกับสิงห์ เอสเตท การมีส่วนร่วม ลดตรงนั้นนิด เพิ่มตรงนี้หน่อย
มันมีความหมายมากกับธรรมชาติ
ผมไม่ได้เป็นนักอนุรักษ์ที่รอให้เขาสร้างเสร็จ แล้วค่อยออกมาคัดค้านว่าอย่างนั้นผิดอย่างนี้ถูก อันนั้นผมไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย นอกจากว่าผมอาจจะเป็นคนดังขึ้นมาชั่วข้ามคืนเพราะเป็นคนกล้าลุกขึ้นมาขัดขวางนายทุน แล้วไง ในเมื่อมันสร้างไปแล้ว มันเจ๊งและถล่มไปหมดแล้ว ถ้าเกิดเราทำความเข้าใจกัน มาทำงานร่วมกัน ว่ากันตั้งแต่ต้น ผมจะไม่ร่วมงานกับใครเด็ดขาด ถ้าอยู่ดีๆ เขามาโยนเงินให้ แล้วบอกว่าไปทำมา ผมไม่ทำเด็ดขาด แต่สิ่งที่ผมเห็นคือผมเห็นคุณนริศไปลอยน้ำสำรวจพื้นที่กับผมไม่รู้กี่ครั้ง ผมได้เห็น คุณชญานิน เทพาคำ (ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการบรรษัทภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน)) ดำน้ำผุดขึ้นผุดลงอยู่กับผมที่นั่น ผมเห็นการลงทุนอย่างโรงบำบัดน้ำเสียที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมาในมัลดีฟส์ เห็นเรื่องการจัดการขยะแบบ Zero waste เห็นการวางระบบไฟฟ้าหมุนเวียนเพื่อช่วยโลก ซึ่งไอ้เครื่องนี้มันราคาร้อยล้านนะเว้ย แต่เขากล้าซื้อมา อย่างนี้เราได้เห็น คือมาด้วยใจมันต้องมาด้วยตัวเอง ไม่ใช่มาด้วยใจแล้วอยู่แต่ในห้องประชุม อย่างนั้นผมไม่ชอบ
ความหวังในทะเลไทย
ผมยังคงเห็นความหวังในทะเลไทย เวลามีคนถามว่าอาจารย์ไม่ท้อบ้างเหรอ ทำมาตั้งนาน เจอเรื่องนู่นนี่ แต่มันมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมไม่ท้อเลย นั่นคือคนไทยรักทะเล ผมยืนยันคำนี้ตลอด ผมเขียนหนังสือ ทำงานมาสามสิบปี ผมพูดคำนี้ทุกครั้ง ผมเชื่อว่าความรักความเข้าใจในทะเลจะพาพวกเราออกจากปัญหาทางทะเลที่มีอยู่ ทำให้เราทำร้ายทะเลกันน้อยลง และผมเชื่อว่าเราผ่านจุดวิกฤตที่สุดกันไปแล้ว จุดวิกฤตที่สุดก็คือแนวปะการังถูกรุกราน โดยนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาล ทุกคนทิ้งสมอลงทะเลไม่มีใครสนใจ อ่าวมาหยามีเรือนักท่องเที่ยววิ่งผ่านแนวปะการังเป็นร้อยๆ ลำ แต่ปัจจุบันทุกอย่างเปลี่ยนไป
เมื่อห้าปีที่แล้วผมเคยทำแบบสำรวจว่าเราจะสามารถช่วยลดขยะทะเลอย่างไร คนก็ตอบว่าจัดนิทรรศการรณรงค์ หรือวิธีการอื่นๆ แต่มีข้อหนึ่งเขียนว่าถ้าขายถุงพลาสติกคุณจะเห็นด้วยไหม มีคนเห็นด้วยเป็นศูนย์ แต่เมื่อปีที่แล้วผมทำแบบสำรวจอีกครั้ง คนก็ตอบคล้ายๆ เดิม รณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมสิ มาถึงหัวข้อที่ถามเรื่องการขายถุงพลาสติก คุณรู้ไหมมีคนเห็นด้วยถึง 26% เพราะเขาคิดว่านั่นคือความรับผิดชอบของเขาที่จะดูแลสิ่งแวดล้อมผมเชื่อว่าถ้าทำวันนี้ตัวเลขก็จะเพิ่มขึ้น อีกสิ่งที่ผมต้องการที่สุดในการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมคือความกล้า กล้าที่จะทำบางครั้งเรายึดติดกับความคิดในอดีตต้องรอให้คนยอมรับก่อนค่อยทำ แต่ไม่ใช่วันนี้ วันนี้คือวันที่เราจะกล้าทำเพื่อทะเลโดยไม่ต้องให้ใครบอก ขอเพียงให้ใจเราบอกแค่นั้นพอ
วิ่งคืนคุณค่าสู่ทะเล #SeaYouTomorrowRun
งานวิ่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จัดโดยกองทัพเรือ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง และบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) รายได้ทั้งหมดจากการสมัครวิ่งมอบให้โรงพยาบาลเต่าทะเล ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลกองทัพเรือ สัตหีบ และนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ Underwater Lift Bags สำหรับเก็บขยะใต้ทะเล
งานวิ่งมีทั้งหมด 3 ระยะคือ 5K / 10K / Plogging 1K วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2562 เวลา 05.00 น. ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลกองทัพเรือ สัตหีบ สมัครได้ที่ www.seayoutomorrow.org/activities/SeaYouTomorrowRun